คุณกำลังทำตามพันธะทั้งสิ้นต่อพระเจ้าอยู่ไหม?
“พระเจ้าเที่ยงแท้จะทรงนำการงานทุกอย่างมาสู่การพิพากษาเกี่ยวเนื่องกับทุกสิ่งที่ซ่อนไว้ เพื่อดูว่าเป็นการดีหรือการชั่ว.”—ท่านผู้ประกาศ 12:14, ล.ม.
1. การจัดเตรียมอะไรบ้างที่พระยะโฮวาทรงจัดไว้สำหรับไพร่พลของพระองค์?
พระยะโฮวาทรงสนับสนุนคนที่ระลึกถึงพระองค์ในฐานะพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของตน. พระคำซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจให้ความรู้ที่จำเป็นแก่พวกเขาเพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระองค์อย่างเต็มที่. พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าชี้นำพวกเขาในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าและในการ “เกิดผลต่อไปในการงานที่ดีทุกอย่าง.” (โกโลซาย 1:9, 10, ล.ม.) นอกจากนั้น พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณและการชี้นำตามระบอบของพระเจ้าโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) ดังนั้น ในหลาย ๆ ทาง ไพร่พลของพระเจ้าได้รับพระพรจากสวรรค์ขณะที่พวกเขารับใช้พระยะโฮวาและทำงานสำคัญในการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรให้สำเร็จ.—มาระโก 13:10.
2. เกี่ยวด้วยการรับใช้พระยะโฮวา อาจเกิดคำถามอะไรขึ้น?
2 คริสเตียนแท้มีความสุขที่ได้ใช้เวลาถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวา. กระนั้น บางคนอาจท้อใจและคิดว่าความพยายามของเขาไร้ความหมาย. ตัวอย่างเช่น ในบางครั้ง คริสเตียนที่อุทิศตัวอาจสงสัยว่าการงานที่เขาได้พยายามทำอย่างดีนั้นคุ้มค่าจริง ๆ หรือไม่. เมื่อใคร่ครวญในเรื่องการศึกษากับครอบครัวและกิจกรรมอื่น ๆ คำถามคล้าย ๆ กันนี้อาจผุดขึ้นมาในใจของประมุขครอบครัว: ‘พระยะโฮวาทรงพอพระทัยจริง ๆ ในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ไหม? เรากำลังทำตามพันธะทั้งสิ้นของเราต่อพระเจ้าไหม?’ ถ้อยคำอันฉลาดสุขุมของท่านผู้รวบรวมช่วยตอบคำถามเช่นนั้นได้.
ทุกสิ่งเป็นอนิจจังไหม?
3. สอดคล้องกับที่กล่าวในท่านผู้ประกาศ 12:8 อะไรนับว่าเป็นที่สุดแห่งอนิจจัง?
3 บางคนอาจคิดว่าคำพูดของบุรุษผู้ฉลาดสุขุมไม่ได้ให้กำลังใจแก่ใคร—ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือผู้สูงอายุ. “ท่านผู้ประกาศ [“ท่านผู้รวบรวม,” ล.ม.] กล่าวว่า อนิจจังแท้ ๆ อนิจจังจริง ๆ; สารพัตรเป็นอนิจจัง.” (ท่านผู้ประกาศ 12:8) ที่จริง นับเป็นที่สุดแห่งอนิจจังที่จะเพิกเฉยพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ในวัยหนุ่มสาว แก่ตัวลงโดยไม่ได้รับใช้พระองค์ และมีเพียงอายุยืนยาวเป็นเครื่องอวดความสำเร็จ. สำหรับคนเช่นนั้น สิ่งทั้งมวลล้วนอนิจจังหรือว่างเปล่าแม้ว่าเขาอาจจะสิ้นชีวิตด้วยความมั่งคั่งและความมีชื่อเสียงในโลกนี้ซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจตัวชั่วร้าย ซาตานพญามาร.—1 โยฮัน 5:19.
4. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าไม่ใช่ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง?
4 ไม่ใช่ทุกสิ่งเป็นอนิจจังสำหรับคนที่ส่ำสมทรัพย์ในสวรรค์ในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. (มัดธาย 6:19, 20) พวกเขามีหลายสิ่งที่จะทำในงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ให้ความอิ่มใจ และงานหนักเช่นนั้นไม่ไร้ประโยชน์แน่นอน. (1 โกรินโธ 15:58) แต่ถ้าเราเป็นคริสเตียนที่อุทิศตัว เรากำลังขยันในงานที่พระเจ้าทรงมอบหมายให้ทำในสมัยสุดท้ายนี้ไหม? (2 ติโมเธียว 3:1) หรือเรากำลังใช้ชีวิตแบบที่แทบไม่ต่างกับเพื่อนบ้านทั่วไปของเรา? พวกเขาอาจผูกพันอยู่กับศาสนาต่าง ๆ และอาจเคร่งศาสนาทีเดียว ไปโบสถ์ไปวัดเป็นประจำและพยายามทำตามข้อเรียกร้องต่าง ๆ แห่งการนมัสการของเขา. แน่นอน พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าวราชอาณาจักร. พวกเขาไม่มีความรู้ถ่องแท้ที่ว่าบัดนี้เป็น “เวลาอวสาน” และไม่สำนึกถึงความเร่งด่วนของสมัยที่เรากำลังมีชีวิตอยู่.—ดานิเอล 12:4, ล.ม.
5. หากการดำเนินชีวิตตามปกติได้กลายเป็นเรื่องหลักที่เราสนใจ เราควรทำอะไร?
5 พระเยซูคริสต์ตรัสถึงวิกฤตกาลที่เรากำลังมีชีวิตอยู่นี้ว่า “สมัยของโนฮาเป็นอย่างไร การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนั้น. เพราะผู้คนในสมัยก่อนน้ำท่วมเป็นเช่นไร คือกินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรสและผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา จนถึงวันที่โนฮาเข้าในนาวา; และพวกเขาไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้นฉันใด การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.” (มัดธาย 24:37-39, ล.ม.) ไม่มีอะไรผิดที่จะกินดื่มพอประมาณ และการสมรสก็เป็นการจัดเตรียมที่พระเจ้าเองทรงริเริ่ม. (เยเนซิศ 2:20-24) ถึงกระนั้น หากเราตระหนักว่าการดำเนินชีวิตตามธรรมดาได้กลายเป็นเรื่องหลักที่เราสนใจ เหตุใดจึงไม่ลองอธิษฐานเกี่ยวด้วยเรื่องนี้ดูล่ะ? พระยะโฮวาทรงสามารถช่วยเราให้รักษาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก, ทำสิ่งที่ถูกต้อง, และทำตามพันธะของเราที่มีต่อพระองค์.—มัดธาย 6:33; โรม 12:12; 2 โกรินโธ 13:7.
การอุทิศตัวและพันธะของเราต่อพระเจ้า
6. ผู้รับบัพติสมาแล้วบางคนไม่ได้ทำตามพันธะของตนต่อพระเจ้าในทางใดที่นับว่าสำคัญ?
6 คริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วบางคนจำต้องอธิษฐานอย่างตั้งใจจริง เนื่องจากเขาไม่ได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพันธะแห่งการรับใช้ที่เขารับเอาเมื่อเขาอุทิศตัวแด่พระเจ้า. ในช่วงหลายปีหลังนี้ ในแต่ละปีมีมากกว่า 300,000 คนรับบัพติสมา แต่จำนวนรวมทั้งหมดของพยานพระยะโฮวากลับไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน. บางคนที่เคยเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรได้เลิกประกาศข่าวดี. ทว่า แต่ละคนต้องมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในงานรับใช้ของคริสเตียนก่อนที่เขาจะรับบัพติสมา. ดังนั้น พวกเขาทราบดีเกี่ยวกับพระบัญชาของพระเยซูที่ให้แก่เหล่าสาวกของพระองค์ทุกคนที่ว่า “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) คนที่รับบัพติสมาแล้วแต่ไม่ได้รับใช้เป็นพยานที่ประกาศข่าวดีของพระเจ้าและพระคริสต์อีกต่อไปย่อมมิได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพันธะทั้งสิ้นของตนต่อพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ เว้นแต่ว่าเขามีข้อจำกัดอย่างมากเนื่องจากสุขภาพหรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เกินความควบคุมของเขา.—ยะซายา 43:10-12.
7. เหตุใดเราควรประชุมร่วมกันเป็นประจำเพื่อนมัสการ?
7 ยิศราเอลโบราณเป็นชาติที่อุทิศตัวแด่พระเจ้า และภายใต้สัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติ ไพร่พลของชาตินี้มีพันธะต่อพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ผู้ชายทุกคนต้องเข้าร่วมชุมนุมในเทศกาลประจำปีปีละสามครั้ง และคนที่จงใจไม่รักษาปัศคาต้องถูก “ตัดขาด” ถึงตาย. (อาฤธโม 9:13; เลวีติโก 23:1-43; พระบัญญัติ 16:16) เพื่อทำตามพันธะของตนต่อพระเจ้าในฐานะไพร่พลที่อุทิศตัวแล้วแด่พระองค์ ชาวยิศราเอลต้องเข้ามาชุมนุมกันเพื่อนมัสการ. (พระบัญญัติ 31:10-13) ไม่มีในกฎหมายที่กล่าวว่า ‘จงทำอย่างนี้หากว่าคุณสะดวก.’ สำหรับคนที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาในเวลานี้ พระบัญชานี้ย่อมเสริมน้ำหนักคำพูดของเปาโลที่ว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการกระทำที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกันเหมือนบางคนทำเป็นนิสัย แต่ชูใจซึ่งกันและกัน และให้มากขึ้นเมื่อท่านทั้งหลายเห็นวันนั้นใกล้เข้ามา.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) ถูกแล้ว การประชุมกับเพื่อนร่วมความเชื่อเป็นประจำเป็นส่วนหนึ่งแห่งพันธะของคริสเตียนที่อุทิศตัวแล้วที่มีต่อพระเจ้า.
จงชั่งใจอย่างรอบคอบ!
8. เหตุใดคนหนุ่มสาวที่อุทิศตัวแล้วควรใคร่ครวญอย่างจริงจังเกี่ยวกับการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของตน?
8 คุณอาจเป็นคนหนุ่มสาวที่อุทิศตัวแล้วแด่พระยะโฮวา. พระพรอันอุดมจะเป็นของคุณหากคุณรักษาผลประโยชน์แห่งราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกในชีวิต. (สุภาษิต 10:22) ด้วยการอธิษฐานและการวางแผนอย่างรอบคอบ คุณอาจสามารถใช้เวลาอย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งในวัยหนุ่มสาวรับใช้เต็มเวลาแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่จะแสดงว่าคุณระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของคุณ. มิฉะนั้น ผลประโยชน์ด้านวัตถุก็อาจเข้าครอบงำเวลาและความเอาใจใส่ส่วนใหญ่ของคุณ. เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไป คุณอาจแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยและตกเข้าสู่การเป็นหนี้เพื่อได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ ทางวัตถุ. อาชีพที่รายได้งามอาจดึงเวลาและพลังงานส่วนใหญ่ของคุณไป. ถ้าคุณมีบุตร คุณจะต้องแบกภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวหลายสิบปี. (1 ติโมเธียว 5:8) คุณอาจจะไม่ได้ลืมพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของคุณ แต่นับว่าสุขุมที่จะตระหนักว่าการวางแผนแต่เนิ่น ๆ หรือการไม่ได้วางแผนไว้อาจกำหนดวิถีชีวิตในวัยผู้ใหญ่ของคุณ. ในภายหลัง คุณอาจมองย้อนหลังและเสียดายที่ไม่ได้รับใช้เต็มที่กว่านี้ในงานรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา อย่างน้อยก็ในช่วงที่คุณยังหนุ่มแน่น. ทำไมคุณไม่คิดอย่างจริงจังเสียแต่ตอนนี้เกี่ยวกับโอกาสที่อาจเป็นไปได้ เพื่อคุณจะพบความอิ่มใจพอใจในการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระยะโฮวาในช่วงที่คุณอยู่ในวัยหนุ่มสาว?
9. อะไรอาจเป็นไปได้สำหรับคนที่ตอนนี้อายุมากแล้วและครั้งหนึ่งเคยมีความรับผิดชอบหนักในประชาคม?
9 ขอพิจารณาอีกกรณีหนึ่ง—กรณีของคนที่ครั้งหนึ่งเคยรับใช้เป็นผู้บำรุงเลี้ยง “ฝูงแกะของพระเจ้า.” (1 เปโตร 5:2, 3) ด้วยเหตุผลบางอย่าง เขาได้ขอถอนตัวจากสิทธิพิเศษนี้. จริงอยู่ ตอนนี้อายุของเขามากขึ้น และอาจไม่ง่ายสำหรับเขาที่จะแบกรับหน้าที่ในงานรับใช้ของพระเจ้า. แต่อาจเป็นไปได้ไหมที่เขาจะเอื้อมแขนอีกครั้งหนึ่งเพื่อรับสิทธิพิเศษตามระบอบของพระเจ้า? ช่างจะเป็นพระพรสักเพียงไรที่คนเหล่านี้นำมาสู่ผู้อื่น หากเขาสามารถรับหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้นในประชาคม! และเนื่องจากไม่มีใครอยู่เพียงลำพังตัวเอง เพื่อน ๆ และผู้เป็นที่รักทั้งหลายย่อมยินดีหากเขาสามารถเพิ่มพูนงานรับใช้ของเขา เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า. (โรม 14:7, 8) ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาจะไม่ทรงลืมสิ่งใดก็ตามที่คนเราทำในการรับใช้พระองค์. (เฮ็บราย 6:10-12) ดังนั้น อะไรจะช่วยเราให้ระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา?
สิ่งที่ช่วยให้ระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา
10. เหตุใดท่านผู้รวบรวมอยู่ในฐานะดีเยี่ยมที่จะให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา?
10 ท่านผู้รวบรวมอยู่ในฐานะที่ดีเยี่ยมในการให้คำชี้แนะเพื่อช่วยเราให้ระลึกถึงพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา. พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานจากใจของท่านโดยโปรดประทานสติปัญญาแก่ท่านเป็นพิเศษ. (1 กษัตริย์ 3:6-12) ซะโลโมตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวด้วยกิจธุระทั้งสิ้นของมนุษย์เรา. ยิ่งกว่านั้น ท่านได้รับการดลใจจากพระเจ้าให้บันทึกสิ่งที่ท่านได้ค้นพบเพื่อจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น. ท่านเขียนว่า “และนอกจากข้อเท็จจริงที่ว่า ท่านผู้รวบรวมได้มาซึ่งสติปัญญา ท่านยังได้สอนความรู้ให้แก่ประชาชนอยู่เรื่อย ๆ ไป และท่านได้ไตร่ตรองและทำการค้นคว้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อท่านจะได้เรียบเรียงสุภาษิตมากมายให้เข้าเป็นระเบียบ. ท่านผู้รวบรวมได้เสาะหาถ้อยคำที่หวานหูและวิธีการเขียนถ้อยคำอันถูกต้องแห่งความจริง.”—ท่านผู้ประกาศ 12:9, 10, ล.ม.
11. เพราะเหตุใดเราควรยอมรับคำแนะนำอันฉลาดสุขุมของซะโลโม?
11 ฉบับแปลกรีกเซปตัวจินต์ แปลข้อความเหล่านี้ว่า “และนอกจากนั้น เนื่องจากท่านผู้แสดงธรรมนั้นฉลาดสุขุม เพราะท่านสอนมนุษยชาติให้มีสติปัญญา; เพื่อท่านจะพบข้อความที่เสนาะหูจากอุทาหรณ์ทั้งหลาย ท่านผู้แสดงธรรมจึงได้สืบค้นอย่างขยันขันแข็งเพื่อหาถ้อยคำที่น่าพอใจและข้อเขียนที่ซื่อตรง อันเป็นถ้อยคำแห่งความจริง.” (เดอะ เซปตัวจินต์ ไบเบิล แปลโดยชาลส์ ทอมสัน) ซะโลโมพยายามเข้าถึงหัวใจของผู้อ่านด้วยถ้อยคำที่หวานหูและด้วยเรื่องที่น่าสนใจและมีคุณค่าอย่างแท้จริง. เนื่องจากถ้อยคำของท่านที่พบในพระคัมภีร์เป็นผลจากการดลใจโดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจึงยอมรับการค้นพบและคำแนะนำอันฉลาดสุขุมของท่านได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ.—2 ติโมเธียว 3:16, 17
12. ด้วยคำพูดของคุณเอง คุณจะกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับคำพูดของซะโลโมดังบันทึกไว้ที่ท่านผู้ประกาศ 12:11, 12?
12 แม้ไม่มีวิธีพิมพ์อย่างในสมัยปัจจุบัน แต่ก็มีหนังสือมากมายในสมัยของซะโลโม. ควรมีทัศนะอย่างไรต่อหนังสือเหล่านั้น? ท่านกล่าวว่า “ถ้อยคำของบรรดาผู้มีปัญญาเป็นดุจประตัก และที่เหมือนตะปูตรึงแน่นคือผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับภาษิตที่รวบรวมไว้; ถ้อยคำเหล่านั้นได้รับจากผู้เลี้ยงแกะผู้เดียว. ส่วนสิ่งใด ๆ นอกจากนี้ บุตรชายของข้าฯ เอ๋ย จงรับคำเตือน: การจะทำหนังสือมากนั้นไม่มีที่สิ้นสุด และการทุ่มเทกับหนังสือเหล่านั้นทำให้เนื้อหนังอิดโรยไป.”—ท่านผู้ประกาศ 12:11, 12, ล.ม.
13. ถ้อยคำที่ประกอบด้วยสติปัญญาของพระเจ้าปรากฏว่าเป็นดุจประตักได้อย่างไร และใครเป็นดุจ “ตะปูตรึงแน่น”?
13 ถ้อยคำของคนเหล่านี้ซึ่งมีสติปัญญาของพระเจ้าปรากฏว่าเป็นดุจประตัก. เป็นเช่นนั้นอย่างไร? ถ้อยคำเหล่านี้กระตุ้นผู้อ่านหรือผู้ฟังให้ก้าวหน้าประสานกับถ้อยคำอันสุขุมที่ได้อ่านหรือได้ฟัง. นอกจากนั้น คนที่มี “ภาษิตที่รวบรวมไว้” หรือสติปัญญาแท้และคำกล่าวที่น่าฟังเป็นดุจ “ตะปูตรึงแน่น” หรือติดตรึงมั่นคง. ทั้งนี้อาจเป็นเพราะถ้อยคำที่ดีของคนเช่นนั้นสะท้อนสติปัญญาของพระยะโฮวา และด้วยเหตุนั้นสามารถค้ำจุนผู้อ่านหรือผู้ฟังให้ตั้งมั่นคง. หากคุณเป็นบิดามารดาที่กรงกลัวพระเจ้า คุณก็ควรพยายามทุกวิถีทางที่จะพร่ำสอนสติปัญญาเช่นนั้นเข้าไว้ในจิตใจและหัวใจของลูก ๆ มิใช่หรือ?—พระบัญญัติ 6:4-9.
14. (ก) “การทุ่มเท” กับหนังสือแบบใดไม่เป็นประโยชน์? (ข) เราควรพิจารณาหนังสืออะไรเป็นอันดับแรก และเพราะเหตุใด?
14 อย่างไรก็ตาม เหตุใดซะโลโมกล่าวเกี่ยวกับหนังสืออย่างนั้น? เอาละ เมื่อเทียบกับพระคำของพระยะโฮวา หนังสือที่มีมากมายไม่รู้จบสิ้นของโลกนี้บรรจุแต่เพียงการหาเหตุผลของมนุษย์. แนวคิดหลาย ๆ อย่างสะท้อนความคิดของพญามารซาตาน. (2 โกรินโธ 4:4) ด้วยเหตุนั้น “การทุ่มเท” กับหนังสือฝ่ายโลกเช่นนั้นก่อประโยชน์ถาวรเพียงเล็กน้อย. ที่จริง มีหนังสือมากมายที่อาจก่อผลเสียหายฝ่ายวิญญาณ. เช่นเดียวกับซะโลโม ให้เราคิดใคร่ครวญสิ่งที่พระคำของพระเจ้ากล่าวเกี่ยวกับชีวิต. การทำเช่นนี้จะช่วยเสริมความเชื่อของเราและดึงเราให้เข้าใกล้ชิดพระยะโฮวายิ่งขึ้น. การให้ความสนใจมากเกินไปต่อหนังสือหรือแหล่งความรู้อื่น ๆ อาจทำให้เราอ่อนเปลี้ย. โดยเฉพาะเมื่อข้อเขียนเช่นนั้นเป็นผลมาจากการหาเหตุผลแบบโลกซึ่งขัดกับสติปัญญาของพระเจ้า หนังสือเหล่านั้นย่อมเป็นอันตรายและบ่อนทำลายความเชื่อในพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์. ดังนั้น ให้เราจำไว้ว่าข้อเขียนที่เป็นประโยชน์ที่สุดทั้งในสมัยของซะโลโมและในสมัยของเราได้แก่หนังสือที่สะท้อนสติปัญญาของ “ผู้เลี้ยงแกะผู้เดียว” คือพระยะโฮวาพระเจ้า. พระองค์ได้ทรงจัดให้มีพระคัมภีร์บริสุทธิ์ซึ่งประกอบด้วยพระธรรม 66 เล่ม และเราควรให้ความใส่ใจพระธรรมเหล่านี้ยิ่งกว่าหนังสืออื่นใด. คัมภีร์ไบเบิลและสรรพหนังสือที่เป็นประโยชน์ของ “ทาสสัตย์ซื่อ” สามารถช่วยเราให้ได้รับ “ความรู้ของพระเจ้า.”—สุภาษิต 2:1-6.
พันธะทั้งสิ้นของเราต่อพระเจ้า
15. (ก) คุณจะกล่าวอย่างไรเกี่ยวกับถ้อยคำของซะโลโมในเรื่อง “พันธะทั้งสิ้นของมนุษย์”? (ข) เราต้องทำอะไรถ้าเราต้องการทำตามพันธะของเราต่อพระเจ้า?
15 ในการสรุปการตรวจสอบทั้งสิ้นของท่าน ท่านผู้รวบรวม คือซะโลโม กล่าวว่า “บทสรุปของเรื่อง เมื่อได้ฟังทุกสิ่งแล้ว คือ: จงเกรงกลัวพระเจ้าเที่ยงแท้และถือรักษาพระบัญชาของพระองค์. เพราะนี่คือพันธะทั้งสิ้นของมนุษย์. เพราะพระเจ้าเที่ยงแท้จะทรงนำการงานทุกอย่างมาสู่การพิพากษาเกี่ยวเนื่องกับทุกสิ่งที่ซ่อนไว้ เพื่อดูว่าเป็นการดีหรือการชั่ว.” (ท่านผู้ประกาศ 12:13, 14, ล.ม.) ความกลัวอย่างเหมาะสมหรือการคำนึงถึงด้วยความยำเกรงต่อพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเราย่อมจะช่วยป้องกันเราและอาจรวมไปถึงครอบครัวของเราจากการมุ่งติดตามแนวทางชีวิตที่บ้าบิ่นซึ่งอาจนำความยุ่งยากและความเสียใจอย่างมากมาสู่ตัวเราและคนที่เรารัก. ความกลัวพระเจ้าอย่างเหมาะสมนั้นบริสุทธิ์และเป็นบ่อเกิดแห่งสติปัญญาและความรู้. (บทเพลงสรรเสริญ 19:9; สุภาษิต 1:7) หากเรามีความหยั่งเห็นเข้าใจซึ่งอาศัยพระคำที่มีขึ้นโดยการดลใจของพระเจ้าและใช้คำแนะนำของพระคำในทุกสิ่ง เราก็กำลังทำตาม “พันธะทั้งสิ้น” ของเราต่อพระเจ้า. ไม่จำเป็นต้องแจกแจงพันธะทั้งหลายออกมาเป็นข้อ ๆ. แทนที่จะทำอย่างนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการที่เราหมายพึ่งพระคัมภีร์ในการแก้ปัญหาชีวิตและทำสิ่งต่าง ๆ ตามแนวทางของพระเจ้าเสมอ.
16. พระยะโฮวาจะทรงทำเช่นไรเกี่ยวกับการพิพากษา?
16 เราควรตระหนักว่าไม่มีสิ่งใดจะเล็ดลอดการสังเกตของพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเราไปได้. (สุภาษิต 15:3) พระองค์ “จะทรงนำการงานทุกอย่างมาสู่การพิพากษา.” ใช่แล้ว พระผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุดจะพิพากษาทุกสิ่ง รวมทั้งสิ่งเหล่านั้นที่ปิดซ่อนไว้จากสายตามนุษย์. การทราบปัจจัยซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปเช่นนั้นอาจเป็นแรงกระตุ้นให้ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระเจ้า. แต่แรงกระตุ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดควรได้แก่ความรักที่เรามีต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา เพราะอัครสาวกโยฮันเขียนว่า “นี่แหละหมายถึงความรักต่อพระเจ้า คือที่เราปฏิบัติตามบัญญัติของพระองค์; และกระนั้นบัญญัติของพระองค์ไม่เป็นภาระหนัก.” (1 โยฮัน 5:3, ล.ม.) และเนื่องจากพระบัญชาของพระเจ้านั้นมีจุดมุ่งหมายจะส่งเสริมสวัสดิภาพถาวรของเรา จึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเหมาะสมเท่านั้น แต่ยังสุขุมอย่างแท้จริงด้วยที่จะปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์. การทำเช่นนี้ไม่เป็นภาระหนักแก่ผู้ที่รักพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่. พวกเขาต้องการทำตามพันธะของตนต่อพระองค์.
จงทำตามพันธะทั้งสิ้นของคุณ
17. เราจะทำอะไรหากเราต้องการจริง ๆ ที่จะทำตามพันธะทั้งสิ้นของเราต่อพระเจ้า?
17 หากเราสุขุมและปรารถนาอย่างแท้จริงที่จะทำตามพันธะทั้งสิ้นของเราต่อพระเจ้า นอกจากการรักษาพระบัญชาของพระองค์แล้ว เราจะมีความยำเกรงต่อพระองค์ กลัวว่าจะทำให้พระองค์ไม่พอพระทัย. ที่จริง “ความยำเกรงพระเจ้าเป็นที่เริ่มต้นของสติปัญญา” และคนที่รักษาพระบัญชาของพระองค์มี “ความเข้าใจดี.” (บทเพลงสรรเสริญ 111:10, ฉบับแปลใหม่; สุภาษิต 1:7) ด้วยเหตุนั้น ให้เราประพฤติอย่างสุขุมและเชื่อฟังพระยะโฮวาในทุกสิ่ง. เรื่องนี้สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ เพราะองค์กษัตริย์เยซูคริสต์กำลังประทับอยู่ และวันแห่งการพิพากษาโดยพระองค์ในฐานะผู้พิพากษาที่พระเจ้าทรงแต่งตั้งใกล้จะถึงแล้ว.—มัดธาย 24:3; 25:31, 32.
18. ผลจะเป็นเช่นไรสำหรับเราหากเราทำตามพันธะทั้งสิ้นของเราต่อพระยะโฮวาพระเจ้า?
18 บัดนี้ เราแต่ละคนอยู่ภายใต้การพินิจพิจารณาของพระเจ้า. เรามีแนวโน้มเอียงทางฝ่ายวิญญาณ หรือว่าเราปล่อยให้อิทธิพลของโลกทำให้สัมพันธภาพของเรากับพระเจ้าอ่อนลง? (1 โกรินโธ 2:10-16; 1 โยฮัน 2:15-17) ไม่ว่าหนุ่มหรือสูงอายุ ขอให้เราทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อจะเป็นที่พอพระทัยพระผู้สร้างองค์ยิ่งใหญ่ของเรา. หากเราเชื่อฟังพระยะโฮวาและรักษาพระบัญชาของพระองค์ เราจะปฏิเสธสิ่งต่าง ๆ ที่ไร้ประโยชน์ของโลกเก่าซึ่งกำลังจะผ่านพ้นไป. แล้วเราก็จะชื่นชมกับความหวังแห่งชีวิตนิรันดร์ในระบบใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญา. (2 เปโตร 3:13) ช่างเป็นความหวังที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ สำหรับทุกคนที่ทำตามพันธะทั้งสิ้นของตนต่อพระเจ้า!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดคุณจึงกล่าวว่าไม่ใช่ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง?
▫ เหตุใดหนุ่มสาวคริสเตียนควรพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์ของตน?
▫ “การทุ่มเท” กับหนังสือแบบใดจะไม่เป็นประโยชน์?
▫ “พันธะทั้งสิ้นของมนุษย์” คืออะไร?
[รูปภาพหน้า 20]
ไม่ใช่ทุกสิ่งเป็นอนิจจังสำหรับคนที่รับใช้พระยะโฮวา
[รูปภาพหน้า 23]
ไม่เหมือนกับหนังสือมากมายของโลกนี้ พระคำของพระเจ้าให้ความสดชื่นและเป็นประโยชน์