ค่าไถ่—คำสอนที่สูญหายไปของคริสต์ศาสนจักร
ค่าไถ่—ความเชื่อที่ว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเอามนุษยชาติที่ผิดบาปนั้น เป็นรากฐานสำหรับศาสนาคริสเตียนแท้. กระนั้น คำสอนนั้นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และการเยาะเย้ยจากนักเทววิทยาแห่งคริสต์ศาสนจักรมาเป็นเวลานาน.
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? พระเยซูเองมิได้ตรัสไว้ที่มาระโก 10:45 หรอกหรือว่า “บุตรมนุษย์มิได้มาเพื่อจะให้เขาปรนนิบัติ แต่ท่านมาเพื่อจะปรนนิบัติเขา และประทานชีวิตของท่านให้เป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก.”
บางคนอ้างว่าพระเยซูไม่เคยตรัสถ้อยคำเหล่านั้น บอกว่าถ้อยคำเหล่านี้ถูกเสกสรรปั้นแต่งขึ้นภายหลังความตายของพระองค์ภายใต้อิทธิพลของอัครสาวกเปาโล. คนอื่น ๆ โต้แย้งว่า “ค่าไถ่” ในที่นี้เป็นภาพพจน์ หรือบอกว่าคำสอนนั้นมาจากเทพนิยายกรีก! ดังนั้น ค่าไถ่จึงแทบอันตธานไปจากคำสอนของคริสต์จักรทีเดียว.
แต่คุณอาจสงสัยทีเดียวว่า คริสเตียนรุ่นแรกเข้าใจเรื่องความตายของพระเยซูอย่างไร. เปาโลบอกเราที่ 2 โกรินโธ 5:14, 15 ว่า “ความรักของพระคริสต์ได้บังคับเราอยู่ เพราะเราได้คิดเห็นอย่างนี้ คือว่า มีผู้หนึ่งตายเพื่อคนทั้งปวง . . . เพื่อคนเหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่จะมิได้เป็นอยู่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองต่อไป แต่จะเป็นอยู่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์นั้นผู้ทรงวายพระชนม์และทรงเป็นขึ้นมาใหม่เพราะเห็นแก่เขา.” คำสอนนี้เรียบง่ายอย่างน่าจับใจเพียงไร—พ้นจากการดัดแปลงแบบซับซ้อนอย่างที่คำสอนนั้นได้ประสบภายหลังโดยน้ำมือของนักเทววิทยาในคริสต์จักร.
เป็นไปได้ไหมที่เปาโลปั้นแต่งคำสอนนี้ขึ้นมา? ไม่ เพราะท่านอธิบายไว้ที่ 1 โกรินโธ 15:3 ว่า “ด้วยว่าข้อความอันสำคัญที่สุดซึ่งข้าพเจ้ารับไว้แล้วนั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย คือว่าพระคริสต์ได้วายพระชนม์เพราะความผิดของเราทั้งหลายตามคัมภีร์ที่เขียนไว้แล้วนั้น.” ปรากฏชัดว่า นานก่อนเปาโลเขียนจดหมายของท่าน คริสเตียนได้เข้าใจอยู่แล้วว่า ความตายของพระเยซูอันเป็นเครื่องบูชานั้นเป็นราคาอันแท้จริงที่ได้ชำระไปเพื่อไถ่มนุษยชาติที่ผิดบาป เป็นค่าไถ่. นอกจากนี้ ดังที่เปาโลชี้แจงนั้น พวกเขาเข้าใจว่าความตายของพระคริสต์ก็เพื่อให้สมจริงตาม “คัมภีร์” กล่าวคือคำพยากรณ์เช่นบทเพลงสรรเสริญ 22 และยะซายา 53 ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู หรือ “พระคริสต์ธรรมเดิม.
คำถามที่ไม่ได้รับคำตอบ
หากคุณสมัครใจที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง คุณก็จะพบว่าคำสอนของพวกออกหากได้แทรกซึมเข้าไปในศาสนาคริสเตียนย้อนหลังไปเกือบถึงสมัยของพวกอัครสาวก. (กิจการ 20:29, 30; 2 ติโมเธียว 4:3, 4) กระนั้น ความเชื่อในเรื่องเครื่องบูชาของพระคริสต์ยังคงมีอยู่ ดังที่บทประพันธ์ของหัวหน้าคริสต์จักรรุ่นแรกแสดงให้เห็นนั้น. อย่างไรก็ดี เมื่อนักเทววิทยาบางคนในภายหลังได้ค้นคว้าในคำสอนเรื่องค่าไถ่ พวกเขาก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากบางอย่าง เช่น มีการชำระค่าไถ่นั้นให้แก่ใคร? และทำไมการชำระดังกล่าวจำเป็น?
ในศตวรรษที่สี่สากลศักราช เกรกอรีแห่งนิสซาและคนอื่น ๆ ได้เสนอความเห็นที่ว่าได้มีการชำระค่าไถ่ให้กับซาตานพญามาร! พวกเขาโต้แย้งว่าซาตานได้ยึดตัวมนุษย์ไว้ และมีการชำระค่าไถ่ให้เขาเพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติ. อย่างไรก็ดี คนร่วมสมัยชื่อเกรกอรีแห่งนาเซียนซัสได้แลเห็นช่องโหว่ในทฤษฎีนี้คือ นั่นหมายความว่าพระเจ้าเป็นหนี้บุญคุณพญามาร—เหลวไหลเสียจริง ๆ! ถึงกระนั้น ความคิดในเรื่องค่าไถ่ชำระให้พญามารนั้นเป็นที่ยอมรับและยังคงมีอยู่เป็นเวลาหลายศตวรรษ.
อาจชำระค่าไถ่ให้พระเจ้าเองได้ไหม? เกรกอรีแห่งนาเซียนซัสรู้สึกว่าเขาพบปัญหากับความคิดเช่นนี้ด้วย. เนื่องจาก ‘เราไม่ได้เป็นทาสของ [พระเจ้า]’ ทำไมจำเป็นต้องชำระค่าไถ่ให้พระองค์? นอกจากนี้ ‘พระบิดาจะปีติยินดีในความตายแห่งพระบุตรของพระองค์’ โดยการเรียกร้องเอาค่าไถ่ได้หรือ? ปัญหาที่ดูเหมือนยุ่งยากที่ก่อความสงสัยในเรื่องค่าไถ่นั่นเอง.
ความตายของค่าไถ่
การสอบสวนของคุณในเรื่องนี้อาจพาคุณไปถึงต้นศตวรรษที่ 12. แอนเซลม์ พระราชาคณะแห่งแคนเทอร์เบอรี พยายามตอบปัญหาเหล่านี้ในหนังสือของเขาชื่อ เหตุผลที่พระเจ้ากลายเป็นมนุษย์. หนังสือนั้นสอนว่าความตายของพระคริสต์ใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุถึงความยุติธรรมของพระเจ้า แต่ไม่ใช่เป็นค่าไถ่. แอนเซลม์ถือว่าการให้อภัยบาปโดยค่าไถ่ปราศจากการทำให้สมกับความยุติธรรมเท่ากับเป็นการปล่อยบาปไว้โดยไม่ได้แก้ไข. แอนเซลม์กล่าวว่า “แต่พระเจ้าจะปล่อยสิ่งใด ๆ ไว้โดยไม่แก้ไขทีเดียวในราชอาณาจักรของพระองค์ย่อมไม่ได้.” ถ้าเช่นนั้น พระเจ้าทรงแก้ไขเรื่องต่าง ๆ โดยวิธีใด?
ในการโต้แย้งว่า ‘บาปหลู่เกียรติพระเจ้า’ แอนเซลม์บอกว่าคงจะไม่พอ “ที่เพียงแต่นำสิ่งที่ถูกเอาไป” โดยบาปของอาดามนั้น “กลับคืนมา.” เนื่องจากพระเจ้าถูกสบประมาท ค่าไถ่—แม้กระทั่งเครื่องบูชาที่เป็นมนุษย์สมบูรณ์—ก็คงจะไม่พอ. นักเทศน์คนนั้นได้อ้างเหตุผลว่า “เมื่อคำนึงถึงการสบประมาทที่เกิดขึ้นนั้น จำต้องคืนให้มากกว่า สิ่งที่ถูกเอาไป.” แอนเซลม์โต้แย้งว่าทั้งนี้เรียกร้องเอาความตายของผู้ซึ่งเป็น “ทั้งพระเจ้าและมนุษย์”!
ไม่ว่าปฏิกิริยาของคุณอาจเป็นเช่นไรต่อคำสอนของแอนเซลม์ก็ตาม คำสอนนั้นได้โน้มน้าวใจคนร่วมสมัยของเขา และยังคงมีอิทธิพลอยู่ในยุคของเรา. เอาละ แอนเซลม์ทั้งเสริมน้ำหนักให้กับคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ และในเวลาเดียวกันทำให้ค่าไถ่มลายหายไปอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยที่สุดก็ในคริสต์ศาสนจักร! “การชดเชย” กลายเป็นสุภาษิตของพวกนักเทววิทยา ถ้อยคำ “ค่าไถ่” ค่อย ๆ เลือนรางไปจนคลุมเครือ. แต่กระนั้น ทฤษฎีของแอนเซลม์แทบทั้งหมดอาศัยหลักตรรกวิทยาที่ผิวเผิน ไม่ได้อาศัยพระคัมภีร์เป็นหลัก. และขณะที่เวลาผ่านไป ผู้เชี่ยวชาญดังเช่นโธมัส อะคิวนัสเริ่มตัดทอนทฤษฎีของแอนเซลม์ในเรื่อง “การชดเชย” ออกไปด้วยหลักตรรกวิทยาอันฉลาดหลักแหลมของพวกเขาเอง. การเดาสุ่มกลายเป็นเรื่องแพร่หลาย. ทฤษฎีว่าด้วยการไถ่เพิ่มทวีขึ้น และการโต้เถียงดำเนินเลยไปจากพระคัมภีร์ และถลำลงสู่การหาเหตุผลแบบมนุษย์ ปรัชญาและศาสตร์ลึกลับยิ่งขึ้น.
การปฏิรูปและค่าไถ่
แต่ขอให้เราเคลื่อนเข้ามาใกล้สมัยของเราสักหน่อย. เมื่อมรสุมแห่งการปฏิรูปของโปรเตสแตนต์ระเบิดขึ้นในศตวรรษที่ 16 กลุ่มพวกหัวรุนแรงที่เรียกว่าโซซิเนียนส์ได้กำเนิดมา. พวกเขาปฏิเสธที่ว่าความตายของพระเยซู “เป็นการซื้อความรอดให้เรา” ในทางใด ๆ โดยเรียกความเชื่อถือดังกล่าวว่า “ผิดพลาด และเป็นอันตรายทีเดียว . . . เข้ากันไม่ได้กับทั้งพระคัมภีร์และเหตุผล.” (เดอะ ราโคเวียน แค็ททิคิซเม) เนื่องจากพระเจ้าทรงให้อภัยอย่างไม่อั้น การชดเชยตามความยุติธรรมจึงไม่จำเป็น. พวกเขาอ้างว่า ความตายของพระคริสต์ไถ่ถอนในประการที่ว่า นั่นกระตุ้นมนุษย์ให้เลียนแบบตัวอย่างอันสมบูรณ์พร้อมของพระองค์.
เพราะถูกเล่นงานจากคนเหล่านี้และคำสอนออกหากอื่น ๆ คริสต์จักรคาทอลิกได้เปิดฉากโต้กลับ โดยเปิดประชุมสภาแห่งเทร็นท์ (ตั้งแต่ปีสากลศักราช 1545 ถึง 1563). แต่ขณะที่ยึดจุดยืนในประเด็นเกี่ยวกับคำสอนหลายเรื่อง สภานั้นก็ยังปรากฏว่าคลุมเครือ ไม่ชัดแจ้งในเรื่องเกี่ยวกับการไถ่ถอน. สภานั้นกล่าวถึงคุณความดีของพระเยซูคริสต์ และใช้ถ้อยคำ “การชดเชย” แต่เลี่ยงถ้อยคำ “ค่าไถ่” อย่างมีความตะขิดตะขวงใจ. เพราะฉะนั้น คริสต์จักรไปไม่ถึงไหนในการยอมตัวอยู่กับจุดยืนตามหลักพระคัมภีร์ใด ๆ. โอกาสในการเดาสุ่มยังคงเปิดกว้างอยู่.
เหตุที่พวกหัวหน้าศาสนาได้ล้มเหลว
ตั้งแต่มีสภาประชุมแห่งเทร็นท์ นักเทววิทยา—ทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์เช่นกัน—ได้สาธยายทฤษฎีว่าด้วยการไถ่ถอนไว้นับไม่ถ้วน. (โปรดดูกรอบสี่เหลี่ยมในหน้า 7.) กระนั้น ก็มองไม่เห็นความสอดคล้องกันในเรื่องความหมายแห่งความตายของพระคริสต์. นักเทววิทยาเห็นพ้องต้องกันเพียงแต่ในการที่พวกเขารังเกียจถ้อยคำตามหลักพระคัมภีร์ที่ว่า “ค่าไถ่” เขาสมัครใจเลือกที่จะมองข้ามคำนั้น ลดคำนั้นต่ำลง หรือชี้แจงคำนั้นตามที่ว่าไว้แล้ว. ความหมายเกี่ยวกับความตายของพระคริสต์ได้รับการชี้แจงด้วยภาษาทางวิชาการบิดเบือนอย่างซับซ้อนของหลักตรรกวิทยาที่ผิดพลาด และถ้อยคำที่ฟังดูเลิศลอย อย่างเช่น “อิทธิพลทางด้านศีลธรรม” และ “การชดเชยทางด้านร่างกายที่เป็นแบบฉบับ.” แทนที่จะสร้างความเชื่อในเรื่องความตายของพระคริสต์ นักเทศน์แห่งคริสต์ศาสนจักรได้ทำให้หลักทรมานของพระองค์เป็นเครื่องกีดขวางที่ทำให้สับสน.
อะไรคือเหตุผลหลักสำหรับความล้มเหลวสุดจะหยั่งได้เช่นนี้? นักเทววิทยาคาทอลิกชื่อ โบนิเฟซ เอ. วิลเล็มส์ ถือว่านั้นเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่านักเทววิทยา “ได้รับการศึกษาในสภาพแยกโดดเดี่ยวที่ได้รับการป้องกันไว้อย่างระมัดระวัง”—ถูกโยกย้ายไปไกลเกินไปจากความต้องการอันแท้จริงของผู้คน.a คุณจะไม่เห็นพ้องด้วยกับการประเมินค่าเช่นนั้นหรอกหรือ? อย่างไรก็ดี ยิระมะยา 8:9 ชี้ถึงมูลเหตุอันแท้จริงของปัญหานั้นต่อไปว่า “นี่แน่ะ! เขาทั้งหลายได้ทิ้งคำโอวาทของพระยะโฮวา และมีความปัญญาอย่างใดในพวกเขา?”
เป็นที่ยอมรับว่า คำสอนในเรื่องค่าไถ่อาจก่อให้เกิดคำถามที่ยากบางประการขึ้น. (2 เปโตร 3:16) แต่แทนที่จะค้นดูพระคัมภีร์เพื่อได้คำตอบ นักเทววิทยาใช้สติปัญญาและหลักตรรกวิทยาของมนุษย์. (1 โกรินโธ 1:19, 20; 2:13) พวกเขาถือสิทธิ์ปฏิเสธส่วนใดก็ตามในพระคัมภีร์ที่ไม่เข้ากับความเพ้อฝัน—หรือทฤษฎีของพวกเขา. (2 ติโมเธียว 3:16) พวกเขาได้ส่งเสริมคำสอนที่ผิดหลักพระคัมภีร์ เช่นคำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ. (โยฮัน 14:28) และความล้มเหลวอันใหญ่โตที่สุดของพวกเขาก็คือการที่เขาเอาความรอดของมนุษย์เป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก มองข้ามประเด็นที่สำคัญกว่าเกี่ยวกับพระนามและราชอาณาจักรของพระเจ้า.—มัดธาย 6:9, 10.
ผู้สนับสนุนเรื่องค่าไถ่
บัดนี้ โปรดเปลี่ยนการตรวจสอบของคุณไปยังปลายศษวรรษที่ 19. บุรุษผู้ยำเกรงพระเจ้าคนหนึ่งมีนามว่าชาร์ลส์ เทซ รัสเซลล์ ได้แยกตัวจากเทววิทยาที่เป็นกระแสหลักแล้วเริ่มตีพิมพ์วารสารฉบับนี้ทีเดียว—หอสังเกตการณ์. รัสเซลล์หวนรำลึกว่า “ตั้งแต่ต้นมา วารสารนี้เป็นเครื่องสนับสนุนโดยเฉพาะเรื่องค่าไถ่.”
วารสารหอสังเกตการณ์ ยังคงส่งเสริมจุดมุ่งหมายดังกล่าวจนกระทั่งทุกวันนี้. เป็นเวลามากกว่าหนึ่งร้อยปีทีเดียว วารสารนี้ได้เสนอเหตุผลที่ถูกต้องตามหลักพระคัมภีร์เพื่อเชื่อในเรื่องค่าไถ่ และวารสารนี้ได้ให้คำตอบตามหลักพระคัมภีร์ที่มีเหตุผลต่อการท้าทายของนักวิจารณ์. เพราะฉะนั้น เราขอเชิญคุณให้พิจารณาต่อไปในสิ่งที่พระคัมภีร์กล่าวเกี่ยวกับความตายของพระเยซู และความหมายของเรื่องนั้น.
[เชิงอรรถ]
a อย่างไรก็ดี โปรดสังเกตทฤษฎีของวิลเล็มส์ในกรอบหน้า 7.
[กรอบหน้า 7]
ตัวอย่างทฤษฎีว่าด้วยการไถ่ถอน
◻ ทฤษฎีเจ้าอธิการ หรือการปกครอง: นักเทววิทยาชาวดัชท์ชื่อ ฮูโก โกรทิอุส ได้พัฒนาทฤษฎีนี้ขึ้นในศตวรรษที่ 17 เพื่อหักล้างทฤษฎีของพวกโซซิเนียนส์. โกรทิอุสถือว่าความตายของพระคริสต์ “เป็นการดำเนินการทางกฎหมายแบบหนึ่ง พระเจ้าทรงทำหน้าที่เป็นอธิการ หรือผู้ปกครอง และมนุษย์รับบทบาทเป็นผู้ร้าย.”—เอ็นไซโคลพีเดีย อ็อฟ รีลิจัน แอนด์ เอธิคส์ ของแฮสทิง.
◻ ทฤษฎีการไถ่ถอนอันสำคัญยิ่ง: มีการเสนอทฤษฎีนี้ในปี 1946 โดยนักเทววิทยาโปรเตสแตนต์ชื่อ คลาเรนซ์ เอ็ช. เฮวิตต์. เขาถือว่าภารกิจของพระคริสต์ มิใช่เป็นการชดใช้โทษทัณฑ์ตามกฎหมายบางอย่าง แต่เป็น ‘การปลดปล่อยเราจากการครอบงำด้วยกฎแห่งความบาปและความตาย และนำมาซึ่งการกลับใจและความเสียใจต่อพระเจ้า โดยวิธีนี้จึงนำเราเข้าสู่ฐานะอันเป็นที่ให้อภัยได้จำเพาะพระเจ้า.’
◻ การไถ่โดยมิตรภาพแบบคริสเตียน: นักเทววิทยาโรมันคาทอลิก ชื่อโบนิเฟซ เอ. วิลเล็มส์ (1970) ทำให้ “การไถ่ถอน” เท่าเทียมกับ “การหันหนีจากอัตนิยมของเรา แล้วมอบหัวใจของเราเปิดเผยต่อกันและกัน.” เขาเสริมว่า “ความคิดเห็นแบบคริสเตียนในเรื่องการแทนที่หรือการรับทุกข์ทรมานแทนนั้นคือการที่คนเราทราบว่าตัวเองเชื่อมโยงกันในความสามัคคีกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่บอบช้ำด้วยบาป. . . . ดังนั้นแล้ว คริสต์จักรจึงเป็นมิตรภาพของคนเหล่านั้นซึ่งพร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ในการรับใช้พิเศษเพราะเห็นแก่คนอื่น.”
◻ ทฤษฎีแพะรับบาป: นักเทววิทยาคาทอลิกชื่อ เรย์มันด์ ชวาเกอร์ ได้เสนอทฤษฎีนี้ในปี 1978. เขาปฏิเสธความคิดที่ว่าพระเจ้าจะ “เรียกร้องเอาตาแทนตา.” เขาถือว่าเครื่องบูชาของพระคริสต์เป็นการระบาย (การชำระให้บริสุทธิ์) ซึ่งเปิดโอกาสแก่สังคมมนุษย์ให้ระบาย—และเนื่องจากเหตุนี้จึงกำจัด—แนวโน้มอันรุนแรงที่มีมาแต่กำเนิดนั้นให้หมดไป.
◻ การไถ่ทางสังคม—การเมือง: นักเทววิทยาแบพติสท์ ธอร์วอลด์ ลอเรนเซน เขียนไว้ในปี 1985 ว่า “พระเจ้ามิได้เพียงแต่แสวงหาการอภัยทางด้านศาสนาสำหรับคนบาปเท่านั้น แต่เป็นการปลดปล่อยทางด้านการเมืองสำหรับคนยากจนและคนที่ถูกกดขี่ด้วย. . . . เพราะฉะนั้น ความตายของพระเยซู เปิดเผยให้เห็นชัดถึงพระเจ้าผู้ทรงห่วงใยเกี่ยวกับการบำบัดรักษาในทุกขอบเขตแห่งชีวิตของมนุษย์.”