จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
เขาเรียนเรื่องการให้อภัยจากนายของเขา
เปโตรไม่มีวันลืมชั่วขณะหนึ่งที่แสนเจ็บปวดเมื่อได้สบตากับพระเยซู. สายตาของพระเยซูที่มองมาบ่งบอกไหมว่าพระองค์รู้สึกผิดหวังหรือตำหนิเขา? เราไม่อาจรู้ได้ เพราะบันทึกที่ได้รับการดลใจกล่าวเพียงว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าก็หันมามองเปโตร.” (ลูกา 22:61) แต่แค่พระเยซูหันมามองเพียงครั้งเดียว เปโตรก็รู้ว่าตนได้ทำผิดร้ายแรงเพียงใด. เขาสำนึกว่าเพิ่งได้ทำสิ่งที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้า ซึ่งเขาเองเคยยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่มีวันทำ นั่นคือปฏิเสธนายผู้เป็นที่รักของเขา. นั่นเป็นช่วงเวลาที่เปโตรรู้สึกแย่มาก และอาจเป็นช่วงที่แย่ที่สุดของวันที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของเขาก็ว่าได้.
แต่สภาพการณ์ของเปโตรใช่ว่าจะสิ้นหวังเสียทีเดียว. เนื่องจากเปโตรมีความเชื่อที่เข้มแข็ง เขายังมีโอกาสแก้ไขความผิดพลาดและเรียนบทเรียนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งจากพระเยซู. นั่นคือเรื่องการให้อภัย. เราแต่ละคนจำเป็นต้องเรียนบทเรียนเดียวกันนี้ด้วย ดังนั้น ให้เราตามไปดูเปโตรตอนที่เขาเรียนเรื่องนี้ด้วยความยากลำบาก.
ผู้ที่ต้องเรียนรู้อีกมาก
ประมาณหกเดือนก่อนหน้านี้ ณ เมืองคาเปอร์นาอุมบ้านเกิดของเปโตร เขามาหาพระเยซูและทูลถามว่า “พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าจะต้องอภัยให้พี่น้องที่ทำผิดต่อข้าพเจ้ากี่ครั้ง? ถึงเจ็ดครั้งหรือ?” เปโตรคงจะคิดว่าเขาเป็นคนใจกว้างแล้ว. ที่จริง หัวหน้าศาสนาในสมัยนั้นสอนว่าควรให้อภัยแค่สามครั้งเท่านั้น! พระเยซูตอบว่า “มิใช่ถึงเจ็ดครั้ง แต่ถึงเจ็ดสิบเจ็ดครั้ง.”—มัดธาย 18:21, 22
พระเยซูกำลังแนะนำเปโตรให้เก็บบันทึกความผิดที่คนอื่นทำต่อเขาไหม? ไม่เลย การที่พระเยซูแก้ไขเลข 7 ที่เปโตรกล่าวไปนั้นให้เป็น 77 พระองค์กำลังบอกว่าเราควรให้อภัยอย่างไม่มีขีดจำกัด. พระเยซูแสดงให้เห็นว่าเปโตรได้รับอิทธิพลจากน้ำใจแข็งกระด้างและไม่ให้อภัยที่มีแพร่หลายในสมัยนั้น ซึ่งคนที่มีน้ำใจอย่างนี้จะให้อภัยตามจำนวนครั้งที่ได้กำหนดไว้ราวกับว่าได้ทำบัญชีไว้. แต่การให้อภัยตามมาตรฐานของพระเจ้าต้องทำอย่างใจกว้างและไม่มีขีดจำกัด.
เปโตรไม่ได้แย้งพระเยซู. แต่บทเรียนที่พระเยซูสอนเข้าถึงหัวใจเขาจริง ๆ ไหม? บางครั้งเราเรียนที่จะให้อภัยได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อเราสำนึกว่าตัวเราเองจำเป็นต้องได้รับการอภัยมากแค่ไหน. ดังนั้น ให้เราย้อนไปดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของพระเยซู. ในช่วงวิกฤตินั้น เปโตรทำให้นายของเขาต้องให้อภัยเขาหลายครั้ง.
จำเป็นต้องได้รับการอภัยมากขึ้น
เย็นวันนั้นเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เป็นคืนสุดท้ายที่พระเยซูจะมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลก. พระเยซูยังมีอีกหลายเรื่องที่จะสอนเหล่าอัครสาวก เช่น ความถ่อมใจ. พระเยซูทรงวางตัวอย่างโดยถ่อมใจล้างเท้าให้พวกเขา ซึ่งตามปกติแล้วเป็นหน้าที่ของคนรับใช้ที่มีฐานะต่ำสุด. ตอนแรก เปโตรสงสัยว่าทำไมพระเยซูทำเช่นนั้น. เขาจึงไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้าให้. ต่อมา เขากลับขอให้พระเยซูล้างไม่เพียงแต่เท้าเท่านั้นแต่ทั้งมือและศีรษะด้วย! พระเยซูไม่หมดความอดทนแต่ทรงอธิบายอย่างใจเย็นว่าสิ่งที่พระองค์กำลังทำนั้นมีความสำคัญและมีความหมายอย่างไร.—โยฮัน 13:1-17
แต่หลังจากนั้นไม่นาน พวกอัครสาวกก็เริ่มโต้เถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ที่สุด. เปโตรคงร่วมวงด้วยในการกระทำที่น่าละอายนี้ซึ่งแสดงถึงความหยิ่งที่มีในตัวมนุษย์. กระนั้น พระเยซูทรงแก้ไขพวกเขาด้วยความกรุณาและถึงกับชมเชยสิ่งดีที่พวกเขาได้ทำ นั่นคือติดสนิทอยู่กับนายของเขาด้วยความซื่อสัตย์ภักดี. แต่พระองค์ทรงบอกล่วงหน้าว่าพวกเขาทุกคนจะละทิ้งพระองค์. เปโตรแย้งว่าเขาจะไม่มีวันทิ้งพระองค์ไปแม้จะต้องตายก็ตาม. แต่พระเยซูกลับพยากรณ์ว่าในคืนนั้นทีเดียวก่อนไก่ขันสองครั้งเปโตรจะปฏิเสธนายของเขาสามครั้ง. เปโตรไม่เพียงคัดค้านพระเยซูเท่านั้น แต่ยังอวดตัวด้วยว่าเขาจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาซื่อสัตย์ภักดียิ่งกว่าอัครสาวกคนอื่นทั้งหมด!—มัดธาย 26:31-35; มาระโก 14:27-31; ลูกา 22:24-28
พระเยซูเกือบจะหมดความอดทนกับเปโตรแล้วไหม? ที่จริง ตลอดช่วงเวลาวิกฤตินี้ พระเยซูไม่เคยเลิกมองหาสิ่งดีในตัวอัครสาวกที่ไม่สมบูรณ์ทั้งหลายของพระองค์. พระองค์ทรงทราบว่าเปโตรจะทำให้พระองค์ผิดหวัง แต่พระองค์ยังตรัสว่า “เราทูลวิงวอนเพื่อความเชื่อของเจ้าจะไม่หมดไป และเมื่อเจ้ากลับมาแล้ว จงชูกำลังพี่น้องของเจ้า.” (ลูกา 22:32) การที่พระเยซูตรัสเช่นนี้แสดงว่าพระองค์มั่นใจว่าเปโตรจะสำนึกตัวและกลับมาทำงานรับใช้อย่างซื่อสัตย์อีก. ช่างเป็นน้ำใจที่กรุณาและให้อภัยเสียจริง ๆ!
ต่อมา ในสวนเกทเซมาเน เปโตรจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขมากกว่าหนึ่งครั้ง. พระเยซูขอให้เขากับยาโกโบและโยฮันเฝ้าระวังระหว่างที่พระองค์ไปอธิษฐาน. พระเยซูกำลังเป็นทุกข์อย่างยิ่งและต้องการกำลังใจ แต่เปโตรกับคนอื่น ๆ พากันผล็อยหลับไปหลายครั้ง. พระเยซูตรัสอย่างที่แสดงความเห็นอกเห็นใจและให้อภัยว่า “ใจกระตือรือร้นก็จริง แต่กายนั้นอ่อนแอ.”—มาระโก 14:32-38
ไม่นานหลังจากนั้น ฝูงชนก็เข้ามาพร้อมกับคบไฟ ดาบ และตะบอง. ตอนนี้เป็นเวลาที่ต้องระมัดระวังและสุขุม. แต่เปโตรกลับหุนหันเอาดาบฟันที่ศีรษะมาละโคทาสของมหาปุโรหิตโดนหูเขาขาดไปข้างหนึ่ง. พระเยซูทรงว่ากล่าวแก้ไขเปโตรอย่างใจเย็น, รักษาบาดแผล, และอธิบายหลักการเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรงซึ่งสาวกของพระองค์ยึดถือมาจนทุกวันนี้. (มัดธาย 26:47-55; ลูกา 22:47-51; โยฮัน 18:10, 11) เปโตรทำให้นายของเขาต้องให้อภัยเขามาแล้วหลายครั้ง. ตัวอย่างของเปโตรเตือนใจเราว่า “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง.” (ยาโกโบ 3:2) มีใครบ้างในพวกเราที่ไม่จำเป็นต้องทูลขอการอภัยโทษจากพระเจ้าทุกวัน? แต่สำหรับเปโตรเหตุการณ์ในคืนนั้นยังไม่จบเพียงเท่านี้. ยังมีเรื่องที่เลวร้ายกว่านี้รออยู่.
ความผิดครั้งร้ายแรงที่สุดของเปโตร
พระเยซูทรงบอกกับฝูงชนว่าถ้าพวกเขาต้องการตัวพระองค์ก็ให้ปล่อยพวกอัครสาวกไป. เปโตรได้แต่มองดูขณะที่ฝูงชนจับกุมพระเยซู. แล้วเปโตรก็หนีไปเช่นเดียวกับอัครสาวกคนอื่น ๆ.
เปโตรกับโยฮันหนีไปหยุดอยู่ที่หนึ่งซึ่งดูเหมือนใกล้กับบ้านของอดีตมหาปุโรหิตอันนาส ซึ่งเป็นที่ที่พระเยซูถูกนำตัวไปสอบสวนเป็นแห่งแรก. เมื่อเขานำตัวพระเยซูออกไปจากที่นั่น เปโตรกับโยฮันก็ตามไป แต่ ‘ตามไปห่าง ๆ.’ (มัดธาย 26:58; โยฮัน 18:12, 13) เปโตรไม่ใช่คนขี้ขลาด. แน่นอนว่าการตามพระเยซูไปต้องใช้ความกล้าไม่น้อยทีเดียว. ฝูงชนเหล่านั้นมีอาวุธ และเปโตรก็ทำให้พวกเขาคนหนึ่งบาดเจ็บมาแล้ว. อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้เรายังมองไม่เห็นเลยว่าเปโตรได้แสดงความรักภักดีอย่างที่เขาได้ลั่นวาจาไว้ที่ว่าถ้าจำเป็นเขาก็พร้อมจะตายกับนายของเขา.—มาระโก 14:31
หลายคนในทุกวันนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับเปโตรที่ติดตามพระคริสต์ “ไปห่าง ๆ” แบบที่ไม่มีใครสังเกต. แต่ดังที่เปโตรเองได้เขียนในเวลาต่อมา วิธีเดียวที่จะติดตามพระคริสต์อย่างถูกต้องคือเราต้องติดสนิทอยู่กับพระองค์ให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ และเลียนแบบพระองค์ในทุกด้านไม่ว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้เราประสบกับอะไรก็ตาม.—1 เปโตร 2:21
เปโตรค่อย ๆ ตามมาอย่างระมัดระวังจนมาถึงประตูคฤหาสน์ที่ใหญ่โตโอ่อ่าที่สุดหลังหนึ่งในเยรูซาเลม. ที่นี่เป็นบ้านของเคยาฟัส มหาปุโรหิตผู้มั่งคั่งและทรงอิทธิพล. คฤหาสน์เช่นนี้มักมีลานอยู่ตรงกลาง และมีประตูรั้วอยู่ด้านหน้า. เปโตรไปถึงประตูแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป. โยฮันซึ่งเข้าไปข้างในแล้วได้มาที่ประตูและบอกให้คนเฝ้าประตูเปิดให้เปโตรเข้ามา. ดูเหมือนว่าเปโตรไม่ได้อยู่กับโยฮันตลอดเวลา และเขาก็ไม่ได้พยายามจะเข้าไปในตัวบ้านเพื่ออยู่เคียงข้างนายของเขา. เขายืนอยู่ที่ลานบ้าน ซึ่งมีทาสและคนรับใช้บางคนกำลังผิงไฟเพราะอากาศที่หนาวเย็นในตอนกลางคืน เขามองดูขณะที่พยานเท็จที่มาปรักปรำพระเยซูพากันเดินเข้าไปในที่พิจารณาคดีและเดินออกมา.—มาระโก 14:54-57; โยฮัน 18:15, 16, 18
แสงจากกองไฟทำให้เด็กสาวที่เปิดประตูให้เปโตรเข้ามาข้างในเห็นเขาชัดขึ้น. เธอจำเขาได้. เธอพูดออกมาว่า “เจ้าเคยอยู่กับเยซูชาวแกลิลีด้วยนี่!” เปโตรไม่ทันตั้งตัวจึงปฏิเสธออกไปว่าไม่รู้จักพระเยซู และถึงกับบอกว่าไม่เข้าใจว่าเธอพูดเรื่องอะไร. เขาขยับไปยืนใกล้ ๆ ประตู พยายามไม่ให้เป็นที่สังเกต แต่เด็กสาวอีกคนหนึ่งเห็นเข้าแล้วก็พูดเหมือนกันว่า “คนนี้เคยอยู่กับเยซูชาวนาซาเรท.” เปโตรสาบานว่า “ข้าไม่รู้จักคนนั้น!” (มัดธาย 26:69-72) อาจเป็นได้ว่าหลังจากเปโตรปฏิเสธครั้งที่สองนี้เขาก็ได้ยินเสียงไก่ขัน แต่เขามัวกังวลว่าจะถูกจับได้จึงไม่ได้นึกถึงคำของพระเยซูที่เพิ่งตรัสไปไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น.
หลังจากนั้นไม่นาน เปโตรก็ยังพยายามทำตัวไม่ให้เป็นที่สังเกต. แต่คนที่ยืนอยู่รอบ ๆ ลานพากันเข้ามาหาเขา. คนหนึ่งในนั้นเป็นญาติกับมาละโคทาสที่ถูกเปโตรฟันหูขาด. เขาพูดกับเปโตรว่า “ข้าเห็นเจ้าอยู่ในสวนกับคนนั้นไม่ใช่หรือ?” เปโตรรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำให้คนเหล่านี้เชื่อว่าพวกเขาเข้าใจผิด. เขาจึงสาบานโดยที่คงจะพูดว่าขอให้เกิดเหตุร้ายขึ้นกับเขาถ้าเขาโกหก. เปโตรพูดยังไม่ทันขาดคำเขาก็ได้ยินไก่ขันเป็นครั้งที่สองในคืนนั้น.—โยฮัน 18:26, 27; มาระโก 14:71, 72
พระเยซูเพิ่งออกมาที่ระเบียงซึ่งมองลงไปเห็นลานบ้าน. ตอนนี้เองที่พระองค์สบตากับเปโตรดังที่กล่าวไว้ตอนต้นเรื่อง. ทันใดนั้นเปโตรก็รู้ตัวว่าเขาได้ทำให้นายของเขาผิดหวัง. เปโตรออกไปจากลานบ้านด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่งเนื่องจากความผิดที่ได้ทำ. เขาบ่ายหน้าไปที่ถนนในเมือง มีแสงจากดวงจันทร์เต็มดวงที่คล้อยต่ำส่องทางไป. ภาพเบื้องหน้าพร่ามัว. น้ำตาเขาเอ่อล้น. เขาร้องไห้ออกมาด้วยความทุกข์ใจยิ่งนัก.—มาระโก 14:72; ลูกา 22:61, 62
เมื่อใครคนหนึ่งสำนึกตัวว่าได้ทำผิดร้ายแรงเช่นนี้ นับว่าง่ายที่จะคิดเอาเองว่าบาปของเขาหนักหนาเกินกว่าจะให้อภัยได้. เปโตรคงจะคิดเช่นนั้นด้วย. แต่เป็นอย่างนั้นจริงไหม?
ความผิดของเปโตรร้ายแรงเกินกว่าจะให้อภัยไหม?
เป็นเรื่องยากที่เราจะนึกภาพออกว่าเปโตรรู้สึกเจ็บปวดเพียงไรเมื่อถึงตอนเช้าและได้รับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น. เขาคงต้องตำหนิตัวเองมากเพียงไรเมื่อเห็นพระเยซูสิ้นพระชนม์ในบ่ายวันนั้นหลังจากทนทุกข์ทรมานอยู่นานหลายชั่วโมง! เปโตรคงต้องเจ็บปวดใจทุกครั้งที่นึกถึงการกระทำของตนเองซึ่งเพิ่มความเจ็บปวดให้กับนายในวันสุดท้ายของชีวิตบนแผ่นดินโลก. แม้เปโตรจะเศร้าเสียใจมากแค่ไหนก็ตาม แต่เขาไม่ได้จมอยู่กับความสิ้นหวัง. เรารู้เช่นนั้นเพราะบันทึกในพระคัมภีร์บอกเราว่าหลังจากนั้นไม่นานเปโตรได้กลับมาคบหากับพี่น้องคริสเตียนอีก. (ลูกา 24:33) ไม่ต้องสงสัยว่าอัครสาวกทุกคนต่างก็เสียใจกับสิ่งที่ได้ทำไปในคืนที่เลวร้ายนั้น และพวกเขาคงได้ปลอบโยนกันและกัน.
ตอนนี้เราได้เห็นคุณลักษณะที่ดีอย่างหนึ่งของเปโตรแล้ว. เมื่อผู้รับใช้ของพระเจ้าพลาดพลั้งทำผิด สิ่งสำคัญที่สุดไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาทำผิดร้ายแรงแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจมากเพียงไรที่จะลุกขึ้นมาใหม่เพื่อจะจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย. (สุภาษิต 24:16) เปโตรแสดงให้เห็นว่าเขามีความเชื่อแท้โดยกลับไปอยู่ร่วมกับพี่น้องคริสเตียนแม้จะหดหู่ท้อแท้ใจก็ตาม. เมื่อคนเราเป็นทุกข์หรือเศร้าเสียใจเรามักต้องการอยู่ตามลำพัง แต่การทำเช่นนั้นเป็นอันตราย. (สุภาษิต 18:1) วิธีที่ฉลาดสุขุมคืออยู่ใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมความเชื่อและฟื้นฟูกำลังขึ้นใหม่เพื่อรับใช้พระเจ้าต่อไป.—ฮีบรู 10:24, 25
เนื่องจากเปโตรอยู่กับพี่น้องคริสเตียน เขาจึงได้ยินรายงานที่น่าตกใจว่าพระศพของพระเยซูหายไปจากอุโมงค์. เปโตรกับโยฮันวิ่งไปที่อุโมงค์ฝังพระศพของพระเยซูซึ่งปิดไว้แน่นหนา. โยฮันซึ่งคงจะหนุ่มกว่าวิ่งมาถึงก่อน. เมื่อพบว่าปากอุโมงค์เปิด เขาก็รีรออยู่. แต่เปโตรไม่รอช้า. ทั้ง ๆ ที่ยังเหนื่อยหอบ เขาวิ่งเข้าไปทันที. อุโมงค์นั้นว่างเปล่า!—โยฮัน 20:3-9
เปโตรเชื่อไหมว่าพระเยซูถูกปลุกคืนพระชนม์แล้ว? ทีแรกเขาไม่เชื่อ แม้ว่าพวกผู้หญิงที่ซื่อสัตย์จะรายงานว่ามีทูตสวรรค์ปรากฏแก่พวกนางและแจ้งให้ทราบว่าพระเยซูทรงเป็นขึ้นจากตายแล้ว. (ลูกา 23:55–24:11) แต่พอถึงตอนเย็นวันนั้น ความโศกเศร้าและความสงสัยที่ยังค้างอยู่ในใจของเปโตรก็มลายไปสิ้น. พระเยซูทรงพระชนม์อยู่ และตอนนี้เป็นกายวิญญาณที่มีฤทธิ์! พระองค์ทรงปรากฏแก่อัครสาวกทุกคน. แต่พระองค์ทรงปรากฏแก่คนหนึ่งเป็นการส่วนตัวก่อน. ในวันนั้นพวกอัครสาวกพูดกันว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าถูกปลุกให้เป็นขึ้นมาแล้วจริง ๆ และทรงปรากฏแก่ซีโมนแล้ว!” (ลูกา 24:34) ในเวลาต่อมาอัครสาวกเปาโลเขียนเกี่ยวกับวันที่น่าจดจำนั้นซึ่งพระเยซู “ทรงปรากฏกายแก่เกฟาแล้วก็แก่อัครสาวกสิบสองคน.” (1 โครินท์ 15:5) เกฟากับซีโมนเป็นชื่อของเปโตรด้วย. พระเยซูทรงปรากฏแก่เขาในวันนั้น ดูเหมือนว่าเป็นตอนที่เปโตรอยู่ตามลำพัง.
คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกรายละเอียดของเหตุการณ์ที่น่าประทับใจตอนที่พระเยซูกับเปโตรได้พบกันอีก. เราเพียงนึกภาพได้ว่าเปโตรคงดีใจมากที่ได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักของเขามีชีวิตอีกและมีโอกาสได้ทูลพระองค์ว่าเขาเสียใจและกลับใจอย่างแท้จริง. สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าอะไรทั้งสิ้นก็คือการอภัยโทษ. เราแน่ใจมิใช่หรือว่าพระเยซูทรงให้อภัยเขาและให้อย่างใจกว้าง? คริสเตียนในทุกวันนี้ที่พลาดพลั้งทำผิดจำต้องจดจำตัวอย่างของเปโตรไว้. ขอเราอย่าคิดว่าความผิดของเราร้ายแรงเกินกว่าที่พระเจ้าจะให้อภัยได้. พระเยซูทรงสะท้อนบุคลิกของพระบิดาผู้ทรง “อภัยอย่างล้นเหลือ” ได้อย่างครบถ้วน.—ยะซายา 55:7
หลักฐานเพิ่มเติมที่แสดงถึงการอภัยโทษ
พระเยซูบอกพวกอัครสาวกให้ไปยังแคว้นแกลิลี ที่ซึ่งพวกเขาจะได้พบพระองค์อีก. เมื่อพวกเขามาถึง เปโตรตัดสินใจออกไปจับปลาในทะเลแกลิลี. อัครสาวกบางคนก็ไปด้วย. เปโตรได้กลับมาอยู่ที่ทะเลสาบซึ่งเมื่อก่อนเขาเคยใช้เวลามากมายอยู่ที่นี่. เสียงเอี๊ยดอ๊าดของเรือ, เสียงคลื่นกระทบเรือ, และความรู้สึกสากมือเมื่อได้สัมผัสกับอวนหาปลา ทั้งหมดนี้คงเป็นสิ่งที่เขาเคยชินและทำให้สบายใจ. ในคืนนั้นเขาจะสงสัยไหมว่าควรทำอย่างไรกับชีวิตเมื่อตอนนี้งานประกาศสั่งสอนทางแผ่นดินโลกของพระเยซูสิ้นสุดลงแล้ว? เขาคิดอยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายอย่างชาวประมงไหม? ไม่ว่าจะอย่างไร คืนนั้นทั้งคืนเขาจับปลาไม่ได้เลย.—มัดธาย 26:32; โยฮัน 21:1-3
แต่พอรุ่งสาง มีคนหนึ่งที่อยู่บนฝั่งเรียกพวกเขาและบอกให้หย่อนอวนลงอีกข้างหนึ่งของเรือ. พวกเขาทำตามและจับปลาได้มากถึง 153 ตัว! เปโตรรู้ว่าผู้นั้นเป็นใคร. เขากระโดดลงจากเรือและว่ายน้ำเข้าฝั่ง. ที่ชายหาด พระเยซูทรงปิ้งปลาให้พวกเขากิน. พระองค์เจาะจงพูดกับเปโตรโดยเฉพาะ.
พระเยซูทรงชี้ไปที่ปลากองโตที่เพิ่งจับได้ และถามเปโตรว่าเขารักองค์พระผู้เป็นเจ้า “มากกว่าปลาเหล่านี้” หรือไม่. ในใจของเปโตร ความรักที่เขามีต่ออาชีพประมงกำลังต่อสู้กับความรักที่มีต่อพระเยซูไหม? เนื่องจากเปโตรได้ปฏิเสธองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาสามครั้ง ตอนนี้พระเยซูจึงให้โอกาสเขาสามครั้งเช่นกันเพื่อยืนยันความรักที่เขามีต่อพระองค์ต่อหน้าสาวกคนอื่น ๆ. เมื่อเปโตรยืนยันเช่นนั้น พระเยซูทรงบอกว่าเขาควรแสดงความรักนั้นโดยให้งานรับใช้ศักดิ์สิทธิ์มาก่อนสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น และเลี้ยงฝูงแกะของพระคริสต์ ซึ่งก็คือเพื่อนสาวกที่ซื่อสัตย์ของเขา.—โยฮัน 21:4-17
การที่พระเยซูตรัสเช่นนี้เป็นการยืนยันว่าเปโตรยังมีค่าสำหรับพระองค์และพระบิดา. เปโตรจะมีบทบาทสำคัญในประชาคมคริสเตียนซึ่งอยู่ภายใต้การชี้นำของพระคริสต์. ช่างเป็นหลักฐานที่หนักแน่นว่าพระเยซูทรงให้อภัยเปโตรอย่างหมดสิ้น! ไม่ต้องสงสัยว่า ความเมตตาของพระเยซูทำให้เปโตรซาบซึ้งใจ และมีผลต่อเขาอย่างมากทีเดียว.
เปโตรทำงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความซื่อสัตย์ต่อไปอีกหลายปี. เขาช่วยชูกำลังพวกพี่น้องดังที่พระเยซูได้บัญชาไว้ก่อนที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์. เปโตรแสดงความกรุณาและอดทนขณะที่เขาบำรุงเลี้ยงสาวกของพระคริสต์. ชายที่ชื่อซีโมนนี้ดำเนินชีวิตสมกับชื่อที่พระเยซูตั้งให้เขาว่า เปโตรหรือก้อนหิน ซึ่งมั่นคงเข้มแข็งและไว้ใจได้และเป็นอิทธิพลที่ดีในประชาคม. หลักฐานยืนยันมากมายในเรื่องนี้พบได้ในจดหมายสองฉบับที่เปี่ยมด้วยความรักของเปโตรเองซึ่งได้กลายเป็นหนังสือที่มีค่าของคัมภีร์ไบเบิล. จดหมายเหล่านั้นแสดงให้เห็นด้วยว่าเปโตรไม่เคยลืมบทเรียนที่เขาได้เรียนจากพระเยซูเกี่ยวกับการให้อภัย.—1 เปโตร 3:8, 9; 4:8
ขอให้เราเรียนบทเรียนนั้นด้วย. เราทูลขอการอภัยจากพระเจ้าทุกวันไหมสำหรับความผิดมากมายของเรา? เรายอมรับการให้อภัยจากพระองค์ไหมและเชื่อว่าการให้อภัยจากพระเจ้ามีพลังสามารถลบล้างความผิดของเรา? และเราให้อภัยคนอื่น ๆ ด้วยไหม? ถ้าเราทำเช่นนั้น เราจะเลียนแบบความเชื่อของเปโตร และความเมตตาของนายของเขา.
[คำโปรยหน้า 22]
เปโตรทำให้นายของเขาต้องให้อภัยเขาหลายครั้ง แต่มีใครบ้างในพวกเราที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการอภัยทุกวัน?
[ภาพหน้า 23]
“องค์พระผู้เป็นเจ้าก็หันมามองเปโตร”
[ภาพหน้า 24]
“องค์พระผู้เป็นเจ้า . . . ทรงปรากฏแก่ซีโมนแล้ว!”