คุณจะซื่อสัตย์เหมือนเอลียาไหม?
“เราจะส่งเอลียาผู้พยากรณ์ไปหาเจ้าทั้งหลายก่อนที่วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาจะมา.”—มาลาคี 4:5, ล.ม.
1. เกิดวิกฤตการณ์อะไรหลังจากชาติยิศราเอลเข้าอยู่ในแผ่นดินแห่งคำสัญญาได้ประมาณ 500 ปี?
“แผ่นดินที่ . . . บริบูรณ์ด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง.” (เอ็กโซโด 3:7, 8) นั่นคือสิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าทรงประทานให้ชาวยิศราเอลหลังจากปลดปล่อยพวกเขาจากการเป็นทาสของอียิปต์ในศตวรรษที่ 16 ก่อนสากลศักราช. แต่ดูเถอะ! ห้าศตวรรษได้ผ่านไป และบัดนี้อาณาจักรยิศราเอลสิบตระกูลตกอยู่ในสภาพกันดารอาหารอย่างรุนแรง. หญ้าเขียวสดหาได้ยากเย็นเต็มที. สัตว์ทั้งหลายล้มตาย และไม่มีฝนตกมาสามปีครึ่งแล้ว. (1 กษัตริย์ 18:5; ลูกา 4:25) อะไรเป็นสาเหตุของภัยพิบัตินี้?
2. อะไรเป็นสาเหตุของภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นกับชาติยิศราเอล?
2 การออกหากได้ทำให้เกิดวิกฤตการณ์นี้ขึ้น. โดยฝ่าฝืนกฎหมายของพระเจ้า กษัตริย์อาฮาบได้อภิเษกสมรสกับอีซาเบลเจ้าหญิงชาวคะนาอัน และได้อนุญาตให้เธอนำการนมัสการพระบาละเข้ามาในยิศราเอล. ซ้ำร้ายเข้าไปอีก กษัตริย์ได้สร้างวิหารหลังหนึ่งให้แก่พระเท็จองค์นี้ในเมืองหลวงซึ่งก็คือซะมาเรีย. คิดดูซิ ชาวยิศราเอลถูกหลอกให้หลงเชื่อว่าการนมัสการบาละจะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์! อย่างไรก็ตาม เป็นดังที่พระยะโฮวาได้ทรงเตือนแล้วว่า พวกเขากำลังเสี่ยงต่อการ “พินาศเร็วพลันจากแผ่นดินอันดี.”—พระบัญญัติ 7:3, 4; 11:16, 17; 1 กษัตริย์ 16:30-33.
การทดสอบอันน่าทึ่งในเรื่องฐานะความเป็นพระเจ้า
3. ผู้พยากรณ์เอลียาดึงความสนใจไปที่ปัญหาที่แท้จริงของยิศราเอลอย่างไร?
3 เมื่อเริ่มเกิดการกันดารอาหาร เอลียาผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้าบอกกษัตริย์อาฮาบดังนี้: “พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งยิศราเอลซึ่งข้าพเจ้าได้ปฏิบัติทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด, จะไม่มีน้ำค้างหรือน้ำในปีเหล่านี้, เว้นแต่ข้าพเจ้าจะทูลขอ.” (1 กษัตริย์ 17:1) หลังจากประสบความจริงอันร้ายกาจแห่งคำประกาศนี้แล้ว กษัตริย์โทษเอลียาว่านำความลำบากมาสู่ชาติยิศราเอล. แต่เอลียาตอบว่าอาฮาบและราชวงศ์ของท่านต่างหากที่ต้องถูกตำหนิเนื่องด้วยการออกหากไปเป็นผู้นมัสการบาละ. เพื่อจัดการประเด็นนี้ ผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาประกาศให้กษัตริย์อาฮาบรวบรวมชาติยิศราเอลทั้งสิ้นที่ภูเขาคาระเม็ล พร้อมด้วยผู้พยากรณ์ของบาละ 450 คนและผู้พยากรณ์แห่งเสาศักดิ์สิทธิ์ 400 คน. อาฮาบและข้าแผ่นดินของเขาไปชุมนุมกันที่นั่น อาจจะด้วยหวังว่าโอกาสนั้นจะทำให้ความแห้งแล้งยุติลง. แต่เอลียาดึงความสนใจไปที่อีกประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า. ท่านถามว่า “ท่านทั้งหลายจะรวมกันอยู่ท่ามกลางลัทธิทั้งสองฝ่ายนานสักเท่าใด? ถ้าพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า, จงตามพระองค์: หรือถ้าบาละเป็นพระเจ้า, จงตามบาละเถิด.” ชนยิศราเอลทั้งหลายไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไรดี.—1 กษัตริย์ 18:18-21.
4. เพื่อจัดการกับประเด็นในเรื่องฐานะความเป็นพระเจ้า เอลียาเสนอให้ทำอะไร?
4 เป็นเวลาหลายปีที่ชาวยิศราเอลได้พยายามผสมผสานการนมัสการพระยะโฮวากับลัทธิบาละ. เพื่อจัดการกับประเด็นในเรื่องฐานะความเป็นพระเจ้า ตอนนี้เอลียาจึงได้เสนอให้มีการประลองกัน. ท่านจะเตรียมโคหนุ่มตัวหนึ่งสำหรับบูชาถวาย และให้ผู้พยากรณ์ของบาละเตรียมไว้ตัวหนึ่งเช่นกัน. จากนั้นเอลียากล่าวว่า “เจ้าทั้งหลายจงอัญเชิญออกนามพระของเจ้า, และเราจะอัญเชิญออกพระนามแห่งพระยะโฮวา: และพระซึ่งจะตอบด้วยไฟจงนับถือพระองค์นั้นเป็นพระเจ้า.” (1 กษัตริย์ 18:23, 24) ขอให้นึกภาพถึงไฟที่ลงมาจากสวรรค์เพื่อตอบคำอธิษฐาน!
5. ความไร้ประโยชน์ของการนมัสการพระบาละถูกเปิดโปงอย่างไร?
5 เอลียาเชิญให้ผู้พยากรณ์ของบาละเริ่มก่อน. พวกเขาเตรียมโคมาตัวหนึ่งสำหรับเป็นเครื่องบูชา และวางไว้บนแท่น. จากนั้นพวกเขาก็เดินกระย่องกระแย่งไปรอบ ๆ แท่นนั้น อธิษฐานวิงวอนว่า “โอ้บาละ, ขอฟังข้าพเจ้าเถิด!” พวกเขาทำดังนี้ “ตั้งแต่เช้าจนเที่ยง.” เอลียาก็เย้ยหยันพวกเขาว่า “จงร้องดัง ๆ.” บาละคงกำลังติดธุระด่วนเป็นแน่ หรือไม่ก็อาจจะกำลัง “นอนหลับ ต้องปลุกขึ้น.” ไม่นานนัก ผู้พยากรณ์ของบาละก็คลั่งไป. ดูเถอะ! พวกเขาเอามีดเชือดเนื้อตัวเอง และเลือดก็ทะลักจากบาดแผลของเขา. และเสียงของทั้ง 450 คนซึ่งตะเบ็งสุดเสียงนั้นคงจะดังโหยหวนสักเพียงใด! แต่ไม่มีคำตอบ.—1 กษัตริย์ 18:26-29.
6. เอลียาจัดเตรียมอะไรเพื่อทดสอบในเรื่องฐานะความเป็นพระเจ้า?
6 ทีนี้ ถึงคราวของเอลียาบ้าง. ท่านสร้างแท่นบูชาแห่งพระยะโฮวาขึ้นมาใหม่ สั่งให้ขุดร่องรอบแท่นแล้วจึงจัดวางเครื่องบูชา. ต่อจากนั้น ท่านสั่งให้ราดน้ำลงบนฟืนและเครื่องบูชา. น้ำสิบสองโอ่งถูกเทราดลงบนแท่นจนร่องนั้นมีน้ำอยู่เต็ม. นึกภาพดูซิว่าจะมีความตื่นเต้นกันสักเพียงใดขณะที่เอลียาอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าแห่งอับราฮาม, ยิศฮาค, และยิศราเอล, ขอให้รู้ทั่วกันว่า, วันนี้พระองค์คือพระเจ้าแห่งยิศราเอล, และข้าพเจ้าคือทาสของพระองค์, และการเหล่านี้ซึ่งข้าพเจ้าได้กระทำนั้นก็กระทำตามพระดำรัสของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงสดับฟังคำกราบทูลของข้าพเจ้า, ขอทรงสดับฟังข้าพเจ้า, เพื่อไพร่พลเหล่านี้จะได้รู้ว่าพระองค์คือพระยะโฮวาเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.] และพระองค์ซึ่งบันดาลให้ใจของเขาทั้งหลายหันกลับมาอีก.”—1 กษัตริย์ 18:30-37.
7, 8. (ก) พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานของเอลียาอย่างไร? (ข) มีการบรรลุผลอะไรโดยเหตุการณ์ที่ภูเขาคาระเม็ล?
7 ในการตอบคำอธิษฐานของเอลียา “ไฟแห่งพระยะโฮวาก็ตกไหม้เครื่องบูชาเพลิงนั้น, ฟืน, หิน, ผงคลีดิน, และน้ำในร่องนั้นถูกดูดไปแห้งทีเดียว.” คนทั้งปวงก็ซบหน้าลงและร้องว่า “พระยะโฮวา, พระองค์นั้นเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.]; พระยะโฮวา, พระองค์นั้นเป็นพระเจ้า [“เที่ยงแท้,” ล.ม.].” (1 กษัตริย์ 18:38, 39) ถึงตอนนี้ เอลียาดำเนินการอย่างเด็ดขาด. ท่านสั่งว่า “จงจับผู้ทำนายทั้งหลายของบาละ; อย่าให้หนีพ้นสักคนเดียว.” หลังจากที่คนพวกนี้ถูกฆ่าที่ลำธารคีโซน เมฆฝนก็ปกคลุมไปทั่วฟ้า. ในที่สุด ฝนห่าใหญ่ก็ตกลงมาทำให้ความแห้งแล้งยุติลง!—1 กษัตริย์ 18:40-45; เทียบกับพระบัญญัติ 13:1-5.
8 ช่างเป็นวันอันยิ่งใหญ่อะไรเช่นนั้น! พระยะโฮวาทรงมีชัยชนะในการทดสอบอันน่าทึ่งนี้ในเรื่องฐานะความเป็นพระเจ้า. นอกจากนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หัวใจของชนยิศราเอลหลายคนหันกลับมาหาพระเจ้า. ด้วยวิธีนี้และวิธีอื่น ๆ เอลียาพิสูจน์ตัวซื่อสัตย์ในฐานะเป็นผู้พยากรณ์ และตัวท่านเองแสดงบทบาทในเชิงพยากรณ์ด้วย.
“เอลียาผู้พยากรณ์” ยังจะมาอีกหรือ?
9. มาลาคี 4:5, 6 พยากรณ์เรื่องอะไร?
9 ต่อมา โดยทางมาลาคี พระเจ้าทรงแจ้งล่วงหน้าดังนี้: “นี่แน่ะ! เราจะส่งเอลียาผู้พยากรณ์ไปหาเจ้าทั้งหลายก่อนที่วันใหญ่อันน่าสะพรึงกลัวของพระยะโฮวาจะมา. และเขาต้องทำให้หัวใจของพ่อหันไปหาลูก และหัวใจของลูกหันไปหาพ่อ; เพื่อเราจะไม่มาและตีแผ่นดินโลกจริง ๆ โดยมอบให้แก่ความพินาศ.” (มาลาคี 4:5, 6, ล.ม.) เอลียามีชีวิตอยู่ประมาณ 500 ปีก่อนหน้าที่จะมีคำกล่าวนี้. เนื่องจากนี่เป็นคำพยากรณ์ ชาวยิวในศตวรรษแรกจึงคอยท่าอยู่ให้เอลียามาทำให้สำเร็จตามคำนั้น.—มัดธาย 17:10.
10. ใครคือเอลียาตามคำพยากรณ์ และเราทราบได้อย่างไร?
10 ถ้าอย่างนั้น ใครคือเอลียาที่กำลังจะมานี้? เอกลักษณ์ของท่านได้รับการเปิดเผยเมื่อพระเยซูคริสต์ตรัสว่า “ตั้งแต่โยฮันบัพติศโตมาถึงทุกวันนี้, แผ่นดินสวรรค์ก็เป็นสิ่งที่ต้องชิงเอา, และผู้ที่มีใจร้อนรนก็เป็นผู้ที่ชิงเอาได้. เพราะว่าบรรดาคำพยากรณ์และพระบัญญัติทั้งหลายได้กล่าวสอนมาจนถึงโยฮันนี้. ถ้าท่านทั้งหลายพอใจรับ, ก็โยฮันนี้แหละเป็นเอลียาซึ่งจะมานั้น.” ถูกแล้ว โยฮันผู้ให้บัพติสมาคือคู่เทียบของเอลียาตามคำพยากรณ์นี้. (มัดธาย 11:12-14; มาระโก 9:11-13) ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้บอกซะคาระยาบิดาของโยฮันว่า โยฮันจะมี “น้ำใจและฤทธิ์เดชอย่างเอลียา” และจะ “จัดเตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้สมแก่พระเจ้า.” (ลูกา 1:17, ฉบับแปลใหม่) บัพติสมาที่โยฮันให้นั้นเป็นการแสดงอย่างเปิดเผยว่าคน ๆ นั้นกลับใจจากบาปที่เขาฝ่าฝืนพระบัญญัติซึ่งมีไว้เพื่อนำชาวยิวไปถึงพระคริสต์. (ลูกา 3:3-6; ฆะลาเตีย 3:24) งานของโยฮันจึง “จัดเตรียมชนชาติหนึ่งไว้ให้สมแก่พระเจ้า.”
11. ในวันเพนเตคอสเต เปโตรกล่าวอะไรเกี่ยวกับ ‘วันของพระยะโฮวา’ และวันนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อไร?
11 งานของโยฮันผู้ให้บัพติสมาในฐานะเป็น “เอลียา” แสดงว่า ‘วันของพระยะโฮวา’ มาใกล้แล้ว. อัครสาวกเปโตรบ่งบอกด้วยเช่นกันถึงความกระชั้นของวันนั้นที่พระเจ้าจะจัดการศัตรูของพระองค์และปกปักรักษาไพร่พลของพระองค์. ท่านชี้ว่าเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในวันเพนเตคอสเตปีสากลศักราช 33 เป็นความสำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์ของโยเอลในเรื่องการเทพระวิญญาณของพระเจ้า. เปโตรแสดงให้เห็นว่า เหตุการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้นก่อนถึง “วันใหญ่ยิ่งของพระเจ้า.” (กิจการ 2:16-21; โยเอล 2:28-32) วันนั้นมาถึงในปี ส.ศ. 70 เมื่อพระยะโฮวาทรงทำให้คำตรัสของพระองค์สำเร็จโดยให้กองทัพโรมันมาสำเร็จโทษตามการพิพากษาของพระเจ้าต่อชาตินั้นซึ่งปฏิเสธพระบุตรของพระองค์.—ดานิเอล 9:24-27; โยฮัน 19:15.
12. (ก) เปาโลและเปโตรกล่าวเช่นไรเกี่ยวกับ ‘วันของพระยะโฮวา’ ที่กำลังจะมาถึง? (ข) เหตุใดจึงจะต้องมีบางสิ่งเกิดขึ้นแน่นอนดังที่งานของเอลียาแสดงให้เห็น?
12 อย่างไรก็ตาม ยังมีอะไรมากกว่านี้ที่จะตามมาหลังปี ส.ศ. 70. อัครสาวกเปาโลเชื่อมโยง “วันของพระยะโฮวา” ที่กำลังจะมา เข้ากับการประทับของพระเยซูคริสต์. นอกจากนั้น อัครสาวกเปโตรกล่าวถึงวันนั้นว่าเกี่ยวข้องกับ “ฟ้าสวรรค์ใหม่และแผ่นดินโลกใหม่” ซึ่งจะมีในอนาคต. (2 เธซะโลนิเก 2:1, 2, ล.ม.; 2 เปโตร 3:10-13, ล.ม.) พึงระลึกว่า โยฮันผู้ให้บัพติสมาทำหน้าที่อย่างเดียวกับเอลียาก่อน ‘วันของพระยะโฮวา’ มาถึงในปี ส.ศ. 70. ทั้งหมดนี้แสดงว่าจะมีบางสิ่งต้องเกิดขึ้นอีก ดังเห็นได้จากงานที่เอลียาได้ทำ. สิ่งนั้นคืออะไร?
พวกเขามีน้ำใจอย่างเอลียา
13, 14. (ก) มีอะไรที่เทียบเคียงกันได้ระหว่างกิจกรรมของเอลียากับกิจกรรมของคริสเตียนผู้ถูกเจิมในปัจจุบัน? (ข) ผู้ออกหากแห่งคริสต์ศาสนจักรได้ทำอะไร?
13 งานของเอลียาไม่เพียงแต่เทียบเคียงกันได้กับกิจกรรมของโยฮันผู้ให้บัพติสมา แต่ยังเทียบกันได้กับกิจกรรมของคริสเตียนผู้ถูกเจิมในเวลาวิกฤตินี้ซึ่งนำไปสู่ ‘วันของพระยะโฮวา’ ที่ใกล้จะถึงแล้ว. (2 ติโมเธียว 3:1-5) ด้วยน้ำใจและฤทธิ์เดชอย่างเอลียา พวกเขาเป็นผู้สนับสนุนการนมัสการแท้ที่ภักดี. และนับว่าจำเป็นสักเพียงไรที่ต้องเป็นเช่นนั้น! หลังจากบรรดาอัครสาวกของพระคริสต์สิ้นชีวิตแล้ว มีการออกหากจากศาสนาคริสเตียนแท้ แบบเดียวกันเลยทีเดียวกับที่การนมัสการบาละเฟื่องฟูในแผ่นดินยิศราเอลในสมัยเอลียา. (2 เปโตร 2:1) ผู้ที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนเริ่มผสมผสานหลักการคริสเตียนกับหลักคำสอนและกิจปฏิบัติของศาสนาเท็จ. ตัวอย่างเช่น พวกเขารับเอาคำสอนนอกรีตและไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์ที่ว่า คนเรามีจิตวิญญาณอมตะ. (ท่านผู้ประกาศ 9:5, 10; ยะเอศเคล 18:4) ผู้ออกหากแห่งคริสต์ศาสนจักรได้เลิกใช้พระนามยะโฮวาของพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พวกเขานมัสการพระตรีเอกานุภาพ. นอกจากนี้ พวกเขายังได้เลียนแบบการนมัสการบาละโดยก้มลงกราบรูปปั้นของพระเยซูและพระแม่มาเรีย. (โรม 1:23; 1 โยฮัน 5:21) แต่ยังไม่หมดเพียงแค่นี้.
14 ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา พวกผู้นำทั้งหลายของคริสตจักรเริ่มแสดงความสงสัยในหลายส่วนของคัมภีร์ไบเบิล. ตัวอย่างเช่น พวกเขาปฏิเสธเรื่องราวการทรงสร้างของพระธรรมเยเนซิศ และยกย่องเทิดทูนทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยเรียกว่าเป็น “วิทยาศาสตร์.” ทัศนะเช่นนี้ขัดแย้งโดยตรงกับคำสอนของพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์. (มัดธาย 19:4, 5; 1 โกรินโธ 15:47) อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับพระเยซูและสาวกรุ่นแรกของพระองค์ คริสเตียนผู้ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณในทุกวันนี้สนับสนุนเรื่องราวการทรงสร้างในคัมภีร์ไบเบิล.—เยเนซิศ 1:27.
15, 16. ตรงกันข้ามกับคริสต์ศาสนจักร ใครที่ได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณเป็นประจำ และโดยทางใด?
15 ขณะที่โลกผ่านเข้าสู่ “เวลาอวสาน” เกิดมีการกันดารอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างรุนแรงในคริสต์ศาสนจักร. (ดานิเอล 12:4, ล.ม.; อาโมศ 8:11, 12) แต่คริสเตียนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ มีอาหารฝ่ายวิญญาณซึ่งพระเจ้าจัดเตรียมไว้เป็นประจำ “ตามเวลาที่สมควร” แบบเดียวกับที่พระยะโฮวาทรงจัดให้เอลียาได้รับการเลี้ยงดูในคราวการกันดารอาหารในสมัยของท่าน. (มัดธาย 24:45, ล.ม.; 1 กษัตริย์ 17:6, 13-16) ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รู้จักกันในนามนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลนานาชาติ ต่อมาผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์เหล่านี้ของพระเจ้ารับเอาชื่อตามพระคัมภีร์คือพยานพระยะโฮวา.—ยะซายา 43:10.
16 เอลียาดำเนินชีวิตสมชื่อของท่าน ซึ่งมีความหมายว่า “พระเจ้าของข้าพเจ้าคือพระยะโฮวา.” ในฐานะเป็นวารสารอย่างเป็นทางการของผู้รับใช้ที่อยู่บนแผ่นดินโลกนี้ของพระยะโฮวา หอสังเกตการณ์ ใช้พระนามของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด. ที่จริง ฉบับที่สองของวารสารนี้ (สิงหาคม 1879, ภาษาอังกฤษ) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าวารสารนี้มีพระยะโฮวาเป็นผู้หนุนหลัง. วารสารนี้และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ของสมาคมว็อช เทาเวอร์ เปิดโปงคำสอนซึ่งไม่เป็นตามหลักพระคัมภีร์ของคริสต์ศาสนจักรและส่วนที่เหลือทั้งหมดของบาบูโลนใหญ่จักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ ในขณะที่ส่งเสริมความสัตย์จริงแห่งคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระเจ้า.—2 ติโมเธียว 3:16, 17; วิวรณ์ 18:1-5.
ซื่อสัตย์ภายใต้การทดสอบ
17, 18. อีซาเบลมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการสังหารผู้พยากรณ์ของบาละ แต่เอลียาได้รับการช่วยอย่างไร?
17 ปฏิกิริยาของนักเทศน์นักบวชต่อการเปิดโปงนั้นคล้ายคลึงกับปฏิกิริยาของอีซาเบลเมื่อทราบว่าเอลียาได้ฆ่าผู้พยากรณ์ของบาละ. เธอส่งสารไปถึงผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวา สาบานว่าจะต้องฆ่าท่านให้ได้. นี่ไม่ใช่คำขู่ที่จะดูเบาได้เลย เพราะอีซาเบลได้ฆ่าผู้พยากรณ์ของพระเจ้าไปแล้วมากมาย. ด้วยความกลัว เอลียาหนีลงไปยังบะเอละซาบาซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้. เมื่อถึงแล้วก็ละคนใช้ไว้ที่นั่น ตัวท่านเองเดินทางต่อไป เข้าไปในถิ่นทุรกันดารอธิษฐานขอให้ท่านตายเสีย. แต่พระยะโฮวามิได้ละทิ้งผู้พยากรณ์ของพระองค์. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่เอลียาเพื่อเตรียมท่านไว้พร้อมสำหรับการเดินทางไกลไปยังภูเขาโฮเร็บ. โดยวิธีนี้ ท่านได้รับสิ่งค้ำจุนสำหรับการเดินทาง 40 วัน เป็นระยะทางมากกว่า 300 กิโลเมตร. ที่โฮเร็บ พระเจ้าตรัสกับท่านหลังจากที่ได้ทรงสำแดงฤทธิ์อำนาจอันน่าเกรงขามด้วยพายุ, แผ่นดินไหว, และไฟไหม้. พระยะโฮวามิได้ทรงสถิตอยู่ในการสำแดงฤทธานุภาพเหล่านี้. การแสดงอำนาจธรรมชาติเหล่านี้เกิดจากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือพลังปฏิบัติการของพระองค์. จากนั้นพระยะโฮวาตรัสกับผู้พยากรณ์. คิดดูซิว่าประสบการณ์นี้เสริมกำลังเอลียาสักเพียงไร. (1 กษัตริย์ 19:1-12) จะว่าอย่างไรหากเราเป็นเช่นเดียวกับเอลียา คือเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาเมื่อถูกศัตรูที่ต่อต้านการนมัสการแท้คุกคาม? ประสบการณ์ของเอลียาน่าจะช่วยเราให้ตระหนักว่า พระยะโฮวาไม่ทรงละทิ้งไพร่พลพระองค์.—1 ซามูเอล 12:22.
18 พระเจ้าทรงแสดงให้เห็นชัดว่า เอลียายังมีงานต้องทำในฐานะเป็นผู้พยากรณ์. นอกจากนั้น แม้เอลียาคิดว่ามีเพียงลำพังท่านคนเดียวที่นมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ในยิศราเอล พระยะโฮวาทรงแสดงให้ท่านเห็นว่ามี 7,000 คนที่ไม่ได้ก้มกราบพระบาละ. จากนั้นพระเจ้าทรงส่งเอลียากลับไปทำงานมอบหมายของท่าน. (1 กษัตริย์ 19:13-18) เช่นเดียวกับเอลียา เราอาจถูกไล่ล่าจากศัตรูแห่งการนมัสการแท้. เราอาจตกเป็นเป้าของการกดขี่ข่มเหงอย่างรุนแรง ดังที่พระเยซูทรงพยากรณ์ไว้. (โยฮัน 15:17-20) บางครั้ง เราอาจเริ่มรู้สึกกลัว. อย่างไรก็ตาม เราสามารถเป็นเหมือนเอลียาซึ่งได้รับคำรับรองจากพระเจ้าแล้วก็ได้บากบั่นรับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์.
19. ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคริสเตียนผู้ถูกเจิมประสบอะไร?
19 เนื่องด้วยการข่มเหงอย่างรุนแรงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คริสเตียนผู้ถูกเจิมบางคนพ่ายแพ้ต่อความกลัวและเลิกประกาศ. พวกเขาคิดอย่างผิด ๆ ว่างานบนแผ่นดินโลกนี้ยุติแล้ว. แต่พระเจ้ามิได้ทรงปฏิเสธพวกเขา. แทนที่จะทำเช่นนั้น พระองค์ทรงค้ำจุนพวกเขาด้วยพระเมตตา เหมือนกับที่พระองค์ได้ทรงจัดอาหารเลี้ยงดูเอลียานั้นทีเดียว. เช่นเดียวกับเอลียา ชนผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์รับเอาการแก้ไขจากพระเจ้าและฟื้นตัวจากสภาพที่ชะงักงัน. ตาของพวกเขาถูกเปิดให้เห็นสิทธิพิเศษใหญ่หลวงแห่งการประกาศข่าวราชอาณาจักร.
20. ปัจจุบัน สิทธิพิเศษอะไรที่มอบให้แก่คนเหล่านั้นที่ซื่อสัตย์เหมือนเอลียา?
20 ในคำพยากรณ์เกี่ยวกับการประทับของพระองค์ พระเยซูทรงวางเค้าโครงงานที่จะทำไปทั่วโลกซึ่งจะสำเร็จเสร็จสิ้นก่อนอวสานของระบบชั่วนี้. (มัดธาย 24:14) ปัจจุบัน งานนี้กำลังทำกันอยู่โดยคริสเตียนผู้ถูกเจิมและเพื่อน ๆ ของพวกเขาอีกหลายล้านคนซึ่งคอยท่าจะมีชีวิตในอุทยานบนแผ่นดินโลก. การทำการประกาศราชอาณาจักรจนกระทั่งสำเร็จเป็นสิทธิพิเศษที่มอบให้เฉพาะแต่คนที่ซื่อสัตย์เหมือนเอลียาเท่านั้น.
จงซื่อสัตย์เหมือนเอลียา
21, 22. (ก) งานอะไรในปัจจุบันที่คริสเตียนผู้ถูกเจิมเป็นกองหน้า? (ข) งานประกาศกำลังทำให้ลุล่วงด้วยความช่วยเหลือจากแหล่งไหน และเหตุใดจึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเช่นนั้น?
21 ด้วยใจแรงกล้าเหมือนเอลียา ชนที่เหลือกลุ่มเล็ก ๆ แห่งคริสเตียนแท้ผู้ถูกเจิมได้เอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของตนในการดูแลผลประโยชน์ทางแผ่นดินโลกของพระเยซูคริสต์ผู้ประทับบนบัลลังก์ในฐานะกษัตริย์. (มัดธาย 24:47) และเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้วที่พระเจ้าได้ทรงใช้ผู้ถูกเจิมเหล่านี้นำหน้าในงานช่วยคนที่พระองค์ทรงประทานความหวังอันยอดเยี่ยมเรื่องชีวิตนิรันดร์ในอุทยานบนแผ่นดินโลกให้เข้ามาเป็นสาวก. (มัดธาย 28:19, 20) คนเหล่านี้หลายล้านคนต่างก็รู้สึกขอบคุณสักเพียงไรที่ชนที่เหลือแห่งผู้ถูกเจิมซึ่งเหลืออยู่ค่อนข้างน้อยเอาใจใส่หน้าที่รับผิดชอบของเขาอย่างกระตือรือร้นและด้วยความซื่อสัตย์!
22 งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรนี้ลุล่วงโดยมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ และเฉพาะแต่ด้วยกำลังซึ่งพระยะโฮวาทรงประทานแก่คนเหล่านั้นที่หวังพึ่งในพระองค์ด้วยการอธิษฐาน. เมื่ออ้างถึงตัวอย่างการอธิษฐานของท่านผู้พยากรณ์เพื่อแสดงถึงพลังแห่งคำอธิษฐานของผู้ชอบธรรม สาวกยาโกโบกล่าวว่า “เอลียาเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึกเช่นเราทั้งหลาย.” (ยาโกโบ 5:16-18, ล.ม.) เอลียาไม่ได้พยากรณ์หรือทำการอัศจรรย์อยู่เสมอ. ท่านมีความรู้สึกเช่นเดียวกับคนทั่วไปและมีความอ่อนแอเหมือนพวกเรา แต่ท่านรับใช้พระเจ้าอย่างซื่อสัตย์. เนื่องจากเราก็เช่นกันได้รับการช่วยจากพระเจ้าและพระองค์ทรงเสริมกำลังเรา เราจึงสามารถซื่อสัตย์ได้เหมือนเอลียา.
23. เหตุใดเรามีเหตุผลที่ดีที่จะซื่อสัตย์และมีความมั่นใจ?
23 เรามีเหตุผลที่ดีที่จะซื่อสัตย์มีความมั่นใจ. พึงจำไว้ว่าโยฮันผู้ให้บัพติสมาทำงานแบบเดียวกับเอลียาก่อน ‘วันของพระยะโฮวา’ มาถึงในปี ส.ศ. 70. ด้วยน้ำใจและฤทธิ์เดชอย่างเอลียา คริสเตียนผู้ถูกเจิมได้ทำงานที่พระเจ้าทรงมอบให้คล้าย ๆ กันตลอดทั่วโลก. ทั้งนี้ย่อมพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า ‘วันของพระยะโฮวา’ ที่ยิ่งใหญ่ใกล้เข้ามาแล้ว.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ ฐานะความเป็นพระเจ้าของพระยะโฮวาได้รับการพิสูจน์อย่างไรที่ภูเขาคาระเม็ล?
▫ ใครคือ ‘เอลียาที่จะมา’ และผู้นั้นได้ทำอะไร?
▫ คริสเตียนผู้ถูกเจิมในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขามีน้ำใจอย่างเอลียา?
▫ เหตุใดจึงเป็นไปได้ที่เราจะซื่อสัตย์เหมือนเอลียา?
[กรอบหน้า 15]
เอลียาได้ขึ้นไปที่สวรรค์แห่งไหน?
“เมื่อ [เอลียาและอะลีซา] เดินสนทนากันไป, ก็มีราชรถและม้าเป็นเปลวไฟ, กระทำให้ท่านทั้งสองแยกจากกัน; และเอลียาก็ขึ้นไปยังมหาสวรรค์ โดยลมเวียนหอบ.”—2 กษัตริย์ 2:11.
คำว่า “มหาสวรรค์” ในกรณีนี้หมายถึงอะไร? บางครั้งคำนี้ใช้หมายถึงที่อยู่แดนวิญญาณของพระเจ้าและเหล่าบุตรทูตสวรรค์ของพระองค์. (มัดธาย 6:9; 18:10) “ฟ้าสวรรค์” อาจใช้บ่งชี้ถึงเอกภพที่เป็นวัตถุธาตุ. (พระบัญญัติ 4:19, ล.ม.) และคัมภีร์ไบเบิลใช้คำนี้อ้างอิงถึงชั้นบรรยากาศที่อยู่ถัดจากพื้นผิวแผ่นดินโลกขึ้นไปซึ่งเป็นที่ที่นกบินและลมพัด.—บทเพลงสรรเสริญ 78:26; มัดธาย 6:26.
สวรรค์แบบไหนล่ะที่ผู้พยากรณ์เอลียาได้ขึ้นไป? มีหลักฐานแสดงว่า ท่านถูกพาผ่านไปในชั้นบรรยากาศของลูกโลกและถูกนำไปอยู่ ณ อีกส่วนหนึ่งของลูกโลก. หลายปีต่อมา เอลียาก็ยังคงอยู่บนแผ่นดินโลก เพราะท่านเขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงกษัตริย์ยะโฮรามแห่งยูดา. (2 โครนิกา 21:1, 12-15) ข้อเท็จจริงที่ว่าเอลียามิได้ขึ้นไปยังสวรรค์อันเป็นที่พำนักของพระยะโฮวาพระเจ้านั้น ในเวลาต่อมาได้รับการยืนยันโดยคำตรัสของพระเยซูคริสต์ซึ่งได้ประกาศว่า “ไม่มีผู้ใดได้ขึ้นไปยังสวรรค์. เว้นไว้ท่านที่ลงมาจากสวรรค์, คือบุตรมนุษย์” อันได้แก่พระเยซูนั่นเอง. (โยฮัน 3:13) เส้นทางสู่ชีวิตฝ่ายสวรรค์ได้ถูกเปิดให้กับมนุษย์ไม่สมบูรณ์เป็นครั้งแรกหลังการวายพระชนม์, การฟื้นคืนพระชนม์, และการขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซูคริสต์.—โยฮัน 14:2, 3; เฮ็บราย 9:24; 10:19, 20.