เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร?
“เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้าอย่างไร จงทำอย่างนั้นต่อเขา.”—ลูกา 6:31.
1, 2. (ก) คำเทศน์บนภูเขาคืออะไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้และบทความถัดไป?
พระเยซูคริสต์ทรงเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง. ครั้งหนึ่ง เมื่อพวกหัวหน้าศาสนาศัตรูของพระองค์ส่งคนไปจับพระองค์ พวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกลับมามือเปล่าและกล่าวว่า “ไม่เคยมีใครพูดเหมือนคนนี้เลย.” (โย. 7:32, 45, 46) คำบรรยายหนึ่งที่ยอดเยี่ยมของพระเยซูได้แก่คำเทศน์บนภูเขา. คำเทศน์นี้มีบันทึกไว้ในหนังสือกิตติคุณของมัดธายบท 5 ถึงบท 7 และมีข้อความคล้าย ๆ กันที่ลูกา 6:20-49.a
2 คำตรัสที่อาจนับได้ว่าเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในคำเทศน์นั้นก็คือคำตรัสที่มักเรียกกันว่ากฎทอง. คำตรัสนี้เกี่ยวข้องกับวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น. พระเยซูตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้าอย่างไร จงทำอย่างนั้นต่อเขา.” (ลูกา 6:31) และพระองค์ทรงทำดีต่อผู้คนจริง ๆ! พระเยซูทรงรักษาคนป่วยและแม้แต่ปลุกคนที่เสียชีวิตให้เป็นขึ้นจากตาย. แต่ผู้คนได้รับพระพรเป็นพิเศษเมื่อเขาตอบรับข่าวดีที่พระองค์ทรงสอน. (อ่านลูกา 7:20-22.) พวกเราที่เป็นพยานพระยะโฮวายินดีเข้าร่วมในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรคล้าย ๆ กันนั้น. (มัด. 24:14; 28:19, 20) ในบทความนี้และบทความถัดไป เราจะพิจารณาคำตรัสของพระเยซูเกี่ยวกับงานนี้ รวมทั้งแง่มุมอื่น ๆ ในคำเทศน์บนภูเขาซึ่งเกี่ยวกับวิธีที่เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่น.
มีจิตใจอ่อนโยน
3. คุณจะให้คำจำกัดความของคำว่าจิตใจอ่อนโยนอย่างไร?
3 พระเยซูตรัสว่า “คนที่จิตใจอ่อนโยนก็มีความสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก.” (มัด. 5:5) ในพระคัมภีร์ การเป็นคนจิตใจอ่อนโยนไม่เกี่ยวข้องเลยกับการเป็นคนอ่อนแอ. การมีจิตใจอ่อนโยนคือการแสดงความสุภาพนุ่มนวลตามข้อเรียกร้องของพระเจ้า. เจตคตินี้สะท้อนออกมาให้เห็นในวิธีที่เราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์. ตัวอย่างเช่น เราไม่ “ทำชั่วตอบแทนชั่วแก่ผู้หนึ่งผู้ใด.”—โรม 12:17-19.
4. เหตุใดคนที่จิตใจอ่อนโยนจึงมีความสุข?
4 คนที่จิตใจอ่อนโยนมีความสุขเพราะ “เขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก.” พระเยซูผู้ “อ่อนโยนและถ่อมใจ” ทรงเป็น “ผู้รับมรดกทั้งมวล” และด้วยเหตุนั้นจึงทรงเป็นบุคคลหลักที่จะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดกในฐานะผู้ปกครอง. (มัด. 11:29; ฮีบรู 1:2; เพลง. 2:8) มีการบอกไว้ล่วงหน้าว่าจะมีผู้ร่วมปกครองราชอาณาจักรในสวรรค์กับพระมาซีฮาผู้ถูกเรียกว่า “บุตรของมนุษย์.” (ดานิ. 7:13, 14, 21, 22, 27) ชนผู้ถูกเจิมที่จิตใจอ่อนโยน 144,000 คน ซึ่งเป็น “ผู้รับมรดกร่วมกับพระคริสต์” จะร่วมรับแผ่นดินโลกเป็นมรดกกับพระเยซูด้วย. (โรม 8:16, 17; วิ. 14:1) ผู้มีจิตใจอ่อนโยนคนอื่น ๆ จะได้รับพระพรให้มีชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกนี้ที่อยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักร.—เพลง. 37:11.
5. การมีความอ่อนโยนแบบพระคริสต์มีผลต่อบุคลิกภาพของเราอย่างไร?
5 ถ้าเราเป็นคนหยาบกระด้าง นั่นคงจะเหมือนกับว่าเรากำลังทดสอบความอดทนของคนอื่น ๆ และทำให้คนอื่นไม่อยากอยู่ใกล้เรา. แต่การมีความอ่อนโยนเหมือนพระคริสต์ทำให้เราเป็นสมาชิกที่น่ารักของประชาคมและเสริมสร้างผู้อื่นฝ่ายวิญญาณ. ความอ่อนโยนเป็นผลอย่างหนึ่งที่พลังปฏิบัติการของพระเจ้าก่อให้เกิดขึ้นภายในตัวเรา ถ้าเรา “ดำเนินชีวิตตามการทรงนำจากพระวิญญาณ.” (อ่านกาลาเทีย 5:22-25.) แน่นอน เราต้องการถูกนับว่าเป็นคนจิตใจอ่อนโยนที่ได้รับการนำจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระยะโฮวา!
คนที่เมตตาช่างมีความสุขสักเพียงไร!
6. “คนที่เมตตา” มีคุณลักษณะเด่นอะไร?
6 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูยังตรัสด้วยว่า “คนที่เมตตาก็มีความสุข เพราะเขาจะได้รับความเมตตา.” (มัด. 5:7) “คนที่เมตตา” มีความเห็นใจ, คำนึงถึงความรู้สึก, และแม้กระทั่งสงสารคนที่เสียเปรียบทางสังคม. พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนเพราะพระองค์ “ทรงรู้สึกสงสาร.” (มัด. 14:14; 20:34) ความสงสารและความเห็นใจจึงน่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความเมตตา.—ยโก. 2:13.
7. ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ทำอะไร?
7 เมื่อคนกลุ่มหนึ่งมาพบพระเยซูขณะทรงไปพักผ่อน “พระองค์ทรงรู้สึกสงสารพวกเขาเพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีผู้เลี้ยง.” ด้วยเหตุนั้น “พระองค์จึงทรงสอนพวกเขาหลายเรื่อง.” (มโก. 6:34) เราจะมีความยินดีสักเพียงไรเมื่อเราทำคล้าย ๆ กันโดยบอกคนอื่นเกี่ยวกับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า!
8. เหตุใดคนที่เมตตาจึงมีความสุข?
8 คนที่เมตตามีความสุขเพราะเขา “จะได้รับความเมตตา.” เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้คนด้วยความเมตตา ตามปกติแล้วพวกเขาก็จะตอบสนองคล้าย ๆ กัน. (ลูกา 6:38) นอกจากนั้น พระเยซูตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายให้อภัยการผิดที่มนุษย์ทำต่อเจ้า พระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์ก็จะให้อภัยเจ้าด้วย.” (มัด. 6:14) เฉพาะคนที่เมตตาเท่านั้นที่จะได้รับการอภัยบาปและความพอพระทัยจากพระเจ้า ซึ่งเป็นเหตุให้เขามีความสุข.
เหตุใด “ผู้ที่สร้างสันติ” จึงมีความสุข?
9. เราจะทำอย่างไรถ้าเราเป็นคนที่สร้างสันติ?
9 พระเยซูทรงอ้างถึงเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีความสุขโดยตรัสว่า “ผู้ที่สร้างสันติก็มีความสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่า ‘บุตรของพระเจ้า.’ ” (มัด. 5:9) ถ้าเราเป็นคนสร้างสันติ เราจะไม่มองข้ามหรือมีส่วนร่วมในการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจ “กระทำให้มิตรสนิทแตกแยกกัน” เช่นการพูดใส่ร้าย. (สุภา. 16:28) ทั้งทางคำพูดและการกระทำ เราจะพยายามสร้างสันติสุขกับผู้คนทั้งภายในและภายนอกประชาคมคริสเตียน. (ฮีบรู 12:14) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะพยายามเต็มที่เพื่อจะมีสันติสุขกับพระยะโฮวาพระเจ้า.—อ่าน 1 เปโตร 3:10-12.
10. เหตุใด “ผู้ที่สร้างสันติ” จึงมีความสุข?
10 พระเยซูตรัสว่า “ผู้ที่สร้างสันติ” มีความสุข “เพราะเขาจะได้ชื่อว่า ‘บุตรของพระเจ้า.’ ” เนื่องจากคริสเตียนผู้ถูกเจิมแสดงความเชื่อว่าพระเยซูทรงเป็นพระมาซีฮา พวกเขาจึงมี “สิทธิ์เป็นบุตรของพระเจ้า.” (โย. 1:12; 1 เป. 2:24) จะว่าอย่างไรสำหรับ “แกะอื่น” ของพระเยซูที่เป็นผู้สร้างสันติ? พระองค์จะทรงเป็น “พระบิดาองค์ถาวร” ของพวกเขาในช่วงรัชสมัยพันปีที่ทรงปกครองกับรัชทายาทร่วมในสวรรค์. (โย. 10:14, 16; ยซา. 9:6; วิ. 20:6) เมื่อรัชสมัยพันปีสิ้นสุดลง ผู้สร้างสันติเหล่านั้นจะได้เป็นบุตรของพระเจ้าทางแผ่นดินโลกในความหมายครบถ้วนเต็มที่.—1 โค. 15:27, 28.
11. เราจะปฏิบัติต่อคนอื่น ๆ อย่างไรถ้าเราได้รับการชี้นำโดย “สติปัญญาจากเบื้องบน”?
11 เพื่อจะมีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพระยะโฮวา “พระเจ้าแห่งสันติสุข” เราต้องเลียนแบบคุณลักษณะของพระองค์ รวมถึงการเป็นผู้สร้างสันติ. (ฟิลิป. 4:9) ถ้าเราพร้อมจะให้ “สติปัญญาจากเบื้องบน” ชี้นำ เราจะปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างที่มีสันติสุข. (ยโก. 3:17) จริงทีเดียว เราจะเป็นผู้สร้างสันติที่มีความสุข.
“จงให้ความสว่างของพวกเจ้าส่องไป”
12. (ก) พระเยซูตรัสอะไรเกี่ยวกับความสว่างฝ่ายวิญญาณ? (ข) เราจะให้ความสว่างของเราส่องไปได้อย่างไร?
12 เราปฏิบัติต่อผู้คนอย่างดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้เมื่อเราช่วยพวกเขาให้รับความสว่างฝ่ายวิญญาณจากพระเจ้า. (เพลง. 43:3) พระเยซูทรงบอกเหล่าสาวกว่าพวกเขาเป็น “ความสว่างของโลก” และทรงกระตุ้นว่าให้ความสว่างของพวกเขาส่องไปเพื่อผู้คนจะเห็นว่าพวกเขาทำ “การงานอันดี” หรือทำดีต่อผู้อื่น. การทำอย่างนั้นจะทำให้มีการส่องสว่างฝ่ายวิญญาณออกไป “ต่อหน้าผู้คน” หรือเพื่อเป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ. (อ่านมัดธาย 5:14-16.) ปัจจุบัน เราให้แสงสว่างของเราส่องออกไปโดยทำดีต่อเพื่อนบ้านและโดยร่วมในงานประกาศข่าวดี “ไม่ว่า . . . ที่ไหนในโลก” กล่าวคือ “แก่ทุกชาติ.” (มัด. 26:13; มโก. 13:10) นับเป็นสิทธิพิเศษจริง ๆ ที่เราได้รับ!
13. ผู้คนสังเกตเห็นเราเนื่องจากอะไร?
13 พระเยซูตรัสว่า “เมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขาจะซ่อนไว้ไม่ได้.” เมืองใดที่ตั้งอยู่บนภูเขาย่อมเห็นได้เด่นชัด. คล้ายกัน ผู้คนสังเกตเห็นการงานที่ดีที่เราทำในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรและคุณลักษณะต่าง ๆ เช่น การรู้จักประมาณตนและความบริสุทธิ์.—ทิทุส 2:1-14.
14. (ก) ตะเกียงที่ใช้กันโดยทั่วไปในสมัยศตวรรษแรกเป็นอย่างไร? (ข) การที่เราไม่ปิดซ่อนความสว่างฝ่ายวิญญาณไว้ใต้ “ถัง” หมายถึงอะไร?
14 พระเยซูตรัสถึงการจุดตะเกียงและตั้งไว้บนเชิงตะเกียง ไม่ใช่เอาถังครอบไว้ เพื่อให้ตะเกียงนั้นส่องแสงแก่ทุกคนในเรือน. ตะเกียงที่ใช้กันทั่วไปในศตวรรษแรกเป็นตะเกียงที่ทำจากดินเผาซึ่งมีไส้ตะเกียงที่ดูดของเหลว (ปกติจะใช้น้ำมันมะกอก) ขึ้นไปเลี้ยงเปลวไฟ. เนื่องจากตะเกียงมักถูกตั้งไว้บนเชิงตะเกียงที่ทำด้วยไม้หรือโลหะ มันจึง “ส่องแสงแก่ทุกคนในเรือน.” ไม่มีใครจะจุดตะเกียงแล้วเอา “ถัง” ครอบไว้. พระเยซูไม่ประสงค์ให้เหล่าสาวกซ่อนความสว่างฝ่ายวิญญาณไว้ใต้ถังโดยนัย. ดังนั้น เราต้องให้ความสว่างของเราส่องออกไป อย่ายอมให้การต่อต้านหรือการข่มเหงทำให้เราปิดซ่อนหรือเก็บความจริงไว้กับตัวเราเอง.
15. “การงานอันดี” ของเราส่งผลต่อบางคนอย่างไร?
15 หลังจากพระเยซูตรัสถึงตะเกียงที่ส่องสว่างแล้วพระองค์จึงทรงบอกเหล่าสาวกว่า “ทำนองเดียวกัน จงให้ความสว่างของพวกเจ้าส่องไปต่อหน้าผู้คน เพื่อพวกเขาจะเห็นการงานอันดีของเจ้าและยกย่องสรรเสริญพระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์.” เนื่องด้วย “การงานอันดี” ของเรา บางคนจึง “ยกย่องสรรเสริญ” พระเจ้าด้วยการเข้ามาเป็นผู้รับใช้ของพระองค์. นั่นนับเป็นแรงกระตุ้นที่ดีจริง ๆ ที่ทำให้เรา ‘ส่องแสงดุจดวงสว่างในโลก’ ต่อ ๆ ไป!—ฟิลิป. 2:15.
16. การเป็น “ความสว่างของโลก” เรียกร้องอะไรจากเรา?
16 เพื่อจะเป็น “ความสว่างของโลก” เราจำเป็นต้องเข้าร่วมในงานประกาศและสอนคนให้เป็นสาวก. แต่มีสิ่งอื่นที่เราจำเป็นต้องทำด้วย. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “จงประพฤติอย่างลูกของความสว่างต่อไป เพราะผลของความสว่างประกอบด้วยความดีทุกอย่าง ความชอบธรรม และความซื่อตรง.” (เอเฟ. 5:8, 9) เราต้องเป็นแบบอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องความประพฤติที่สอดคล้องกับมาตรฐานของพระเจ้า. ที่จริง เราต้องเอาใจใส่คำแนะนำของอัครสาวกเปโตร ที่ว่า “จงประพฤติอย่างดีงามท่ามกลางชนต่างชาติต่อ ๆ ไป เพื่อว่าในเรื่องที่พวกเขากล่าวร้ายท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เมื่อพวกเขาเห็นการดีของพวกท่าน พวกเขาจะสรรเสริญพระเจ้าในวันที่พระองค์ทรงตรวจตรา.” (1 เป. 2:12) แต่เราควรทำอย่างไรหากมีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างเรากับเพื่อนร่วมความเชื่อ?
‘จงคืนดีกับพี่น้อง’
17-19. (ก) “ของถวาย” ที่กล่าวถึงในมัดธาย 5:23, 24 คืออะไร? (ข) เป็นเรื่องสำคัญเพียงไรที่จะคืนดีกับพี่น้อง และพระเยซูทรงแสดงเรื่องนี้อย่างไร?
17 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูทรงเตือนเหล่าสาวกว่าอย่าเก็บความโกรธและความเกลียดพี่น้องไว้ในใจ. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พวกเขาต้องรีบไปคืนดีกับพี่น้องที่รู้สึกขุ่นเคือง. (อ่านมัดธาย 5:21-25.) โปรดสังเกตคำแนะนำของพระเยซูให้ดี ๆ. ถ้าคุณกำลังนำของถวายมาที่แท่นบูชาและนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องมีเรื่องขุ่นเคืองคุณ คุณต้องทำอะไร? คุณต้องละของถวายไว้หน้าแท่นบูชาและไปคืนดีกับพี่น้องก่อน. หลังจากทำอย่างนั้นแล้ว คุณจึงจะกลับมาถวายของได้.
18 ในสมัยก่อน “ของถวาย” ดังกล่าวมักจะเป็นเครื่องบูชาที่ผู้คนถวายที่พระวิหารของพระยะโฮวา. เครื่องบูชาที่เป็นสัตว์มีความสำคัญมาก เพราะพระเจ้าทรงกำหนดไว้ว่าเครื่องบูชานี้เป็นส่วนหนึ่งในการนมัสการของชาติอิสราเอลภายใต้พระบัญญัติของโมเซ. แต่ถ้าคุณนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องของคุณมีเรื่องขุ่นเคืองคุณอยู่ การแก้ไขปัญหานั้นให้เรียบร้อยเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งกว่าการถวายของนั้น. พระเยซูตรัสว่า “จงวางของถวายไว้หน้าแท่นบูชาและไปคืนดีกับพี่น้องก่อน แล้วค่อยกลับมาถวายของของเจ้า.” การคืนดีกับพี่น้องเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำก่อนจะถวายเครื่องบูชาที่พระบัญญัติกำหนดไว้.
19 พระเยซูไม่ได้จำกัดว่าคำตรัสของพระองค์ใช้ได้กับการถวายเครื่องบูชาแบบใดและการทำผิดแบบไหนโดยเฉพาะ. ด้วยเหตุนั้น ต้องเลื่อนการถวายเครื่องบูชาใด ๆ ก็ตามออกไปถ้าผู้ถวายนึกขึ้นได้ว่าพี่น้องมีเรื่องขุ่นเคืองเขาอยู่. ถ้าของถวายนั้นเป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ต้องละสัตว์นั้นไว้ “หน้าแท่นบูชา” สำหรับถวายเครื่องบูชาเผาที่ลานของปุโรหิตในพระวิหาร. หลังจากแก้ไขปัญหานั้นเรียบร้อยแล้ว คนที่ทำให้พี่น้องขุ่นเคืองจึงจะกลับมาถวายเครื่องบูชา.
20. เหตุใดเราควรพยายามคืนดีกันโดยเร็วถ้าเรามีเรื่องโกรธเคืองพี่น้อง?
20 จากมุมมองของพระเจ้า ความสัมพันธ์ของเรากับพี่น้องเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการนมัสการแท้. สัตว์ที่ใช้เป็นเครื่องบูชาไม่มีความหมายเลยสำหรับพระยะโฮวาถ้าคนที่ถวายไม่ได้ปฏิบัติต่อพี่น้องอย่างเหมาะสม. (มีคา 6:6-8) ดังนั้น พระเยซูทรงกระตุ้นเหล่าสาวกให้ “ปรองดองกับคู่ความโดยเร็ว.” (มัด. 5:25, ฉบับแปลใหม่) เปาโลเขียนคล้าย ๆ กันว่า “ถ้าจะโกรธก็โกรธเถิด แต่อย่าทำบาป อย่าโกรธจนถึงดวงอาทิตย์ตก ทั้งอย่าเปิดช่องให้พญามาร.” (เอเฟ. 4:26, 27) ถ้าเราโกรธอย่างที่มีเหตุผลจะโกรธ เราควรพยายามแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยโดยเร็วเพื่อเราจะไม่อยู่ในสภาพขุ่นเคืองนาน ๆ ซึ่งจะทำให้พญามารสามารถฉวยโอกาสล่อลวงเรา.—ลูกา 17:3, 4.
จงปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความนับถือเสมอ
21, 22. (ก) เราจะใช้คำแนะนำของพระเยซูที่เพิ่งพิจารณากันไปได้อย่างไร? (ข) เราจะพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
21 การทบทวนคำตรัสบางอย่างจากคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซูน่าจะช่วยเราให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความกรุณาและนับถือ. แม้ว่าเราทุกคนไม่สมบูรณ์ เราสามารถใช้คำแนะนำของพระเยซูเพราะพระองค์ไม่คาดหมายเกินกว่าที่เราจะทำได้ และพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ก็เช่นกัน. ด้วยการอธิษฐาน, ความพยายามอย่างจริงใจ, และการช่วยเหลือจากพระยะโฮวาพระเจ้า เราสามารถมีจิตใจอ่อนโยน, มีความเมตตา, และสร้างสันติ. เราสามารถสะท้อนความสว่างฝ่ายวิญญาณที่ส่องออกไปเพื่อยกย่องสรรเสริญพระยะโฮวา. นอกจากนั้น เราสามารถสร้างสันติกับพี่น้องของเราเมื่อจำเป็นต้องทำอย่างนั้น.
22 การนมัสการที่พระยะโฮวาทรงยอมรับหมายรวมถึงการปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อเพื่อนบ้านด้วย. (มโก. 12:31) ในบทความถัดไป เราจะพิจารณาคำตรัสอื่น ๆ ในคำเทศน์บนภูเขาที่น่าจะช่วยเราให้ทำดีต่อผู้อื่นเสมอ. อย่างไรก็ตาม หลังจากใคร่ครวญจุดต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วซึ่งยกมาจากคำบรรยายที่โดดเด่นของพระเยซู เราอาจถามตัวเองว่า ‘ฉันปฏิบัติต่อผู้อื่นดีขนาดไหน?’
[เชิงอรรถ]
a ในการศึกษาส่วนตัว คงจะเป็นประโยชน์มากถ้าคุณจะอ่านพระคัมภีร์ส่วนดังกล่าวก่อนพิจารณาบทความนี้และบทความถัดไป.
คุณจะตอบอย่างไร?
• การมีจิตใจอ่อนโยนหมายความอย่างไร?
• เหตุใด “คนที่เมตตา” จึงมีความสุข?
• เราจะให้ความสว่างของเราส่องออกไปได้โดยวิธีใด?
• เหตุใดเราควรรีบ ‘สร้างสันติกับพี่น้อง’ โดยเร็ว?
[ภาพหน้า 4]
การประกาศข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรเป็นวิธีสำคัญในการให้ความสว่างของเราส่องออกไป
[ภาพหน้า 5]
คริสเตียนต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความประพฤติตามมาตรฐานของพระเจ้า
[ภาพหน้า 6]
จงพยายามสุดความสามารถที่จะสร้างสันติกับพี่น้อง