คำถามจากผู้อ่าน
ที่ 1 เปโตร 2:9 ฉบับแปลคิงเจมส์เรียกคริสเตียนผู้ถูกเจิมว่า “คนชั่วอายุที่ทรงเลือกไว้.” เรื่องนี้น่าจะส่งผลกระทบทัศนะที่เรามีต่อการที่พระเยซูทรงใช้คำ “ชั่วอายุ” ดังบันทึกในมัดธาย 24:34 ไหม?
คำ “ชั่วอายุ” ปรากฏในการแปลทั้งสองข้อความในบางฉบับแปล. ตามฉบับแปลคิงเจมส์ อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้ “แต่ท่านทั้งหลายเป็นคนชั่วอายุที่ทรงเลือกไว้, เป็นพวกปุโรหิตหลวง, เป็นชาติบริสุทธิ์, เป็นพลไพร่พิเศษ, เพื่อท่านทั้งหลายจะสรรเสริญพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกมาจากความมืดเข้าในสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” และพระเยซูทรงพยากรณ์ว่า “เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, คนชั่วอายุนี้จะไม่ล่วงลับไปก่อนสิ่งทั้งปวงนี้จะสำเร็จเป็นจริง.”—1 เปโตร 2:9; มัดธาย 24:34, ฉบับแปลคิงเจมส์.
ในข้อความที่อยู่ก่อน อัครสาวกเปโตรใช้คำภาษากรีก เกʹโนส ขณะที่ในข้อความที่เป็นคำตรัสของพระเยซูนั้นเราพบคำ เกเนอาʹ. คำภาษากรีกสองคำนี้อาจดูคล้ายกัน และคำทั้งสองเกี่ยวพันกับรากศัพท์เดียวกัน กระนั้น สองคำนี้ต่างกัน และมีความหมายไม่เหมือนกัน. พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่—พร้อมด้วยข้ออ้างอิง กล่าวในเชิงอรรถของ 1 เปโตร 2:9 ดังนี้: “‘เชื้อชาติ’ เกʹโนส ในภาษากรีก ต่างจาก เกเนอาʹ ‘ชั่วอายุ’ ดังในมัดธาย 24:34.” จะพบเชิงอรรถที่สอดคล้องกันที่มัดธาย 24:34.
ดังที่เชิงอรรถเหล่านั้นบ่งชี้ คำเกʹโนส ได้รับการแปลอย่างเหมาะเจาะด้วยคำ “เชื้อชาติ” ดังที่พบทั่วไปในฉบับแปลภาษาอังกฤษ. ที่ 1 เปโตร 2:9 เปโตรใช้คำพยากรณ์ที่มีอยู่ในยะซายา 61:6 กับคริสเตียนผู้ถูกเจิมซึ่งมีความหวังทางภาคสวรรค์. คนเหล่านี้ถูกนำออกมาจากชาติและตระกูลต่าง ๆ แต่ภูมิหลังตามสายเลือดถูกละไว้เบื้องหลังขณะที่พวกเขาได้มาเป็นส่วนแห่งชาติยิศราเอลฝ่ายวิญญาณ. (โรม 10:12; ฆะลาเตีย 3:28, 29; 6:16; วิวรณ์ 5:9, 10) เปโตรระบุตัวพวกเขาว่าได้มาเป็นกลุ่มคนพิเศษในความหมายฝ่ายวิญญาณ—“เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นไพร่พลที่เป็นสมบัติพิเศษ.”
แต่ในข้อความภาษากรีกแห่งคำตรัสของพระเยซูซึ่งพบที่มัดธาย 24:34 เราพบคำเกเนอาʹ. เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า พระเยซูไม่ได้ทรงพาดพิงถึง “เชื้อชาติ” ใด ๆ ของผู้คน แต่ทรงพาดพิงถึงผู้คนซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง.
เกือบหนึ่งร้อยปีมาแล้ว ชาร์ลส์ ที. รัสเซลล์ นายกคนแรกของสมาคมว็อชเทาเวอร์ได้ทำให้เรื่องนี้กระจ่าง โดยเขียนดังนี้: “แม้ว่าคำ ‘ชั่วอายุ’ กับคำ ‘เชื้อชาติ’ อาจกล่าวได้ว่ามาจากรากหรือจุดเริ่มต้นเดียวกัน แต่คำทั้งสองไม่เหมือนกัน และในการใช้ในพระคัมภีร์ สองคำนี้ก็ต่างกันมาก. . . . ในบันทึกของพระธรรมทั้งสามเล่มเกี่ยวกับคำพยากรณ์นี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราใช้คำภาษากรีกที่ต่างไปโดยสิ้นเชิง (เกเนอา) ซึ่งไม่หมายความถึงเชื้อชาติ แต่มีความหมายเหมือนคำภาษาอังกฤษ generation. การใช้คำภาษากรีกคำนี้ (เกเนอา) ในที่อื่น ๆ พิสูจน์ ว่าไม่มีการใช้คำนี้ด้วยความหมายถึงเชื้อชาติ แต่ใช้ในการพาดพิงถึงผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยเดียวกัน.”—วันแห่งการแก้แค้น (ภาษาอังกฤษ) หน้า 602-603.
เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง คู่มือกิตติคุณมัดธาย (1988 ภาษาอังกฤษ) ซึ่งเขียนขึ้นสำหรับผู้แปลคัมภีร์ไบเบิล กล่าวดังนี้: “[ฉบับแปลนิวอินเตอร์แนชันแนล] แปลคำคนชั่วอายุนี้ตามตัวอักษร แต่ก็ตามด้วยเชิงอรรถ ‘หรือเชื้อชาติ.’ และผู้เชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่คนหนึ่งเชื่อว่า ‘มัดธายหมายความไม่เพียงแค่ชั่วอายุภายหลังพระเยซูเท่านั้นแต่หมายถึงชั่วอายุทั้งสิ้นของลัทธิยูดายที่ปฏิเสธพระองค์.’ กระนั้น ไม่มีพยานหลักฐานทางนิรุกติศาสตร์ใด ๆ ที่ยืนยันข้อสรุปเหล่านี้ไม่ว่าข้อใด และข้อสรุปเหล่านี้ต้องถูกปัดทิ้งไปเนื่องด้วยพยายามจะเลี่ยงความหมายที่ชัดเจน. ด้วยสภาพแวดล้อมเดิมของกิตติคุณนี้ คำกล่าวนั้นพาดพิงถึงคนสมัยเดียวกับพระเยซูเองเท่านั้น.”
ตามที่พิจารณาในหน้า 10 ถึง 15 พระเยซูทรงตำหนิชาวยิวรุ่นที่อยู่ในสมัยของพระองค์ คนร่วมสมัยซึ่งปฏิเสธพระองค์. (ลูกา 9:41; 11:32; 17:25) พระองค์ทรงใช้คำคุณศัพท์บ่อย ๆ เช่น “ชาติชั่วและคิดคดทรยศ,” “ขาดความเชื่อมีทิฏฐิชั่ว,” และ “ชั่วคิดคดทรยศ” ในการพรรณนาคนชั่วอายุนั้น. (มัดธาย 12:39; 17:17; มาระโก 8:38) เมื่อพระเยซูทรงใช้คำ “ชั่วอายุ” ครั้งสุดท้าย พระองค์ทรงอยู่บนภูเขามะกอกเทศกับอัครสาวกสี่คน. (มาระโก 13:3) คนเหล่านั้นซึ่งยังไม่ได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณและยังไม่เป็นส่วนแห่งประชาคมคริสเตียน ย่อมไม่ได้ประกอบเป็นทั้ง “ชั่วอายุ” หนึ่ง หรือเชื้อชาติหนึ่งแห่งผู้คนอย่างแน่นอน. แต่พวกเขาก็คุ้นเคยดีกับการที่พระเยซูทรงใช้คำ “ชั่วอายุ” ในการพาดพิงถึงคนสมัยเดียวกับพระองค์. ดังนั้น ตามเหตุผลแล้วพวกเขาคงเข้าใจสิ่งที่พระองค์ทรงคำนึงถึงเมื่อพระองค์ทรงกล่าวถึง “คนชั่วอายุนี้” ครั้งสุดท้าย.a หลังจากนั้น อัครสาวกเปโตร ซึ่งได้อยู่ด้วย ก็ได้กระตุ้นเตือนชาวยิวดังนี้: “จงเอาตัวรอดจากคนชาติ [ชั่วอายุ] ทุจริตนี้เถิด.”—กิจการ 2:40.
เราได้จัดพิมพ์พยานหลักฐานบ่อย ๆ ที่ว่า หลายสิ่งที่พระเยซูทรงพยากรณ์ในคำแถลงเดียวกันนี้ (เช่น สงคราม, แผ่นดินไหว, และการขาดแคลนอาหาร) ได้สำเร็จเป็นจริงในช่วงที่พระองค์ตรัสคำพยากรณ์และความพินาศของยะรูซาเลมในปีสากลศักราช 70. หลายสิ่งสำเร็จ แต่ไม่ทั้งหมด. ยกตัวอย่าง ไม่มีหลักฐานแสดงว่า หลังจากพวกโรมันโจมตียะรูซาเลม (ปีสากลศักราช 66-70) “สัญลักษณ์แห่งบุตรมนุษย์” ได้ปรากฏ ซึ่งทำให้ “ตระกูลทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลก” ทุบตีตัวเอง. (มัดธาย 24:30, ล.ม.) ฉะนั้น ความสำเร็จเป็นจริงระหว่างปีสากลศักราช 33 กับ 70 นั้นต้องเป็นเพียงความสำเร็จช่วงต้น ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ความสำเร็จเป็นจริงเต็มที่หรือในขอบเขตใหญ่โตตามที่พระเยซูทรงชี้ถึงด้วย.
ในคำนำของเขาสำหรับการแปลงานเขียนของโยเซฟุสชื่อสงครามชาวยิว จี.เอ. วิลเลียมสัน เขียนว่า “มัดธายบอกเราว่า พวกสาวกได้ทูลถาม [พระเยซู] คำถามสองต่อ—เกี่ยวกับการทำลายพระวิหารและเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งสุดท้ายของพระองค์เอง—และพระองค์ทรงให้คำตอบแก่พวกเขาสองต่อ ซึ่งส่วนแรกของคำตอบบอกล่วงหน้าอย่างชัดเจนที่สุดถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้มีพรรณนาไว้อย่างละเอียดโดยโยเซฟุส.”
ใช่แล้ว ในความสำเร็จเป็นจริงครั้งแรก ปรากฏชัดว่า “คนชั่วอายุนี้” หมายความเช่นเดียวกับที่คำนี้หมายถึงในสมัยอื่น ๆ—คือคนชั่วอายุร่วมสมัยอันประกอบด้วยชาวยิวที่ไม่มีความเชื่อ. “คนชั่วอายุ” นั้นคงไม่ผ่านพ้นไปโดยไม่ประสบสิ่งที่พระเยซูทรงพยากรณ์. ดังที่วิลเลียมสันอธิบาย คำพยากรณ์นี้ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริงในทศวรรษต่าง ๆ ที่ดำเนินต่อไปจนถึงความพินาศของยะรูซาเลม ดังที่โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ผู้เป็นประจักษ์พยานได้พรรณนาไว้.
ในความสำเร็จเป็นจริงครั้งที่สองหรือครั้งที่ใหญ่โตกว่า ตามเหตุผลแล้ว “คนชั่วอายุนี้” น่าจะเป็นผู้คนร่วมสมัยด้วยเช่นกัน. ตามที่บทความซึ่งเริ่มต้นในหน้า 16 ยืนยัน เราไม่จำเป็นต้องลงความเห็นว่า พระเยซูทรงพาดพิงถึงจำนวนปีที่แน่นอนซึ่งประกอบเป็น “ชั่วอายุ” หนึ่ง.
ตรงกันข้าม อาจบอกได้ถึงสองประการสำคัญเกี่ยวกับช่วงเวลาใดที่คำ “ชั่วอายุ” หมายถึง. (1) ไม่อาจถือว่า ชั่วอายุหนึ่งของคนเราเป็นช่วงเวลาที่มีจำนวนปีแน่นอน เหมือนเวลาที่กำหนดแน่ชัดเป็นจำนวนปี (เป็นทศวรรษหรือศตวรรษ). (2) ผู้คนในชั่วอายุหนึ่งมีชีวิตอยู่เป็นเวลาค่อนข้าง สั้น ไม่ยาวนานเหมือนยุค.
เพราะฉะนั้น เมื่อพวกอัครสาวกได้ยินพระเยซูตรัสถึง “คนชั่วอายุนี้” พวกเขาจะคิดถึงอะไร? ขณะที่เราซึ่งได้รับประโยชน์จากการรับรู้เรื่องราวหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วนั้นทราบว่า ความพินาศของยะรูซาเลมใน “ความทุกข์ลำบากใหญ่” นั้นมาถึงเมื่อ 37 ปีต่อมา พวกอัครสาวกที่ฟังพระเยซูตรัสนั้นไม่อาจทราบเรื่องนั้นได้. แต่คำตรัสของพระองค์เกี่ยวกับ “ชั่วอายุ” ก็คงได้ถ่ายทอดแนวคิดแก่พวกเขา ไม่ใช่ในเรื่องช่วงเวลาอันยาวนาน แต่ในเรื่องผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาค่อนข้างจำกัด. เป็นความจริงเช่นเดียวกับในกรณีของเรา. ฉะนั้น ถ้อยคำของพระเยซูต่อจากนั้นจึงเหมาะสมจริง ๆ ที่ว่า “เกี่ยวด้วยวันนั้นและโมงนั้นไม่มีผู้ใดรู้ ถึงเทวทูตในสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้ รู้แต่พระบิดาองค์เดียว. . . . เหตุฉะนั้น ท่านทั้งหลายด้วยเช่นกัน จงเตรียมตัวพร้อม เพราะในโมงที่ท่านไม่คิดว่าเป็นเวลานั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา.”—มัดธาย 24:36, 44, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ในวลี “คนชั่วอายุนี้” รูปหนึ่งของคำสรรพนามชี้เฉพาะ โฮʹโทส ตรงพอดีกับคำ “นี้.” คำนี้สามารถพาดพิงถึงสิ่งที่อยู่ในเวลาเดียวกับหรืออยู่ก่อนผู้พูด. แต่คำนี้ยังมีความหมายอื่นได้ด้วย. พจนานุกรมอรรถาธิบายพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ (1991 ภาษาอังกฤษ) ให้ข้อสังเกตว่า “คำนี้ [โฮʹโทส] บ่งชี้ข้อเท็จจริงในเวลานั้น. ดังนั้น คำ [ไอโอน โฮʹโทส] ก็คือ ‘โลกที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน’ . . . และคำ [เกเนอาʹ เฮาเท] ก็คือ ‘คนชั่วอายุที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้’ (ตัวอย่าง ที่มัดธาย 12:41 เชิงอรรถ, 45; 24:34.)” ดอกเตอร์ จอร์จ บี. ไวเนอร์ เขียนดังนี้: “คำสรรพนาม [โฮʹโทส] บางครั้งไม่ได้พาดพิงถึงคำนามที่อยู่ใกล้ที่สุดในด้านตำแหน่ง แต่พาดพิงถึงคำนามที่อยู่ห่างกว่า ซึ่งเนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญ จึงเป็นเรื่องอยู่ใกล้ที่สุดในด้านจิตใจ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนคิดถึงก่อน.”—ไวยากรณ์ของสำนวนในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ (ภาษาอังกฤษ), พิมพ์ครั้งที่เจ็ด, 1897.