จงเลียนแบบผู้สอนคนให้เป็นสาวกองค์ยิ่งใหญ่
“จงพิจารณาว่าเจ้าทั้งหลายฟังอย่างไร.”—ลูกา 8:18.
1, 2. เหตุใดคุณควรพิจารณาวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้คนในช่วงที่พระองค์ทรงรับใช้บนแผ่นดินโลก?
พระเยซูคริสต์กำลังทำตามบทบาทของพระองค์ในฐานะครูและผู้สอนคนให้เป็นสาวกองค์ยิ่งใหญ่เมื่อพระองค์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “จงพิจารณาว่าเจ้าทั้งหลายฟังอย่างไร.” (ลูกา 8:16-18) หลักการนี้ใช้ได้กับงานรับใช้ของคุณในฐานะคริสเตียน. ถ้าคุณเอาใจใส่การสอนเกี่ยวกับพระเจ้าและพระประสงค์ของพระองค์ คุณก็จะปฏิบัติตามและเป็นผู้ประกาศราชอาณาจักรที่มีประสิทธิภาพ. แน่นอน คุณไม่สามารถได้ยินเสียงตรัสของพระเยซูในทุกวันนี้ แต่คุณสามารถอ่านเกี่ยวกับสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ ตามที่เปิดเผยไว้ในพระคัมภีร์. พระคัมภีร์เผยให้เห็นอะไรเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่อผู้คนในช่วงที่พระองค์ทรงรับใช้อยู่บนแผ่นดินโลก?
2 พระเยซูทรงเป็นผู้ประกาศข่าวดีที่ยอดเยี่ยมและทรงโดดเด่นในฐานะครูผู้สอนความจริงในพระคัมภีร์. (ลูกา 8:1; โยฮัน 8:28) งานสอนคนให้เป็นสาวกเกี่ยวข้องกับทั้งการประกาศและการสอน แต่คริสเตียนบางคนที่ประกาศได้ดีรู้สึกว่าการสอนผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเรื่องยาก. ในขณะที่การประกาศเกี่ยวข้องกับการบอกข่าวสาร แต่ในการสอนผู้คนเกี่ยวกับพระยะโฮวาและพระประสงค์ของพระองค์ ตามปกติแล้วผู้สอนจะต้องสร้างสายสัมพันธ์กับคนที่เขาสอน. (มัดธาย 28:19, 20) เราสามารถทำอย่างนี้ได้โดยเลียนแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ ครูและผู้สอนคนให้เป็นสาวกองค์ยิ่งใหญ่.—โยฮัน 13:13.
3. การเลียนแบบพระเยซูสามารถส่งผลเช่นไรต่อความพยายามของคุณในการสอนคนให้เป็นสาวก?
3 หากคุณเลียนแบบวิธีสอนของพระเยซู คุณก็จะปฏิบัติตามคำเตือนสติของอัครสาวกเปาโลที่ว่า “จงปฏิบัติต่อคนภายนอกโดยใช้สติปัญญาต่อ ๆ ไปโดยใช้ทุกโอกาสให้เกิดประโยชน์มากที่สุด. ให้คำพูดของท่านทั้งหลายเป็นคำพูดที่แสดงความกรุณาเสมอเหมือนอาหารที่ปรุงด้วยเกลือ ท่านทั้งหลายจะได้รู้ว่าควรจะตอบแต่ละคนอย่างไร.” (โกโลซาย 4:5, 6) การเลียนแบบพระเยซูในงานสอนคนให้เป็นสาวกต้องอาศัยความพยายาม แต่นั่นจะทำให้การสอนของคุณมีประสิทธิภาพเพราะจะช่วยคุณให้ “ตอบแต่ละคน” ตามความจำเป็นในแต่ละราย.
พระเยซูทรงสนับสนุนผู้อื่นให้พูด
4. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพระเยซูทรงเป็นผู้ฟังที่ดี?
4 ตั้งแต่ยังเยาว์ พระเยซูทรงมีนิสัยชอบฟังผู้คนและทรงสนับสนุนคนอื่นให้แสดงความคิดเห็น. ตัวอย่างเช่น เมื่อพระองค์ทรงพระชนมายุได้ 12 พรรษา บิดามารดาของพระองค์พบพระองค์อยู่ในหมู่อาจารย์ที่พระวิหาร “กำลังฟังและซักถามพวกเขาอยู่.” (ลูกา 2:46) พระเยซูไม่ได้ไปยังพระวิหารเพื่อจะทำให้พวกอาจารย์รู้สึกเสียหน้าเพราะความรู้ของพระองค์. พระองค์ทรงไปที่นั่นเพื่อจะฟัง แม้ว่าพระองค์ทรงถามด้วย. นิสัยของพระองค์ในการเป็นผู้ฟังที่ดีอาจเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าทรงโปรดปรานและผู้คนก็ชื่นชอบพระองค์.—ลูกา 2:52.
5, 6. เรารู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูทรงฟังคำพูดของคนที่พระองค์ทรงสอน?
5 หลังจากทรงรับบัพติสมาและได้รับการเจิมเป็นพระมาซีฮาแล้ว พระเยซูยังคงสนใจฟังผู้คนเช่นเดิม. พระองค์ไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่พระองค์กำลังสอนจนลืมนึกถึงคนที่มาฟังพระองค์. บ่อยครั้ง พระองค์จะหยุดชั่วขณะหนึ่ง ถามว่าพวกเขาคิดอย่างไร แล้วก็ฟังคำตอบของพวกเขา. (มัดธาย 16:13-15) ตัวอย่างเช่น หลังจากลาซะโรน้องชายของมาร์ทาเสียชีวิต พระเยซูทรงบอกเธอว่า “ทุกคนที่มีชีวิตอยู่และแสดงความเชื่อในเราจะไม่ตายเลย.” จากนั้นพระองค์ทรงถามเธอว่า “เจ้าเชื่อเรื่องนี้ไหม?” และแน่นอน พระเยซูทรงฟังเมื่อมาร์ทาตอบว่า “เชื่อ พระองค์เจ้าข้า ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้า.” (โยฮัน 11:26, 27) พระเยซูคงต้องพอพระทัยสักเพียงไรที่ได้ยินมาร์ทาแสดงความเชื่อของเธออย่างนั้น!
6 เมื่อสาวกหลายคนละทิ้งพระเยซูไป พระองค์ทรงอยากฟังทัศนะของเหล่าอัครสาวกของพระองค์. พระองค์จึงทรงถามว่า “พวกเจ้าไม่อยากไปด้วยหรือ?” ซีโมนเปโตรตอบว่า “พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะไปหาผู้ใดเล่า? พระองค์ทรงมีถ้อยคำที่ให้ชีวิตนิรันดร์ พวกข้าพเจ้าเชื่อและรู้แล้วว่าพระองค์ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์ของพระเจ้า.” (โยฮัน 6:66-69) คำพูดดังกล่าวคงต้องทำให้พระเยซูพอพระทัยสักเพียงไร! คำพูดที่แสดงความเชื่อคล้าย ๆ กันนั้นของนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลย่อมจะทำให้คุณยินดีอย่างแน่นอน.
พระเยซูทรงฟังด้วยความนับถือ
7. เหตุใดชาวซะมาเรียหลายคนจึงมีความเชื่อในพระเยซู?
7 อีกเหตุผลหนึ่งที่พระเยซูทรงเป็นผู้สอนคนให้เป็นสาวกที่มีประสิทธิภาพคือพระองค์ทรงคำนึงถึงความรู้สึกของผู้คนและทรงฟังพวกเขาด้วยความนับถือ. ตัวอย่างเช่น ในโอกาสหนึ่งพระเยซูทรงให้คำพยานแก่หญิงชาวซะมาเรียที่บ่อน้ำของยาโคบในเมืองซีคาร์. ระหว่างที่สนทนากันอยู่นั้น พระเยซูไม่ได้เป็นฝ่ายพูดอยู่คนเดียว; พระองค์ทรงฟังสิ่งที่เธออยากจะพูด. ขณะที่ฟังเธอ พระเยซูทรงสังเกตว่าเธอสนใจในเรื่องการนมัสการและทรงบอกเธอว่าพระเจ้าทรงมองหาคนที่จะนมัสการพระองค์ด้วยพระวิญญาณและความจริง. พระเยซูทรงแสดงความนับถือและความสนใจต่อหญิงคนนี้ เธอจึงบอกคนอื่น ๆ เกี่ยวกับพระองค์ และ “ชาวซะมาเรียหลายคนจากเมืองนั้นมีความเชื่อในพระองค์เนื่องจากหญิงนั้นกล่าวยืนยัน.”—โยฮัน 4:5-29, 39-42.
8. การที่ผู้คนมีแนวโน้มที่จะแสดงความคิดเห็นอาจช่วยคุณได้อย่างไรในการเริ่มการสนทนาในการประกาศ?
8 ตามปกติผู้คนชอบแสดงทัศนะของตน. ตัวอย่างเช่น คนที่อยู่ในเมืองเอเธนส์โบราณชอบให้ความเห็นและฟังสิ่งใหม่ ๆ. เรื่องนี้ยังผลให้อัครสาวกเปาโลสามารถบรรยายอย่างบังเกิดผลบนเขาอาเรโอพากุสที่อยู่ในเมืองนั้น. (กิจการ 17:18-34) เมื่อเริ่มสนทนากับเจ้าของบ้านในการประกาศในสมัยนี้ คุณอาจพูดว่า “ผมมาเยี่ยมคุณเพราะผมอยากฟังความเห็นของคุณเกี่ยวกับ [เรื่องหนึ่ง].” ฟังทัศนะของเขา แล้วแสดงความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่เขาพูดหรือถามเกี่ยวกับเรื่องนั้น. จากนั้นก็บอกเขาด้วยความกรุณาว่าคัมภีร์ไบเบิลกล่าวอย่างไรในเรื่องนั้น.
พระเยซูทรงรู้ว่าจะเริ่มการสนทนาอย่างไร
9. พระเยซูทรงทำอะไรก่อนที่จะ ‘ชี้แจงให้เข้าใจพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน’ แก่เคลโอพัสกับเพื่อน?
9 พระเยซูไม่เคยอับจนถ้อยคำ. นอกจากทรงเป็นผู้ฟังที่ดีแล้ว บ่อยครั้งพระองค์ทรงตระหนักว่าผู้คนคิดอะไร และพระองค์ทรงรู้ว่าจะเริ่มการสนทนาอย่างไรจึงจะดี. (มัดธาย 9:4; 12:22-30; ลูกา 9:46, 47) เพื่อเป็นตัวอย่าง: ไม่นานหลังจากพระเยซูทรงคืนพระชนม์แล้ว สาวกสองคนของพระองค์กำลังเดินจากกรุงเยรูซาเลมไปยังหมู่บ้านเอ็มมาอุส. บันทึกในพระธรรมกิตติคุณบอกว่า “ขณะที่ทั้งสองกำลังพูดคุยกันอยู่ พระเยซูก็ทรงเข้าไปเดินกับพวกเขา แต่พวกเขาจำพระองค์ไม่ได้. พระองค์ตรัสถามพวกเขาว่า ‘เจ้าทั้งสองเดินคุยกันเรื่องอะไรอยู่หรือ?’ พวกเขาจึงหยุดเดิน หน้าตาโศกเศร้า. คนที่ชื่อเคลโอพัสพูดกับพระองค์ว่า ‘เจ้าอยู่คนเดียวอย่างคนต่างถิ่นในกรุงเยรูซาเลมหรือ จึงไม่รู้เรื่องที่เกิดขึ้นที่นั่นในช่วงนี้?’ พระองค์ตรัสถามเขาว่า ‘เรื่องอะไรหรือ?’ ” ครูผู้ยิ่งใหญ่ทรงฟังขณะที่พวกเขาอธิบายว่าพระเยซูชาวนาซาเรทได้สอนผู้คน, ทำการอัศจรรย์ต่าง ๆ, และทรงถูกประหาร. ในตอนนี้มีบางคนบอกว่าพระองค์ได้ถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้ว. พระเยซูทรงปล่อยให้เคลโอพัสกับเพื่อนพรรณนาความรู้สึกของตน. จากนั้น พระองค์ทรงอธิบายสิ่งที่เขาจำเป็นต้องรู้ ‘ทรงชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจพระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วน.’—ลูกา 24:13-27, 32.
10. คุณอาจจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่คุณพบในงานรับใช้มีทัศนะอย่างไรด้านศาสนา?
10 คุณอาจไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับทัศนะด้านศาสนาของเจ้าของบ้านคนหนึ่ง. เพื่อจะรู้ว่าเขามีทัศนะอย่างไร คุณอาจพูดว่าคุณชอบฟังเมื่อผู้คนบอกว่าเขาคิดอย่างไรในเรื่องคำอธิษฐาน. จากนั้น คุณอาจถามว่า “คุณคิดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สดับคำอธิษฐานจริง ๆ ไหม?” คำตอบที่ได้อาจเผยให้เห็นหลายสิ่งเกี่ยวกับทัศนะของคนนั้นและภูมิหลังทางศาสนาของเขา. หากเขาเป็นคนเคร่งศาสนา คุณอาจสามารถเชิญเขาให้แสดงความคิดเห็นมากขึ้นต่อไปโดยถามว่า “คุณคิดว่าพระเจ้าทรงฟังคำอธิษฐานทุกอย่างไหม หรือว่ามีคำอธิษฐานบางอย่างที่พระองค์ไม่พอพระทัย?” คำถามแบบนี้สามารถนำเข้าสู่การสนทนาแบบที่เป็นกันเอง. เมื่อเห็นว่าเหมาะสมที่จะบอกเขาเกี่ยวกับแง่คิดจากพระคัมภีร์ คุณควรทำอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาโดยไม่โจมตีสิ่งที่คนนั้นเชื่อ. หากเขาชอบฟังคุณพูด เขาอาจยินดีให้คุณกลับไปเยี่ยมเขาอีก. แต่สมมุติว่าเขาถามคำถามที่คุณตอบไม่ได้ล่ะ? คุณสามารถไปค้นคว้าแล้วกลับไปเยี่ยมเขา และพร้อมจะให้เหตุผลว่า ‘ทำไมคุณจึงหวังอย่างนั้น ทำเช่นนั้นด้วยอารมณ์อ่อนโยนและด้วยความนับถืออย่างยิ่ง.’—1 เปโตร 3:15.
พระเยซูทรงสอนคนที่คู่ควร
11. อะไรจะช่วยคุณให้พบคนที่คู่ควรจะได้รับการสอน?
11 พระเยซูซึ่งเป็นมนุษย์สมบูรณ์ทรงมีความเข้าใจที่ทำให้พระองค์สามารถบอกได้ว่าใครสมควรได้รับการสอน. เป็นเรื่องยากกว่ามากสำหรับเราในการหาคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตนิรันดร์.” (กิจการ 13:48) เหล่าอัครสาวกได้ทำอย่างนั้นด้วย ตามที่พระเยซูตรัสกับพวกเขาว่า “พวกเจ้าเข้าไปในเมืองใดหรือหมู่บ้านใด จงเสาะหาคนที่คู่ควร.” (มัดธาย 10:11) เช่นเดียวกับอัครสาวกของพระเยซู คุณต้องเสาะหาคนที่เต็มใจฟังและเต็มใจเรียนรู้ความจริงในพระคัมภีร์. คุณสามารถพบคนที่คู่ควรได้โดยตั้งใจฟังทุกคนที่คุยด้วย และสังเกตเจตคติของแต่ละคน.
12. คุณสามารถช่วยคนที่แสดงความสนใจต่อ ๆ ไปได้โดยวิธีใด?
12 หลังจากที่ให้ข่าวสารราชอาณาจักรไว้กับคนที่แสดงความสนใจ คุณควรคิดต่อไปว่าความจริงเรื่องใดในคัมภีร์ไบเบิลที่เขาจำเป็นต้องเรียนรู้. หากคุณจดสิ่งที่คุณทราบจากการสนทนากับคนใดคนหนึ่งในเรื่องข่าวดี การทำอย่างนั้นจะทำให้คุณช่วยคนนั้นต่อไปได้เรื่อย ๆ ทางฝ่ายวิญญาณ. เมื่อกลับเยี่ยม คุณต้องตั้งใจฟังให้ดีเพื่อจะรู้มากขึ้นเกี่ยวกับความเชื่อ, เจตคติ, หรือสภาพการณ์ของเขา.
13. อะไรอาจช่วยคุณให้ทราบทัศนะที่ผู้คนมีต่อคัมภีร์ไบเบิล?
13 คุณจะสนับสนุนคนอื่นได้อย่างไรให้เผยทัศนะที่เขามีต่อพระคำของพระเจ้า? ในบางท้องถิ่น นับว่าได้ผลดีที่จะถามว่า “คุณเคยรู้สึกไหมว่าคัมภีร์ไบเบิลเข้าใจยาก?” คำตอบที่ตอบกลับมามักเผยให้เห็นเจตคติของคนนั้นในเรื่องพระเจ้าและพระคัมภีร์. อีกวิธีหนึ่งก็คืออ่านพระคัมภีร์ข้อหนึ่งแล้วถามว่า “คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับข้อพระคัมภีร์นี้?” เช่นเดียวกับพระเยซู คุณอาจประสบความสำเร็จอย่างมากในงานรับใช้โดยใช้คำถามที่เหมาะสม. อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควรระวังด้วย.
พระเยซูทรงใช้คำถามอย่างได้ผล
14. โดยไม่ถามแบบซักไซ้ คุณจะแสดงความสนใจในทัศนะของผู้คนได้โดยวิธีใด?
14 จงแสดงความสนใจในทัศนะของผู้อื่นโดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกกระอักกระอ่วนใจ. จงทำตามวิธีของพระเยซู. พระองค์ไม่ใช่คนที่ชอบซักถามอย่างไม่ผ่อนหนักผ่อนเบา แต่ทรงใช้คำถามที่กระตุ้นความคิด. พระเยซูยังทรงเป็นผู้ฟังที่กรุณาด้วย ซึ่งทำให้ผู้คนที่มีความจริงใจได้รับความสดชื่นและรู้สึกเป็นกันเอง. (มัดธาย 11:28) ผู้คนทุกชนิดรู้สึกอยากเข้าใกล้พระองค์และพูดคุยกับพระองค์เกี่ยวปัญหาต่าง ๆ ของพวกเขา. (มาระโก 1:40; 5:35, 36; 10:13, 17, 46, 47) เพื่อใครคนหนึ่งจะรู้สึกเป็นกันเองและพร้อมจะบอกคุณว่าเขาคิดอย่างไรเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลและคำสอนของคัมภีร์ไบเบิล คุณต้องระวังอย่าถามแบบซักไซ้เขา.
15, 16. คุณจะสามารถชวนให้ผู้คนสนทนาในเรื่องศาสนาได้โดยวิธีใด?
15 นอกจากการใช้คำถามอย่างได้ผล คุณสามารถสนับสนุนให้มีการสนทนากันโดยพูดถึงบางสิ่งที่น่าสนใจแล้วก็ฟังเมื่อคนที่เราคุยด้วยแสดงความเห็น. ตัวอย่างเช่น พระเยซูทรงบอกนิโคเดมุสว่า “ไม่มีใครจะเห็นราชอาณาจักรของพระเจ้าได้ เว้นแต่เขาจะเกิดใหม่.” (โยฮัน 3:3) ถ้อยคำดังกล่าวกระตุ้นความสนใจมากจนนิโคเดมุสอดไม่ได้ที่จะแสดงความเห็นและฟังพระเยซู. (โยฮัน 3:4-20) โดยใช้วิธีคล้าย ๆ กันนั้น คุณอาจสามารถชวนผู้คนให้สนทนาด้วย.
16 ปัจจุบัน มีศาสนาใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในประเทศต่าง ๆ เช่น แอฟริกา, ยุโรปตะวันออก, และลาตินอเมริกา. ในภูมิภาคเหล่านี้ บ่อยครั้งคุณสามารถเริ่มการสนทนาได้โดยพูดว่า “ผมรู้สึกเป็นห่วงที่เห็นว่ามีศาสนาอยู่มากมาย. แต่ผมหวังว่าในอีกไม่ช้าเราจะเห็นผู้คนทุกเชื้อชาติเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการนมัสการแท้. คุณคิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้จะดีไหม?” โดยพูดอะไรบางอย่างที่ทำให้ผู้คนแปลกใจเกี่ยวกับความหวังของคุณ คุณอาจสามารถกระตุ้นให้เขาแสดงความคิดเห็น. และคำถามจะตอบได้ง่ายกว่าถ้ามีตัวเลือกให้ตอบได้สองทาง. (มัดธาย 17:25) หลังจากเจ้าของบ้านให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่คุณถามแล้ว คุณเองควรตอบคำถามนั้นโดยใช้ข้อพระคัมภีร์ข้อหนึ่งหรือสองข้อ. (ยะซายา 11:9; ซะฟันยา 3:9) โดยตั้งใจฟังและสังเกตปฏิกิริยาของคนที่เราคุยด้วย คุณก็อาจจะสามารถกำหนดได้ว่าจะพิจารณาเรื่องใดในการเยี่ยมครั้งหน้า.
พระเยซูทรงฟังเด็ก ๆ
17. อะไรแสดงว่าพระเยซูทรงสนพระทัยในตัวเด็ก ๆ?
17 พระเยซูทรงสนพระทัยไม่เฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็ก ๆ ด้วย. พระองค์ทรงรู้จักการละเล่นของเด็ก ๆ และสิ่งที่พวกเขาพูด. บางครั้ง พระองค์ทรงเรียกเด็ก ๆ ให้เข้ามาหาพระองค์. (ลูกา 7:31, 32; 18:15-17) เด็กหลายคนอยู่ในกลุ่มชนที่ฟังพระเยซู. เมื่อเด็ก ๆ ร้องสรรเสริญพระมาซีฮาด้วยเสียงดัง พระเยซูทรงสังเกตเห็นและชี้ว่าพระคัมภีร์ได้บอกล่วงหน้าไว้ในเรื่องนี้. (มัดธาย 14:21; 15:38; 21:15, 16) ปัจจุบัน มีเด็กจำนวนมากกำลังเข้ามาเป็นสาวกของพระเยซู. ดังนั้น คุณจะช่วยพวกเขาได้โดยวิธีใด?
18, 19. คุณอาจช่วยลูกของคุณทางฝ่ายวิญญาณได้โดยวิธีใด?
18 เพื่อจะช่วยลูกของคุณทางฝ่ายวิญญาณ คุณต้องฟังเขา. คุณต้องเข้าใจว่าเขามีความคิดเช่นไรที่อาจไม่ประสานกับความคิดของพระยะโฮวา. ไม่ว่าลูกจะพูดอะไร นับว่าฉลาดที่จะตอบด้วยคำพูดในแง่บวกก่อน. หลังจากนั้น คุณสามารถใช้ข้อพระคัมภีร์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยลูกให้เข้าใจทัศนะของพระยะโฮวาในเรื่องนั้น.
19 คำถามจะช่วยให้คุณรู้ทัศนะของลูก. แต่เด็กไม่ชอบถูกสอบสวนพอ ๆ กับที่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ชอบ. แทนที่จะทำให้ลูกรู้สึกหนักใจด้วยคำถามยาก ๆ หลายข้อ คงดีกว่ามิใช่หรือถ้าคุณจะพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวคุณเอง? ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังคุยกับเขาเรื่องอะไรอยู่ คุณอาจพูดว่าคุณเคยมีความรู้สึกแบบหนึ่งแล้วก็อธิบายว่าทำไมคุณจึงเคยรู้สึกแบบนั้น. แล้วคุณอาจถามว่า “ลูกรู้สึกอย่างนั้นด้วยไหม?” ปฏิกิริยาตอบรับของลูกอาจทำให้คุณสามารถพิจารณากับเขาโดยใช้ข้อพระคัมภีร์ที่เป็นประโยชน์และหนุนใจ.
จงเลียนแบบผู้สอนคนให้เป็นสาวกองค์ยิ่งใหญ่ต่อ ๆ ไป
20, 21. เหตุใดคุณควรเป็นผู้ฟังที่ดีในงานสอนคนให้เป็นสาวก?
20 ไม่ว่าคุณกำลังพิจารณาเรื่องใดก็ตามกับลูกหรือกับคนอื่น การตั้งใจฟังเป็นเรื่องสำคัญมาก. ที่จริง การทำอย่างนั้นแสดงว่าคุณมีความรัก. โดยตั้งใจฟัง คุณกำลังประพฤติในแนวทางที่ถ่อมใจ และคนที่พูดก็ได้รับความนับถือและความใส่ใจด้วยความรัก. แน่นอน เพื่อจะฟังคุณต้องสนใจสิ่งที่คนนั้นพูด.
21 ขณะทำงานรับใช้ของคริสเตียน จงตั้งใจฟังเจ้าของบ้านเสมอ. ถ้าคุณสนใจฟังจริง ๆ ว่าเจ้าของบ้านพูดอะไร คุณก็น่าจะมองออกว่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิลแง่ไหนที่คงจะดึงดูดใจเขาเป็นพิเศษ. จากนั้นก็พยายามช่วยเขาโดยใช้วิธีสอนแบบต่าง ๆ ที่พระเยซูทรงใช้. เมื่อคุณทำอย่างนั้น คุณก็จะได้รับความอิ่มใจยินดีเป็นรางวัลตอบแทน เพราะคุณกำลังเลียนแบบผู้สอนคนให้เป็นสาวกองค์ยิ่งใหญ่.
คุณจะตอบอย่างไร?
• พระเยซูทรงสนับสนุนคนอื่น ๆ อย่างไรให้แสดงความคิดเห็น?
• เหตุใดพระเยซูทรงฟังคนที่พระองค์สอน?
• คุณสามารถใช้คำถามอย่างไรในงานรับใช้?
• คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยลูกของคุณทางฝ่ายวิญญาณ?
[ภาพหน้า 28]
เมื่อประกาศจงตั้งใจฟัง
[ภาพหน้า 30]
เราเลียนแบบพระเยซูเมื่อเราช่วยลูกของเราทางฝ่ายวิญญาณ