จงให้คำสอนของพระเยซูปรับเจตคติของคุณ
“พระองค์ผู้ที่พระเจ้าทรงใช้มานั้นทรงกล่าวถ้อยคำของพระเจ้า.”—โย. 3:34.
1, 2. อาจเปรียบคำตรัสของพระเยซูในคำเทศน์บนภูเขาได้กับอะไร และเหตุใดเราพูดได้ว่าคำเทศน์นี้อาศัย “ถ้อยคำของพระเจ้า” เป็นหลัก?
เพชรเจียระไนแล้วที่ใหญ่ที่สุดเม็ดหนึ่งซึ่งรู้จักกันในปัจจุบันคือสตาร์ออฟแอฟริกา หนัก 530 กะรัต. เพชรเม็ดนี้เป็นอัญมณีอันล้ำค่าอย่างแท้จริง! อย่างไรก็ตาม เราพบอัญมณีฝ่ายวิญญาณที่ล้ำค่ากว่านั้นมากในคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซู. ไม่น่าแปลกใจที่เป็นอย่างนั้น เพราะถ้อยคำของพระคริสต์มีต้นกำเนิดมาจากพระยะโฮวา! คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพระเยซูว่า “พระองค์ผู้ที่พระเจ้าทรงใช้มานั้นทรงกล่าวถ้อยคำของพระเจ้า.”—โย. 3:34-36.
2 แม้ว่าคำเทศน์บนภูเขาอาจกินเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง แต่คำเทศน์นี้ยกข้อความจากหนังสือแปดเล่มของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูรวมทั้งหมด 21 ครั้ง. ดังนั้น คำเทศน์นี้มีรากฐานมั่นคงเพราะอาศัย “ถ้อยคำของพระเจ้า” เป็นหลัก. ต่อไปนี้ ให้เราพิจารณาว่าเราจะนำเอาคำสอนอันล้ำค่าบางส่วนจากคำสอนมากมายที่พบในคำเทศน์อันยอดเยี่ยมของพระบุตรที่รักของพระเจ้าไปใช้อย่างไร.
“คืนดีกับพี่น้องก่อน”
3. หลังจากเตือนเหล่าสาวกเรื่องผลกระทบของความโกรธ พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไร?
3 ในฐานะคริสเตียน เรามีความสุขและรักสันติเพราะเรามีพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้า และผลพระวิญญาณนั้นรวมไปถึงความยินดีและสันติสุขด้วย. (กลา. 5:22, 23) พระเยซูไม่ประสงค์ให้เหล่าสาวกสูญเสียสันติสุขและความสุข พระองค์จึงเตือนพวกเขาให้ระวังผลกระทบของการโกรธนานซึ่งอาจร้ายแรงถึงตายได้. (อ่านมัดธาย 5:21, 22.) ถัดจากนั้น พระองค์ตรัสอย่างหนักแน่นว่า “ฉะนั้น ถ้าเจ้านำของถวายมายังแท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของเจ้ามีเรื่องขุ่นเคืองเจ้า จงวางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาและไปคืนดีกับพี่น้องก่อน แล้วค่อยกลับมาถวายของของเจ้า.”—มัด. 5:23, 24.
4, 5. (ก) “ของถวาย” ที่พระเยซูตรัสถึงตามบันทึกที่มัดธาย 5:23, 24 คืออะไร? (ข) เป็นเรื่องสำคัญเพียงไรที่ต้องคืนดีกับพี่น้องที่ขุ่นเคืองเรา?
4 “ของถวาย” ที่พระเยซูตรัสถึงคือสิ่งใดก็ตามที่ถวาย ณ พระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. ตัวอย่างเช่น เครื่องบูชาสัตว์มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการนมัสการของประชาชนของพระยะโฮวาในตอนนั้น. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเน้นว่าสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการคืนดีกับพี่น้องที่ขุ่นเคืองเรา ก่อนจะถวายของถวายแด่พระเจ้า.
5 ถ้าอย่างนั้น เราอาจได้บทเรียนอะไรจากคำตรัสนี้ของพระเยซู? เป็นเรื่องแน่นอนว่าวิธีที่เราปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ มีผลโดยตรงต่อความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวา. (1 โย. 4:20) ที่จริง สิ่งที่ถวายแด่พระเจ้าในสมัยโบราณถือว่าไม่มีความหมายเลยถ้าคนที่ถวายไม่ได้ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างเหมาะสม.—อ่านมีคา 6:6-8.
ต้องแสดงความถ่อมใจ
6, 7. เหตุใดจึงจำเป็นต้องถ่อมใจเมื่อพยายามฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่มีสันติสุขกับพี่น้องที่เราทำให้ขุ่นเคือง?
6 การคืนดีกับพี่น้องที่ขุ่นเคืองเราคงเป็นเรื่องที่ทดสอบว่าเรามีความถ่อมใจหรือไม่. คนที่ใจถ่อมไม่โต้เถียงกับเพื่อนร่วมความเชื่อโดยพยายามจะยืนยันสิทธิ์ที่เขาคิดว่าตัวเองมี. การทำอย่างนั้นคงทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น—คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นท่ามกลางคริสเตียนในเมืองโครินท์โบราณ. อัครสาวกเปาโลให้ข้อแนะที่น่าคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า “ที่พวกท่านมีคดีความกันอยู่ พวกท่านก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง. ทำไมพวกท่านไม่ยอมทนที่เป็นฝ่ายเสียหาย? ทำไมพวกท่านไม่ยอมทนที่ถูกเขาโกง?”—1 โค. 6:7.
7 พระเยซูไม่ได้ตรัสว่าเราควรไปหาพี่น้องเพียงเพื่อจะยืนยันว่าเราถูกและเขาผิด. จุดประสงค์ของเราควรเป็นการฟื้นฟูสายสัมพันธ์ที่มีสันติสุข. เพื่อจะคืนดีกันได้ เราต้องแสดงออกอย่างจริงใจว่าเรารู้สึกอย่างไร. เราจำเป็นต้องยอมรับด้วยว่าคนอื่นรู้สึกไม่ดีหรือเจ็บช้ำใจ. และถ้าเราได้พลาดพลั้งทำผิดต่อเขา เป็นเรื่องแน่นอนว่าเราต้องการจะขอโทษเขาอย่างถ่อมใจ.
“ถ้าตาขวาของเจ้าเป็นเหตุให้เจ้าหลงผิด”
8. สาระสำคัญของคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกที่มัดธาย 5:29, 30 คืออะไร?
8 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูทรงให้คำแนะนำที่มีเหตุผลในเรื่องศีลธรรม. พระองค์ทรงทราบว่าอวัยวะของกายที่ไม่สมบูรณ์อาจชักพาเราไปในทางที่เป็นอันตรายได้. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูตรัสว่า “ถ้าตาขวาของเจ้าเป็นเหตุให้เจ้าหลงผิด จงควักทิ้งเสีย. เพราะว่าเสียอวัยวะอย่างหนึ่งไปก็ดีกว่าตัวเจ้าถูกโยนลงในเกเฮนนา. เช่นเดียวกัน ถ้ามือขวาของเจ้าเป็นเหตุให้เจ้าหลงผิด จงตัดทิ้งเสีย. เพราะว่าเสียอวัยวะอย่างหนึ่งไปก็ดีกว่าตัวเจ้าถูกโยนลงในเกเฮนนา.”—มัด. 5:29, 30.
9. “ตา” หรือ “มือ” อาจทำให้เรา “หลงผิด” ได้อย่างไร?
9 “ตา” ที่พระเยซูตรัสถึงหมายถึงพลังหรือความสามารถที่เราจะเพ่งความสนใจที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง และ “มือ” เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราทำด้วยมือของเรา. หากไม่ระวัง อวัยวะส่วนต่าง ๆ เหล่านี้อาจทำให้เรา “หลงผิด” และทำให้เราเลิก “ดำเนินกับพระเจ้า.” (เย. 5:22; 6:9) ดังนั้น เมื่อถูกล่อใจให้ไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา เราจำเป็นต้องลงมือทำขั้นเด็ดขาดซึ่งเปรียบเหมือนกับการควักตาหรือตัดมือทิ้ง.
10, 11. อะไรอาจช่วยเราได้ให้หลีกเลี่ยงการทำผิดศีลธรรมทางเพศ?
10 เราจะเหนี่ยวรั้งตาของเราไว้ไม่ให้เพ่งมองสิ่งที่ผิดศีลธรรมได้อย่างไร? โยบซึ่งเป็นคนที่เกรงกลัวพระเจ้ากล่าวว่า “ข้าฯ ได้ตั้งคำมั่นสัญญากับตาของข้าฯ ไว้; ข้าฯ จะไปเหลือบดูหญิงสาวอย่างไรได้?” (โยบ 31:1) โยบเป็นชายที่สมรสแล้วซึ่งตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่ฝ่าฝืนกฎหมายศีลธรรมของพระเจ้า. นั่นควรเป็นทัศนะของเรา ไม่ว่าเราสมรสแล้วหรือเป็นโสด. เพื่อจะหลีกเลี่ยงการทำผิดศีลธรรมทางเพศ เราจำเป็นต้องได้รับการชี้นำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่ช่วยให้คนที่รักพระเจ้าสามารถควบคุมตนเอง.—กลา. 5:22-25.
11 เพื่อจะหลีกเลี่ยงการทำผิดศีลธรรมทางเพศ เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันปล่อยให้ตาของฉันกระตุ้นให้เกิดความปรารถนาต่อเรื่องที่ผิดศีลธรรมซึ่งหาดูได้ง่าย ๆ ในหนังสือ, โทรทัศน์, หรือในอินเทอร์เน็ตไหม?’ ให้เราจำถ้อยคำของสาวกยาโกโบไว้ด้วย ที่ว่า “ทุกคนถูกทดสอบโดยที่ความปรารถนาของเขาเองชักนำและล่อใจ. เมื่อความปรารถนานั้นมากพอจะเกิดผลก็จะทำให้เกิดบาป แล้วเมื่อมีการทำบาป บาปนั้นก็ทำให้เกิดความตาย.” (ยโก. 1:14, 15) ที่จริง หากใครก็ตามที่อุทิศตัวแล้วแด่พระเจ้า ‘มองเพศตรงข้ามอย่างไม่วางตา’ ด้วยแรงกระตุ้นที่ผิดศีลธรรม บุคคลผู้นั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดจิตใจอย่างมากถึงขนาดที่เทียบได้กับการควักตาทิ้ง.—อ่านมัดธาย 5:27, 28.
12. คำแนะนำอะไรของเปาโลอาจช่วยเราให้ต่อสู้กับความปรารถนาที่ผิดศีลธรรม?
12 เนื่องจากการใช้มือของเราอย่างไม่เหมาะสมอาจทำให้เราฝ่าฝืนมาตรฐานศีลธรรมของพระยะโฮวาอย่างร้ายแรง เราต้องตั้งใจแน่วแน่มั่นคงว่าจะรักษาตัวให้สะอาดด้านศีลธรรมเสมอ. ด้วยเหตุนั้น เราควรเอาใจใส่คำแนะนำของเปาโลที่ว่า “จงกำจัดแนวโน้มแบบโลกซึ่งปรากฏในอวัยวะของท่านทั้งหลาย คือการผิดประเวณี การประพฤติที่ไม่สะอาด ราคะตัณหา ความปรารถนาที่ก่อความเสียหาย และความโลภซึ่งเป็นการไหว้รูปเคารพ.” (โกโล. 3:5) คำ “กำจัด” เน้นว่าต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อต่อสู้กับความปรารถนาทางกายที่ผิดศีลธรรม.
13, 14. เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะหลีกเลี่ยงการคิดและการกระทำที่ผิดศีลธรรม?
13 เพื่อรักษาชีวิตไว้ คนเราคงเต็มใจให้แพทย์ตัดแขนหรือขาทิ้ง. ‘การทิ้ง’ ตาและมือของเราในความหมายโดยนัยเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเราจะหลีกเลี่ยงการคิดและการกระทำที่ผิดศีลธรรมซึ่งอาจทำให้เราตายฝ่ายวิญญาณ. การรักษาความสะอาดด้านจิตใจ, ศีลธรรม, และวิญญาณเป็นแนวทางเดียวเท่านั้นที่เราจะพ้นจากการทำลายตลอดกาลซึ่งพระคัมภีร์ใช้เกเฮนนาเป็นสัญลักษณ์.
14 เนื่องจากบาปและความไม่สมบูรณ์ที่ได้รับตกทอดมา เราต้องพยายามอย่างมากเพื่อรักษาความสะอาดด้านศีลธรรม. เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าทุบตีร่างกายข้าพเจ้าและจูงมันเยี่ยงทาส เพื่อว่าเมื่อข้าพเจ้าประกาศข่าวดีแก่คนอื่น ๆ แล้ว ข้าพเจ้าจะไม่กลายเป็นคนที่พระเจ้าไม่พอพระทัย.” (1 โค. 9:27) ด้วยเหตุนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะใช้คำแนะนำของพระเยซูในเรื่องศีลธรรม ไม่ปล่อยให้ตัวเราเองกระทำในแนวทางที่แสดงว่าเราขาดความขอบคุณต่อเครื่องบูชาไถ่ของพระองค์.—มัด. 20:28; ฮีบรู 6:4-6.
“จงให้แก่ผู้อื่น”
15, 16. (ก) พระเยซูทรงวางตัวอย่างอะไรไว้ในเรื่องการให้? (ข) คำตรัสของพระเยซูตามบันทึกที่ลูกา 6:38 หมายถึงอะไร?
15 คำสอนและตัวอย่างอันยอดเยี่ยมของพระเยซูส่งเสริมเราให้มีน้ำใจในการให้. พระองค์ทรงแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้ออย่างยิ่งด้วยการเสด็จมายังโลกเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ไม่สมบูรณ์. (อ่าน 2 โครินท์ 8:9.) พระเยซูทรงเต็มพระทัยสละฐานะที่มีเกียรติในสวรรค์เพื่อมาเป็นมนุษย์และประทานชีวิตเพื่อมนุษย์ผิดบาป ซึ่งบางคนจะได้รับความมั่งคั่งในสวรรค์ด้วยการเป็นรัชทายาทร่วมในราชอาณาจักรกับพระองค์. (โรม 8:16, 17) และเห็นได้ชัดเจนว่าพระเยซูทรงสนับสนุนให้เรามีน้ำใจเอื้อเฟื้อเมื่อพระองค์ตรัสว่า:
16 “จงให้แก่ผู้อื่นแล้วผู้อื่นจะให้แก่เจ้า. เขาจะเทใส่กระเป๋าที่หน้าอกของเจ้าจนเต็ม กดและเขย่าให้แน่นและใส่จนล้น. เพราะเจ้าตวงให้เขาอย่างไร เขาจะตวงให้เจ้าอย่างนั้น.” (ลูกา 6:38) ‘การเทใส่กระเป๋าที่หน้าอก’ เป็นสิ่งที่พ่อค้าบางคนทำเป็นปกติโดยเอาของที่เขาขายใส่ในช่องที่อกเสื้อของผู้ซื้อ ซึ่งส่วนบนของเสื้อหลวม ๆ ของเขาไขว้ทับกันและมีผ้าคาดเอวคาดอยู่ทำให้มีช่องที่ใส่ของได้. ความเอื้อเฟื้อที่เราแสดงออกด้วยความรู้สึกจากใจจริงอาจส่งผลทำให้เราได้รับความเอื้อเฟื้ออย่างมากเป็นการตอบแทน โดยที่อาจเป็นอย่างนั้นในยามที่เราลำบาก.—ผู้ป. 11:2.
17. พระยะโฮวาทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมอะไรไว้ในเรื่องการให้ และการให้แบบใดจะทำให้เรามีความยินดี?
17 พระยะโฮวาทรงรักคนที่ให้ด้วยใจยินดีและประทานบำเหน็จแก่พวกเขา. พระองค์เองทรงวางตัวอย่างอันยอดเยี่ยมไว้ โดยประทานพระบุตรของพระองค์ “เพื่อทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระบุตรจะไม่ถูกทำลาย แต่จะมีชีวิตนิรันดร์.” (โย. 3:16) เปาโลเขียนว่า “คนที่หว่านอย่างมากมายก็จะเก็บเกี่ยวได้มากมาย. ให้แต่ละคนทำอย่างที่เขามุ่งหมายไว้ในใจ ไม่ใช่ด้วยฝืนใจหรือถูกบังคับ เพราะว่าพระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยใจยินดี.” (2 โค. 9:6, 7) การใช้เวลา, กำลัง, และทรัพย์สินที่เรามีเพื่อส่งเสริมการนมัสการแท้ย่อมทำให้เรามีความยินดีและได้รับบำเหน็จอย่างอุดม.—อ่านสุภาษิต 19:17; ลูกา 16:9.
“อย่าเป่าแตรข้างหน้าเจ้า”
18. เราจะ “ไม่ได้รับบำเหน็จ” จากพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ถ้าเราทำอย่างไร?
18 “จงระวัง อย่าทำการชอบธรรมต่อหน้ามนุษย์เพื่อให้เขาเห็น มิฉะนั้น พวกเจ้าจะไม่ได้รับบำเหน็จจากพระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์.” (มัด. 6:1) เมื่อตรัสถึง “การชอบธรรม” พระเยซูทรงหมายถึงการกระทำที่สอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้า. พระองค์ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรแสดงความเลื่อมใสพระเจ้าในที่สาธารณะ เพราะพระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ให้ความสว่างของ [พวกเขา] ส่องไปต่อหน้าผู้คน.” (มัด. 5:14-16) แต่เราจะ “ไม่ได้รับบำเหน็จ” จากพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ถ้าเราทำอะไรบางอย่าง ‘เพื่อให้คนเห็น’ และเพื่อจะได้รับคำชม เหมือนนักแสดงที่แสดงบนเวทีในโรงละคร. ถ้าเรามีแรงกระตุ้นอย่างนั้น เราจะไม่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเจ้าและไม่ได้รับพระพรถาวรจากการปกครองของราชอาณาจักร.
19, 20. (ก) พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่าอย่า “เป่าแตร” เมื่อ “ให้ทาน”? (ข) เราจะทำอย่างไรไม่ให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไร?
19 หากเรามีทัศนะที่ถูกต้อง เราจะทำตามคำแนะนำของพระเยซูที่ว่า “ฉะนั้น เมื่อเจ้าให้ทาน อย่าเป่าแตรข้างหน้าเจ้าเหมือนคนหน้าซื่อใจคดทำในธรรมศาลาและตามถนนเพื่อให้คนยกย่อง. เราบอกเจ้าทั้งหลายตามจริงว่า พวกเขาได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.” (มัด. 6:2) ‘การให้ทาน’ คือการบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนยากจน. (อ่านยะซายา 58:6, 7.) พระเยซูและเหล่าอัครสาวกมีกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือคนยากจน. (โย. 12:5-8; 13:29) เนื่องจากในการให้ทานแก่คนยากจนไม่ได้มีการเป่าแตรข้างหน้าจริง ๆ เห็นได้ชัดว่าพระเยซูทรงใช้อติพจน์ (คำกล่าวเกินจริง) เมื่อพระองค์ตรัสว่าเราไม่ควร “เป่าแตร” ข้างหน้าเราเมื่อ “ให้ทาน.” เราไม่โฆษณาการให้ทานของเราให้คนอื่นรู้ เหมือนกับที่พวกฟาริซายชาวยิวทำ. พระเยซูทรงเรียกพวกเขาว่าคนหน้าซื่อใจคดเพราะพวกเขาโฆษณาการบริจาคทานที่ตนให้ “ในธรรมศาลาและตามถนน.” คนหน้าซื่อใจคดเหล่านี้ “ได้รับบำเหน็จของเขาแล้ว.” การได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากคนทั่วไปและการที่เขาอาจได้นั่งในแถวหน้าเคียงข้างรับบีผู้มีชื่อเสียงในธรรมศาลาเป็นบำเหน็จทั้งหมดที่พวกเขาจะได้ เพราะพระยะโฮวาจะไม่ประทานสิ่งใดแก่เขาเลย. (มัด. 23:6) แต่เหล่าสาวกของพระคริสต์ต้องทำอย่างไร? พระเยซูทรงบอกพวกเขา—และพวกเราด้วย ดังนี้:
20 “แต่เมื่อเจ้าให้ทาน อย่าให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไร เพื่อทานของเจ้าจะเป็นทานลับ แล้วพระบิดาของเจ้าผู้ทอดพระเนตรอยู่ในที่ลับลี้จะตอบแทนแก่เจ้า.” (มัด. 6:3, 4) ตามปกติ มือเราทำงานประสานกัน. ด้วยเหตุนั้น การไม่ให้มือซ้ายรู้ว่ามือขวาทำอะไรหมายความว่าเราไม่โฆษณาให้คนอื่นรู้ว่าเราบริจาคทาน แม้แต่กับคนที่ใกล้ชิดเราเช่นเดียวกับที่มือซ้ายของเราใกล้ชิดกับมือขวา.
21. การตอบแทนจากพระองค์ผู้ “ทอดพระเนตรอยู่ในที่ลับลี้” หมายรวมถึงอะไรบ้าง?
21 ถ้าเราไม่โอ้อวดเรื่องการให้ของเราเพื่อช่วยเหลือคนอื่น “ทาน” ของเราก็จะเป็นทานลับ. แล้วพระบิดาของเรา “ผู้ทอดพระเนตรอยู่ในที่ลับลี้” จะทรงตอบแทนเรา. เนื่องจากพระบิดาของเราทรงพำนักอยู่ในสวรรค์ซึ่งตามนุษย์ไม่อาจเห็นได้ พระองค์ทรงอยู่ “ในที่ลับลี้” เสมอสำหรับมนุษย์เรา. (โย. 1:18) การตอบแทนจากพระองค์ผู้ “ทอดพระเนตรอยู่ในที่ลับลี้” หมายรวมถึงการที่พระยะโฮวาทรงโปรดให้เรามีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระองค์, ทรงให้อภัยบาปของเรา, และประทานชีวิตนิรันดร์แก่เรา. (สุภา. 3:32; โย. 17:3; เอเฟ. 1:7) ทั้งหมดนั้นดีกว่าการได้คำยกย่องสรรเสริญจากมนุษย์มากเลยทีเดียว!
คำสอนอันล้ำค่าที่ควรยึดถือไว้ให้มั่น
22, 23. เหตุใดเราควรยึดถือคำสอนของพระเยซูไว้ให้มั่น?
22 คำเทศน์บนภูเขานับเป็นคำสอนที่เป็นอัญมณีฝ่ายวิญญาณซึ่งมีหลายเหลี่ยมที่งดงามอย่างแน่นอน. ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าคำเทศน์นี้มีถ้อยคำอันล้ำค่าซึ่งสามารถทำให้เรามีความยินดีแม้อยู่ในโลกที่ยุ่งยากลำบาก. เราจะมีความสุขหากเรายึดถือคำสอนของพระเยซูไว้ให้มั่นและให้คำสอนนี้ปรับเจตคติและวิถีชีวิตของเรา.
23 ทุกคนที่ “ได้ยิน” และ “ทำตาม” คำสอนของพระเยซูจะได้รับพระพร. (อ่านมัดธาย 7:24, 25.) ดังนั้น ให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำของพระเยซู. จะมีการพิจารณาคำสอนบางอย่างในคำเทศน์บนภูเขาอีกในบทความสุดท้ายของชุดบทความนี้.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เหตุใดจึงสำคัญที่จะคืนดีกับพี่น้องที่ขุ่นเคืองคุณ?
• เราจะหลีกเลี่ยงการหลงผิดเพราะ “ตาขวา” ได้อย่างไร?
• เราควรมีทัศนะอย่างไรในเรื่องการให้?
[ภาพหน้า 11]
เป็นเรื่องที่ดีสักเพียงไรถ้าคุณ “คืนดี” กับเพื่อนร่วมความเชื่อที่ขุ่นเคืองคุณ!
[ภาพหน้า 12, 13]
พระยะโฮวาทรงอวยพรคนที่ให้ด้วยใจยินดี