สตรีคริสเตียนสมควรได้รับเกียรติและความนับถือ
“ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับเขาต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลายเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง.”—1 เปโตร 3:7, ล.ม.
1, 2. (ก) การสนทนาระหว่างพระเยซูกับหญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำก่อให้เกิดความแปลกใจอะไร และเพราะเหตุใด? (ดูเชิงอรรถด้วย.) (ข) โดยการสั่งสอนหญิงซะมาเรียคนนั้น พระเยซูทรงแสดงให้เห็นอะไร?
ณ บ่อน้ำเก่าแก่ใกล้เมืองซูคาร ตอนเที่ยงของวันหนึ่งปลายปีสากลศักราช 30 พระเยซูทรงเผยให้เห็นว่าพระองค์ทรงเห็นว่าสตรีควรได้รับการปฏิบัติเช่นไร. พระองค์ใช้เวลาช่วงเช้าเดินผ่านแคว้นซะมาเรียซึ่งเป็นเนินเขา และมาถึงบ่อน้ำด้วยความเหน็ดเหนื่อย, หิว, และกระหายน้ำ. ขณะที่ทรงนั่งข้างบ่อ หญิงชาวซะมาเรียคนหนึ่งมาตักน้ำ. พระเยซูตรัสแก่นางว่า “ขอน้ำให้เราดื่มบ้าง.” หญิงนั้นคงจ้องพระองค์ด้วยความประหลาดใจ. เธอถามว่า “ไฉนท่าน ทั้ง ๆ ที่เป็นชาวยิว จึงขอดื่มน้ำจากดิฉัน ในเมื่อดิฉันเป็นหญิงชาวซะมาเรีย?” ต่อมา เมื่อสาวกของพระองค์กลับจากการซื้ออาหาร พวกเขารู้สึกแปลกใจ สงสัยว่าทำไมพระเยซู “ทรงพูดกับผู้หญิง.”—โยฮัน 4:4-9, 27, ล.ม.
2 อะไรทำให้หญิงคนนี้ถามขึ้นมาและทำให้เหล่าสาวกแปลกใจ? เธอเป็นชาวซะมาเรีย และคนยิวไม่ติดต่อเกี่ยวข้องกับชาวซะมาเรีย. (โยฮัน 8:48) แต่ดูเหมือนมีเหตุผลอีกอย่างหนึ่งที่จะรู้สึกแปลกใจ. ตอนนั้น ประเพณีของพวกรับบีห้ามผู้ชายพูดคุยกับผู้หญิงในที่สาธารณะ.a กระนั้น พระเยซูทรงสั่งสอนหญิงผู้มีความจริงใจนี้อย่างเปิดเผย กระทั่งแจ้งแก่นางด้วยซ้ำว่าพระองค์คือมาซีฮา. (โยฮัน 4:25, 26) ด้วยวิธีนี้ พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่า พระองค์จะไม่ยอมถูกผูกมัดโดยประเพณีซึ่งไม่เป็นไปตามหลักคัมภีร์ไบเบิล รวมทั้งประเพณีต่าง ๆ ซึ่งลดคุณค่าสตรี. (มาระโก 7:9-13) ในทางตรงข้าม จากสิ่งที่พระองค์กระทำและจากสิ่งที่พระองค์สั่งสอน พระเยซูทรงแสดงให้เห็นว่า สมควรปฏิบัติต่อสตรีด้วยการให้เกียรติและด้วยความนับถือ.
วิธีที่พระเยซูปฏิบัติต่อสตรี
3, 4. (ก) พระเยซูทรงมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อหญิงที่แตะต้องเสื้อของพระองค์? (ข) พระเยซูได้วางแบบอย่างอันดีไว้อย่างไรสำหรับผู้ชายคริสเตียน โดยเฉพาะผู้ดูแล?
3 ความเมตตาอันอ่อนละมุนของพระเยซูที่มีต่อประชาชนได้ปรากฏออกมาในวิธีที่พระองค์ปฏิบัติต่อสตรี. ณ โอกาสหนึ่ง ผู้หญิงซึ่งป่วยด้วยโรคโลหิตตกมานานถึง 12 ปีได้ตามหาพระเยซูในหมู่คนมากมาย. สภาพของเธอทำให้เธอเป็นคนไม่สะอาดตามพิธีกรรม ดังนั้น เธอไม่ควรมาอยู่ปะปนกับฝูงชนที่นั่น. (เลวีติโก 15:25-27) แต่หญิงคนนี้ เนื่องด้วยรู้สึกหมดหวัง จึงแอบเข้าไปอยู่ข้างหลังพระเยซู. เมื่อแตะเสื้อของพระองค์ เธอหายโรคทันที! ถึงแม้พระเยซูกำลังเดินทางไปบ้านของญายโร ซึ่งลูกสาวของเขากำลังป่วยหนัก แต่พระองค์ทรงหยุด. เนื่องจากรู้สึกว่าฤทธิ์เดชได้ซ่านออกจากตัว พระองค์จึงทรงมองดูรอบ ๆ หาคนที่แตะต้องพระองค์. ในที่สุด หญิงคนนั้นได้หมอบลงตรงหน้าพระองค์ด้วยความกลัวตัวสั่น. พระเยซูจะกล่าวตำหนินางไหมที่เข้ามาปะปนกับฝูงชน หรือที่นางได้แอบแตะต้องเสื้อของพระองค์โดยไม่ได้รับอนุญาต? ตรงกันข้าม นางได้พบว่าพระองค์ทรงมีพระทัยเอื้ออารีและกรุณา. พระองค์ตรัสว่า “ลูกหญิงเอ๋ย . . . ความเชื่อของเจ้าได้กระทำให้หายปกติ.” ครั้งนี้เท่านั้นที่พระเยซูเรียกสตรีโดยตรงว่า “ลูกหญิง.” ถ้อยคำดังกล่าวคงต้องได้ปลอบประโลมนางสักเพียงไร!—มัดธาย 9:18-22; มาระโก 5:21-34.
4 พระเยซูทรงมองลึกเกินกว่าตัวอักษรในพระบัญญัติ. พระองค์ทรงหยั่งเห็นเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังและความจำเป็นที่ต้องมีความเมตตาและความสงสาร. (เทียบกับมัดธาย 23:23.) พระเยซูทรงสังเกตเห็นสภาพสิ้นหวังของหญิงคนนี้ที่เจ็บป่วย และทรงคำนึงถึงว่านางกระทำเช่นนั้นเพราะความเชื่อ. เหตุฉะนั้น พระองค์จึงทรงวางแบบอย่างอันดีสำหรับบรรดาชายคริสเตียน โดยเฉพาะพวกผู้ดูแล. ถ้าพี่น้องหญิงคริสเตียนประสบปัญหาส่วนตัวหรือสภาวการณ์ที่ยุ่งยากลำบากเป็นพิเศษ ผู้ปกครองจึงควรพยายามมองให้ลึกเกินกว่าคำพูดและการกระทำในขณะนั้น แล้วคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและเหตุจูงใจ. การหยั่งเห็นเช่นนั้นอาจบ่งชี้ว่าความเพียรอดทน, ความเข้าใจ, และความเมตตาเป็นสิ่งจำเป็น แทนการให้คำแนะนำและการว่ากล่าวแก้ไข.—สุภาษิต 10:19; 16:23; 19:11.
5. (ก) ตามประเพณีของพวกรับบี สตรีถูกจำกัดในด้านใด? (ดูเชิงอรรถ.) (ข) ใครเป็นพวกแรกที่รู้เห็นเป็นพยานถึงพระเยซูผู้ได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์?
5 เนื่องจากถูกจำกัดด้วยประเพณีต่าง ๆ ของพวกรับบี สตรีสมัยที่พระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลกจึงถูกกีดกันมิให้เป็นพยานในโรงศาล.b ขอพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากพระเยซูได้รับการปลุกให้คืนพระชนม์ในเช้าวันที่ 16 เดือนไนซาน ปีสากลศักราช 33. คนกลุ่มแรกเป็นใครที่ได้เห็นพระเยซูผู้คืนพระชนม์และเป็นพยานแก่สาวกคนอื่น ๆ ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาถูกปลุกขึ้นจากตายแล้ว? ปรากฏว่าเป็นพวกผู้หญิงซึ่งเฝ้าดูอยู่ไม่ไกลจากที่พระองค์ถูกตรึงจนกระทั่งพระองค์สิ้นพระชนม์.—มัดธาย 27:55, 56, 61.
6, 7. (ก) พระเยซูได้สั่งอะไรแก่ผู้หญิงเหล่านั้นซึ่งมาที่อุโมงค์ฝังศพ? (ข) บรรดาสาวกผู้ชายของพระเยซูแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำยืนยันของพวกผู้หญิงในตอนแรก และเราเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
6 เช้าตรู่ของวันต้นสัปดาห์ มาเรีย มัฆดาลาและผู้หญิงอีกบางคนได้นำเครื่องหอมไปที่อุโมงค์เพื่อชโลมพระศพพระเยซู. ครั้นพบอุโมงค์นั้นว่างเปล่า มาเรียจึงวิ่งไปบอกเปโตรกับโยฮัน. ส่วนผู้หญิงคนอื่นยังอยู่ที่เดิม. ในไม่ช้า ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้มาปรากฏและแจ้งแก่พวกเขาว่าพระเยซูคืนพระชนม์แล้ว. ทูตองค์นั้นกำชับพวกเขาดังนี้: “จงรีบไปบอกพวกสาวกของพระองค์.” ขณะที่ผู้หญิงเหล่านี้รีบไปส่งข่าว พระเยซูทรงสำแดงตนให้ปรากฏแก่พวกเขาโดยตรง และตรัสสั่งว่า “จงไปบอกพวกพี่น้องของเรา.” (มัดธาย 28:1-10; มาระโก 16:1, 2; โยฮัน 20:1, 2) โดยไม่รู้เรื่องการมาของทูตสวรรค์และอยู่ในอาการโศกเศร้าสุดประมาณ มาเรีย มัฆดาลาจึงกลับไปที่อุโมงค์อันว่างเปล่านั้นอีก. ณ ที่นั่น พระเยซูทรงสำแดงพระองค์ให้ประจักษ์ และหลังจากมาเรียจำพระองค์ได้ในที่สุด พระองค์ตรัสดังนี้: “จงไปหาพวกพี่น้องของเราและบอกเขาว่า ‘เราจะขึ้นไปหาพระบิดาของเราและพระบิดาของเจ้าทั้งหลาย และพระเจ้าของเราและพระเจ้าของเจ้าทั้งหลาย.’”—โยฮัน 20:11-18, ล.ม.; เทียบกับมัดธาย 28:9, 10.
7 พระเยซูสามารถสำแดงพระองค์ให้ปรากฏแก่เปโตร, โยฮัน, หรือสาวกชายคนใดคนหนึ่งก่อนก็ได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์กลับเลือกจะให้เกียรติผู้หญิงเหล่านี้ โดยให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานพวกแรกว่าพระองค์ได้รับการปลุกขึ้นจากตายแล้ว และทรงมอบหมายงานให้เขาเป็นพยานไปแจ้งเรื่องราวแก่เหล่าสาวกชายของพระองค์. ปฏิกิริยาของชายเหล่านั้นเป็นอย่างไรตอนแรก? บันทึกแถลงดังนี้: “ฝ่ายอัครสาวกไม่เชื่อ, ถือว่าเป็นคำเหลวไหล [และเขาไม่เชื่อถือผู้หญิง, ล.ม.].” (ลูกา 24:11) เป็นไปได้ไหมว่า ยากที่พวกเขาจะยอมรับคำยืนยันเช่นนั้นเพราะมาจากผู้หญิง? ถ้าเป็นดังนั้น ต่อมา เขาได้รับหลักฐานเหลือล้นว่า พระเยซูถูกปลุกขึ้นจากตาย. (ลูกา 24:13-46; 1 โกรินโธ 15:3-8) ทุกวันนี้ ผู้ชายคริสเตียนจะปฏิบัติอย่างสุขุมเมื่อเขาคำนึงถึงความคิดเห็นของพี่น้องหญิงฝ่ายวิญญาณของตน.—เทียบกับเยเนซิศ 21:12.
8. โดยวิธีที่พระเยซูปฏิบัติต่อสตรี พระองค์ทรงเปิดเผยถึงอะไร?
8 เป็นความอบอุ่นใจจริง ๆ ที่สังเกตเห็นวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติกับพวกสตรี. พระองค์ปฏิบัติกับสตรีด้วยความเห็นอกเห็นใจและความสมดุลเสมอ พระองค์ไม่เคยยกย่องพวกเขาจนเกินไปหรือเหยียดพวกเขา. (โยฮัน 2:3-5) พระองค์ทรงปฏิเสธคำสอนสืบปากของพวกรับบีซึ่งปล้นศักดิ์ศรีไปจากสตรีและทำให้พระคำของพระเจ้าเป็นโมฆะ. (เทียบกับมัดธาย 15:3-9.) โดยการปฏิบัติต่อสตรีด้วยการให้เกียรติและด้วยความนับถือ พระเยซูจึงได้แสดงให้เห็นโดยตรงว่าพระเจ้ายะโฮวาทรงประสงค์จะให้ปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร. (โยฮัน 5:19) นอกจากนั้น พระเยซูทรงวางแบบอย่างอันดีเลิศไว้ให้ชายคริสเตียนเลียนแบบ.—1 เปโตร 2:21.
คำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับสตรี
9, 10. โดยวิธีใดพระเยซูทรงปฏิเสธประเพณีของพวกรับบีในเรื่องสตรี และพระองค์ทรงกล่าวอย่างไรหลังจากพวกฟาริซายตั้งคำถามเกี่ยวกับการหย่า?
9 พระเยซูทรงปฏิเสธคำสอนสืบปากของพวกรับบี และให้เกียรติสตรีไม่เพียงแต่โดยการกระทำของพระองค์เท่านั้น แต่โดยคำสอนของพระองค์ด้วย. เพื่อเป็นตัวอย่าง ให้เราพิจารณาสิ่งที่พระองค์สอนเกี่ยวด้วยการหย่าและการทำผิดประเวณี.
10 มีคนถามพระเยซูเรื่องการหย่าดังนี้ “ผู้ชายจะหย่าภรรยาของตนเพราะเหตุต่าง ๆ เป็นการถูกต้องหรือไม่?” ตามบันทึกของมาระโก พระเยซูตรัสว่า “ถ้าผู้ใดหย่าภรรยาของตน, [เว้นแต่ผิดกับชายอื่น] แล้วไปมีภรรยาใหม่, ผู้นั้นก็ได้ผิดประเวณีต่อภรรยาเดิม. และถ้าหญิงเองจะหย่าสามีของตน, แล้วไปมีสามีใหม่, หญิงนั้นก็ผิดประเวณีเหมือนกัน.” (มาระโก 10:10-12; มัดธาย 19:3, 9) ถ้อยคำเรียบง่ายเหล่านั้นเป็นการยกย่องศักดิ์ศรีของสตรี. อย่างไร?
11. คำตรัสของพระเยซูที่ว่า “เว้นแต่ผิดกับชายอื่น” แสดงถึงอะไรเกี่ยวกับข้อผูกมัดของสายสมรส?
11 ประการแรก โดยใช้ถ้อยคำที่ว่า “เว้นแต่ผิดกับชายอื่น” (ซึ่งปรากฏในบันทึกกิตติคุณของมัดธาย) พระเยซูแสดงให้เห็นว่าข้อผูกมัดของสายสมรสจะมองเป็นเรื่องเล็กน้อยหรือทำให้ขาดลงไปง่าย ๆ ไม่ได้. คำสอนที่แพร่หลายของพวกรับบียินยอมให้หย่าด้วยสาเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ภรรยาทำให้อาหารเสียไปจานหนึ่ง หรือพูดคุยกับชายแปลกหน้า. ถึงกับยินยอมให้สามีหย่าภรรยาได้ถ้าเขาพบผู้หญิงที่เขาเห็นว่ามีเสน่ห์ดึงดูดใจกว่า! ผู้คงแก่เรียนด้านพระคัมภีร์คนหนึ่งชี้แจงดังนี้: “เมื่อพระเยซูตรัสอย่างที่พระองค์ได้ตรัสนั้น พระองค์ . . . ทรงให้การสนับสนุนสตรี โดยมุ่งหมายจะกอบกู้การสมรสให้อยู่ในสภาพอันควรจะเป็น.” จริง ๆ แล้ว การสมรสควรเป็นสัมพันธภาพถาวร ซึ่งผู้หญิงสามารถรู้สึกมั่นคงปลอดภัย.—มาระโก 10:6-9.
12. โดยถ้อยคำที่ว่า “ผิดประเวณีต่อภรรยาเดิม” พระเยซูทรงนำเอาแง่คิดอะไรขึ้นมา?
12 ประการที่สอง โดยคำตรัสที่ว่า “ผู้นั้นก็ได้ผิดประเวณีต่อภรรยาเดิม” พระเยซูทรงนำเอาแง่คิดอันไม่เป็นที่รู้จักในศาลของพวกรับบีขึ้นมา—คือแง่คิดที่ว่า การผิดประเวณีของฝ่ายชายเป็นการผิดต่อภรรยาของตน. หนังสือคำอธิบายคัมภีร์ไบเบิลของผู้ให้อรรถาธิบาย (ภาษาอังกฤษ) ชี้แจงว่า “ในลัทธิยูดายของพวกรับบี ผู้หญิงที่ประพฤติตนไม่ซื่อสัตย์ก็เป็นผู้ทำผิดประเวณีต่อสามี; และผู้ชาย เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของชายอื่น จะทำผิดต่อผู้เป็นสามี. แต่ผู้ชายไม่เคยถือว่าเขาได้ทำผิดประเวณีต่อภรรยาไม่ว่าเขาทำอะไร. โดยให้สามีอยู่ใต้พันธะทางศีลธรรมเช่นเดียวกับภรรยา พระเยซูทรงยกฐานะและศักดิ์ศรีของสตรี.”
13. ในเรื่องการหย่า พระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรว่าในระบอบคริสเตียนจะมีมาตรฐานเดียวสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง?
13 ประการที่สาม โดยวลีที่ว่า “ถ้าหญิงเองจะหย่าสามีของตน” พระเยซูทรงตระหนักถึงสิทธิของผู้หญิงที่จะหย่าสามีซึ่งประพฤติตนไม่ซื่อสัตย์—การปฏิบัติที่ดูเหมือนเป็นที่รู้กันแต่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาภายใต้กฎหมายยิวสมัยนั้น.c กล่าวกันว่า “ผู้ชายอาจหย่าภรรยาไม่ว่าเธอจะเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้หญิงอาจหย่าสามีเฉพาะเมื่อเขาเห็นชอบ.” แต่ตามคำตรัสของพระเยซู ภายใต้ระบบคริสเตียน มีการใช้มาตรฐานอย่างเดียวกันกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง.
14. โดยการสั่งสอนของพระองค์ พระเยซูได้สะท้อนถึงอะไร?
14 เห็นได้ชัดว่า คำสอนของพระเยซูแสดงถึงความห่วงใยในสวัสดิภาพของสตรีอย่างลึกซึ้ง. ฉะนั้น ไม่ยากที่จะเข้าใจว่า ทำไมสตรีบางคนจึงมีความรักต่อพระเยซูถึงขนาดที่พวกเขายอมสละทรัพย์สิ่งของตามที่มีเพื่อเอาใจใส่ต่อความจำเป็นของพระองค์. (ลูกา 8:1-3) พระเยซูตรัสดังนี้: “สิ่งที่เราสั่งสอนนั้นไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของพระองค์ที่ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 7:16, ล.ม.) โดยสิ่งที่พระองค์สั่งสอน พระเยซูได้สะท้อนความใฝ่พระทัยอย่างอ่อนโยนของพระยะโฮวาต่อบรรดาสตรี.
“ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลาย”
15. อัครสาวกเปโตรได้เขียนอะไรเกี่ยวกับวิธีที่สามีพึงปฏิบัติต่อภรรยา?
15 อัครสาวกเปโตรได้สังเกตเห็นด้วยตัวท่านเองถึงวิธีที่พระเยซูปฏิบัติต่อสตรี. หลังจากนั้นประมาณ 30 ปี เปโตรได้แนะนำภรรยาทั้งหลายด้วยความรัก แล้วเขียนดังนี้: “ท่านทั้งหลายที่เป็นสามี จงอยู่กับเขาต่อ ๆ ไปในลักษณะเดียวกันตามความรู้ ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลายเหมือนหนึ่งเป็นภาชนะที่อ่อนแอกว่า คือเพศหญิง เนื่องจากท่านทั้งหลายเป็นผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับเขา เพื่อคำอธิษฐานของท่านจะไม่ถูกขัดขวาง.” (1 เปโตร 3:7, ล.ม.) เปโตรหมายความอย่างไรเมื่อใช้ถ้อยคำว่า “ให้เกียรติแก่เขาทั้งหลาย”?
16. (ก) อะไรคือความหมายของคำนามภาษากรีกที่ได้รับการแปลว่า “เกียรติ”? (ข) พระยะโฮวาทรงให้เกียรติพระเยซูอย่างไรขณะพระองค์ทรงจำแลงพระกาย และเราเรียนอะไรจากเรื่องนี้?
16 ตามที่ผู้เรียบเรียงปทานุกรมคนหนึ่งได้อธิบายไว้ คำนามภาษากรีก (ทิเมʹ) ที่ได้รับการแปลว่า “เกียรติ” หมายถึง “มูลค่า, คุณค่า, เกียรติยศ, ความนับถือ.” รูปต่าง ๆ ของภาษากรีกคำนี้ได้รับการแปลว่า “สิ่งของที่เราต้องการ” และ “ประเสริฐ.” (กิจการ 28:10; 1 เปโตร 2:7) พวกเราจะได้การหยั่งเห็นเข้าใจว่าการให้เกียรติบางคนจะหมายความอย่างไร หากเราตรวจสอบคำเดียวกันนี้ในรูปที่เปโตรได้ใช้ใน 2 เปโตร 1:17 (ล.ม.). ที่นั่น ท่านกล่าวโยงถึงการจำแลงพระกายของพระเยซูดังนี้ “เพราะพระองค์ทรงได้รับเกียรติยศและสง่าราศีจากพระเจ้า พระบิดา คราวเมื่อคำตรัสเช่นคำเหล่านี้มาถึงพระองค์โดยสง่าราศีอันเลอเลิศว่า ‘ผู้นี้เป็นบุตรผู้เป็นที่รักของเรา ผู้ซึ่งเราเองได้รับรองไว้.’” คราวที่พระเยซูทรงจำแลงพระกาย พระยะโฮวาทรงให้เกียรติพระบุตรของพระองค์โดยคำตรัสแสดงความโปรดปรานพระเยซู และพระเจ้าทรงกระทำเช่นนั้นให้คนอื่นได้ยิน. (มัดธาย 17:1-5) ฉะนั้น ผู้ชายที่ให้เกียรติภรรยาของตน ย่อมไม่ดูถูกหรือเหยียดหยามภรรยา. แทนที่จะทำเช่นนั้น เขาแสดงให้เห็นว่าเขายกย่องให้เกียรติภรรยาโดยวาจาและการกระทำ—ทั้งเมื่ออยู่กันตามลำพังและต่อหน้าธารกำนัล.—สุภาษิต 31:28-30.
17. (ก) ทำไมภรรยาคริสเตียนพึงได้รับเกียรติ? (ข) เหตุใดผู้ชายไม่ควรรู้สึกว่าตนมีค่าในสายพระเนตรของพระเจ้ามากกว่าสตรี?
17 เปโตรกล่าวว่า การให้เกียรติเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามีคริสเตียน ‘พึงให้’ แก่ภรรยาของตน. สิ่งที่จะพึงให้นี้ไม่ใช่ให้เพราะความกรุณาเอื้อเฟื้อ แต่เนื่องจากเป็นสิทธิอันชอบธรรมของภรรยาที่พึงได้รับ. ทำไมภรรยาทั้งหลายสมควรได้เกียรติดังกล่าว? เพราะ “ท่านทั้งหลายเป็นผู้รับมรดกความโปรดปรานอันไม่พึงได้รับแห่งชีวิตร่วมกับเขา” ตามที่เปโตรอธิบาย. ในศตวรรษแรกแห่งสากลศักราช ชายหญิงทั้งหลายซึ่งได้รับจดหมายจากเปโตรล้วนเป็นผู้ที่ถูกเรียกให้เป็นผู้ร่วมรับมรดกกับพระคริสต์. (โรม 8:16, 17; ฆะลาเตีย 3:28) บุคคลเหล่านั้นไม่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเดียวกันในประชาคม แต่ในที่สุดเขาจะร่วมปกครองกับพระคริสต์ในสวรรค์. (วิวรณ์ 20:6) ทุกวันนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อไพร่พลของพระเจ้าส่วนใหญ่มีความหวังทางแผ่นดินโลก คงเป็นการผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่ชายคริสเตียนคนใดจะคิดว่า เพราะสิทธิพิเศษที่เขาอาจมีในประชาคม เขาจึงมีค่าในคลองพระเนตรของพระเจ้ามากกว่าสตรี. (เทียบกับลูกา 17:10.) ผู้ชายและผู้หญิงมีสถานะฝ่ายวิญญาณเท่าเทียมกันจำเพาะพระเจ้า เพราะการวายพระชนม์ของพระเยซูเป็นเครื่องบูชาเปิดโอกาสอย่างเดียวกันแก่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง—คือโอกาสที่จะหลุดพ้นการปรับโทษเนื่องจากบาปและความตาย พร้อมกับมีหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์.—โรม 6:23.
18. เปโตรให้เหตุผลหนักแน่นอะไรที่ว่าสามีควรให้เกียรติภรรยาของตน?
18 เปโตรให้เหตุผลอันหนักแน่นอีกข้อหนึ่งว่า ทำไมสามีพึงให้เกียรติภรรยาของตน นั่นก็คือ “เพื่อคำอธิษฐาน [ของเขา] จะไม่ถูกขัดขวาง.” คำ “ถูกขัดขวาง” มาจากคำกริยาภาษากรีก (เอ็นคอʹพโต) ซึ่งตามตัวอักษรหมายถึง “ตัดให้ขาด.” ตามพจนานุกรมอธิบายศัพท์ในพันธสัญญาใหม่ ของไวน์ คำนี้ “ใช้กับการขัดขวางบุคคลด้วยการทำลายทาง, หรือตั้งสิ่งกีดขวางตรงหน้า.” ด้วยเหตุนี้ สามีที่ไม่ให้เกียรติภรรยาของตนอาจประสบว่ามีสิ่งกีดขวางระหว่างคำอธิษฐานของตนกับการสดับของพระเจ้า. ฝ่ายสามีอาจคิดว่า ตนไม่คู่ควรกับการเข้าเฝ้าพระเจ้า หรือพระยะโฮวาคงไม่ประสงค์จะสดับคำอธิษฐาน. เห็นได้ชัดว่า พระยะโฮวาทรงใฝ่พระทัยมากจริง ๆ กับแนวทางที่ผู้ชายปฏิบัติต่อสตรี.—เทียบกับบทเพลงร้องทุกข์ของยิระมะยา 3:44.
19. ผู้ชายและผู้หญิงในประชาคมอาจรับใช้ร่วมกันอย่างไรโดยมีความนับถือต่อกัน?
19 พันธะหน้าที่ในการให้เกียรตินี้ใช่ว่าสามีต้องรับผิดชอบแต่ฝ่ายเดียว. ขณะที่สามีควรให้เกียรติภรรยา โดยปฏิบัติต่อเธอด้วยความรักและอย่างมีศักดิ์ศรี ภรรยาก็ควรให้เกียรติสามีด้วยการอ่อนน้อมเชื่อฟังและแสดงความนับถืออย่างสุดซึ้ง. (1 เปโตร 3:1-6) ยิ่งกว่านั้น เปาโลได้เตือนคริสเตียน “ให้เกียรติแก่กันและกัน.” (โรม 12:10, ล.ม.) ข้อนี้เรียกร้องทั้งผู้ชายและผู้หญิงในประชาคมที่จะรับใช้ด้วยกันโดยมีความนับถือต่อกัน. เมื่อให้ทัศนคติเช่นนี้ขึ้นหน้า สตรีคริสเตียนย่อมไม่พูดอย่างที่จะบั่นทอนอำนาจของคนเหล่านั้นที่เป็นผู้นำหน้า. แต่พวกเขาจะสนับสนุนผู้ปกครองและร่วมมือกับเขา. (1 โกรินโธ 14:34, 35; เฮ็บราย 13:17) ส่วนคริสเตียนผู้ดูแลนั้นก็จะปฏิบัติต่อ “ผู้หญิงสูงอายุเหมือนเป็นมารดา ผู้หญิงอ่อนวัยกว่านั้นเป็นพี่สาวน้องสาวด้วยความบริสุทธิ์ทั้งสิ้น.” (1 ติโมเธียว 5:1, 2, ล.ม.) ด้วยความสุขุม ผู้ปกครองจะนำความคิดเห็นของพี่น้องหญิงคริสเตียนมาพิจารณาด้วยความกรุณา. ด้วยเหตุนี้ เมื่อพี่น้องหญิงแสดงความนับถือต่อความเป็นประมุขตามระบอบของพระเจ้า และถามคำถามด้วยความนับถือ หรือแม้แต่ชี้ถึงบางสิ่งซึ่งจำต้องได้รับการเอาใจใส่ พวกผู้ปกครองจะยินดีพิจารณาคำถามหรือปัญหาของเธอ.
20. ตามบันทึกในคัมภีร์ไบเบิล สตรีพึงได้รับการปฏิบัติอย่างไร?
20 นับตั้งแต่บาปเริ่มมีขึ้นในสวนเอเดน พวกผู้หญิงในหลายวัฒนธรรมถูกลดฐานะจนไร้ศักดิ์ศรี. แต่นั่นไม่ใช่วิธีการปฏิบัติอย่างที่พระยะโฮวาทรงมุ่งหมายแต่แรกที่จะให้เขาได้รับ. ไม่ว่าแง่คิดใดทางวัฒนธรรมต่อสตรีอาจเป็นที่นิยมแพร่หลาย บันทึกทั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูและภาคภาษากรีกแสดงไว้ชัดเจนว่า สตรีที่เลื่อมใสพระเจ้าควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติและด้วยความนับถือ. นั่นเป็นสิทธิอันพึงได้ที่พระเจ้าทรงประทานให้เขา.
[เชิงอรรถ]
a สารานุกรม ดิ อินเตอร์แนชันแนล สแตนดาร์ด ไบเบิล ชี้แจงดังนี้: “ผู้หญิงไม่ร่วมรับประทานอาหารกับแขกผู้ชาย และผู้ชายถูกห้ามไม่ให้พูดกับผู้หญิง. . . . การสนทนากับผู้หญิงในที่สาธารณะเป็นสิ่งน่าอัปยศอดสูอย่างยิ่ง.” หนังสือมิชนาห์ ของชาวยิว ซึ่งได้รวบรวมหลักคำสอนของพวกรับบี แนะนำไว้ว่า “อย่าพูดมากกับอิสตรี. . . . ผู้ที่พูดมากกับอิสตรีนำความร้ายมาสู่ตัวเอง แถมยังละเลยการศึกษาพระบัญญัติ และท้ายที่สุดต้องลงไปยังเกเฮนนา.”—อะโบท 1:5.
b หนังสือปาเลสไตน์สมัยพระคริสต์ (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “บางกรณี ผู้หญิงแทบจะถูกจัดอยู่ในระดับเดียวกับทาส. ยกตัวอย่าง ผู้หญิงจะให้การเป็นพยานในศาลไม่ได้ ยกเว้นเมื่อให้การ ยืนยันการตายของสามี.” โดยอ้างอิงพระธรรมเลวีติโก 5:1 หนังสือมิชนาห์ ชี้แจงว่า “[กฎหมายว่าด้วย] ‘การสาบานให้การเป็นพยาน’ นั้นใช้กับผู้ชาย ไม่ใช่กับผู้หญิง.”—ชีโบท 4:I.
c โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวในศตวรรษแรก รายงานว่า ซะโลเม ขนิษฐากษัตริย์เฮโรด ได้ส่งสาสน์ถึงพระสวามี เป็น “หนังสือเพิกถอนการสมรส ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายยิว. เพราะเราอนุญาตผู้ชาย (เท่านั้น) ทำหนังสือหย่าได้.”—หนังสือประวัติโบราณของชาวยิว เล่มสิบห้า, หน้า 259 [7, 10].
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ตัวอย่างอะไรบ้างแสดงว่า พระเยซูทรงปฏิบัติต่อสตรีด้วยการให้เกียรติและด้วยความนับถือ?
▫ คำสั่งสอนของพระเยซูแสดงความนับถือต่อศักดิ์ศรีของสตรีอย่างไร?
▫ เหตุใดสามีควรให้เกียรติแก่ภรรยาคริสเตียนของตน?
▫ คริสเตียนทุกคนมีพันธะอะไรที่จะให้เกียรติ?
[รูปภาพหน้า 17]
ด้วยความชื่นชมยินดี สตรีผู้เลื่อมใสในพระเจ้าเป็นพวกแรกที่เห็นพระเยซูผู้คืนพระชนม์ ผู้ซึ่งสั่งพวกเขาให้ไปแจ้งเรื่องนี้แก่พี่น้องของพระองค์