“ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”
“ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งนายตั้งไว้ให้ดูแลพวกคนรับใช้ เพื่อให้อาหารแก่พวกเขาในเวลาอันเหมาะ?”—มัด. 24:45
1, 2. พระเยซูกำลังใช้ใครให้เลี้ยงอาหารเราในทุกวันนี้ และทำไมจึงสำคัญที่เราจะรู้ว่าใครคือคนที่พระองค์ใช้?
“พี่น้องที่รัก ดิฉันได้รับบทความที่เหมาะกับดิฉันและในเวลาที่ดิฉันต้องการมากที่สุดหลายต่อหลายครั้งจริง ๆ.” นี่เป็นข้อความที่พี่น้องหญิงคนหนึ่งเขียนมาเพื่อขอบคุณพี่น้องที่ทำงานในสำนักงานใหญ่. คุณเคยรู้สึกอย่างเดียวกันนี้ไหม? พวกเราหลายคนรู้สึกอย่างนี้. เรื่องนี้ทำให้เราแปลกใจไหม? ไม่เลย.
2 อาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะที่เราได้รับเป็นข้อพิสูจน์ว่าพระเยซู ผู้เป็นประมุขของประชาคม กำลังทำตามสัญญาที่ว่าพระองค์จะเลี้ยงดูเรา. พระองค์กำลังใช้ใครให้ทำอย่างนี้? เมื่อให้สัญญาณเกี่ยวกับการประทับ พระเยซูตรัสว่าพระองค์จะใช้ “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” เพื่อให้ ‘อาหารในเวลาอันเหมาะ’ แก่พวกคนรับใช้.a (อ่านมัดธาย 24:45-47 ) ในเวลาอวสาน พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารสาวกแท้ของพระองค์โดยทางทาสสัตย์ซื่อ. เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องรู้ว่าใครเป็นทาสสัตย์ซื่อ. เราจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระเจ้าได้ก็ต่อเมื่อเรารับอาหารฝ่ายวิญญาณโดยทางทาสสัตย์ซื่อนี้.—มัด. 4:4; โย. 17:3
3. หนังสือของเราเคยอธิบายไว้อย่างไรเกี่ยวกับอุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่อ?
3 เราควรเข้าใจอุทาหรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับทาสสัตย์ซื่ออย่างไร? ในอดีต หนังสือของเราเคยกล่าวไว้ดังต่อไปนี้: ในวันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 พระเยซูทรงแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลพวกคนรับใช้ของพระองค์. ทาสนี้หมายถึงคริสเตียนผู้ถูกเจิมโดยรวมทั้งหมดบนแผ่นดินโลก ณ เวลาใดเวลาหนึ่งตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา. พวกคนรับใช้หมายถึงผู้ถูกเจิมแต่ละคน. ในปี 1919 พระเยซูทรงแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ “ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย” ซึ่งก็คือผลประโยชน์ของราชอาณาจักรบนแผ่นดินโลกทั้งหมด. แต่เมื่อศึกษาและใคร่ครวญอย่างละเอียดยิ่งขึ้นพร้อมด้วยการอธิษฐาน เราพบว่าจำเป็นต้องปรับความเข้าใจเกี่ยวกับคำตรัสของพระเยซูเรื่องทาสสัตย์ซื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น. (สุภา. 4:18) ขอให้เราพิจารณาอุทาหรณ์นี้และดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ไม่ว่าเราจะมีความหวังที่จะอยู่ในสวรรค์หรือบนแผ่นดินโลก.
อุทาหรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงเมื่อไร?
4-6. ทำไมเราอาจลงความเห็นได้ว่าอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องทาสสัตย์ซื่อสำเร็จเป็นจริงหลังปี 1914?
4 ข้อคัมภีร์ที่อยู่ก่อนอุทาหรณ์เกี่ยวกับทาสสัตย์ซื่อและสุขุมแสดงให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้สำเร็จเป็นจริงในวันเพนเทคอสต์ ส.ศ. 33 แต่สำเร็จในเวลาอวสาน. ขอให้เรามาดูว่าพระคัมภีร์ช่วยให้เราได้ข้อสรุปนี้อย่างไร.
5 อุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่อเป็นส่วนหนึ่งของคำพยากรณ์ของพระเยซูเกี่ยวกับ ‘สัญญาณที่บอกว่าพระเยซูประทับอยู่และบอกว่าเป็นช่วงสุดท้ายของยุค.’ (มัด. 24:3) ส่วนแรกของคำพยากรณ์นี้ ซึ่งบันทึกไว้ที่มัดธาย 24:4-22 สำเร็จเป็นจริงสองครั้ง. ครั้งแรกใน ส.ศ. 33 ถึง ส.ศ. 70 และสำเร็จเป็นจริงครั้งที่สองในขอบเขตที่กว้างใหญ่กว่ามากในสมัยของเรา. นี่หมายความว่าคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับทาสสัตย์ซื่อจะสำเร็จเป็นจริงสองครั้งด้วยไหม? ไม่.
6 เริ่มตั้งแต่คำตรัสที่บันทึกไว้ในมัดธาย 24:29 พระเยซูเน้นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสมัยของเราเป็นส่วนใหญ่. (อ่านมัดธาย 24:30, 42, 44 ) เมื่อตรัสเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ พระองค์ตรัสว่าผู้คน “จะเห็นบุตรมนุษย์มา บนเมฆในท้องฟ้า.” จากนั้น โดยใช้ถ้อยคำที่เจาะจงถึงคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้าย พระองค์กระตุ้นให้เฝ้าระวังโดยตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของเจ้าจะมา ในวันใด” และ “บุตรมนุษย์จะมา ในเวลาที่พวกเจ้าไม่คาดคิด.”b หลังจากที่ตรัสถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในสมัยสุดท้ายอย่างนั้นแล้ว พระเยซูจึงได้เล่าอุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่อ. เราจึงลงความเห็นได้ว่าคำตรัสของพระองค์เกี่ยวกับทาสสัตย์ซื่อเริ่มสำเร็จเป็นจริงหลังจาก ที่สมัยสุดท้ายเริ่มต้นแล้วในปี 1914. มีเหตุผลอื่นอีกที่สนับสนุนการลงความเห็นอย่างนั้น.
7. มีคำถามสำคัญอะไรเกิดขึ้นเมื่อฤดูเกี่ยวเริ่มต้น และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
7 ขอให้พิจารณาคำถามนี้: “ที่จริง ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม”? ในศตวรรษแรก ไม่มีเหตุผลเลยที่ใครจะถามอย่างนี้. ดังที่เราเห็นแล้วในบทความก่อน เหล่าอัครสาวกสามารถทำการอัศจรรย์และถึงกับถ่ายทอดของประทานแห่งการอัศจรรย์นั้นไปยังคนอื่นซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าพวกเขาได้รับการหนุนหลังจากพระเจ้า. (กิจ. 5:12) ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องถามว่าจริง ๆ แล้วใครคือคนที่พระคริสต์แต่งตั้งให้นำหน้า. แต่ในปี 1914 สถานการณ์ต่างกันมาก. ฤดูเกี่ยวเริ่มต้นในปีนั้น. ในที่สุดก็ถึงเวลาที่จะแยกวัชพืชออกจากข้าวสาลี. (มัด. 13:36-43) เมื่อฤดูเกี่ยวเริ่มต้นก็เกิดมีคำถามสำคัญว่า ในเมื่อมีคริสเตียนปลอมมากมายที่อ้างว่าเป็นสาวกแท้ของพระเยซู เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือข้าวสาลีหรือคริสเตียนผู้ถูกเจิม? อุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่อให้คำตอบ. สาวกที่ได้รับการเจิมของพระคริสต์คือกลุ่มคนที่จะได้รับการเลี้ยงอาหารอย่างดีฝ่ายวิญญาณ.
ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม?
8. ทำไมจึงมีเหตุผลที่จะลงความเห็นว่าทาสสัตย์ซื่อประกอบด้วยเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิม?
8 ทาสสัตย์ซื่อต้องประกอบด้วยเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิม ที่อยู่บนแผ่นดินโลก. มีการเรียกคนเหล่านี้ว่า “เป็นปุโรหิตและเป็นกษัตริย์” และพวกเขาได้รับมอบหมายให้ “ ‘ป่าวประกาศคุณความดี’ ของพระองค์ผู้ทรงเรียก [พวกเขา] ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เป. 2:9) ข้อนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อสมาชิกของคนที่ “เป็นปุโรหิตและเป็นกษัตริย์” มีส่วนร่วมโดยตรงในการสอนความจริงแก่เพื่อนร่วมความเชื่อ.—มลคี. 2:7; วิ. 12:17
9. คริสเตียนผู้ถูกเจิมทั้งหมด ประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อไหม? จงอธิบาย.
9 ผู้ถูกเจิมทั้งหมด ที่อยู่บนแผ่นดินโลกประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อไหม? ไม่. ไม่ใช่ผู้ถูกเจิมทุกคนมีบทบาทในการจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เพื่อนร่วมความเชื่อทั่วโลก. ส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่เป็นเหมือนข้าวสาลีได้แก่พี่น้องชายซึ่งเป็นผู้ถูกเจิมที่รับใช้ในฐานะผู้ช่วยงานรับใช้หรือผู้ปกครองในประชาคมต่าง ๆ. พวกเขาสอนพระคำของพระเจ้าตามบ้านและในประชาคมและสนับสนุนการชี้นำจากสำนักงานใหญ่อย่างภักดี. แต่พวกเขาไม่ได้มีส่วนในการจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณแก่พี่น้องทั่วโลก. นอกจากนั้น ในท่ามกลางผู้ถูกเจิมก็ยังมีพี่น้องหญิงที่ถ่อมใจด้วยซึ่งไม่เคยพยายามจะเป็นผู้สอนในประชาคม เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของพี่น้องชาย.—1 โค. 11:3; 14:34
10. ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม?
10 ถ้าอย่างนั้น ใครเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุม? สอดคล้องกับแบบแผนที่พระเยซูใช้ในการเลี้ยงอาหารผู้คนมากมายโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน ทาสนี้ประกอบด้วยพี่น้องชายที่เป็นผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีส่วนร่วมโดยตรงในการเตรียมและจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณในช่วงการประทับของพระคริสต์. ตลอดสมัยสุดท้าย พี่น้องผู้ถูกเจิมที่ประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อนี้ได้รับใช้ร่วมกันที่สำนักงานใหญ่. ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ได้มีการกล่าวถึงทาสนี้ว่าเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการปกครองของพยานพระยะโฮวา. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทาสนี้ประกอบด้วยหลายบุคคล แต่อุทาหรณ์ของพระเยซูกล่าวถึงทาสเพียงคนเดียว. การตัดสินใจของคณะกรรมการปกครองจึงเป็นการตัดสินใจที่ทำร่วมกันทั้งกลุ่ม.
ใครเป็นพวกคนรับใช้?
11, 12. (ก) ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้รับมอบหมายให้ดูแลสองสิ่งอะไร? (ข) พระเยซูทรงแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลพวกคนรับใช้ของพระองค์เมื่อไร และพระองค์เลือกใครให้ทำหน้าที่นี้?
11 น่าสังเกตว่าในอุทาหรณ์ของพระเยซู ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมได้รับงานมอบหมายให้ดูแลสอง สิ่งที่แตกต่างกัน. งานมอบหมายแรกคือให้ดูแลพวกคนรับใช้ และงานมอบหมายที่สองคือให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นของนาย. เนื่องจากต้องรอจนถึงสมัยสุดท้ายอุทาหรณ์นี้จึงจะสำเร็จเป็นจริง การมอบหมายงานทั้งสองอย่างนั้นจึงต้องเกิดขึ้นหลังจากที่พระเยซูเสด็จประทับเป็นกษัตริย์ของราชอาณาจักรในปี 1914.
12 พระเยซูทรงแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลพวกคนรับใช้เมื่อไร? เพื่อจะตอบคำถามนี้ เราต้องย้อนกลับไปในปี 1914 ซึ่งเป็นตอนเริ่มต้นของฤดูเกี่ยว. ดังที่เราได้พิจารณากันไปแล้วก่อนหน้านี้ ในเวลานั้นหลายกลุ่มอ้างว่าตนเป็นคริสเตียน. พระเยซูทรงเลือกแต่งตั้งกลุ่มไหนให้เป็นทาสสัตย์ซื่อ? เราพบคำตอบสำหรับคำถามนี้เมื่อพระองค์กับพระบิดาเสด็จมาตรวจตราพระวิหาร คือการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณเพื่อการนมัสการ ตั้งแต่ปี 1914 จนถึงต้นปี 1919.c (มลคี. 3:1) พระองค์ทั้งสองทรงยินดีที่เห็นว่ามีนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกลุ่มเล็ก ๆ ที่ภักดีซึ่งแสดงให้เห็นว่าหัวใจของพวกเขายึดมั่นอยู่กับพระยะโฮวาและพระคำของพระองค์. แน่นอน พวกเขาจำเป็นต้องชำระบางสิ่งบางอย่างให้บริสุทธิ์สะอาด แต่พวกเขาถ่อมใจน้อมรับการทดสอบและการถลุงในช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น. (มลคี. 3:2-4) นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ซื่อสัตย์เหล่านี้เป็นคริสเตียนแท้ที่เปรียบได้กับข้าวสาลี. ในปี 1919 ซึ่งเป็นเวลาที่มีการฟื้นฟูฝ่ายวิญญาณ พระเยซูทรงเลือกพี่น้องชายที่เป็นผู้ถูกเจิมที่มีความสามารถบางคนให้เป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมและแต่งตั้งพวกเขาให้ดูแลพวกคนรับใช้ของพระองค์.
13. มีใครบ้างที่รวมอยู่ในพวกคนรับใช้ และทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
13 ใครเป็นพวกคนรับใช้? พูดง่าย ๆ พวกเขาคือคนที่ได้รับการเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณ. ในช่วงต้น ๆ ของสมัยสุดท้าย พวกคนรับใช้ทั้งหมดเป็นผู้ถูกเจิม. ต่อมา แกะอื่นที่เป็นชนฝูงใหญ่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพวกคนรับใช้ด้วย. ในเวลานี้ แกะอื่นเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของ “ฝูงเดียว” ที่มีพระคริสต์เป็นผู้นำ. (โย. 10:16) ทั้งสองกลุ่มได้รับประโยชน์จากอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะอย่างเดียวกันซึ่งทาสสัตย์ซื่อได้จ่ายแจกให้พวกเขา. จะว่าอย่างไรสำหรับสมาชิกคณะกรรมการปกครองซึ่งทำหน้าที่เป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอยู่ในเวลานี้? พี่น้องชายเหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงอาหารฝ่ายวิญญาณด้วย. ดังนั้น พวกเขายอมรับอย่างถ่อมใจว่าพวกเขาแต่ละคน เป็นส่วนหนึ่งของพวกคนรับใช้เช่นเดียวกับสาวกแท้ของพระเยซูคนอื่น ๆ ทั้งหมด.
14. (ก) ทาสสัตย์ซื่อได้รับมอบหน้าที่รับผิดชอบอะไร และหน้าที่นั้นรวมถึงอะไรบ้าง? (ข) พระเยซูทรงเตือนทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอย่างไร? (ดูกรอบ “ถ้าทาสนั้นเป็นทาสชั่ว . . . ”)
14 พระเยซูทรงมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบสำคัญแก่ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ทาสหรือคนรับใช้ที่ได้รับความไว้วางใจเป็นผู้ดูแลบ้าน. (ลูกา 12:42) ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลครอบครัวผู้นมัสการแท้. หน้าที่ดังกล่าวรวมถึงการดูแลทรัพย์สิน งานประกาศ ระเบียบวาระการประชุมหมวดและการประชุมภาค และการจัดพิมพ์หนังสืออธิบายคัมภีร์ไบเบิลเพื่อใช้ในงานประกาศและในการศึกษาส่วนตัวและการศึกษาในประชาคม. พวกคนรับใช้หมายพึ่งอาหารฝ่ายวิญญาณทั้งสิ้นที่ได้รับจากทาสสัตย์ซื่อ.
ตั้งไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนายเมื่อไร?
15, 16. พระเยซูทรงตั้งทาสสัตย์ซื่อไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์เมื่อไร?
15 พระเยซูทรงมอบหมายให้ทาสดูแลอีกสิ่งหนึ่ง คือให้ดูแล “ทรัพย์สมบัติทั้งหมด” ของพระองค์ เมื่อไร? พระเยซูตรัสว่า “ทาสนั้นจะมีความสุขถ้านายมาถึงแล้วพบว่าเขากำลังทำเช่นนั้น! เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า นายจะตั้งเขาให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัด. 24:46, 47) ขอให้สังเกตว่าพระเยซูจะมอบหมายงานที่สองนี้หลังจากที่พระองค์มาถึงและพบว่าทาสนั้น “กำลังทำเช่นนั้น” คือกำลังทำหน้าที่จ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างซื่อสัตย์. ดังนั้น เวลาต้องผ่านไปช่วงหนึ่งก่อนที่พระเยซูจะมอบหมายงานที่สอง. เพื่อจะเข้าใจว่าพระเยซูทรงตั้งทาสไว้ให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์อย่างไรและเมื่อไร มีสองเรื่องที่เราต้องรู้ก่อน คือพระองค์ทรงมาถึงเมื่อไรและทรัพย์สมบัติของพระองค์รวมถึงอะไร.
16 พระเยซูทรงมาถึงเมื่อไร? เราพบคำตอบได้ในข้อคัมภีร์ที่อยู่ก่อนหน้านั้น. ขอให้จำไว้ว่าเมื่อข้อคัมภีร์เหล่านั้นกล่าวถึงการ “มา” ของพระเยซู นั่นหมายถึงการมาเพื่อพิพากษาและลงโทษในเวลาอวสานของระบบนี้.d (มัด. 24:30, 42, 44) ดังนั้น การ “มา” หรือ “มาถึง” ของพระเยซูที่กล่าวถึงในอุทาหรณ์เรื่องทาสสัตย์ซื่อจึงเกิดขึ้นในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่.
17. ทรัพย์สมบัติของพระเยซูรวมถึงอะไรด้วย?
17 “ทรัพย์สมบัติทั้งหมด” ของพระเยซูรวมถึงอะไร? พระเยซูไม่ได้ระบุว่า “ทรัพย์สมบัติทั้งหมด” หมายถึงทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้เท่านั้น. ที่จริง พระเยซูทรงมีอำนาจมากมายในสวรรค์. พระองค์ตรัสว่า “อำนาจทั้งสิ้นในสวรรค์และบนแผ่นดินโลกได้ทรงมอบแก่เราแล้ว.” (มัด. 28:18; เอเฟ. 1:20-23) ทรัพย์สมบัติของพระองค์ในเวลานี้รวมถึงราชอาณาจักรมาซีฮา ซึ่งเป็นของพระองค์ตั้งแต่ปี 1914 และพระองค์จะให้เหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์มีส่วนร่วมด้วย.—วิ. 11:15
18. ทำไมพระเยซูทรงยินดีที่จะตั้งทาสสัตย์ซื่อให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์?
18 เมื่อคำนึงถึงสิ่งที่เราได้พิจารณาไปแล้ว เราสามารถลงความเห็นอย่างไร? เมื่อพระเยซูเสด็จมาพิพากษาในช่วงความทุกข์ลำบากใหญ่ พระองค์จะพบว่าทาสสัตย์ซื่อกำลังจ่ายแจกอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะแก่พวกคนรับใช้. ถึงตอนนั้น พระเยซูก็จะยินดีมอบหมายงานอย่างที่สองให้พวกเขา คือให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์. คนที่ประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อจะได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นี้เมื่อพวกเขาได้รับบำเหน็จของตนในสวรรค์ด้วยการเป็นผู้ปกครองร่วมกับพระคริสต์.
19. ทาสสัตย์ซื่อได้รับบำเหน็จในสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ ไหม? จงอธิบาย.
19 ทาสสัตย์ซื่อได้รับบำเหน็จในสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่กว่าเหล่าผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ ทั้งหมดไหม? ไม่. ในบางกรณี เมื่อมีการสัญญาว่าจะให้บำเหน็จแก่คนกลุ่มเล็ก ๆ ในที่สุดคนอื่น ๆ อาจได้รับบำเหน็จนั้นด้วย. ตัวอย่างเช่น ขอให้พิจารณาสิ่งที่พระเยซูตรัสกับอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ 11 คนในคืนก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์. (อ่านลูกา 22:28-30 ) พระเยซูทรงสัญญาว่าชายกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มนี้จะได้รับบำเหน็จอย่างงามเพราะความซื่อสัตย์ของพวกเขา. พวกเขาจะได้นั่งบัลลังก์ปกครองเป็นกษัตริย์ร่วมกับพระองค์. แต่หลายปีต่อมา พระองค์ทรงระบุว่าชน 144,000 คนทั้งหมด จะได้นั่งบัลลังก์ปกครองร่วมกับพระองค์. (วิ. 1:1; 3:21) คล้ายกัน ดังกล่าวไว้ที่มัดธาย 24:47 พระองค์ทรงสัญญาว่าผู้ชายกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง คือพี่น้องชายที่เป็นผู้ถูกเจิมซึ่งประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อ จะได้รับแต่งตั้งให้ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพระองค์. แต่จริง ๆ แล้ว ชน 144,000 คนทั้งหมดจะได้รับอำนาจอันยิ่งใหญ่ในสวรรค์ร่วมกับพระองค์.—วิ. 20:4, 6
20. ทำไมพระเยซูจึงแต่งตั้งทาสสัตย์ซื่อ และคุณตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำอะไร?
20 โดยใช้ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม พระเยซูกำลังทำตามแบบแผนที่พระองค์วางไว้ในศตวรรษแรก คือเลี้ยงอาหารคนจำนวนมากโดยใช้คนเพียงไม่กี่คน. พระเยซูทรงตั้งทาสสัตย์ซื่อไว้เพื่อเหล่าสาวกแท้ของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกเจิมหรือแกะอื่น จะได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณในเวลาอันเหมาะอย่างสม่ำเสมอในสมัยสุดท้ายนี้. ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะแสดงความขอบคุณด้วยการสนับสนุนเหล่าพี่น้องชายที่เป็นผู้ถูกเจิมที่ประกอบกันเป็นทาสสัตย์ซื่อและสุขุมอย่างภักดี.—ฮีบรู 13:7, 17
a ข้อ 2: ในเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น พระเยซูทรงเล่าอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งที่คล้าย ๆ กันซึ่งพระองค์ตรัสถึง “ทาส” โดยเรียกว่าเป็น “คนรับใช้.”—ลูกา 12:42-44
b ข้อ 6: การ “มา” (ภาษากรีก เออร์โคไม ) ของพระคริสต์แตกต่างกับ “การประทับ” (ภาษากรีก พารูเซีย ) ของพระองค์. การประทับของพระองค์ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเริ่มต้นก่อนที่พระองค์จะเสด็จมาพิพากษา.