พระยะโฮวาทรงประทานสิ่งจำเป็นแก่เราทุกวัน
“จงเลิกกระวนกระวาย; ด้วยว่า . . . พระบิดาของเจ้าทั้งหลายทรงทราบว่าเจ้าทั้งหลายต้องมีสิ่งเหล่านี้.”—ลูกา 12:29, 30, ล.ม.
1. พระยะโฮวาทรงประทานอาหารแก่สรรพสัตว์อย่างไร?
คุณเคยเฝ้าดูนกกระจอกหรือนกอื่น ๆ จิกหาอาหารตามพื้นซึ่งดูเหมือนว่ามีแต่ดินไหม? คุณอาจสงสัยว่ามันจะหาอะไรกินได้จากการจิกไปตามพื้นดิน. ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูแสดงว่าเราสามารถได้บทเรียนจากวิธีที่พระยะโฮวาทรงเลี้ยงดูนก. พระองค์ตรัสว่า “จงดูฝูงนกในอากาศ มันมิได้หว่านมิได้เกี่ยวมิได้ส่ำสมไว้ในยุ้งฉาง, แต่พระบิดาของท่านทั้งหลายผู้อยู่ในสวรรค์ทรงเลี้ยงนกไว้. ท่านทั้งหลายมิประเสริฐยิ่งกว่าฝูงนกอีกหรือ?” (มัดธาย 6:26) ในวิธีอันน่าทึ่ง พระยะโฮวาทรงประทานอาหารแก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวง.—บทเพลงสรรเสริญ 104:14, 21; 147:9.
2, 3. บทเรียนฝ่ายวิญญาณอะไรบ้างที่เราสามารถเรียนได้จากการที่พระเยซูสอนเราให้ทูลขออาหารเป็นวัน ๆ ไป?
2 ถ้าเช่นนั้น เหตุใดพระเยซูจึงรวมคำขอที่ว่า “ขอทรงประทานอาหารแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสำหรับวันนี้” ไว้ในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระองค์? (มัดธาย 6:11, ล.ม.) คำทูลขอธรรมดา ๆ นี้แฝงบทเรียนอันลึกซึ้งฝ่ายวิญญาณ. ประการแรก ข้อนี้เตือนใจเราว่า พระยะโฮวาเป็นผู้จัดเตรียมสิ่งจำเป็นองค์ยิ่งใหญ่. (บทเพลงสรรเสริญ 145:15, 16) มนุษย์อาจเพาะปลูกและรดน้ำใส่ปุ๋ย แต่พระเจ้าเท่านั้นที่สามารถทำให้เติบโต ทั้งแง่ฝ่ายวิญญาณและกายภาพ. (1 โกรินโธ 3:7) สิ่งที่เรากินและดื่มเป็นของประทานจากพระเจ้า. (กิจการ 14:17) การขอให้พระองค์ประทานสิ่งจำเป็นแก่เราในแต่ละวันเป็นการแสดงให้พระองค์เห็นว่าเราไม่ได้รับเอาอาหารที่พระองค์ทรงโปรดประทานนั้นอย่างไม่สำนึกบุญคุณ. แน่ล่ะ การทูลขอเช่นนั้นไม่ได้ปลดเปลื้องเราจากความรับผิดชอบที่จะทำงานหากสามารถทำได้.—เอเฟโซ 4:28; 2 เธซะโลนิเก 3:10.
3 ประการที่สอง การที่เราทูลขอ “อาหาร . . . สำหรับวันนี้” บ่งชี้ว่าเราไม่ควรกังวลเกินไปเกี่ยวกับอนาคต. พระเยซูกล่าวต่อไปว่า “อย่ากระวนกระวายว่า, จะเอาอะไรกินหรือจะเอาอะไรดื่มหรือจะเอาอะไรนุ่งห่ม. เพราะว่าพวกต่างประเทศแสวงหาสิ่งของทั้งปวงนี้, แต่ว่าพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์ทรงทราบแล้วว่าท่านต้องการสิ่งทั้งปวงเหล่านี้. แต่ท่านทั้งหลายจงแสวงหาแผ่นดินของพระเจ้า และความชอบธรรมของพระองค์ก่อน, แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ให้. เหตุฉะนั้นอย่ากระวนกระวายถึงพรุ่งนี้. เพราะว่าพรุ่งนี้คงมีการกระวนกระวายสำหรับพรุ่งนี้เอง.” (มัดธาย 6:31-34) การทูลขอ “อาหาร . . . สำหรับวันนี้” เป็นการวางรูปแบบสำหรับการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายด้วย “ความเลื่อมใสพระเจ้าประกอบกับสันโดษ.”—1 ติโมเธียว 6:6-8, ล.ม.
อาหารฝ่ายวิญญาณทุกวัน
4. เหตุการณ์อะไรในชีวิตของพระเยซูและชาวอิสราเอลที่เน้นความสำคัญของการรับเอาอาหารฝ่ายวิญญาณ?
4 การที่เราทูลขอให้มีอาหารทุกวันน่าจะทำให้เราคิดถึงความจำเป็นที่จะได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณทุกวันด้วย. แม้ว่าทรงหิวอย่างมากหลังจากอดพระกระยาหารมานาน พระเยซูทรงต้านทานการล่อใจจากซาตานที่ให้เปลี่ยนก้อนหินเป็นขนมปัง โดยตรัสว่า “มีคำเขียนไว้ว่า ‘มนุษย์จะดำรงชีวิตด้วยอาหารแต่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ด้วยคำตรัสทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระยะโฮวา.’” (มัดธาย 4:4, ล.ม.) ในที่นี้ พระเยซูทรงยกเอาถ้อยคำของผู้พยากรณ์โมเซขึ้นมากล่าวที่บอกแก่ชาวอิสราเอลว่า “[พระยะโฮวา] ได้ทรงทำให้เจ้าถ่อมใจลง, และให้หิวอาหาร, แล้วได้ประทานขนมมานาเลี้ยงเจ้า, ซึ่งเจ้าเอง, และปู่ย่าตายายของเจ้ามิได้รู้จัก; เพื่อจะให้เจ้าทั้งหลายรู้ว่ามนุษย์จะจำเริญชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้, แต่จะมีชีวิตอยู่เพราะบรรดาพระวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.” (พระบัญญัติ 8:3) วิธีที่พระยะโฮวาประทานมานาแก่ชาวอิสราเอลไม่ใช่เป็นแค่การให้อาหารฝ่ายร่างกาย แต่ยังให้บทเรียนฝ่ายวิญญาณด้วย. บทเรียนอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาต้อง “เก็บพอกินสำหรับเฉพาะวันหนึ่ง ๆ.” ถ้าพวกเขาเก็บมานาเกินกว่าที่พอกินสำหรับวันนั้น ส่วนที่เหลือจะบูดเหม็นเป็นหนอน. (เอ็กโซโด 16:4, 20) แต่จะไม่เป็นอย่างนี้ในวันที่หก ซึ่งพวกเขาต้องเก็บเพิ่มเป็นสองเท่าของปริมาณที่เก็บแต่ละวันเผื่อสำหรับวันซะบาโต. (เอ็กโซโด 16:5, 23, 24) ดังนั้น มานาจึงเตือนใจพวกเขาอย่างหนักแน่นว่าจะต้องเชื่อฟัง และชีวิตของพวกเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับ “บรรดาพระวจนะซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์พระยะโฮวา.”
5. พระยะโฮวาทรงประทานอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เราทุกวันโดยวิธีใด?
5 เช่นเดียวกัน ทุก ๆ วันเราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาประทานผ่านทางพระบุตรของพระองค์. เพื่อจุดประสงค์นี้ พระเยซูทรงแต่งตั้ง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” ให้จัดเตรียม “อาหาร . . . ในเวลาอันเหมาะ” แก่ครอบครัวแห่งความเชื่อ. (มัดธาย 24:45, ล.ม.) ชนชั้นทาสสัตย์ซื่อไม่เพียงจัดเตรียมอาหารฝ่ายวิญญาณให้อย่างอุดมในรูปของคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิล แต่ยังสนับสนุนให้เราอ่านคัมภีร์ไบเบิลทุกวัน. (ยะโฮซูอะ 1:8; บทเพลงสรรเสริญ 1:1-3) เช่นเดียวกับพระเยซู เราสามารถได้รับการบำรุงกำลังฝ่ายวิญญาณโดยการบากบั่นพยายามในการเรียนรู้และกระทำตามพระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาทุก ๆ วัน.—โยฮัน 4:34.
การอภัยบาป
6. เราควรทูลขอการยกหนี้แบบไหน และพระยะโฮวาเต็มพระทัยยกหนี้นั้นโดยมีเงื่อนไขอะไร?
6 คำทูลขอถัดไปในคำอธิษฐานแบบอย่างคือ “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น.” (มัดธาย 6:12) ในที่นี้พระเยซูไม่ได้กล่าวถึงการยกหนี้ที่เป็นเงิน. พระองค์กำลังคิดนึกถึงการอภัยบาปของพวกเรา. ในบันทึกของลูกาเกี่ยวกับคำอธิษฐานแบบอย่าง คำทูลขอนี้อ่านว่า “โปรดให้อภัยการบาปของพวกข้าพเจ้า ด้วยพวกข้าพเจ้าเองก็ให้อภัยผู้ที่เป็นหนี้พวกข้าพเจ้า.” (ลูกา 11:4, ล.ม.) ฉะนั้น เมื่อเราทำบาป นั่นเหมือนกับเราก่อหนี้ไว้กับพระยะโฮวา. แต่พระเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรักของเราเต็มพระทัยจะ “ปลดเปลื้อง” หรือยกหนี้นั้น หากเรากลับใจอย่างแท้จริง, “หันกลับ,” และทูลขอการอภัยโดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระคริสต์.—กิจการ 3:19, ล.ม.; 10:43; 1 ติโมเธียว 2:5, 6.
7. เหตุใดเราควรทูลขอการอภัยทุกวันไป?
7 ในอีกแง่หนึ่ง เราทำบาปเมื่อเราพลาดไปจากการบรรลุมาตรฐานความชอบธรรมของพระยะโฮวา. เนื่องจากบาปที่ตกทอดมา เราทุกคนล้วนพลาดพลั้งในคำพูด, การกระทำ, และความคิด หรือเราไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำ. (ท่านผู้ประกาศ 7:20; โรม 3:23; ยาโกโบ 3:2; 4:17) ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะรู้ตัวว่าเราทำบาปในวันหนึ่ง ๆ หรือไม่ เราจำเป็นต้องรวมเอาคำทูลขอการอภัยบาปไว้ในคำอธิษฐานของเราทุกวัน.—บทเพลงสรรเสริญ 19:12; 40:12.
8. การทูลขอการอภัยน่าจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร และจะเกิดผลดีประการใด?
8 การทูลขอการอภัยควรกระทำหลังจากที่ได้ตรวจสอบตัวเองอย่างซื่อตรง, กลับใจ, และสารภาพบาป โดยอาศัยความเชื่อในพลังอำนาจในการไถ่บาปแห่งพระโลหิตที่หลั่งออกของพระคริสต์. (1 โยฮัน 1:7-9) เพื่อจะพิสูจน์ความจริงใจแห่งคำอธิษฐาน เราต้องสนับสนุนคำขอการอภัยของเราด้วย “การ [กระทำ] ซึ่งสมกับที่กลับใจ.” (กิจการ 26:20) เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว เราก็มั่นใจได้ในความเต็มพระทัยของพระยะโฮวาที่จะอภัยบาปให้เรา. (บทเพลงสรรเสริญ 86:5; 103:8-14) ผลคือใจที่สงบสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้ นั่นคือ “สันติสุขแห่งพระเจ้าที่เหนือกว่าความคิดทุกอย่าง” ซึ่งจะ “ป้องกันรักษาหัวใจและความสามารถในการคิดของ [เรา] ไว้โดยพระคริสต์เยซู.” (ฟิลิปปอย 4:7, ล.ม.) แต่คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูยังสอนถึงสิ่งอื่นอีกที่เราต้องทำเพื่อจะได้รับการอภัยบาป.
เพื่อจะได้รับการอภัย เราต้องให้อภัย
9, 10. (ก) พระเยซูให้คำอธิบายอะไรเพิ่มเข้ากับคำอธิษฐานแบบอย่าง และคำอธิบายดังกล่าวเน้นเรื่องอะไร? (ข) นอกจากนี้พระเยซูยกอุทาหรณ์อะไรเพื่อแสดงถึงความจำเป็นที่เราต้องให้อภัย?
9 น่าสนใจ คำขอที่ให้ “ยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น” เป็นส่วนเดียวเท่านั้นของคำอธิษฐานแบบอย่างที่พระเยซูให้คำอธิบายประกอบ. หลังจบคำอธิษฐาน พระเยซูกล่าวเสริมว่า “เพราะว่าถ้าท่านยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะทรงโปรดยกความผิดของท่านด้วย. แต่ถ้าท่านไม่ยกความผิดของมนุษย์, พระบิดาของท่านก็จะไม่ทรงโปรดยกความผิดของท่านเหมือนกัน.” (มัดธาย 6:14, 15) โดยวิธีนี้ พระเยซูทำให้กระจ่างแจ้งว่าการที่เราจะได้รับการอภัยจากพระยะโฮวานั้นขึ้นอยู่กับความเต็มใจของเราที่จะให้อภัยคนอื่น.—มาระโก 11:25.
10 ในอีกโอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงยกอุทาหรณ์ที่แสดงถึงความจำเป็นที่เราต้องให้อภัย หากเราหวังจะให้พระยะโฮวาให้อภัยเรา. พระเยซูเล่าเรื่องเจ้าองค์หนึ่งซึ่งยกหนี้จำนวนมหาศาลด้วยพระทัยอารีแก่บ่าวคนหนึ่งที่ก่อหนี้ขึ้น. ต่อมาภายหลัง เจ้าองค์นี้ลงโทษบ่าวคนเดียวกันนี้อย่างหนัก เมื่อเขาไม่ยอมยกหนี้ของเพื่อนบ่าวอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหนี้เขาด้วยเงินจำนวนน้อยกว่าที่ตัวเขาเองเป็นหนี้มากนัก. พระเยซูลงท้ายอุทาหรณ์ของพระองค์โดยตรัสว่า “ถ้าท่านขาดเมตตาจิตต์ไม่ยกความผิดให้พี่น้องของท่านทุกคน พระบิดาของเราผู้สถิตในสวรรค์จะทรงกระทำแก่ท่านทั้งหลายอย่างนั้นแหละ.” (มัดธาย 18:23-35) บทเรียนนั้นเห็นได้ชัดคือ บาปที่พระยะโฮวาทรงให้อภัยเราแต่ละคนนั้น มากยิ่งกว่าความผิดที่ใคร ๆ อาจกระทำต่อเรามากนัก. ยิ่งกว่านั้น พระยะโฮวาทรงให้อภัยเราทุกวัน. ฉะนั้น เราก็สามารถให้อภัยความผิดที่คนอื่นกระทำต่อเราเป็นครั้งคราวได้อย่างแน่นอน.
11. เราจะทำตามคำแนะนำอะไรที่อัครสาวกเปาโลให้ไว้หากเราหวังจะให้พระยะโฮวาให้อภัยเรา และจะเกิดผลดีประการใด?
11 อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “จงมีใจกรุณาต่อกัน, มีใจเมตตาอันอ่อนละมุน, ให้อภัยต่อกันด้วยใจกว้างเหมือนดังที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายด้วยใจกว้างโดยทางพระคริสต์.” (เอเฟโซ 4:32, ล.ม.) การให้อภัยกันส่งเสริมสันติสุขท่ามกลางคริสเตียน. เปาโลยังกระตุ้นด้วยว่า “ในฐานะเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร บริสุทธิ์และเป็นที่รัก จงสวมตัวท่านด้วยความเมตตารักใคร่อันอ่อนละมุน, ความกรุณา, จิตใจอ่อนน้อม, ความอ่อนโยน, และความอดกลั้นไว้นาน. จงทนต่อกันและกันอยู่เรื่อยไปและจงอภัยให้กันและกันอย่างใจกว้างถ้าแม้นผู้ใดมีสาเหตุจะบ่นว่าคนอื่น. พระยะโฮวาทรงให้อภัยท่านอย่างใจกว้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงกระทำฉันนั้น. แต่นอกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด จงสวมตัวท่านด้วยความรัก เพราะความรักเป็นเครื่องผูกพันอันสมบูรณ์ที่ทำให้เป็นหนึ่งเดียว.” (โกโลซาย 3:12-14, ล.ม.) ทั้งหมดนี้เป็นความหมายที่แฝงอยู่ในคำอธิษฐานที่พระเยซูสอนเราให้ขอว่า “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น.”
การปกป้องเมื่อถูกทดลอง
12, 13. (ก) คำทูลขอต่อมาในคำอธิษฐานแบบอย่างไม่อาจหมายความเช่นไร? (ข) ใครคือจอมล่อลวง และอะไรคือความหมายของคำทูลขออย่านำเราเข้าสู่การทดลอง?
12 คำทูลขอต่อมาในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูคือ “ขออย่านำข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าสู่การทดลอง.” (มัดธาย 6:13, ล.ม.) พระเยซูหมายความว่าเราควรขอพระยะโฮวาไม่ให้ทดลองเราอย่างนั้นไหม? ไม่ใช่แน่ ๆ เพราะสาวกยาโกโบได้รับการดลใจให้เขียนว่า “เมื่อถูกทดลอง อย่าให้ผู้ใดว่า ‘พระเจ้าทดลองข้าพเจ้า.’ เพราะพระเจ้าจะถูกทดลองด้วยสิ่งที่ชั่วไม่ได้ หรือพระองค์เองก็ไม่ทดลองผู้ใดเลย.” (ยาโกโบ 1:13, ล.ม.) นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนว่า “โอ้ยาห์ โอ้พระยะโฮวา ถ้าพระองค์คอยจับผิด ใครจะทนไหว?” (บทเพลงสรรเสริญ 130:3, ล.ม.) พระยะโฮวาไม่จ้องจับผิดเรา และพระองค์จะไม่หลอกล่อเราให้ทำผิด. ถ้าอย่างนั้น คำอธิษฐานแบบอย่างส่วนนี้หมายความเช่นไร?
13 ผู้พยายามล่อเราให้ทำผิด, ทำให้เราล้มลงด้วยการกระทำอันมีเล่ห์เหลี่ยม, และกระทั่งขย้ำกลืนเราคือซาตานพญามาร. (เอเฟโซ 6:11) มันเป็นจอมล่อลวง. (1 เธซะโลนิเก 3:5) โดยการอธิษฐานขออย่านำเราเข้าสู่การทดลอง เรากำลังทูลขอพระยะโฮวาอย่าปล่อยให้เราล้มลงเมื่อถูกทดลอง. เราขอพระองค์ช่วยเรา “ไม่ให้ซาตานมีชัย” ไม่ให้เราพ่ายต่อการล่อใจ. (2 โกรินโธ 2:11, ล.ม.) เราอธิษฐานขอเพื่อให้เราอยู่ใน “ที่อันลับแห่งผู้ใหญ่ยิ่งสูงสุด” เพื่อรับการปกป้องฝ่ายวิญญาณซึ่งมีไว้สำหรับทุกคนที่ยอมรับอำนาจการปกครองของพระยะโฮวาในทุกสิ่งที่พวกเขากระทำ.—บทเพลงสรรเสริญ 91:1-3.
14. อัครสาวกเปาโลรับรองแก่เราอย่างไรว่าพระยะโฮวาจะไม่ทอดทิ้งเราหากเราหวังพึ่งพระองค์เมื่อถูกทดลอง?
14 หากนั่นเป็นความปรารถนาจากใจจริงของเราที่แสดงออกผ่านทางคำทูลอธิษฐานและการกระทำ เราก็มั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะไม่ทอดทิ้งเรา. อัครสาวกเปาโลรับรองแก่เราว่า “ไม่มีการทดลองใด ๆ มาถึงท่านทั้งหลายเว้นไว้แต่การทดลองซึ่งมนุษย์เคยประสบมา. แต่พระเจ้าทรงสัตย์ซื่อ และพระองค์จะไม่ทรงให้ท่านถูกทดลองเกินที่ท่านจะทนได้ แต่เมื่อทรงยอมให้ท่านถูกทดลองนั้น พระองค์จะจัดทางออกให้ด้วย เพื่อท่านจะสามารถทนได้.”—1 โกรินโธ 10:13, ล.ม.
“ขอทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย”
15. เหตุใดจึงสำคัญยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาที่จะอธิษฐานขอทรงช่วยให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย?
15 ตามสำเนาต้นฉบับของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกที่เชื่อถือได้มากที่สุด คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูจบด้วยถ้อยคำนี้: “ขอทรงช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย.”a (มัดธาย 6:13, ล.ม.) ในสมัยสุดท้ายนี้ การปกป้องตัวเราจากพญามารเป็นสิ่งจำเป็นมากยิ่งขึ้น. ซาตานกับพวกผีปิศาจของมันกำลังทำสงครามกับชนที่เหลือผู้ถูกเจิม “ซึ่งปฏิบัติตามข้อบัญญัติต่าง ๆ ของพระเจ้าและมีงานเป็นพยานถึงพระเยซู” และกับ “ชนฝูงใหญ่” สหายของพวกเขา. (วิวรณ์ 7:9, ล.ม.; 12:9, 17, ล.ม.) อัครสาวกเปโตรเตือนคริสเตียนว่า “จงรักษาสติของท่านไว้ จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโตที่แผดเสียงร้อง เสาะหาคนหนึ่งคนใดที่มันจะขย้ำกลืนเสีย. แต่จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ.” (1 เปโตร 5:8, 9, ล.ม.) ซาตานต้องการจะยุติงานให้คำพยานของเรา และโดยทางตัวแทนของมันบนแผ่นดินโลก—ไม่ว่าทางศาสนา, การค้า, หรือการเมือง—มันพยายามทำให้เรากลัว. อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายืนหยัดมั่นคง พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราให้รอดพ้นจากมัน. สาวกยาโกโบเขียนดังนี้: “เพราะเหตุนี้ จงยอมตัวอยู่ใต้อำนาจพระเจ้า; แต่จงต่อต้านพญามาร แล้วมันจะหนีไปจากท่านทั้งหลาย.”—ยาโกโบ 4:7, ล.ม.
16. พระยะโฮวาสามารถช่วยเหลือผู้รับใช้ของพระองค์ที่ประสบการทดลองโดยวิธีใดบ้าง?
16 พระยะโฮวายอมให้พระบุตรของพระองค์ถูกล่อใจ. แต่หลังจากที่พระเยซูต่อต้านพญามารโดยอาศัยพระคำของพระเจ้าเป็นเครื่องปกป้อง พระยะโฮวาส่งทูตสวรรค์มาเสริมกำลังพระองค์. (มัดธาย 4:1-11) พระยะโฮวาจะใช้ทูตสวรรค์ของพระองค์มาช่วยเหลือเราเช่นกัน หากเราอธิษฐานด้วยความเชื่อและให้พระองค์เป็นที่คุ้มภัยของเรา. (บทเพลงสรรเสริญ 34:7; 91:9-11) อัครสาวกเปโตรเขียนดังนี้: “พระยะโฮวาทรงทราบวิธีช่วยคนที่เลื่อมใสพระเจ้าให้รอดพ้นจากการทดลอง และทรงทราบวิธีเก็บคนอธรรมไว้สำหรับวันแห่งการพิพากษาเพื่อจะถูกตัดขาด.”—2 เปโตร 2:9, ล.ม.
การช่วยให้รอดพ้นอย่างสิ้นเชิงใกล้เข้ามาแล้ว
17. โดยคำอธิษฐานแบบอย่างที่ประทานแก่เรา พระเยซูทรงจัดสิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในลำดับที่เหมาะสมอย่างไร?
17 ในคำอธิษฐานแบบอย่าง พระเยซูจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างเหมาะสม. ความห่วงใยอันดับแรกของเราควรเป็นการให้พระนามบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. เนื่องจากราชอาณาจักรมาซีฮาเป็นเครื่องมือที่จะทำให้สิ่งนี้สำเร็จ เราจึงทูลขอให้ราชอาณาจักรนี้มาทำลายอาณาจักรหรือการปกครองทั้งมวลของมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ และทำให้พระทัยประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จอย่างครบถ้วนบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์. ความหวังของเราเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกขึ้นกับการที่พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และการที่อำนาจการปกครองอันชอบธรรมของพระองค์ได้รับการยอมรับทั่วทั้งเอกภพ. หลังจากอธิษฐานขอสิ่งสำคัญที่สุดเหล่านี้แล้ว เราสามารถทูลขอสิ่งจำเป็นสำหรับแต่ละวัน, ขอการอภัยบาป, อีกทั้งการช่วยให้รอดพ้นจากการทดลองและกลอุบายต่าง ๆ ของซาตานพญามาร ตัวชั่วร้าย.
18, 19. คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูช่วยเราอย่างไรให้เฝ้าระวังอยู่เสมอและทำให้ความหวังของเรา “มั่นคงจนถึงที่สุด”?
18 การช่วยให้รอดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากตัวชั่วร้ายและระบบอันเสื่อมทรามของมันใกล้เข้ามาแล้ว. ซาตานรู้ดีว่ามันเหลือเพียง “ระยะเวลาอันสั้น” ที่จะระบาย “ความโกรธยิ่งนัก” ต่อแผ่นดินโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา. (วิวรณ์ 12:12, 17, ล.ม.) ในหมายสำคัญแห่ง “ช่วงอวสานของระบบนี้” พระเยซูบอกล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ อันน่าตื่นเต้นที่ประกอบกันเป็นหมายสำคัญดังกล่าว ซึ่งบางอย่างยังคงอยู่ในอนาคตของเรา. (มัดธาย 24:3, 29-31, ล.ม.) เมื่อเราเห็นเหตุการณ์เหล่านั้นบังเกิดขึ้น ความหวังที่เราจะได้รับการช่วยให้รอดจะสดใสยิ่งขึ้น. พระเยซูตรัสว่า “เมื่อเหตุการณ์ทั้งปวงนี้เริ่มจะบังเกิดขึ้นนั้น, ท่านทั้งหลายจงเงยหน้าและผงกศีรษะขึ้น, ด้วยความรอดของท่านใกล้จะถึงแล้ว.”—ลูกา 21:25-28.
19 คำอธิษฐานแบบอย่างที่กระชับซึ่งพระเยซูประทานแก่เหล่าสาวกให้การชี้นำที่วางใจได้สำหรับเราในเรื่องที่ว่าจะรวมอะไรเข้าไว้ในคำอธิษฐานของเราขณะที่อวสานใกล้เข้ามา. ขอให้เรามั่นใจเสมอว่า พระยะโฮวาจะประทานสิ่งจำเป็นแต่ละวันแก่เราทั้งฝ่ายวัตถุและฝ่ายวิญญาณเรื่อยไปจนกระทั่งอวสาน. การเฝ้าระวังในการอธิษฐานจะทำให้เราสามารถ “ยึดความไว้วางใจที่เรามีอยู่ตอนต้นไว้ให้มั่นคงจนถึงที่สุด.”—เฮ็บราย 3:14; 1 เปโตร 4:7.
[เชิงอรรถ]
a คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลเก่าแก่บางฉบับ เช่น พระคัมภีร์ไทยฉบับแปลเก่า จบคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูด้วยคำสรรเสริญพระเจ้าว่า “เหตุว่าราชสมบัติและฤทธิ์เดชและรัศมีภาพสิทธิ์ขาดอยู่แก่พระองค์สืบ ๆ ไปเป็นนิตย์, อาเมน.” อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลของเจโรม (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “คำสรรเสริญนี้ไม่มีอยู่ในสำเนาต้นฉบับที่เชื่อถือได้มากที่สุด.”
เพื่อเป็นการทบทวน
• มีความหมายอะไรบ้างแฝงอยู่เมื่อเราทูลขอ “อาหาร . . . สำหรับวันนี้”?
• จงอธิบายคำทูลขอที่ว่า “ขอทรงโปรดยกหนี้ของข้าพเจ้าเหมือนข้าพเจ้ายกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้ข้าพเจ้านั้น”
• เราหมายความเช่นไรเมื่อทูลขอพระยะโฮวาอย่านำเราเข้าสู่การทดลอง?
• เหตุใดเราจำเป็นต้องอธิษฐานขอ ‘ช่วยเราให้รอดพ้นจากตัวชั่วร้าย’?
[ภาพหน้า 15]
เราต้องให้อภัยผู้อื่น หากปรารถนาจะได้รับการอภัย
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Lydekker