บท 29
“รู้จักความรักของพระคริสต์”
1-3. (ก) อะไรกระตุ้นพระเยซูให้อยากเป็นเหมือนพ่อของท่าน? (ข) ในบทนี้เราจะเรียนเรื่องอะไรบ้าง?
คุณเคยเห็นเด็กผู้ชายตัวเล็ก ๆ ที่พยายามเลียนแบบพ่อของเขาไหม? ลูกชายอาจเลียนแบบท่าเดิน วิธีพูด หรือสิ่งต่าง ๆ ที่พ่อทำ พอโตขึ้นเขาก็อาจมีความคิดเหมือนพ่อในเรื่องที่ว่าอะไรถูกอะไรผิดรวมถึงเรื่องความเชื่อด้วย ความรักและความนับถือที่ลูกมีกับพ่อที่รักเขามักจะทำให้เขาอยากเป็นเหมือนพ่อ
2 แล้วพระเยซูรู้สึกยังไงกับพระยะโฮวาพ่อของท่านที่อยู่ในสวรรค์? มีอยู่ครั้งหนึ่งพระเยซูบอกว่า ‘ผมรักพ่อ’ (ยอห์น 14:31) ท่านเคยอยู่กับพ่อมานานก่อนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างและไม่มีใครจะรักพระยะโฮวามากเท่าพระเยซู ความรักแบบนี้กระตุ้นพระเยซูลูกที่ภักดีให้อยากเป็นเหมือนพ่อของท่าน—ยอห์น 14:9
3 ในบทต้น ๆ ของหนังสือเล่มนี้ เราได้เห็นวิธีที่พระเยซูเลียนแบบการแสดงอำนาจ ความยุติธรรม และสติปัญญาของพระยะโฮวาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่พระเยซูเลียนแบบความรักของพ่อยังไง? ให้เรามาดูความรักของพระเยซูใน 3 แง่มุมคือ น้ำใจเสียสละ ความเมตตาสงสาร และพร้อมจะให้อภัย
“ไม่มีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านี้”
4. พระเยซูแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดยังไง?
4 พระเยซูเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นในการแสดงความรักที่เสียสละ การเสียสละตัวเองเกี่ยวข้องกับการให้ความจำเป็นและเรื่องของคนอื่นสำคัญกว่าของตัวเอง พระเยซูแสดงความรักแบบนั้นยังไง? ท่านบอกว่า “ไม่มีความรักที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ คือที่คนหนึ่งยอมสละชีวิตเพื่อเพื่อนของเขา” (ยอห์น 15:13) ท่านเต็มใจสละชีวิตสมบูรณ์แบบของท่านเพื่อเรา นี่เป็นการแสดงความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด แต่พระเยซูแสดงความรักที่เสียสละในวิธีอื่นด้วย
5. พระเยซูต้องเสียสละอะไรบ้างเพื่อจะมาบนโลก?
5 ก่อนที่ลูกคนเดียวของพระเจ้าจะมาบนโลก ท่านมีตำแหน่งสูงส่งในสวรรค์ ท่านสนิทกับพระยะโฮวาและทูตสวรรค์จำนวนมาก ถึงท่านจะมีความสุขมากในสวรรค์ แต่ท่านก็ “ยอมสละทุกสิ่ง มารับสภาพทาส และเกิดเป็นมนุษย์” (ฟีลิปปี 2:7) ท่านเต็มใจมาอยู่กับมนุษย์ผิดบาปบนโลกที่ “อยู่ในอำนาจซาตานตัวชั่วร้าย” (1 ยอห์น 5:19) นี่เป็นการแสดงความรักที่เสียสละของพระเยซูลูกของพระเจ้าจริง ๆ
6, 7. (ก) พระเยซูแสดงความรักที่เสียสละยังไงบ้างช่วงที่ทำงานรับใช้บนโลก? (ข) ตัวอย่างที่น่าประทับใจอะไรเกี่ยวกับความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวมีเขียนไว้ที่ยอห์น 19:25-27?
6 ตลอดเวลาที่พระเยซูรับใช้บนโลก ท่านแสดงความรักที่เสียสละในหลายวิธีเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ท่านไม่มีความเห็นแก่ตัวและจดจ่อกับงานรับใช้โดยสละความสะดวกสบายของตัวเอง ท่านบอกว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกก็มีรัง แต่ ‘ลูกมนุษย์’ ไม่มีที่จะซุกหัวนอน” (มัทธิว 8:20) พระเยซูเป็นช่างไม้ที่ชำนาญ ท่านสามารถใช้เวลาบางส่วนเพื่อสร้างบ้านที่สะดวกสบายสำหรับอยู่เองหรือทำเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามไว้ขายเพื่อจะมีเงินเพิ่มขึ้น แต่ท่านก็ไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีเพื่อจะได้สิ่งของมากมาย
7 ตัวอย่างที่น่าประทับใจเกี่ยวกับความรักที่เสียสละของพระเยซูมีเขียนไว้ที่ยอห์น 19:25-27 ลองนึกภาพว่าตอนบ่ายในวันที่พระเยซูเสียชีวิต ท่านคงต้องคิดถึงหลายเรื่องแน่ ๆ ตอนที่ทนทุกข์อยู่บนเสาทรมาน ท่านเป็นห่วงสาวกของท่าน งานประกาศ และโดยเฉพาะการรักษาความซื่อสัตย์มั่นคงและการทำให้ชื่อของพระยะโฮวาได้รับการสรรเสริญ อนาคตของทุกคนขึ้นอยู่กับท่าน แต่ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านแสดงความห่วงใยมารีย์แม่ของท่านซึ่งดูเหมือนว่าเป็นแม่ม่ายในตอนนั้น พระเยซูขอยอห์นให้ดูแลมารีย์ และจากนั้นยอห์นก็รับมารีย์ไปอยู่ที่บ้านของเขา ท่านทำให้แน่ใจว่าจะมีคนดูแลแม่ของท่านทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านความเชื่อ พระเยซูแสดงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวจริง ๆ
“ท่าน . . . รู้สึกสงสาร”
8. คำภาษากรีกที่คัมภีร์ไบเบิลใช้เพื่ออธิบายความสงสารของพระเยซูมีความหมายยังไง?
8 พระเยซูมีความเมตตาสงสารเหมือนพ่อของท่าน คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าพระเยซูรู้สึกสงสารคนที่กำลังทุกข์และพยายามหาวิธีช่วยพวกเขา คัมภีร์ไบเบิลใช้คำภาษากรีกที่แปลว่า “รู้สึกสงสาร” เพื่ออธิบายความเมตตาของพระเยซู นักวิชาการคนหนึ่งบอกว่า “คำนี้อธิบายถึง . . . อารมณ์ที่ลึกซึ้งและมีพลังมาก นี่เป็นคำภาษากรีกที่ถ่ายทอดความรู้สึกเมตตาสงสารได้ดีที่สุด” ให้เรามาดูบางเหตุการณ์ที่ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ช่วยเหลือคนอื่น
9, 10. (ก) ทำไมพระเยซูกับอัครสาวกถึงออกไปหาที่เงียบ ๆ? (ข) พระเยซูรู้สึกยังไงเมื่อผู้คนมาหาจนท่านไม่มีเวลาส่วนตัว ทำไมท่านถึงรู้สึกอย่างนั้น?
9 ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้สอนคนอื่นเรื่องพระเจ้า เรื่องราวในมาระโก 6:30-34 ช่วยให้เห็นว่าทำไมพระเยซูถึงรู้สึกสงสารและช่วยเหลือคนอื่น ลองนึกภาพว่ามีอะไรเกิดขึ้นตอนที่พวกอัครสาวกเพิ่งกลับมาจากการประกาศและกำลังเล่าให้พระเยซูฟังอย่างตื่นเต้นว่าพวกเขาได้เจออะไรมาบ้าง ในตอนนั้นมีคนมากมายมาหาพระเยซูจนท่านกับพวกอัครสาวกไม่มีเวลาที่จะกินอาหาร พระเยซูเป็นคนช่างสังเกต ท่านเห็นว่าพวกอัครสาวกเหนื่อย ท่านเลยบอกพวกเขาว่า “ไปหาที่ส่วนตัวห่างไกลผู้คนกันเถอะ จะได้พักสักหน่อย” พวกเขาก็ลงเรือไปทางเหนือสุดของทะเลกาลิลีเพื่อไปหาที่เงียบสงบ แต่พอผู้คนเห็นพระเยซูกับอัครสาวกนั่งเรือไปและหลายคนได้ยินเรื่องนี้ พวกเขาก็เลยพากันวิ่งไปตามแนวชายฝั่งและไปถึงที่นั่นก่อนที่เรือจะไปถึงด้วยซ้ำ
10 พระเยซูรู้สึกหงุดหงิดไหมเมื่อเห็นว่าท่านกับพวกอัครสาวกจะไม่ได้พักผ่อน? ไม่เลย พอเห็นว่ามีหลายพันคนกำลังรออยู่ท่านก็รู้สึกสงสาร หนังสือมาระโกบอกว่า “ท่านเห็นผู้คนมากมายมารออยู่ก็รู้สึกสงสาร เพราะพวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีคนเลี้ยง พระเยซูจึงสอนพวกเขาหลายเรื่อง” พระเยซูเข้าใจว่าผู้คนต้องฟังคำสอนที่มาจากพระเจ้า พวกเขาเป็นเหมือนแกะที่ไม่มีคนเลี้ยงหรือมีคนคอยปกป้อง พระเยซูรู้ว่าพวกผู้นำศาสนาควรจะดูแลฝูงแกะอย่างดี แต่พวกเขากลับไม่สนใจประชาชนเลย (ยอห์น 7:47-49) พระเยซูสงสารผู้คนและเริ่มสอนพวกเขา “เรื่องรัฐบาลของพระเจ้า” (ลูกา 9:11) ท่านทำอย่างนั้นทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าพวกเขาจะตอบรับคำสอนของท่านไหม เห็นชัดว่าพระเยซูไม่ได้เริ่มรู้สึกสงสารผู้คนหลังจากที่เห็นว่าพวกเขาตอบรับสิ่งที่ท่านสอน แต่เพราะรู้สึกสงสารท่านเลยถูกกระตุ้นให้สอนพวกเขา
11, 12. (ก) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล คนโรคเรื้อนถูกมองยังไง แต่พระเยซูทำยังไงเมื่อผู้ชายคนหนึ่งที่ “เป็นโรคเรื้อนทั่วทั้งตัว” เข้ามาหาท่าน? (ข) ผู้ชายที่เป็นโรคเรื้อนอาจรู้สึกยังไงตอนที่พระเยซูแตะตัวเขา และประสบการณ์ของหมอคนหนึ่งช่วยให้เราเห็นเรื่องนี้ยังไง?
11 ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ช่วยคนที่มีความทุกข์ เมื่อหลายคนที่เจ็บป่วยเห็นว่าพระเยซูเป็นคนที่เมตตา พวกเขาก็เลยมาขอให้ท่านช่วย เราเห็นเรื่องนี้ได้ชัดเจนตอนที่พระเยซูอยู่กับผู้คนมากมาย และมีผู้ชายคนหนึ่งที่ “เป็นโรคเรื้อนทั่วทั้งตัว” เข้าไปหาท่าน (ลูกา 5:12) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล กฎหมายของพระยะโฮวาบอกให้แยกคนโรคเรื้อนออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นติดโรคจากเขา (กันดารวิถี 5:1-4) แต่ต่อมา พวกผู้นำศาสนาตั้งกฎที่เข้มงวดขึ้นมา และกฎเหล่านั้นไม่ได้สอนผู้คนให้แสดงความเมตตากับคนโรคเรื้อนa แต่พระเยซูทำยังไงกับคนโรคเรื้อน? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “มีคนโรคเรื้อนคนหนึ่งมาหาพระเยซู เขาถึงกับคุกเข่าลงอ้อนวอนท่านว่า ‘เพียงแค่ท่านอยากช่วย ท่านก็จะรักษาผมได้’ พระเยซูรู้สึกสงสารเขา จึงยื่นมือออกสัมผัสตัวเขาและพูดว่า ‘ผมอยากช่วย หายโรคเถอะ’ แล้วเขาก็หายจากโรคเรื้อนทันที” (มาระโก 1:40-42) พระเยซูรู้ดีว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนไม่ควรมาอยู่ใกล้คนอื่น แต่แทนที่จะไล่เขาไป พระเยซูกลับสงสารเขามากและลงมือทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด พระเยซูแตะตัวเขา
12 คุณพอจะนึกออกไหมว่าคนโรคเรื้อนจะรู้สึกยังไงตอนที่พระเยซูแตะตัวเขา? หมอคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อนชื่อพอล แบรนด์ เล่าว่าเขาเคยรักษาผู้ชายโรคเรื้อนคนหนึ่งในประเทศอินเดีย ตอนที่กำลังตรวจโรค เขาจับไหล่ของผู้ชายคนนั้นพร้อมกับอธิบายวิธีการรักษาผ่านล่าม แล้วจู่ ๆ ผู้ชายที่เป็นโรคเรื้อนก็เริ่มร้องไห้ เขาเลยถามว่า “ผมพูดอะไรผิดไปรึเปล่า?” ล่ามถามผู้ชายคนนั้น แล้วเขาตอบว่า “เปล่าครับหมอ เขาบอกว่า เขาร้องไห้เพราะคุณหมอเอามือไปจับไหล่เขา ไม่มีใครแตะตัวเขามานานหลายปีแล้ว” ดังนั้น เมื่อพระเยซูแตะตัวคนโรคเรื้อน เขาคงต้องรู้สึกดีมากแน่ ๆ แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะด้วยการแตะครั้งเดียว พระเยซูรักษาเขาให้หายจากโรคที่ร้ายแรงและทำให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัวและนมัสการพระยะโฮวาด้วยกันได้อีกครั้ง
13, 14. (ก) พระเยซูเจอเหตุการณ์อะไรตอนที่ใกล้จะถึงเมืองนาอิน และทำไมเรื่องนี้ถึงน่าเศร้ามากจริง ๆ? (ข) ความเมตตาสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ลงมือทำอะไรเพื่อแม่ม่ายชาวเมืองนาอิน?
13 ความสงสารกระตุ้นพระเยซูให้ช่วยคนที่กำลังเศร้า พระเยซูรู้สึกเสียใจมากที่เห็นคนอื่นกำลังเศร้าเพราะเสียคนที่รักไป ให้เรามาดูตัวอย่างหนึ่งที่อยู่ในลูกา 7:11-15 ประมาณ 1 ปีกับ 9 เดือนหลังจากพระเยซูเริ่มงานรับใช้ พระเยซูเดินทางไปเมืองนาอิน แคว้นกาลิลี พอใกล้จะถึงประตูเมือง ท่านเห็นคนกลุ่มหนึ่งหามศพออกมา เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าจริง ๆ เพราะศพที่หามออกมาเป็นศพลูกชายคนเดียวของแม่ม่าย ก่อนหน้านี้ เธอคงได้จัดงานศพของสามีมาแล้ว และตอนนี้เธอยังต้องมาเสียลูกชายไปอีกซึ่งอาจเป็นคนเดียวที่คอยเลี้ยงดูเธอ หลายคนที่ตามเธอมาคงร้องเพลงและเล่นดนตรีไว้อาลัยด้วย (เยเรมีย์ 9:17, 18; มัทธิว 9:23) แต่พระเยซูสังเกตแม่ม่ายที่กำลังเศร้าซึ่งเดินอยู่ใกล้ ๆ แคร่หามศพของลูกชาย
14 พระเยซู “สงสาร” แม่ม่ายคนนี้มาก ท่านพูดด้วยน้ำเสียงที่อบอุ่นว่า “อย่าร้องไห้เลย” แล้วท่านก็เดินเข้าไปใกล้ ๆ และแตะแคร่หามศพ คนที่หามแคร่และคนที่อยู่รอบ ๆ ก็หยุด พระเยซูพูดอย่างมีพลังว่า “หนุ่มน้อย ผมขอบอกให้คุณลุกขึ้น” หลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น? “คนตายนั้นก็ลุกขึ้นนั่งแล้วเริ่มพูด” เหมือนกับคนที่หลับสนิทแล้วถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมา แล้วพระเยซูก็ “มอบเขาให้แม่” เรื่องนี้น่าประทับใจจริง ๆ
15. (ก) ตัวอย่างของพระเยซูทำให้เห็นว่าความเมตตาสงสารเกี่ยวข้องกับการกระทำยังไง? (ข) เราจะเลียนแบบพระเยซูได้ยังไง?
15 เราเรียนอะไรได้จากเรื่องนี้? จากทั้งสองเหตุการณ์ เราสังเกตว่าความเมตตาสงสารเกี่ยวข้องกับการกระทำ เมื่อไหร่ที่พระเยซูเห็นคนอื่นมีความทุกข์ ท่านก็อดสงสารไม่ได้ และท่านก็ทำบางอย่างเพื่อช่วยพวกเขาเสมอ เราจะเลียนแบบท่านได้ยังไง? เราที่เป็นคริสเตียนมีหน้าที่ที่จะประกาศข่าวดีและช่วยคนให้เป็นสาวก เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราทำแบบนี้เพราะเรารักพระยะโฮวา แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเพราะเราสงสารผู้คนด้วย ถ้าเราสงสารผู้คนเหมือนพระเยซู เราก็จะพยายามเต็มที่ที่จะประกาศข่าวดีให้คนอื่นฟัง (มัทธิว 22:37-39) แล้วเราจะแสดงความเมตตาสงสารกับพี่น้องที่มีความทุกข์และเศร้าใจได้ยังไง? ถึงเราจะรักษาโรคหรือปลุกคนตายให้ฟื้นไม่ได้ แต่เราก็แสดงความเมตตาสงสารได้โดยหาโอกาสที่จะช่วยเหลือคนอื่นที่มีความจำเป็น หรือบอกเขาว่าเรารักและเป็นห่วงเขามาก—เอเฟซัส 4:32
“พ่อครับ ยกโทษให้พวกเขาด้วย”
16. พระเยซูแสดงให้เห็นยังไงว่าเต็มใจให้อภัยแม้แต่ตอนที่ท่านถูกตรึงบนเสาทรมาน?
16 อีกวิธีหนึ่งที่พระเยซูช่วยให้เห็นความรักของพระยะโฮวาก็คือท่าน “พร้อมจะให้อภัย” (สดุดี 86:5) ท่านทำอย่างนั้นแม้แต่ตอนที่ถูกตรึงบนเสา ถึงแม้ท่านกำลังจะตายอย่างน่าอับอายและต้องเจ็บปวดทรมานมากเพราะถูกตอกตะปูที่มือและเท้า ท่านยังพูดว่าอะไร? ท่านขอให้พระยะโฮวาลงโทษคนที่ทรมานท่านไหม? แทนที่จะทำอย่างนั้น พระเยซูพูดว่า “พ่อครับ ยกโทษให้พวกเขาด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่”—ลูกา 23:34b
17-19. พระเยซูแสดงให้เห็นยังไงว่าให้อภัยเปโตรที่เคยปฏิเสธท่านถึงสามครั้ง?
17 ตัวอย่างที่น่าประทับใจเกี่ยวกับการให้อภัยของพระเยซูเห็นได้จากสิ่งที่ท่านทำและพูดกับเปโตร เรารู้ว่าเปโตรรักพระเยซูมาก ในวันที่ 14 เดือนนิสานซึ่งเป็นคืนสุดท้ายที่พระเยซูมีชีวิตอยู่บนโลก เปโตรบอกท่านว่า “อาจารย์ครับ ผมพร้อมจะติดคุกและตายกับท่าน” แต่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระเยซูถึงสามครั้ง คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นตอนที่เปโตรปฏิเสธครั้งที่สาม ตอนนั้น “พระเยซูก็หันมาสบตาเปโตร” เมื่อเปโตรรู้ตัวว่าเขาได้ทำผิดร้ายแรง เขาเลย “ออกไปร้องไห้เสียใจอย่างหนัก” และในวันนั้นตอนที่พระเยซูเสียชีวิตเปโตรก็อาจสงสัยว่า ‘อาจารย์จะให้อภัยผมไหม?’—ลูกา 22:33, 61, 62
18 เปโตรไม่ต้องรอนานถึงจะรู้คำตอบ พระเยซูถูกปลุกให้ฟื้นขึ้นจากตายในเช้าวันที่ 16 เดือนนิสาน และดูเหมือนว่าในวันเดียวกันนั้นเองที่พระเยซูไปหาเปโตรและคุยกับเขาเป็นส่วนตัว (ลูกา 24:34; 1 โครินธ์ 15:4-8) ทำไมพระเยซูถึงอยากคุยกับเปโตรมากทั้ง ๆ ที่เขาเคยปฏิเสธท่านถึง 3 ครั้ง? พระเยซูอาจจะอยากให้เปโตรที่กลับใจแล้วมั่นใจว่าท่านยังรักเขาอยู่และมองว่าเขาเป็นคนที่มีค่า แต่พระเยซูทำมากกว่านั้นอีกเพื่อให้เปโตรมั่นใจว่าท่านให้อภัยเขาแล้ว
19 ไม่นานหลังจากนั้น พระเยซูไปเจอกับพวกสาวกที่ทะเลกาลิลี ตอนนั้น พระเยซูถามเปโตร 3 ครั้งว่าเขารักท่านไหม หลังจากที่พระเยซูถามครั้งที่สาม เปโตรก็ตอบท่านว่า “นายครับ ท่านรู้ทุกอย่างอยู่แล้ว ท่านก็รู้ว่าผมรักท่าน” ที่จริง พระเยซูรู้ว่าเปโตรคิดอะไรในใจและรู้ว่าเขารักท่านมาก แต่พระเยซูให้โอกาสเปโตรที่เคยปฏิเสธท่าน 3 ครั้งให้ยืนยันความรักของเขาที่มีต่อท่านถึง 3 ครั้ง นอกจากนั้น พระเยซูยังมอบหมายให้เปโตร ‘เลี้ยงและดูแลแกะตัวเล็ก ๆ’ ของท่าน (ยอห์น 21:15-17) ก่อนหน้านั้น เขาได้รับงานมอบหมายให้ประกาศ (ลูกา 5:10) แต่ตอนนี้ พระเยซูให้เขามีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญในการดูแลคนที่จะเข้ามาเป็นผู้ติดตามพระคริสต์ นั่นแสดงว่าพระเยซูไว้ใจเปโตรมากจริง ๆ หลังจากนั้นไม่นาน พระเยซูให้เขามีบทบาทสำคัญในงานของพวกสาวก (กิจการ 2:1-41) เปโตรคงรู้สึกได้กำลังใจมากที่รู้ว่าพระเยซูให้อภัยและไว้ใจเขาเหมือนเดิม
คุณ “รู้จักความรักของพระคริสต์” ไหม?
20, 21. เราจะมา “รู้จักความรักของพระคริสต์” อย่างเต็มที่ได้ยังไง?
20 คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงความรักของพระคริสต์ไว้อย่างยอดเยี่ยม แต่ความรักของพระเยซูคริสต์น่าจะกระตุ้นเราให้ทำอะไร? คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าเราต้อง “รู้จักความรักของพระคริสต์ที่เหนือกว่าความรู้” (เอเฟซัส 3:19) เราได้เห็นว่าเรื่องราวในหนังสือข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูสอนเราหลายอย่างเกี่ยวกับความรักของพระคริสต์ แต่เพื่อจะ “รู้จักความรักของพระคริสต์” จริง ๆ เราต้องทำมากกว่าการมีความรู้เกี่ยวกับท่าน
21 คำภาษากรีกที่แปลว่า “รู้จัก” หมายถึงรู้จัก “โดยทางประสบการณ์ของเราเอง” เมื่อเราแสดงความรักแบบพระเยซู คือการเสียสละตัวเองเพื่อประโยชน์ของคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่ตัว แสดงความเมตตาสงสารโดยให้ความช่วยเหลือที่จำเป็น และให้อภัยเขาจากใจ ถ้าเราทำแบบนี้ก็แสดงว่าเราเข้าใจความรู้สึกของพระเยซูจริง ๆ แล้วเราจะ “รู้จักความรักของพระคริสต์ที่เหนือกว่าความรู้” จากประสบการณ์ของเราเอง และอย่าลืมว่าถ้าเราพยายามเลียนแบบพระคริสต์ เราก็จะยิ่งใกล้ชิดกับพระยะโฮวาพระเจ้าที่เรารัก ซึ่งเป็นผู้ที่พระเยซูเลียนแบบได้อย่างสมบูรณ์แบบ
a พวกผู้นำศาสนาตั้งกฎว่าต้องอยู่ห่างจากคนโรคเรื้อนประมาณ 2 เมตร แต่ถ้ามีลมพัด คนโรคเรื้อนต้องออกไปอยู่ห่าง ๆ อย่างน้อยประมาณ 45 เมตร หนังสือมิดราช รับบาห์เล่าว่ามีผู้นำศาสนาคนหนึ่งไม่ยอมเข้าใกล้คนโรคเรื้อนเลย ส่วนอีกคนหนึ่งก็ไล่คนโรคเรื้อนโดยเอาหินขว้าง ดังนั้น คนที่เป็นโรคเรื้อนคงต้องรู้สึกเจ็บปวดมากเพราะมีแต่คนรังเกียจ
b สำเนาเก่าแก่บางฉบับ มีการตัดส่วนแรกของลูกา 23:34 ที่บอกว่า “พ่อครับ ยกโทษให้พวกเขาด้วย เพราะพวกเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” แต่ข้อความนี้มีอยู่ในสำเนาเก่าแก่ที่น่าเชื่อถือหลายฉบับ และยังมีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่และฉบับแปลอื่น ๆ ด้วย ดูเหมือนว่าพระเยซูพูดถึงทหารโรมันที่ตรึงท่าน พวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่และไม่รู้ว่าพระเยซูเป็นใครจริง ๆ พระเยซูอาจหมายถึงคนยิวที่ต้องการฆ่าท่านด้วย แต่ต่อมาก็เข้ามาเป็นสาวกของท่าน (กิจการ 2:36-38) ที่จริงพวกผู้นำศาสนาที่กระตุ้นทหารโรมันให้ฆ่าพระเยซูมีความผิดมากกว่าเพราะเขาอยากให้พระเยซูตายทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระเยซูเป็นลูกของพระเจ้า หลายคนในพวกเขาไม่สมควรได้รับการให้อภัย—ยอห์น 11:45-53