‘พิจารณาดูว่าตัวเราเป็นอย่างไร’ ณ พิธีอนุสรณ์
“แต่ถ้าเราพิจารณาตัวเราเอง เราคงไม่ต้องถูกทำโทษ . . . เพื่อมิให้เราถูกทรงพิพากษาลงโทษ.”—1 โกรินโธ 11:31, 32, ฉบับแปลใหม่.
1. คริสเตียนแท้ต้องการหลีกเลี่ยงอะไรอย่างแน่นอน และเพราะเหตุใด?
สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาสำหรับคริสเตียนก็คือ ถูกพิพากษาลงโทษโดยพระยะโฮวา. การทำให้ “ผู้พิพากษาสากลโลก” ไม่พอพระทัยจะนำเราไปถึง ‘การถูกพิพากษาลงโทษด้วยกันกับโลก’ และสูญเสียความรอด. จะเป็นเช่นนั้นไม่ว่าเราจะหวังในชีวิตภาคสวรรค์กับพระเยซูหรือชีวิตนิรันดร์ในแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.—เยเนซิศ 18:25; 1 โกรินโธ 11:32, ฉบับแปลใหม่.
2, 3. เราอาจถูกพิพากษาลงโทษในเรื่องใด และเปาโลได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างไร?
2 ในพระธรรม 1 โกรินโธบทที่ 11 อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงขอบเขตที่เราอาจเข้าไปสู่การพิพากษา. ขณะที่เปาโลแนะนำคริสเตียนผู้ถูกเจิม คำแนะนำของท่านก็มีความสำคัญต่อทุกคน โดยเฉพาะในฤดูกาลนี้. การพิจารณาดูว่า ตัวเราเป็นอย่างไรนั้นอาจช่วยเราให้เป็นที่ยอมรับของพระเจ้าและไม่ถูกพิพากษา. เมื่อพิจารณาการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าประจำปีนั้น เปาโลเขียนว่า:
3 “ในกลางคืนวันนั้นเมื่อเขาทรยศขายพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ครั้นขอบพระคุณแล้ว จึงทรงหักเสีย ตรัสว่า ‘นี่เป็นกายของเรา ซึ่งทรงประทานให้ท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.’ เมื่อรับประทานขนมปังแล้ว พระองค์จึงทรงหยิบจอกด้วยอาการอย่างเดียวกันตรัสว่า ‘จอกนี้คือคำสัญญาใหม่ด้วยโลหิตของเรา เมื่อท่านดื่มจากจอกนี้เวลาใด จงดื่มเป็นที่ระลึกถึงเรา’ เพราะว่าเมื่อท่านทั้งหลายกินขนมปังนี้และดื่มจากจอกนี้เวลาใด ท่านก็ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้ากว่าพระองค์จะเสด็จมา.”—1 โกรินโธ 11:23-26.
4. อะไรจะเกิดขึ้นในตอนเย็นของวันที่ 10 เมษายน 1990?
4 พยานพระยะโฮวาจะฉลองพิธีอนุสรณ์ถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์ในวันที่ 10 เมษายน หลังดวงอาทิตย์ตก. ตามปกติแล้ว กลุ่มที่ร่วมประชุมจะเป็นประชาคมหนึ่ง. ฉะนั้น จึงจะมีที่สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพยานฯด้วย. การประชุมจะเป็นแบบใด? จะมีคำบรรยายจากคัมภีร์ไบเบิล. ครั้นแล้วหลังจากคำอธิษฐาน จะมีการผ่านขนมปัง. การอธิษฐานอีกครั้งหนึ่งจะนำเข้าสู่การผ่านถ้วยเหล้าองุ่น. แทนที่พิธีนี้จะเป็นแบบยึดตามแบบแผนพิธีกรรมหรือขั้นตอนที่เคร่งครัดตามประเพณี จำนวนขนมปัง หรือถ้วยเหล้าองุ่นและวิธีผ่านเครื่องหมายเหล่านั้นจะมีการจัดเตรียมตามสภาพการณ์ของท้องถิ่น. สิ่งสำคัญก็คือ เครื่องหมายเหล่านั้นมีการส่งให้ไปถึงผู้ร่วมประชุมทุกคน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเพียงแต่ส่งผ่านเครื่องหมายโดยมิได้รับประทานก็ตาม. แต่อะไรล่ะที่มีการส่งผ่านและสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร? ยิ่งกว่านั้น เราควรพิจารณาอะไรก่อนเพื่อจะวินิจฉัยว่าตัวเราเป็นอย่างไร?
“นี่หมายถึงกายของเรา”
5, 6. (ก) พระเยซูทรงทำอะไรกับขนมปัง? (ข) พระองค์ใช้ขนมปังชนิดใด?
5 เราได้อ่านเรื่องที่เปาโล “ได้รับจากองค์พระผู้เป็นเจ้า” เกี่ยวกับพิธีอนุสรณ์. ยังมีบันทึกถึงเรื่องนั้นโดยผู้เขียนกิตติคุณสามคนเช่นกัน. มีหนึ่งในสามคนอยู่ด้วยในคราวที่พระเยซูทรงตั้งการฉลองนี้ขึ้น. (1 โกรินโธ 11:23; มัดธาย 26:26-29; มาระโก 14:22-25; ลูกา 22:19, 20) บันทึกเหล่านี้กล่าวว่า พระเยซูทรงหยิบขนมปัง อธิษฐาน แล้วก็หักขนมปังแจกให้สาวก. ขนมปังนั้นคืออะไร? ปัจจุบันใช้ขนมปังแบบไหน? ขนมปังนั้นหมายถึงหรือใช้แทนอะไร?
6 สิ่งที่ยังคงมีอยู่ตั้งแต่การเลี้ยงปัศคาของชาวยิวนั้น อย่างหนึ่งก็คือ ขนมปังไม่ใส่เชื้อซึ่งโมเซเรียกว่า “ขนมไม่มีเชื้อ คือขนมปังแห่งความทุกข์.” (พระบัญญัติ 16:3; เอ็กโซโด 12:8) ขนมปังนี้ทำด้วยแป้งข้าวสาลีโดยไม่ใส่เชื้อ เกลือ หรือเครื่องปรุง. เนื่องจากไม่ใส่เชื้อ (ภาษาฮีบรูมาทซา) ขนมปังนี้จึงเป็นแผ่นบางและกรอบ จะต้องหักเป็นชิ้น ๆ พอดีคำ.—มาระโก 6:41; 8:6; กิจการ 27:35.
7. พยานพระยะโฮวาใช้ขนมปังชนิดใดในพิธีอนุสรณ์?
7 พระเยซูทรงใช้ขนมปังไม่ใส่เชื้อนั้นในการเลี้ยงอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นพยานพระยะโฮวาทุกวันนี้จึงทำเช่นเดียวกัน. ขนมปังมาทโซท์ของชาวยิวโดยทั่วไปคงเหมาะกับจุดประสงค์นี้ถ้าหากไม่ได้เพิ่มส่วนผสมต่าง ๆ เข้าไป เช่น มอลท์ หัวหอม หรือไข่. (ขนมมาทโซท์ที่ประกอบด้วยส่วนผสมเหล่านั้นคงไม่เหมาะกับชื่อ “ขนมปังแห่งความทุกข์.”) หรือผู้ปกครองในประชาคมอาจมอบให้บางคนทำขนมปังไม่ใส่เชื้อนี้จากแป้งข้าวสาลีผสมกับน้ำแล้วนวด. หากหาแป้งสาลีไม่ได้ อาจทำขนมปังไม่ใส่เชื้อได้จากแป้งที่ทำจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาร ข้าวโพด หรือเมล็ดข้าวชนิดอื่น. แป้งที่นวดแล้วจะทำให้เป็นแผ่นบาง ๆ และปิ้งบนกะทะที่ทาน้ำมันบาง ๆ.
8. ทำไมขนมปังไม่ใส่เชื้อจึงเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสม และการร่วมรับประทานขนมปังนั้นหมายความอย่างไร? (เฮ็บราย 10:5-7; 1 เปโตร 4:1)
8 ขนมปังแบบนั้นเป็นชนิดที่เหมาะสมเพราะไม่ได้ใส่เชื้อ (ยีสต์) ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลใช้แทนการทุจริตหรือบาป. เปาโลเคยได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับคนที่ผิดศีลธรรมในประชาคมว่า “เชื้อนิดหน่อยก็แผ่ไปทั่วทั้งก้อน. จงชำระเชื้อเก่าออกเสีย เพื่อท่านทั้งหลายจะได้เป็นก้อนใหม่ เนื่องจากท่านทั้งหลายปราศจากอาการหมัก. ด้วยว่าพระคริสต์ผู้เป็นปัศคาของเราได้ถูกถวายเป็นเครื่องบูชาแล้ว. เหตุฉะนั้นให้เราทั้งหลายถือเทศกาลนั้น มิใช่ด้วยเชื้อเก่าหรือเชื้อแห่งความเลวและชั่วร้าย แต่ด้วยขนมปังไม่มีเชื้อคือขนมแห่งความสุจริตใจและความจริง.” (1 โกรินโธ 5:6-8, ล.ม.; เทียบกับมัดธาย 13:33; 16:6, 12) ขนมปังไม่มีเชื้อเป็นเครื่องหมายที่เหมาะสมถึงพระกายมนุษย์ของพระเยซู เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ “บริสุทธิ์ ปราศจากอุบาย ไม่มีมลทิน ต่างจากคนบาปทั้งปวง.” (เฮ็บราย 7:26) พระเยซูทรงอยู่ที่นั่นในกายมนุษย์คราวที่พระองค์ตรัสแก่เหล่าอัครสาวกว่า “จงรับไว้แล้วกิน [ขนมปัง] นี้เถิด นี่หมายถึงกายของเรา.” (มัดธาย 26:26, คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใหม่ โดยเจมส์ มอฟฟัตต์) การร่วมรับประทานขนมปังนั้นหมายความว่า บุคคลนั้นเชื่อและยอมรับคุณค่าแห่งเครื่องบูชาของพระเยซูในนามของพระองค์. แต่มีมากกว่านั้นที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย.
เหล้าองุ่นที่มีความหมาย
9. พระเยซูตรัสว่าควรใช้เครื่องหมายอะไรอีก?
9 พระเยซูทรงใช้เครื่องหมายอีกอย่างหนึ่ง: “พระองค์ทรงหยิบถ้วยขึ้นมา และหลังจากทรงขอบพระคุณพระเจ้า พระองค์ทรงส่งให้เขา ‘จงดื่มจากถ้วยนี้ทุกคนเถิด นี่หมายถึงโลหิตของเรา เป็นโลหิตแห่งคำสัญญาไมตรีใหม่ ซึ่งหลั่งออกเพื่อยกบาปของคนเป็นอันมาก.’” (มัดธาย 26:27, 28, ม็อฟฟัตต์) มีอะไรในถ้วยสำหรับทุกคนที่พระองค์ทรงส่งให้เขา และนั้นมีความหมายอย่างไรแก่พวกเรา ขณะที่เราพยายามพิจารณาดูว่า ตัวเราเป็นอย่างไร?
10. เหล้าองุ่นมาเป็นส่วนหนึ่งในปัศคาของชาวยิวอย่างไร?
10 คราวที่โมเซวางเค้าโครงการเลี้ยงปัศคาครั้งแรก ท่านไม่ได้กล่าวถึงของดื่ม. ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามีการเริ่มนำเหล้าองุ่นมาใช้ในปัศคาภายหลังจากนั้นอีกนานมากทีเดียว อาจเป็นในศตวรรษที่สองก่อนสากลศักราช.a ไม่ว่าในกรณีใด การใช้เหล้าองุ่นในการรับประทานอาหารนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาในศตวรรษแรก และพระเยซูก็ไม่ได้คัดค้าน. พระองค์ทรงใช้เหล้าองุ่นในปัศคาคราวที่ทรงตั้งพิธีอนุสรณ์ขึ้น.
11 เหล้าองุ่นชนิดใดที่เหมาะสมจะใช้ในการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า?
11 เนื่องจากปัศคาของชาวยิวมีขึ้นหลังการเก็บผลองุ่นเป็นเวลานาน พระเยซูจึงคงจะไม่ได้ใช้น้ำองุ่นที่ไม่ได้หมัก แต่ใช้เหล้าองุ่นแดงซึ่งเหมาะที่จะใช้แทนพระโลหิตของพระองค์. (เทียบกับวิวรณ์ 14:20.) โลหิตแห่งพระคริสต์ไม่จำเป็นต้องมีการเพิ่มส่วนผสม ดังนั้นเหล้าองุ่นล้วน ๆ จึงเหมาะสม แทนที่จะเป็นเหล้าองุ่นที่ผสมด้วยบรั่นดี (เช่น ปอร์ต, เชอร์รี, หรือมัสคาเทล) หรือที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศ หรือสมุนไพร (เช่น เวอร์มุธ ดูบองเนต์ หรือเหล้าองุ่นอื่น ๆ ที่ใช้ดื่มก่อนอาหาร). กระนั้นก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องห่วงกังวลถึงขั้นตอนการผลิตเหล้าองุ่น ว่ามีการใส่น้ำตาลลงไปหรือไม่ระหว่างการหมักเพื่อให้มีรส หรือปริมาณของแอลกอฮอล์พอดี ๆ หรือว่ามีการใช้กำมะถันสักเล็กน้อยเพื่อกันการบูด.b หลายประชาคมใช้เหล้าองุ่นแดงที่มีผลิตขายทั่วไป (เช่น เคียนติ, เบอร์กันดี, โบโจเลส์, หรือคลาเร็ท) หรือเหล้าองุ่นแดงที่ทำขึ้นเอง. เนื่องจากเหล้าองุ่นกับขนมปังเป็นเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์เท่านั้น ส่วนที่ไม่ได้ใช้จึงอาจนำกลับบ้านได้และใช้เป็นอาหารหรือเครื่องดื่มได้ภายหลัง.
12. พระเยซูทรงอธิบายว่าเหล้าองุ่นนั้นหมายถึงอะไร?
12 การที่พระเยซูตรัสเกี่ยวด้วยพระโลหิตของพระองค์ในคืนปัศคาอาจทำให้ย้อนระลึกถึงเลือดแกะในอียิปต์ได้. แต่ขอให้สังเกตวิธีที่พระเยซูได้ทำให้การเปรียบเทียบต่างไปจริง ๆ โดยตรัสว่า “จอกนี้หมายถึงคำสัญญาไมตรีใหม่โดยโลหิตของเราซึ่งจะเทไหลออกเพื่อท่านทั้งหลาย.” (ลูกา 22:20, ล.ม.) พระเจ้าได้ทรงทำคำสัญญาไมตรีก่อนหน้านั้นกับพวกยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนัง และคำสัญญานั้นได้มีพิธีเริ่มใช้ด้วยเลือดสัตว์ที่ถวายบูชา. มีความสอดคล้องกันระหว่างเลือดของสัตว์ที่ถวายบูชาเหล่านั้นกับพระโลหิตของพระเยซู. ทั้งสองสิ่งมีความเกี่ยวพันในการเริ่มใช้คำสัญญาไมตรีของพระเจ้ากับชนชาติแห่งพลไพร่ของพระองค์. (เอ็กโซโด 24:3-8; เฮ็บราย 9:17-20) ลักษณะหนึ่งของพระบัญญัติแห่งคำสัญญาไมตรีก็คือ ชนยิศราเอลฝ่ายเนื้อหนังมีความหวังในการตั้งเป็นชาติแห่งกษัตริย์และปุโรหิต. (เอ็กโซโด 19:5, 6) อย่างไรก็ตาม หลังจากพวกยิศราเอลไม่รักษาคำสัญญาไมตรีของพระยะโฮวา พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะทรงแทน “คำสัญญาเดิม” ด้วย “คำสัญญาใหม่.” (เฮ็บราย 9:1, 15; ยิระมะยา 31:31-34) ถ้วยเหล้าองุ่นที่พระเยซูทรงส่งให้เหล่าอัครสาวกผู้ซื่อสัตย์ในตอนนี้หมายถึงคำสัญญาไมตรีใหม่นั้น.
13, 14. (ก) การเป็นส่วนหนึ่งในคำสัญญาไมตรีใหม่หมายถึงอะไร? (ข) การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดร่วมรับประทานเครื่องหมายนั้นแสดงถึงอะไร?
13 ชนคริสเตียนที่ถูกนำเข้าสู่คำสัญญาไมตรีใหม่ได้ประกอบกันขึ้นเป็นชาติฝ่ายวิญญาณแห่งกษัตริย์และปุโรหิต. (ฆะลาเตีย 6:16) อัครสาวกเปโตรเขียนไว้ว่า “ท่านทั้งหลายเป็น ‘เชื้อสายที่ทรงเลือกไว้ เป็นคณะปุโรหิตหลวง เป็นชาติบริสุทธิ์ เป็นพลไพร่ที่เป็นสมบัติพิเศษ เพื่อท่านทั้งหลายจะประกาศเผยแพร่พระบารมีคุณ’ ของพระองค์ผู้ได้ทรงเรียกท่านทั้งหลายให้ออกจากความมืดเข้าสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์.” (1 เปโตร 2:9) ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ความรอดแบบใดที่พวกเขาได้รับ—นั่นคือชีวิตในสวรรค์ฐานะผู้ครอบครองร่วมกับพระเยซู. พระธรรมวิวรณ์ 20:6 ยืนยันว่า “คนใด ๆ ที่มีส่วนในการเป็นขึ้นมาจากตายครั้งแรกนั้นก็เป็นผาสุกและบริสุทธิ์; . . . เขาจะเป็นปุโรหิตของพระเจ้าและของพระคริสต์และจะครอบครองกับพระองค์ตลอดพันปี.”
14 อันที่จริง หลังจากพระเยซูบัญชาพวกอัครสาวกให้ร่วมรับประทานขนมปังกับเหล้าองุ่นซึ่งใช้เป็นเครื่องหมาย พระองค์ทรงบอกว่า พวกเขาจะ ‘กินและดื่มที่โต๊ะของพระองค์ในราชอาณาจักรของพระองค์ และนั่งบนบัลลังก์เพื่อพิพากษาพวกยิศราเอลสิบสองตระกูล.’ (ลูกา 22:28-30) ฉะนั้น การร่วมรับประทานเครื่องหมายในพิธีอนุสรณ์จึงมีความหมายมากกว่าเพียงมีความเชื่อในเครื่องบูชาของพระเยซู. คริสเตียนทุกคนต้องยอมรับในค่าไถ่และแสดงความเชื่อหากเขาจะรับเอาชีวิตนิรันดร์ไม่ว่าที่ไหน. (มัดธาย 20:28; โยฮัน 6:51) แต่การร่วมรับประทานเครื่องหมายแสดงว่า บุคคลนั้นอยู่ในคำสัญญาไมตรีใหม่ ถูกเลือกให้อยู่กับพระเยซูในราชอาณาจักรของพระองค์.
จำต้องพิจารณาตัวเอง ณ พิธีอนุสรณ์
15. พระเยซูทรงนำมาซึ่งความหวังใหม่แก่ผู้รับใช้ของพระเจ้าอย่างไร?
15 ดังที่มีอธิบายไว้ในบทความก่อน ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าสมัยก่อนพระเยซูไม่ได้มีความหวังจะไปสวรรค์. พวกเขารอคอยจะได้ชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก บ้านเดิมของมนุษย์. พระเยซูคริสต์เป็นผู้แรกที่ถูกปลุกขึ้นเป็นกายวิญญาณ และพระองค์ทรงเป็นผู้แรกในหมู่มนุษยชาติที่ถูกรับสู่สวรรค์. (เอเฟโซ 1:20-22; 1 เปโตร 3:18, 22) เปาโลยืนยันเรื่องนี้โดยเขียนว่า “เราจึงมีใจกล้าที่จะเข้าไปในที่บริสุทธิ์โดยพระโลหิตของพระเยซูตามทางใหม่และเป็นทางที่มีชีวิต ซึ่งพระองค์ได้ทรงเปิดออกสำหรับเราทั้งหลาย.” (เฮ็บราย 10:19, 20) ใครบ้างจะติดตามเข้าไป หลังจากที่พระเยซูได้เปิดทางนั้น?
16. มีอนคตอะไรรออยู่สำหรับคนเหล่านั้นที่ร่วมรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่น?
16 ในคืนที่พระเยซูได้ทรงตั้งการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าขึ้นนั้น พระองค์ทรงบอกแก่เหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า พระองค์ได้จัดเตรียมที่ให้เขาทั้งหลายในสวรรค์. (โยฮัน 14:2, 3) แต่เราคงจำได้ว่า พระเยซูทรงตรัสไว้เช่นกันว่า ผู้ที่ร่วมรับประทานขนมปังและเหล้าองุ่นจะได้อยู่ในราชอาณาจักรของพระองค์และนั่งบนบัลลังก์ทำการพิพากษา. นั่นจะเป็นแต่เพียงพวกอัครสาวกเท่านั้นหรือ? หามิได้ เนื่องจากต่อมาอัครสาวกโยฮันก็ได้ทราบว่า คริสเตียนคนอื่น ๆ ด้วยจะได้ชัยชนะและ ‘นั่งลงกับพระเยซูบนพระที่นั่งของพระองค์’ และพวกเขาจะได้เป็น ‘กษัตริย์และปุโรหิตปกครองแผ่นดินโลก’ ร่วมกัน. (วิวรณ์ 3:21; 5:10) โยฮันยังได้ทราบจำนวนทั้งหมดของคริสเตียนที่ “ถูกไถ่ไว้แล้วจากแผ่นดินโลก” ด้วยคือ 144,000 คน. (วิวรณ์ 14:1-3) เพราะเหตุที่กลุ่มนี้มีจำนวนค่อนข้างน้อย เป็น “ฝูงแกะเล็กน้อย” เมื่อเทียบกับจำนวนผู้นมัสการพระเจ้าทั้งหมดตลอดทุกสมัย จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาเป็นพิเศษ ณ โอกาสพิธีอนุสรณ์.—ลูกา 12:32.
17, 18. (ก) คริสเตียนในเมืองโกรินโธบางคนตกเข้าสู่นิสัยแบบใด? (ข) เพราะเหตุใดการกินและดื่มมากเกินไปจึงเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างยิ่ง? (เฮ็บราย 10:28-31)
17 เปาโลนำเรื่องนี้ขึ้นกล่าวในจดหมายของท่านถึงพี่น้องชาวโกรินโธในตอนที่อัครสาวกบางคนยังมีชีวิตอยู่และเป็นเวลาที่พระเจ้าทรงเรียกชนคริสเตียน “ให้เป็นผู้บริสุทธิ์.” เปาโลกล่าวว่า มีการประพฤติที่ไม่ดีเกิดขึ้นท่ามกลางคนเหล่านั้นที่อยู่ที่นั่นผู้ซึ่งจะต้องร่วมรับประทานเครื่องหมาย. บางคนได้รับประทานอาหารมาก่อน ซึ่งเขาได้กินหรือดื่มมากเกินไป ทำให้เขาง่วงเหงา ประสาทเซื่องซึม. ผลก็คือ เขาไม่อาจ “สังเกตพระกาย” คือกายเลือดเนื้อของพระเยซูซึ่งแทนด้วยขนมปัง. นั่นเป็นเรื่องหนักหนาไหม? แน่นอน! ในการร่วมรับประทานอย่างไม่สมควร พวกเขาก็ “ผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” หากพวกเขาตื่นตัวทั้งฝ่ายจิตใจและฝ่ายวิญญาณ ‘พวกเขาก็เข้าใจได้ว่าเขาเป็นอย่างไรและจะไม่ถูกตำหนิ.’—1 โกรินโธ 1:2; 11:20-22, 27–31.
18 คริสเตียนเหล่านั้นจำต้องเข้าใจอะไร และโดยวิธีใด? แรกทีเดียว พวกเขาต้องหยั่งรู้สำนึกในหัวใจและจิตใจเกี่ยวกับการที่เขาถูกเรียกให้มาอยู่ในพวกผู้รับมรดกแห่งชีวิตภาคสวรรค์ 144,000 คนนั้น. เขาจะสังเกตถึงเรื่องนี้อย่างไร และคนจำนวนมากทุกวันนี้ควรจะเชื่อได้ไหมว่า พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยที่พระเจ้าได้ทรงเลือกไว้ตั้งแต่สมัยอัครสาวก?
19. มีสภาพการณ์ที่น่าสนใจอะไรในพิธีอนุสรณ์ปี 1989?
19 ที่จริง มีคริสเตียนแท้จำนวนน้อยมากในปัจจุบันที่สังเกตถึงเรื่องนี้เกี่ยวกับตัวเขา. ณ การฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในปี 1989 มีมากกว่า 9,479,000 คน เข้าร่วมการประชุมในประชาคมของคณะพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก. มีประมาณ 8,700 คนที่ประกาศตัวว่ามีความหวังจะได้รับ ‘การช่วยให้รอดเข้าสู่ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์.’ (2 ติโมเธียว 4:18) ส่วนใหญ่—ใช่แล้วคริสเตียนคนอื่น ๆ นับล้าน ๆ ที่ซื่อสัตย์ และได้รับพระพร ผู้ซึ่งชุมนุมกัน—ก็ได้พิจารณาดูตนเองแล้วเข้าใจว่า ความหวังอันแน่นอนของพวกเขาคือจะได้มีชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก.
20. คนเหล่านั้นที่เป็นส่วนแห่ง 144,000 คนทราบอย่างไรว่าเขาถูกเรียก? (1 โยฮัน 2:27)
20 ณ วันเพ็นเคคอสเต ปีสากลศักราช 33 พระเจ้าทรงเริ่มการเลือกชน 144,000 คนเพื่อชีวิตทางภาคสวรรค์. ด้วยเหตุที่เป็นความหวังใหม่ซึ่งผู้รับใช้พระเจ้าสมัยก่อนพระเยซูไม่มี พวกที่ถูกเลือกจะทราบหรือจะแน่ใจในความหวังนี้ได้อย่างไร? พวกเขาสังเกตเรื่องนี้ได้โดยการได้รับหลักฐานว่า มีการประทานความหวังนี้ให้เขาโดยทางพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า. นี่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้เห็นพระวิญญาณจริง ๆ (พระวิญญาณไม่ใช่เป็นบุคคล) หรือมีการมองเห็นทางจิตใจบางอย่างเกี่ยวกับการติดต่อของพระวิญญาณกับเขา และไม่ใช่ว่าเขาได้ยินเสียงจากแดนวิญญาณ. เปาโลอธิบายว่า “พระวิญญาณนั้นเป็นพยานร่วมกับวิญญาณจิตของเราทั้งหลายว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้า . . . เราก็เป็นทายาท คือเป็นทายาทของพระเจ้า และเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ เมื่อเราทั้งหลายทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระองค์นั้นก็เพื่อเราจะได้ศักดิ์ศรีด้วยกันกับพระองค์ด้วย.”—โรม 8:16, 17, ฉบับแปลใหม่.
21. (ก) ชนผู้ถูกเจิมทราบได้อย่างไรว่าพวกเขามีความหวังทางภาคสวรรค์? (1 โกรินโธ 10:15-17) (ข) ชนผู้ถูกเจิมแต่ละคนเป็นคนอย่างไร และด้วยใจถ่อม เขาแสดงถึงความหวังของเขาอย่างไร?
21 หลักฐานหรือความเข้าใจนี้กำหนดแนวความคิดและความหวังของพวกเขา. พวกเขายังคงเป็นมนุษย์ ยังชื่นชมสิ่งดีต่าง ๆ ที่พระยะโฮวาทรงสร้างไว้ทางแผ่นดินโลก แต่จุดมุ่งหมายหลักในชีวิต และในความเอาใจใส่ของพวกเขาอยู่ที่การเป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์. พวกเขาไม่ได้นึกถึงอนาคตแบบนี้โดยความโน้มน้าวของอารมณ์. พวกเขาแต่ละคนมีจิตปกติ มีความสมดุลในแง่คิดและความประพฤติ. แต่เนื่องจากเขาได้รับการสรรไว้โดยพระวิญญาณของพระเจ้า พวกเขาก็มั่นใจในการถูกเรียกนั้น ไม่ได้คงความสงสัยในเรื่องนั้น. พวกเขาตระหนักว่า การรอดพ้นของเขาจะบรรลุถึงสวรรค์หากเขาพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์. (2 เธซะโลนิเก 2:13; 2 ติโมเธียว 2:10-12) ด้วยความเข้าใจว่า เครื่องบูชาของพระเยซูมีความหมายแก่พวกเขาอย่างไร และสังเกตเข้าใจว่า พวกเขาเป็นคริสเตียนที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ พวกเขาจึงร่วมรับประทานเครื่องหมายในพิธีอนุสรณ์ด้วยความถ่อมใจ.
22. คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะเข้าใจถึงเรื่องอะไร?
22 ส่วนใหญ่ของผู้ที่จะเข้าร่วมประชุมในวันที่ 10 เมษายนด้วยความเชื่อฟังนั้นไม่ได้มีความหวังแบบนั้น เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้ทรงเจิมพวกเขาด้วยพระวิญญาณ ซึ่งเป็นการเรียกสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์. ดังที่เราทราบ พระเจ้าทรงเริ่มการเลือกชน 144,000 คน ในสมัยอัครสาวก. แต่เมื่อการทรงเรียกนั้นบรรลุผลสำเร็จ ย่อมคาดหมายได้ว่า คนอื่น ๆ ที่เข้ามานมัสการพระองค์จะได้มีความหวังที่โมเซ ดาวิด โยฮันผู้ให้รับบัพติสมาและคนอื่น ๆ ที่ซื่อสัตย์ซึ่งตายไปก่อนที่พระเยซูทรงเปิดเส้นทางสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์นั้นได้ยึดมั่นเอาไว้. ด้วยเหตุนั้น คริสเตียนผู้ภักดีและกระตือรือร้นหลายล้านคนในทุกวันนี้จึงไม่ร่วมรับประทานเครื่องหมายในพิธีอนุสรณ์. คริสเตียนเหล่านั้นสังเกตเข้าใจว่า เขาเป็นอย่างไรเฉพาะพระเจ้าในความหมายที่ว่า เขาเข้าใจความหวังที่แน่นอนของเขา. พวกเขาได้รับประโยชน์จากพระโลหิตและพระกายของพระเยซูโดยได้รับการให้อภัยในบาปของเขา และในที่สุดจะได้รับชีวิตตลอดไปบนแผ่นดินโลก.—1 เปโตร 1:9; 2:24; วิวรณ์ 7:9, 15.
23. เหตุใดพิธีอนุสรณ์จึงจะเป็นการฉลองที่ยังความปีติยินดี? (เปรียบเทียบ 2 โครนิกา 30:21.)
23 ฉะนั้น จงให้เรารอคอยการฉลองที่ให้ความสุขใจในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งจะเป็นเวลาแห่งการใช้ความสังเกต และก็เป็นเวลาแห่งความปีติยินดีด้วยเช่นกัน. ความปีติยินดีสำหรับชนจำนวนเล็กน้อยที่มีความหวังทางภาคสวรรค์ผู้ซึ่งจะร่วมรับประทานขนมปังและดื่มจากถ้วยอย่างเหมาะสมด้วยความเชื่อฟัง. (วิวรณ์ 19:7) เป็นความปีติยินดีด้วยเช่นกันสำหรับชนคริสเตียนที่มีความสุขหลายล้านคนผู้ซึ่งในคืนนั้นจะร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้ และเป็นผู้ที่มีความหวังจะจดจำการฉลองอันมีความหมายสำคัญยิ่งนั้นตลอดไปบนแผ่นดินโลก.—โยฮัน 3:29.
[เชิงอรรถ]
a มีการใช้เกลือ ไข่ขาว และสิ่งอื่น ๆ อีกเพื่อทำให้เหล้าองุ่นใสหรือให้มีสีสันและรสชาติมาตั้งแต่โบราณ ชาวโรมันใช้กระทั่งกำมะถันเป็นยาฆ่าเชื้อในการผลิตเหล้าองุ่น.
b ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเสนอข้อคิดเห็นนี้ต่อเหตุผลที่มีการเพิ่มการใช้เหล้าองุ่นเข้าไป: “[ปัศคา] ไม่ใช่เป็นพิธีทางศาสนาประจำปีที่เป็นการชุมนุมผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่แล้วอีกต่อไป แต่กลายเป็นโอกาสสำหรับการเลี้ยงฉลองของครอบครัว ซึ่งการดื่มเหล้าองุ่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา.”—ปัศคาของชาวฮีบรู—จากสมัยแรกที่สุดจนถึงคริสต์ศักราช 70 โดย เจ. บี. เซกัล.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ทำไมจึงมีการผ่านขนมปังไม่มีเชื้อในพิธีอนุสรณ์ และขนมปังนั้นเป็นสัญลักษณ์ของอะไร?
▫ มีอะไรในถ้วยที่มีการส่งผ่านในพิธีอนุสรณ์ และหมายถึงอะไร?
▫ เหตุใดจึงมีการเรียกร้องให้พิจารณาตัวเองเกี่ยวเนื่องกับการฉลองพิธีอนุสรณ์?
▫ ทำไมคุณจึงรอคอยพิธีอนุสรณ์ที่กำลังจะมาถึง?