วิธีเสริมสร้างความผูกพันในชีวิตสมรส
พวกฟาริซายซึ่งพยายามจะทำให้พระเยซูคริสต์ ครูผู้ใหญ่ยิ่งติดกับนั้นได้ถามว่า “ผู้ชายจะหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เป็นการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่?” พระองค์ทรงตอบพวกเขาโดยพาดพิงถึงการสมรสครั้งแรกของมนุษย์ และชี้แจงมาตรฐานในเรื่องนั้นว่า “ซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”
พวกฟาริซายได้แย้งว่าโมเซทำการจัดเตรียมเพื่อให้มีการหย่าโดยสั่งให้ออก “หนังสือหย่า.” พระเยซูตรัสตอบพวกเขาว่า “โมเซได้ยอมให้ท่านทั้งหลายหย่าภรรยาของตนเพราะใจท่านทั้งหลายแข็งกะด้าง. แต่เมื่อเดิมมิได้เป็นอย่างนั้น. ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า, ผู้ใดหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เว้นแต่ผิดกับชายอื่น, แล้วไปมีภรรยาใหม่, ก็ผิดประเวณี.”—มัดธาย 19:3-9.
เดิมที การสมรสเป็นความผูกพันแบบถาวร. แม้แต่ความตายก็จะไม่ทำให้คู่สมรสแรกนั้นแยกจากกัน เพราะเขาทั้งสองถูกสร้างเป็นมนุษย์สมบูรณ์โดยมีชีวิตนิรันดร์เป็นเป้าหมาย. อย่างไรก็ดี เขาทั้งสองได้ทำบาป. บาปของเขาได้นำความเสียหายมาสู่ชีวิตสมรสของมนุษย์. ความตายที่เป็นศัตรูเริ่มแยกคู่สมรสจากกัน. พระเจ้าทรงถือว่าความตายเป็นจุดจบของชีวิตสมรส ดังที่เราอ่านในคัมภีร์ไบเบิล: “ถ้าสามียังมีชีวิตอยู่ตราบใด, ภรรยาต้องอยู่กับสามีตราบนั้น แต่ถ้าสามีตายแล้ว, นางก็มีอิสระสมรสกับชายใดได้ตามใจนาง, แต่ต้องสมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 7:39) นี้ต่างกันทีเดียวจากความคิดทางศาสนา เช่น ธรรมเนียมของฮินดูในคราวที่สามีตาย ภรรยาถูกชักชวนหรือถูกบังคับให้เผาตัวเองตายตามไปด้วยความเชื่อที่ว่าความผูกพันของการสมรสดำเนินต่อไปในชีวิตหลังจากตายแล้ว.
การจัดเตรียมตามพระบัญญัติของโมเซ
จนถึงสมัยที่มีการประทานพระบัญญัติของโมเซให้ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเสื่อมลงถึงขั้นที่พระยะโฮวาทรงทำการจัดเตรียมเพื่อการหย่าเพราะความใจแข็งกระด้างของชนยิศราเอล. (พระบัญญัติ 24:1) ไม่ใช่พระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับชนยิศราเอลที่จะใช้กฎหมายนี้อย่างผิด ๆ เพื่อหย่าภรรยาของเขาเนื่องจากความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ดังที่ปรากฏชัดจากพระบัญชาของพระองค์ที่ว่าเขาต้องรักเพื่อนบ้านของเขาเหมือนรักตัวเอง. (เลวีติโก 19:18) แม้แต่การออกหนังสือหย่าก็ใช้เป็นเครื่องยับยั้ง เพราะในขั้นตอนการเขียนหนังสือหย่านั้น สามีที่ต้องการหย่า ต้องปรึกษาพวกผู้ชายที่ได้รับมอบอำนาจอย่างเหมาะสม ผู้ซึ่งจะพยายามดำเนินการเพื่อให้มีการคืนดีกัน. เปล่าเลย พระเจ้ามิได้ประทานกฎหมายข้อนี้เพื่อตั้งสิทธิใด ๆ ที่จะหย่าภรรยาของตน “เพราะเหตุต่าง ๆ [ทุกอย่าง, ล.ม.].”—มัดธาย 19:3.
อย่างไรก็ดี ในที่สุดชนยิศราเอลได้มองข้ามเจตนารมณ์ของกฎหมายและใช้ข้อปลีกย่อยของกฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในการหย่าโดยอาศัยพื้นฐานใด ๆ ที่เหมาะกับความคิดเพ้อเจ้อของเขา. พอถึงศตวรรษที่ห้าก่อนสากลศักราช พวกเขาได้ทรยศต่อภรรยาของเขาซึ่งได้กันเมื่อครั้งหนุ่มสาว หย่าภรรยาเพราะเหตุต่าง ๆ หลายอย่าง. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่พวกเขาอย่างหนักแน่นว่าพระองค์ทรงเกลียดชังการหย่าร้าง. (มาลาคี 2:14-16) โดยถือเอาภูมิหลังนี้มาเป็นฉาก พระเยซูทรงประณามการหย่าดังที่ชนยิศราเอลปฏิบัติกันอยู่ในสมัยของพระองค์.
พื้นฐานอันชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวสำหรับการหย่า
อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงตรัสถึงพื้นฐานอันชอบด้วยกฎหมายอย่างเดียวสำหรับการหย่า: การผิดประเวณี. (มัดธาย 5:31, 32; 19:8, 9) คำที่ได้รับการแปลในที่นี้ว่า “การผิดประเวณี” หมายรวมถึงเพศสัมพันธ์แบบลักลอบทุกชนิดนอกการสมรสตามหลักพระคัมภีร์ ไม่ว่ากับคนที่เป็นเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้ามหรือกับสัตว์.
แม้จะเป็นเช่นนั้นก็ตาม พระเยซูมิได้เสนอแนะการหย่าจากคู่ที่ไม่ซื่อสัตย์. นั่นขึ้นอยู่กับฝ่ายที่ไม่มีความผิดจะพิจารณาดูผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องด้วย แล้วตัดสินใจว่าเขาหรือเธอปรารถนาการหย่าหรือไม่. ภรรยาที่ครุ่นคิดถึงการหย่าโดยอาศัยพื้นฐานตามหลักพระคัมภีร์นี้อาจต้องการพิจารณาคำแถลงของพระเจ้าเมื่อพระองค์ประกาศคำพิพากษาต่อผู้หญิงคนแรกเนื่องด้วยบาปของเธอ. นอกจากการตัดสินประหารชีวิตแล้ว พระเจ้าทรงแจ้งอย่างแน่ชัดแก่ฮาวาว่า “เจ้ายังปรารถนาสามี และเขาจะปกครองตัวเจ้า.” (เยเนซิศ 3:16, ฉบับแปลใหม่) คำอธิบายเกี่ยวกับพระคริสตธรรมเดิม โดย ซี. เอฟ. ไคล์ กับ เอฟ. เดลิตช์ พรรณนาความ “ปรารถนา” นี้ว่าเป็น “ความกระหายที่เกือบจะเป็นเหมือนโรค.” เป็นที่ยอมรับกันว่า ความปรารถนานี้ใช่ว่ารุนแรงถึงขนาดนั้นในภรรยาทุกคน แต่เมื่อภรรยาที่ไม่มีความผิดครุ่นคิดถึงการหย่า เธอคงจะฉลาดที่จะคำนึงถึงความต้องการทางด้านความรู้สึกที่ผู้หญิงได้รับสืบทอดมาจากฮาวา. อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่เพศสัมพันธ์แบบลักลอบได้เสียกันในส่วนของฝ่ายที่มีความผิดอาจนำไปสู่การที่ฝ่ายไม่มีความผิดติดเชื้อจากโรคที่ติดต่อกันทางเพศ รวมทั้งโรคเอดส์ด้วย บางคนได้ตัดสินใจที่จะใช้วิธีการหย่าดังที่พระเยซูทรงชี้แจงไว้นั้น.
ต้นตอของความยุ่งยากในครอบครัว
ความใจแข็งกระด้างของคนมีต้นตอมาจากบาปที่มนุษย์คู่แรกได้กระทำต่อพระเจ้า. (โรม 5:12) เมล็ดแห่งการทะเลาะวิวาทกันในครอบครัวได้ถูกหว่านเมื่อมนุษย์คู่แรกทำบาปต่อพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเขา. เป็นเช่นนี้ไปได้อย่างไร? เมื่อฮาวาผู้หญิงคนแรกถูกงูล่อลวงให้รับประทานจากต้นไม้ที่ต้องห้ามนั้น เธอดำเนินการทันทีและรับประทานผลไม้นั้น. เฉพาะแต่หลังจากเธอได้ทำการตัดสินใจที่สำคัญนั้นไปแล้วที่เธอพูดคุยกับสามีของเธอเกี่ยวกับสิ่งที่งูได้บอกเธอ. (เยเนซิศ 3:6) ถูกแล้ว เธอได้ลงมือปฏิบัติโดยไม่ได้ปรึกษาสามีของเธอ. นี้เป็นแม่แบบของปัญหาที่หลายครอบครัวเผชิญอยู่ในทุกวันนี้—ขาดการสื่อความแบบเปิดใจต่อกัน.
ต่อมา เมื่อเผชิญกับผลสืบเนื่องจากบาปของเขา ทั้งอาดามและฮาวาต่างก็ใช้วิธีการอย่างเดียวกับที่คู่สมรสหลายคู่ใช้กันในทุกวันนี้เมื่อตกอยู่ในความยุ่งยาก กล่าวคือ โยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง. อาดาม ผู้ชายคนแรกโยนความผิดในสิ่งที่เขาได้ทำนั้นให้กับภรรยาของเขาและพระยะโฮวา โดยกล่าวว่า “หญิงที่พระองค์ประทานให้อยู่กินกับข้าพเจ้านั้นส่งผลไม้นั้นให้ข้าพเจ้า ๆ จึงรับประทาน.” แล้วผู้หญิงนั้นก็พูดว่า “งูล่อลวงข้าพเจ้า ๆ จึงได้รับประทาน.”—เยเนซิศ 3:12, 13.
คำแถลงการพิพากษาของพระยะโฮวาต่ออาดามและฮาวายังส่อเค้าล่วงหน้าถึงปัจจัยอีกประการหนึ่งในความยุ่งยากซึ่งจะขยายตัวขึ้น. พระยะโฮวาทรงแจ้งแก่ฮาวาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอกับสามีว่า “เขาจะใช้อำนาจเหนือเจ้า.” เช่นเดียวกับอีซาโอะที่กล่าวถึงในบทความก่อนของเรา สามีหลายคนในทุกวันนี้ใช้อำนาจเหนือภรรยาของตนในแบบไร้ความปรานีโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของภรรยา. ถึงกระนั้น ภรรยาหลายคนก็ยังคงมีความปรารถนาจะได้ความเอาใจใส่จากสามีอยู่ต่อไป. เมื่อความปรารถนาเช่นนั้นไม่ได้รับการสนองตอบ ภรรยาอาจเรียกร้องความเอาใจใส่นั้น และลงมือปฏิบัติอย่างเห็นแก่ตัว. เมื่อสามีหลายคนใช้อำนาจ และภรรยาหลายคนปรารถนาความเอาใจใส่จากสามี ความเห็นแก่ตัวจึงครอบงำ และสันติสุขก็อันตรธานไป. ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่มีหัวข้อว่า “วิธีวิเคราะห์การหย่าร้างในทุกวันนี้” ชุนซุเกะ เซริซาวา ได้กล่าวว่า “หากเรามองข้ามปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวข้องอยู่ในประเด็นนี้ กล่าวคือการที่คนเรามีแนวโน้มจะให้ผลประโยชน์ของตนเองอยู่ในอันดับแรกแล้ว คงเป็นไปไม่ได้ทีเดียวที่จะวิเคราะห์การหย่าร้างในทุกวันนี้.”
อย่างไรก็ดี พระยะโฮวาได้ทรงจัดเตรียมเครื่องนำทางไว้ในพระวจนะของพระองค์เพื่อว่าคู่สมรสที่เชื่อฟังจะประสบความสุขในชีวิตสมรสบ้างถึงแม้อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์. อีซาโอะได้ติดตามการชี้นำของพระเจ้าและปัจจุบันกำลังประสบชีวิตครอบครัวที่มีความสุข. ขอให้เราพิจารณาดูว่าหลักการของคัมภีร์ไบเบิลช่วยคนเราให้เสริมสร้างความผูกพันในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้นโดยวิธีใด.
สนทนาเรื่องต่าง ๆ อย่างชัดแจ้ง
ในชีวิตสมรสหลายราย การขาดการสื่อความ, แนวโน้มที่จะโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง, และเจตคติที่เห็นแก่ตัวทำให้เป็นเรื่องยากที่สามีและภรรยาจะเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน. แครัล เอส. เอเวอรี นักวิจัยกล่าวว่า “เนื่องจากการมีความรู้สึกร่วมกันเป็นเงื่อนไขจำเป็นอันดับแรกสำหรับความสนิทสนม, ความสนิทสนมเรียกร้องความไว้วางใจในระดับสูงสุด. และทุกวันนี้ ความไว้วางใจหาได้ยาก.” การเพิ่มพูนความรู้สึกจากส่วนลึกที่สุดร่วมกันย่อมเสริมสร้างความไว้วางใจดังกล่าว. ทั้งนี้จำเป็นต้องมีการสื่อความแบบเปิดใจต่อกันระหว่างสามีกับภรรยา.
พระธรรมสุภาษิตใช้คำอุปมาเพื่อสนับสนุนการบอกความคิดภายในของกันและกัน โดยกล่าวว่า “ความมุ่งหมายในใจคนลึกเหมือนน้ำลึก แต่คนที่มีความเข้าใจจะยกขึ้นมาได้.” (สุภาษิต 20:5) คู่สมรสต้องเป็นคนสังเกตเข้าใจและยกความคิดที่อยู่ลึกในหัวใจของคู่ชีวิตขึ้นมา. ขอให้นึกภาพว่าคู่ของคุณหงุดหงิด. แทนที่จะบอกว่า “ผมเองก็เหนื่อยมาทั้งวันแล้ว” ทำไมไม่ถามด้วยความกรุณาว่า “วันนี้คุณเหนื่อยไหม? มีอะไรเกิดขึ้น?” อาจต้องใช้เวลาและความพยายามที่จะรับฟังคู่ชีวิตของคุณ แต่ตามปกติแล้ว การใช้เวลาในวิธีนี้เป็นที่น่ายินดี, น่าพอใจ และประหยัดเวลามากกว่าที่จะละเลยคู่ของคุณและต้องรับมือกับอารมณ์รุนแรงที่ระเบิดขึ้นภายหลัง.
เพื่อได้รับความไว้วางใจ แต่ละคนต้องเป็นคนซื่อตรงและพยายามแสดงความรู้สึกออกมาในแบบที่อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจได้. พระวจนะของพระเจ้าสนับสนุนว่า “จงต่างคนต่างพูดตามความจริง . . . เพราะเราทั้งหลายเป็นอวัยวะซึ่งกันและกัน.” (เอเฟโซ 4:25) การพูดความจริงจำเป็นต้องมีความสังเกตเข้าใจ. สมมุติว่าภรรยารู้สึกว่าไม่มีใครฟังเธอ. ก่อนเธอพูด เธอน่าจะคิดถึงสุภาษิตที่ว่า “คนที่มีความรู้ย่อมประหยัดคำพูดของเขา และผู้ที่มีความเข้าใจย่อมมีอารมณ์เยือกเย็น.” (สุภาษิต 17:27) แทนที่จะต่อว่าสามีของเธอว่า “คุณไม่เคยฟังฉันเลย!” คงจะดีกว่ามากนักที่จะแสดงความรู้สึกของเธอออกมาอย่างสงบเยือกเย็นก่อนที่ความข้องขัดใจและความผิดหวังเพิ่มขึ้นภายในตัวเธอ. บางทีเธออาจเผยว่าเธอรู้สึกอย่างไรโดยการพูดทำนองนี้ “ดิฉันรู้ว่าคุณมีธุระยุ่ง แต่การใช้เวลามากขึ้นอีกนิดกับคุณจะทำให้ดิฉันมีความสุขมากทีเดียว.”
ที่จริง “แผนการล้มเหลวเมื่อไม่มีการพูดคุยกันเป็นความลับเฉพาะ.” (สุภาษิต 15:22, ล.ม.) คู่ของคุณรักคุณ แต่นั่นมิได้หมายความว่าเธอทราบว่าคุณคิดอะไรอยู่. คุณต้องให้คู่ของคุณทราบว่าคุณรู้สึกอย่างไรในวิธีที่ผ่อนหนักผ่อนเบา. นี้จะช่วยคุณ ในฐานะคู่สมรสที่เป็นคริสเตียน ให้ทำการปรับปรุงด้วยความรักเพื่อที่จะ “เอาสันติสุขผูกมัดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวซึ่งพระวิญญาณทรงประทานให้นั้น.”—เอเฟโซ 4:2, 3.
ขอยกตัวอย่างคาซุโอะ ผู้ซึ่งเป็นสามีที่กลัวภรรยาพร้อมกับมีความปรารถนาที่จะเล่นการพนัน. เขาพบว่าหนี้สินท่วมตัวเป็นจำนวนหลายล้านบาท. โดยการยืมเงินเพื่อมาใช้หนี้ของเขา เขายิ่งถลำลึกลงในสภาพอับจน. ครั้นแล้วเขาเริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและในที่สุดก็ประสบความกล้าที่จะบอกภรรยาถึงปัญหาของเขา. เขาเตรียมตัวที่จะเผชิญกับการตำหนิของเธอ. อย่างไรก็ดี เขานึกไม่ถึงเมื่อภรรยาของเขาซึ่งได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลมานานกว่า ได้ตอบอย่างใจเย็นว่า “ให้เราพยายามหาทางว่าเราจะชำระหนี้ได้อย่างไร.”
โดยเริ่มต้นในวันต่อไป เขาทั้งสองไปหาเจ้าหนี้แล้วเริ่มชำระหนี้ของเขา ถึงกับขายบ้านของเขาด้วยซ้ำ. ต้องใช้เวลาเกือบหนึ่งปีเพื่อจะชำระหนี้ให้หมด. อะไรทำให้คิมิเอะภรรยาของเขาเปลี่ยนแปลง? เธอบอกว่า “ถ้อยคำที่พบในฟิลิปปอยบท 4 ข้อ 6 และ 7 เป็นความจริงโดยแท้. ‘อย่ากระวนกระวายด้วยสิ่งใด แต่ในทุกสิ่งจงทูลขอต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมด้วยการขอบพระคุณ; แล้วสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของท่านไว้โดยพระเยซูคริสต์.’” เธอกล่าวเสริมว่า “เพื่อนคนหนึ่งของดิฉันซึ่งประหลาดใจที่เห็นว่าดิฉันร่าเริงสักเพียงไรทั้ง ๆ ที่มีความยากลำบาก ได้เริ่มศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับดิฉัน.” หลังจากนั้นคาซุโอะกับภรรยาของเขาก็ได้รับบัพติสมาและปัจจุบันกำลังประสบชีวิตครอบครัวที่มีความสุข.
นอกจากการไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยการบอกความจริงแล้ว สามีและภรรยาซึ่งมีประสบการณ์ข้างต้นได้ทำสิ่งที่ช่วยทั้งคู่ให้แก้ปัญหาในชีวิตสมรสของเขา. พวกเขาได้ติดต่อสื่อความกับพระเจ้ายะโฮวา ผู้ริเริ่มการจัดเตรียมเกี่ยวกับการสมรส. ทั้ง ๆ ที่มีความกดดันและความยุ่งยากที่คู่สมรสเผชิญก็ตาม พระองค์จะทรงอวยพระพรพวกเขาด้วยสันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่างหากเขาพยายามสุดความสามารถที่จะนำหลักการของพระองค์มาใช้ และฝากเรื่องนอกนั้นไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์. การอธิษฐานด้วยกันเป็นประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง. สามีควรนำหน้าและ ‘ระบายความในใจของเขา’ ต่อพระเจ้า แสวงหาการทรงนำและการชี้แนะของพระองค์ในปัญหาเรื่องใด ๆ ที่เขากับภรรยาเผชิญอยู่นั้น. (บทเพลงสรรเสริญ 62:8, ฉบับแปลใหม่) พระเจ้ายะโฮวาจะทรงสดับฟังคำอธิษฐานเช่นนั้นอย่างแน่นอน.
ถูกแล้ว มีทางเป็นไปได้ที่จะเสริมสร้างความผูกพันในชีวิตสมรสให้แน่นแฟ้น. แม้แต่ขณะนี้ การดำเนินชีวิตพร้อมด้วยความไม่สมบูรณ์ทั้งสิ้นของเราในสังคมที่วุ่นวาย คู่สมรสก็อาจประสบความยินดีได้พอสมควรในความสัมพันธ์ของพวกเขา. คุณจะพบข้อเสนอแนะที่ใช้การได้จริงและคำแนะนำของพระเจ้าได้อีกในหนังสือ การทำให้ชีวิตครอบครัวของท่านมีความสุข พิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแอนด์แทร็กต์แห่งนิวยอร์ก. ยิ่งกว่านั้น คู่สมรสซึ่งพยายามอย่างจริงจังที่จะนำหลักการของคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ย่อมมีความหวังในการผูกพันด้วยกันในความรักในโลกใหม่ที่พระเจ้าทรงสร้างที่จะมาถึงในไม่ช้านี้.