พระธรรมเล่มที่ 36—ซะฟันยา
ผู้เขียน: ซะฟันยา
สถานที่เขียน: ยูดา
เขียนเสร็จ: ก่อนปี 648 ก.ส.ศ.
1. (ก) เหตุใดข่าวสารของซะฟันยาจึงเหมาะกับสมัยของท่าน? (ข) เป็นไปอย่างไรที่ความหมายของชื่อท่านเหมาะกับสถานการณ์?
ช่วงต้นรัชกาลกษัตริย์โยซียาแห่งยูดา (659-629 ก.ส.ศ.) เป็นเวลาที่การนมัสการบาละมีอยู่ดาษดื่นและ ‘ปุโรหิตของพระต่างประเทศ’ กำลังนำหน้าในการนมัสการที่ไม่สะอาดนั้น ประชาชนแห่งยะรูซาเลมต้องตื่นตกใจเมื่อได้ยินข่าวสารที่ผู้พยากรณ์ซะฟันยาได้ประกาศ. แม้ว่าท่านอาจเป็นเชื้อพระวงศ์คนหนึ่งของกษัตริย์ฮิศคียาแห่งราชวงศ์ยูดา แต่ซะฟันยาก็วิพากษ์วิจารณ์สภาพการณ์ในชาตินี้อย่างมากทีเดียว. (ซฟัน. 1:1, 4) ข่าวสารของท่านเกี่ยวข้องกับความหายนะ. ไพร่พลของพระเจ้ากลายเป็นพวกดื้อด้าน และเฉพาะแต่พระยะโฮวาเท่านั้นที่ทรงสามารถนำพวกเขากลับมาสู่การนมัสการบริสุทธิ์และอวยพรพวกเขาเพื่อพวกเขาอาจ “มีชื่อ, แลได้ความสรรเสริญปรากฏในท่ามกลางประชาชนทั้งปวงแห่งแผ่นดินโลก.” (3:20) ซะฟันยาชี้ให้เห็นว่า เฉพาะแต่โดยการแทรกแซงของพระเจ้าเท่านั้นที่คนเราอาจ “ถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” (2:3, ล.ม.) ชื่อของท่านนับว่าเหมาะทีเดียวคือ ทเซฟานยาห์ʹ (ฮีบรู) หมายความว่า “พระยะโฮวาทรงกำบัง (เก็บรักษา) ไว้”!
2. ความพยายามของซะฟันยาเกิดผลอย่างไร แต่เหตุใดผลนี้มีเพียงชั่วคราวเท่านั้น?
2 ความพยายามของซะฟันยาเกิดผล. กษัตริย์โยซียาซึ่งขึ้นครองบัลลังก์เมื่อพระชนมายุแปดชันษา ได้ “ตั้งต้นชำระแผ่นดินยูดาและกรุงยะรูซาเลม” ในปีที่ 12 แห่งรัชกาลของท่าน. ท่านถอนรากถอนโคนการนมัสการเท็จ, ซ่อมแซม “โบสถ์วิหารของพระยะโฮวา,” รวมทั้งได้ตั้งการฉลองเทศกาลปัศคาขึ้นอีก. (2 โคร. บท 34, 35) แต่การปฏิรูปของกษัตริย์โยซียาเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะราชบุตรสามองค์และหลานหนึ่งองค์ซึ่งสืบบัลลังก์ต่อจากท่านล้วนประพฤติ “การชั่วต่อพระเนตรพระยะโฮวา.” (2 โคร. 36:1-12) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นสมจริงตามถ้อยคำของซะฟันยาที่ว่า “เราจะลงโทษแก่เจ้านายทั้งปวง, แลบุตรทั้งหลายแห่งมหากษัตริย์, แลแก่ . . . ผู้ที่ทำเรือนของนายให้เต็มด้วยความร้ายกาจแลความคดโกง.”—ซฟัน. 1:8, 9.
3. ซะฟันยาพยากรณ์เมื่อไรและที่ไหน และพระธรรมนี้มีข่าวสารสองอย่างอะไร?
3 จากรายละเอียดข้างต้นปรากฏว่า “คำแห่งพระยะโฮวา . . . มายังซะฟันยา” ในช่วงใดช่วงหนึ่งก่อนปี 648 ก.ส.ศ. ซึ่งเป็นปีที่ 12 ของรัชกาลโยซียา. ข้อแรกของพระธรรมนี้ไม่เพียงบ่งชี้ว่าท่านกล่าวคำพยากรณ์ในยูดา แต่รายละเอียดปลีกย่อยที่ท่านบอกเกี่ยวกับสถานที่และประเพณีของยะรูซาเลมก็สนับสนุนว่าท่านอาศัยในยูดา. ข่าวสารในพระธรรมนี้มีสองอย่าง คือมีทั้งการเตือนภัยและการปลอบประโลม. ส่วนใหญ่แล้วข่าวสารนี้รวมจุดอยู่ที่วันของพระยะโฮวา วันที่น่าสะพรึงกลัวซึ่งมาใกล้เต็มที แต่เวลาเดียวกันก็พยากรณ์ว่า พระยะโฮวาจะฟื้นฟูคนที่ถ่อมใจที่ “ปลงใจเชื่อในพระนามพระยะโฮวา.”—1:1, 7-18; 3:12.
4. อะไรพิสูจน์ว่าพระธรรมซะฟันยาเชื่อถือได้และมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า?
4 ความเชื่อถือได้ของพระธรรมแห่งคำพยากรณ์เล่มนี้ไม่อาจคัดค้านได้สำเร็จ. ยะรูซาเลมถูกทำลายในปี 607 ก.ส.ศ. หลังจากซะฟันยาพยากรณ์นานกว่า 40 ปี. เราไม่เพียงแต่มีข้อความทางประวัติศาสตร์ของทางโลกยืนยันเรื่องนี้ แต่ในคัมภีร์ไบเบิลเองก็มีข้อพิสูจน์ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นตรงกับที่ซะฟันยาพยากรณ์ไว้. ไม่นานหลังจากยะรูซาเลมพินาศ ยิระมะยาได้เขียนพระธรรมบทเพลงร้องทุกข์พรรณนาความสยดสยองที่ท่านได้รู้เห็น ขณะที่เหตุการณ์เหล่านั้นยังแจ่มชัดในจิตใจท่าน. การเปรียบเทียบข้อความหลายตอนสนับสนุนว่าข่าวสารของซะฟันยา “มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า” จริง ๆ. ซะฟันยาเตือนเรื่องความจำเป็นที่ต้องกลับใจ “ก่อน ที่พระพิโรธอันแรงกล้าของพระยะโฮวาตกแก่เจ้า ชนทั้งหลาย” ในขณะที่ยิระมะยากล่าวถึงสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อท่านกล่าวว่า “พระยะโฮวา . . . ได้เท ความพิโรธอันเกรี้ยวกราดของพระองค์ลงแล้ว.” (ซฟัน. 2:2, ล.ม.; ทุกข์. 4:11) ซะฟันยาบอกล่วงหน้าว่าพระยะโฮวา “จะ ให้บังเกิดความทุกข์ลำบากแก่คนทั้งปวง, แลเขาจะดำเนิน ไปดุจคนตาบอด . . . แลโลหิตของเขาทั้งหลายจะต้องเทออก ดุจผงฝุ่น.” (ซฟัน. 1:17) ยิระมะยาพูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว โดยกล่าวว่า “พวกเขาเดินเปะปะ ตามถนนดังตาบอด. พวกเขาเปรอะเปื้อน ด้วยโลหิต.”—ทุกข์ 4:14, ล.ม.; เทียบซะฟันยา 1:13—บทเพลงร้องทุกข์ 5:2; ซะฟันยา 2:8, 10—บทเพลงร้องทุกข์ 1:9, 16 และ 3:61 ด้วย.
5. ประวัติศาสตร์แสดงอย่างไรว่าคำพยากรณ์ของซะฟันยาสำเร็จเป็นจริงอย่างถูกต้องแม่นยำ?
5 ประวัติศาสตร์ก็รายงานเช่นกันถึงความพินาศของชนชาตินอกรีต เช่น โมอาบกับอัมโมน และอัสซีเรียรวมทั้งนีนะเวเมืองหลวง ตามที่ซะฟันยาได้พยากรณ์ตามการชี้นำจากพระเจ้า. เช่นเดียวกับผู้พยากรณ์นาฮูมก็บอกล่วงหน้าถึงความพินาศของนีนะเว (นาฮูม 1:1; 2:10) ซะฟันยาประกาศว่าพระยะโฮวา “จะทรงทำให้นีนะเวเป็นที่ร้างเปล่า เป็นเขตแห้งแล้งดุจถิ่นทุรกันดาร.” (ซฟัน. 2:13, ล.ม.) การทำลายล้างนี้เป็นแบบเบ็ดเสร็จถึงขนาดที่เกือบ 200 ปีต่อมา เฮโรโดทุส นักประวัติศาสตร์ได้เขียนถึงแม่น้ำไทกริสว่าเป็น “แม่น้ำซึ่งเมืองนีนะเวเคยตั้งอยู่.”a ประมาณปี ส.ศ. 150 ลูเชียน นักเขียนชาวกรีกได้เขียนว่า “เดี๋ยวนี้ไม่มีร่องรอยของเมืองนี้หลงเหลือเลย.”b พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของเวสต์มินสเตอร์ฉบับใหม่ (1970) หน้า 669 มีกล่าวว่า กองทัพที่เข้าโจมตี “ได้รับการช่วยอย่างมากจากระดับน้ำในแม่น้ำไทกริสที่สูงขึ้นกะทันหัน ซึ่งพัดพากำแพงเมืองส่วนใหญ่ไปหลายช่วงและทำให้เมืองนี้ป้องกันตัวไม่ได้. . . . ความร้างเปล่าเป็นไปอย่างสิ้นเชิงถึงขนาดที่ในยุคกรีกและโรมัน นีนะเวแทบกลายเป็นตำนาน. ถึงกระนั้น ตลอดเวลานั้นบางส่วนของเมืองนี้ถูกฝังอยู่ใต้กองขยะ.” ในหน้า 627 ของเล่มเดียวกันแสดงว่าโมอาบก็ถูกทำลายเช่นกันตามที่มีพยากรณ์ไว้ว่า “นะบูคัดเนซัรได้พิชิตชาวโมอาบ.” นอกจากนี้ โยเซฟุสก็รายงานถึงการปราบปรามชาวอัมโมนด้วย.c ในที่สุดทั้งชาวโมอาบและชาวอัมโมนก็สิ้นชาติ.
6. เหตุใดพระธรรมซะฟันยาจึงอยู่ในสารบบพระคัมภีร์อย่างถูกต้อง?
6 ชาวยิวจัดพระธรรมซะฟันยาไว้ในสารบบพระคัมภีร์ซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจอย่างถูกต้องเสมอมา. คำแถลงที่กล่าวในพระนามของพระยะโฮวาสำเร็จเป็นจริงอย่างน่าทึ่ง ซึ่งพิสูจน์ว่าพระยะโฮวาถูกต้อง.
เนื้อเรื่องในซะฟันยา
7. วันใหญ่ของพระยะโฮวาจะหมายถึงอะไรสำหรับเหล่าศัตรูของพระองค์?
7 วันของพระยะโฮวาใกล้จะมาถึง (1:1-18). พระธรรมนี้เริ่มด้วยคำกล่าวเรื่องความพินาศ. “พระยะโฮวาตรัสว่า, เราจะเอาสิ่งสารพัตรทั้งปวงไปทำลายเสียจากแผ่นดินทั้งสิ้น.” (1:2) จะไม่มีอะไรหนีพ้นได้ ไม่ว่าคนหรือสัตว์. ผู้นมัสการบาละ, ปุโรหิตของพระต่างชาติ, ผู้นมัสการฟ้าสวรรค์บนดาดฟ้า, ผู้ที่ผสมผสานการนมัสการพระยะโฮวากับการนมัสการพระมัลคัม, ผู้ที่ถอยห่างจากพระยะโฮวา, และผู้ที่ไม่สนใจจะแสวงหาพระองค์—ล้วนต้องพินาศ. ท่านผู้พยากรณ์สั่งว่า “จงนิ่งสงบอยู่ต่อพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร; เพราะว่าวันแห่งพระยะโฮวามาใกล้แล้ว.” (1:7, ล.ม.) พระยะโฮวาเองทรงเตรียมเครื่องบูชา. พวกเจ้าชาย, คนโหดร้าย, คนหลอกลวง, และผู้ที่มีหัวใจเฉยเมย ล้วนแต่จะถูกค้นหานำตัวมา. ความมั่งคั่งและสมบัติพัสถานของพวกเขาจะถูกทำลาย. วันใหญ่ของพระยะโฮวามาใกล้แล้ว! วันนั้นเป็น “วันแห่งพระพิโรธกล้า วันแห่งความทุกข์เดือดร้อนและความกลัดกลุ้ม วันแห่งพายุและความร้างเปล่า วันแห่งความมืดและความครึ้ม วันแห่งเมฆและความมืดมัว.” โลหิตของผู้ที่ทำบาปต่อพระยะโฮวาจะถูกเทออกเหมือนฝุ่น. “ทั้งเงินและทองของเขาต่างก็จะไม่อาจช่วยพวกเขาให้รอดพ้นได้ในวันแห่งพระพิโรธกล้าของพระยะโฮวา.” ไฟแห่งพระทัยอันแรงกล้าของพระยะโฮวาจะเผาผลาญทั้งแผ่นดินโลก.—1:15, 18, ล.ม.
8. (ก) อาจหาการคุ้มครองได้อย่างไร? (ข) มีการประกาศวิบัติอะไรต่อนานาชาติ?
8 จงแสวงหาพระยะโฮวา; นานาชาติจะถูกทำลาย (2:1-15). ก่อนที่วันนั้นจะล่วงไปดุจแกลบ ให้ผู้ที่อ่อนน้อม “แสวงหาพระยะโฮวา . . . แสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม” และอาจเป็นได้ว่าท่านจะ “ถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” (2:3, ล.ม.) คำตรัสของพระยะโฮวามีต่อไป โดยประกาศถึงวิบัติแก่แผ่นดินฟิลิศตีน ซึ่งต่อมาได้เป็น “ที่สำหรับส่วนอันเหลือแห่งเรือนยะฮูดา.” โมอาบและอัมโมนผู้เย่อหยิ่งจะร้างเปล่าเหมือนโซโดมและโกโมร์ราห์ “ด้วยว่าเขาทั้งหลายได้ติเตียนนินทา, แลพองตัวอวดอ้างต่อพวกพลของพระยะโฮวาแห่งพลโยธาทั้งหลาย.” พระของพวกเขาจะพินาศไปพร้อมกับเขา. (2:7, 10) “ดาบ” ของพระยะโฮวาจะสังหารชาวเอธิโอเปียด้วย. จะว่าอย่างไรกับอัสซีเรียที่อยู่ทางเหนือซึ่งมีนีนะเวเป็นเมืองหลวง? ประเทศนั้นจะกลายเป็นถิ่นทุรกันดารอันแห้งแล้งและเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ถูกแล้ว จะเป็น “สิ่งน่าตกตะลึง” จน “ทุกคนที่ผ่านไปจะเป่าปาก” ด้วยความประหลาดใจ.—2:12, 15, ล.ม.
9. (ก) เหตุใดจึงจะเกิดวิบัติแก่ยะรูซาเลม และการตัดสินความของพระยะโฮวาต่อนานาชาติคืออย่างไร? (ข) คำพยากรณ์จบลงด้วยคำกล่าวที่ชื่นชมยินดีเช่นไร?
9 ยะรูซาเลมที่ขืนอำนาจถูกเรียกมาให้การ; ชนที่เหลือผู้ถ่อมใจได้รับพระพร (3:1-20). วิบัติแก่ยะรูซาเลมเช่นกัน นครที่ขืนอำนาจและกดขี่! เจ้าทั้งหลายของนางซึ่ง “เหมือนสิงห์ที่คำราม” และพวกผู้พยากรณ์ของนางซึ่ง “เป็นคนทรยศ” ไม่ไว้วางใจพระยะโฮวาพระเจ้าของนาง. พระองค์จะคิดบัญชีเต็มที่. พลเมืองของนางจะเกรงกลัวพระยะโฮวาและยอมรับการตีสอนไหม? ไม่เลย เพราะพวกเขา “ยิ่งกลับร้อนใจที่จะให้การกระทำของเขาเสื่อมทราม.” (3:3, 4, 7, ฉบับแปลใหม่) พระยะโฮวาทรงตัดสินความเพื่อรวบรวมนานาชาติและเทพระพิโรธอันร้อนแรงลงบนพวกเขา และทั่วทั้งแผ่นดินโลกจะถูกผลาญด้วยไฟแห่งพระทัยอันแรงกล้าของพระองค์. แต่มีคำสัญญาอันวิเศษ! พระยะโฮวาจะทรง “ให้มีการเปลี่ยนเป็นภาษาบริสุทธิ์แก่ชนชาติต่าง ๆ เพื่อเขาทุกคนจะได้ร้องเรียกพระนามของพระยะโฮวา เพื่อจะรับใช้พระองค์เคียงบ่าเคียงไหล่กัน.” (3:9, ล.ม.) คนยโสโอหังจะถูกกำจัด และชนที่เหลือผู้ถ่อมใจซึ่งทำการชอบธรรมจะพบที่คุ้มภัยในพระนามของพระยะโฮวา. เสียงร้องด้วยความยินดี, ความเบิกบาน, ความปีติยินดี, และความปลาบปลื้มดังเซ็งแซ่ในซีโอน เพราะพระยะโฮวากษัตริย์ของยิศราเอลสถิตท่ามกลางพวกเขา. นี่ไม่ใช่เวลาจะหวาดกลัวหรือวางมือ เพราะพระยะโฮวาจะทรงช่วยให้รอดและชื่นชมยินดีในพวกเขาด้วยความรักและความยินดีของพระองค์. “‘เราจะกระทำให้เจ้ามีชื่อเสียงและเป็นที่สรรเสริญในท่ามกลางบรรดาชนชาติทั้งหลายของโลกคือเมื่อเราให้เจ้ากลับสู่สภาพเดิมต่อหน้าต่อตาเจ้า’ พระเจ้าตรัสดังนี้แหละ.”—3:20, ฉบับแปลใหม่.
เหตุที่เป็นประโยชน์
10. คำพยากรณ์ของซะฟันยาก่อประโยชน์อย่างไรในสมัยกษัตริย์โยซียา?
10 ประการหนึ่งคือ กษัตริย์โยซียาได้เอาใจใส่ฟังข่าวสารที่ให้คำเตือนของซะฟันยาและได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวง. ท่านลงมือรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อปฏิรูปศาสนา. นอกจากนั้น การปฏิรูปนี้ทำให้พบหนังสือพระบัญญัติที่หายไปเมื่อพระวิหารของพระยะโฮวาถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม. โยซียารู้สึกเศร้าใจเมื่อฟังการอ่านถึงผลแห่งการไม่เชื่อฟังจากหนังสือนั้น ซึ่งกล่าวยืนยันสิ่งที่ซะฟันยาได้พยากรณ์ตลอดมาโดยพยานอีกคนหนึ่งคือโมเซ. บัดนี้ โยซียาถ่อมตัวเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า ซึ่งยังผลให้พระยะโฮวาทรงสัญญากับท่านว่าความพินาศตามที่พยากรณ์ไว้จะไม่เกิดในสมัยของท่าน. (บัญ. บท 28-30; 2 กษัต. 22:8-20) แผ่นดินนี้จึงได้รับการละเว้นจากภัยพิบัติ! แต่ก็ไม่นาน เพราะเหล่าราชบุตรของโยซียาไม่ได้ติดตามตัวอย่างที่ดีที่ท่านวางไว้. อย่างไรก็ตาม การที่โยซียาและพลเมืองของท่านเอาใจใส่ “คำแห่งพระยะโฮวาซึ่งมายังซะฟันยา” ปรากฏว่าก่อประโยชน์อย่างยิ่งจริง ๆ.—ซฟัน. 1:1.
11. (ก) พระธรรมซะฟันยาเกี่ยวโยงอย่างไรกับคำเทศน์บนภูเขาและกับจดหมายของเปาโลถึงชาวเฮ็บรายซึ่งให้คำเตือนที่ดี? (ข) ทำไมซะฟันยากล่าวว่า “ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้”?
11 ในคำเทศน์อันลือชื่อของพระองค์บนภูเขา พระคริสต์เยซูผู้พยากรณ์องค์ใหญ่ยิ่งของพระเจ้าทรงสนับสนุนว่าซะฟันยาเป็นผู้พยากรณ์แท้ของพระเจ้าโดยตรัสข้อความที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจกับคำแนะนำของซะฟันยาที่บท 2 ข้อ 3 (ล.ม.) ที่ว่า “จงแสวงหาพระยะโฮวา เจ้าทั้งหลายที่อ่อนน้อมในแผ่นดินโลก . . . จงแสวงหาความชอบธรรม แสวงหาความอ่อนน้อม.” คำแนะนำของพระเยซูคือ “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป.” (มัด. 6:33, ล.ม.) บุคคลที่แสวงหาราชอาณาจักรของพระเจ้าก่อนต้องคอยระวังความไม่แยแสที่ซะฟันยาเตือนไว้เมื่อท่านกล่าวถึง “คนทั้งหลายที่ได้กลับหลังจากพระยะโฮวา, แลผู้ที่มิได้แสวงหาแลอ้อนวอนขอแก่พระยะโฮวา” และ “ที่พูดในใจของเขาทั้งหลายว่า, พระยะโฮวาจะทำดีหรือจะกระทำชั่วก็หามิได้.” (ซฟัน. 1:6, 12) ในจดหมายถึงชาวเฮ็บราย เปาโลก็บอกเช่นกันถึงวันพิพากษาที่กำลังจะมาและเตือนเรื่องการถอยกลับ. ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า “บัดนี้เราทั้งหลายไม่ใช่คนชนิดที่ถอยกลับไปสู่ความพินาศ แต่เป็นคนชนิดที่มีความเชื่อที่จะรักษาจิตวิญญาณให้มีชีวิตอยู่.” (เฮ็บ. 10:30, 37-39, ล.ม.) คำแนะนำนี้ไม่ใช่สำหรับผู้ที่เลิกกลางคันหรือผู้ที่ไม่หยั่งรู้ค่า แต่สำหรับผู้ที่แสวงหาพระยะโฮวาอย่างอ่อนน้อมและจริงจังด้วยความเชื่อที่ผู้พยากรณ์บอกว่า “ชะรอยเจ้าอาจถูกกำบังไว้ในวันแห่งความพิโรธของพระยะโฮวา.” ทำไมจึง “ชะรอย”? เพราะความรอดขั้นสุดท้ายนั้นขึ้นอยู่กับแนวทางที่แต่ละคนดำเนิน. (มัด. 24:13) คำแนะนำนี้ยังเป็นข้อเตือนใจด้วยว่า เราไม่อาจทึกทักเอาพระเมตตาของพระเจ้าได้. คำพยากรณ์ของซะฟันยาไม่ทิ้งข้อสงสัยใด ๆ ในเรื่องที่ว่า วันนั้นจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่คาดคิด.—ซฟัน. 2:3; 1:14, 15; 3:8.
12. พื้นฐานอะไรสำหรับความกล้าหาญที่ซะฟันยาให้ไว้แก่ผู้ที่ “แสวงหาพระยะโฮวา”?
12 ดังนั้น นี่จึงเป็นข่าวสารที่บอกล่วงหน้าถึงความพินาศสำหรับผู้ที่ทำบาปต่อพระยะโฮวา แต่ให้ภาพที่สดใสแวบหนึ่งของพระพรสำหรับผู้ที่กลับใจ “แสวงหาพระยะโฮวา.” ผู้ที่กลับใจเหล่านี้จะกล้าหาญขึ้นได้ เพราะซะฟันยากล่าวว่า “กษัตริย์แห่งพวกยิศราเอล, คือพระยะโฮวาทรงสถิตอยู่ในท่ามกลางท่าน.” นี่ไม่ใช่เวลาที่ซีโอนจะกลัว หรือวางมือ. นี่เป็นเวลาที่จะไว้วางใจพระยะโฮวา. “พระองค์ประกอบด้วยฤทธิ์อันยิ่งก็จะช่วยให้รอด, พระองค์จะชอบพระทัยในท่านด้วยความยินดี, พระองค์จะทรงนิ่งอยู่ในความรักของพระองค์, พระองค์จะอภิรมย์ในท่านด้วยเสียงร้องยินดี.” คนที่ ‘แสวงหาราชอาณาจักรของพระองค์ก่อน’ ก็มีความสุขเช่นกันในการคอยท่าการคุ้มครองด้วยความรักและพระพรถาวรจากพระองค์!—3:15-17.
[เชิงอรรถ]
a ไซโคลพีเดีย ของแมกคลินทอกและสตรอง (ภาษาอังกฤษ) พิมพ์ใหม่ 1981 เล่มที่ 7 หน้า 112.
b ลูเชียน (ภาษาอังกฤษ) แปลโดย เอ. เอ็ม. ฮาร์มอน 1968 เล่มที่ 2 หน้า 443.
c Jewish Antiquities, X, 181, 182 (ix, 7).