คำถามจากผู้อ่าน
ทำไมชาวยิวในศตวรรษแรกจึง “รอคอย” พระมาซีฮา?
ในสมัยของโยฮันผู้ให้บัพติสมา “คนทั้งหลายรอคอยพระคริสต์อยู่และครุ่นคิดเกี่ยวกับโยฮันว่า ‘เขาจะเป็นพระคริสต์หรือไม่?’” (ลูกา 3:15) ทำไมชาวยิวจึงคิดว่าพระมาซีฮาจะปรากฏตัวในตอนนั้น? มีเหตุผลหลายข้อที่ทำให้คิดอย่างนั้น
ในวันที่พระเยซูเกิด ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวามาหาคนเลี้ยงแกะที่กำลังเฝ้าฝูงแกะอยู่ในทุ่งหญ้าใกล้เมืองเบทเลเฮม ทูตนั้นบอกพวกเขาว่า “วันนี้พระผู้ช่วยให้รอด คือพระคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้า ได้มาประสูติเพื่อพวกเจ้าในเมืองของดาวิด” (ลูกา 2:8-11) หลังจากนั้น “มีทูตสวรรค์หมู่ใหญ่มาอยู่กับทูตองค์นั้นและสรรเสริญพระเจ้าว่าa ‘ขอพระเกียรติจงมีแด่พระเจ้าผู้สถิตในที่สูงเบื้องบน และสันติสุขจงมีบนแผ่นดินโลกท่ามกลางมนุษย์ซึ่งเป็นที่โปรดปราน’”—ลูกา 2:13, 14
เรื่องที่ทูตสวรรค์บอกทำให้คนเลี้ยงแกะตื่นเต้นมาก พวกเขาจึงรีบไปที่เบทเลเฮมทันที และเมื่อพบโยเซฟ มาเรีย กับทารกเยซูที่เพิ่งเกิด “พวกเขาก็เล่าเรื่องที่ทูตสวรรค์บอกเกี่ยวกับเด็กน้อยผู้นี้” ผลก็คือ “ทุกคนที่ได้ยิน เรื่องที่คนเลี้ยงแกะเล่าก็ประหลาดใจ” (ลูกา 2:17, 18) คำพูดที่ว่า “ทุกคนที่ได้ยิน” ทำให้รู้ว่าพวกคนเลี้ยงแกะไม่ได้เล่าให้โยเซฟกับมาเรียฟังเท่านั้น แต่ยังเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่น ๆ ฟังด้วย หลังจากนั้น ระหว่างที่คนเลี้ยงแกะเดินทางกลับบ้าน พวกเขาก็ยัง “ยกย่องสรรเสริญพระเจ้าเนื่องด้วยสิ่งทั้งปวงที่พวกเขาได้ยินและได้เห็นดังที่ทรงโปรดให้พวกเขารู้” (ลูกา 2:20) นี่แสดงว่า เมื่อคนเลี้ยงแกะได้ยินข่าวดีเกี่ยวกับพระคริสต์ พวกเขาไม่ได้เก็บไว้เป็นความลับ แต่ได้เล่าให้คนอื่น ๆ ฟังด้วย
เมื่อมาเรียพาลูกชายคนแรกของเธอไปที่พระวิหารในกรุงเยรูซาเลมเพื่อถวายแด่พระยะโฮวาตามที่พระบัญญัติของโมเซกำหนดไว้ ผู้พยากรณ์หญิงชื่ออันนา “ก็เข้ามาขอบพระคุณพระเจ้าและพูดถึงทารกนั้นให้คนทั้งปวงที่คอยท่าการปลดปล่อยกรุงเยรูซาเลมได้ฟัง” (ลูกา 2:36-38; เอ็ก. 13:12) ข่าวเรื่องการมาเกิดของพระมาซีฮาจึงแพร่ออกไปยิ่งกว่าเดิม
ต่อมา “มีพวกโหรจากทิศตะวันออกมายังเยรูซาเลม ถามว่า ‘ผู้มาบังเกิดเป็นกษัตริย์ของชาวยิวอยู่ที่ไหน? เพราะเราเห็นดวงดาวของท่านตอนที่เราอยู่ทางทิศตะวันออก เราจึงมาเพื่อแสดงความเคารพท่าน’” (มัด. 2:1, 2) “ครั้นกษัตริย์เฮโรดได้ยินเช่นนั้นก็ทรงวิตก และชาวเยรูซาเลมทั้งปวงก็พลอยวิตกไปด้วย และเมื่อเฮโรดเรียกประชุมบรรดาปุโรหิตใหญ่และอาลักษณ์ ของชาวยิว จึงตรัสถามพวกเขาว่าพระคริสต์นั้นจะประสูติที่ไหน” (มัด. 2:3, 4) ตอนนี้ผู้คนจึงรู้กันไปทั่วว่าผู้ที่จะเป็นมาซีฮาในอนาคตมาเกิดแล้ว!b
ลูกา 3:15 ที่ยกมาในตอนต้นบอกว่าชาวยิวบางคนคิดว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมาอาจจะเป็นพระคริสต์ แต่โยฮันให้คำตอบที่ชัดเจนว่า “ผู้ที่มาภายหลังเราเป็นใหญ่กว่าเรา ซึ่งเราไม่คู่ควรจะถอดฉลองพระบาทของพระองค์ พระองค์ผู้นั้นจะให้บัพติสมาแก่พวกเจ้าด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และด้วยไฟ” (มัด. 3:11) แต่คำพูดของโยฮันยิ่งทำให้ผู้คนอยากรู้มากขึ้นไปอีกว่าแล้วใครล่ะคือพระมาซีฮาที่พวกเขารอคอย
เป็นไปได้ไหมว่าชาวยิวในศตวรรษแรกคำนวณเวลาที่พระมาซีฮามาปรากฏตัวโดยอาศัยคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์ในดานิเอล 9:24-27? ก็อาจเป็นไปได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันในเรื่องนี้ ชาวยิวในสมัยพระเยซูตีความคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์กันไปต่าง ๆ นานา ส่วนใหญ่ก็ขัดแย้งกัน และไม่มีการตีความแบบไหนเลยที่ใกล้เคียงกับความเข้าใจของเราในปัจจุบันc
ตัวอย่างเช่น ชาวยิวนิกายเอสซีน ซึ่งรู้จักกันว่าเป็นพวกที่แยกตัวจากสังคม สอนว่าเมื่อใกล้จะสิ้นสุดเวลา 490 ปีจะมีพระมาซีฮามาปรากฏตัวสองคน เราไม่รู้ว่าพวกเขาคำนวณเวลาโดยอาศัยคำพยากรณ์ของดานิเอลหรือไม่ แต่ถึงจะใช่ ความคิดของคนกลุ่มนี้คงไม่มีผลอะไรกับชาวยิวโดยทั่วไป เพราะพวกเอสซีนแยกตัวจากสังคมชาวยิวอย่างชัดเจน
นอกจากนั้น ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่สองมีชาวยิวบางคนเชื่อว่า ระยะเวลา 70 สัปดาห์ในคำพยากรณ์ของดานิเอลเริ่มนับตั้งแต่การทำลายพระวิหารในกรุงเยรูซาเลมครั้งแรกในปี 607 ก่อนคริสตศักราชไปจนถึงการทำลายพระวิหารครั้งที่สองในปี ค.ศ. 70 แต่บางคนบอกว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จเป็นจริงในช่วงที่ตระกูลแมกคาบีปกครองประเทศซึ่งเริ่มประมาณปี 170 ก่อน ค.ศ. เห็นได้ชัดว่า ชาวยิวตีความไม่ตรงกันเลยว่าคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์หมายถึงช่วงเวลาใด
บางคนให้ข้อสังเกตว่า ถ้าชาวยิวในศตวรรษแรกเข้าใจถูกต้องว่า 70 สัปดาห์คือช่วงเวลาใด อัครสาวกของพระเยซูกับคริสเตียนคนอื่น ๆ ในศตวรรษแรกก็ต้องยกขึ้นมาเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่าพระเยซูคือพระมาซีฮาที่พระเจ้าสัญญาไว้ เพราะพระเยซูได้ปรากฏตัวตรงตามเวลานั้นพอดี แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าสาวกของพระเยซูได้ทำอย่างนั้น
อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ตามปกติแล้วผู้เขียนกิตติคุณจะยกคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูที่สำเร็จเป็นจริงกับพระเยซูคริสต์ขึ้นมาพูดบ่อย ๆ (มัด. 1:22, 23; 2:13-15; 4:13-16) แต่กลับไม่มีผู้เขียนคนไหนที่เชื่อมโยงเรื่องราวของพระเยซูกับคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์
สรุปคือ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าชาวยิวในสมัยพระเยซูเข้าใจคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์อย่างถูกต้อง แต่บันทึกในหนังสือกิตติคุณช่วยเราให้รู้ว่าทำไมชาวยิวในศตวรรษแรกจึง “รอคอย” พระมาซีฮา
a คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าทูตสวรรค์ “ร้องเพลง” ตอนที่พระเยซูเกิด
b เราอาจสงสัยว่า ทำไมพวกโหรจึงเชื่อมโยงการปรากฏของ “ดวงดาว” ทางทิศตะวันออกกับการมาเกิดของ “กษัตริย์ของชาวยิว”? เป็นไปได้ไหมว่าขณะที่พวกเขาติดตามดาวดวงนั้นมาจนถึงเยรูซาเลมพวกเขาได้ยินข่าวการเกิดของพระเยซูเล่าลือกันไปทั่วอิสราเอล?
c ดูความเข้าใจที่ได้รับการเปิดเผยในปัจจุบันเกี่ยวกับคำพยากรณ์เรื่อง 70 สัปดาห์ในหนังสือจงเอาใจใส่คำพยากรณ์ของดานิเอล! บท 11