คำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายเช่นไรสำหรับคุณ?
คำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าตามที่พระเยซูคริสต์กล่าวไว้ในคำเทศน์บนภูเขา ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิลที่มัดธายบท 6 ข้อ 9 ถึง 13. ก่อนกล่าวคำอธิษฐานนี้ พระเยซูตรัสว่า “เมื่อท่านอธิษฐาน, อย่ากล่าวคำซ้ำให้มากเหมือนคนต่างประเทศ เพราะเขาคิดว่าพูดมากหลายคำพระจึงจะโปรดฟัง.”—มัดธาย 6:7.
ดังนั้น เห็นได้ชัดว่า พระเยซูมิได้มุ่งหมายให้ท่องคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าแบบคำต่อคำ. จริงอยู่ ภายหลังพระองค์ได้กล่าวซ้ำคำอธิษฐานนี้อีกเพื่อประโยชน์ของผู้ฟังอีกกลุ่มหนึ่ง. (ลูกา 11:2-4) แต่ถ้อยคำที่ใช้ในคำอธิษฐานในกิตติคุณของมัดธายและลูกาต่างกันอยู่บ้าง. นอกจากนี้ คำอธิษฐานต่อมาของพระเยซูและเหล่าสาวกก็มิได้เคร่งครัดในการใช้คำเฉพาะจากคำอธิษฐานแบบอย่างของพระองค์.
เหตุใดคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้าจึงถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิล? โดยทางคำอธิษฐานแบบอย่างนี้ พระเยซูทรงสอนเราว่าเราจะอธิษฐานอย่างไรเพื่อให้พระเจ้าทรงยอมรับ. ในคำอธิษฐานนี้ เรายังพบคำตอบสำหรับคำถามพื้นฐานบางข้อเกี่ยวกับชีวิต. เพราะฉะนั้น ขอให้เราพิจารณาแต่ละส่วนแห่งคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า.
พระนามของพระเจ้าคืออะไร?
“โอพระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์. ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” (มัดธาย 6:9) ถ้อยคำเริ่มต้นของคำอธิษฐานแบบอย่างนี้ช่วยเราให้เข้าใกล้พระเจ้าโดยการพูดกับพระองค์ฐานะ ‘พระบิดาของเรา.’ เช่นเดียวกับเด็ก ซึ่งตามธรรมชาติแล้วจะรู้สึกอยากเข้าหาบิดามารดาที่เปี่ยมด้วยความรักและความเข้าใจ เราสามารถเข้าเฝ้าพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์โดยมั่นใจว่าพระองค์ทรงประสงค์จะฟังเรา. กษัตริย์ดาวิดได้ร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้สดับคำอธิษฐาน, บรรดามนุษย์โลกจะได้เข้ามาเฝ้าพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 65:2.
พระเยซูทรงสั่งเราอธิษฐานขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. แต่พระนามของพระเจ้าคืออะไร? คัมภีร์ไบเบิลให้คำตอบดังนี้: “พระองค์ผู้เดียว, ผู้ทรงพระนามว่าพระยะโฮวา เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก.” (บทเพลงสรรเสริญ 83:18) คุณเคยอ่านพบพระนามยะโฮวาในคัมภีร์ไบเบิลไหม?
ที่จริง ยะโฮวา พระนามของพระเจ้าปรากฏเกือบ 7,000 ครั้งในต้นฉบับคัมภีร์ไบเบิลสมัยโบราณ. อย่างไรก็ดี ผู้แปลบางคนถึงกับลบพระนามนี้ออกจากคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลของพวกเขา. เพราะฉะนั้น นับว่าเหมาะสมที่เราอธิษฐานขอพระผู้สร้างของเราทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ หรือทำให้ศักดิ์สิทธิ์. (ยะเอศเคล 36:23) วิธีหนึ่งที่จะปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานดังกล่าวคือ ใช้พระนามยะโฮวาเมื่อเราอธิษฐานถึงพระเจ้า.
สตรีคนหนึ่งชื่อแพทริเซียเติบโตมาในศาสนาคาทอลิกและคุ้นเคยดีทีเดียวกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า. เธอมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพยานพระยะโฮวาคนหนึ่งชี้ให้เธอดูพระนามของพระเจ้าในคัมภีร์ไบเบิล? “ไม่น่าเชื่อ!” เธอได้อุทานออกมา. “ดังนั้น ดิฉันจึงค้นดูพระนามนั้นในพระคัมภีร์ของตัวเอง และมีพระนามนั้นอยู่จริง ๆ ด้วย. แล้วพยานฯ ได้ให้ดิฉันดูมัดธาย 6:9, 10 และอธิบายว่า มีการพาดพิงถึงพระนามของพระเจ้าในคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นจริง ๆ และได้ขอเธอให้มาศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับดิฉัน.”
พระทัยของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลก
“ขอให้แผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:10) ส่วนนี้ของคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูจะสำเร็จเป็นจริงอย่างไร? ผู้คนส่วนใหญ่นึกภาพสวรรค์ว่าเป็นสถานที่ที่มีสันติสุขและความสงบ. พระคัมภีร์กล่าวถึงสวรรค์ว่าเป็น “ที่สถิตอันบริสุทธิ์และทรงสง่าราศี” ของพระยะโฮวา. (ยะซายา 63:15) จึงไม่แปลกที่เราอธิษฐานขอให้พระทัยของพระเจ้าสำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนที่สำเร็จ “ในสวรรค์”! แต่เหตุการณ์นี้จะมีวันเกิดขึ้นไหม?
ดานิเอลผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาได้บอกล่วงหน้าไว้ว่า “พระเจ้าแห่งสรวงสวรรค์จะทรงตั้งอาณาจักรอันหนึ่งขึ้น, ซึ่งจะไม่มีวันทำลายเสียได้, หรือผู้ใดจะชิงเอาอาณาจักรนี้ไปก็หาได้ไม่; แต่อาณาจักรนี้จะทำลายอาณาจักรอื่น ๆ [ทางแผ่นดินโลก] ลงให้ย่อยยับและเผาผลาญเสียสิ้น, และอาณาจักรนี้จะดำรงอยู่เป็นนิจ.” (ดานิเอล 2:44) ราชอาณาจักร หรือรัฐบาลฝ่ายสวรรค์นี้จะดำเนินการในไม่ช้าที่จะทำให้เกิดสันติภาพทั่วโลกภายใต้การปกครองที่ชอบธรรม.—2 เปโตร 3:13.
การอธิษฐานขอให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามาและขอให้พระทัยของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเป็นการสำแดงความเชื่อซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความผิดหวัง. คริสเตียนอัครสาวกโยฮันได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงดังมาจากพระที่นั่งว่า, ‘จงดูเถิด. พลับพลาของพระเจ้าก็อยู่กับมนุษย์แล้ว, พระองค์จะสถิตอยู่กับเขา, เขาจะเป็นพลเมืองของพระองค์, พระเจ้าเองจะดำรงอยู่กับเขา, และจะทรงเป็นพระเจ้าของเขา และพระเจ้าจะทรงเช็ดน้ำตาทุก ๆ หยดจากตาของเขา ความตายจะไม่มีต่อไป การคร่ำครวญและร้องไห้และการเจ็บปวดอย่างหนึ่งอย่างใดจะไม่มีอีกเลย เพราะเหตุการณ์ที่ได้มีอยู่แต่ดั้งเดิมนั้นได้ล่วงพ้นไปแล้ว.’ ” แล้วโยฮันกล่าวเสริมอีกว่า “พระองค์ผู้ประทับบนพระที่นั่งนั้นจึงตรัสว่า . . . ‘จงจารึกไว้เถิด. เพราะว่าถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำสุจริตและสัตย์จริง.’ ”—วิวรณ์ 21:3-5.
อธิษฐานเกี่ยวกับความจำเป็นทางด้านร่างกาย
โดยสิ่งที่พระเยซูตรัสในคำอธิษฐานแบบอย่าง พระองค์แสดงให้เห็นว่า พระนามและพระทัยประสงค์ของพระเจ้าควรเป็นความห่วงใยประการสำคัญของเราเมื่ออธิษฐาน. กระนั้น คำอธิษฐานแบบอย่างยังกล่าวต่อด้วยคำขอส่วนตัวที่เสนอต่อพระยะโฮวาอย่างเหมาะสม.
ประการแรกในคำขอเหล่านี้คือ “ขอทรงโปรดประทานอาหารเลี้ยงข้าพเจ้าทั้งหลายในกาลวันนี้.” (มัดธาย 6:11) นี่ไม่ใช่คำขอเพื่อจะมีความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ. พระเยซูทรงสนับสนุนเราให้อธิษฐานขอ “อาหารเลี้ยงข้าพเจ้าทั้งหลายทุก ๆ วัน.” (ลูกา 11:3) สอดคล้องกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า เราสามารถอธิษฐานด้วยความเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้เราทุกวันหากเรารักและเชื่อฟังพระองค์.
ความกระวนกระวายเกินควรเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจอาจทำให้เราละเลยความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของเรา และโดยวิธีนี้จึงไม่ได้ทำสิ่งที่พระเจ้าทรงคาดหมายจากเรา. แต่ถ้าเราจัดการนมัสการพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกในชีวิต เราสามารถแน่ใจได้ว่าคำอ้อนวอนของเราในเรื่องความจำเป็นทางด้านวัตถุ เช่น อาหารและเครื่องนุ่งห่ม จะได้รับการสดับฟังด้วยความพอพระทัย. พระเยซูตรัสว่า “จงแสวงหาแผ่นดิน [“ราชอาณาจักร,” ล.ม.] ของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้.” (มัดธาย 6:26-33) การแสวงหาความชอบธรรมของพระเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเราทุกคนเป็นคนผิดบาปและจำเป็นต้องได้รับการให้อภัย. (โรม 5:12) คำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้ารวมถึงเรื่องนั้นด้วย.
อธิษฐานเกี่ยวกับการให้อภัย
“ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น.” (มัดธาย 6:12) ในบันทึกของลูกาเกี่ยวกับคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า มีการกล่าวถึง “หนี้” ดังกล่าวนี้ว่า “ความผิด [“บาป,” ล.ม.].” (ลูกา 11:4) พระยะโฮวาพระเจ้าจะทรงให้อภัยบาปของเราอย่างแท้จริงไหม?
ถึงแม้กษัตริย์ดาวิดแห่งอิสราเอลโบราณได้ทำบาปร้ายแรง ท่านก็ได้กลับใจและอธิษฐานด้วยความมั่นใจว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา พระองค์ทรงคุณความดีและพร้อมจะให้อภัย; และความรักกรุณาต่อทุกคนที่ร้องทูลพระองค์มีเหลือล้น.” (บทเพลงสรรเสริญ 86:5, ล.ม.) ช่างเป็นความคิดที่ปลอบประโลมใจเสียจริง ๆ! พระบิดาของเราทางภาคสวรรค์ทรง “พร้อมจะให้อภัย” บาปของคนเหล่านั้นที่ร้องเรียกพระองค์ด้วยท่าทีแสดงการกลับใจ. หนี้ถูกยกเลิกได้อย่างหมดสิ้นฉันใด พระยะโฮวาพระเจ้าสามารถให้อภัยบาปเราได้อย่างสิ้นเชิงฉันนั้น.
อย่างไรก็ดี พระเยซูทรงกล่าวถึงเงื่อนไขอย่างหนึ่ง: เพื่อจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า เราต้องให้อภัยคนอื่น. (มัดธาย 6:14, 15) ถึงแม้โยบ บุรุษผู้ชอบธรรมได้รับการปฏิบัติอย่างเลวร้ายจากสหายสามคน ท่านก็ได้ให้อภัยพวกเขาและอธิษฐานเผื่อพวกเขาด้วยซ้ำ. (โยบ 42:10) หากเราให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา เราก็จะทำให้พระเจ้าพอพระทัยและจะได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระองค์.
การที่พระเจ้าทรงเต็มพระทัยฟังคำอ้อนวอนของเราน่าจะกระตุ้นเราให้แสวงหาความพอพระทัยจากพระองค์. เราจะทำเช่นนี้ได้ถึงแม้เราเป็นคนไม่สมบูรณ์. (มัดธาย 26:41) ในประเด็นนี้เช่นกัน พระยะโฮวาสามารถช่วยเราได้ เช่นเดียวกับที่พระเยซูแสดงให้เห็นโดยการจบคำอธิษฐานแบบอย่างด้วยคำทูลขอที่สำคัญ.
ขอความช่วยเหลือเพื่อจะติดตามแนวทางที่ชอบธรรม
“ขออย่านำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง, แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย [“ตัวชั่วร้าย,” ล.ม.].” (มัดธาย 6:13) พระยะโฮวามิได้ทิ้งเราไว้อย่างไม่มีทางต้านทานการทดลองหรือทำให้เราตกเข้าสู่บาป. พระคำของพระองค์กล่าวว่า “ความชั่วจะมาล่อลวง [“ทดลอง,” ล.ม.] พระเจ้าไม่ได้, และพระองค์เองไม่ได้ทรงล่อลวง [“ทดลอง,” ล.ม.] ผู้ใดเลย.” (ยาโกโบ 1:13) พระเจ้าทรงยอมให้เราถูกทดลอง แต่พระองค์สามารถช่วยเราให้พ้นจากผู้ล่อลวงตัวเอ้—“ตัวชั่วร้าย” ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าซาตานพญามาร.
อัครสาวกเปโตรกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนว่า “ท่านทั้งหลายจงเป็นคนใจหนักแน่น, จงระวังระไวให้ดี ด้วยว่าศัตรูของท่าน คือมาร ดุจสิงโตคำรามแผดเสียงร้องน่ากลัวก็เที่ยวไปเสาะแสวงหาคนที่มันจะกัดกินได้.” (1 เปโตร 5:8) ที่จริง ซาตานถึงกับทดลองพระเยซูคริสต์มนุษย์สมบูรณ์ด้วยซ้ำ! อะไรคือเป้าหมายของพญามาร? เป้าหมายของมันคือที่จะชักจูงพระเยซูไปจากการนมัสการบริสุทธิ์ของพระยะโฮวาพระเจ้า. (มัดธาย 4:1-11) หากคุณพยายามจะรับใช้พระเจ้า เป้าหมายของซาตานคือที่จะขย้ำกลืนคุณเช่นกัน!
โดยทางโลกที่อยู่ภายใต้การควบคุมของมัน พญามารอาจล่อลวงเราให้มีส่วนในกิจปฏิบัติที่พระเจ้าไม่พอพระทัย. (1 โยฮัน 5:19) ดังนั้น นับว่าสำคัญที่เราหมายพึ่งความช่วยเหลือจากพระเจ้าเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเผชิญการทดลองอยู่เรื่อย ๆ. และถ้าเรานมัสการพระยะโฮวาตามที่กล่าวในคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ พระองค์ก็จะช่วยเราให้ต้านทานพญามารได้. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่า “พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ, พระองค์จะไม่ทรงยอมให้ท่านถูกทดลองเกินที่จะทนได้.”—1 โกรินโธ 10:13.
ความเชื่อในพระเจ้านับว่าสำคัญ
เป็นเรื่องที่ทำให้อบอุ่นใจจริง ๆ ที่ทราบว่าพระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์ทรงสนพระทัยเราแต่ละคน! พระองค์ถึงกับให้พระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์สอนเราถึงวิธีอธิษฐาน. แน่นอน เรื่องนี้ทำให้เราต้องการจะเป็นที่พอพระทัยพระยะโฮวาพระเจ้า. เราจะทำเช่นนี้ได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถ้าไม่มีความเชื่อแล้ว, จะเป็นที่ชอบพระทัยพระเจ้าก็หามิได้ เพราะว่าผู้ที่มาหาพระเจ้าต้องเชื่อว่าพระองค์ทรงพระชนม์อยู่, และต้องเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ประทานบำเหน็จให้แก่ทุกคนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์.” (เฮ็บราย 11:6) จะมีความเชื่อเช่นนี้ได้โดยวิธีใด? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความเชื่อได้เกิดขึ้นก็เพราะได้ฟัง.” (โรม 10:17) พยานพระยะโฮวายินดีสนทนาเรื่องพระคัมภีร์กับทุกคนที่ปรารถนาจะรับใช้พระเจ้าด้วยความเชื่อแท้.
เราหวังว่าการพิจารณาเรื่องคำอธิษฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้านี้จะทำให้คุณมีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความหมายของคำอธิษฐานนี้. โดยการรับเอาความรู้ต่อไปอีกเกี่ยวกับพระยะโฮวาและบำเหน็จที่พระองค์ประทานให้ “คนที่ปลงใจแสวงหาพระองค์” คุณสามารถเสริมสร้างความเชื่อในพระเจ้าให้เข้มแข็งได้. ขอให้คุณเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับพระองค์และพระประสงค์ของพระองค์เพื่อคุณจะมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระบิดาของคุณผู้สถิตในสวรรค์ได้ตลอดไป.—โยฮัน 17:3.
[คำโปรยหน้า 5]
“โอพระบิดาแห่งข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์. ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้แผ่นดินของพระองค์มาตั้งอยู่. พระทัยของพระองค์สำเร็จในสวรรค์อย่างไร, ก็ให้สำเร็จในแผ่นดินโลกเหมือนกัน. ขอทรงโปรดประทานอาหารเลี้ยงข้าพเจ้าทั้งหลายในกาลวันนี้. และขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น. และขออย่านำข้าพเจ้าเข้าไปในการทดลอง, แต่ขอให้พ้นจากซึ่งชั่วร้าย.”—มัดธาย 6:9-13
[ภาพหน้า 7]
พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมสิ่งจำเป็นให้คนที่รักพระองค์
[ภาพหน้า 7]
พระเจ้าทรงช่วยเราให้ต้านทานพญามารด้วย
[ภาพหน้า 7]
เช่นเดียวกับโยบ ถ้าเราให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา เราก็จะได้รับประโยชน์จากความเมตตาของพระเจ้า