คุณอยู่พร้อมไหมสำหรับวันของพระยะโฮวา?
“วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้. มาใกล้แล้ว และเร่งมาก.”—ซะฟันยา 1:14, ล.ม.
1. พระคัมภีร์พรรณนาอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องวันของพระยะโฮวา?
อีกไม่ช้า “วันใหญ่ยิ่งอันน่ากลัว” ของพระยะโฮวาจะมาถึงระบบชั่วนี้. พระคัมภีร์พรรณนาวันของพระยะโฮวาว่าเป็นวันแห่งการรบ, ความมืด, ความพิโรธ, ความทุกข์เข็ญ, ความปวดร้าว, ความตื่นตระหนก, และความร้างเปล่า. กระนั้น จะมีผู้รอดชีวิต เพราะ “ทุกคนที่ออกพระนามพระยะโฮวาจะรอด.” (โยเอล 2:30-32; อาโมศ 5:18-20) ใช่แล้ว เมื่อถึงวันนั้นพระเจ้าจะทรงทำลายศัตรูและช่วยไพร่พลของพระองค์ให้รอด.
2. ทำไมเราควรสำนึกถึงความเร่งด่วนเกี่ยวด้วยวันของพระยะโฮวา?
2 ผู้พยากรณ์ของพระเจ้าแสดงถึงความเร่งด่วนแห่งวันของพระยะโฮวา. ตัวอย่างเช่น ซะฟันยาเขียนดังนี้: “วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้. มาใกล้แล้ว และเร่งมาก.” (ซะฟันยา 1:14, ล.ม.) ทุกวันนี้ สภาพการณ์ยิ่งเร่งด่วนมากขึ้นไปอีก เพราะผู้สำเร็จโทษองค์ยิ่งใหญ่ของพระเจ้า คือกษัตริย์เยซูคริสต์ กำลังจะ “เหน็บกระบี่ไว้ที่พระเพลาของพระองค์. . . . ทรงม้าห้อไปเพื่อเห็นแก่ความจริงและความถ่อมใจและความชอบธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 45:3, 4, ล.ม.) คุณอยู่พร้อมไหมสำหรับวันนั้น?
พวกเขามีความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่
3. คริสเตียนชาวเธซะโลนิเกบางคนคาดหมายอะไร และด้วยเหตุผลสองประการอะไรที่พวกเขาเข้าใจผิดไป?
3 หลายคนเคยคาดหวังในเรื่องวันของพระยะโฮวา แต่แล้วก็ไม่เป็นดังที่คาดไว้. คริสเตียนยุคแรกบางคนในเมืองเธซะโลนิเกกล่าวว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้า [“พระยะโฮวา,” ล.ม.] ถึงแล้ว.” (2 เธซะโลนิเก 2:2) แต่มีเหตุผลพื้นฐานอยู่สองประการที่วันนั้นยังไม่อยู่ใกล้อย่างที่พวกเขาคิด. อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงเหตุผลอย่างหนึ่งในสองข้อนี้โดยบอกว่า “เมื่อไรก็ตามที่พวกเขากล่าวว่า ‘สันติภาพและความปลอดภัย!’ แล้วความพินาศโดยฉับพลันก็จะมาถึงเขาทันที.” (1 เธซะโลนิเก 5:1-6, ล.ม.) ในช่วง “เวลาอวสาน” นี้ พวกเราเองกำลังคอยท่าความสำเร็จเป็นจริงของถ้อยคำดังกล่าว. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) นอกจากนั้น ชาวเธซะโลนิเกยังขาดหลักฐานอีกประการหนึ่งที่ยืนยันว่าวันใหญ่ของพระยะโฮวามาถึงแล้ว เพราะเปาโลบอกพวกเขาว่า “วันนั้นจะไม่มาจนกว่ามีการออกหากเสียก่อน.” (2 เธซะโลนิเก 2:3, ล.ม.) ตอนที่เปาโลเขียนถ้อยคำเหล่านี้ (ประมาณปีสากลศักราช 51) “การออกหาก” จากหลักการคริสเตียนแท้ยังมิได้ขยายตัวอย่างเต็มที่. ปัจจุบัน เราเห็นการออกหากเฟื่องฟูเต็มที่ในคริสต์ศาสนจักร. แม้ไม่เห็นสำเร็จเป็นจริงตามการคาดหมายของพวกเขา ผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์เหล่านั้นในเมืองเธซะโลนิเกซึ่งรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ตราบวันตายในที่สุดก็ได้รับรางวัลทางภาคสวรรค์. (วิวรณ์ 2:10) พวกเราเช่นกันจะได้รับรางวัลหากเรารักษาตัวซื่อสัตย์ขณะคอยท่าวันของพระยะโฮวา.
4. (ก) วันของพระยะโฮวาเชื่อมโยงกับอะไรที่ 2 เธซะโลนิเก 2:1, 2? (ข) พวกที่เรียกกันว่าผู้เขียนคริสเตียนยุคแรก ๆ มีทัศนะเช่นไรเกี่ยวด้วยการเสด็จกลับของพระคริสต์และเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง?
4 คัมภีร์ไบเบิลเชื่อมโยง “วันใหญ่ของพระยะโฮวา” เข้ากับ “การซึ่งพระเยซูคริสต์เจ้าของเราจะเสด็จมา [“การประทับ,” ล.ม.].” (2 เธซะโลนิเก 2:1, 2) พวกที่เรียกกันว่าผู้เขียนคริสเตียนรุ่นแรก ๆ มีทัศนะหลากหลายเกี่ยวกับการเสด็จกลับของพระคริสต์, การประทับของพระองค์, และรัชสมัยพันปีของพระองค์. (วิวรณ์ 20:4) ในศตวรรษที่สองแห่งสากลศักราช เพพีอัสแห่งฮิราโปลีตั้งความหวังไว้เรื่องความอุดมสมบูรณ์อันน่าพิศวงของแผ่นดินโลกในระหว่างรัชสมัยพันปีของพระคริสต์. จัสติน มาร์เทอร์กล่าวครั้งแล้วครั้งเล่าถึงการประทับของพระเยซูและคาดหมายว่ากรุงยะรูซาเลมที่ได้รับการบูรณะใหม่จะเป็นที่ตั้งแห่งราชอาณาจักรของพระองค์. ไอรีเนียสแห่งลีอองส์สอนว่า หลังจากจักรวรรดิโรมถูกทำลายลงแล้ว พระเยซูจะทรงปรากฏพระกายให้เห็นด้วยตา, มัดซาตาน, และปกครองที่กรุงยะรูซาเลมทางแผ่นดินโลกนี้.
5. ผู้คงแก่เรียนบางคนกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับ “การเสด็จกลับครั้งที่สอง” และรัชสมัยพันปีของพระคริสต์?
5 นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งชื่อฟิลิป ชาฟฟ์ ให้ข้อสังเกตว่า “ความเชื่อที่โดดเด่นที่สุด” ในช่วงก่อนสภานีเซียในปี ส.ศ. 325 ได้แก่ “ความเชื่อเกี่ยวกับการปกครองเป็นเวลาหนึ่งพันปีด้วยรัศมีภาพของพระคริสต์ซึ่งจะเป็นที่ประจักษ์แก่ตาบนแผ่นดินโลกร่วมกับเหล่านักบุญที่เป็นขึ้นจากตาย ก่อนที่จะมีการปลุกให้กลับเป็นขึ้นจากตายและการพิพากษาทั่วไป.” พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิล (ภาษาอังกฤษ) เรียบเรียงโดยเจมส์ เฮสติงส์ กล่าวดังนี้: “เทอร์ทูลเลียน, ไอรีเนียส, และฮิปโปลิทุส ยังคงมองหาการเสด็จกลับมาโดยเร็วพลัน [ของพระเยซูคริสต์]; แต่นักเทววิทยาสำนักอะเล็กซานเดรียนำเราเข้าสู่แนวคิดใหม่. . . . โดยที่ออกัสตินระบุว่ารัชสมัยพันปีได้แก่ช่วงเวลาของคริสตจักรที่ยังคงต่อสู้ (ขณะมีชีวิตบนโลก) การเสด็จกลับครั้งที่สองจึงเลื่อนออกไปในอนาคตที่ยังอยู่อีกไกล.”
วันของพระยะโฮวาและการประทับของพระเยซู
6. เหตุใดเราไม่ควรลงความเห็นว่าวันของพระยะโฮวายังอยู่อีกไกล?
6 แนวคิดผิด ๆ ก่อให้เกิดความผิดหวัง แต่อย่าให้เราคิดว่าวันของพระยะโฮวายังอยู่ไกล. การประทับของพระเยซูอย่างไม่ประจักษ์แก่ตาซึ่งพระคัมภีร์แสดงว่าเกี่ยวข้องกับวันของพระยะโฮวา ได้เริ่มต้นแล้ว. หอสังเกตการณ์ และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกันของพยานพระยะโฮวามักให้หลักฐานจากพระคัมภีร์บ่อย ๆ ว่า การประทับของพระคริสต์เริ่มในปี 1914.a ถ้าอย่างนั้น พระเยซูตรัสเช่นไรเกี่ยวกับการประทับของพระองค์?
7. (ก) ลักษณะเฉพาะบางประการอะไรบ้างที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระเยซู และช่วงอวสานของระบบ? (ข) เราอาจได้รับการช่วยให้รอดอย่างไร?
7 ไม่นานก่อนการวายพระชนม์ของพระเยซู การประทับของพระองค์ได้กลายเป็นหัวข้อพิจารณา. หลังจากได้ฟังพระองค์พยากรณ์ถึงความพินาศของพระวิหารแห่งกรุงยะรูซาเลม อัครสาวกเปโตร, ยาโกโบ, โยฮัน, และอันดะเรอาถามดังนี้: “สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบ?” (มัดธาย 24:1-3, ล.ม.; มาระโก 13:3, 4) ในการตอบข้อถามนี้ พระเยซูทรงบอกล่วงหน้าถึงสงคราม, การกันดารอาหาร, แผ่นดินไหว, และลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ของ “สัญลักษณ์” แห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบ. พระองค์ยังตรัสด้วยว่า “ผู้ใดที่ได้อดทนจนถึงที่สุด ผู้นั้นจะได้รับการช่วยให้รอด.” (มัดธาย 24:13, ล.ม.) เราจะได้รับการช่วยให้รอดหากเราอดทนอย่างซื่อสัตย์จนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตปัจจุบันของเราหรือจนถึงอวสานของระบบนี้.
8. ก่อนอวสานของระบบยิว ต้องมีการทำอะไรให้สำเร็จ และปัจจุบันกำลังมีการทำเช่นไรในเรื่องนี้?
8 ก่อนอวสาน ลักษณะเฉพาะที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการประทับของพระเยซูจะสำเร็จเป็นจริง. พระเยซูตรัสเกี่ยวกับลักษณะสำคัญดังกล่าวโดยบอกว่า “ข่าวดีแห่งราชอาณาจักรนี้จะได้รับการประกาศทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่ เพื่อให้คำพยานแก่ทุกชาติ; และครั้นแล้วอวสานจะมาถึง.” (มัดธาย 24:14, ล.ม.) ก่อนพวกโรมันทำลายกรุงยะรูซาเลมและระบบยิวสิ้นสุดลงในปี ส.ศ. 70 เปาโลสามารถกล่าวได้ว่า ข่าวดี “ได้ประกาศแล้วแก่มนุษย์ทุกคนที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโลซาย 1:23) อย่างไรก็ตาม ในทุกวันนี้งานการประกาศอย่างกว้างขวางยิ่งกว่านั้นกำลังทำกันอยู่โดยพยานพระยะโฮวา “ทั่วทั้งแผ่นดินโลกที่มีคนอาศัยอยู่.” ช่วงไม่กี่ปีมานี้ พระเจ้าได้ทรงเปิดทางให้มีการให้คำพยานอย่างใหญ่โตในยุโรปตะวันออก. โดยโรงพิมพ์และอาคารอื่น ๆ ทั่วโลก องค์การของพระยะโฮวาถูกเตรียมไว้พร้อมสำหรับกิจการงานที่เพิ่มขึ้น แม้แต่ใน “เขตที่ยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน.” (โรม 15:22, 23, ล.ม.) หัวใจคุณกระตุ้นคุณให้ทำเต็มกำลังไหมในการให้คำพยานก่อนอวสานจะมาถึง? ถ้าอย่างนั้น พระเจ้าสามารถเสริมกำลังให้คุณมีส่วนร่วมในพระพรแห่งการงานที่อยู่ต่อหน้าเรา.—ฟิลิปปอย 4:13; 2 ติโมเธียว 4:17.
9. พระเยซูทรงชี้ให้เอาใจใส่อะไรดังบันทึกที่มัดธาย 24:36?
9 งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ของสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระเยซูซึ่งมีบอกไว้ล่วงหน้ากำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในขณะนี้ทีเดียว. ดังนั้น อวสานอยู่ใกล้แล้วสำหรับระบบชั่ว. จริงอยู่ พระเยซูตรัสว่า “วันนั้นโมงนั้นไม่มีผู้ใดรู้. ถึงทูตสวรรค์หรือพระบุตรก็ไม่รู้. รู้แต่พระบิดาองค์เดียว.” (มัดธาย 24:4-14, 36) อย่างไรก็ตาม คำพยากรณ์ของพระเยซูสามารถช่วยเราให้เตรียมพร้อมสำหรับ “วันนั้นโมงนั้น.”
พวกเขาอยู่พร้อม
10. เรารู้ได้อย่างไรว่าเป็นไปได้ที่จะตื่นตัวเสมอฝ่ายวิญญาณ?
10 เพื่อรอดชีวิตในวันใหญ่ของพระยะโฮวา เราต้องตื่นตัวทางฝ่ายวิญญาณและยืนมั่นในการนมัสการแท้. (1 โกรินโธ 16:13) เราทราบว่า ความอดทนเช่นนั้นเป็นไปได้ เพราะครอบครัวหนึ่งที่เลื่อมใสในพระเจ้าได้อดทนและรอดชีวิตจากน้ำท่วมซึ่งทำลายมนุษย์ที่ชั่วช้าในปี 2370 ก่อนสากลศักราช โดยเทียบเคียงยุคนั้นกับการประทับของพระองค์ พระเยซูตรัสดังนี้: “ด้วยสมัยของโนฮาเป็นอย่างไร การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นอย่างนั้น. เพราะผู้คนในสมัยก่อนน้ำท่วมเป็นเช่นไร คือกินและดื่ม ผู้ชายทำการสมรสและผู้หญิงถูกยกให้เป็นภรรยา จนถึงวันที่โนฮาเข้าในนาวา; และพวกเขาไม่แยแสจนกระทั่งน้ำมาท่วมและกวาดล้างเขาไปเสียสิ้นฉันใด การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.”—มัดธาย 24:37-39, ล.ม.
11. โนฮาติดตามแนวทางอะไรแม้ว่ามีความรุนแรงในสมัยของท่าน?
11 เช่นเดียวกับพวกเรา โนฮาและครอบครัวมีชีวิตอยู่ในโลกที่รุนแรง. ทูตสวรรค์ที่ไม่เชื่อฟังซึ่งเป็น “บุตรชายของพระเจ้า” ได้แปลงกายลงมาและอยู่กินกับบุตรสาวของมนุษย์แล้วให้กำเนิดพวกเนฟิลิมที่ชั่วร้าย—พวกนักข่มเหงซึ่งทำให้สภาพการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นไปอีกอย่างไม่ต้องสงสัย. (เยเนซิศ 6:1, 2, 4; 1 เปโตร 3:19, 20) อย่างไรก็ดี “โนฮา . . . ได้ดำเนินกับพระเจ้า” ด้วยความเชื่อ. ท่าน “รอบคอบดีในสมัยอายุของเขา” ซึ่งเป็นชั่วอายุที่ชั่วร้าย. (เยเนซิศ 6:9-11) ด้วยความไว้วางใจในพระเจ้าอย่างแท้จริง เราสามารถเป็นเช่นเดียวกันกับโนฮาได้ในโลกที่รุนแรงและชั่วช้านี้ขณะที่เราคอยท่าวันของพระยะโฮวา.
12. (ก) นอกเหนือจากการสร้างนาวาแล้ว โนฮาทำงานอะไรอีก? (ข) ประชาชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อการประกาศของโนฮา และพวกเขาประสบผลเช่นไร?
12 โนฮาเป็นที่รู้จักกันดีฐานะผู้สร้างนาวาเพื่อคุ้มครองชีวิตให้รอดผ่านน้ำท่วมใหญ่. ท่านเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ด้วย แต่ว่าคนในสมัยของท่าน “ไม่แยแส” ข่าวสารของท่านซึ่งพระเจ้าทรงประทานให้. พวกเขากินและดื่ม, ทำการสมรส, สร้างครอบครัว, และดำเนินชีวิตตามปกติจนถึงวันที่น้ำท่วมมากวาดพวกเขาไปเสียสิ้น. (2 เปโตร 2:5, ล.ม.; เยเนซิศ 6:14) พวกเขาไม่ต้องการได้ยินเกี่ยวกับคำพูดและการกระทำที่ซื่อตรง เช่นเดียวกับคนในชั่วอายุที่ชั่วช้าในปัจจุบันปิดหูต่อสิ่งที่พยานพระยะโฮวาพูดเรื่อง “การกลับใจเสียใหม่เฉพาะพระเจ้า,” ความเชื่อในพระคริสต์, ความชอบธรรม, และ “ความพิพากษาซึ่งจะมาเบื้องหน้านั้น.” (กิจการ 20:20, 21; 24:24, 25) ไม่มีประวัติบันทึกว่ามีคนมากแค่ไหนที่มีชีวิตบนแผ่นดินโลกตอนที่โนฮาประกาศข่าวสารของพระเจ้า. แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือ ประชากรโลกลดฮวบในปี 2370 ก.ส.ศ.! น้ำท่วมใหญ่กวาดคนชั่วไปสิ้น เหลือรอดก็เพียงคนที่อยู่พร้อมสำหรับพระราชกิจของพระเจ้า คือโนฮาและอีกเจ็ดคนในครอบครัวของท่าน.—เยเนซิศ 7:19-23; 2 เปโตร 3:5, 6.
13. โนฮามั่นใจเต็มที่ในคำพิพากษาตัดสินอะไร และท่านกระทำสอดคล้องกับความมั่นใจเช่นนี้อย่างไร?
13 พระเจ้าไม่ได้ทรงแจ้งให้โนฮาทราบล่วงหน้านานหลายปีเกี่ยวด้วยวันนั้นโมงนั้นที่น้ำจะมาท่วม. อย่างไรก็ตาม เมื่อโนฮาอายุได้ 480 ปี พระยะโฮวาทรงมีรับสั่งดังนี้: “วิญญาณของเราจะไม่สถิตอยู่กับมนุษย์นานเป็นนิตย์, เพราะมนุษย์เป็นแต่เนื้อหนัง: เขาจะดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เพียงร้อยยี่สิบปี.” (เยเนซิศ 6:3) โนฮามั่นใจเต็มที่ในคำพิพากษาตัดสินนี้ของพระเจ้า. หลังจากอายุถึง 500 ปีแล้ว ท่าน “มีบุตรชายสามคนชื่อเซม, ฮาม, และยาเฟ็ธ” และตามธรรมเนียมในสมัยโน้นดูเหมือนว่าต้องรออีกสัก 50 ถึง 60 ปีบุตรชายของท่านจึงจะแต่งงาน. เมื่อโนฮาได้รับคำสั่งให้สร้างนาวาเพื่อคุ้มครองชีวิตให้รอดผ่านน้ำท่วม ก็ดูเหมือนว่าเหล่าบุตรชายและภรรยาของพวกเขาได้ช่วยท่านด้วยความอุตสาหะ. การสร้างนาวานี้คงทำควบคู่ไปกับการรับใช้ของโนฮาฐานะ “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ทำให้ท่านมีธุระยุ่งอยู่ตลอดช่วง 40 ถึง 50 ปีสุดท้ายก่อนน้ำท่วม. (เยเนซิศ 5:32; 6:13-22) ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ท่านและครอบครัวประพฤติด้วยความเชื่อ. ขอให้เราแสดงความเชื่อเช่นเดียวกันขณะที่เราประกาศข่าวดีและคอยท่าวันของพระยะโฮวา.—เฮ็บราย 11:7.
14. ในที่สุดพระยะโฮวาทรงบอกอะไรแก่โนฮา และเพราะเหตุใด?
14 ขณะที่นาวาใกล้เสร็จสมบูรณ์ โนฮาอาจคิดว่าน้ำท่วมจวนจะมาเต็มทีแล้ว แม้ว่าท่านไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร. ในที่สุด พระยะโฮวาก็ตรัสบอกท่านว่า “อีกเจ็ดวันเราจะบันดาลให้ฝนตกบนแผ่นดินตลอดสี่สิบวันและสี่สิบคืน.” (เยเนซิศ 7:4) เจ็ดวันนั้นเพียงพอที่โนฮาและครอบครัวนำสัตว์ทุกชนิดและทั้งครอบครัวเข้าสู่นาวาก่อนน้ำจะเริ่มท่วม. เราไม่จำเป็นต้องทราบวันนั้นโมงนั้นที่จะเป็นเวลาเริ่มต้นการทำลายระบบนี้; การรอดชีวิตของบรรดาสัตว์ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเรา และมนุษย์ที่คาดว่าจะรอดชีวิตก็เข้ามาอยู่ในนาวาโดยนัยแล้ว ซึ่งก็คืออุทยานฝ่ายวิญญาณแห่งไพร่พลของพระเจ้า.
“จงเฝ้าระวังอยู่”
15. (ก) คุณจะอธิบายคำตรัสของพระเยซูซึ่งพบที่มัดธาย 24:40-44 ด้วยคำพูดของคุณเองอย่างไร? (ข) การที่ไม่ทราบเวลาที่บอกชัดเกี่ยวด้วยการเสด็จมาของพระเยซูเพื่อทำการแก้แค้นให้แก่พระเจ้าก่อผลเช่นไร?
15 เกี่ยวด้วยการประทับของพระองค์ พระเยซูทรงอธิบายดังนี้: “เมื่อนั้นชายสองคน [ทำงาน] อยู่ที่ทุ่งนาจะถูกเอาไปคนหนึ่ง. ละไว้คนหนึ่ง หญิงสองคนโม่แป้งอยู่ที่โรงโม่จะถูกเอาไปคนหนึ่ง. ละไว้คนหนึ่ง. เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านจะเสด็จมาเวลาไหน. แต่ให้เข้าใจอย่างนี้ว่า, ถ้าเจ้าของบ้านล่วงรู้ได้ว่าขโมยจะมายามไหน. เขาจะเฝ้าระวังไว้. ไม่ให้ตัดฝาเรือนของเขาได้. เหตุฉะนั้นท่านทั้งหลายจงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมในโมงที่ท่านไม่ทันคิดนั้นบุตรมนุษย์จะเสด็จมา.” (มัดธาย 24:40-44; ลูกา 17:34, 35) การที่ไม่รู้เวลาที่แน่นอนแห่งการเสด็จมาของพระเยซูเพื่อจัดการแก้แค้นแทนพระเจ้าคงจะช่วยให้เราตื่นตัวและให้โอกาสแก่เราในแต่ละวันที่จะพิสูจน์ตัวว่า เรารับใช้พระยะโฮวาด้วยแรงจูงใจที่ไม่เห็นแก่ตัว.
16. จะมีอะไรเกิดขึ้นแก่คนที่ ‘ถูกละไว้’ และแก่คนที่ “ถูกเอาไป”?
16 ปัจเจกชนที่ ‘ถูกละไว้’ ให้พินาศพร้อมกับคนชั่วจะรวมถึงคนเหล่านั้นที่ครั้งหนึ่งเคยได้พบความสว่าง แต่ถูกกลืนไปในวิถีชีวิตที่เห็นแก่ตัว. ขอให้เราอยู่ท่ามกลางคนที่ “ถูกเอาไป” ซึ่งก็คือคนที่เลื่อมใสพระยะโฮวาอย่างเต็มที่และแสดงความขอบพระคุณอย่างแท้จริงสำหรับการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณผ่านทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) จนถึงวันสุดปลาย ขอให้เรารับใช้พระเจ้าด้วย “ความรักซึ่งเกิดจากหัวใจที่สะอาด และเกิดจากสติรู้สึกผิดชอบที่ดี และเกิดจากความเชื่ออันปราศจากความหน้าซื่อใจคด.”—1 ติโมเธียว 1:5, ล.ม.
จำเป็นต้องมีการประพฤติอันบริสุทธิ์
17. (ก) มีการบอกล่วงหน้าในเรื่องอะไรที่ 2 เปโตร 3:10? (ข) การประพฤติและการกระทำที่ 2 เปโตร 3:11 สนับสนุนให้ทำมีอะไรบ้าง?
17 อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “วันของพระยะโฮวาจะมาเหมือนอย่างขโมย ในวันนั้นฟ้าสวรรค์จะล่วงลับไปด้วยเสียงแฉ่ ๆ แต่ธาตุต่าง ๆ จะถูกละลายไปเพราะร้อนจัด และแผ่นดินโลกกับการกระทำต่าง ๆ ในโลกจะถูกเปิดเผย.” (2 เปโตร 3:10, ล.ม.) ฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกโดยนัยจะไม่พ้นจากไฟอันร้อนยิ่งแห่งเพลิงพระพิโรธที่แผดเผาของพระเจ้า. ด้วยเหตุนี้ เปโตรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “โดยเหตุที่สิ่งทั้งปวงเหล่านี้จะต้องถูกละลายไปทั้งสิ้น ท่านทั้งหลายควรเป็นคนชนิดใดในการประพฤติอันบริสุทธิ์ และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า!” (2 เปโตร 3:11, ล.ม.) ส่วนหนึ่งของการประพฤติและการกระทำเหล่านี้ได้แก่การเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนเป็นประจำ, การทำดีต่อคนอื่น ๆ, และการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการประกาศข่าวดี.—มัดธาย 24:14; เฮ็บราย 10:24, 25; 13:16.
18. หากเราเริ่มจะติดสนิทกับโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เราควรทำอะไร?
18 “การประพฤติอันบริสุทธิ์และการกระทำด้วยความเลื่อมใสในพระเจ้า” เรียกร้องให้เรา ‘รักษาตัวให้สะอาดปราศจากมลทินของโลก.’ (ยาโกโบ 1:27) แต่จะว่าอย่างไรหากเรากำลังเริ่มจะติดสนิทกับโลกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ? อาจเป็นได้ว่าเรากำลังถูกล่อให้ตกอยู่ในฐานะที่หมิ่นเหม่ในสายพระเนตรของพระเจ้าโดยการติดตามความบันเทิงที่ไม่สะอาดหรือโดยการฟังดนตรีและเพลงที่ส่งเสริมน้ำใจของโลกนี้ซึ่งไม่นับถือพระเจ้า. (2 โกรินโธ 6:14-18) หากเป็นเช่นนั้น ให้เราขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าในคำอธิษฐาน เพื่อว่าเราจะไม่ล่วงลับไปพร้อมกับโลกนี้ แต่จะยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์อย่างเป็นที่ชอบพระทัย. (ลูกา 21:34-36; 1 โยฮัน 2:15-17) ถ้าเราได้อุทิศตัวแด่พระเจ้าแล้ว แน่นอนว่าเราปรารถนาจะทำดีที่สุดเพื่อก่อร่างสร้างและรักษาไว้ซึ่งสัมพันธภาพที่อบอุ่นกับพระองค์และโดยวิธีนี้จึงอยู่พร้อมสำหรับวันอันใหญ่ยิ่งและน่าสะพึงกลัวของพระยะโฮวา.
19. ทำไมฝูงชนที่เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรจึงสามารถคาดหวังได้ว่าจะมีชีวิตผ่านช่วงอวสานของระบบชั่วนี้?
19 โนฮาและครอบครัวท่านซึ่งเลื่อมใสในพระเจ้ามีชีวิตผ่านน้ำท่วมที่ทำลายโลกในกาลโบราณ. ปัจเจกชนที่ซื่อตรงรอดชีวิตในคราวอวสานของระบบยิวในปี ส.ศ. 70. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกโยฮันยังคงรับใช้พระเจ้าอย่างกระตือรือร้นประมาณปี ส.ศ. 96-98 ตอนที่ท่านเขียนพระธรรมวิวรณ์, เรื่องราวในพระธรรมกิตติคุณของท่าน, และจดหมายที่ได้รับการดลใจให้เขียนอีกสามฉบับ. ในบรรดาหลายพันคนที่ตอบรับความเชื่อแท้ในวันเพนเตคอสเต ส.ศ. 33 คงมีหลายคนที่มีชีวิตผ่านอวสานของระบบยิว. (กิจการ 1:15; 2:41, 47; 4:4) ปัจจุบัน ฝูงชนที่เป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรสามารถหวังว่าจะมีชีวิตผ่านช่วงอวสานของระบบปัจจุบันอันชั่วช้า.
20. เหตุใดเราควรเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ที่กระตือรือร้น?
20 โดยที่มีความหวังจะได้รับการช่วยให้รอดผ่านเข้าไปในโลกใหม่อยู่ตรงหน้าเรา ให้เราเป็น “ผู้ประกาศความชอบธรรม” ที่กระตือรือร้น. ช่างเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่จะรับใช้พระเจ้าในสมัยสุดท้ายนี้! และช่างน่ายินดีเสียจริงที่จะชี้นำผู้คนให้เข้าสู่ “นาวา” สมัยปัจจุบัน ซึ่งก็คืออุทยานฝ่ายวิญญาณที่ไพร่พลของพระเจ้ากำลังชื่นชมอยู่! ขอให้หลายล้านคนที่ปัจจุบันอยู่ในอุทยานฝ่ายวิญญาณรักษาตัวซื่อสัตย์, ตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ, และอยู่พร้อมสำหรับวันใหญ่ของพระยะโฮวา. แต่อะไรจะช่วยเราทั้งหมดให้รักษาสภาพที่ตื่นตัวอยู่เสมอ?
[เชิงอรรถ]
a ดูบท 10 และ 11 ของหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ แห่งนิวยอร์ก.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ บางคนเคยคาดหมายเช่นไรเกี่ยวด้วยวันของพระยะโฮวาและการประทับของพระคริสต์?
▫ ทำไมเราสามารถกล่าวได้ว่าโนฮาและครอบครัวอยู่พร้อมสำหรับน้ำท่วม?
▫ จะเกิดอะไรขึ้นแก่คนที่ “เฝ้าระวังอยู่” และแก่คนที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น?
▫ ทำไมการประพฤติอันบริสุทธิ์จึงจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะที่เราเข้าไปใกล้วันใหญ่ของพระยะโฮวา?