พระคำของพระเจ้าเป็นความจริง
“ขอทรงโปรดจัดเขาไว้ต่างหากให้บริสุทธิ์ด้วยความจริง พระคำของพระองค์เป็นความจริง.”—โยฮัน 17:17, ล.ม.
1. ผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญชาวฮีบรูมีทัศนะอย่างไรต่อคัมภีร์ไบเบิล แต่คนส่วนมากทุกวันนี้มองดูคัมภีร์ไบเบิลอย่างไร?
“พระวจนะของพระองค์เป็นโคมสำหรับเท้าของข้าพเจ้า และเป็นแสงสว่างตามทางเดินของข้าพเจ้า.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:105) นี่เป็นคำกล่าวของผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ. ทุกวันนี้ มีน้อยคนที่ยอมรับรอง พระคำของพระเจ้าเช่นนั้น. ในศตวรรษที่ยี่สิบนี้ พระคำของพระเจ้ามีอยู่ในรูปของตัวหนังสือ เป็นคัมภีร์ไบเบิลอันศักดิ์สิทธิ์. มีการแปลออกเป็นภาษาต่าง ๆ และจำหน่ายจ่ายแจกอย่างกว้างขวางมากกว่าหนังสือใด ๆ ในประวัติศาสตร์. แต่ถึงกระนั้น คนส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะยอมรับคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นโคมสำหรับเท้าของเขา. แม้กระทั่งคนเหล่านั้นที่อ้างว่าเป็นคริสเตียน พวกเขาส่วนมากก็อยากจะทำตามความคิดของตนเองมากกว่าจะยอมให้คัมภีร์ไบเบิลส่องสว่างตามทางเดินของเขา.—2 ติโมเธียว 3:5.
2, 3. พยานพระยะโฮวามีทัศนะเช่นไรต่อพระคัมภีร์ และเมื่อเป็นเช่นนี้ เขาได้รับประโยชน์อย่างไร?
2 แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พวกเราพยานพระยะโฮวาเห็นด้วยกับท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญ. สำหรับพวกเราแล้ว คัมภีร์ไบเบิลเป็นเครื่องนำทางที่พระเจ้าทรงประทานให้. เราทราบว่า “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์เพื่อการสั่งสอน เพื่อการว่ากล่าว เพื่อจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย เพื่อตีสอนด้วยความชอบธรรม.” (2 ติโมเธียว 3:16, ล.ม.) ไม่เหมือนกับคนส่วนมากทุกวันนี้ เราไม่ต้องการจะทดลองดูในเรื่องศีลธรรมและความประพฤติ. เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องเพราะคัมภีร์ไบเบิลบอกเรา.
3 สิ่งนี้ได้นำประโยชน์ใหญ่หลวงมาให้เรา. เราได้มารู้จักพระยะโฮวาและได้เรียนรู้ถึงพระประสงค์อันยอดเยี่ยมของพระองค์สำหรับแผ่นดินโลกและมนุษยชาติ ฉะนั้นเราจึงมั่นใจว่าอนาคตอันสดใสจะเป็นได้สำหรับพวกเราและครอบครัวของเรา. เราเห็นพ้องด้วยอย่างเต็มที่กับผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญผู้ซึ่งได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้ารักข้อกฎหมายของพระองค์มากเท่าใด! เป็นข้อภาวนาของข้าพเจ้าวันยังค่ำ ข้อบัญญัติของพระองค์ทำให้ข้าพเจ้าฉลาดกว่าพวกศัตรู ด้วยข้อเหล่านั้นอยู่กับข้าพเจ้าเสมอ.”—บทเพลงสรรเสริญ 119:97, 98.
การให้คำพยานโดยความประพฤติ
4. การยอมรับว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้าทำให้เรามีพันธะอะไร?
4 ดังนั้น เราจึงมีเหตุผลอันดีทุกประการที่จะเห็นพ้องกับคำตรัสของพระเยซูต่อพระบิดาของพระองค์ที่ว่า “คำของพระองค์เป็นความจริง.” (โยฮัน 17:17) แต่การยอมรับความจริงข้อนี้ทำให้เรามีพันธะประการหนึ่ง. เราต้องช่วยผู้อื่นให้ตระหนักว่าพระคำของพระเจ้าเป็นความจริง. โดยวิธีนี้ พวกเขาเช่นกันจะได้ชื่นชมกับพระพรที่เราได้ประสบ. เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร? ประการหนึ่ง คือเราต้องบากบั่นพยายามทุกอย่างในการปฏิบัติตามหลักคัมภีร์ไบเบิลในการดำเนินชีวิตแต่ละวัน. โดยวิธีนี้ บุคคลผู้มีหัวใจสุจริตจะเห็นได้ว่าแนวทางของคัมภีร์ไบเบิลนั้นดียอดเยี่ยมจริง ๆ.
5. เปโตรให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับการให้คำพยานโดยการประพฤติของเรา?
5 นี้เป็นใจความของคำแนะนำของอัครสาวกเปโตรที่ได้ให้แก่สตรีคริสเตียนซึ่งสามีของเธอไม่มีความเชื่อ. ท่านกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยา จงยอมอยู่ใต้อำนาจสามีของท่าน เพื่อว่า ถ้าคนใดไม่เชื่อฟังพระคำแม้นไม่เอ่ยปาก เขาก็อาจถูกโน้มน้าวโดยการประพฤติของภรรยา.” (1 เปโตร 3:1, ล.ม.) ข้อนี้ยังเป็นหลักการที่แฝงอยู่ในคำแนะนำของท่านที่ให้แก่คริสเตียนทุกคน—ทั้งชาย หญิงและเด็ก—เมื่อท่านกล่าวว่า “จงรักษาความประพฤติของท่านให้ดีงามท่ามกลางนานาชาติ เพื่อว่าในสิ่งที่เขาพูดต่อต้านท่านทั้งหลายว่าเป็นคนทำชั่วนั้น เนื่องด้วยการงานที่ดีงามของท่านซึ่งเขาเป็นประจักษ์พยานนั้น เขาอาจสรรเสริญพระเจ้าในวันสำหรับการตรวจตราของพระองค์.”—1 เปโตร 2:12; 3:16, ล.ม.
สติปัญญาอันเลิศล้ำในคัมภีร์ไบเบิล
6. เปโตรช่วยเราอย่างไรให้มองเห็นว่าเราควรช่วยเหลือผู้อื่นให้เห็นคุณค่าของคัมภีร์ไบเบิล?
6 ยิ่งกว่านั้น คริสเตียนอาจช่วยคนอื่นให้เห็นคุณค่าคัมภีร์ไบเบิลได้หากเขาทำตามที่เปโตรแนะนำไว้ด้วยที่ว่า “จงจัดให้พระคริสต์เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้บริสุทธิ์ในหัวใจของท่านทั้งหลาย เตรียมพร้อมเสมอที่จะโต้ตอบต่อหน้าทุกคนซึ่งเรียกเหตุผลจากท่านสำหรับความหวังของท่าน แต่จงทำเช่นนี้ด้วยอารมณ์อ่อนโยน และความนับถือสุดซึ้ง.” (1 เปโตร 3:15, ล.ม.) คริสเตียนผู้ประกาศทั้งหลายควรสามารถกล่าวปกป้องคัมภีร์ไบเบิลและอธิบายแก่ผู้อื่นได้ว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นพระคำของพระเจ้า. จะทำได้อย่างไร?
7. ข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าจะต้องเป็นพระคำของพระเจ้า?
7 แนวการหาเหตุผลที่มีพลังจูงใจวิธีหนึ่งจะพบได้ในพระธรรมสุภาษิต. ที่นั่นเราอ่านว่า “ศิษย์ของเราเอ๋ย ถ้าเจ้าจะรับคำของเรา และจะรักษาบัญญัติของเราไว้กับเจ้า ยอมที่จะตะแคงหูของเจ้าลงฟังพระปัญญา . . . เจ้าจะพบความรู้ของพระเจ้า. เพราะว่าพระยะโฮวาทรงพระราชทานปัญญาความรู้ และความเข้าใจออกมาจากพระโอษฐ์ของพระองค์.” (สุภาษิต 2:1-6) พระปัญญาของพระเจ้าจะพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล. เมื่อบุคคลที่จริงใจมาเข้าใจถึงสติปัญญาอันล้ำลึกนั้น เขาก็ต้องยอมรับว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ใช่เป็นเพียงคำของมนุษย์เท่านั้น.
8, 9. มีการแสดงให้เห็นอย่างไรว่าคำแนะนำในพระคัมภีร์เกี่ยวด้วยการรักษาไว้ซึ่งทัศนะที่สมดุลในเรื่องการได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นเป็นคำแนะนำที่ถูกต้อง?
8 ลองมาพิจารณาบางตัวอย่าง. ในปัจจุบัน ความสำเร็จในชีวิตมักจะวัดกันด้วยเงิน. ผู้คนคิดกันว่า ยิ่งเขาหาเงินได้มาก ก็ยิ่งประสบความสำเร็จ. แต่กระนั้น คัมภีร์ไบเบิลให้คำเตือนคัดค้านการให้ความใส่ใจมากเกินไปต่อสิ่งฝ่ายวัตถุ. อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “คนเหล่านั้นที่ตั้งใจจะเป็นคนมั่งมีก็ตกเข้าสู่การล่อใจและบ่วงแร้วและความปรารถนาที่ไร้สาระ และที่ก่อความเสียหายมากมาย ซึ่งทำให้คนตกเข้าสู่ความพินาศและความหายนะ. เพราะความรักเงินเป็นรากแห่งสิ่งที่ก่อความเสียหายทุกชนิด และโดยการแสวงหาความรักแบบนี้ บางคนถูกทำให้หลงจากความเชื่อ และได้ทิ่มแทงตัวเองทั่วทั้งตัวด้วยความเจ็บปวดมากหลาย.”—1 ติโมเธียว 6:9, 10, ล.ม. เทียบกับมัดธาย 6:24.
9 ประสบการณ์แสดงให้เห็นว่าคำเตือนนี้เหมาะสมเพียงไร. นักจิตวิทยาวิเคราะห์คนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “การได้เป็นบุคคลอันดับหนึ่งและร่ำรวยไม่ได้ทำให้คุณรู้สึกว่าได้บรรลุความสำเร็จ อิ่มใจพอใจ เป็นที่นับถือหรือรักใคร่อย่างแท้จริง.” ถูกแล้ว คนเหล่านั้นที่ทุ่มเทพลังทั้งหมดของเขาในการแสวงความมั่งคั่งมักจะจบลงด้วยความรู้สึกขมขื่นและข้องขัดใจ. ขณะที่พระคัมภีร์ยอมรับคุณค่าของเงิน ก็ยังชี้ถึงบางสิ่งที่สำคัญกว่ามากนัก นั่นคือ “สติปัญญาเป็นเครื่องป้องกันฉันใด เงินก็เป็นเครื่องป้องกันฉันนั้น แต่ความประเสริฐแห่งความรู้นั้นคือว่าปัญญานั้นรักษาชีวิตเจ้าของความรู้นั้นไว้.”—ท่านผู้ประกาศ 7:12.
10. ทำไมเราควรเอาใจใส่ต่อคำแนะนำของพระคัมภีร์ที่ให้ระวังการคบหาสมาคมของเรา?
10 คัมภีร์ไบเบิลมีคำสั่งสอนแบบนี้มากมาย. อีกอย่างหนึ่งคือ “บุคคลที่ดำเนินกับคนมีปัญญาก็จะเป็นคนมีปัญญา แต่คนที่คบกับคนโฉดเขลาย่อมจะรับความเสียหาย.” (สุภาษิต 13:20) ข้อนี้ก็ได้รับการยืนยันโดยประสบการณ์ว่าเป็นความจริงด้วย. ความกดดันจากคนวัยเดียวกันได้ชักนำเยาวชนไปสู่การเสพสุรามึนเมา การใช้ยาเสพย์ติด และการผิดศีลธรรม. คนที่คบหากับพวกที่ใช้คำพูดต่ำช้าจะพบว่าตนเองก็ใช้คำพูดแบบนั้นไปด้วย. หลายคนขโมยสิ่งของจากนายจ้างก็เพราะ ‘ใคร ๆ เขาก็ทำกัน.’ เป็นความจริงดังที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้เช่นกันว่า “การคบหาสมาคมที่ไม่ดีย่อมทำให้นิสัยดีเสียไป.”—1 โกรินโธ 15:33, ล.ม.
11. การศึกษาด้านจิตวิทยาแสดงให้เห็นอย่างไรถึงสติปัญญาในการปฏิบัติตามกฎทอง?
11 คำแนะนำที่มีชื่อเสียงที่สุดข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลเรียกกันว่ากฎทองคือ “สิ่งสารพัดซึ่งท่านปรารถนาให้มนุษย์ทำแก่ท่าน จงกระทำอย่างนั้นแก่เขาเหมือนกัน.” (มัดธาย 7:12) หากมนุษยชาติปฏิบัติตามกฎข้อนี้ โลกคงจะเป็นสถานที่ที่ดีกว่านี้แน่. แต่ถึงแม้คนทั่วไปในโลกจะไม่ปฏิบัติตามกฎนี้ ก็เป็นการดีกว่าที่คุณแต่ละคนจะปฏิบัติตาม. เพราะเหตุใด? ก็เพราะเราถูกสร้างขึ้นให้เอาใจใส่ผู้อื่นและเป็นห่วงพวกเขา. (กิจการ 20:35) การศึกษาด้านจิตวิทยาที่ทำในสหรัฐเพื่อค้นคว้าว่าผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อเขาได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้มาถึงข้อสรุปดังนี้ “ปรากฏว่า การเอาใจใส่ในผู้อื่นนั้นเป็นลักษณะนิสัยของมนุษย์เหมือนกับการเอาใจใส่ตนเอง.”—มัดธาย 22:39.
คำแนะนำของพระคัมภีร์—สติปัญญาอันยอดเยี่ยมที่สุด
12. ข้อเท็จจริงอะไรที่ทำให้คัมภีร์ไบเบิลมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว?
12 จริงอยู่ที่ว่า นอกจากคัมภีร์ไบเบิลแล้ว มีแหล่งแห่งคำแนะนำอยู่มากมายในทุกวันนี้. เช่นคอลัมน์ให้คำแนะนำในหนังสือพิมพ์ และตามร้านหนังสือก็มีหนังสือเกี่ยวกับการช่วยตัวเองเต็มไปหมด. นอกจากนั้นก็มีนักจิตวิทยา ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ และอีกมากมายที่เสนอคำแนะนำในแขนงต่าง ๆ. แต่คัมภีร์ไบเบิลมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว อย่างน้อยสามประการ. ประการแรก คำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลใช้ประโยชน์ได้เสมอ. ไม่เคยเป็นเพียงทฤษฎี และไม่เคยก่อผลเสียหาย. คนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของคัมภีร์ไบเบิลต่างก็ต้องเห็นด้วยกับคำทูลอธิษฐานที่ท่านผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญมีต่อพระเจ้าที่ว่า “บรรดาพระโอวาทของพระองค์เป็นที่แน่นอนนัก.”—บทเพลงสรรเสริญ 93:5, ฉบับแปลใหม่.
13. อะไรที่แสดงว่าพระคัมภีร์เหนือกว่าแหล่งแห่งสติปัญญาของมนุษย์มากมายนัก?
13 ประการที่สอง พระคัมภีร์ทนทานต่อการที่เวลาผ่านไป. (1 เปโตร 1:25; ยะซายา 40:8) คำแนะนำจากมนุษย์ด้วยกันนั้นรู้กันอยู่ว่ามักจะเปลี่ยนแปลงได้ และคำแนะนำที่ใช้ได้ในปีหนึ่งก็มักจะไม่เป็นที่ยอมรับในปีต่อไป. แต่ถึงแม้คัมภีร์ไบเบิลถูกเขียนขึ้นจนสำเร็จครบถ้วนเมื่อเกือบ 2,000 ปีมาแล้ว ก็ยังมีคำแนะนำอันเฉลียวฉลาดยอดเยี่ยมที่สามารถใช้ได้ และถ้อยคำในคัมภีร์ไบเบิลก็ใช้ได้ทุกหนแห่ง. คำแนะนำเหล่านั้นนำไปใช้ได้มีผลเหมือนกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในแอฟริกา เอเชีย อเมริกาใต้หรือเหนือ ยุโรปหรือบนเกาะในมหาสมุทร.
14. คำแนะนำของพระคำของพระเจ้ายอดเยี่ยมในทางใด?
14 ประการสุดท้าย ขอบเขตอันกว้างขวางของคำแนะนำในพระคัมภีร์นั้นไม่มีใดเทียบได้. สุภาษิตข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “พระยะโฮวาพระราชทานปัญญา” และไม่ว่าเราจะเผชิญกับปัญหาหรือการตัดสินใจใด ๆ สติปัญญาที่มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลก็ช่วยเราให้จัดการได้. (สุภาษิต 2:6) ทุก ๆ คน ไม่ว่าเด็ก ๆ วัยรุ่น บิดามารดา คนชรา ลูกจ้าง นายจ้าง หรือผู้ที่มีตำแหน่งอำนาจ ต่างก็พบว่าสติปัญญาในพระคัมภีร์ใช้ได้กับเขา. (สุภาษิต 4:11) แม้ว่าเราเผชิญสถานการณ์ซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันในสมัยพระเยซูและอัครสาวก พระคัมภีร์ก็ให้คำแนะนำที่ใช้ได้ผลแก่เรา. อาทิ ย้อนไปในศตวรรษแรก การสูบบุหรี่ไม่เป็นที่รู้จักในตะวันออกกลาง. แต่ปัจจุบันมีการสูบบุหรี่อยู่อย่างแพร่หลายทั่วไป. ถึงกระนั้น บุคคลที่สังเกตเอาใจใส่คำแนะนำในพระคัมภีร์ที่ให้หลีกเลี่ยงการ “ยอมอยู่ใต้อำนาจ [หรือการควบคุม] ของสิ่งใด ๆ” และที่ให้ชำระตัวให้ปราศจาก “มลทินทุกอย่างแห่งเนื้อหนังและวิญญาณจิต” จะหลีกเว้นนิสัยเช่นนั้นซึ่งทั้งทำให้ติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ.—1 โกรินโธ 6:12; 2 โกรินโธ 7:1.
เพื่อผลดีระยะยาวแก่เรา
15. เหตุใดหลายคนอ้างว่าคัมภีร์ไบเบิลล้าสมัย?
15 เป็นความจริงที่หลายคนพูดว่าพระคัมภีร์ล้าสมัยและไม่เหมาะกับศตวรรษที่ยี่สิบนี้. แต่อาจเป็นได้ว่าเหตุผลก็คือว่าพระคัมภีร์ไม่ได้พูดในสิ่งที่เขาอยากฟัง. การปฏิบัติตามคำแนะนำในพระคัมภีร์จะก่อผลประโยชน์ระยะยาวแก่เรา แต่สิ่งนี้มักเรียกร้องความอดทน การใช้วินัยและปฏิเสธตัวเอง—ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมในโลกที่กระตุ้นให้เราแสวงความพอใจโดยฉับพลันทันที.—สุภาษิต 1:1-3.
16, 17, พระคัมภีร์วางมาตรฐานอันสูงส่งด้านศีลธรรมทางเพศไว้อย่างไร และมาตรฐานเหล่านั้นถูกละเลยอย่างไรในสมัยนี้?
16 จงพิจารณาเรื่องศีลธรรมทางเพศ. มาตรฐานของพระคัมภีร์ในเรื่องนี้เข้มงวดมากทีเดียว. ความเกี่ยวพันทางเพศจะมีได้เฉพาะโดยการสมรสเท่านั้น และห้ามการเกี่ยวพันทางเพศทุกชนิดนอกสายสมรส. เราอ่านว่า “คนผิดประเวณี หรือคนไหว้รูปเคารพ หรือผิดผัวเมียเขา หรือหญิงเล่นเพื่อน หรือชายเล่นน้องสวาท . . . จะไม่ได้รับส่วนในแผ่นดินของพระเจ้า.” (1 โกรินโธ 6:9, 10) ยิ่งกว่านั้น พระคัมภีร์เรียกร้องให้คริสเตียนมีคู่สมรสคนเดียว สามีคนเดียวสำหรับภรรยาคนเดียว. (1 ติโมเธียว 3:2) และขณะที่มีกรณีร้ายแรงบางอย่างที่อาจยอมให้ทำการหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ได้ พระคัมภีร์กล่าวว่าในกรณีทั่วไป สายสมรสคือสายสัมพันธ์ชั่วชีวิต. พระเยซูเองตรัสว่า “พระผู้สร้างมนุษย์แต่เดิมได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิงและตรัสว่า ‘เพราะเหตุนั้น บุรุษจึงต้องละบิดามารดาของตนไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้ออันเดียวกัน เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไปแต่เป็นเนื้ออันเดียวกัน. เหตุฉะนั้น ซึ่งพระเจ้าได้ผูกพันกันแล้ว อย่าให้มนุษย์ทำให้พรากจากกันเลย.”—มัดธาย 19:4-6, 9; 1 โกรินโธ 7:12-16.
17 ปัจจุบัน มาตรฐานเหล่านี้ถูกคนโดยทั่วไปละเลย. มีการยอมให้กับการประพฤติเสเพลทางเพศ. ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างวัยรุ่นที่นัดพบกันถือกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา. การอยู่กินกันโดยไม่ได้สมรสก็เป็นที่ยอมรับกัน. ในหมู่คู่สมรส การที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปมีสัมพันธ์ทางเพศกับคนอื่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ. และการหย่าร้างก็เป็นสิ่งที่แพร่ไปทั่วโลกสมัยนี้. อย่างไรก็ตาม มาตรฐานที่หย่อนยานเช่นนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความสุข. ผลอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้นแสดงว่า พระคัมภีร์เป็นฝ่ายถูกต้องทุกอย่างในการยึดมั่นอยู่กับมาตรฐานอันเข้มงวดทางศีลธรรม.
18, 19. ผลของการละเลยมาตรฐานศีลธรรมของพระยะโฮวา ที่มีอยู่ทั่วไปนั้นเป็นอย่างไร?
18 วารสาร เลดีส์ โฮม เจอร์นัล กล่าวว่า “การเน้นเรื่องเพศซึ่งถือเป็นลักษณะของทศวรรษปี 1960 และ 1970 นั้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุขยืนนาน แต่เป็นความทุกข์แสนเข็ญของมนุษย์ต่างหาก.” “ความทุกข์แสนเข็ญ” ในที่นี้เกี่ยวข้องรวมไปถึงเด็ก ๆ ที่มีบาดแผลทางใจเพราะการหย่าร้างของบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่ต้องทนกับความรู้สึกปวดร้าวใจ. ยังรวมถึงครอบครัวที่มีแต่บิดาหรือมารดาฝ่ายเดียวที่มีมากขึ้น และการแพร่หลายของการที่เด็กผู้หญิงมีบุตรในขณะที่ยังไม่พ้นวัยเด็กด้วยซ้ำ. ยิ่งกว่านั้นยังรวมถึงการแพร่ระบาดของกามโรคด้วยเช่น เริม โกโนเรีย ซิฟิลิส คลามีเดีย และเอดส์.
19 เมื่อคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาคนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “บางทีเราอาจเป็นผู้ใหญ่พอที่จะพิจารณาได้ว่า มันจะเกิดประโยชน์แก่เราหรือไม่ที่จะส่งเสริมให้ละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการสมรสฐานะเป็นนโยบายที่ตอบสนองได้ดีที่สุดต่อความต้องการของประชาชนและสิทธิของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพ คือเสรีภาพจากโรคภัย จากการตั้งครรภ์ที่ไม่ปรารถนา.” พระคัมภีร์มีกล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “ความสุขย่อมมีแก่ผู้ซึ่งไว้ใจในพระยะโฮวา เขาไม่นับถือคนที่จองหองและคนที่หลงไปตามความเท็จ.” (บทเพลงสรรเสริญ 40:4) คนเหล่านั้นที่วางใจในสติปัญญาที่มีในพระคัมภีร์ไม่ถูกหลอกลวงโดยคำโกหกของผู้ที่ต่อต้านคัมภีร์ไบเบิล และบอกว่ามาตรฐานทางศีลธรรมอันเสื่อมทรามจะนำมาซึ่งความสุข. มาตรฐานที่สุขุมในพระคัมภีร์ แม้จะเข้มงวดแต่ก็เพื่อผลที่ดีที่สุด.
ปัญหายุ่งยากในชีวิต
20. หลักการอะไรในพระคัมภีร์ที่ปรากฏว่ามีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องประสบกับความอัตคัตขัดสนในชีวิต?
20 สติปัญญาของพระคัมภีร์ยังช่วยเราให้จัดการกับปัญหายุ่งยากที่เราเผชิญในชีวิตด้วย. เช่นในบางประเทศ คริสเตียนมีความเป็นอยู่อย่างอัตคัตขาดแคลน. แต่เขาก็รับมือกับความขาดแคลนนั้นได้และยังคงมีความสุข. อย่างไรล่ะ? ก็โดยการปฏิบัติตามพระคัมภีร์ที่ได้รับการดลบันดาลจากพระเจ้า. พวกเขาเอาใจใส่อย่างจริงจังในคำปลอบประโลมในพระธรรมบทเพลงสรรเสริญ 55:22 ที่ว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้.” พวกเขาพึ่งในพระยะโฮวาเพื่อมีกำลังจะอดทนได้. นอกจากนั้น พวกเขาทำตามหลักการในพระคัมภีร์ และละเว้นนิสัยที่ก่อความเสียหายและสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เช่น การสูบบุหรี่ และการเสพสุรามึนเมา. พวกเขาขยันหมั่นเพียร ดังที่พระคัมภีร์ชี้แนะและดังนั้นจึงมักเห็นว่าเขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ขณะที่คนเกียจคร้านหรือคนที่ยอมแพ้ต่อความผิดหวังนั้นทำไม่ได้. (สุภาษิต 6:6-11; 10:26) นอกจากนั้น พวกเขาเอาใจใส่ฟังคำเตือนของพระคัมภีร์ ที่บอกว่า “อย่าอิจฉาคนที่กระทำการอธรรม.” (บทเพลงสรรเสริญ 37:1) พวกเขาไม่เข้าไปยุ่งกับการพนัน หรืออาชญากรรม เช่น การขายยาเสพย์ติด. สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนจะเสนอ “การแก้ปัญหา” อย่างรวดเร็วแต่ก่อผลยุ่งยากระยะยาว.
21, 22. (ก) หญิงคริสเตียนคนหนึ่งได้รับความช่วยเหลือ และการปลอบประโลมอย่างไรจากพระคัมภีร์? (ข) มีข้อเท็จจริงอะไรอีกเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่ช่วยเราให้ยอมรับว่าเป็นพระคำของพระเจ้า?
21 การปฏิบัติตามหลักพระคัมภีร์จะช่วยเหล่าคนที่ยากจนข้นแค้นได้จริงไหม? ใช่. ดังมีประสบการณ์มากมายพิสูจน์เรื่องนี้. ม่ายคริสเตียนคนหนึ่งในเอเชีย เขียนเล่าว่า “แม้จะอยู่อย่างแทบไม่พอกิน ดิฉันก็ไม่ขุ่นแค้นหรือขมขื่นใจ. ความจริงแห่งพระคัมภีร์ช่วยให้ดิฉันมีทัศนะในแง่ดี.” เธอบอกว่าคำสัญญาที่เด่นข้อหนึ่งซึ่งพระเยซูให้ไว้ได้สำเร็จผลจริง ๆ ในกรณีของเธอ. พระเยซูตรัสว่า “จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้วพระองค์จะทรงเพิ่มเติมสิ่งอื่น ๆ เหล่านี้ทั้งหมดให้แก่ท่าน.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) เธอยืนยันว่าโดยการจัดให้งานรับใช้ของเธอต่อพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรกในชีวิต เธอได้รับสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตเสมอ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง. และงานรับใช้ของเธอในฐานะเป็นคริสเตียนก็ให้ความภูมิใจและเป้าหมายในชีวิตแก่เธอซึ่งทำให้อดทนได้กับความขาดแคลนนั้น.
22 จริงทีเดียว สติปัญญาอันลึกซึ้งที่ปรากฏในพระคัมภีร์แสดงว่าพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้าอย่างแท้จริง. ไม่มีหนังสือใดที่เพียงมนุษย์เท่านั้นผลิตขึ้นจะสามารถคลุมถึงแง่มุมต่าง ๆ มากมายในชีวิต และวิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้ง และถูกต้องเสมอมา. แต่ยังมีข้อเท็จจริงอื่นอีกเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลที่แสดงว่าเป็นมาจากพระเจ้า. พระคัมภีร์มีพลังในการเปลี่ยนผู้คนให้ดีขึ้น. เราจะพิจารณาเรื่องนี้ในบทความต่อไป.
คุณจะอธิบายได้ไหม?
▫ พยานพระยะโฮวาได้รับพระพรในทางใดบ้างจากการที่พวกเขายอมรับว่าพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้า?
▫ ในฐานะผู้มีความเชื่อในพระคำของพระเจ้า เรามีพันธะอะไร และความประพฤติของเราจะช่วยได้อย่างไรในการปฏิบัติพันธะหน้าที่นี้ให้สำเร็จ?
▫ อะไรที่ทำให้คำแนะนำที่ฉลาดสุขุมของพระคัมภีร์เหนือกว่าคำแนะนำของมนุษย์?
▫ มีตัวอย่างอะไรบ้างที่แสดงถึงความลึกซึ้งแห่งสติปัญญาของพระคัมภีร์?