“ทาสสัตย์ซื่อ” ผ่านการทดสอบ
“ถึงเวลากำหนดแล้วที่การพิพากษาจะเริ่มต้นกับราชนิเวศของพระเจ้า.”—1 เปโตร 4:17, ล.ม.
1. พระเยซูพบอะไรเมื่อตรวจสอบ “ทาส” นั้น?
ในวันเพนเทคอสต์ ปี ส.ศ. 33 พระเยซูทรงแต่งตั้ง “ทาส” ให้แจกจ่ายอาหารในเวลาอันเหมาะแก่ “คนรับใช้ทั้งหลาย” ของพระองค์. พระเยซูขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในปี ส.ศ. 1914 และไม่นานจากนั้น ก็เป็นเวลาตรวจสอบ “ทาส” นั้น. พระองค์พบว่าส่วนใหญ่ของสมาชิกที่ประกอบกันเป็น “ทาส” นั้นพิสูจน์ตัว “สัตย์ซื่อและสุขุม.” พระองค์จึงแต่งตั้งทาสนี้ให้ “ดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดของนาย.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.) แต่มีทาสชั่วด้วย ที่ทั้งไม่สัตย์ซื่อและไม่สุขุม.
“ทาสนั้นชั่ว”
2, 3. ‘ทาสชั่ว’ มาจากไหน และเรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร?
2 พระเยซูตรัสถึงทาสชั่วทันทีต่อจากการพิจารณาเรื่อง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” พระองค์ตรัสว่า “ถ้าทาสนั้นชั่วและคิดในใจว่า ‘นายของข้ามาช้า’ แล้วจะตั้งต้นโบยตีเพื่อนทาสและกินดื่มอยู่กับเพื่อนขี้เมา นายของทาสผู้นั้นจะมาในวันที่เขาไม่คิดในโมงที่เขาไม่รู้ และจะทำโทษเขาถึงสาหัส ทั้งจะขับไล่ให้เขาไปอยู่ในที่ของพวกคนหน้าซื่อใจคด ซึ่งที่นั่นจะมีแต่การร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน.” (มัดธาย 24:48-51, ฉบับแปลใหม่) คำว่า “ทาสนั้น ชั่ว” นำความสนใจของเราไปสู่คำตรัสของพระเยซูก่อนหน้านั้นเกี่ยวกับทาสสัตย์ซื่อและสุขุม. ถูกแล้ว ‘ทาสชั่ว’ ก็คือผู้ที่เคยเป็นสมาชิกของทาสสัตย์ซื่อมาก่อน.a เรื่องนี้เกิดขึ้นอย่างไร?
3 ก่อนปี 1914 สมาชิกหลายคนของชนชั้นทาสสัตย์ซื่อมีความคาดหวังอย่างมากว่าจะได้พบกับเจ้าบ่าวในสวรรค์ในปีนั้น แต่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้ไม่ได้เกิดขึ้น. ผลของสิ่งนี้และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ตามมา ทำให้หลายคนผิดหวัง และบางคนขมขื่น. บางคนในพวกนี้หันมา “โบยตี” ผู้ที่เคยเป็นพี่น้องของตนด้วยวาจา และมั่วสุมกับ “เพื่อนขี้เมา” ซึ่งก็คือกลุ่มศาสนาต่าง ๆ แห่งคริสต์ศาสนจักร.—ยะซายา 28:1-3; 32:6.
4. พระเยซูทรงจัดการอย่างไรกับ ‘ทาสชั่ว’ และกับทุกคนที่แสดงน้ำใจอย่างเดียวกัน?
4 ในที่สุดอดีตคริสเตียนเหล่านี้ก็แสดงตัวว่าเป็น ‘ทาสชั่ว’ และพระเยซูทรงทำโทษพวกเขา “ถึงสาหัส.” โดยวิธีใด? พระองค์ปฏิเสธพวกเขา และพวกเขาสูญเสียโอกาสจะไปสวรรค์. อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ถูกทำลายในทันที. ก่อนอื่นพวกเขาต้องประสบช่วงเวลาแห่งการร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟันใน “ที่มืดภายนอก” ประชาคมคริสเตียน. (มัดธาย 8:12) ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ นั้น ผู้ถูกเจิมคนอื่น ๆ อีกบางคนแสดงน้ำใจชั่วคล้าย ๆ กัน แล้วเข้าสมทบเป็นส่วนของ ‘ทาสชั่ว.’ บางคนในจำพวก “แกะอื่น” ดำเนินรอยตามความไม่สัตย์ซื่อของพวกเขา. (โยฮัน 10:16) ศัตรูเหล่านี้ทั้งสิ้นของพระคริสต์ประสบบั้นปลายอย่างเดียวกัน คือ “ที่มืดภายนอก” ทางฝ่ายวิญญาณ.
5. ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมแสดงปฏิกิริยาต่างกันอย่างไรกับ ‘ทาสชั่ว’?
5 กระนั้น ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมก็เผชิญการทดสอบต่าง ๆ เช่นเดียวกับ ‘ทาสชั่ว.’ แต่แทนที่จะขมขื่น พวกเขารับเอาการปรับให้เข้าที่. (2 โกรินโธ 13:11, ล.ม.) ความรักที่พวกเขามีต่อพระยะโฮวาและพี่น้องของตนแน่นแฟ้นขึ้น. ผลคือ พวกเขากลายเป็น “หลักและรากแห่งความจริง” เรื่อยมาตลอด “สมัยสุดท้าย” ที่วุ่นวายนี้.—1 ติโมเธียว 3:15; 2 ติโมเธียว 3:1, ล.ม.
หญิงพรหมจารีสุขุมกับหญิงพรหมจารีโง่
6. (ก) พระเยซูยกอุปมาให้เห็นถึงความสุขุมของชนชั้นทาสสัตย์ซื่ออย่างไร? (ข) ก่อนปี 1914 คริสเตียนผู้ถูกเจิมประกาศข่าวสารในเรื่องใด?
6 หลังจากกล่าวถึง ‘ทาสชั่ว’ พระเยซูยกอุปมาสองเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่าทำไมคริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนสัตย์ซื่อและสุขุมในขณะที่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น.b เพื่อยกอุปมาให้เห็นถึงความสุขุม พระองค์ตรัสว่า “ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จะเปรียบเหมือนหญิงพรหมจารีสิบคนที่เอาตะเกียงของตนออกไปพบเจ้าบ่าว. ห้าคนเป็นคนโง่ อีกห้าคนเป็นคนสุขุม. ด้วยว่าหญิงพรหมจารีโง่ถือตะเกียงของตนไปแต่ไม่เอาน้ำมันไปด้วย ส่วนหญิงพรหมจารีที่สุขุมเอาขวดน้ำมันไปกับตะเกียงของตนด้วย.” (มัดธาย 25:1-4, ล.ม.) หญิงพรหมจารีสิบคนทำให้เรานึกถึงเหล่าคริสเตียนผู้ถูกเจิมก่อนปี 1914. พวกเขาได้คำนวณเวลาว่าพระเยซูคริสต์ผู้เป็นเจ้าบ่าวใกล้จะมาปรากฏแล้ว. พวกเขาจึง “ออกไป” พบพระองค์ ประกาศด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่า “เวลากำหนดของนานาชาติ” จะสิ้นสุดลงในปี 1914.—ลูกา 21:24, ล.ม.
7. เมื่อไรและเหตุใดคริสเตียนผู้ถูกเจิม “หลับไป” ในความหมายเป็นนัย?
7 พวกเขากล่าวถูกต้อง. เวลากำหนดของนานาชาติสิ้นสุดลงในปี 1914 จริง ๆ และราชอาณาจักรของพระเจ้าที่มีพระคริสต์เยซูเป็นกษัตริย์เริ่มดำเนินการ. แต่สิ่งนั้นเกิดขึ้นในสวรรค์ซึ่งไม่ประจักษ์แก่ตา. บนแผ่นดินโลก มนุษยชาติเริ่มประสบกับ “วิบัติ” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้า. (วิวรณ์ 12:10, 12) ติดตามมาด้วยเวลาแห่งการทดสอบ. เนื่องจากยังไม่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างกระจ่างชัด คริสเตียนผู้ถูกเจิมคิดว่า “เจ้าบ่าวยังช้าอยู่.” ด้วยความสับสนและประสบการต่อต้านอย่างรุนแรงจากโลก พวกเขาโดยส่วนรวมจึงเฉื่อยชาลงและแทบหยุดจากงานประกาศต่อสาธารณชนอย่างเป็นระบบ. กล่าวในความหมายฝ่ายวิญญาณแล้ว เช่นเดียวกับหญิงพรหมจารีในอุปมา พวกเขา “ง่วงเหงาหลับไป” เหมือนกับที่ผู้อ้างตัวเป็นคริสเตียนแต่ทว่าไม่สัตย์ซื่อได้ม่อยหลับไปภายหลังพวกอัครสาวกของพระเยซูเสียชีวิต.—มัดธาย 25:5; วิวรณ์ 11:7, 8; 12:17.
8. อะไรนำไปสู่เสียงร้องว่า “เจ้าบ่าวมาแล้ว” และนั่นเป็นเวลาที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมจะต้องทำอะไร?
8 ต่อมาในปี 1919 สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น. เราอ่านว่า “ครั้นเวลาเที่ยงคืนก็มีเสียงร้องมาว่า, ‘เจ้าบ่าวมาแล้ว, จงออกมารับท่านเถิด’ พวกพรหมจารีเหล่านั้นก็ลุกขึ้นตกแต่งตะเกียงของตน.” (มัดธาย 25:6, 7) ขณะที่สิ่งต่าง ๆ ดูมืดมนสิ้นหวังนั้น ก็มีเสียงเรียกให้ลงมือทำ! ในปี 1918 พระเยซูฐานะ “ทูตแห่งสัญญาไมตรี” เสด็จมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวาเพื่อตรวจสอบและชำระประชาคมของพระเจ้า. (มาลาคี 3:1, ล.ม.) ตอนนี้ คริสเตียนผู้ถูกเจิมต้องออกไปพบกับพระองค์ที่ลานพระวิหารทางแผ่นดินโลก. ได้เวลาที่พวกเขาจะต้อง “ฉายแสง” ออกไปแล้ว.—ยะซายา 60:1, ฉบับแปลใหม่; ฟิลิปปอย 2:14, 15.
9, 10. คริสเตียนบางคนในปี 1919 “สุขุม” และบางคน “โง่” เพราะอะไร?
9 แต่เดี๋ยวก่อน! ตามอุปมานั้น หญิงสาวบางคนมีปัญหา. พระเยซูกล่าวต่อว่า “พวกที่โง่นั้นก็พูดกับพวกที่มีปัญญาว่า, ‘ขอแบ่งน้ำมันของท่านให้เราบ้าง ตะเกียงของเราจวนจะดับอยู่แล้ว.’ ” (มัดธาย 25:8) หากขาดน้ำมัน ตะเกียงก็ไม่อาจส่องแสง. น้ำมันตะเกียงจึงทำให้เราระลึกถึงพระคำแห่งความจริงของพระเจ้าและพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ ที่ทำให้ผู้นมัสการแท้สามารถเป็นผู้ส่องความสว่างออกไปได้. (บทเพลงสรรเสริญ 119:130; ดานิเอล 5:14) ก่อนถึงปี 1919 คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สุขุมพยายามขวนขวายเพื่อจะเข้าใจพระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำหรับพวกเขา แม้ว่าอยู่ในสภาพอ่อนแอในช่วงนั้น. ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการเรียกให้ฉายแสงสว่างออกไป พวกเขาจึงอยู่พร้อม.—2 ติโมเธียว 4:2; เฮ็บราย 10:24, 25.
10 อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกเจิมบางคนไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเสียสละหรือการทุ่มเทตนเอง แม้ว่าพวกเขาปรารถนาอย่างจริงจังที่จะไปอยู่กับเจ้าบ่าว. ฉะนั้น เมื่อถึงเวลาที่จะทำงานประกาศข่าวดี พวกเขาจึงไม่พร้อม. (มัดธาย 24:14) พวกเขาถึงกับพยายามจะหน่วงเพื่อน ๆ ของตนที่กระตือรือร้นไว้ด้วยซ้ำ ประหนึ่งว่าขอแบ่งน้ำมันจากพวกเขา. ตามอุปมาของพระเยซู หญิงพรหมจารีที่สุขุมตอบสนองอย่างไร? พวกเธอกล่าวว่า “น่ากลัวน้ำมันจะไม่พอสำหรับเราและเจ้า, จงไปหาคนขายซื้อสำหรับตัวเองจะดีกว่า.” (มัดธาย 25:9) ในทำนองเดียวกัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่ภักดีในปี 1919 ปฏิเสธไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่จะลดทอนความสามารถของตนในการฉายความสว่าง. ฉะนั้น พวกเขาจึงผ่านการตรวจสอบ.
11. เกิดอะไรขึ้นกับหญิงพรหมจารีโง่?
11 พระเยซูกล่าวลงท้ายดังนี้: “เมื่อ [หญิงพรหมจารีโง่] กำลังไปซื้อนั้นเจ้าบ่าวก็มาถึง, ผู้ที่พร้อมอยู่แล้วก็ได้เข้าไปกับท่านในงานสมรสแล้วก็ปิดประตูเสีย. ภายหลังพรหมจารีพวกนั้นมาร้องว่า, ‘ท่านเจ้าข้า ๆ, ขอเปิดให้ข้าพเจ้าเข้าไปด้วย.’ ฝ่ายท่านตอบว่า, ‘เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า, เราไม่รู้จักเจ้า.’ ” (มัดธาย 25:10-12) ใช่แล้ว บางคนไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการมาถึงของเจ้าบ่าว. ฉะนั้น พวกเขาจึงไม่ผ่านการตรวจสอบและสูญเสียโอกาสที่จะเข้าร่วมงานเลี้ยงสมรสในสวรรค์. ช่างน่าเศร้าเสียจริง ๆ!
อุปมาเรื่องเงินตะลันต์
12. (ก) พระเยซูยกอุปมาอะไรให้เห็นถึงความสัตย์ซื่อ? (ข) ใครคือชายที่ “ออกเดินทางไป”?
12 หลังจากยกอุปมาให้เห็นถึงความสุขุม พระเยซูยกอุปมาต่อไปให้เห็นถึงเรื่องความสัตย์ซื่อ. พระองค์ตรัสว่า “ยังเปรียบเหมือนชายผู้หนึ่งจะออกเดินทางไป จึงเรียกพวกทาสของตนมาฝากทรัพย์สมบัติไว้ คนหนึ่งท่านให้ห้าตะลันต์ คนหนึ่งสองตะลันต์ และอีกคนหนึ่งตะลันต์เดียว ตามความสามารถของแต่ละคน แล้วท่านก็ไป.” (มัดธาย 25:14, 15, ฉบับแปลใหม่) ชายที่กล่าวถึงในอุปมาคือพระเยซูเอง ซึ่ง “ออกเดินทางไป” เมื่อเสด็จสู่สวรรค์ในปี ส.ศ. 33. แต่ก่อนจากไป พระเยซูฝาก “ทรัพย์สมบัติ” ไว้ให้สาวกที่สัตย์ซื่อดูแล. โดยวิธีใด?
13. โดยวิธีใดที่พระเยซูเตรียมทุ่งนาที่กว้างใหญ่สำหรับกิจการงาน และมอบหมายให้ “พวกทาส” ไปทำการค้าขาย?
13 ระหว่างงานรับใช้ทางแผ่นดินโลก พระเยซูเริ่มเตรียมทุ่งนาที่กว้างใหญ่สำหรับกิจการงานด้วยการประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรไปทั่วเขตแดนอิสราเอล. (มัดธาย 9:35-38) ก่อน “ออกเดินทางไป” พระองค์ฝากทุ่งนานั้นไว้ให้บรรดาสาวกที่สัตย์ซื่อดูแล โดยตรัสว่า “ฉะนั้น จงไปทำให้คนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:18-20, ล.ม.) ด้วยถ้อยคำดังกล่าว พระเยซูมอบหมายให้ “พวกทาส” ไปทำการค้าขาย “ตามความสามารถของแต่ละคน” จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมา.
14. เหตุใดจึงไม่มีการคาดหมายให้ทุกคนทำการค้าขายในปริมาณเท่า ๆ กัน?
14 คำกล่าวนั้นบ่งชี้ว่าไม่ใช่คริสเตียนทุกคนในศตวรรษแรกมีสภาพการณ์หรือโอกาสเหมือน ๆ กัน. บางคนอย่างเช่นเปาโลและติโมเธียว อยู่ในสภาพที่จะมีส่วนร่วมในงานประกาศสั่งสอนได้อย่างอิสระเต็มที่. คนอื่น ๆ อาจอยู่ในสภาพที่ทำได้อย่างจำกัดมาก. ตัวอย่างเช่น คริสเตียนบางคนเป็นทาส, และบางคนสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง, สูงอายุ, หรือมีหน้าที่รับผิดชอบภายในครอบครัว. แน่ล่ะ สิทธิพิเศษบางอย่างในประชาคมไม่ได้เปิดออกแก่สาวกทุกคน. บรรดาสตรีที่ถูกเจิมและผู้ชายที่ถูกเจิมบางคนไม่ได้ทำหน้าที่สอนภายในประชาคม. (1 โกรินโธ 14:34; 1 ติโมเธียว 3:1; ยาโกโบ 3:1) แต่ไม่ว่าสภาพการณ์ของแต่ละคนจะเป็นเช่นไร สาวกผู้ถูกเจิมทุกคนของพระคริสต์ ทั้งชายและหญิง ต่างได้รับมอบหมายให้ทำการค้าขาย คือใช้โอกาสและสภาพการณ์ของตนให้เป็นประโยชน์เพื่อทำงานรับใช้ของคริสเตียน. สาวกของพระคริสต์ในสมัยปัจจุบันทำอย่างเดียวกัน.
เวลาแห่งการตรวจสอบเริ่มต้น!
15, 16. (ก) เมื่อไรเป็นเวลาคิดบัญชี? (ข) โอกาสเพิ่มเติมอะไรที่ให้แก่เหล่าผู้สัตย์ซื่อเพื่อ “ทำการค้าขาย”?
15 อุปมากล่าวต่อไปว่า “ครั้นอยู่มาช้านาน นายจึงมาคิดบัญชีกับบ่าวเหล่านั้น.” (มัดธาย 25:19) ในปี 1914—ผ่านไปนานจริง ๆ นับจากปี ส.ศ. 33—พระคริสต์เยซูเริ่มการประทับของพระองค์ในฐานะกษัตริย์. หลังจากผ่านไปสามปีครึ่ง ในปี 1918 พระองค์เสด็จมายังพระวิหารฝ่ายวิญญาณของพระเจ้าและทำให้ถ้อยคำของเปโตรเป็นจริงที่ว่า “ถึงเวลากำหนดแล้วที่การพิพากษาจะเริ่มต้นกับราชนิเวศของพระเจ้า.” (1 เปโตร 4:17, ล.ม.; มาลาคี 3:1) นี่เป็นเวลาคิดบัญชี.
16 พวกทาส หรือพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระเยซู ได้ทำอะไรกับ “[เงิน] ตะลันต์” ของกษัตริย์? ตั้งแต่ปี ส.ศ. 33 เป็นต้นมา รวมไปถึงปีต่าง ๆ ที่นำไปสู่ปี 1914 หลายคนได้ขยันขันแข็งใน “การค้าขาย” ของพระเยซู. (มัดธาย 25:16, ล.ม.) แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พวกเขาก็แสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรับใช้นาย. บัดนี้เป็นเวลาเหมาะที่จะให้โอกาสเพิ่มเติมแก่เหล่าผู้สัตย์ซื่อเพื่อ “ทำการค้าขาย.” เวลาอวสานของระบบนี้มาถึงแล้ว. ข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศไปทั่วโลก. “ผลที่จะเก็บเกี่ยวของแผ่นดินโลกนั้น” จะต้องได้รับการเกี่ยว. (วิวรณ์ 14:6, 7, 14-16, ล.ม.) เหล่าผู้สัตย์ซื่อจะต้องค้นหาสมาชิกกลุ่มสุดท้ายของชนชั้นข้าวดี และรวบรวม “ชนฝูงใหญ่” แห่งแกะอื่นเข้ามา.—วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; มัดธาย 13:24-30.
17. คริสเตียนผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อ “ร่วมความยินดีกับนาย” ในทางใด?
17 ฤดูเกี่ยวเป็นช่วงเวลาแห่งความยินดี. (บทเพลงสรรเสริญ 126:6) ฉะนั้น จึงเหมาะที่ว่าเมื่อพระเยซูมอบหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นแก่พี่น้องผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อของพระองค์ในปี 1919 นั้น พระองค์ตรัสว่า “เจ้าสัตย์ซื่อในของเล็กน้อย, เราจะตั้งเจ้าให้ดูแลของมาก เจ้าจงร่วมความยินดีกับนายเถิด.” (มัดธาย 25:21, 23) ยิ่งไปกว่านั้น ความยินดีของนายฐานะกษัตริย์ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ในราชอาณาจักรของพระเจ้านั้นเกินกว่าที่เราจะนึกภาพได้. (บทเพลงสรรเสริญ 45:1, 2, 6, 7) ชนชั้นทาสสัตย์ซื่อร่วมความยินดีนี้ด้วยการเป็นตัวแทนของกษัตริย์และเพิ่มพูนผลประโยชน์ของพระองค์บนแผ่นดินโลก. (2 โกรินโธ 5:20) ความยินดีของพวกเขาปรากฏให้เห็นในคำพยากรณ์ ที่ยะซายา 61:10 ว่า “ข้าพเจ้าจะยินดีเป็นอย่างยิ่งในองค์พระยะโฮวา, ข้าพเจ้าจะปลาบปลื้มในองค์พระเจ้าของข้าพเจ้า, เพราะพระองค์ได้ทรงเอาความรอดมาสวมใส่ข้าพเจ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม.”
18. เหตุใดบางคนไม่ผ่านการตรวจสอบ และผลเป็นเช่นไร?
18 น่าเศร้า บางคนไม่ผ่านการตรวจสอบ. เราอ่านว่า “ฝ่ายคนที่ได้รับตะลันต์เดียวนั้นมาชี้แจงด้วยว่า, ‘นายเจ้าข้า, ข้าพเจ้ารู้อยู่ว่าท่านเป็นคนใจแข็ง, เกี่ยวผลที่ท่านมิได้หว่าน, เก็บสะสมที่ท่านมิได้โปรย ข้าพเจ้ากลัวจึงเอาทรัพย์ของท่านไปซ่อนไว้ใต้ดิน ดูเถิด, ของ ๆ ท่านเท่าไร ท่านก็ได้เท่านั้น.’ ” (มัดธาย 25:24, 25) ทำนองเดียวกัน คริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนไม่ทำ “การค้าขาย.” ก่อนปี 1914 คนเหล่านี้ไม่กระตือรือร้นที่จะแบ่งปันความหวังของตนกับคนอื่น ๆ และพวกเขาก็ไม่อยากเริ่มทำเมื่อถึงปี 1919. พระเยซูมีปฏิกิริยาเช่นไรต่อการพูดจาบจ้วงของพวกเขา? พระองค์ริบสิทธิพิเศษทุกอย่างจากพวกเขา. พวกเขาถูก “ทิ้งเสียที่มืดภายนอก ซึ่งมีแต่การร้องไห้ขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน.”—มัดธาย 25:28, 30.
การตรวจสอบดำเนินต่อไป
19. การตรวจสอบดำเนินต่อไปในวิธีใด และบรรดาคริสเตียนผู้ถูกเจิมตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
19 แน่นอน ส่วนใหญ่ของผู้ที่จะเข้ามาเป็นทาสที่ได้รับการเจิมของพระคริสต์ระหว่างสมัยสุดท้ายนั้นยังไม่ได้รับใช้พระยะโฮวาในตอนที่พระเยซูเริ่มทำการตรวจสอบในปี 1918. พวกเขาไม่มีโอกาสที่จะถูกตรวจสอบไหม? ไม่เลย. การตรวจสอบในช่วงปี 1918 ถึง 1919 ซึ่งทาสสัตย์ซื่อและสุขุมในฐานะกลุ่มชน ผ่านการทดสอบ เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น. คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นรายบุคคลยังคงถูกตรวจสอบอยู่ต่อไปจนกว่าพวกเขาจะได้รับการประทับตราอย่างถาวร. (วิวรณ์ 7:1-3) โดยตระหนักถึงข้อนี้ พี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์จึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ “ทำการค้าขาย” ต่อไปด้วยความสัตย์ซื่อ. พวกเขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะสุขุม โดยเก็บกักน้ำมันไว้ให้มากเพื่อจะฉายแสงออกไปอย่างสว่างไสว. พวกเขารู้ว่าเมื่อแต่ละคนไปถึงที่สุดปลายแห่งแนวทางชีวิตของตนอย่างสัตย์ซื่อ พระเยซูจะรับเขาไปสู่ที่พำนักในสวรรค์.—มัดธาย 24:13; โยฮัน 14:2-4; 1 โกรินโธ 15:50, 51.
20. (ก) แกะอื่นในทุกวันนี้ตั้งใจจะทำประการใด? (ข) คริสเตียนผู้ถูกเจิมตระหนักถึงอะไร?
20 ชนฝูงใหญ่แห่งแกะอื่นติดตามแบบอย่างพี่น้องผู้ถูกเจิมของพวกเขา. พวกเขาตระหนักว่าความรู้เกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้านำมาซึ่งความรับผิดชอบอย่างมาก. (ยะเอศเคล 3:17-21) ฉะนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากพระคำและพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา พวกเขาจึงเก็บกักน้ำมันไว้ให้มากเช่นกันโดยการศึกษาและการเข้าร่วมประชุม. และพวกเขาให้ความสว่างของตนส่องออกไป เข้าส่วนร่วมในงานประกาศและการสอน และโดยวิธีนี้จึงเป็นการ “ทำการค้าขาย” ร่วมกับพี่น้องผู้ถูกเจิมของพวกเขา. อย่างไรก็ตาม คริสเตียนผู้ถูกเจิมตระหนักอย่างจริงจังว่าเงินตะลันต์ถูกมอบไว้ในมือของตน. พวกเขาต้องให้การเกี่ยวกับวิธีบริหารทรัพย์สมบัติบนแผ่นดินโลกขององค์พระผู้เป็นเจ้า. แม้ว่ามีจำนวนน้อย พวกเขาไม่อาจทิ้งหน้าที่รับผิดชอบให้ชนฝูงใหญ่. ด้วยคำนึงถึงเรื่องนี้ ทาสสัตย์ซื่อและสุขุมจึงนำหน้าต่อไปในการดูแลกิจการงานของกษัตริย์ และหยั่งรู้ค่าที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกของชนฝูงใหญ่ที่ภักดี. คนเหล่านี้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของพี่น้องผู้ถูกเจิมและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานภายใต้การดูแลของพวกเขา.
21. คำกระตุ้นเตือนอะไรที่ใช้ได้กับคริสเตียนทุกคนตั้งแต่ก่อนปี 1919 มาจนถึงสมัยของเรา?
21 ฉะนั้น แม้ว่าอุปมาสองเรื่องจะให้ความกระจ่างแก่เราในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นราว ๆ ปี 1919 แต่หลักการจากสองเรื่องนั้นนำมาใช้ได้กับคริสเตียนแท้ทุกคนตลอดสมัยสุดท้าย. โดยวิธีนี้ ขณะที่คำกระตุ้นเตือนที่พระเยซูกล่าวปิดท้ายอุปมาเรื่องหญิงพรหมจารีสิบคนนั้นใช้กับคริสเตียนผู้ถูกเจิมก่อนปี 1919 ในอันดับแรก แต่โดยหลักการแล้ว คำกระตุ้นเตือนดังกล่าวก็ยังคงใช้ได้กับคริสเตียนทุกคน. ดังนั้น ขอให้เราทุกคนเอาใจใส่คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เหตุฉะนั้นจงเฝ้าระวังอยู่, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้กำหนดวันหรือโมงนั้น.”—มัดธาย 25:13.
[เชิงอรรถ]
a ในลักษณะคล้ายกัน หลังการเสียชีวิตของพวกอัครสาวก “สุนัขป่าอันร้าย” มาจากหมู่คริสเตียนผู้ปกครองที่ถูกเจิม.—กิจการ 20:29, 30.
b สำหรับการพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอุปมาของพระเยซู ดูหนังสือความปลอดภัยทั่วโลกภายใต้ “องค์สันติราช” (ภาษาอังกฤษ) จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา บท 5 และ 6.
คุณอธิบายได้ไหม?
• พระเยซูตรวจสอบสาวกของพระองค์เมื่อไร และพระองค์พบอะไร?
• เหตุใดคริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนจึงพัฒนาน้ำใจเยี่ยง ‘ทาสชั่ว’?
• เราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไรว่าตัวเราสุขุมฝ่ายวิญญาณ?
• โดยการติดตามแบบอย่างของพี่น้องผู้ถูกเจิมที่สัตย์ซื่อของพระเยซู เราจะ “ทำการค้าขาย” ต่อ ๆ ไปโดยวิธีใด?
[กรอบหน้า 16]
พระเยซูมาเมื่อไร?
ในมัดธายบท 24 และ 25 มีการกล่าวว่าพระเยซู “มา” ในความหมายที่ต่างกัน. เพื่อจะ “มา” พระองค์ไม่จำเป็นต้องเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งจริง ๆ. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ “มา” ในความหมายของการหันความสนพระทัยมายังมนุษยชาติหรือยังสาวกของพระองค์ บ่อยครั้งเพื่อการพิพากษา. ฉะนั้น ในปี 1914 พระองค์ “มา” เพื่อเริ่มต้นการประทับของพระองค์ฐานะกษัตริย์ที่ครองบัลลังก์. (มัดธาย 16:28; 17:1; กิจการ 1:11) ในปี 1918 พระองค์ “มา” ฐานะทูตแห่งสัญญาไมตรีและเริ่มต้นพิพากษาคนที่อ้างว่ารับใช้พระยะโฮวา. (มาลาคี 3:1-3, ล.ม.; 1 เปโตร 4:17) ณ อาร์มาเก็ดดอน พระองค์จะ “มา” เพื่อลงโทษตามการพิพากษาเหล่าศัตรูของพระยะโฮวา.—วิวรณ์ 19:11-16.
การมา (หรือ การมาถึง) ที่มีการอ้างถึงหลายครั้งในมัดธาย 24:29-44 และ 25:31-46 เกิดขึ้นในคราว “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่.” (วิวรณ์ 7:14, ล.ม.) ในอีกด้านหนึ่ง การมาที่มีการอ้างถึงหลายครั้งในมัดธาย 24:45 ถึง 25:30 เกี่ยวข้องกับการพิพากษาของพระองค์ต่อผู้ที่ประกาศตัวเป็นสาวกตั้งแต่ปี 1918 เป็นต้นมา. เพื่อเป็นตัวอย่าง คงไม่เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะกล่าวว่า การให้รางวัลทาสสัตย์ซื่อ, การพิพากษาหญิงพรหมจารีโง่, และการพิพากษาทาสเกียจคร้านที่ซ่อนเงินตะลันต์ของนาย จะเกิดขึ้นเมื่อพระเยซู “มา” คราวความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. นั่นจะหมายความว่าจะมีการพบว่าผู้ถูกเจิมหลายคนไม่สัตย์ซื่อในเวลานั้นและจึงต้องหาใครมาแทน. แต่ทว่าวิวรณ์ 7:3 บ่งชี้ว่าในตอนนั้น ทาสผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ทั้งหมดจะถูก “ประทับตรา” อย่างถาวร.
[ภาพหน้า 14]
‘ทาสชั่ว’ ไม่ได้รับความพอพระทัยในปี 1919
[ภาพหน้า 15]
หญิงพรหมจารีที่มีปัญญาอยู่พร้อมเมื่อเจ้าบ่าวมาถึง
[ภาพหน้า 17]
ทาสสัตย์ซื่อได้ทำ “การค้าขาย”
ทาสเกียจคร้านไม่ได้ทำอย่างนั้น
[ภาพหน้า 18]
ผู้ถูกเจิมและ “ชนฝูงใหญ่” ให้ความสว่างของตนส่องออกต่อ ๆ ไป