บท 17
ประสบความปลอดภัยท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า
1, 2. สภาพการณ์ของมนุษยชาติเป็นเหมือนสภาพของผู้คนในบริเวณที่พินาศย่อยยับเนื่องจากพายุอย่างไร?
ลองวาดมโนภาพว่า พายุใหญ่ทำให้บริเวณที่คุณอาศัยอยู่พินาศย่อยยับ. บ้านของคุณถูกทำลาย และทรัพย์สินของคุณเสียหายหมด. อาหารก็ขาดแคลน. สภาพการณ์ดูเหมือนว่าสิ้นหวัง. ครั้นแล้ว สิ่งของบรรเทาทุกข์ก็มาถึงอย่างไม่คาดหมาย. มีการจัดเตรียมอาหารและเครื่องนุ่งห่มให้อย่างอุดมบริบูรณ์. มีการสร้างบ้านหลังใหม่ให้คุณ. แน่นอน คุณคงจะรู้สึกขอบคุณผู้ที่จัดหาสิ่งจำเป็นเหล่านี้ให้.
2 สิ่งที่คล้าย ๆ กันกำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้. เช่นเดียวกับพายุนั้น การกบฏของอาดามและฮาวาก่อความเสียหายมหันต์แก่เผ่าพันธุ์มนุษย์. บ้านอุทยานของมนุษยชาติได้สูญเสียไป. ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลมนุษย์ไม่สามารถปกป้องประชาชนไว้จากสงคราม, อาชญากรรม, และความอยุติธรรม. ศาสนาได้ปล่อยให้คนจำนวนมากอดอยากอาหารฝ่ายวิญญาณที่มีประโยชน์. อย่างไรก็ดี พูดกันทางฝ่ายวิญญาณแล้ว ขณะนี้พระเจ้ายะโฮวากำลังจัดหาอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่อยู่อาศัยให้. พระองค์ทรงทำเช่นนั้นโดยวิธีใด?
“ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”
3. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นไว้สำหรับมนุษยชาติอย่างไร ดังที่ปรากฏจากตัวอย่างอะไร?
3 ตามปกติมีการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์โดยผ่านช่องทางที่จัดเป็นองค์การ และพระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณที่คล้ายคลึงกันสำหรับไพร่พลของพระองค์. ยกตัวอย่าง ชนยิศราเอลเป็น “พวกสโมสร [ประชาคม, ล.ม.] ของพระยะโฮวา” อยู่ราว ๆ 1,500 ปี. ท่ามกลางพวกเขาก็มีคนเหล่านั้นซึ่งรับใช้ฐานะเป็นช่องทางของพระเจ้าเพื่อสั่งสอนพระบัญญัติของพระองค์. (1 โครนิกา 28:8; 2 โครนิกา 17:7-9) ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช พระยะโฮวาทรงก่อกำเนิดองค์การคริสเตียน. มีการก่อตั้งประชาคมต่าง ๆ ขึ้น และประชาคมเหล่านั้นปฏิบัติงานภายใต้การชี้นำของคณะกรรมการปกครองซึ่งประกอบด้วยอัครสาวกและผู้เฒ่าผู้แก่. (กิจการ 15:22-31) ทุกวันนี้ก็เช่นกัน พระยะโฮวาทรงติดต่อกับไพร่พลของพระองค์ผ่านกลุ่มชนที่จัดเป็นองค์การ. เราทราบเรื่องนี้อย่างไร?
4. “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ได้ปรากฏว่าเป็นใครในยุคปัจจุบัน และมีการทำให้สิ่งจำเป็นฝ่ายวิญญาณจากพระเจ้ามีไว้พร้อมโดยวิธีใด?
4 พระเยซูตรัสว่า ในสมัยแห่งการประทับของพระองค์ด้วยอำนาจแห่งราชอาณาจักร จะพบว่า “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” จัดเตรียม “อาหาร . . . ตามเวลาที่สมควร” สำหรับเหล่าสาวกของพระองค์. (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) เมื่อพระเยซูได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ทางภาคสวรรค์ในปี 1914 “ทาส” นี้ปรากฏว่าเป็นผู้ใด? ไม่ใช่นักเทศน์แห่งคริสต์ศาสนจักรแน่ ๆ. เพราะส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาเลี้ยงฝูงแกะของตนด้วยคำโฆษณาชวนเชื่อที่สนับสนุนรัฐบาลแห่งชาติของเขาเองในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง. แต่อาหารฝ่ายวิญญาณตามเวลาที่สมควรและทันกาลถูกแจกจ่ายโดยกลุ่มคริสเตียนแท้ซึ่งได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าและเป็นส่วนแห่งกลุ่มที่พระเยซูทรงเรียกว่า “ฝูงแกะเล็กน้อย.” (ลูกา 12:32) คริสเตียนผู้ถูกเจิมเหล่านี้ได้ประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแทนที่จะประกาศเรื่องรัฐบาลของมนุษย์. ผลก็คือ ตลอดหลายปีหลายล้านคนในพวก “แกะอื่น” ที่มีความโน้มเอียงในทางชอบธรรมได้เข้าร่วมกับ “ทาส” ผู้ถูกเจิมในการปฏิบัติศาสนาแท้. (โยฮัน 10:16) โดยใช้ “ทาสสัตย์ซื่อ” และคณะกรรมการปกครองสมัยปัจจุบันของทาสนั้น พระเจ้าทรงชี้นำไพร่พลของพระองค์ที่จัดเป็นองค์การเพื่อจัดเตรียมอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่อยู่อาศัยฝ่ายวิญญาณไว้พร้อมสำหรับทุกคนที่ประสงค์จะได้รับสิ่งจำเป็นเหล่านี้.
“อาหารตามเวลาที่สมควร”
5. มีสภาพอะไรฝ่ายวิญญาณในโลกทุกวันนี้ แต่พระยะโฮวาทรงทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?
5 พระเยซูตรัสว่า “มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่ด้วยบรรดาโอวาทซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า.” (มัดธาย 4:4) แต่น่าเสียดาย ผู้คนจำนวนมากไม่ได้เอาใจใส่ต่อโอวาทของพระเจ้า. ดังที่บอกไว้ล่วงหน้าโดยอาโมศ ผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวา มี “ความกันดาร . . . มิใช่ . . . อาหาร แลกระหายน้ำ, คือ [แต่, ล.ม.] กันดารเพราะจะมิได้ฟังคำแห่งพระยะโฮวา.” (อาโมศ 8:11) แม้แต่ผู้คนที่เคร่งศาสนาก็อดอยากฝ่ายวิญญาณ กระนั้น พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาคือ ให้ “คนทุกชนิดรับความรอดและบรรลุความรู้อันถ่องแท้เรื่องความจริง.” (1 ติโมเธียว 2:3, 4, ล.ม.) ฉะนั้น พระองค์ทรงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณไว้อย่างอุดม. แต่จะรับอาหารนั้นได้จากที่ไหน?
6. พระยะโฮวาทรงเลี้ยงดูไพร่พลของพระองค์ฝ่ายวิญญาณอย่างไรในอดีต?
6 ตลอดประวัติศาสตร์ พระยะโฮวาได้แจกจ่ายอาหารฝ่ายวิญญาณให้แก่ไพร่พลของพระองค์เป็นกลุ่มชน. (ยะซายา 65:13) ยกตัวอย่าง ปุโรหิตชาวยิศราเอลได้ให้ชาย, หญิง, และเด็กมาชุมนุมกันเพื่อสั่งสอนพระบัญญัติของพระเจ้าเป็นกลุ่ม. (พระบัญญัติ 31:9, 12) ภายใต้การชี้นำของคณะกรรมการปกครอง คริสเตียนศตวรรษแรกได้จัดระเบียบประชาคมและจัดการประชุมเพื่อสั่งสอนและหนุนกำลังใจทุกคน. (โรม 16:5; ฟิเลโมน 1, 2) พยานพระยะโฮวาปฏิบัติตามแบบแผนนี้. คุณได้รับเชิญด้วยน้ำใสใจจริงให้เข้าร่วมการประชุมทุกรายการของพวกเขา.
7. การเข้าร่วมเป็นประจำ ณ การประชุมคริสเตียนเกี่ยวข้องกับความรู้และความเชื่ออย่างไร?
7 แน่ละ คุณอาจได้เรียนรู้มากอยู่แล้วในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัว. บางทีมีคนช่วยเหลือคุณ. (กิจการ 8:30-35) แต่ความเชื่อของคุณอาจเปรียบเสมือนพืชซึ่งจะเหี่ยวเฉาและตายไปหากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม. เนื่องจากเหตุนี้ คุณต้องได้รับการบำรุงเลี้ยงฝ่ายวิญญาณที่เหมาะสม. (1 ติโมเธียว 4:6) การประชุมคริสเตียนจัดให้มีระเบียบวาระการสั่งสอนแบบต่อเนื่องซึ่งได้รับการจัดขึ้นเพื่อบำรุงเลี้ยงคุณฝ่ายวิญญาณและช่วยคุณให้เติบโตต่อ ๆ ไปในความเชื่อขณะที่คุณเพิ่มพูนในความรู้ของพระเจ้า.—โกโลซาย 1:9, 10.
8. ทำไมเราได้รับการสนับสนุนให้เข้าร่วมการประชุมของพยานพระยะโฮวา?
8 การประชุมส่งเสริมจุดประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง. เปาโลเขียนว่า “ให้เราพิจารณาดูกันและกัน เพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการงานที่ดี ไม่ละการประชุมร่วมกัน.” (เฮ็บราย 10:24, 25, ล.ม.) คำภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “เร้าใจ” ยังหมายถึง “ทำให้เฉียบแหลมขึ้น” ด้วย. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เหล็กลับเหล็กให้คมได้ฉันใด, คนเราก็ลับเพื่อนของเราให้เฉียบแหลมขึ้นได้ฉันนั้น.” (สุภาษิต 27:17) เราทุกคนจำเป็นต้องมี ‘การลับให้เฉียบแหลมขึ้น’ อยู่เรื่อย ๆ. ความกดดันประจำวันจากโลกอาจทำให้ความเชื่อของเราทื่อ. เมื่อเราเข้าร่วมการประชุมคริสเตียน มีการหนุนกำลังใจกันและกัน. (โรม 1:11, 12) สมาชิกของประชาคมปฏิบัติตามคำตักเตือนของอัครสาวกเปาโลที่ให้ “หนุนน้ำใจซึ่งกันและกัน, และจงต่างคนต่างก่อร่างสร้างกันขึ้น” และสิ่งดังกล่าวทำให้ความเชื่อของเราเฉียบแหลมขึ้น. (1 เธซะโลนิเก 5:11) การเข้าร่วมเป็นประจำ ณ การประชุมคริสเตียนบ่งชี้ด้วยว่า เรารักพระเจ้าและทำให้เรามีโอกาสสรรเสริญพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 35:18.
“จงสวมตัวท่านด้วยความรัก”
9. พระยะโฮวาทรงวางแบบอย่างในการสำแดงความรักโดยวิธีใด?
9 เปาโลเขียนว่า “จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องเชื่อมสามัคคีที่ดีพร้อม.” (โกโลซาย 3:14, ล.ม.) พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มชิ้นนี้ให้เราด้วยความกรุณา. โดยวิธีใด? คริสเตียนสามารถแสดงความรักเพราะนั่นเป็นผลอย่างหนึ่งแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาที่ประทานให้. (ฆะลาเตีย 5:22, 23) พระยะโฮวาเองได้สำแดงความรักใหญ่ยิ่งที่สุดโดยการส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์มา เพื่อว่าเราอาจมีชีวิตนิรันดร์. (โยฮัน 3:16) การแสดงอย่างยอดเยี่ยมเกี่ยวด้วยความรักเช่นนี้ให้แบบอย่างแก่เราในการสำแดงคุณลักษณะนี้. อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “ถ้าพระเจ้าได้ทรงรักเราทั้งหลายเช่นนั้น ก็ควรเราจะรักซึ่งกันและกันด้วย.”—1 โยฮัน 4:11.
10. เราอาจได้รับประโยชน์อย่างไรจาก “สังคมแห่งพวกพี่น้องทั้งสิ้น”?
10 การที่คุณเข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมราชอาณาจักรจะทำให้คุณมีโอกาสดีเยี่ยมที่จะแสดงความรัก. ที่นั่นคุณจะพบผู้คนหลากหลาย. ไม่ต้องสงสัย คุณคงจะรู้สึกถูกดึงดูดให้อยากเข้าใกล้หลายคนในพวกเขาทันที. แน่นอน มีบุคลิกภาพต่างกันแม้แต่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่รับใช้พระยะโฮวา. บางทีในอดีตคุณเพียงแต่หลีกเลี่ยงคนที่ไม่มีความสนใจหรืออุปนิสัยอย่างเดียวกับคุณ. แต่คริสเตียนต้อง “มีความรักต่อสังคมแห่งพี่น้องทั้งสิ้น.” (1 เปโตร 2:17, ล.ม.) ฉะนั้น จงตั้งเป้าที่จะรู้จักคุ้นเคยกับคนเหล่านั้นที่หอประชุมราชอาณาจักร—แม้แต่บุคคลซึ่งอาจมีวัย, บุคลิกภาพ, เชื้อชาติ, หรือระดับการศึกษาต่างจากคุณ. คุณคงจะพบว่า แต่ละคนมีลักษณะเด่นบางอย่างซึ่งชวนให้รัก.
11. ทำไมไม่ควรให้ความแตกต่างทางบุคลิกภาพท่ามกลางไพร่พลของพระยะโฮวารบกวนใจคุณ?
11 ความหลากหลายของบุคลิกภาพในประชาคมไม่ควรรบกวนใจคุณ. เพื่อเป็นตัวอย่าง ขอให้นึกภาพยวดยานมากมายกำลังแล่นไปพร้อมกับคุณบนถนน. ไม่ใช่ทุกคันแล่นด้วยความเร็วเท่ากัน หรือมีสภาพเหมือนกัน. บางคันแล่นมาหลายกิโลเมตร แต่เช่นเดียวกับคุณ คันอื่น ๆ เพิ่งออกแล่น. อย่างไรก็ดี แม้มีความแตกต่างเช่นนี้ ทุกคันกำลังแล่นไปตามถนน. นั่นก็คล้ายกับปัจเจกบุคคลที่ประกอบกันเป็นประชาคม. ไม่ใช่ทุกคนพัฒนาคุณลักษณะแบบคริสเตียนได้ไวเท่ากัน. นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกคนอยู่ในสภาพร่างกายหรืออารมณ์ที่เหมือนกัน. บางคนนมัสการพระยะโฮวามาหลายปี คนอื่น ๆ เพิ่งเริ่มต้น. กระนั้น ทุกคนก็กำลังเดินทางไปตามถนนที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ “เป็นหนึ่งเดียวโดยมีจิตใจและแนวความคิดเดียวกัน.” (1 โกรินโธ 1:10, ล.ม.) ฉะนั้น จงมองหาคุณลักษณะเด่น แทนที่จะมองหาจุดอ่อนของคนเหล่านั้นในประชาคม. การทำเช่นนั้นจะทำให้หัวใจของคุณอบอุ่น เพราะคุณจะเห็นชัดว่า พระเจ้าทรงสถิตอยู่ท่ามกลางชนเหล่านี้อย่างแท้จริง. และนี่คือสถานที่ซึ่งคุณต้องการอยู่อย่างแน่นอน.—1 โกรินโธ 14:25.
12, 13. (ก) หากมีคนในประชาคมทำให้คุณขุ่นเคือง คุณสามารถทำประการใด? (ข) ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่จะไม่เก็บความขุ่นเคืองไว้?
12 เนื่องจากมนุษย์ทุกคนไม่สมบูรณ์ บางครั้งอาจมีใครในประชาคมพูดหรือทำสิ่งที่ทำให้คุณไม่สบายใจ. (โรม 3:23) สาวกยาโกโบได้เขียนตามสภาพที่เป็นจริงว่า “เราทุกคนต่างก็พลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งในวาจา ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์.” (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.) คุณจะมีปฏิกิริยาอย่างไรหากมีคนทำให้คุณขุ่นเคือง? สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “สติปัญญา [ความหยั่งเห็น, ล.ม.] ย่อมทำให้คนไม่โกรธเร็ว, และการไม่ถือโทษนั้นก็เป็นมงคลแก่เขา.” (สุภาษิต 19:11) การมีความหยั่งเห็นหมายถึงการมองสภาพการณ์ให้ลึกกว่าที่ปรากฏภายนอก, การเข้าใจปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้คนเราพูดหรือปฏิบัติอะไรบางอย่าง. พวกเราส่วนใหญ่ใช้ความหยั่งเห็นมากมายเพื่อแก้ตัวเรื่องความผิดของเราเอง. ทำไมจึงไม่ใช้ความหยั่งเห็นอย่างเดียวกันนั้นเพื่อเข้าใจและปกปิดความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นด้วยล่ะ?—มัดธาย 7:1-5; โกโลซาย 3:13.
13 อย่าลืมว่า เราต้องให้อภัยคนอื่นเพื่อเราจะได้รับการให้อภัยจากพระยะโฮวา. (มัดธาย 6:9, 12, 14, 15) หากเราประพฤติตามความจริง เราจะปฏิบัติกับคนอื่นด้วยท่าทีแสดงความรัก. (1 โยฮัน 1:6, 7; 3:14-16; 4:20, 21) ฉะนั้น หากคุณประสบปัญหากับบางคนในประชาคม จงต่อต้านการเก็บความขุ่นเคืองไว้. หากคุณสวมตัวด้วยความรัก คุณก็จะพยายามแก้ปัญหา และคุณจะไม่ลังเลที่จะขอโทษหากคุณเป็นต้นเหตุของความขุ่นเคือง.—มัดธาย 5:23, 24; 18:15-17.
14. เราควรสวมตัวด้วยคุณลักษณะอะไร?
14 เครื่องนุ่งห่มฝ่ายวิญญาณของเราควรรวมเอาคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับความรัก. เปาโลเขียนว่า “จงสวมตัวท่านด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนแห่งความเมตตา, ความกรุณา, ใจถ่อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน.” ลักษณะนิสัยเหล่านี้ซึ่งมีความรักประกอบอยู่ด้วยเป็นส่วนแห่ง “บุคลิกภาพใหม่” เยี่ยงพระเจ้า. (โกโลซาย 3:10, 12, ล.ม.) คุณจะพยายามสวมตัวคุณด้วยวิธีนี้ไหม? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณสวมตัวด้วยความรักฉันพี่น้อง คุณจะมีเครื่องหมายระบุตัวเป็นสาวกของพระเยซู เพราะพระองค์ตรัสว่า “คนทั้งปวงจะรู้ได้ว่าเจ้าเป็นเหล่าสาวกของเราก็เพราะว่าเจ้าทั้งหลายรักซึ่งกันและกัน.”—โยฮัน 13:35.
สถานที่แห่งความปลอดภัย
15. ประชาคมเป็นเหมือนที่กำบังอย่างไร?
15 ประชาคมยังเป็นเหมือนที่กำบัง ที่ปกป้องคุ้มภัยซึ่งคุณจะรู้สึกปลอดภัย. ในประชาคม คุณจะพบชนผู้มีหัวใจสุจริตซึ่งพยายามจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรของพระเจ้า. หลายคนในพวกเขาได้ขจัดกิจปฏิบัติและเจตคติที่ไม่ดีอย่างเดียวกันกับที่คุณอาจพยายามต่อสู้เพื่อเอาชนะอยู่. (ติโต 3:3) พวกเขาสามารถช่วยคุณได้ เพราะเราได้รับการบอกให้ “ช่วยแบกภาระซึ่งกันและกัน.” (ฆะลาเตีย 6:2) แน่นอน การติดตามแนวทางที่นำไปสู่ชีวิตนิรันดร์เป็นความรับผิดชอบของคุณเองในขั้นสุดท้าย. (ฆะลาเตีย 6:5; ฟิลิปปอย 2:12) กระนั้น พระยะโฮวาได้จัดเตรียมประชาคมคริสเตียนเป็นเครื่องมืออันยอดเยี่ยมที่ให้การช่วยเหลือและการสนับสนุน. ไม่ว่าปัญหาของคุณอาจน่าเป็นทุกข์เพียงไร คุณมีแหล่งอันล้ำค่าที่คุณหาได้ นั่นคือประชาคมที่มีความรักซึ่งจะอยู่เคียงข้างคุณในยามทุกข์ร้อนหรือสูญเสีย.—เทียบกับลูกา 10:29-37; กิจการ 20:35.
16. ผู้ปกครองในประชาคมจัดเตรียมความช่วยเหลืออะไร?
16 ในบรรดาคนเหล่านั้นซึ่งอยู่พร้อมจะช่วยเหลือคุณก็คือ “ของประทานในลักษณะมนุษย์” อันได้แก่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลในประชาคมซึ่งได้รับการแต่งตั้ง ผู้ซึ่งบำรุงเลี้ยงฝูงแกะด้วยความเต็มใจและด้วยใจจดจ่อ. (เอเฟโซ 4:8, 11, 12, ล.ม.; กิจการ 20:28; 1 เปโตร 5:2, 3) ยะซายาได้พยากรณ์เกี่ยวกับพวกเขาว่า “แต่ละองค์ต่างต้องเป็นเหมือนที่หลบซ่อนให้พ้นลมและที่กำบังให้พ้นพายุฝน เหมือนสายธารในประเทศที่แล้งน้ำ เหมือนร่มเงาแห่งหินผาใหญ่ในแดนกันดาร.”—ยะซายา 32:2, ล.ม.
17. (ก) พระเยซูทรงต้องการให้ความช่วยเหลือชนิดใดเป็นพิเศษ? (ข) พระเจ้าทรงสัญญาจะจัดเตรียมอะไรไว้สำหรับไพร่พลของพระองค์?
17 เมื่อพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก การดูแลด้วยความรักโดยผู้นำทางศาสนาขาดไปอย่างน่าเสียดาย. สภาพของผู้คนทำให้พระองค์รู้สึกสะเทือนใจมาก และพระองค์จึงต้องการเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือพวกเขาฝ่ายวิญญาณ. พระเยซูทรงสงสารพวกเขาเพราะ “เขาอิดโรยกระจัดกระจายไปดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง.” (มัดธาย 9:36) ข้อนี้พรรณนาอย่างเหมาะสมเพียงไรถึงสภาพอันอับจนในปัจจุบันของหลายคนซึ่งทนกับปัญหาที่ทำให้ปวดร้าวหัวใจโดยไม่มีใครที่เขาจะหันไปขอความช่วยเหลือและการปลอบโยนฝ่ายวิญญาณได้! แต่ไพร่พลของพระยะโฮวามีความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณจริง ๆ เพราะพระองค์ทรงสัญญาว่า “เราจะตั้งผู้เลี้ยงแกะไว้เหนือเขา ผู้จะเลี้ยงดูเขา และเขาทั้งหลายจะไม่กลัวอีกเลย หรือครั่นคร้าม จะไม่ขาดไปเลย.”—ยิระมะยา 23:4, ฉบับแปลใหม่.
18. ทำไมเราควรเข้าหาผู้ปกครองหากเราต้องการความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณ?
18 จงทำความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งในประชาคม. พวกเขามีประสบการณ์มากในการนำความรู้ของพระเจ้าไปใช้ เพราะเขาบรรลุคุณวุฒิสำหรับผู้ดูแลตามที่ชี้แจงในคัมภีร์ไบเบิล. (1 ติโมเธียว 3:1-7; ติโต 1:5-9) อย่าลังเลที่จะเข้าหาคนใดคนหนึ่งในพวกเขาหากคุณต้องการความช่วยเหลือฝ่ายวิญญาณเพื่อเอาชนะนิสัยหรือลักษณะที่ขัดกับข้อเรียกร้องของพระเจ้า. คุณจะพบว่า ผู้ปกครองปฏิบัติตามคำตักเตือนของเปาโลที่ให้ “พูดปลอบโยนผู้ที่หดหู่ใจ เกื้อหนุนคนที่อ่อนแอ อดกลั้นทนนานต่อคนทั้งปวง.”—1 เธซะโลนิเก 2:7, 8; 5:14, ล.ม.
ชื่นชมกับความปลอดภัยร่วมกับไพร่พลของพระยะโฮวา
19. พระยะโฮวาประทานพระพรอะไรให้คนเหล่านั้นที่แสวงหาความปลอดภัยภายในองค์การของพระองค์?
19 แม้เรามีชีวิตท่ามกลางสภาพการณ์ที่ไม่สมบูรณ์ พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้เรามีอาหาร, เครื่องนุ่งห่ม, และที่อยู่อาศัยฝ่ายวิญญาณในปัจจุบัน. แน่ละ เราต้องคอยโลกใหม่ตามคำสัญญาของพระเจ้าเพื่อจะได้รับประโยชน์จากอุทยานจริง ๆ. แต่คนเหล่านั้นซึ่งเป็นส่วนแห่งองค์การของพระยะโฮวากำลังชื่นชมกับความปลอดภัยแห่งอุทยานฝ่ายวิญญาณอยู่ในปัจจุบัน. ยะเอศเคลพยากรณ์ถึงพวกเขาว่า “เขาจะอยู่อย่างปลอดภัย ไม่มีผู้ใดกระทำให้เขากลัว.”—ยะเอศเคล 34:28, ฉบับแปลใหม่; บทเพลงสรรเสริญ 4:8.
20. พระยะโฮวาจะทรงชดเชยสิ่งใด ๆ ที่เราอาจเสียสละเพื่อเห็นแก่การนมัสการของพระองค์นั้นอย่างไร?
20 เราน่าจะรู้สึกขอบคุณเพียงไรที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณด้วยความรักผ่านทางพระคำและองค์การของพระองค์! จงเข้าใกล้ไพร่พลของพระเจ้า. อย่ายับยั้งไว้โดยกลัวสิ่งที่เพื่อนฝูงหรือญาติพี่น้องอาจคิดเกี่ยวกับตัวคุณเนื่องจากการรับเอาความรู้ของพระเจ้า. บางคนอาจไม่พอใจเพราะคุณคบหากับพยานพระยะโฮวาและเข้าร่วมการประชุมที่หอประชุม. แต่พระเจ้าจะชดเชยให้คุณอย่างเหลือล้นสำหรับสิ่งใด ๆ ที่คุณเสียสละเพื่อเห็นแก่การนมัสการพระองค์. (มาลาคี 3:10) นอกจากนี้ พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดได้สละบ้านหรือพี่น้องชายหญิงหรือบิดามารดาหรือลูกหรือไร่นา เพราะเห็นแก่เราและข่าวประเสริฐของเรา ในยุคนี้ผู้นั้นจะได้รับตอบแทนร้อยเท่า คือบ้าน พี่น้องชายหญิง มารดา ลูกและไร่นา ทั้งจะถูกการข่มเหงด้วย และในยุคหน้าจะได้ชีวิตนิรันดร์.” (มาระโก 10:29, 30, ฉบับแปลใหม่) ถูกแล้ว ไม่ว่าคุณได้สละอะไรไว้เบื้องหลังหรือต้องทนเอาสิ่งใดก็ตาม คุณจะพบมิตรภาพที่ทำให้เบิกบานใจและความปลอดภัยฝ่ายวิญญาณท่ามกลางไพร่พลของพระเจ้า.
ทดสอบความรู้ของคุณ
ใครคือ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”?
พระยะโฮวาทรงเตรียมการอะไรเพื่อเลี้ยงดูเราฝ่ายวิญญาณ?
คนเหล่านั้นในประชาคมคริสเตียนสามารถช่วยเราได้โดยวิธีใด?
[รูปภาพเต็มหน้า 165]