ใช้ชีวิตสอดคล้องกับคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู ตอนที่ 2
“พระบิดาของเจ้าทรงทราบว่าเจ้าต้องการอะไร”—มัด. 6:8
1-3. ทำไมพี่น้องหญิงคนหนึ่งมั่นใจว่าพระยะโฮวารู้สิ่งที่เธอต้องการ?
ไพโอเนียร์ประจำคนหนึ่งชื่อลานาไม่เคยลืมสิ่งที่เกิดขึ้นตอนที่เธอไปประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 2012 เธอรู้สึกว่าตอนนั้นพระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเธอ 2 เรื่อง เรื่องแรกตอนที่นั่งรถไฟไปสนามบิน เธอขอพระยะโฮวาให้ช่วยเธอพบใครสักคนเพื่อจะได้ประกาศกับเขา แต่พอมาถึงสนามบิน มีการแจ้งว่าเครื่องบินเลื่อนเวลาเดินทางเป็นวันถัดไป แต่ลานาใช้เงินไปเกือบหมดแล้ว เธอจึงอธิษฐานขอพระยะโฮวาอีกครั้งให้ช่วยเธอมีที่พักสำหรับคืนนั้น
2 พอลานาอธิษฐานเสร็จ เธอก็ได้ยินเสียงผู้ชายคนหนึ่งทักเธอว่า “สวัสดีลานา คุณมาทำอะไรที่นี่ครับ?” เขาคือคนที่เคยเรียนโรงเรียนเดียวกัน ซึ่งกำลังร่ำลาแม่และยายเพราะเขาจะไปแอฟริกาใต้ เมื่อลานาเล่าปัญหาของเธอให้พวกเขาฟัง แม่และยายของเขาจึงชวนลานามาพักที่บ้าน พวกเธอถามคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับความเชื่อและงานไพโอเนียร์ของลานา
3 วันถัดมาหลังจากกินอาหารเช้าเสร็จ ลานาได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่พวกเธอได้ถามอีกหลายเรื่อง ก่อนจากกัน ลานาขอข้อมูลติดต่อเพื่อจะให้คนอื่นกลับไปเยี่ยมพวกเธอ ลานากลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย และเธอยังคงเป็นไพโอเนียร์ เธอรู้สึกว่าพระยะโฮวาฟังคำอธิษฐานของเธอ พระองค์รู้ว่าเธอต้องการอะไรและช่วยเหลือเธอ—เพลง. 65:2
4. เราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้?
4 เมื่อเจอปัญหาโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว เรามักอธิษฐานขอพระยะโฮวาให้ช่วย และพระองค์มีความสุขที่ได้ฟังคำอธิษฐานของเรา (เพลง. 34:15; สุภา. 15:8) แต่คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูสอนเราว่า ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆ อีกที่เราต้องอธิษฐานขอ ในบทความนี้ เราจะพิจารณาว่าคำขอ 4 อย่างสุดท้ายในคำอธิษฐานแบบอย่างจะช่วยเราให้ภักดีต่อพระยะโฮวาได้อย่างไร—อ่านมัดธาย 6:11-13
“ขอทรงประทานอาหารแก่พวกข้าพเจ้าสำหรับวันนี้”
5, 6. ทำไมพระเยซูสอนเราให้อธิษฐานขอ “อาหารแก่พวกข้าพเจ้า” แม้ว่าเราจะมีอาหารมากมายอยู่แล้ว?
5 พระเยซูสอนเราให้ขอ “อาหารแก่พวกข้าพเจ้า” ไม่ใช่แค่ขอ “อาหารแก่ข้าพเจ้า” วิกเตอร์ผู้ดูแลหมวดในแอฟริกาเล่าว่า “ผมขอบคุณพระยะโฮวาจากใจจริงบ่อย ๆ ที่ผมกับภรรยาไม่ต้องกังวลว่าอาหารแต่ละมื้อจะมาจากไหน หรือไม่ต้องกังวลว่าใครจะจ่ายค่าเช่าบ้านให้เพราะพี่น้องดูแลเราอย่างกรุณาทุก ๆ วัน นอกจากนั้น ผมยังอธิษฐานเผื่อพี่น้องที่ช่วยเหลือเราให้รับมือกับความกดดันด้านเศรษฐกิจได้”
6 เราอาจมีอาหารมากมาย แต่พี่น้องของเราหลายคนยากจนและบางคนได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ เราไม่ใช่แค่อธิษฐานเพื่อพวกเขาเท่านั้น แต่เราทำบางอย่างเพื่อช่วยเหลือพวกเขาได้ด้วย เช่น เราแบ่งปันสิ่งที่เรามีให้พวกเขาได้ เราบริจาคเงินสำหรับงานทั่วโลกเป็นประจำได้ด้วย เพราะเงินที่เราบริจาคจะนำไปช่วยเหลือพี่น้องที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ—1 โย. 3:17
7. พระเยซูสอนเราอย่างไรว่า “อย่าวิตกกังวลกับพรุ่งนี้เลย”?
7 หลังจากที่พระเยซูสอนคำอธิษฐานแบบอย่างแล้ว ท่านก็สอนเราอีกว่าไม่ให้มุ่งเน้นสมบัติวัตถุ ท่านบอกว่าถ้าพระยะโฮวาดูแลดอกไม้ป่า “พระองค์จะไม่ทรงตกแต่งพวกเจ้าให้มากกว่าหรือ เจ้าทั้งหลายที่มีความเชื่อน้อย ดังนั้น อย่าวิตกกังวลและพูดว่า . . . ‘เราจะสวมอะไร?’” จากนั้นท่านบอกอีกว่า “อย่าวิตกกังวลกับพรุ่งนี้เลย” (มัด. 6:30-34) เราไม่จำเป็นต้องกังวลถึงสิ่งจำเป็นในอนาคต แต่เราควรพอใจกับสิ่งจำเป็นพื้นฐานของเราในแต่ละวัน เช่น เราสามารถอธิษฐานขอที่อยู่อาศัย ขอให้มีงานเพื่อจะดูแลครอบครัวได้ และขอสติปัญญาเพื่อจะตัดสินใจอย่างฉลาดเรื่องสุขภาพ แต่ก็มีสิ่งสำคัญมากกว่านั้นอีกที่เราต้องขอด้วย
8. การที่พระเยซูพูดถึงอาหารในแต่ละวันทำให้เรานึกถึงอะไร? (ดูภาพแรก)
8 การที่พระเยซูพูดถึงอาหารในแต่ละวันทำให้เรานึกถึงอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านบอกว่า “ชีวิตที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ได้เพราะอาหารเท่านั้น แต่อยู่ได้ด้วยคำพูดทุกคำที่มาจากพระเจ้า” (มัด. 4:4, ฉบับอ่านเข้าใจง่าย ) ดังนั้น เราควรอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาสอนเราต่อ ๆ ไปและให้สิ่งจำเป็นแก่เราเพื่อเราจะใกล้ชิดกับพระองค์เสมอ
“ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้า”
9. ทำไมบาปของเราเป็นเหมือนหนี้?
9 พระเยซูบอกว่า “ขอทรงยกหนี้ความผิดให้พวกข้าพเจ้า” ในอีกโอกาสหนึ่ง ท่านบอกว่า “ขอทรงอภัยบาปของข้าพเจ้าทั้งหลาย” (มัด. 6:12; ลูกา 11:4) พระเยซูพูดแบบนี้เพราะบาปของเราเป็นเหมือนหนี้ ในหอสังเกตการณ์ ปี 1951 อธิบายว่าเมื่อเราทำบาปก็เหมือนกับเราเป็นหนี้พระยะโฮวา เพราะจริง ๆ แล้วเราควรรักและเชื่อฟังพระองค์ ดังนั้น เมื่อเราทำบาปต่อพระเจ้าเราจึงไม่ได้ให้สิ่งที่ควรให้แก่พระองค์ หอสังเกตการณ์ เล่มนั้นบอกว่า ถ้าพระยะโฮวาต้องการตัดขาดความสัมพันธ์กับเราพระองค์ก็ทำได้ และยังบอกอีกว่า “การทำบาปไม่ได้เป็นการแสดงความรักต่อพระเจ้า”—1 โย. 5:3
10. พระยะโฮวาจัดให้มีอะไรเพื่อช่วยอภัยบาปของเรา และเราควรรู้สึกอย่างไรในเรื่องนี้?
10 ยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่พระยะโฮวาจัดให้มีค่าไถ่ของพระเยซูเพื่อช่วยอภัยบาปของเรา! ที่จริง เราจำเป็นต้องได้รับการอภัยจากพระยะโฮวาทุกวัน แม้พระเยซูตายเพื่อเราเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็ยังได้ประโยชน์จากค่าไถ่ของท่าน ดังนั้น เราควรขอบคุณพระยะโฮวาเสมอที่ให้ของขวัญที่มีค่านี้แก่เรา เพราะไม่มีใครในพวกเราสามารถจ่ายค่าไถ่ที่ทำให้เราเป็นอิสระจากบาปและความตายได้ (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 49:7-9; 1 เปโตร 1:18, 19) คำอธิษฐานแบบอย่างที่ว่า “ขอทรงอภัยบาปของข้าพเจ้าทั้งหลาย” เตือนเราว่าค่าไถ่จำเป็นสำหรับเราและพี่น้องชายหญิงของเราด้วย พระยะโฮวาจึงอยากให้เราไม่เพียงคิดถึงความสัมพันธ์ของเรากับพระยะโฮวาเท่านั้น แต่คิดถึงความสัมพันธ์ที่พี่น้องมีต่อพระยะโฮวาด้วย นี่รวมถึงการที่เราต้องรีบให้อภัยเมื่อพวกเขาทำผิดต่อเรา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อเราให้อภัยพี่น้อง เราแสดงว่าเรารักพวกเขาและยังแสดงว่าเราขอบคุณที่พระยะโฮวาให้อภัยเรา—โกโล. 3:13
11. ทำไมจึงสำคัญที่เราจะให้อภัยคนอื่น?
11 เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์ บางครั้งจึงยากที่จะให้อภัยคนที่ทำให้เราขุ่นเคือง (เลวี. 19:18) ถ้าเราเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นในประชาคมฟัง คนที่ฟังก็อาจจะเข้าข้างเรา และส่งผลต่อความสามัคคีในประชาคม ถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็แสดงว่าเราไม่เห็นคุณค่าของค่าไถ่ซึ่งเป็นของขวัญจากพระเจ้าและเราเองจะไม่ได้รับประโยชน์จากค่าไถ่ (มัด. 18:35) ถ้าเราไม่ให้อภัยคนอื่น พระยะโฮวาก็จะไม่ให้อภัยเราเหมือนกัน (อ่านมัดธาย 6:14, 15) นอกจากนั้น ถ้าเราอยากให้พระยะโฮวาอภัยเรา เราต้องไม่ทำสิ่งใดก็ตามที่พระองค์เกลียด—1 โย. 3:4, 6
“ขออย่าให้พวกข้าพเจ้าพ่ายแพ้การล่อใจ”
12, 13. (ก) เกิดอะไรขึ้นกับพระเยซูหลังจากที่ท่านรับบัพติสมา? (ข) ทำไมเราไม่ควรโทษคนอื่นถ้าเรายอมแพ้การล่อใจ? (ค) การที่พระเยซูรักษาความซื่อสัตย์จนตายพิสูจน์ให้เห็นอะไร?
12 ในคำอธิษฐานแบบอย่างที่ว่า “ขออย่าให้พวกข้าพเจ้าพ่ายแพ้การล่อใจ” ทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระเยซูไม่นานหลังจากที่ท่านรับบัพติสมา พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระเจ้านำท่านให้เดินทางไปในถิ่นทุรกันดาร “เพื่อพญามารจะได้มาทดลอง” (มัด. 4:1, ฉบับคิงเจมส์; 6:13) ทำไมพระยะโฮวายอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้น? พระยะโฮวาส่งพระเยซูมาบนโลกเพื่อจัดการกับประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่ออาดามกับฮาวาไม่ยอมรับการปกครองของพระองค์ การกบฏของพวกเขาทำให้เกิดคำถามที่จำเป็นต้องใช้เวลาเพื่อจะได้คำตอบ เช่น มีอะไรผิดพลาดไหมในวิธีที่พระยะโฮวาสร้างมนุษย์? มนุษย์สมบูรณ์จะยังภักดีต่อพระยะโฮวาอยู่ไหมเมื่อถูกล่อใจจาก “ตัวชั่วร้าย”? และจะดีกว่าไหมถ้าให้มนุษย์ปกครองตัวเองแทนที่จะให้พระเจ้าปกครอง? (เย. 3:4, 5) ในอนาคต เมื่อคำถามทั้งหมดได้รับคำตอบอย่างชัดเจนแล้ว เหล่าทูตสวรรค์และมนุษย์ทุกคนบนโลกจะรู้ว่าวิธีการปกครองของพระยะโฮวาดีที่สุด
13 พระยะโฮวาเป็นผู้บริสุทธิ์ พระองค์จึงไม่เคยลองใจใครด้วยสิ่งชั่ว แต่ซาตานเป็น “ผู้ล่อลวง” (มัด. 4:3) มันพยายามใช้หลายวิธีเพื่อล่อใจเรา ถึงอย่างนั้นเราก็มีทางเลือก เราแต่ละคนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะต้านทานการล่อใจหรือยอมแพ้ (อ่านยาโกโบ 1:13-15) เมื่อพระเยซูถูกซาตานล่อใจ ท่านปฏิเสธมันทันทีโดยอ้างคำสอนของพระเจ้า พระเยซูภักดีต่อพระเจ้า อย่างไรก็ตาม ซาตานไม่ยอมเลิกรา มัน “รอจนกว่าจะมีโอกาสอีก” เพื่อล่อใจพระเยซู (ลูกา 4:13) ไม่ว่าซาตานจะใช้วิธีไหน พระเยซูก็ยังเชื่อฟังพระเจ้าในฐานะผู้ปกครองของท่านเสมอ ท่านพิสูจน์ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วมนุษย์สมบูรณ์ภักดีต่อพระยะโฮวาได้แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด แต่ซาตานพยายามล่อใจผู้ติดตามทุกคนของพระเยซูรวมทั้งคุณด้วยเพื่อไม่ให้เชื่อฟังพระยะโฮวา
14. เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่พ่ายแพ้การล่อใจ?
14 คำถามเกี่ยวกับการปกครองของพระเจ้าที่ซาตานยกขึ้นมายังคงจำเป็นต้องได้รับคำตอบ ดังนั้น ตอนนี้พระยะโฮวาจึงยอมให้ซาตานล่อใจเรา แต่พระองค์ไม่ได้เป็นผู้ที่ทำให้เกิด “การล่อใจ” ที่จริง พระองค์มั่นใจว่าเราสามารถภักดีต่อพระองค์ได้และพระองค์อยากช่วยเรา และพระองค์ไม่เคยบังคับเราให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง พระองค์นับถือการตัดสินใจในการเลือกของเรา พระองค์ให้เราตัดสินใจเองว่าจะภักดีหรือไม่ ดังนั้น เพื่อจะไม่พ่ายแพ้การล่อใจ เราต้องทำ 2 สิ่งต่อไปนี้คือ ใกล้ชิดพระยะโฮวาเสมอ และอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระองค์ต่อ ๆ ไป แต่พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของเราอย่างไรเพื่อช่วยให้ต้านทานการล่อใจได้?
15, 16. (ก) การล่อใจอะไรบ้างที่เราต้องต้านทาน? (ข) ถ้าเรายอมแพ้การล่อใจเราควรโทษใคร?
15 พระยะโฮวาให้พลังบริสุทธิ์ซึ่งเป็นพลังที่มีอำนาจมากแก่เราเพื่อช่วยเราให้ต่อสู้กับการล่อใจจากซาตาน พระองค์ยังให้คัมภีร์ไบเบิลกับเรา และให้คำเตือนถึงอันตรายต่าง ๆ แก่เราผ่านทางประชาคม พระองค์เตือนเราไม่ให้ใช้เวลา เงิน และกำลังทั้งหมดกับสิ่งที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างเช่น เอสเปนและยานเนอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยแถบยุโรป พวกเขาเคยเป็นไพโอเนียร์ประจำในที่ที่มีความจำเป็นในประเทศของเขามาหลายปี แต่พอพวกเขามีลูกก็เลยต้องหยุดงานไพโอเนียร์ ตอนนี้พวกเขามีลูก 2 คน เอสเปนบอกว่า “เราอธิษฐานถึงพระยะโฮวาบ่อย ๆ ขอพระองค์ช่วยเราไม่ให้ตกเข้าสู่การล่อใจ เพราะตอนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ของคริสเตียนมากเหมือนเมื่อก่อน เราจึงขอพระยะโฮวาช่วยเราให้รักษาความเชื่อให้มั่นคงและกระตือรือร้นต่อ ๆ ไปในงานประกาศ”
16 การล่อใจอีกอย่างหนึ่งที่เราต้องต้านทานคือการดูสื่อลามก ถ้าเราพ่ายแพ้การล่อใจนี้ เราคงโทษซาตานไม่ได้ เพราะอะไร? เพราะซาตานกับโลกของมันไม่ได้บังคับเราให้ทำสิ่งที่ผิด บางคนดูรูปโป๊หนังโป๊เพราะตัวเขาเองไม่ได้ขจัดความคิดผิด ๆ แต่มีพี่น้องชายหญิงหลายคนที่ต้านทานการล่อใจนี้ได้ ดังนั้น เราก็ทำได้เหมือนกัน—1 โค. 10:12, 13
“ขอทรงช่วยพวกข้าพเจ้าให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย”
17. (ก) เราจะแสดงอย่างไรว่าเราอยากให้พระยะโฮวา ‘ช่วยเราให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย’? (ข) อีกไม่นานจะมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เราโล่งอก?
17 เราจะแสดงอย่างไรว่าเราอยากให้พระยะโฮวา ‘ช่วยเราให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย’? เราต้องไม่ “เป็นส่วนหนึ่งของโลก” และ “อย่ารักโลกหรือสิ่งของในโลก” (โย. 15:19; 1 โย. 2:15-17) เรารู้สึกโล่งอกที่อีกไม่นานพระยะโฮวาจะกำจัดซาตานและโลกชั่วของมัน! แต่กว่าจะถึงตอนนั้น เราต้องจำไว้ว่าซาตาน “โกรธยิ่งนัก เพราะมันรู้ว่าเวลาของมันมีน้อย” มันจึงทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้เราเลิกรับใช้พระยะโฮวา ดังนั้น เราต้องอธิษฐานต่อ ๆ ไปเพื่อพระยะโฮวาจะปกป้องเราจากซาตาน—วิ. 12:12, 17
18. ถ้าเราอยากรอดผ่านอวสานของโลกซาตาน เราต้องทำอะไร?
18 คุณอยากอยู่ในโลกที่ไม่มีซาตานไหม? ถ้าอย่างนั้น ขอให้คุณอธิษฐานต่อ ๆ ไปให้ราชอาณาจักรของพระเจ้ามา ให้ชื่อของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ และให้ความประสงค์ของพระองค์เกิดขึ้นจริงบนโลก ขอคุณวางใจพระยะโฮวาเสมอว่าพระองค์จะดูแลคุณและให้สิ่งจำเป็นต่าง ๆ เพื่อช่วยคุณให้รักษาความภักดีต่อไป ใช่แล้ว ขอให้คุณทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อใช้ชีวิตสอดคล้องกับคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู