ชนเยี่ยงแกะและแพะจะมีอนาคตแบบไหน?
“พระองค์จะทรงแยกผู้คนออกจากกันเหมือนผู้เลี้ยงแกะแยกแกะออกจากแพะ.”—มัดธาย 25:32, ล.ม.
1, 2. ทำไมเราควรสนใจอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นครูที่ใหญ่ยิ่งจริง ๆ บนแผ่นดินโลก. (โยฮัน 7:46) วิธีสอนของพระองค์อย่างหนึ่งคือการใช้อุทาหรณ์ หรือตัวอย่างเปรียบเทียบ. (มัดธาย 13:34, 35) อุทาหรณ์เหล่านี้เรียบง่าย แต่ก็เต็มด้วยพลังในการถ่ายทอดความจริงด้านวิญญาณและในเชิงพยากรณ์.
2 ในอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ พระเยซูทรงชี้ถึงสมัยซึ่งพระองค์จะกระทำหน้าที่ในตำแหน่งพิเศษ: “เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์ และ. . . . ” (มัดธาย 25:31, ล.ม.) เราน่าจะสนใจในเรื่องนี้เพราะเป็นอุทาหรณ์ที่พระเยซูทรงจบคำตอบต่อคำถามที่ว่า “จะมีอะไรเป็นสัญลักษณ์แห่งการประทับของพระองค์และช่วงอวสานของระบบนี้?” (มัดธาย 24:3, ล.ม.) แต่เรื่องนี้หมายถึงอะไรสำหรับพวกเรา?
3. ก่อนหน้าในคำชี้แจงของพระองค์ พระเยซูตรัสว่าอะไรจะเกิดขึ้นทันทีภายหลังการเริ่มต้นของความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่?
3 พระเยซูทรงพยากรณ์ถึงเหตุการณ์โดดเด่นที่จะเกิดขึ้น “ทันทีหลังจาก” ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ปะทุขึ้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เราเฝ้าคอย. พระองค์ตรัสว่า ครั้นแล้ว “สัญลักษณ์แห่งบุตรมนุษย์” จะปรากฏ. ทั้งนี้ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อ “ตระกูลทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลก” ซึ่งจะ “เห็นบุตรมนุษย์เสด็จมาบนเมฆแห่งฟ้าสวรรค์ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก.” บุตรมนุษย์จะเสด็จพร้อมด้วย “เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์.” (มัดธาย 24:21, 29-31, ล.ม.)a อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะล่ะเป็นอย่างไร? คัมภีร์ไบเบิลฉบับปัจจุบันได้เอาอุทาหรณ์นี้เข้าไว้ในบท 25 แต่ก็เป็นส่วนแห่งคำตอบของพระเยซู เป็นการให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการเสด็จของพระองค์ด้วยสง่าราศี และรวมจุดอยู่ที่การพิพากษา “บรรดาชนนานาชาติ.”—มัดธาย 25:32, ล.ม.
บุคคลต่าง ๆ ในอุทาหรณ์
4. เริ่มต้นอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะ มีการกล่าวอะไรเกี่ยวด้วยพระเยซู และได้พูดถึงใครอีก?
4 พระเยซูเริ่มอุทาหรณ์ดังนี้: “เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมา.” คุณก็คงรู้ว่า “บุตรมนุษย์” หมายถึงใคร. ผู้เขียนกิตติคุณมักจะใช้ถ้อยคำนี้หมายถึงพระเยซู. แม้แต่พระเยซูเองทรงใช้ถ้อยคำนี้หมายถึงพระองค์ ไม่ต้องสงสัย พระองค์คงนึกถึงนิมิตของดานิเอลที่ว่า “ผู้หนึ่งรูปร่างดังบุตรของมนุษย์” เข้ามาหาผู้ทรงพระชนม์แต่เบื้องบรรพ์เพื่อจะรับมอบ “รัชช, และเกียรติยศและอาณาจักร.” (ดานิเอล 7:13, 14; มัดธาย 26:63, 64; มาระโก 14:61, 62) แม้ว่าพระเยซูเป็นตัวเอกในอุทาหรณ์เรื่องนี้ แต่ก็ไม่เฉพาะพระองค์เพียงลำพัง. ตอนต้นของคำเทศน์นี้ ดังที่มีเขียนไว้ที่มัดธาย 24:30, 31 พระองค์ตรัสว่า เมื่อบุตรมนุษย์ ‘เสด็จมาด้วยอำนาจและสง่าราศีเป็นอันมาก,’ ทูตสวรรค์ของพระองค์จะมีบทบาทสำคัญ. คล้ายคลึงกัน อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะแสดงให้เห็นพวกทูตสวรรค์อยู่กับพระเยซูเมื่อพระองค์ ‘ทรงประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์ของพระองค์’ เพื่อดำเนินงานพิพากษา. (เทียบกับมัดธาย 16:27.) แต่ผู้พิพากษาองค์นี้พร้อมด้วยเหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์อยู่ในสวรรค์ ดังนั้น มีการกล่าวถึงมนุษย์ในอุทาหรณ์เรื่องนี้ไหม?
5. เราจะชี้ตัว “พี่น้อง” ของพระเยซูได้อย่างไร?
5 เพียงแต่ดูอุทาหรณ์ชั่วแวบก็เห็นว่า มีบุคคลสามกลุ่มที่เราต้องรู้จัก. นอกจากแกะและแพะแล้ว บุตรมนุษย์เพิ่มกลุ่มที่สามเข้ามาซึ่งเอกลักษณ์ของกลุ่มนี้เป็นหลักสำคัญที่จะช่วยระบุชนจำพวกแกะและจำพวกแพะ. พระเยซูเรียกกลุ่มที่สามนี้เป็นพี่น้องของพระองค์ฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 25:40, 45) พวกเขาต้องเป็นผู้นมัสการแท้ เพราะพระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดจะกระทำตามพระทัยพระบิดาของเรา . . . ผู้นั้นแหละเป็นพี่น้องชายหญิงและมารดาของเรา.” (มัดธาย 12:50; โยฮัน 20:17) ยิ่งตรงจุดมากขึ้น เปาโลเขียนไปถึงคริสเตียนผู้ซึ่งเป็นส่วนแห่ง “พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม” และเป็นเหล่าบุตรทั้งหลายของพระเจ้า. เปาโลเรียกคนเหล่านี้ว่า “พวกพี่น้อง” ของพระเยซู และ “ผู้เข้าส่วนด้วยกันในการทรงเรียกซึ่งมาจากสวรรค์.”—เฮ็บราย 2:9–3:1; ฆะลาเตีย 3:26, 29.
6. ใครคือ “ผู้เล็กน้อย” ในหมู่พี่น้องของพระเยซู?
6 ทำไมพระเยซูตรัสถึง “ผู้เล็กน้อยที่สุด” ในบรรดาพี่น้องของพระองค์? ถ้อยคำเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่พวกอัครสาวกได้ยินพระองค์ตรัสก่อนหน้านี้. เมื่อเปรียบเทียบกับโยฮันบัพติศโต ซึ่งได้ตายไปก่อนพระเยซู และจึงมีความหวังทางแผ่นดินโลก กับคนที่จะได้ชีวิตทางภาคสวรรค์ พระเยซูตรัสดังนี้: “ในบรรดาคนซึ่งบังเกิดมานั้น, ไม่มีผู้ใดใหญ่กว่าโยฮันบัพติศโต, แต่ว่าผู้ที่เล็กน้อยในแผ่นดินสวรรค์ก็ใหญ่กว่าโยฮันอีก.” (มัดธาย 11:11) บางคนที่จะไปสวรรค์อาจเคยมีชื่อเสียงในประชาคม เช่นเหล่าอัครสาวก และคนอื่นซึ่งไม่สู้จะมีชื่อเสียง แต่พวกเขาทุกคนล้วนเป็นพี่น้องของพระเยซูฝ่ายวิญญาณ. (ลูกา 16:10; 1 โกรินโธ 15:9; เอเฟโซ 3:8; เฮ็บราย 8:11) ดังนั้น แม้ดูเหมือนว่าบางคนไม่สู้จะเด่นดังบนแผ่นดินโลก แต่พวกเขาเป็นพี่น้องของพระองค์และน่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างสมควรแก่ฐานะ.
ใครคือแกะและแพะ?
7, 8. พระเยซูตรัสอะไรเกี่ยวกับแกะ ดังนั้นเราจะสรุปเรื่องของเขาได้อย่างไร?
7 เราอ่านเกี่ยวกับการพิพากษาแกะดังนี้: “ขณะนั้นพระมหากษัตริย์ [พระเยซู] จะตรัสแก่บรรดาผู้ที่อยู่เบื้องขวาว่า, ‘ท่านทั้งหลายที่ได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา. จงมารับเอาแผ่นดินซึ่งได้ตระเตรียมไว้สำหรับท่านทั้งหลายตั้งแต่แรกสร้างโลก. เพราะว่าเมื่อเราอยากอาหารท่านก็ได้จัดหาให้เรากิน, เรากระหายน้ำท่านก็ได้ให้เราดื่ม, เราเป็นแขกแปลกหน้าท่านก็ได้ต้อนรับเราไว้, เราเปลือยกายท่านก็ได้ให้เสื้อผ้าเรานุ่งห่ม, เมื่อเราเจ็บท่านก็ได้มาเยี่ยมเรา, เมื่อเราต้องจำอยู่ในพันธนาคารท่านก็ได้มาหาเรา.’ เวลานั้นบรรดาผู้ชอบธรรม จะกราบทูลว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า. ที่ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ทรงอยากพระกระยาหารหรือทรงกระหายน้ำและได้จัดมาถวายแก่พระองค์แต่เมื่อไร? ที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ทรงเป็นแขกแปลกหน้าและได้ต้อนรับไว้. หรือเปลือยพระกายและได้สวมฉลองพระองค์ให้แต่เมื่อไร? ที่ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ทรงประชวรหรือต้องจำอยู่ในพันธนาคาร, และได้มาเฝ้าพระองค์นั้นแต่เมื่อไร?’ แล้วพระมหากษัตริย์จะตรัสแก่เขาว่า, ‘เราบอกท่านทั้งหลายตามจริงว่า, ซึ่งท่านได้กระทำแก่ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่งในพวกพี่น้องของเรานี้, ก็เหมือนท่านได้กระทำแก่เราด้วย.’”—มัดธาย 25:34-40.
8 เป็นที่ชัดแจ้งแล้วว่า แกะที่ถูกตัดสินว่าสมควรจะอยู่เบื้องขวาของพระเยซูหมายถึงมนุษย์พวกหนึ่ง. (เอเฟโซ 1:20; เฮ็บราย 1:3) พวกเขาได้ทำอะไรบ้าง และทำเมื่อไร? พระเยซูตรัสว่า ด้วยความกรุณา, เคารพยำเกรง, และมีน้ำใจโอบอ้อมอารี พวกเขาได้ให้อาหาร, น้ำดื่ม, เครื่องนุ่งห่ม, ได้ให้การเกื้อหนุนเมื่อพระองค์ป่วยหรืออยู่ในคุก. ครั้นแกะบอกว่าตนไม่ได้ทำการเหล่านี้แก่พระองค์โดยตรง พระองค์ชี้แจงว่า พวกเขาได้สนับสนุนพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระองค์ คือชนที่เหลือจำพวกคริสเตียนผู้ถูกเจิม ฉะนั้น กล่าวในแง่นั้นก็เหมือนกับว่า พวกเขากระทำแก่พระองค์
9. เหตุใดอุทาหรณ์เรื่องนี้ไม่สำเร็จสมจริงในสมัยหนึ่งพันปี?
9 อุทาหรณ์เรื่องนี้ใช่ว่าจะสำเร็จระหว่างสมัยพันปี เพราะผู้ถูกเจิมจะไม่อยู่ในสภาพมนุษย์ที่ต้องทนลำบากเนื่องจากหิว, กระหายน้ำ, เจ็บป่วย, หรือติดคุก. อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกเจิมหลายคนได้ประสบความยากลำบากดังกล่าวระหว่างช่วงอวสานแห่งระบบนี้. ตั้งแต่ซาตานถูกขับลงมาอยู่ที่แผ่นดินโลก มันมุ่งเป้าไปยังชนที่เหลืออย่างโกรธแค้น ทำให้พวกเขาถูกเยาะเย้ย, รับการทรมาน, และเสียชีวิต.—วิวรณ์ 12:17.
10, 11. (ก) เหตุใดไม่เป็นไปตามเหตุผลที่จะคิดว่า ทุกคนที่ทำดีต่อพี่น้องของพระเยซูย่อมถูกนับรวมเข้าอยู่ในจำพวกแกะ? (ข) พวกแพะหมายถึงใครอย่างเหมาะเจาะ?
10 พระเยซูตรัสว่า ทุกคนที่แสดงความกรุณาเล็กน้อยต่อพี่น้องคนหนึ่งของพระองค์ เป็นต้นว่า ให้ขนมปังแผ่นหนึ่งหรือน้ำแก้วหนึ่งก็มีสิทธิจะอยู่ในจำพวกแกะอย่างนั้นไหม? เป็นความจริง การแสดงความกรุณาเช่นนั้นอาจสะท้อนถึงความกรุณาของมนุษย์ แต่จริง ๆ แล้ว ดูเหมือนยังมีอีกมากที่เกี่ยวข้องกับแกะในอุทาหรณ์นี้. เพื่อให้ตัวอย่าง พระเยซูคงไม่ได้พาดพิงถึงนักอเทวนิยมหรือนักเทศน์นักบวชแน่ ๆ ผู้ซึ่งบังเอิญได้แสดงความกรุณาต่อพี่น้องคนหนึ่งของพระองค์. ตรงกันข้าม พระเยซูทรงเรียกแกะว่า “ผู้ชอบธรรม” ถึงสองครั้ง. (มัดธาย 25:37, 46) ดังนั้น แกะจึงต้องเป็นพวกที่ได้ให้การช่วยเหลืออยู่ช่วงเวลาหนึ่ง—ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน—แก่บรรดาพี่น้องของพระคริสต์และได้แสดงความเชื่อถึงขีดที่ได้รับฐานะชอบธรรมต่อพระพักตร์พระเจ้า.
11 ตลอดเวลาหลายศตวรรษมีหลายคน อาทิ อับราฮาม มีฐานะที่ชอบธรรม. (ยาโกโบ 2:21-23) โนฮา, อับราฮาม, และผู้ซื่อสัตย์คนอื่น ๆ ถูกนับอยู่ในจำพวก “แกะอื่น” ผู้ซึ่งจะได้รับชีวิตอยู่ในอุทยานภายใต้ราชอาณาจักรของพระเจ้า. เมื่อไม่นานมานี้ มีหลายล้านคนได้ยึดเอาการนมัสการแท้ในฐานะแกะอื่น และเข้ามารวมเป็น “ฝูงเดียว” กับผู้ถูกเจิม. (โยฮัน 10:16; วิวรณ์ 7:9) คนเหล่านี้ที่มีความหวังทางแผ่นดินโลกได้ยอมรับพี่น้องของพระเยซูฐานะราชทูตราชอาณาจักร และจึงให้การช่วยเหลือพวกเขา—ทั้งในความหมายตามตัวอักษรและด้านวิญญาณ. พระเยซูทรงถือว่าสิ่งที่แกะอื่นกระทำต่อพี่น้องของพระองค์ทางแผ่นดินโลกเสมือนหนึ่งได้กระทำต่อพระองค์. บุคคลดังกล่าวซึ่งมีชีวิตอยู่ขณะที่พระองค์เสด็จมาพิพากษาชนนานาชาติจะถูกตัดสินให้อยู่ในจำพวกแกะ.
12. เหตุใดชนจำพวกแกะอาจถามว่า โดยวิธีใดเขาได้แสดงความกรุณาต่อพระเยซู?
12 ถ้าแกะอื่นทำการเผยแพร่ข่าวดีร่วมกับผู้ถูกเจิม และช่วยเหลือพวกเขาอยู่แล้วเวลานี้ ทำไมแกะอื่นจึงถามว่า “พระองค์เจ้าข้า. ที่ข้าพเจ้าเห็นพระองค์ทรงอยากพระกระยาหารหรือทรงกระหายน้ำและได้จัดมาถวายแก่พระองค์แต่เมื่อไร?” (มัดธาย 25:37) อาจมีเหตุผลหลายอย่าง. นี่คืออุทาหรณ์. โดยทางอุทาหรณ์ พระเยซูทรงแสดงถึงความห่วงใยอย่างลึกซึ้งต่อพี่น้องฝ่ายวิญญาณของพระองค์ พระองค์ทรงร่วมรู้สึกกับเขา ร่วมทนทุกข์กับเขา. พระเยซูตรัสก่อนหน้านี้แล้วว่า “ผู้ที่รับท่านก็รับเรา, ผู้ที่รับเราก็รับพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.” (มัดธาย 10:40) ในอุทาหรณ์เรื่องนี้ พระเยซูทรงขยายหลักการ โดยแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำ (ไม่ว่าดีหรือร้าย) ต่อพี่น้องของพระองค์ส่งผลไปถึงสวรรค์ด้วยซ้ำ ประหนึ่งเป็นการกระทำแก่พระองค์ในสวรรค์เลยทีเดียว. อนึ่ง ในที่นี้พระเยซูทรงตอกย้ำมาตรฐานการตัดสินของพระยะโฮวา ทำให้ชัดเจนว่า การตัดสินของพระยะโฮวาไม่ว่าด้วยการเห็นดีเห็นชอบหรือตัดสินลงโทษ ย่อมถูกต้องและยุติธรรม. ฝ่ายแพะไม่อาจแก้ตัวได้ว่า ‘ถ้าเราได้เห็นพระองค์โดยตรง เราจะทำดีแก่พระองค์.’
13. เหตุใดชนจำพวกแพะอาจเรียกพระเยซูว่า “พระองค์เจ้าข้า”?
13 ครั้นเราได้เข้าใจแล้วว่าการพิจารณาตัดสินตามที่แสดงไว้ในอุทาหรณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร เราก็มองเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่าใครคือแพะ. ความสำเร็จเป็นจริงคือเมื่อ “สัญลักษณ์แห่งบุตรมนุษย์จะปรากฏในฟ้าสวรรค์ และครั้นแล้วตระกูลทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลก จะทุบตีตัวเองด้วยความคร่ำครวญ และเขาทั้งหลายจะเห็นบุตรมนุษย์เสด็จมา . . . ด้วยฤทธิ์และสง่าราศีเป็นอันมาก.” (มัดธาย 24:29, 30, ล.ม.) ผู้ที่ผ่านพ้นความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ต่อบาบูโลนใหญ่ ผู้ซึ่งเคยปฏิบัติกับพี่น้องของพระคริสต์โดยเจตนาร้าย มาบัดนี้ อาจเรียกพระเยซูเป็น “องค์พระผู้เป็นเจ้า” ด้วยหวังจะเอาตัวรอด.—มัดธาย 7:22, 23; เทียบกับวิวรณ์ 6:15-17.
14. พระเยซูจะพิจารณาตัดสินแกะและแพะโดยอาศัยหลักเกณฑ์อะไร?
14 อย่างไรก็ตาม พระเยซูจะไม่ถือเอาคำกล่าวอ้างอย่างสิ้นหวังของพวกที่เคยไปโบสถ์เป็นประจำ, หรือคำอ้างของนักอเทวนิยม หรือของคนอื่นเป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน. (2 เธซะโลนิเก 1:8) แทนที่จะทำเช่นนั้น ท่านผู้พิพากษาจะทบทวนสภาพหัวใจและการกระทำในอดีตของผู้คนต่อ “ผู้เล็กน้อยที่สุดคนหนึ่ง [แห่งพวกพี่น้องของพระองค์].” เป็นที่ยอมรับว่า จำนวนคริสเตียนผู้ถูกเจิมมีเหลือในโลกน้อยลง. อย่างไรก็ตาม ตราบใดผู้ถูกเจิมที่ประกอบกันเป็น “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ยังคงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณและให้การชี้นำ ผู้ที่คาดหวังจะได้เป็นแกะจึงมีโอกาสทำดีกับชนจำพวกทาส อย่างที่ ‘ชนฝูงใหญ่จากทุกชาติทุกตระกูลและทุกภาษา’ ได้ทำมาแล้ว.”—วิวรณ์ 7:9, 14.
15. (ก) ผู้คนจำนวนมากได้แสดงตัวเสมือนแพะโดยวิธีใด? (ข) ทำไมพวกเราพึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงบางคนว่าเป็นแกะหรือเป็นแพะ?
15 พี่น้องของพระคริสต์กับแกะอื่นอีกหลายล้านคนที่เข้ามาร่วมกับเขาเสมือนเป็นฝูงเดียวกันได้รับการปฏิบัติอย่างไร? หลายคนโดยส่วนตัวอาจจะไม่โจมตีตัวแทนพระคริสต์ แต่เขาก็หาได้ปฏิบัติไพร่พลของพระองค์ด้วยความรักไม่. ด้วยความนิยมโลกชั่วนี้ คนจำพวกแพะปฏิเสธข่าวราชอาณาจักรไม่ว่าเขาได้ฟังข่าวโดยตรงหรือโดยอ้อม. (1 โยฮัน 2:15-17) แน่นอน ในที่สุด พระเยซูคือท่านองค์นั้นซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้พิจารณาตัดสิน. ไม่ใช่หน้าที่ของเราจะตัดสินว่าใครคือแกะหรือใครคือแพะ.—มาระโก 2:8; ลูกา 5:22; โยฮัน 2:24, 25; โรม 14:10-12; 1 โกรินโธ 4:5.
อนาคตของแต่ละพวกจะเป็นเช่นไร?
16, 17. อนาคตของชนจำพวกแกะจะเป็นอย่างไร?
16 พระเยซูทรงตัดสินชนจำพวกแกะดังนี้: “มาเถิด เจ้าทั้งหลาย ซึ่งได้รับพระพรจากพระบิดาของเรา จงมารับราชอาณาจักรเป็นมรดกซึ่งตระเตรียมไว้สำหรับพวกเจ้าตั้งแต่การวางรากฐานโลก.” ช่างเป็นการเชื้อเชิญอย่างอบอุ่นเสียนี่กระไร—“มาเถิด”! เชื้อเชิญให้รับอะไร? ชีวิตนิรันดร์ ดังที่พระองค์ตรัสสรุปว่า “ผู้ชอบธรรมจะเข้าสู่ชีวิตนิรันดร์.”—มัดธาย 25:34, 46, ล.ม.
17 ในอุทาหรณ์เรื่องตะลันต์ พระเยซูทรงแสดงถึงสิ่งซึ่งเรียกร้องจากคนเหล่านั้นที่จะปกครองร่วมกับพระองค์ในสวรรค์ แต่ในอุทาหรณ์เรื่องนี้ พระองค์ทรงชี้ถึงสิ่งซึ่งคาดหมายจากพลเมืองแห่งราชอาณาจักร. (มัดธาย 25:14-23) พูดอย่างตรงจุดก็คือ เนื่องจากได้ให้การสนับสนุนสุดหัวใจแก่พี่น้องของพระเยซู ชนจำพวกแกะได้รับที่ในแผ่นดินโลกภายใต้ราชอาณาจักรของพระองค์เป็นมรดก. เขาจะอยู่อย่างสุขสบายบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน—ความหวังซึ่งพระเจ้าได้เตรียมไว้สำหรับพวกเขา “ตั้งแต่การวางรากฐานโลก” แห่งมนุษย์ที่ถูกไถ่ได้.—ลูกา 11:50, 51.
18, 19. (ก) พระเยซูจะทรงตัดสินให้ฝ่ายที่เป็นแพะได้รับผลอะไร? (ข) เราแน่ใจได้อย่างไรว่า ชนจำพวกแพะจะไม่ทนทุกข์ตลอดกาล?
18 การตัดสินลงโทษชนจำพวกแพะช่างแตกต่างกันเสียจริง ๆ! “พระองค์จึงตรัสแก่บรรดาผู้ที่อยู่เบื้องซ้ายว่า, ‘เจ้าทั้งหลายผู้ต้องแช่งสาป, จงถอยไปจากเราเข้าไปอยู่ในไฟซึ่งไหม้อยู่เป็นนิตย์. ซึ่งเตรียมไว้สำหรับมารและพรรคพวกของมันนั้น. เพราะว่าเมื่อเราอยากอาหารเจ้าก็มิได้ให้เรากิน, เรากระหายน้ำเจ้าก็มิได้ให้เราดื่ม, เราเป็นแขกแปลกหน้าเจ้าก็ไม่ได้ต้อนรับเราไว้, เราเปลือยกายเจ้าก็ไม่ได้ให้เสื้อผ้าเรานุ่งห่ม. เราเจ็บและต้องจำอยู่ในพันธนาคารเจ้าก็ไม่ได้เยี่ยมเรา.’ เขาทั้งหลายจะทูลว่า, ‘พระองค์เจ้าข้า, ที่ข้าพเจ้าได้เห็นพระองค์ทรงอยากพระกระยาหาร, หรือทรงกระหายน้ำ, หรือทรงเป็นแขกแปลกหน้าและเปลือยพระกาย, หรือทรงประชวรและต้องจำอยู่ในพันธนาคาร, และข้าพเจ้ามิได้ปรนนิบัติพระองค์นั้นแต่เมื่อไร?’ เมื่อนั้นพระองค์จะตรัสแก่เขาว่า, ‘เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า, ซึ่งเจ้ามิได้กระทำแก่ผู้เล็กน้อยที่สุดสักคนหนึ่งในพวกนี้, เจ้าก็มิได้กระทำแก่เราด้วย.’”—มัดธาย 25:41-45.
19 นักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลรู้ว่า ข้อความตอนนี้ไม่อาจจะหมายถึงจิตวิญญาณอมตะของชนจำพวกแพะจะรับการทรมานในไฟไม่รู้ดับ. เป็นเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็น จิตวิญญาณ มนุษย์ใช่ว่ามี จิตวิญญาณอมตะไม่. (เยเนซิศ 2:7; ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4) โดยการตัดสินพวกแพะให้รับโทษอยู่ใน “ไฟซึ่งไหม้อยู่เป็นนิตย์” ผู้พิพากษาหมายถึงความพินาศโดยปราศจากความหวังใด ๆ ในอนาคต ซึ่งจะเป็นจุดจบตลอดกาลสำหรับพญามารและปิศาจพรรคพวกของมันด้วย. (วิวรณ์ 20:10, 14) ดังนั้น ผู้พิพากษานี้ของพระยะโฮวาจึงตัดสินในทางที่ตรงข้ามกัน. พระองค์ตรัสแก่จำพวกแกะว่า “มาเถิด” แต่สำหรับแพะ “จงถอยไปจากเรา.” ชนจำพวกแกะจะรับ “ชีวิตนิรันดร์” เป็นมรดก. ส่วนแพะจะ “ถูกตัดขาดเป็นนิตย์.”—มัดธาย 25:46, ล.ม.b
ทั้งนี้หมายความอย่างไรสำหรับพวกเรา?
20, 21. (ก) คริสเตียนมีงานสำคัญอะไรต้องทำ? (ข) ขณะนี้ การแบ่งแยกอะไรกำลังดำเนินอยู่? (ค) สภาพการณ์ของผู้คนจะเป็นอย่างไรเมื่ออุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะเริ่มสำเร็จเป็นจริง?
20 อัครสาวกทั้งสี่คนที่ได้ฟังคำตอบจากพระเยซูเกี่ยวด้วยการเสด็จประทับและอวสานของระบบนี้มีหลายเรื่องที่ต้องใคร่ครวญ. เขาจำต้องตื่นตัวเฝ้าระวังอยู่เสมอ. (มัดธาย 24:42) นอกจากนั้น เขาจะต้องทำงานให้คำพยานตามที่กล่าวในมาระโก 13:10. ปัจจุบันนี้ พยานพระยะโฮวาใช้กำลังวังชาเต็มที่ทำงานที่ว่านี้.
21 กระนั้น ความเข้าใจกระจ่างที่เพิ่งได้รับนี้เกี่ยวกับอุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะหมายความอย่างไรสำหรับพวกเรา? ทุกวันนี้ผู้คนต่างก็เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว. บางคนอยู่บน ‘ทางกว้างซึ่งนำไปสู่ความพินาศ’ ขณะที่คนอื่นพยายามอยู่ต่อไปบน ‘ทางแคบซึ่งนำไปสู่ชีวิต.’ (มัดธาย 7:13, 14) แต่เวลาเมื่อพระเยซูจะประกาศคำตัดสินครั้งสุดท้ายว่าใครเป็นแกะหรือเป็นแพะดังแสดงไว้ในอุทาหรณ์นั้นยังอยู่เบื้องหน้า. เมื่อบุตรมนุษย์เสด็จมาในฐานะผู้พิพากษา พระองค์จะทรงตัดสินว่า คริสเตียนแท้จำนวนมาก—ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็น “ชนฝูงใหญ่” แห่งจำพวกแกะผู้อุทิศตัว—จะมีคุณสมบัติที่จะผ่านช่วงท้ายแห่ง “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” เข้าสู่โลกใหม่. ความหวังเช่นนั้นน่าจะเป็นแหล่งยังความชื่นชมยินดีในเวลานี้. (วิวรณ์ 7:9, 14) ในทางกลับกัน มหาชนมากมายจาก “ทุกชาติ” จะได้พิสูจน์ตัวเองเสมือนแพะที่ดื้อด้าน. พวกเขา “จะไปสู่การตัดขาดเป็นนิตย์.” แผ่นดินโลกจะได้รับการปลดเปลื้องภาระหนักสักเพียงใด!
22, 23. เนื่องจากอุทาหรณ์จะสำเร็จในวันข้างหน้า ทำไมงานประกาศเผยแพร่ของเราในปัจจุบันเป็นเรื่องสำคัญ?
22 ถึงแม้การพิพากษาตัดสินตามที่พรรณนาไว้ในอุทาหรณ์นั้นจะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ก็ตาม แต่ตอนนี้ เหตุการณ์สำคัญบางอย่างกำลังอุบัติขึ้น. พวกเราชาวคริสเตียนกำลังมีส่วนร่วมทำงานช่วยชีวิต ด้วยการประกาศข่าวสารซึ่งก่อการแบ่งแยกท่ามกลางผู้คน. (มัดธาย 10:32-39) เปาโลเขียนว่า “เพราะว่า ทุกคนที่จะร้องออกพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า [พระยะโฮวา, ล.ม.] ก็จะรอด. แต่คนที่ยังไม่ได้เชื่อในพระองค์, เขาจะร้องขอพระองค์อย่างไรได้? และคนที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์, เขาจะเชื่อในพระองค์อย่างไรได้? และเมื่อไม่มีใครประกาศให้เขาฟัง, เขาจะได้ยินถึงพระองค์อย่างไรได้?” (โรม 10:13, 14) งานที่พวกเราเผยแพร่ท่ามกลางสาธารณชน พร้อมกับการประกาศพระนามของพระเจ้าและข่าวความรอดจากพระองค์ได้แผ่ไปถึงผู้คนตามดินแดนต่าง ๆ มากกว่า 230 ดินแดน. บรรดาพี่น้องผู้ถูกเจิมของพระคริสต์ยังคงเป็นกองหน้าของงานนี้อยู่. เวลานี้ แกะอื่นประมาณห้าล้านคนร่วมสมทบกับพวกเขา. และประชาชนทั่วโลกต่างก็ตอบรับข่าวสารที่พี่น้องของพระเยซูได้ประกาศ.
23 หลายคนมีโอกาสฟังข่าวสารขณะที่พวกเราออกไปเผยแพร่ตามบ้านหรือเมื่อสบโอกาส. คนอื่นอาจเรียนรู้เกี่ยวกับพยานพระยะโฮวาและข่าวสารของเราโดยวิธีที่เราไม่รู้. เมื่อเวลาการพิพากษาตัดสินมาถึง พระเยซูจะทรงพิจารณาความรับผิดชอบของชุมชนและความดีความชอบของคนในครอบครัวถึงระดับไหน? เราไม่สามารถบอกได้ และไม่มีประโยชน์ที่จะคาดเดา. (เทียบกับ 1 โกรินโธ 7:14.) เวลานี้หลายคนปักใจไม่ยอมฟัง, หัวเราะเยาะ, หรือร่วมการข่มเหงไพร่พลของพระเจ้าโดยตรง. ฉะนั้น เวลานี้จึงเป็นช่วงสำคัญมาก คนประเภทดังกล่าวอาจกลายเป็นผู้ที่พระเยซูจะทรงตัดสินให้อยู่ในจำพวกแพะ.—มัดธาย 10:22; โยฮัน 15:20; 16:2, 3; โรม 2:5, 6.
24. (ก) ทำไมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แต่ละคนพึงตอบรับงานเผยแพร่ของเรา? (ข) การศึกษาเรื่องนี้ได้ช่วยคุณเป็นส่วนตัวให้มีทัศนะเช่นไรต่องานรับใช้ของคุณ?
24 แต่น่ายินดี หลายคนตอบรับด้วยความเห็นดีเห็นชอบ, ศึกษาพระคำของพระเจ้า, และเข้ามาเป็นพยานของพระยะโฮวา. บางคนซึ่งขณะนี้ดูเหมือนแสดงตัวอยู่ในจำพวกแพะอาจจะเปลี่ยนแล้วมาเป็นจำพวกแกะก็ได้. จุดสำคัญคือ บรรดาผู้ที่ตอบรับและสนับสนุนชนที่เหลือพี่น้องของพระคริสต์อย่างแข็งขันขณะนี้กำลังให้หลักฐานอันจะเป็นพื้นฐานเพื่อเขาจะถูกจัดให้เข้าอยู่เบื้องขวาพระหัตถ์พระเยซู เมื่อพระองค์ประทับลงบนราชบัลลังก์เพื่อดำเนินงานพิจารณาตัดสินในอนาคตอันใกล้. คนเหล่านี้กำลังรับพระพรอยู่แล้วและจะได้พระพรอย่างต่อเนื่อง. ดังนั้น อุทาหรณ์นี้น่าจะปลุกเร้าเราให้กระตือรือร้นมากขึ้นในกิจกรรมฝ่ายคริสเตียน. ก่อนจะสายเกินไป เราต้องการทำสุดความสามารถเพื่อประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร และด้วยแนวทางเช่นนั้นจะช่วยคนอื่นมีโอกาสตอบรับ. ต่อจากนั้นก็แล้วแต่พระเยซูจะพิจารณาตัดสิน ให้รับโทษหรือได้รับความโปรดปราน.—มัดธาย 25:46.
[เชิงอรรถ]
b หนังสือเอล เอวันเฮลยอ เด มาเทโอ ให้ข้อสังเกตดังนี้: “ชีวิตนิรันดร์เป็นชีวิตแท้ ๆ ตรงกันข้ามกับชีวิตนิรันดร์คือการลงโทษแท้ ๆ. คำคุณศัพท์ภาษากรีก ไอโอนิออส ไม่ได้บ่งถึงช่วงเวลาเป็นสำคัญ แต่บ่งชี้ถึงคุณภาพ. การลงโทษแท้ ๆ คือความตายตลอดไป.”—ศาสตราจารย์ที่เกษียณอายุ ฮวน มาเทออส (สถาบันเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลแห่งโรม) และศาสตราจารย์เฟอร์นันโด คามาโช (ศูนย์เทววิทยา, เซวิลล์) มาดริด สเปน, ปี 1981.
คุณจำได้ไหม?
▫ ความคล้ายคลึงกันอะไรระหว่างมัดธาย 24:29-31 กับมัดธาย 25:31-33 แสดงว่า อุทาหรณ์เรื่องแกะและแพะจะสำเร็จเป็นจริงในวันข้างหน้า และวันข้างหน้านั้นคือเมื่อไร?
▫ ใครคือ “ผู้เล็กน้อย” ในหมู่พี่น้องของพระเยซู?
▫ การที่พระเยซูใช้คำพูดที่ว่า “บรรดาผู้ชอบธรรม” ช่วยเราชี้ตัวคนเหล่านี้ได้อย่างไรว่า หมายถึงใครและไม่หมายถึงใคร?
▫ ถึงแม้อุทาหรณ์จะสำเร็จเป็นจริงในวันข้างหน้า แต่ทำไมการเผยแพร่ของเราในเวลานี้จึงเป็นงานสำคัญและรีบด่วน?
[กรอบหน้า 24]
โปรดสังเกตความคล้ายคลึงกัน
มัดธาย 24:29-31 มัดธาย 25:31-33
หลังจากความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่เริ่มต้น บุตรมนุษย์เสด็จมา
บุตรมนุษย์เสด็จมา
เสด็จมาด้วยสง่าราศีเป็นอันมาก เสด็จมาด้วยสง่าราศีของพระองค์
และประทับลงบนราชบัลลังก์อันรุ่งโรจน์
หมู่ทูตสวรรค์อยู่กับพระองค์ หมู่ทูตสวรรค์มากับพระองค์
มนุษย์ทุกชาติทั่วโลกจะเห็นพระองค์ บรรดาชนชาติต่าง ๆ ถูกรวบรวม;
พวกแพะถูกตัดสินในที่สุด
(ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่สิ้นสุด)
[ที่มาของภาพหน้า 24]
Garo Nalbandian