ทัศนะของคัมภีร์ไบเบิล
เราต้องแก้บนไหม?
คู่สมรสรายหนึ่งในด้านอื่นก็มีความสุขดี เว้นแต่มีสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอันแสนขมขื่นอย่างหนึ่งที่พวกเขาเผชิญอยู่. หลายปีมาแล้ว คราวที่พวกเขาตกอยู่ในสภาพจนตรอกด้านครอบครัวอันเต็มไปด้วยปัญหายากยิ่ง พวกเขาบนว่าจะบริจาคหนึ่งในสิบของเงินรายได้ของเขาแด่พระเจ้าหากพระองค์จะฉุดเขาขึ้นจากความยากลำบาก. บัดนี้ อายุก็แก่มากแล้วและต้องแบกรับปัญหาการเงินที่ไม่คาดหมาย เขาทั้งสองสงสัยว่า “เราจำเป็นต้องทำตามคำที่สาบานไว้นั้นหรือเปล่า?”
การตกที่นั่งลำบากของเขายืนยันคำแนะนำของบุรุษผู้ชาญฉลาดซึ่งไม่เห็นด้วยกับการรีบร้อนพูดที่ว่า “ที่เจ้าจะไม่บนยังดีกว่าที่เจ้าจะบนแล้วไม่แก้. อย่าให้ปากของเจ้าเป็นเหตุทำเนื้อตัวของเจ้าให้กระทำผิดไป และอย่าพูดต่อหน้าทูตสวรรค์ว่านี่แหละเป็นความพลั้งเผลอ.”—ท่านผู้ประกาศ 5:5,6.
อย่าแก้ตัวแบบฟังไม่ขึ้น
ถึงแม้คำสาบานแบบเล่น ๆ ไม่จริงใจ และคำสัญญาที่เลี่ยงไม่กระทำตาม เป็นเกณฑ์ปฏิบัติของสังคมซึ่งปล่อยตัวในปัจจุบันนี้ เราก็ไม่อาจคาดหมายที่จะให้พระเจ้าเชื่อคำแก้ตัวที่ปั้นขึ้น แม้พวกนักธุรกิจก็ยังรู้ทัน. บทความ “ความซื่อสัตย์ในวงธุรกิจ: สำนวนที่ขัดแย้งกัน?” ในนิตยสารธุรกิจ อินดัสตรี วีก โอดครวญว่า “เราไม่เชื่อถืออีกต่อไปแล้วว่า ผู้คนจะบอกความจริง, จะทำสิ่งที่ถูกต้องแทนที่จะทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว, จะดำเนินตามคำสัญญาของเขา.” ขณะที่คำโกหกเพื่อเอาตัวรอดเช่น “ส่งเช็คไปทางไปรษณีย์แล้ว” อาจช่วยถ่วงเวลาเจ้าหนี้ที่เป็นมนุษย์ แต่จะหลอกทูตสวรรค์ไม่ได้เลย.
นี้ไม่ได้หมายความว่าพระเจ้าทรงใช้ทูตสวรรค์บังคับให้ทำตามคำที่บนไว้ด้วยวิธีการอย่างที่นักปล่อยเงินกู้ซึ่งไร้ยางอายอาจใช้อันธพาลเพื่อขูดรีดดอกเบี้ยสูงจากเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ด้วยความรัก พระเจ้าทรงทำให้ทูตสวรรค์ของพระองค์เป็น “วิญญาณสำหรับไว้ปรนนิบัติ [เกื้อหนุน] ซึ่งได้รับใช้มาปรนนิบัติคนเหล่านั้นที่จะรับความรอดเป็นมฤดก.” (เฮ็บราย 1:14) ด้วยวิธีเช่นนี้ ทูตสวรรค์จึงสามารถและมีส่วนเกี่ยวข้องในการตอบคำอธิษฐานที่เราทูลด้วยความจริงใจ.
แต่ หากเรายังให้สัญญาลม ๆ แล้ง ๆ อยู่ร่ำไปในคำอธิษฐานของเรา เรามีสิทธิ์คาดหวังในเรื่องพระพรจากพระเจ้าไหม? บุรุษผู้ฉลาดสุขุมกล่าวไว้ว่า “เหตุไฉนจะให้พระเจ้าทรงพิโรธเพราะเสียงพูดของเจ้า แล้วเลยทรงทำลาย [อย่างน้อยบางส่วน] การงานแห่งน้ำมือของเจ้าเสียเล่า?”—ท่านผู้ประกาศ 5:6ข.
ฉะนั้น จึงไม่ใช่ความกลัวการแก้แค้นจากทูตสวรรค์ที่ควรกระตุ้นเราให้ทำตามคำที่บนไว้โดยไม่แก้ตัว. แทนที่จะทำเช่นนั้น เราควรแสดงการหยั่งรู้คุณค่าสัมพันธภาพกับพระเจ้าและปรารถนาอย่างจริงจังให้พระเจ้าโปรดปรานกิจการงานของเรา. ดังที่คู่สมรสซึ่งกล่าวถึงข้างต้นนั้นได้กล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “เราต้องการจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดเฉพาะพระเจ้าและต้องการจะกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์.”
จงรักษาไว้ซึ่งสติรู้สึกผิดชอบอันดี
เพื่อจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาดในเรื่องการทำตามถ้อยคำที่บนไว้ เราต้องซื่อตรงกับตัวเอง. ดังตัวอย่างประกอบ: สมมุติว่ามีใครสักคนเป็นหนี้เงินคุณก้อนโตแต่เพราะเรื่องร้ายบางอย่างจึงทำให้เขาไม่สามารถจ่ายคืนคุณได้. สิ่งไหนจะทำให้คุณรู้สึกพอใจมากกว่า—ถ้าเขาปัดทิ้งหนี้ทั้งหมดโดยถือว่าไม่มีทางจะจ่ายคืนได้หรือถ้าอย่างน้อยที่สุดเขาได้จัดแจงเพื่อจะจ่ายให้คุณทีละน้อยเป็นประจำเท่าที่เขาสามารถทำได้?
โดยเหตุผลเดียวกัน สมมุติว่าคำที่บนไว้คราวหนึ่งซึ่งหุนหันทำไปว่าจะอุทิศเวลาทั้งหมดหรือทรัพยากรอื่น ๆ ให้แก่กิจกรรมอันเหมาะสมของคริสเตียนนั้นไม่อาจทำตามได้. ไม่ควรหรือที่เราจะรู้สึกมีพันธะหน้าที่ที่จะพยายามทำตามคำบนของเราเท่าที่สภาพการณ์ปัจจุบันอำนวยให้? เปาโลเขียนไว้ว่า “ถ้ามีน้ำใจพร้อมอยู่ก่อนแล้ว พระเจ้าก็พอพระทัยที่จะทรงรับไว้ตามซึ่งทุกคนมีอยู่” ไม่ว่าเรามีให้มากหรือมีให้เพียงเล็กน้อย. (2โกรินโธ 8:12) แต่จะว่าอย่างไรในเรื่องคำบนที่คนเราทำก่อนมีความรู้ถ่องแท้ในเรื่องความจริงแห่งพระคัมภีร์?
คำบนแบบผิด ๆ หรือไม่เป็นไปตามหลักพระคัมภีร์
หากเรามาทราบว่าคำบนใดไม่สะอาดหรือผิดศีลธรรม เราควรรีบทิ้งคำบนนั้นไปเสียโดยเร็วราวกับมันเป็นถ่านไฟ! (2โกรินโธ 6:16-18) ตัวอย่างคำบนที่ไม่สะอาดคือ:
▫ คำบนที่ได้ทำต่อพระเท็จ เช่น “มเหสีแห่งฟ้า” ของชาวบาบูโลน.—ยิระมะยา 44:23,25.
▫ คำบนที่ผิดกฎหมาย อย่างคำสาบานของชาย 40คนที่จะไม่กินอะไรจนกว่าพวกเขาจะได้ฆ่าอัครสาวกเปาโล.—กิจการ 23:13,14.
▫ คำบนแบบออกหาก ที่เป็นไปตาม “คำสอนของพวกผีปิศาจ . . . คนที่พูดปด . . . ห้ามไม่ให้ทำการสมรส และให้งดการรับประทานอาหารซึ่งพระเจ้าทรงสร้างไว้ประสงค์จะให้คนที่เชื่อและรู้จักความจริงรับประทานด้วยขอบพระคุณ.”—1ติโมเธียว 4:1-3.
ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่า เราอาจต้องประกาศให้คำบนหรือคำสาบานบางอย่างในอดีตเป็นโมฆะ. แต่เกี่ยวกับคำสาบานที่ไม่ขัดกับหลักพระคัมภีร์ ทำไมจะมองหาช่องบิดพลิ้วล่ะ? ไม่ควรหรือที่ความรู้ถ่องแท้ของเราในปัจจุบันจะทำให้เราแสดงความนับถือมากกว่าแต่ก่อนต่อคำสาบานที่ได้กระทำไป?
จงพิจารณาคำสาบานของคุณในอดีตและในอนาคต
อนึ่ง ตามเหตุผลแล้วเราน่าจะคิดอย่างจริงจังก่อนจะเพิ่มคำบนหรือคำสาบานใด ๆ ในอนาคตเข้ากับการนมัสการของเรา. ไม่ควรใช้คำสาบานเพียงเพื่อจะกระตุ้นคนเราให้ทำหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง เช่นเพิ่มเวลาที่ใช้ในการนมัสการของคริสเตียนหรือยับยั้งตนจากการกินมากเกินไป. กระนั้น พระเยซูก็ไม่ได้ทรงคัดค้านคำสาบานทุกประการ ตัวอย่างเช่น เมื่อถูกเรียกให้สาบานในศาลยุติธรรม. แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงตั้งข้อจำกัดเอาไว้เกี่ยวกับการสาบานโดยไม่เลือก เพราะพระองค์ทรงเตือนว่า “อีกประการหนึ่ง ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวแก่คนในครั้งโบราณว่า ‘เจ้าต้องไม่สาบานแล้วไม่ทำตาม แต่เจ้าต้องทำตามที่เจ้าบนไว้ต่อพระยะโฮวา.’ แต่เราบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าสาบานเลย.” (มัดธาย 5:33,34, ล.ม.) เพราะเหตุใดพระองค์จึงทรงยึดเอาฐานะเช่นนี้? การสาบานมีความเหมาะสมน้อยกว่าแต่ก่อนกระนั้นไหม?
บ่อยครั้ง คำสาบานโดยคนที่ซื่อสัตย์ในครั้งโบราณนั้นมักมีเงื่อนไข. ในคำอธิษฐานด้วยใจจริงพวกเขาสัญญากับพระยะโฮวาว่า ‘หากพระองค์ทรงช่วยข้าพเจ้าผ่านพ้นวิกฤติการณ์คราวนี้ ข้าพเจ้าจะกระทำเช่นนั้นเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของพระองค์.’ แต่พระเยซูตรัสว่า “ถ้าท่านทั้งหลายจะขอสิ่งใดจากพระบิดา พระองค์จะทรงประทานสิ่งนั้นให้แก่ท่านในนามของเรา.” แทนที่จะเสนอแนะคำสาบานที่มีเงื่อนไขแก่คนที่ซื่อสัตย์ในสมัยของพระองค์ พระเยซูทรงรับรองกับพวกเขาว่า “จนกระทั่งบัดนี้เจ้าทั้งหลายก็ยังไม่ได้ขอแม้แต่สิ่งเดียวในนามของเรา. จงขอแล้วเจ้าจะได้รับ.”—โยฮัน 16:23,24.
อีกประการหนึ่ง ความมั่นใจเช่นนี้ในพระนาม หรือตำแหน่ง ของพระเยซูน่าจะประโลมใจคนใด ๆ ก็ตามซึ่งยังคงรู้สึกมีความผิดเพราะ—แม้ว่าพยายามแล้ว—เขาก็ยังไม่สามารถทำสิ่งที่ได้สัญญาแบบ “เผลอด้วยริมฝีปาก” กับพระเจ้าให้สำเร็จ. (เลวีติโก 5:4-6) ฉะนั้น ขณะที่ไม่เมินเฉยต่อคำบนหรือสาบานในอดีต บัดนี้เราไม่เพียงแต่สามารถจะอธิษฐานในพระนามของพระเยซูได้เท่านั้น แต่เราสามารถทูลอ้อนวอนพระเจ้าให้ใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูเพื่อความบาปของเรา และสามารถทูลขอการอภัยในพระนามแห่งพระเยซู. ด้วยเหตุนี้ เราก็สามารถได้รับ “ความเชื่อมั่นเต็มที่ มีหัวใจซึ่งถูก [ชำระ] จากสติรู้สึกผิดชอบที่ชั่ว”—เฮ็บราย 10:21,22.
[รูปภาพหน้า 24]
นักเทศน์นักบวชกำลังปฏิญาณตน ณ มอนต์มาร์เตร