ทำไมจึงรับบัพติสมา?
“จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมา.”—มัดธาย 28:19, ล.ม.
1, 2. (ก) บางครั้งการรับบัพติสมาเคยเกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นไร? (ข) มีการตั้งคำถามเช่นไรเกี่ยวกับการรับบัพติสมา?
ชาร์เลอมาญ กษัตริย์ชาวแฟรงก์ บังคับชาวแซกซันทั้งหมดที่ถูกพิชิตให้รับบัพติสมาในปีสากลศักราช 775-777. นักประวัติศาสตร์ จอห์น ลอร์ด เขียนดังนี้: “ชาร์เลอมาญทรงบังคับให้ชาวแซกซันเปลี่ยนความเชื่อมานับถือศาสนาคริสเตียนในนาม.” คล้ายกันนั้น ในปีสากลศักราช 987 หลังจากอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงซึ่งนับถือนิกายกรีกออร์โทด็อกซ์ วลาดิเมียร์ที่ 1 ผู้ปกครองรัสเซียได้ตัดสินใจว่าผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองของเขาต้องเปลี่ยนมาเป็น “คริสเตียน.” เขาออกกฤษฎีกาให้ประชาชนรับบัพติสมาหมู่ โดยใช้ดาบจ่อคอหอย หากว่าจำเป็น!
2 การรับบัพติสมาเช่นนั้นเหมาะสมไหม? การรับบัพติสมาแบบนี้มีความหมายอย่างแท้จริงไหม? ไม่ว่าใครก็รับบัพติสมาได้อย่างนั้นไหม?
การรับบัพติสมา—โดยวิธีใด?
3, 4. เหตุใดการประพรมหรือการเทน้ำลงบนศีรษะไม่ใช่การรับบัพติสมาที่ถูกต้องสำหรับคริสเตียน?
3 เมื่อชาร์เลอมาญและวลาดิเมียร์ที่ 1 บังคับประชาชนให้รับบัพติสมา ผู้ปกครองทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้า. แท้ที่จริง ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดเมื่อการให้บัพติสมา ไม่ว่าจะด้วยการประพรม, การเทน้ำลงบนศีรษะ, หรือแม้แต่การจุ่มตัวมิดในน้ำ ทำให้แก่คนที่ไม่ได้รับการสอนความจริงในพระคัมภีร์.
4 ขอให้พิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพระเยซูชาวนาซาเร็ธเสด็จไปหาโยฮันผู้ให้บัพติสมาในปีสากลศักราช 29. โยฮันกำลังให้บัพติสมาแก่ผู้คนในแม่น้ำจอร์แดน (ยาระเดน). พวกเขามาหาท่านเพื่อขอรับบัพติสมาโดยสมัครใจ. ท่านเพียงแต่ให้พวกเขายืนอยู่ที่แม่น้ำจอร์แดนขณะที่ท่านเทน้ำเล็กน้อยจากแม่น้ำลงบนศีรษะหรือประพรมพวกเขาด้วยน้ำนั้นไหม? เหตุการณ์เป็นอย่างไรเมื่อโยฮันให้บัพติสมาแก่พระเยซู? มัดธายรายงานว่าหลังจากรับบัพติสมา พระเยซูทรง “รีบเสด็จขึ้นจากน้ำ.” (มัดธาย 3:16) แสดงว่าก่อนหน้านั้นพระองค์ทรงลงไปในแม่น้ำจอร์แดน ได้รับการจุ่มตัว ในลำน้ำนั้น. เช่นเดียวกัน ขันทีผู้มีศรัทธาแรงกล้าได้รับบัพติสมาใน “น้ำแห่งหนึ่ง.” จำเป็นต้องมีแหล่งน้ำเช่นนั้น เพราะการรับบัพติสมาของพระเยซูและเหล่าสาวกเกี่ยวข้องกับการจุ่มตัวมิดในน้ำ.—กิจการ 8:36.
5. คริสเตียนยุคแรกให้บัพติสมาแก่ผู้คนอย่างไร?
5 คำภาษากรีกซึ่งแปลว่า “บัพติสมา,” “การรับบัพติสมา,” และคำคล้าย ๆ กัน หมายถึงการจุ่มตัว. พจนานุกรมคัมภีร์ไบเบิลของสมิท กล่าวว่า “การรับบัพติสมา มีความหมายอย่างถูกต้องตามตัวอักษรว่าการจุ่มตัว.” ด้วยเหตุนั้น ฉบับแปลคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับกล่าวถึง “โยฮันผู้ให้การจุ่มตัว.” (มัดธาย 3:1, รอเทอร์แฮม; ไดอะกลอตต์ อินเตอร์ลิเนียร์) หนังสือประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสเตียนและคริสตจักรในช่วงสามศตวรรษแรก ซึ่งเขียนโดยเอากุสตุส เนอันเดอร์ ให้ข้อสังเกตว่า “ในตอนแรกเริ่ม การรับบัพติสมาทำกันโดยการจุ่มตัว.” หนังสืออ้างอิงที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสลารุสส์ ดู เวเทียม เซียคเลอ (ปารีส, 1928) ให้ความเห็นว่า “คริสเตียนในยุคแรก ๆ รับบัพติสมาด้วยการจุ่มตัวในน้ำทุกแห่งที่หาได้.” และสารานุกรมคาทอลิกฉบับใหม่ กล่าวว่า “มีหลักฐานแสดงว่าการรับบัพติสมาในคริสตจักรยุคแรกทำกันโดยการจุ่มตัว.” (1967, เล่ม 2 หน้า 56) ดังนั้น ในปัจจุบันการรับบัพติสมาของพยานพระยะโฮวาเป็นขั้นตอนที่ทำโดยความสมัครใจซึ่งเกี่ยวข้องกับการจุ่มตัวมิดในน้ำ.
เหตุผลใหม่สำหรับการรับบัพติสมา
6, 7. (ก) โยฮันให้บัพติสมาด้วยจุดประสงค์อะไร? (ข) มีอะไรใหม่เกี่ยวกับการรับบัพติสมาของเหล่าสาวกของพระเยซู?
6 การให้บัพติสมาที่โยฮันทำมีจุดประสงค์แตกต่างกับการจุ่มตัวที่เหล่าสาวกของพระเยซูทำ. (โยฮัน 4:1, 2) โยฮันให้บัพติสมาแก่ผู้คนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงแก่สาธารณชนว่าพวกเขากลับใจจากบาปต่อพระบัญญัติ.a (ลูกา 3:3) แต่มีบางสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องกับบัพติสมาที่เหล่าสาวกของพระเยซูเป็นผู้ให้. ในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 อัครสาวกเปโตรกระตุ้นผู้ที่ฟังท่านดังนี้: “จงกลับใจเสียใหม่และรับบัพติศมาในนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน, เพื่อความผิดบาปของท่านจะทรงยกเสีย.” (กิจการ 2:37-41) แม้ว่าเปโตรกำลังกล่าวต่อชาวยิวและผู้เปลี่ยนมาถือศาสนายิว แต่ท่านไม่ได้กล่าวถึงบัพติสมาที่เป็นสัญลักษณ์ของการกลับใจจากบาปต่อพระบัญญัติ; อีกทั้งท่านไม่ได้หมายความว่าการรับบัพติสมาในนามพระเยซูเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างบาป.—กิจการ 2:10.
7 ในโอกาสนั้น เปโตรใช้ “ลูกกุญแจแห่งราชอาณาจักร” ดอกแรก. ด้วยจุดประสงค์อะไร? เพื่อไขความรู้แก่ผู้ฟังของท่านเกี่ยวกับโอกาสที่จะได้เข้าในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์. (มัดธาย 16:19, ล.ม.) เนื่องจากชาวยิวได้ปฏิเสธพระเยซูในฐานะพระมาซีฮา การกลับใจและการสำแดงความเชื่อในพระองค์เป็นปัจจัยใหม่และปัจจัยสำคัญในการแสวงหาและได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้า. พวกเขาสามารถให้หลักฐานแก่สาธารณชนเกี่ยวกับความเชื่อเช่นนั้นโดยรับการจุ่มตัวในน้ำในนามของพระเยซูคริสต์. โดยวิธีนั้น พวกเขาแสดงสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวเขาเองแด่พระเจ้าโดยทางพระคริสต์. ทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นที่ยอมรับจากพระเจ้าในปัจจุบันต้องสำแดงความเชื่อคล้าย ๆ กันนี้, อุทิศตัวเองแด่พระยะโฮวาพระเจ้า, และรับบัพติสมาแบบคริสเตียนเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวโดยไม่มีเงื่อนไขแด่พระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่สูงสุด.
ความรู้ถ่องแท้เป็นสิ่งจำเป็น
8. เหตุใดไม่ใช่ทุกคนมีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมาเป็นคริสเตียน?
8 ไม่ใช่ทุกคนมีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมาเป็นคริสเตียน. พระเยซูทรงบัญชาแก่เหล่าสาวกว่า “จงไปและทำให้ชนจากทุกชาติเป็นสาวก ให้เขารับบัพติสมาในนามแห่งพระบิดาและพระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้.” (มัดธาย 28:19, 20, ล.ม.) ก่อนที่ผู้คนจะรับบัพติสมา เขาต้อง ‘ได้รับการสอนให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งพระเยซูทรงบัญชาแก่เหล่าสาวก.’ ด้วยเหตุนั้น การบังคับให้รับบัพติสมา ซึ่งได้ให้แก่คนที่ขาดความเชื่ออันอาศัยพื้นฐานของความรู้ถ่องแท้ในพระคำของพระเจ้า จึงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์และขัดกับงานมอบหมายที่พระเยซูประทานแก่สาวกแท้ของพระองค์.—เฮ็บราย 11:6.
9. การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดา” หมายความอย่างไร?
9 การรับบัพติสมา “ในนามแห่งพระบิดา” หมายความอย่างไร? นั่นหมายถึงผู้ที่ประสงค์จะรับบัพติสมายอมรับตำแหน่งและอำนาจของพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา. โดยการยอมรับตำแหน่งและอำนาจของพระองค์ เรายอมรับพระยะโฮวาพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างของเรา, “พระเจ้าใหญ่ยิ่งทรงครอบครองทั่วแผ่นดินโลก,” และองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพ.—บทเพลงสรรเสริญ 83:18; ยะซายา 40:28; กิจการ 4:24.
10. การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระบุตร’ หมายความอย่างไร?
10 การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระบุตร’ หมายถึงการยอมรับตำแหน่งและอำนาจของพระเยซูในฐานะพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระเจ้า. (1 โยฮัน 4:9) คนที่มีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมายอมรับว่าพระเยซูเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้ให้เป็น “ค่าไถ่เพื่อแลกกับคนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28, ล.ม.; 1 ติโมเธียว 2:5, 6) ผู้ขอรับบัพติสมาต้องยอมรับ “ตำแหน่งสูง” ที่พระเจ้าได้ทรงยกพระบุตรขึ้นด้วย.—ฟิลิปปอย 2:8-11, ล.ม.; วิวรณ์ 19:16.
11. การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’ มีความหมายอย่างไร?
11 การรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์’ มีความหมายเช่นไร? นี่บ่งชี้ว่าผู้ขอรับบัพติสมายอมรับว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพลังปฏิบัติการของพระยะโฮวา ซึ่งพระองค์ทรงใช้ในลักษณะต่าง ๆ สอดคล้องกับพระประสงค์ของพระองค์. (เยเนซิศ 1:2; 2 ซามูเอล 23:1, 2; 2 เปโตร 1:21) ผู้ที่มีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมายอมรับว่าพระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยพวกเขาให้เข้าใจ “สิ่งลึกซึ้งของพระเจ้า” เพื่อทำงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรให้สำเร็จ และเพื่อแสดงผลแห่งพระวิญญาณอันได้แก่ “ความรัก, ความยินดี, สันติสุข, ความอดกลั้นไว้นาน, ความกรุณา, ความดี, ความเชื่อ, ความอ่อนโยน, การรู้จักบังคับตน.”—1 โกรินโธ 2:10, ล.ม.; ฆะลาเตีย 5:22, 23, ล.ม.; โยเอล 2:28, 29.
ความสำคัญของการกลับใจและการเปลี่ยนแปลง
12. การรับบัพติสมาของคริสเตียนเกี่ยวข้องกับการกลับใจอย่างไร?
12 ยกเว้นกรณีของพระเยซูซึ่งเป็นมนุษย์ผู้ปราศจากบาป การรับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายที่พระเจ้าทรงเห็นชอบซึ่งเกี่ยวข้องกับการกลับใจ. เมื่อเรากลับใจ เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อบางสิ่งที่เราได้ทำไปหรือละเว้นไม่กระทำ. ชาวยิวในศตวรรษแรกซึ่งต้องการเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าต้องกลับใจจากบาปที่พวกเขาทำต่อพระคริสต์. (กิจการ 3:11-19) ผู้เชื่อถือชาวต่างชาติบางคนในเมืองโครินธ์ (โกรินโธ) กลับใจจากการผิดประเวณี, การบูชารูปเคารพ, การลักขโมย, และบาปร้ายแรงอื่น ๆ. เนื่องด้วยการกลับใจ พวกเขาจึงได้รับการ ‘ชำระให้สะอาด’ ในพระโลหิตของพระเยซู; ‘ได้ถูกทำให้บริสุทธิ์’ หรือถูกแยกไว้ต่างหาก สำหรับการรับใช้พระเจ้า; และได้รับการ ‘ประกาศว่าเป็นผู้ชอบธรรม’ ในพระนามของพระคริสต์และด้วยพระวิญญาณของพระเจ้า. (1 โกรินโธ 6:9-11, ล.ม.) การกลับใจเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อจะมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดีและได้รับการบรรเทาจากความรู้สึกผิดเนื่องด้วยบาป.—1 เปโตร 3:21.
13. ในเรื่องการรับบัพติสมา การเปลี่ยนแปลงหรือหันกลับเกี่ยวข้องกับอะไร?
13 ต้องทำการเปลี่ยนแปลงก่อนที่เราจะรับบัพติสมาเป็นพยานพระยะโฮวา. การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นการกระทำด้วยความสมัครใจและอย่างอิสระของบุคคลที่ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะดำเนินตามพระคริสต์เยซู. บุคคลที่ทำเช่นนั้นปฏิเสธแนวทางผิดแต่เก่าก่อนของตนและตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระเจ้า. ในพระคัมภีร์ คำกริยาฮีบรูและกรีกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นมีความหมายเกี่ยวข้องกับการหันกลับ. การหันกลับนี้บ่งชี้ถึงการละทิ้งแนวทางผิดแล้วหันมาหาพระเจ้า. (1 กษัตริย์ 8:33, 34) การเปลี่ยนแปลงนี้เรียกร้องให้ทำ “การซึ่งสมกับที่กลับใจเสียใหม่.” (กิจการ 26:20) เราจำเป็นต้องละทิ้งการนมัสการเท็จ, ปฏิบัติสอดคล้องกับพระบัญชาของพระเจ้า, และถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. (พระบัญญัติ 30:2, 8-10; 1 ซามูเอล 7:3) การหันกลับเช่นนี้ก่อผลเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิด, เป้าหมาย, และบุคลิกภาพของเรา. (ยะเอศเคล 18:31) เรา “หันกลับ” เมื่อได้ให้บุคลิกภาพใหม่เข้าแทนที่นิสัยต่าง ๆ ที่ไม่เป็นตามมาตรฐานของพระเจ้า.—กิจการ 3:19, ล.ม.; เอเฟโซ 4:20-24; โกโลซาย 3:5-14.
การอุทิศตัวด้วยสิ้นสุดหัวใจเป็นเรื่องสำคัญ
14. การอุทิศตัวของสาวกพระเยซูมีความหมายเช่นไร?
14 นอกจากนั้น สาวกของพระเยซูต้องอุทิศตัวอย่างสิ้นสุดหัวใจแด่พระเจ้าก่อนจะรับบัพติสมา. การอุทิศตัวหมายถึงการสงวนไว้เพื่อจุดมุ่งหมายอันศักดิ์สิทธิ์. ขั้นตอนนี้สำคัญมาก เราจึงควรเผยต่อพระยะโฮวาในคำอธิษฐานว่าเราตัดสินใจที่จะถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระองค์ตลอดไป. (พระบัญญัติ 5:9) แน่นอน เราอุทิศตัวแด่พระเจ้า ไม่ใช่อุทิศตัวให้แก่งานหรือมนุษย์คนใด.
15. เหตุใดผู้ขอรับบัพติสมาจึงรับการจุ่มตัวในน้ำ?
15 เมื่อเราอุทิศตัวแด่พระเจ้าโดยทางพระคริสต์ เราแสดงความตั้งใจแน่วแน่ที่จะใช้ชีวิตในการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า ดังบันทึกไว้ในพระคัมภีร์. เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการอุทิศตัวนั้น ผู้ขอรับบัพติสมาจะรับการจุ่มตัวในน้ำ เหมือนกับที่พระเยซูทรงรับบัพติสมาที่แม่น้ำจอร์แดนเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเสนอพระองค์เองแด่พระเจ้า. (มัดธาย 3:13) น่าสังเกตว่าพระเยซูทรงอธิษฐานในโอกาสสำคัญยิ่งนี้.—ลูกา 3:21, 22.
16. เราจะแสดงความยินดีอย่างเหมาะสมได้อย่างไรเมื่อเราดูการรับบัพติสมา?
16 การรับบัพติสมาของพระเยซูเป็นเหตุการณ์ที่จริงจัง แต่ก็นำมาซึ่งความยินดี. การรับบัพติสมาของคริสเตียนในสมัยปัจจุบันก็เช่นกัน. เมื่อเราดูผู้อื่นแสดงเครื่องหมายของการอุทิศตัวแด่พระเจ้า เราอาจแสดงความยินดีด้วยการปรบมืออย่างนับถือและกล่าวชมเชยอย่างอบอุ่น. แต่ควรหลีกเลี่ยงการโห่ร้อง, การเป่าปาก, และการกระทำคล้าย ๆ กันนี้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวาระนี้อันเป็นการแสดงออกซึ่งความเชื่อ. เราแสดงความยินดีด้วยท่าทีที่สง่าผ่าเผย.
17, 18. อะไรช่วยให้ตัดสินได้ว่าใครมีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมาหรือไม่?
17 ไม่เหมือนกับผู้ที่ประพรมทารกหรือบังคับคนที่ไม่มีความรู้ในพระคัมภีร์ให้รับบัพติสมากันทั้งกลุ่ม พยานพระยะโฮวาไม่เคยบังคับใครให้รับบัพติสมา. ที่จริง พวกเขาไม่ให้บัพติสมาแก่คนที่ไม่มีคุณวุฒิฝ่ายวิญญาณ. แม้แต่ก่อนที่ใครจะสามารถเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่ยังไม่รับบัพติสมา ผู้ปกครองคริสเตียนจะตรวจสอบให้แน่ใจว่าเขาเข้าใจคำสอนพื้นฐานในคัมภีร์ไบเบิล, ดำเนินชีวิตประสานกับคำสอนเหล่านั้น, และให้คำตอบยืนยันคำถามอย่างเช่น “คุณต้องการเป็นพยานพระยะโฮวาจริง ๆ ไหม?”
18 โดยมากแล้ว เมื่อบุคคลที่กำลังมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรแสดงความจำนงขอรับบัพติสมา คริสเตียนผู้ปกครองจะพิจารณากับคนเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาเป็นผู้เชื่อถือที่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาแล้วและบรรลุข้อเรียกร้องของพระเจ้าสำหรับการรับบัพติสมา. (กิจการ 4:4; 18:8) คำตอบที่ได้รับจากแต่ละคนเมื่อมีการถามเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลกว่า 100 ข้อจะช่วยผู้ปกครองให้ตัดสินได้ว่าคนที่ตอบคำถามเหล่านั้นบรรลุข้อเรียกร้องตามหลักพระคัมภีร์สำหรับการจุ่มตัวแล้วหรือไม่. บางคนยังขาดคุณวุฒิ และด้วยเหตุนั้นจึงไม่ได้รับการยอมรับให้รับบัพติสมาเป็นคริสเตียน.
มีบางสิ่งที่ยับยั้งคุณไว้ไหม?
19. เมื่อคำนึงถึงโยฮัน 6:44 ใครจะเป็นรัชทายาทร่วมกับพระเยซู?
19 หลายคนที่ถูกบังคับขู่เข็ญให้รับบัพติสมากันทั้งกลุ่มอาจได้รับแจ้งว่าเมื่อตายพวกเขาจะได้ไปสวรรค์. แต่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับผู้ที่ดำเนินตามรอยพระบาทพระองค์ว่า “ไม่มีผู้ใดจะมาถึงเราได้, เว้นไว้พระบิดาผู้ทรงใช้เรามาจะชักนำเขา.” (โยฮัน 6:44) พระยะโฮวาได้ทรงชักนำชน 144,000 คนซึ่งจะเป็นรัชทายาทร่วมในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์ให้มาถึงพระคริสต์. การบังคับให้รับบัพติสมาไม่มีทางจะทำให้ใครบริสุทธิ์สำหรับตำแหน่งอันรุ่งโรจน์นั้นที่พระเจ้าทรงจัดให้.—โรม 8:14-17; 2 เธซะโลนิเก 2:13; วิวรณ์ 14:1.
20. อะไรอาจช่วยบางคนที่ยังไม่ได้รับบัพติสมา?
20 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1930 ผู้คนจำนวนมากที่หวังจะรอดชีวิตผ่าน “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” และมีชีวิตบนแผ่นดินโลกตลอดไปได้เข้าร่วมสมทบกับ “แกะอื่น” ของพระเยซู. (วิวรณ์ 7:9, 14, ล.ม.; โยฮัน 10:16) พวกเขามีคุณวุฒิสำหรับการรับบัพติสมาเนื่องจากพวกเขาได้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระคำของพระเจ้าและรักพระองค์ด้วย ‘สิ้นสุดหัวใจ, จิตวิญญาณ, กำลัง, และความคิดของพวกเขา.’ (ลูกา 10:25-28) แม้ว่าบางคนตระหนักว่าพยานพระยะโฮวา ‘นมัสการพระเจ้าด้วยวิญญาณและความจริง’ แต่พวกเขายังไม่ได้ดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูและยังไม่ได้ให้หลักฐานด้วยการรับบัพติสมาเพื่อคนทั่วไปจะเห็นได้ว่าพวกเขามีความรักแท้และความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. (โยฮัน 4:23, 24, ล.ม.; พระบัญญัติ 4:24; มาระโก 1:9-11) คำอธิษฐานอย่างจริงจังและเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับขั้นตอนสำคัญนี้อาจเป็นการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้แรงจูงใจและความกล้าแก่พวกเขาที่จะดำเนินชีวิตสอดคล้องเต็มที่กับพระคำของพระเจ้า, อุทิศตัวอย่างไม่มีเงื่อนไขแด่พระยะโฮวาพระเจ้า, และรับบัพติสมา.
21, 22. บางคนรีรอไม่อุทิศตัวและรับบัพติสมาด้วยเหตุผลใด?
21 บางคนรีรอไม่อุทิศตัวและรับบัพติสมาเพราะพวกเขาหมกมุ่นในกิจการต่าง ๆ ของโลกหรือในการแสวงหาความมั่งคั่งจนแทบจะไม่มีเวลาสำหรับสิ่งฝ่ายวิญญาณ. (มัดธาย 13:22; 1 โยฮัน 2:15-17) พวกเขาจะมีความสุขสักเพียงไรหากพวกเขาเปลี่ยนทัศนะและเป้าหมาย! การเข้าใกล้พระยะโฮวาจะทำให้พวกเขามั่งคั่งฝ่ายวิญญาณ, จะช่วยบรรเทาความกังวลใจ, และจะนำสันติสุขและความอิ่มใจพอใจมาให้พวกเขาซึ่งเป็นผลจากการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้า.—บทเพลงสรรเสริญ 16:11; 40:8; สุภาษิต 10:22; ฟิลิปปอย 4:6, 7.
22 คนอื่น ๆ กล่าวว่าพวกเขารักพระยะโฮวา แต่ก็ไม่ได้อุทิศตัวและรับบัพติสมา เพราะพวกเขาคิดว่าโดยวิธีนี้พวกเขาจะได้ไม่ต้องให้การต่อพระเจ้า. แต่พวกเราแต่ละคนต้องให้การต่อพระเจ้า. หน้าที่รับผิดชอบตกอยู่กับเราเมื่อเราได้ยินพระคำของพระยะโฮวา. (ยะเอศเคล 33:7-9; โรม 14:12) ในฐานะ ‘ชนผู้ถูกเลือกสรร’ ชาวอิสราเอลโบราณเกิดมาในชาติที่อุทิศตัวแด่พระยะโฮวา และด้วยเหตุนั้นพวกเขามีพันธะที่จะรับใช้พระองค์อย่างซื่อสัตย์ตามพระบัญชาของพระองค์. (พระบัญญัติ 7:6, 11) ไม่มีใครในปัจจุบันเกิดมาในชาติที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าอย่างนั้น แต่หากเราได้รับคำสั่งอันถูกต้องแม่นยำในพระคัมภีร์ เราจำเป็นต้องประพฤติสอดคล้องตามนั้นด้วยความเชื่อ.
23, 24. ความกลัวเช่นไรไม่ควรยับยั้งคนเราไว้จากการรับบัพติสมา?
23 บางคนเกรงว่าเขายังมีความรู้ไม่มากพอ จึงยังรีรอไม่รับบัพติสมา. กระนั้น เราทุกคนมีหลายสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ เพราะ “มนุษยชาติจะรู้ไม่จบในเรื่องราชกิจซึ่งพระเจ้าเที่ยงแท้ได้ทรงกระทำตั้งแต่ต้นจนปลาย.” (ท่านผู้ประกาศ 3:11, ล.ม.) ขอให้พิจารณากรณีของขันทีชาวเอธิโอเปีย. ในฐานะผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิว เขามีความรู้เกี่ยวกับพระคัมภีร์อยู่บ้าง แต่เขาไม่สามารถตอบคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับพระประสงค์ของพระเจ้า. แต่หลังจากที่เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูซึ่งพระยะโฮวาทรงจัดให้เพื่อมนุษย์จะได้รับความรอด ขันทีผู้นี้ได้รับบัพติสมาในน้ำทันที.—กิจการ 8:26-38.
24 บางคนลังเลที่จะอุทิศตัวแด่พระเจ้าเพราะเขากลัวจะล้มเหลว. โมนิก ซึ่งอายุ 17 ปี กล่าวว่า “ดิฉันยั้งตัวไว้ไม่รับบัพติสมาเพราะกลัวว่าจะไม่สามารถดำเนินชีวิตประสานกับการอุทิศตัว.” อย่างไรก็ตาม หากเราไว้วางใจพระยะโฮวาด้วยสุดหัวใจ ‘พระองค์จะชี้ทางเดินของเราให้แจ่มแจ้ง.’ พระองค์จะช่วยเราให้ “ดำเนินอยู่ในความจริงต่อ ๆ ไป” ในฐานะผู้รับใช้ที่อุทิศตัวแด่พระองค์อย่างซื่อสัตย์.—สุภาษิต 3:5, 6; 3 โยฮัน 4, ล.ม.
25. มีคำถามอะไรที่สมควรพิจารณา?
25 ด้วยความไว้วางใจในพระยะโฮวาอย่างเต็มที่และด้วยความรักจากหัวใจต่อพระองค์ แต่ละปีมีหลายแสนคนถูกกระตุ้นให้อุทิศตัวและรับบัพติสมา. และแน่นอน ผู้รับใช้ทุกคนที่อุทิศตัวแด่พระเจ้าปรารถนาจะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระองค์. ถึงกระนั้น เรากำลังมีชีวิตอยู่ในสมัยอันวิกฤติ และเราเผชิญการทดสอบความเชื่อมากมายหลายอย่าง. (2 ติโมเธียว 3:1-5) เราจะทำเช่นไรได้บ้างเพื่อจะดำเนินชีวิตประสานกับการอุทิศตัวของเราแด่พระยะโฮวา? นี่คือเรื่องที่เราจะพิจารณากันในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a เนื่องจากพระเยซูทรงปราศจากบาป พระองค์จึงไม่ได้รับบัพติสมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกลับใจ. การรับบัพติสมาของพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของการที่พระองค์ทรงเสนอตัวต่อพระเจ้าเพื่อทำตามพระทัยประสงค์ของพระบิดา.—เฮ็บราย 7:26; 10:5-10.
คุณจำได้ไหม?
• การรับบัพติสมาของคริสเตียนทำกันอย่างไร?
• คนที่จะรับบัพติสมาต้องมีความรู้เช่นไร?
• มีขั้นตอนอะไรบ้างที่นำไปสู่การรับบัพติสมาของคริสเตียนแท้?
• เหตุใดบางคนรีรอไม่รับบัพติสมา แต่พวกเขาอาจได้รับการช่วยเหลืออย่างไร?
[ภาพหน้า 14]
คุณทราบไหมว่าการรับบัพติสมา ‘ในนามแห่งพระบิดา, พระบุตร, และพระวิญญาณบริสุทธิ์’ หมายความเช่นไร?