ความลับที่คริสเตียนต้องไม่เก็บไว้!
“เราได้กล่าวแก่โลกอย่างเปิดเผย. . . . เราไม่ได้กล่าวสิ่งใดในที่ลับเลย.”—โยฮัน 18:20, ล.ม.
1, 2. คำกรีกมิสทีʹรีออน ที่ใช้ในพระคัมภีร์มีความหมายเช่นไร?
คำกรีกมิสทีʹรีออน ได้รับการแปลในพระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ 25 ครั้งว่า “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” และมี 3 ครั้งที่แปลว่า “ข้อลึกลับ.” ความลับที่เรียกได้ว่าศักดิ์สิทธิ์คงต้องสำคัญจริง ๆ! ใครที่มีสิทธิพิเศษได้รับความรู้ซึ่งเป็นความลับเช่นนั้นน่าจะรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง เนื่องจากเขาได้รับการพิจารณาว่าคู่ควรแก่การมีส่วนร่วมในความลับร่วมกับพระเจ้าองค์สูงสุดแห่งเอกภพ.
2 พจนานุกรมอธิบายศัพท์คัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ ของไวน์ ยืนยันว่า ในกรณีส่วนใหญ่ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” เป็นคำแปลที่เหมาะกว่า “ข้อลึกลับ.” พจนานุกรมนี้กล่าวถึงคำมิสทีʹรีออน ดังนี้: “ใน [พระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก] คำนี้หาได้แสดงนัยถึงข้อลึกลับ (เหมือนในคำภาษาอังกฤษ มิสเทอรี) ไม่ แต่หมายถึงสิ่งที่เกินขอบเขตของความเข้าใจตามธรรมดาของมนุษย์ สามารถรู้ได้ก็แต่โดยการเปิดเผยจากพระเจ้าเท่านั้น และสำแดงให้ทราบในลักษณะวิธีและตามเวลาที่พระเจ้าทรงกำหนดไว้ และแก่เฉพาะผู้ที่พระวิญญาณของพระองค์ประทานความเข้าใจให้เท่านั้น. ตามความหมายทั่วไปในภาษาอังกฤษ ข้อลึกลับหมายถึงความรู้ที่ถูกปิด; เมื่อใช้ในคัมภีร์ไบเบิลหมายถึงความจริงที่ถูกเปิดเผย. ฉะนั้น คำที่มีความเกี่ยวพันเป็นพิเศษกับเรื่องความลับนี้ได้แก่ ‘ทำให้รู้,’ ‘ทำให้ประจักษ์,’ ‘ได้รับการเปิดเผย,’ ‘ได้รับการประกาศ,’ ‘เข้าใจ,’ ‘สิ่งที่ได้รับแจกปัน.’”
3. ประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกต่างไปจากกลุ่มศาสนาลึกลับบางกลุ่มอย่างไร?
3 คำอธิบายนี้เน้นความแตกต่างอย่างมากประการหนึ่งระหว่างกลุ่มศาสนาลึกลับทั้งหลายที่เฟื่องฟูในศตวรรษแรกกับประชาคมคริสเตียนซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่. ขณะที่คนซึ่งเพิ่งเข้ากลุ่มลัทธิลึกลับทั้งหลายมักถูกผูกมัดโดยคำปฏิญาณจะปิดปากเงียบเพื่อปกป้องคำสอนของศาสนา คริสเตียนไม่เคยอยู่ใต้ข้อจำกัดเช่นนั้น. เป็นความจริงที่ว่า อัครสาวกเปาโลกล่าวถึง “ปัญญาของพระเจ้าซึ่งเป็นข้อลับลึก [“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.] โดยเรียกว่าเป็น “พระปัญญาซึ่งทรงซ่อนไว้” กล่าวคือ ซ่อนไว้จาก “ผู้ครอบครองใด ๆ ในโลกนี้.” ไม่ถูกซ่อนไว้จากคริสเตียนซึ่งได้รับการเปิดเผยโดยทางพระวิญญาณของพระเจ้าเพื่อพวกเขาจะเปิดเผยความลับนั้นต่อสาธารณชน.—1 โกรินโธ 2:7-12; เทียบกับสุภาษิต 1:20.
“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ถูกระบุชัด
4. “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” รวมจุดอยู่ที่ใคร และอย่างไร?
4 “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ของพระยะโฮวารวมจุดอยู่ที่พระเยซูคริสต์. เปาโลเขียนดังนี้: “[พระยะโฮวา] ได้ทรงโปรดให้เราทราบความลับอันศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. ตามซึ่งชอบพระทัยอันดีของพระองค์ที่พระองค์ดำริไว้ด้วยพระองค์เอง เพื่อการบริหารงานเมื่อเวลากำหนดครบถ้วน กล่าวคือ จะทรงรวบรวมสิ่งสารพัดเข้าไว้ในพระคริสต์อีก คือสิ่งต่าง ๆ ในสวรรค์ และสิ่งต่าง ๆ ที่แผ่นดินโลก. ถูกแล้ว ในพระองค์นั้น.” (เอเฟโซ 1:9, 10, ล.ม.) เปาโลระบุชัดยิ่งขึ้นอีกเกี่ยวกับลักษณะของ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” เมื่อท่านชี้ถึงความจำเป็นต้องมี “ความรู้ถ่องแท้เรื่องความลับอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ได้แก่พระคริสต์.”—โกโลซาย 2:2, ล.ม.
5. อะไรซึ่งเกี่ยวข้องอยู่ด้วยใน “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์”?
5 อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ เพราะ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” เป็นความลับซึ่งมีหลายแง่มุม. ความลับอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไม่ใช่แค่การระบุตัวพระเยซูฐานะพงศ์พันธุ์แห่งคำสัญญาหรือมาซีฮา; แต่รวมถึงบทบาทที่พระองค์ได้รับมอบหมายให้ทำในพระประสงค์ของพระเจ้า. ความลับนี้ยังเกี่ยวข้องกับรัฐบาลฝ่ายสวรรค์ คือราชอาณาจักรมาซีฮาของพระเจ้า ดังที่พระเยซูทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนเมื่อพระองค์บอกสาวกของพระองค์ว่า “ข้อลับลึก [“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.] แห่งแผ่นดินสวรรค์ ทรงโปรดให้ท่านทั้งหลายรู้ได้, แต่คนเหล่านั้นไม่โปรดให้รู้.”—มัดธาย 13:11.
6. (ก) เหตุใดจึงถูกต้องที่จะกล่าวว่า “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ถูก “ปิดบังไว้ตั้งแต่อดีตกาล”? (ข) ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเปิดเผยตามลำดับอย่างไร?
6 ช่วงเวลาที่ยาวนานจะต้องผ่านไปก่อนนับตั้งแต่มีการกล่าวเป็นครั้งแรกถึงพระประสงค์ของพระเจ้าในการจัดให้มีพื้นฐานสำหรับราชอาณาจักรมาซีฮาจนกระทั่งถึงการทำให้ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์. . . . ถึงที่สิ้นสุด.” (วิวรณ์ 10:7, ล.ม.; เยเนซิศ 3:15) การทำให้ความลับอันศักดิ์สิทธิ์ถึงที่สิ้นสุดจะเกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาราชอาณาจักร ดังที่การเปรียบเทียบวิวรณ์ 10:7 กับ 11:15 พิสูจน์ให้เห็น. ที่จริง ประมาณ 4,000 ปีผ่านพ้นไปตั้งแต่ได้มีการให้คำสัญญาเรื่องราชอาณาจักรในสวนเอเดนจนถึงการปรากฏของผู้ที่ถูกกำหนดเป็นกษัตริย์ในปีสากลศักราช 29. แล้วก็อีก 1,885 ปีล่วงไปก่อนที่ราชอาณาจักรได้รับการสถาปนาขึ้นในสวรรค์ในปี 1914. ฉะนั้น “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ได้รับการเปิดเผยตามลำดับตลอดช่วงเวลาเกือบ 6,000 ปี. (ดูหน้า 16.) เปาโลกล่าวไว้ถูกทีเดียวเกี่ยวกับ “การเปิดเผยข้อความอันล้ำลึก [“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์,” ล.ม.] ซึ่งได้ปิดบังไว้ตั้งแต่อดีตกาล แต่มาบัดนี้ได้เปิดเผยให้ปรากฏแล้ว.”—โรม 16:25-27, ฉบับแปลใหม่; เอเฟโซ 3:4-11.
7. ทำไมเราสามารถมั่นใจได้เต็มที่ในชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุม?
7 ตรงกันข้ามกับมนุษย์ซึ่งมีช่วงชีวิตจำกัด พระยะโฮวาไม่เคยรู้สึกถูกกดดันในเรื่องเวลาที่จะเปิดเผยความลับต่าง ๆ ของพระองค์ก่อนเวลาอันควร. ข้อเท็จจริงนี้น่าจะป้องกันเราไว้จากการขาดความอดทนเมื่อมีข้อสงสัยบางอย่างในคัมภีร์ไบเบิลที่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างจุใจในปัจจุบัน. ความเจียมตัวในส่วนของชนจำพวกทาสสัตย์ซื่อและสุขุมซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดอาหารตามเวลาอันสมควรแก่ครอบครัวคริสเตียน ป้องกันพวกเขาไว้จากการทำอะไรโดยพลการซึ่งเป็นการล้ำหน้าและการเดาสุ่มเกี่ยวด้วยเรื่องที่ยังไม่กระจ่าง. ชนจำพวกทาสพยายามอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงการมีทัศนะแบบถือความคิดตัวเองเป็นหลัก. พวกเขาถ่อมพอที่จะยอมรับว่าในเวลานี้ไม่สามารถตอบคำถามทุกข้อได้ โดยระลึกถึงสุภาษิต 4:18 อยู่เสมอ. แต่ช่างน่าตื่นเต้นสักเพียงไรที่ทราบว่าพระยะโฮวาจะยังคงเปิดเผยความลับเกี่ยวด้วยพระประสงค์ของพระองค์ต่อ ๆ ไปในเวลากำหนดและตามวิธีของพระองค์เอง! เราไม่ควรขาดความอดทนต่อการจัดเตรียมของพระยะโฮวา โดยพยายามอย่างไม่บังควรจนกลายเป็นการล้ำหน้าพระผู้เปิดเผยความลับ. ช่างเป็นการย้ำให้มั่นใจสักเพียงไรที่ได้ทราบว่าร่องทางที่พระยะโฮวาทรงใช้อยู่ในทุกวันนี้ไม่ได้ทำเช่นนั้น! พวกเขาเป็นผู้ที่ทั้งสัตย์ซื่อและสุขุม.—มัดธาย 24:45, ล.ม.; 1 โกรินโธ 4:6.
ความลับที่ถูกเปิดเผยแล้วต้องบอกออกไป!
8. เราทราบได้อย่างไรว่า “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” จะต้องถูกเปิดให้กระจ่าง?
8 พระยะโฮวาไม่ได้ทรงเปิดเผย “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ของพระองค์แก่คริสเตียนเพื่อให้พวกเขาปิดซ่อนเอาไว้. ความลับที่เปิดเผยแล้วนี้ต้องถูกทำให้ปรากฏแจ้ง สอดคล้องกับหลักการที่พระเยซูทรงวางไว้สำหรับสาวกทุกคน ของพระองค์—ไม่ใช่สำหรับพวกนักเทศน์เพียงไม่กี่คน ที่ว่า “ท่านทั้งหลายเป็นความสว่างของโลก. เมืองซึ่งสร้างไว้บนภูเขาจะปิดบังไว้ไม่ได้. เมื่อเขาจุดตะเกียงแล้วมิได้เอาถังครอบไว้, ย่อมตั้งไว้ที่เชิงตะเกียง, จะได้ส่องสว่างแก่ทุกคนที่อยู่ในเรือนนั้น. ให้ความสว่างของท่านส่องไปต่อหน้าคนทั้งปวงอย่างนั้น, เพื่อเขาจะได้เห็นการดีของท่าน, แล้วจะได้สรรเสริญพระบิดาของท่านผู้อยู่ในสวรรค์.”—มัดธาย 5:14-16; 28:19, 20.
9. อะไรพิสูจน์ว่าพระเยซูไม่ใช่นักปฏิวัติดังที่บางคนอ้าง?
9 พระเยซูไม่มีความมุ่งหมายในทางปฏิวัติโดยก่อตั้งองค์การใต้ดินของเหล่าสาวกเพื่อดำเนินตามเป้าประสงค์ลับ. ในหนังสือหลักการคริสเตียนยุคแรกและสังคม โรเบิร์ต เอ็ม. แกรนต์เขียนเกี่ยวกับจัสติน มาร์เทอร์ ผู้สนับสนุนความเชื่อในศตวรรษที่สองซึ่งกล่าวปกป้องคริสเตียนในยุคแรกดังนี้: “หากคริสเตียนเป็นนักปฏิวัติ พวกเขาคงต้องซ่อนตัวอยู่เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของตน.” แต่คริสเตียนจะ “ซ่อนตัวอยู่” และในขณะเดียวกันเป็นเหมือน “เมืองซึ่งสร้างไว้บนภูเขา” ได้อย่างไร? พวกเขาต้องไม่ซ่อนความสว่างของตนไว้ใต้ถังครอบ! ด้วยเหตุนั้น รัฐบาลไม่มีเหตุที่ต้องกลัวในกิจกรรมที่พวกเขาทำ. ดังที่ผู้เขียนคนนี้พรรณนาถึงพวกเขาต่อไปว่าเป็น “พันธมิตรที่ดีที่สุดขององค์จักรพรรดิเพื่อส่งเสริมสันติสุขและความเป็นระเบียบ.”
10. เพราะเหตุใดคริสเตียนไม่ควรเก็บเอกลักษณ์ของตนไว้เป็นความลับ?
10 พระเยซูไม่ต้องการให้สาวกของพระองค์ปิดเป็นความลับเกี่ยวด้วยเอกลักษณ์ของพวกเขาฐานะสมาชิกของกลุ่มที่เรียกกันว่านิกาย. (กิจการ 24:14; 28:22, ล.ม.) หากเวลานี้เราไม่ได้ให้ความสว่างของเราฉายออกไป ทั้งพระคริสต์และพระบิดาของพระองค์ซึ่งเป็นพระผู้เปิดเผยความลับย่อมจะไม่พอพระทัย และคงทำให้เราไม่มีความสุข.
11, 12. (ก) เหตุใดพระยะโฮวาทรงประสงค์ให้หลักการคริสเตียนเป็นที่รู้จัก? (ข) พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ถูกต้องไว้อย่างไร?
11 พระยะโฮวา “ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3:9, ล.ม.; ยะเอศเคล 18:23; 33:11; กิจการ 17:30) พื้นฐานสำหรับการอภัยบาปของมนุษย์ที่กลับใจได้แก่ความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงประทานพระองค์เองเป็นค่าไถ่สำหรับคนทั้งปวง—ไม่ใช่สำหรับเพียงไม่กี่คน—เพื่อ “ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรนั้นจะไม่พินาศ แต่มีชีวิตนิรันดร์.” (โยฮัน 3:16, ล.ม.) สำคัญที่ประชาชนต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อทำตามขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อพวกเขาจะมีคุณวุฒิได้รับการตัดสินว่าเป็นแกะ ไม่ใช่แพะ ในระหว่างการพิพากษาที่กำลังจะมาถึง.—มัดธาย 25:31-46.
12 หลักการคริสเตียนแท้ต้องไม่ถูกปิดซ่อนไว้; ต้องทำให้ปรากฏแจ้งในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้. พระเยซูเองทรงวางแบบอย่างที่ถูกต้อง. เมื่อปุโรหิตใหญ่ถามเกี่ยวกับสาวกและคำสอน พระองค์ตรัสตอบดังนี้: “เราได้กล่าวแก่โลกอย่างเปิดเผย. เราได้สั่งสอนในธรรมศาลาและในพระวิหารเสมอ ที่ซึ่งบรรดาชาวยิวมาชุมนุมกัน; และเราไม่ได้กล่าวสิ่งใดในที่ลับเลย.” (โยฮัน 18:19, 20, ล.ม.) เมื่อระลึกถึงตัวอย่างนี้ มีอะไรล่ะซึ่งคนที่เกรงกลัวพระเจ้าจะกล้าเก็บไว้เป็นความลับเกี่ยวด้วยข่าวสารที่พระองค์ได้ทรงประกาศแล้วว่าต้องเปิดเผย? ใครจะกล้าซ่อน “ลูกกุญแจแห่งความรู้” ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์? การทำดังนั้นย่อมทำให้เขาเป็นเหมือนพวกหน้าซื่อใจคดทางศาสนาแห่งศตวรรษแรก.—ลูกา 11:52; โยฮัน 17:3.
13. ทำไมเราควรประกาศทุกเมื่อที่มีโอกาส?
13 ขออย่าให้ใครสามารถพูดได้ว่า พวกเราพยานพระยะโฮวาได้เก็บข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นความลับ! ไม่ว่าข่าวสารนั้นจะได้รับการยอมรับหรือถูกปฏิเสธ ผู้คนต้องทราบว่าข่าวนี้ได้รับการประกาศแล้ว. (เทียบกับยะเอศเคล 2:5; 33:33.) เหตุฉะนั้น ขอให้เราฉวยประโยชน์จากทุก ๆ โอกาสเพื่อบอกข่าวสารความจริงแก่ทุกคน ไม่ว่าจะพบพวกเขาที่ไหนก็ตาม.
การเอาเบ็ดเกี่ยวขากรรไกรของซาตาน
14. ทำไมเราไม่ควรลังเลใจในเรื่องการนมัสการอย่างเปิดเผย?
14 ในหลาย ๆ แห่ง พยานพระยะโฮวากลายเป็นจุดรวมความสนใจของสื่อมวลชนมากขึ้นเรื่อย ๆ. คล้ายกันกับที่เกิดกับคริสเตียนยุคแรก มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับพวกเขาอย่างผิด ๆ และจัดอยู่ในจำพวกลัทธิศาสนาและองค์การลับที่น่าสงสัย. (กิจการ 28:22) อาจเป็นเพราะความเปิดเผยของเราในการประกาศสั่งสอนไหมที่ทำให้เราตกเป็นเป้าโจมตี? ไม่เป็นการฉลาดแน่ที่จะนำตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น และยังไม่เป็นการทำตามคำแนะนำของพระเยซูด้วย. (สุภาษิต 26:17; มัดธาย 10:16) อย่างไรก็ตาม งานการประกาศเรื่องราชอาณาจักรซึ่งเป็นประโยชน์และการช่วยผู้คนปรับชีวิตของตนให้ดีขึ้นต้องไม่ถูกปิดงำ. งานนี้ถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา, เชิดชูความสูงส่งของพระองค์, นำความสนใจมายังพระองค์และราชอาณาจักรของพระองค์ซึ่งได้รับการสถาปนาแล้ว. เหตุผลส่วนหนึ่งที่เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการตอบสนองด้วยความหยั่งรู้ค่าต่อความจริงของคัมภีร์ไบเบิลในยุโรปตะวันออกและหลายส่วนของแอฟริกา เป็นเพราะมีโอกาสประกาศความจริงได้อย่างเปิดเผยมากขึ้นในขณะนี้.
15, 16. (ก) ความเปิดเผยและความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณของเราก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง แต่นี่เป็นเหตุให้ต้องเป็นห่วงไหม? (ข) เหตุใดพระยะโฮวาทรงเกี่ยวเบ็ดที่ขากรรไกรของซาตาน?
15 เป็นความจริงที่ว่าการที่พยานพระยะโฮวาประกาศอย่างเปิดเผย, อุทยานฝ่ายวิญญาณที่พวกเขาประสบ, และความรุ่งเรืองของพวกเขาทั้งทรัพยากรมนุษย์และทรัพย์สินที่เป็นวัตถุ หาได้รอดจากการสังเกตไม่. ขณะที่ปัจจัยดังกล่าวดึงดูดคนที่มีหัวใจสุจริต แต่สำหรับผู้ต่อต้านแล้วอาจรู้สึกไม่พอใจ. (2 โกรินโธ 2:14-17) ที่จริง ความรุ่งเรืองเช่นนี้อาจชักจูงให้กองกำลังของซาตานเข้าโจมตีไพร่พลของพระเจ้าในที่สุด.
16 เรื่องนี้ควรเป็นเหตุให้เป็นห่วงกังวลไหม? ไม่เป็นเช่นนั้นเลยหากดูตามคำพยากรณ์ของพระยะโฮวาซึ่งพบในยะเอศเคลบท 38. ที่นั่นบอกล่วงหน้าว่าโกกแห่งมาโกก ซึ่งเป็นคำพรรณนาถึงซาตานพญามารนับตั้งแต่มันถูกลดฐานะลงมาอยู่บริเวณแผ่นดินโลกหลังการสถาปนาราชอาณาจักรในปี 1914 จะนำหน้าในการโจมตีไพร่พลของพระเจ้า. (วิวรณ์ 12:7-9, ล.ม.) พระยะโฮวาตรัสบอกโกกดังนี้: “[เจ้าต้อง] กล่าวว่า ‘เราจะยกกองทัพไปยังแผ่นดินที่ชนบทไม่มีกำแพงล้อม เราจะโจมตีประชาชนที่สงบซึ่งอาศัยอยู่อย่างปลอดภัยทุกคนอาศัยอยู่โดยไม่มีกำแพง ไม่มีดาลไม่มีประตู’ เพื่อชิงข้าวของปล้นเอาไปเพื่อจะเข้ายึดที่ที่ทิ้งร้าง ซึ่งขณะนี้มีคนอาศัยอยู่ และประชาชนซึ่งรวบรวมจากบรรดาประชาชาติ ผู้ที่ได้สัตว์และข้าวของคือผู้อาศัยอยู่ ณ ศูนย์กลางพิภพโลก.” (ยะเอศเคล 38:11, 12, ฉบับแปลใหม่) อย่างไรก็ดี ข้อ 4 แสดงว่าไพร่พลของพระเจ้าไม่ต้องกลัวการโจมตี เพราะนั่นเป็นการกระทำที่มาจากพระยะโฮวา. แต่เหตุใดพระเจ้าทรงอนุญาต—ที่จริง ถึงกับกระตุ้น—ให้มีการโจมตีอย่างสุดกำลังต่อไพร่พลของพระองค์? ในข้อ 23 เราอ่านคำตอบของพระยะโฮวาดังนี้: “เราจะสำแดงตัวเราให้เป็นใหญ่, ให้เป็นที่นับถือ, และเราจะให้ประเทศทั้งหลายรู้จักเรา, และเขาทั้งหลายจะได้รู้ว่าเราคือยะโฮวา.”
17. เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อการโจมตีของโกกที่จวนจะเกิดขึ้น?
17 ด้วยเหตุนั้น แทนที่จะอยู่อย่างหวาดกลัวการโจมตีของโกก ไพร่พลของพระยะโฮวาคอยท่าความสำเร็จเป็นจริงขั้นนี้ของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล. ช่างน่าตื่นเต้นที่ได้ทราบว่าโดยการอวยพระพรและทำให้องค์การที่ประจักษ์แก่ตาของพระองค์รุ่งเรือง พระยะโฮวาทรงเกี่ยวเบ็ดที่ขากรรไกรของซาตาน และลากมันรวมทั้งกองทัพของมันสู่ความย่อยยับอัปราชัย!
ยิ่งกว่าที่เคยทำกันมา!
18. (ก) ประชาชนมากมายในเวลานี้กำลังตระหนักถึงอะไรและทำไม? (ข) ปฏิกิริยาต่อการประกาศเรื่องราชอาณาจักรก่อให้เกิดแรงกระตุ้นอันทรงพลังอย่างไร?
18 ในสมัยปัจจุบัน พยานพระยะโฮวาเปิดเผยอย่างยิ่งในการแสดงทัศนะของตนซึ่งอาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก แม้ว่าการทำเช่นนี้คนทั่วไปจะไม่ค่อยชอบ. เป็นเวลาหลายทศวรรษ พวกเขาได้เตือนถึงอันตรายของการสูบบุหรี่และการใช้ยาเสพย์ติด, ทัศนะแบบสายตาสั้นในการเลี้ยงดูเด็กโดยปล่อยตามอำเภอใจ, ผลเสียของการบันเทิงที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องการผิดศีลธรรมทางเพศและความรุนแรง, และความเสี่ยงของการถ่ายเลือด. พวกเขายังได้ชี้ด้วยถึงความไม่เสมอต้นเสมอปลายของทฤษฎีวิวัฒนาการ. มีผู้คนมากขึ้นทุกทีในเวลานี้ที่พูดว่า “ที่จริง พยานพระยะโฮวาไม่ผิด.” หากเราไม่ได้เปิดเผยอย่างแท้จริงต่อสาธารณชนเกี่ยวด้วยทัศนะของเรา พวกเขาคงไม่สามารถมีปฏิกิริยาอย่างนี้. และอย่ามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า โดยการพูดเช่นนั้น พวกเขากำลังเริ่มอยู่ในแนวทางที่จะพูดว่า “อ้ายซาตาน เจ้าเป็นตัวมุสา; แท้ที่จริง พระยะโฮวาทรงเป็นฝ่ายถูก.” ช่างเป็นแรงกระตุ้นที่ทรงพลังอะไรเช่นนี้สำหรับเราที่จะติดตามตัวอย่างของพระเยซูต่อ ๆ ไป กล่าวคำแห่งความจริงอย่างเปิดเผย!—สุภาษิต 27:11.
19, 20. (ก) ไพร่พลของพระยะโฮวาในปี 1922 ได้พูดด้วยความตั้งใจแน่วแน่เช่นไร และถ้อยคำเหล่านี้ยังคงใช้ได้อยู่ไหม? (ข) เราควรมีทัศนะอย่างไรต่อ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ของพระยะโฮวา?
19 ไพร่พลของพระยะโฮวาเข้าใจมานานแล้วถึงพันธะหน้าที่ของพวกเขาในเรื่องนี้. ณ การประชุมครั้งหนึ่งซึ่งน่าจดจำในปี 1922 เจ. เอฟ. รัทเทอร์ฟอร์ด ซึ่งตอนนั้นเป็นนายกสมาคมว็อชเทาเวอร์ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกปลาบปลื้มยินดีโดยกล่าวดังนี้: “จงมีสติ, ตื่นตัวเสมอ, กระฉับกระเฉง, และกล้าหาญ. จงเป็นพยานที่จริงแท้และซื่อสัตย์เพื่อองค์พระผู้เป็นเจ้า. จงต่อสู้ต่อไปจนกว่าทุกส่วนของบาบูโลนจะเริศร้างว่างเปล่า. จงประกาศข่าวสารนี้ออกไปให้กว้างไกล. มนุษย์โลกต้องรู้ว่า พระยะโฮวาทรงเป็นพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกษัตริย์ทั้งหลายและเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งเจ้านายทั้งหลาย. นี้คือสมัยสำคัญที่สุด. ดูเถิด พระมหากษัตริย์ทรงปกครอง! คุณคือตัวแทนโฆษณาของพระองค์. ด้วยเหตุนั้น จงโฆษณา, โฆษณา, โฆษณาพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักรของพระองค์.”
20 คำพูดเหล่านี้สำคัญในปี 1922 อยู่แล้ว แต่สำคัญยิ่งกว่านั้นสักเพียงใดในอีก 75 ปีต่อมา เมื่อการเปิดเผยเกี่ยวกับพระคริสต์ฐานะผู้พิพากษาและผู้แก้แค้นองค์ยิ่งใหญ่ใกล้เข้ามาเต็มที! ข่าวสารของพระยะโฮวาเกี่ยวกับราชอาณาจักรที่ได้รับการสถาปนาและอุทยานฝ่ายวิญญาณที่ไพร่พลของพระเจ้าประสบอยู่ซึ่งเป็น “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” นั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะเก็บเอาไว้เฉย ๆ. ดังที่พระเยซูเองทรงกล่าวไว้อย่างชัดเจน ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณบริสุทธิ์ สาวกของพระองค์ต้องเป็นพยาน “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” เกี่ยวด้วยตำแหน่งสำคัญของพระองค์ในพระประสงค์อันถาวรของพระยะโฮวา. (กิจการ 1:8; เอเฟโซ 3:8-12) ที่จริง ฐานะผู้รับใช้ของพระยะโฮวา พระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยความลับ เราต้องไม่เก็บความลับนี้เอาไว้กับตัว!
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” คืออะไร?
▫ คุณทราบได้อย่างไรว่าควรประกาศเรื่องนี้ออกไป?
▫ อะไรที่ชักนำให้โกกโจมตีไพร่พลของพระยะโฮวา และเราควรมองดูเรื่องนี้อย่างไร?
▫ พวกเราแต่ละคนควรมุ่งมั่นจะทำอะไร?
[กรอบหน้า 16]
“ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ถูกเปิดเผยตามลำดับ
▫ หลังปี 4026 ก.ส.ศ.: พระเจ้าทรงสัญญาจะตั้งพงศ์พันธุ์หนึ่งขึ้นเพื่อจะทำลายซาตาน.—เยเนซิศ 3:15
▫ ปี 1943 ก.ส.ศ.: คำสัญญาไมตรีที่ทำกับอับราฮามได้รับการยืนยัน โดยทรงสัญญาว่าพงศ์พันธุ์นั้นจะมาทางอับราฮาม.—เยเนซิศ 12:1-7
▫ ปี 1918 ก.ส.ศ.: กำเนิดยิศฮาคผู้เป็นทายาทแห่งคำสัญญาไมตรี.—เยเนซิศ 17:19; 21:1-5
▫ ประมาณปี 1761 ก.ส.ศ.: พระยะโฮวาทรงยืนยันว่าพงศ์พันธุ์จะมาทางยาโคบ บุตรชายของยิศฮาค.—เยเนซิศ 28:10-15
▫ ปี 1711 ก.ส.ศ.: ยาโคบระบุว่าพงศ์พันธุ์จะมาทางบุตรของท่านคือยูดา.—เยเนซิศ 49:10
▫ ปี 1070-1038 ก.ส.ศ.: กษัตริย์ดาวิดได้มาทราบว่า พงศ์พันธุ์นั้นจะเป็นผู้สืบเชื้อวงศ์ของท่านและจะปกครองฐานะกษัตริย์ชั่วนิตย์นิรันดร์.—2 ซามูเอล 7:13-16; บทเพลงสรรเสริญ 89:35, 36.
▫ ปี ส.ศ. 29-33: พระเยซูคริสต์ได้รับการระบุตัวว่าเป็นพงศ์พันธุ์, พระมาซีฮา, ผู้พิพากษาในอนาคต, และผู้ที่ถูกกำหนดเป็นกษัตริย์.—โยฮัน 1:17; 4:25, 26; กิจการ 10:42, 43; 2 โกรินโธ 1:20; 1 ติโมเธียว 3:16
▫ พระเยซูทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะมีเพื่อนผู้ร่วมปกครองและพิพากษาด้วยกันกับพระองค์, ราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์จะมีอาณาประชาราษฎร์ทางแผ่นดินโลกนี้, และบรรดาผู้ติดตามพระองค์จะเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักร.—มัดธาย 5:3-5; 6:10; 28:19, 20; ลูกา 10:1-9; 12:32; 22:29, 30; โยฮัน 10:16; 14:2, 3
▫ พระเยซูทรงเปิดเผยว่า ราชอาณาจักรจะได้รับการสถาปนา ณ เวลาหนึ่งที่แน่นอน ดังเห็นหลักฐานได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก.—มัดธาย 24:3-22; ลูกา 21:24
▫ ปี ส.ศ. 36: เปโตรได้มาทราบว่าคนที่ไม่ใช่ยิวจะเป็นทายาทร่วมแห่งราชอาณาจักรด้วย.—กิจการ 10:30-48
▫ ปี ส.ศ. 55: เปาโลอธิบายว่าทายาทร่วมแห่งราชอาณาจักรจะได้รับการปลุกเป็นขึ้นจากตายสู่อมตชีพและสภาพไม่รู้เปื่อยเน่าในระหว่างการประทับของพระคริสต์.—1 โกรินโธ 15:51-54
▫ ปี ส.ศ. 96: พระเยซูซึ่งทรงปกครองเหนือเหล่าสาวกผู้ถูกเจิมของพระองค์อยู่แล้ว เปิดเผยว่าจำนวนของพวกเขาในขั้นสุดท้ายจะเป็นทั้งสิ้น 144,000 คน.—เอเฟโซ 5:32; โกโลซาย 1:13-20; วิวรณ์ 1:1; 14:1-3
▫ ปี ส.ศ. 1879: หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ชี้ไปที่ปี 1914 ว่าเป็นปีสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้ “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” ของพระเจ้าเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในที่สุด
▫ ปี ส.ศ. 1925: หอสังเกตการณ์ อธิบายว่า ราชอาณาจักรถือกำเนิดในปี 1914; “ความลับอันศักดิ์สิทธิ์” เกี่ยวกับราชอาณาจักรต้องได้ประกาศออกไปให้รู้ทั่ว.—วิวรณ์ 12:1-5, 10, 17
[รูปภาพหน้า 15]
เช่นเดียวกับพระเยซูผู้นำของพวกเขา พยานพระยะโฮวาประกาศเรื่องราชอาณาจักรของพระยะโฮวาอย่างเปิดเผย