“รัฐบาลของผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้”
‘เหตุผลที่ผมเข้ามาในโลกก็เพื่อเป็นพยานยืนยันความจริง’—ยอห์น 18:37
1, 2. (ก) โลกแตกแยกมากขึ้นอย่างไร? (ข) เราจะได้คำตอบอะไรในบทความนี้?
พี่น้องหญิงคนหนึ่งในยุโรปใต้พูดถึงอดีตของเธอว่า “ฉันเห็นแต่ความไม่ยุติธรรมตั้งแต่เด็ก ๆ ฉันเลยต่อต้านระบบการเมืองในประเทศของตัวเอง และสนับสนุนแนวคิดของพวกหัวรุนแรง ฉันเคยเป็นแฟนกับผู้ก่อการร้ายนานหลายปี” พี่น้องชายจากแอฟริกาใต้อธิบายว่าทำไมเขาเคยชอบใช้ความรุนแรง เขาเล่าว่า “ผมเคยเชื่อว่าเผ่าของผมเหนือกว่าเผ่าอื่นทั้งหมด ผมได้เข้าร่วมกับพรรคการเมืองหนึ่ง พวกเราถูกสอนให้ฆ่าคนที่เป็นฝ่ายตรงข้าม และถึงคน ๆ นั้นจะเป็นคนเผ่าเดียวกันกับเรา แต่ถ้าเขาไปสนับสนุนพรรคการเมืองอื่นเราจะฆ่าเขาด้วยหอก” พี่น้องหญิงอีกคนที่อยู่ยุโรปกลางบอกว่า “ฉันเคยเป็นคนมีอคติ ฉันเกลียดคนที่มีเชื้อชาติและศาสนาที่ไม่เหมือนกับฉัน”
2 ในทุกวันนี้มีคนที่คิดเหมือนกับ 3 คนนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มพยายามใช้ความรุนแรงเพื่อจะได้อิสรภาพ ผู้คนทั่วไปต่อสู้กันเรื่องการเมือง ในหลายประเทศคนต่างชาติถูกรังแกมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหมือนกับที่คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า คนในสมัยสุดท้ายจะ “ไม่ยอมใคร” (2 ทิโมธี 3:1, 3) คริสเตียนจะเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกที่แตกแยกแบบนี้ได้อย่างไร? เราเรียนเรื่องนี้ได้จากตัวอย่างของพระเยซู ประชาชนในสมัยของท่านแตกแยกเพราะมีความคิดเห็นที่รุนแรงทางการเมือง ในบทความนี้เราจะคุยกันเกี่ยวกับคำถาม 3 ข้อคือ ทำไมพระเยซูไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหน? พระเยซูแสดงเห็นอย่างไรว่าคนของพระเจ้าต้องไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทางการเมือง? และพระเยซูสอนเราอย่างไรว่าต้องไม่ใช้ความรุนแรงเลยไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม?
พระเยซูสนับสนุนแนวคิดเรื่องการแยกตัวเป็นอิสระไหม?
3, 4. (ก) ชาวยิวในสมัยพระเยซูต้องการอะไร? (ข) เรื่องนี้มีผลอย่างไรกับสาวกของพระเยซู?
3 ชาวยิวหลายคนที่พระเยซูประกาศด้วยอยากจะเป็นอิสระจากพวกโรมัน พวกเซลอตซึ่งเป็นพวกหัวรุนแรงทางการเมืองพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผู้คนมีความรู้สึกนี้แรงขึ้นเรื่อย ๆ พวกเซลอตหลายคนติดตามยูดาสชาวกาลิลีซึ่งเป็นเมสสิยาห์ปลอมที่มีชีวิตสมัยเดียวกับพระเยซู ยูดาสหลอกคนมากมายให้ติดตามเขา นักประวัติศาสตร์โยเซฟุสบอกว่า ยูดาสคนนี้ “ยุให้คนชาติเดียวกับเขาต่อต้านพวกโรมัน เขาเรียกคนที่ยอมจ่ายภาษีให้กับพวกโรมันว่าเป็นพวกขี้ขลาดตาขาว” ในที่สุดยูดาสก็ถูกพวกโรมันฆ่าตาย (กิจการ 5:37) พวกเซลอตบางคนถึงกับใช้ความรุนแรงเพื่อที่จะได้สิ่งที่ต้องการ
4 ชาวยิวส่วนใหญ่ยังรอเมสสิยาห์อย่างใจจดใจจ่อเพราะคิดว่าท่านจะมาปลดปล่อยพวกเขาจากการอยู่ใต้อำนาจของโรมัน และทำให้ชาติอิสราเอลกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง (ลูกา 2:38; 3:15) หลายคนเชื่อว่าเมสสิยาห์จะมาตั้งรัฐบาลบนโลกนี้ที่อิสราเอล แล้วชาวยิวทั่วโลกก็จะเดินทางกลับมาอยู่ที่นั่น แม้แต่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาก็เคยถามพระเยซูว่า “ท่านคือคนที่เรารอคอยอยู่ใช่ไหมครับ หรือเรายังต้องรอคนอื่น?” (มัทธิว 11:2, 3) ยอห์นอาจสงสัยว่าจะมีอีกคนหนึ่งมาปลดปล่อยชาวยิวให้เป็นอิสระหรือเปล่า ต่อมา ตอนที่สาวก 2 คนกำลังเดินทางไปเอมมาอูส พวกเขาได้พบกับพระเยซูหลังจากที่ท่านฟื้นขึ้นจากตาย พวกเขาบอกว่าพวกเขาก็เคยหวังว่าพระเยซูจะมาปลดปล่อยคนอิสราเอลให้เป็นอิสระ (อ่านลูกา 24:21) หลังจากนั้นไม่นาน พวกอัครสาวกก็ถามพระเยซูเหมือนกันว่า “นายครับ ท่านจะกู้เอกราชให้อาณาจักรอิสราเอลตอนนี้เลยไหม?”—กิจการ 1:6
5. (ก) ทำไมชาวกาลิลีอยากตั้งพระเยซูเป็นกษัตริย์ของพวกเขา? (ข) พระเยซูปรับความคิดพวกเขาอย่างไร?
5 ชาวยิวคาดหมายว่าเมสสิยาห์จะมาแก้ปัญหาของพวกเขา นี่คงเป็นเหตุผลที่ชาวกาลิลีอยากให้พระเยซูเป็นกษัตริย์ พวกเขาคงคิดว่าพระเยซูต้องเป็นผู้นำที่ดีที่สุดของพวกเขาได้แน่ ๆ เพราะพระเยซูเป็นนักพูดที่เก่งมาก ท่านรักษาคนป่วยได้ แถมยังจัดหาอาหารให้กับคนที่อดอยากได้ หลังจากพระเยซูเลี้ยงอาหารคน 5,000 คน ผู้คนก็รู้สึกทึ่ง แต่พระเยซูรู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาอยากจะทำอะไร คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระเยซูรู้ว่าพวกเขาพยายามจะตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์ ท่านก็ปลีกตัวไปอยู่ที่ภูเขาคนเดียว” (ยอห์น 6:10-15) วันต่อมา พอประชาชนดูเหมือนสงบลงแล้ว พระเยซูก็อธิบายว่าท่านไม่ได้มาเพื่อให้ข้าวปลาอาหารหรือข้าวของเครื่องใช้กับพวกเขา แต่มาเพื่อสอนเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า ท่านบอกว่า “อย่าทำงานเพื่อจะได้อาหารที่เน่าเสียได้ แต่ให้ทำงานเพื่อจะได้อาหารที่ไม่เน่าเสียซึ่งจะให้ชีวิตตลอดไป”—ยอห์น 6:25-27
6. พระเยซูทำให้เห็นชัดอย่างไรว่าท่านไม่ต้องการมีอำนาจทางการเมืองของโลก? (ดูภาพแรก ภาพซ้าย)
6 ไม่นานก่อนที่พระเยซูจะตาย ท่านรู้ว่าผู้ติดตามบางคนยังคงเชื่อว่าท่านจะเริ่มปกครองเป็นกษัตริย์ที่เยรูซาเล็มจริง ๆ ท่านจึงเล่าตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเงินมินาเพื่อช่วยให้พวกเขาเข้าใจว่าเรื่องที่พวกเขาคิดมันจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน ในตัวอย่างเปรียบเทียบพูดถึง “คนที่มีเชื้อเจ้าคนหนึ่ง” ซึ่งก็คือพระเยซูที่ต้องไปที่อื่นนาน (ลูกา 19:11-13, 15) อีกเหตุการณ์หนึ่ง พระเยซูบอกกับปอนทิอัสปีลาตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโรมอย่างชัดเจนว่าท่านไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของโลก ปอนทิอัสปีลาตถามท่านว่า “คุณเป็นกษัตริย์ของชาวยิวหรือ?” (ยอห์น 18:33) ปีลาตอาจกลัวว่าพระเยซูจะทำให้ประชาชนกบฏต่อโรม พระเยซูเลยตอบเขาว่า “รัฐบาลของผมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้” (ยอห์น 18:36) เหตุผลที่พระเยซูไม่ยอมยุ่งเกี่ยวกับการเมืองก็เพราะว่ารัฐบาลของท่านอยู่บนสวรรค์ ท่านบอกว่างานของท่านบนโลกคือการ “เป็นพยานยืนยันความจริง”—อ่านยอห์น 18:37
7. ทำไมการไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแม้แต่ในใจของเราอาจเป็นเรื่องยาก?
7 ที่พระเยซูไม่สนับสนุนกลุ่มทางการเมืองก็เพราะว่าท่านรู้ว่างานมอบหมายของท่านคืออะไร เหมือนกันถ้าเรารู้ว่างานมอบหมายของเราคืออะไร เราก็จะไม่ไปสนับสนุนกลุ่มทางการเมืองแม้แต่ในใจของเราด้วย นี่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งพูดถึงเขตของเขาว่าผู้คนมีแนวคิดที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาภูมิใจในชาติของตัวเองและเชื่อว่าถ้าชาติของพวกเขาแยกตัวเป็นอิสระ พวกเขาก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้น เขาพูดอีกว่า “แต่น่าดีใจจริง ๆ ที่พี่น้องยังเป็นหนึ่งเดียวกันเพราะว่าพวกเขาทุ่มเทกับงานประกาศข่าวดีเรื่องรัฐบาลของพระเจ้า พวกเขาพึ่งพระเจ้าให้จัดการกับความไม่ยุติธรรมและปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องเจอ”
พระเยซูเป็นกลางทางการเมืองอย่างไร?
8. ชาวยิวหลายคนในสมัยของพระเยซูเจอความไม่ยุติธรรมอย่างไร?
8 เมื่อผู้คนยิ่งเห็นความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นรอบตัว หลายครั้งมันยิ่งทำให้พวกเขาเข้าไปยุ่งกับเรื่องการเมืองมากขึ้น ในสมัยพระเยซูการจ่ายภาษีเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องเลือกว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ที่จริง ที่ยูดาสชาวกาลิลีต่อต้านพวกโรมันก็เพราะพวกโรมันให้ทุกคนไปลงทะเบียนเพื่อประชาชนจะจ่ายภาษีให้พวกเขา มีภาษีหลายประเภทที่ประชาชนต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาษีสำหรับทรัพย์สิน ที่ดิน และบ้าน นอกจากนั้น พวกคนเก็บภาษีก็ขี้โกงมากซึ่งทำให้ปัญหาแย่ลงไปอีก บางครั้งพวกเขาถึงกับจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพื่อซื้อตำแหน่ง แล้วก็ใช้อำนาจเพื่อหาเงินให้ได้มาก ๆ ศักเคียสหัวหน้าคนเก็บภาษีในเมืองเยริโคเป็นคนหนึ่งที่ร่ำรวยจากการรีดไถประชาชน—ลูกา 19:2, 8
9, 10. (ก) ศัตรูของพระเยซูพยายามดึงท่านเข้าไปยุ่งกับการเมืองอย่างไร? (ข) เราได้เรียนอะไรจากคำตอบของพระเยซู? (ดูภาพแรก ภาพกลาง)
9 พวกศัตรูของพระเยซูพยายามดึงท่านให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องการจ่ายภาษี พวกเขาถามท่านเรื่อง “ภาษี” ที่ชาวยิวทุกคนต้องจ่าย 1 เดนาริอัน (อ่านมัทธิว 22:16-18) ชาวยิวเกลียดการจ่ายภาษีนี้มากเพราะมันตอกย้ำพวกเขาอยู่เสมอว่าพวกเขาต้องอยู่ใต้รัฐบาลของโรมัน “พรรคพวกของเฮโรด” คือพวกที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบเฮโรดหวังว่าถ้าพระเยซูตอบว่าพวกเขาไม่ต้องจ่ายภาษี พวกเขาก็สามารถกล่าวหาท่านว่าเป็นศัตรูของจักรวรรดิโรมันได้ แต่ถ้าพระเยซูตอบว่าต้องจ่าย ประชาชนก็จะเลิกติดตามท่าน แล้วพระเยซูจะทำอย่างไร?
10 พระเยซูระมัดระวังมากเพื่อจะรักษาความเป็นกลาง ท่านตอบพวกเขาว่า “ถ้าอย่างนั้น อะไรที่เป็นของซีซาร์ก็ให้กับซีซาร์ และอะไรที่เป็นของพระเจ้าก็ให้กับพระเจ้า” (มัทธิว 22:21) พระเยซูรู้อยู่แล้วว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเก็บภาษีจะเป็นพวกขี้โกง แต่ท่านก็ไม่ได้สนใจตรงนั้น สิ่งที่ท่านสนใจคือรัฐบาลของพระเจ้าที่จะมาแก้ไขปัญหาของมนุษย์ได้จริง ๆ พระเยซูเป็นตัวอย่างให้เราในเรื่องนี้ ถ้าเป็นเรื่องการเมืองเราจะไม่เข้าข้างฝ่ายไหน ถึงฝ่ายนั้นจะดูเหมือนทำสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม และอีกฝ่ายหนึ่งดูเหมือนทำผิดและไม่ยุติธรรมเลย แต่สิ่งที่คริสเตียนสนใจก็คือรัฐบาลของพระเจ้าและสิ่งที่พระองค์บอกว่าถูกต้องเท่านั้น เพราะอย่างนี้เราจะไม่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่ยุติธรรมและไม่ว่ารัฐบาล—มัทธิว 6:33
11. ถ้าเราอยากได้รับความยุติธรรม วิธีที่ดีที่สุดที่เราควรทำคืออะไร?
11 พยานฯ หลายคนสามารถเลิกแนวคิดที่รุนแรงเรื่องการเมืองได้ ตัวอย่างเช่น ก่อนที่พี่น้องหญิงผิวดำคนหนึ่งในบริเตนจะเรียนความจริง เธอเรียนในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับสังคมวิทยาซึ่งมันทำให้เธอมีแนวคิดที่รุนแรงเกี่ยวกับการเมือง เธอบอกว่า “ฉันอยากชนะในการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของคนผิวดำเพราะเราเจอแต่ความไม่ยุติธรรม แต่ถึงฉันจะเถียงชนะได้ทุกครั้งและไม่เคยแพ้ใครในการโต้วาทีเรื่องนี้ ฉันก็ยังรู้สึกแย่มากอยู่ดี ตอนนั้นฉันไม่รู้เลยว่าปัญหาความไม่ยุติธรรมและการเหยียดสีผิวต้องเริ่มแก้ที่หัวใจคน พอฉันเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลฉันก็รู้ว่า ฉันเองต้องเริ่มแก้ที่หัวใจของฉันก่อน” พี่น้องหญิงผิวขาวเป็นคนช่วยเธอให้เปลี่ยนความคิดและความรู้สึกในหัวใจ พี่น้องหญิงผิวดำคนนี้บอกว่า “ตอนนี้ฉันเป็นไพโอเนียร์ประจำในประชาคมภาษามือและฉันก็กำลังเรียนที่จะช่วยคนทุกชนิด”
“เก็บดาบใส่ฝักซะ”
12. พระเยซูเตือนสาวกให้ระวัง “เชื้อ” อะไร?
12 ในสมัยของพระเยซู พวกผู้นำศาสนาสนับสนุนการเมือง ตัวอย่างเช่น หนังสือชีวิตที่ปาเลสไตน์ในสมัยพระเยซู (ภาษาอังกฤษ) บอกว่าชาวยิวถูกแบ่งแยกโดยศาสนาที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดียวกับพรรคการเมือง พระเยซูเลยเตือนพวกสาวกว่า “ระวังให้ดี อย่าไปรับเชื้อของพวกฟาริสีและของเฮโรดมาล่ะ” (มาระโก 8:15) ที่พระเยซูพูดถึงเฮโรดท่านหมายถึงพรรคพวกของเฮโรด ส่วนอีกกลุ่มที่ท่านพูดถึงคือกลุ่มฟาริสี พวกนี้อยากให้ชาวยิวเป็นอิสระจากจักรวรรดิโรมัน นอกจากนั้น ในหนังสือของมัทธิว พระเยซูเตือนสาวกของท่านให้ระวังพวกสะดูสีด้วย พวกสะดูสีอยากให้พวกโรมันปกครองต่อ เพราะพวกโรมันยอมให้พวกเขามีอำนาจในบ้านเมือง พระเยซูจึงเตือนสาวกให้ระวัง “เชื้อ” ซึ่งก็คือคำสอนของ 3 กลุ่มนี้ (มัทธิว 16:6, 12) เป็นเรื่องน่าคิดที่พระเยซูให้คำเตือนนี้ไม่นานหลังจากที่ประชาชนอยากตั้งท่านให้เป็นกษัตริย์
13, 14. (ก) การเมืองและศาสนาทำให้เกิดความรุนแรงอย่างไร? (ข) ทำไมถึงไม่ถูกต้องที่จะใช้ความรุนแรงไม่ว่าในกรณีไหนถึงเราจะเป็นฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรมก็ตาม? (ดูภาพแรก ภาพขวา)
13 เมื่อศาสนาเข้าไปยุ่งกับการเมืองก็มักจะเกิดความรุนแรง พระเยซูบอกสาวกของท่านว่าพวกเขาต้องเป็นกลางจริง ๆ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พวกปุโรหิตใหญ่อยากฆ่าท่าน พวกเขากลัวว่าประชาชนจะฟังท่านและเลิกติดตามพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขาเสียอำนาจทั้งทางศาสนาและการเมือง พวกเขาเลยบอกว่า “ถ้าขืนปล่อยไว้อย่างนี้ ผู้คนจะแห่กันไปเชื่อเขาหมด แล้วพวกโรมันก็จะมายึดทั้งวิหารและประเทศของเราด้วย” (ยอห์น 11:48) ดังนั้น มหาปุโรหิตเคยาฟาสจึงวางแผนฆ่าพระเยซู—ยอห์น 11:49-53; 18:14
14 เคยาฟาสรอจนถึงช่วงกลางคืนแล้วส่งทหารออกไปจับพระเยซู แต่ท่านรู้ทันแผนของพวกเขา ในอาหารมื้อสุดท้ายของท่านกับอัครสาวก ท่านเลยบอกพวกเขาให้เอาดาบไปด้วย และดาบ 2 เล่มก็พอสำหรับบทเรียนสำคัญ (ลูกา 22:36-38) ต่อมาในคืนนั้นตอนที่ฝูงชนมาจับพระเยซู เปโตรโมโหมากที่เกิดความไม่ยุติธรรมแบบนี้ เขาเลยชักดาบออกมาฟันผู้ชายคนหนึ่ง (ยอห์น 18:10) แต่พระเยซูกลับบอกเปโตรว่าให้ “เก็บดาบใส่ฝักซะ เพราะทุกคนที่ใช้ดาบจะตายด้วยดาบ” (มัทธิว 26:52, 53) พระเยซูกำลังสอนตัวอย่างที่มีพลังเรื่องอะไรกับพวกสาวก? พวกเขาต้องไม่เป็นคนของโลก และนี่เป็นสิ่งที่ท่านได้อธิษฐานก่อนหน้านี้ในคืนเดียวกัน (อ่านยอห์น 17:16) พระยะโฮวาผู้เดียวเท่านั้นที่มีสิทธิ์จะจัดการกับความไม่ยุติธรรม
15, 16. (ก) คัมภีร์ไบเบิลช่วยคริสเตียนไม่ให้ขัดแย้งกันอย่างไร? (ข) เมื่อมองดูโลกในทุกวันนี้ พระยะโฮวาเห็นความแตกต่างอะไร?
15 พี่น้องหญิงในยุโรปใต้ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ได้บทเรียนคล้ายกัน เธอบอกว่า “ฉันไม่เคยเห็นความรุนแรงทำให้เกิดความยุติธรรมเลย คนที่ใช้ความรุนแรงก็มักจะจบลงด้วยความตาย ไม่อย่างนั้นก็มีแต่ความเคียดแค้นฝังใจและไม่มีความสุขเลย แต่ฉันมีความสุขมากที่ได้เรียนจากคัมภีร์ไบเบิลว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมบนโลกนี้ได้จริง ๆ และนี่ก็เป็นเรื่องที่ฉันประกาศมาตลอด 25 ปีที่ผ่านมา” พี่น้องชายในแอฟริกาใต้ก็ได้เอาหอกเปลี่ยนเป็น “ดาบของพลังบริสุทธิ์” ซึ่งก็คือคัมภีร์ไบเบิล (เอเฟซัส 6:17) ตอนนี้เขาประกาศเรื่องสันติสุขกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนมาจากเผ่าไหน ส่วนพี่น้องหญิงจากยุโรปกลาง หลังจากได้เข้ามาเป็นพยานฯ เธอก็แต่งงานกับพี่น้องชายที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เธอเคยเกลียดก่อนหน้านี้ พี่น้องทั้ง 3 คนเปลี่ยนแปลงตัวเองได้มากขนาดนี้เพราะพวกเขาอยากเป็นเหมือนพระคริสต์
16 เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบนี้ คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าผู้คนในโลกเป็นเหมือนกับทะเลคลั่งที่ไม่เคยสงบ (อิสยาห์ 17:12; 57:20, 21; วิวรณ์ 13:1) การเมืองทำให้ประชาชนวุ่นวาย แตกแยก และมีแต่ความรุนแรง แต่พวกเราอยู่อย่างสงบและเป็นหนึ่งเดียว เมื่อพระยะโฮวามองผู้คนในโลกที่แตกแยกนี้ พระองค์จะต้องมีความสุขมากแน่ ๆ ที่เห็นคนของพระองค์ยังเป็นหนึ่งเดียวกันได้—อ่านเศฟันยาห์ 3:17
17. (ก) อะไรคือ 3 วิธีที่เราจะทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว? (ข) เราจะเรียนอะไรในบทความหน้า?
17 ในบทความนี้เราได้เรียนรู้วิธีที่จะทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว 3 วิธีคือ (1) เราต้องไว้ใจว่ารัฐบาลของพระเจ้าเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรมทุกอย่างได้ (2) ถ้าเป็นเรื่องการเมืองเราจะไม่เข้าข้างฝ่ายไหน และ (3) เราต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน นั่นก็คืออคติ เราจะเรียนเรื่องนี้ในบทความหน้า และดูว่าเราจะเลียนแบบคริสเตียนในยุคแรกได้อย่างไร