ลำดับความสำคัญของการนมัสการพระยะโฮวาในชีวิตของเรา
“ข้าพเจ้าจะถวายพระเกียรติพระองค์ตลอดวัน และข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระนามของพระองค์ไม่มีเวลากำหนด แม้กระทั่งตลอดกาล.”—บทเพลงสรรเสริญ 145:2, ล.ม.
1. ในเรื่องการนมัสการ พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไร?
“ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าที่เรียกร้องความเลื่อมใสโดยเฉพาะ.” (เอ็กโซโด 20:5, ล.ม.) โมเซได้ยินถ้อยแถลงนี้จากพระยะโฮวา และต่อมาท่านได้กล่าวซ้ำอีกทีหนึ่งต่อชาติยิศราเอล. (พระบัญญัติ 5:9) ในความคิดของโมเซแล้วไม่มีข้อสงสัยใด ๆ เลยว่า พระเจ้ายะโฮวาทรงคาดหมายให้ผู้รับใช้ของพระองค์นมัสการพระองค์แต่ผู้เดียว.
2, 3. (ก) อะไรทำให้ชาวยิศราเอลประทับใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้ภูเขาซีนายนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ธรรมดา? (ข) เราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับการนมัสการของชาวยิศราเอล และของบรรดาผู้รับใช้พระเจ้าสมัยปัจจุบัน?
2 เมื่อตั้งค่ายอยู่ใกล้ภูเขาซีนาย ชาวยิศราเอลและ “ชนชาติอื่นเป็นอันมาก” ที่ออกมาจากอียิปต์พร้อมกับพวกเขาได้เห็นเหตุการณ์แปลกประหลาด. (เอ็กโซโด 12:38) เหตุการณ์นั้นไม่เหมือนการนมัสการเทพเจ้าประจำชาติอียิปต์ ซึ่งขณะนั้นต้องอัปยศอดสูเนื่องจากภัยพิบัติสิบประการ. ในคราวที่พระยะโฮวาโปรดสำแดงพระองค์ต่อหน้าโมเซนั้นมีปรากฏการณ์น่าสะพรึงกลัว เป็นต้นว่า ฟ้าแลบ, ฟ้าร้อง, และเสียงแตรดังสนั่นครั่นครืนจนทั้งค่ายสั่นสะเทือน. ต่อจากนั้นมีไฟและควันพวยพุ่งและภูเขาทั้งลูกสะเทื้อนหวั่นไหว. (เอ็กโซโด 19:16-20; เฮ็บราย 12:18-21) ถ้าชาวยิศราเอลคนใดต้องการหลักฐานมากกว่านั้นว่าเหตุการณ์นั้นผิดปกติ สิ่งนั้นจะปรากฏให้เห็นในไม่ช้า. ไม่นานหลังจากนั้นโมเซลงมาจากภูเขาหลังจากได้รับพระบัญญัติชุดที่สองของพระเจ้าแล้ว. ตามที่กล่าวในประวัติบันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจ “หน้าของท่านมีแสงรัศมี; และเขาก็กลัวไม่กล้าเข้ามาใกล้ท่าน.” จริง ๆ แล้ว นั่นเป็นประสบการณ์เหนือความสามารถของมนุษย์ซึ่งไม่อาจลืมได้!—เอ็กโซโด 34:30.
3 สำหรับชนชาติที่พระเจ้าใช้เป็นตัวอย่างนั้น ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของการนมัสการพระยะโฮวา. พระองค์ทรงเป็นผู้ปลดปล่อยเขา. เขาเป็นหนี้ชีวิตพระองค์. นอกจากนั้น พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานกฎหมายแก่เขาด้วย. แต่พวกเขาถือเอาการนมัสการพระยะโฮวาสำคัญเป็นอันดับแรกไหม? และผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยนี้ล่ะเป็นอย่างไร? การนมัสการพระยะโฮวาอยู่ในอันดับไหนในชีวิตของพวกเขา?—โรม 15:4.
การนมัสการพระยะโฮวาสำหรับชนชาติยิศราเอล
4. การวางผังค่ายที่พักของยิศราเอลระหว่างเดินทางผ่านถิ่นทุรกันดารนั้นเป็นอย่างไร และมีอะไรอยู่ตรงกลางค่าย?
4 หากคุณมองชาวยิศราเอลที่ตั้งค่ายพักในถิ่นทุรกันดารจากที่สูง คุณคงได้เห็นอะไร? เต็นท์ที่พักตั้งเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีคนถึงสามล้านหรือมากกว่านั้นอาศัยอยู่ จัดแบ่งเป็นหมู่ตามการแบ่งหมู่ละสามตระกูล อยู่ทางทิศเหนือ, ทิศใต้, ทิศตะวันออก, และทิศตะวันตก. ครั้นมองใกล้เข้าไปอีก คุณก็คงจะได้สังเกตเห็นอีกกลุ่มหนึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ ส่วนกลางของค่ายพัก. กลุ่มนี้ประกอบด้วยเต็นท์ที่พักสี่กระจุกเล็ก ๆ เป็นที่พักของครอบครัวต่าง ๆ ของตระกูลเลวี. ตรงใจกลางค่าย บริเวณที่ใช้ผ้ากั้นแยกไว้โดยรอบนั้นเป็นโครงสร้างโดดเด่นเป็นพิเศษ. ที่นี่คือ “พลับพลาที่ชุมนุม” หรือพลับพลาคำสัญญาซึ่งชาวยิศราเอลผู้ “มีสติปัญญา” ได้สร้างขึ้นตามแบบแปลนของพระยะโฮวา.—อาฤธโม 1:52, 53; 2:3, 10, 17, 18, 25; เอ็กโซโด 35:10.
5. พลับพลาชุมนุมของชาวยิศราเอลมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร?
5 ระหว่างการเดินทางในถิ่นทุรกันดาร แต่ละแห่งที่ตั้งค่ายซึ่งมีประมาณสี่สิบแห่ง พวกยิศราเอลได้ตั้งพลับพลา และพลับพลานั้นกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการตั้งค่าย. (อาฤธโมบท 33) คัมภีร์ไบเบิลพรรณนาไว้อย่างเหมาะสมว่าพระยะโฮวาทรงสถิตท่ามกลางไพร่พลของพระองค์ ณ ใจกลางค่ายของเขา. พระรัศมีของพระองค์ปกคลุมทั่วพลับพลานั้น. (เอ็กโซโด 29:43-46; 40:34; อาฤธโม 5:3; 11:20; 16:3) หนังสือเอาเวอร์ ลิฟวิง ไบเบิล อรรถาธิบายว่า “สถานสำหรับนมัสการที่เคลื่อนย้ายได้นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นศูนย์ทางศาสนาสำหรับตระกูลต่าง ๆ. โดยวิธีนี้ จึงทำให้พวกเขาได้รวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างการรอนแรมหลายปีในทะเลทราย และทำให้การปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงนั้นเป็นไปได้.” ยิ่งกว่านั้น พลับพลาชุมนุมยังเป็นสิ่งเตือนใจอยู่เสมอว่า การนมัสการพระผู้สร้างของตนเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในชีวิตของชาวยิศราเอล.
6, 7. สิ่งปลูกสร้างอะไรสำหรับการนมัสการได้เข้ามาแทนที่พลับพลาชุมนุม และสิ่งนี้ให้ประโยชน์อะไรแก่ชาติยิศราเอล?
6 หลังจากชาวยิศราเอลได้มาถึงแผ่นดินแห่งคำสัญญา พลับพลาชุมนุมก็ยังคงเป็นศูนย์รวมการนมัสการของพวกยิศราเอลอยู่. (ยะโฮซูอะ 18:1; 1 ซามูเอล 1:3) ต่อมา กษัตริย์ดาวิดได้ทรงดำริจะสร้างเป็นอาคารถาวร. สิ่งนี้ก็ได้แก่พระวิหาร ซึ่งซะโลโมราชโอรสได้ก่อสร้างขึ้นภายหลัง. (2 ซามูเอล 7:1-10) ณ วันประกอบพิธีเปิดพระวิหาร ก็ปรากฏมีเมฆปกคลุมเต็มพระวิหาร แสดงว่าพระยะโฮวาทรงพอพระทัยกับอาคารนั้น. ซะโลโมทูลอธิษฐานดังนี้: “ข้าพเจ้าได้สร้างโบสถ์วิหารถวายพระองค์เป็นที่ประทับ, หวังจะให้เป็นที่พระองค์สถิตอยู่เป็นนิตย์.” (1 กษัตริย์ 8:12, 13; 2 โครนิกา 6:2) พระวิหารหลังที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ จึงกลายเป็นศูนย์รวมการนมัสการของชาตินั้น.
7 ปีละสามครั้ง ชายยิศราเอลทุกคนได้ขึ้นไปยังพระวิหารแห่งนี้ในกรุงยะรูซาเลม เพื่อร่วมงานเฉลิมฉลองที่พระวิหารด้วยความปีติยินดี เป็นการสำนึกถึงพระพรของพระเจ้า. นับว่าเหมาะสมทีเดียวที่การชุมนุมเหล่านี้ถูกเรียกว่า “เทศกาลเลี้ยงตามกำหนดแด่พระเจ้า” มุ่งความสนใจอยู่ที่การนมัสการพระยะโฮวา. (เลวีติโก 23:2, 4, ฉบับแปลใหม่) ผู้หญิงที่เลื่อมใสได้ไปร่วมพร้อมกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของครอบครัว.—1 ซามูเอล 1:3-7; ลูกา 2:41-44.
8. บทเพลงสรรเสริญ 84:1-12 ยืนยันอย่างไรถึงความสำคัญของการนมัสการพระยะโฮวา?
8 บรรดาผู้แต่งเพลงสรรเสริญโดยได้รับการดลใจต่างก็ยอมรับอย่างน่าจับใจว่า การนมัสการมีความสำคัญเพียงไรในชีวิตของตน. บุตรชายของโคราได้ร้องเพลงว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าแห่งพลโยธา, สถานที่พระองค์ทรงสถิตนั้นเป็นที่น่าชมจริง!” พวกเขาคงไม่พูดชมแต่อาคารอันโอ่อ่าเท่านั้น. แต่เขาเปล่งเสียงร้องสรรเสริญพระเจ้ายะโฮวา โดยประกาศว่า “จิตใจและเนื้อหนังของข้าพเจ้าร้องอาลัยถึงพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.” งานรับใช้ของพวกเลวีทำให้พวกเขาได้รับความสุขมากมาย. เขาร้องสรรเสริญดังนี้ “คนทั้งหลายที่อยู่ในพระวิหารของพระองค์ก็เป็นสุข: เขาถวายความสรรเสริญพระองค์เสมอ.” ที่จริง ชาวยิศราเอลทั้งปวงสามารถร้องเพลงได้ดังนี้: “ความสุขเป็นของบุคคลที่กำลังของเขาอยู่ในพระองค์ คือคนที่ในใจของเขาเป็นทางหลวง . . . เขาไปด้วยมีพลังมาเพิ่มขึ้น ๆ เขาจะเข้าเฝ้าพระเจ้าในศิโยน.” (บทเพลงสรรเสริญ 84:5-7, ฉบับแปลใหม่) แม้ว่าการเดินทางของชนยิศราเอลไปยะรูซาเลมอาจจะไกลและเหน็ดเหนื่อย แต่เขามีกำลังเพิ่มขึ้นเมื่อได้มาถึงราชธานี. หัวใจของเขาเริงร่าขณะที่เขาร้องเพลงยกย่องสิทธิพิเศษที่เขาได้มานมัสการพระยะโฮวาดังนี้: “เพราะว่าวันหนึ่งในบริเวณพระวิหารก็ดีกว่าพันวัน. ข้าพเจ้าเป็นคนเฝ้าประตูพระวิหารพระเจ้าของข้าพเจ้า ยังดีกว่าอยู่ในกะโจมแห่งความชั่ว. . . . ข้าแต่พระยะโฮวาแห่งพลโยธา, คนที่วางใจในพระองค์ก็เป็นผาสุก.” ถ้อยคำดังกล่าวเผยให้เห็นว่า ชาวยิศราเอลเหล่านั้นได้ถือเอาการนมัสการพระยะโฮวาเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก.—บทเพลงสรรเสริญ 84:1-12.
9. เกิดอะไรขึ้นกับชาติยิศราเอลเมื่อพวกเขาไม่ได้รักษาการนมัสการพระยะโฮวาไว้เป็นอันดับแรก?
9 น่าสลดใจที่ชาวยิศราเอลไม่ได้จัดเอาการนมัสการแท้ไว้เป็นอันดับแรกเสมอไป. พวกเขาปล่อยให้ความเลื่อมใสพระเท็จบ่อนทำลายความศรัทธาอันแรงกล้าของเขาที่มีต่อพระยะโฮวา. ด้วยเหตุนั้น พระยะโฮวาจึงได้ทอดทิ้งเขาไว้ในมือพวกศัตรู ปล่อยเขาให้ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยในบาบูโลน. เมื่อเขากลับคืนสู่ประเทศบ้านเกิดหลังจาก 70 ปีผ่านไป พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมผู้พยากรณ์ที่ซื่อสัตย์แก่พวกยิศราเอล อาทิ ผู้พยากรณ์ฮาฆี, ซะคาระยา, และมาลาคีให้กล่าวตักเตือนปลุกใจเขา. เอษราปุโรหิต และนะเฮมยาผู้ว่าราชการได้เร่งเร้าไพร่พลของพระเจ้าให้บูรณะพระวิหารและก่อตั้งการนมัสการแท้ขึ้นใหม่ ณ ที่นั่น. แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษ การนมัสการแท้กลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีความสำคัญในชาตินั้นอีกครั้งหนึ่ง.
ความกระตือรือร้นเพื่อการนมัสการแท้สมัยศตวรรษแรก
10, 11. การนมัสการพระยะโฮวาอยู่ในอันดับไหนในชีวิตของบรรดาผู้ซื่อสัตย์ สมัยพระเยซูอยู่บนแผ่นดินโลก?
10 ตรงตามเวลากำหนดของพระยะโฮวา พระมาซีฮาก็ปรากฏ. ผู้ซื่อสัตย์ทั้งหลายต่างหมายพึ่งพระยะโฮวาเพื่อความรอด. (ลูกา 2:25; 3:15) บันทึกในกิตติคุณของลูกาพรรณนาอย่างเด่นชัดว่านางฮันนาหญิงม่ายอายุแปดสิบสี่ปี “มิได้ไปจากโบสถ์เลย, อยู่ปฏิบัติตามศีลอดอาหารและอธิษฐานทั้งกลางวันกลางคืน.”—ลูกา 2:37.
11 พระเยซูตรัสว่า “อาหารของเราคือการกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาและทำให้งานของพระองค์สำเร็จ.” (โยฮัน 4:34, ล.ม.) ลองนึกดูซิว่าพระเยซูมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพระองค์เผชิญหน้าพวกแลกเงินในพระวิหาร. พระองค์ได้คว่ำโต๊ะและร้านของพ่อค้าที่ขายนกพิราบที่นั่น. มาระโกเล่าเรื่องนี้ว่า “[พระเยซู] ห้ามมิให้ผู้ใดเอาภาชนะใช้สอยเดินผ่านไปในโบสถ์. พระองค์ตรัสสอนเขาว่า, ‘มีคำเขียนไว้มิใช่หรือว่า, “โบสถ์ของเราเขาจะเรียกว่าเป็นที่อธิษฐานสำหรับคนทุกประเทศ”? แต่เจ้าทั้งหลายมากระทำให้เป็นถ้ำของพวกโจร.’” (มาระโก 11:15-17) ถูกแล้ว พระเยซูไม่ทรงยอมให้ผู้ใดเดินลัดลานพระวิหารด้วยซ้ำ เมื่อแบกขนสิ่งของไปยังอีกด้านหนึ่งของเมือง. การกระทำของพระเยซูเสริมน้ำหนักคำแนะนำของพระองค์ก่อนหน้านี้ที่ว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของ [พระเจ้า] ก่อนเสมอไป.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) พระเยซูได้ทรงละตัวอย่างอันดียิ่งให้เราเกี่ยวด้วยการถวายความเลื่อมใสโดยเฉพาะแด่พระยะโฮวา. พระองค์ปฏิบัติตามที่พระองค์สอนโดยแท้.—1 เปโตร 2:21.
12. เหล่าสาวกของพระเยซูแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาได้จัดเอาการนมัสการพระยะโฮวาไว้เป็นอันดับแรก?
12 อนึ่ง พระเยซูทรงวางแบบอย่างให้สาวกของพระองค์ปฏิบัติตาม โดยวิธีที่พระองค์ปฏิบัติหน้าที่มอบหมายกระทั่งสำเร็จเพื่อทรงช่วยชาวยิวที่ถูกย่ำยีแต่เป็นคนซื่อสัตย์ให้พ้นภาระหนักซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจปฏิบัติทางศาสนาเท็จ. (ลูกา 4:18) ด้วยการเชื่อฟังพระบัญชาของพระเยซูที่ทำให้คนเป็นสาวกและให้เขารับบัพติสมา คริสเตียนสมัยแรกจึงประกาศพระประสงค์ของพระยะโฮวาอย่างกล้าหาญเกี่ยวเนื่องกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเขาที่ถูกปลุกให้คืนพระชนม์. พระยะโฮวาทรงพอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อพวกเขาจัดเอาการนมัสการพระองค์ไว้เป็นอันดับแรก. ดังนั้น ทูตสวรรค์ของพระเจ้าจึงปลดปล่อยอัครสาวกเปโตรและโยฮันจากที่คุมขังอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งได้สั่งท่านทั้งสองดังนี้: “จงไปยืนในโบสถ์ประกาศถึงบรรดาข้อความแห่งชีวิตใหม่นี้ให้คนทั้งปวงฟัง.” เมื่อได้รับพลังเสริมอีก พวกเขาจึงเชื่อฟัง. ทั้งในพระวิหารที่ยะรูซาเลมและตามบ้านเรือน “เขาจึงได้สั่งสอนประกาศกิตติคุณของพระเยซูคริสต์. . . . ทุก ๆ วันมิได้ขาด.”—กิจการ 1:8; 4:29, 30; 5:20, 42; มัดธาย 28:19, 20.
13, 14. (ก) ตั้งแต่คริสเตียนสมัยแรก ซาตานได้มุ่งพยายามจะทำอะไรแก่ผู้รับใช้ของพระเจ้า? (ข) ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้ายังคงมุ่งหน้าทำอะไรต่อไป?
13 ขณะการต่อต้านงานประกาศสั่งสอนทวีความรุนแรงมากขึ้น พระเจ้าได้ทรงชี้นำผู้รับใช้ที่สัตย์ซื่อของพระองค์ให้เขียนคำแนะนำที่เหมาะกับสถานการณ์ตอนนั้น. เปโตรเขียนไม่นานหลังจากปีสากลศักราช 60 ว่า “ท่านทั้งหลายฝากความกระวนกระวายทั้งสิ้นของท่านไว้กับพระองค์ [พระยะโฮวา] เพราะว่าพระองค์ทรงใฝ่พระทัยในท่านทั้งหลาย. จงรักษาสติของท่านไว้ จงระวังระไวให้ดี. พญามาร ปรปักษ์ของท่านทั้งหลาย เที่ยวเดินไปเหมือนสิงโต แผดเสียงร้อง เสาะหาคนหนึ่งคนใดที่มันจะขย้ำกลืนเสีย. แต่จงยืนหยัดต่อต้านมัน มั่นคงในความเชื่อ โดยรู้ว่า สิ่งเดียวกันในด้านความลำบากเกิดขึ้นอยู่ในสังคมพี่น้องทั้งสิ้นของท่านทั้งหลายในโลก.” คริสเตียนสมัยแรกได้รับคำรับรองที่ให้ความมั่นใจจากถ้อยคำเหล่านั้นอย่างไม่ต้องสงสัย. พวกเขาทราบว่า หลังจากทนทุกข์อยู่ระยะหนึ่ง พระเจ้าจะโปรดให้การอบรมเขาถึงที่สำเร็จ. (1 เปโตร 5:7-10, ล.ม.) ระหว่างสมัยสุดท้ายแห่งระบบของพวกยิว คริสเตียนแท้ได้เทิดทูนการนมัสการซึ่งเปี่ยมด้วยความรักของพระเจ้าให้อยู่ในระดับสูงเยี่ยม.—โกโลซาย 1:23.
14 ดังอัครสาวกเปาโลทำนายล่วงหน้า การออกหาก อันเป็นการปลีกตัวออกไปจากการนมัสการแท้ ก็ได้เกิดขึ้น. (กิจการ 20:29, 30; 2 เธซะโลนิเก 2:3) พยานหลักฐานมากมายจากทศวรรษต่าง ๆ ในช่วงปลายศตวรรษที่หนึ่งได้ยืนยันเรื่องนี้. (1 โยฮัน 2:18, 19) ซาตานประสบผลที่ได้หว่านคริสเตียนปลอมปนกับคริสเตียนแท้ ทำให้ยากที่จะจำแนก “ข้าวละมาน” จากคริสเตียนอันเปรียบเป็นข้าวดี. กระนั้น ตลอดหลายศตวรรษที่แล้วมา ปัจเจกบุคคลบางคนได้จัดเอาการนมัสการพระเจ้าไว้เป็นอันดับแรก แม้ว่าเป็นการเสี่ยงชีวิตตัวเองก็ตาม. แต่พระเจ้าก็ไม่ได้ทรงรวบรวมผู้รับใช้ของพระองค์อีกครั้งหนึ่งให้เทิดทูนการนมัสการแท้ จนกระทั่งมาในช่วงปลายของ “เวลากำหนดของนานาชาติ.”—มัดธาย 13:24-30, 36-43; ลูกา 21:24.
การนมัสการพระยะโฮวาได้รับการเทิดทูนในปัจจุบัน
15. ตั้งแต่ปี 1919 คำพยากรณ์ที่ยะซายา 2:2-4 และมีคา 4:1-4 ได้สำเร็จสมจริงอย่างไร?
15 ปี 1919 พระยะโฮวาทรงมอบอำนาจแก่ชนที่เหลือผู้ถูกเจิมให้ดำเนินการให้คำพยานทั่วโลกซึ่งยกการนมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ให้เด่นขึ้น. พร้อมด้วยการหลั่งไหลเข้ามาของ “แกะอื่น” โดยนัย ตั้งแต่ปี 1935 เป็นต้นมา ฝูงชนมากมายที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ โดยนัยฝ่ายวิญญาณแล้ว เขาพากันขึ้นไปยัง “ภูเขาอันเป็นที่ตั้งแห่งโบสถ์ของพระยะโฮวา.” ระหว่างปีรับใช้ 1993 พยานของพระยะโฮวา 4,709,889 คนได้ยกย่องสรรเสริญพระองค์โดยเชิญชวนคนอื่น ๆ มาร่วมสมทบการนมัสการอันสูงส่งของพระองค์. ช่างแตกต่างกันเสียจริง ๆ กับสภาพที่เสื่อมลงด้านวิญญาณของ “เนินเขา” ซึ่งได้แก่ลัทธินิกายต่าง ๆ ภายในจักรวรรดิโลกแห่งศาสนาเท็จ โดยเฉพาะในคริสต์ศาสนจักร!—โยฮัน 10:16; ยะซายา 2:2-4; มีคา 4:1-4.
16. ผู้รับใช้ทุกคนของพระเจ้าจำต้องทำประการใดเมื่อคำนึงถึงคำพยากรณ์ที่ยะซายา 2:10-22?
16 ผู้สนับสนุนศาสนาเท็จถือว่าโบสถ์วิหารอันโอ่อ่าและแม้แต่หัวหน้าศาสนาของตนอยู่ในฐานะ “สูงส่ง” จึงตั้งให้มีบรรดาศักดิ์สูงและเกียรติยศในตำแหน่งพิเศษ. แต่สังเกตสิ่งที่ยะซายาได้พยากรณ์: “สายตาอันเย่อหยิ่งของมนุษย์จะต้องถูกหลบลง, และความจองหองของมนุษย์จะต้องถูกข่มให้ต่ำลง, และในวันนั้นพระยะโฮวาแต่องค์เดียวจะถูกเทิดให้สูงยิ่ง.” จะเป็นดังกล่าวเมื่อไร? ในระหว่างความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่ที่กำลังมาถึงอย่างรวดเร็ว เมื่อ “รูปเคารพทั้งหลายจะต้องสูญหายไปสิ้น.” เมื่อคำนึงถึงวาระอันน่าสะพรึงกลัวซึ่งคืบใกล้เข้ามานั้น บรรดาผู้รับใช้ทั้งหลายของพระเจ้าจำต้องตรวจสอบอย่างจริงจังว่าการนมัสการพระยะโฮวามีความสำคัญเช่นไรในชีวิตของตน.—ยะซายา 2:10-22.
17. ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมัยปัจจุบันแสดงให้เห็นอย่างไรว่า เขาจัดเอาการนมัสการพระยะโฮวาไว้เป็นอันดับแรก?
17 ในฐานะเป็นภราดรภาพทั่วโลก พยานพระยะโฮวาเป็นที่รู้จักกันดีในด้านความกระตือรือร้นทำการประกาศราชอาณาจักร. การนมัสการของเขาหาใช่เป็นเพียงศาสนกิจที่ทำพอเป็นพิธี กันเวลาไว้แค่หนึ่งชั่วโมงหรือราว ๆ นั้นแต่ละสัปดาห์. ไม่เป็นเช่นนั้น การนมัสการของเขาเป็นวิถีชีวิตทั้งสิ้นของเขา. (บทเพลงสรรเสริญ 145:2) แท้จริง ปีที่แล้วพยานฯมากกว่า 620,000 คนได้จัดธุระส่วนตัวเพื่อจะร่วมงานรับใช้ฝ่ายคริสเตียนเต็มเวลา. แน่นอน คนอื่น ๆ นอกนั้นก็ไม่ได้ละเลยการนมัสการพระยะโฮวา. การนมัสการพระยะโฮวามีบทบาทเด่นทั้งในการสนทนาประจำวันและการประกาศของพวกเขาแก่สาธารณชน แม้ว่าเขาอาจมีพันธะหน้าที่ต่อครอบครัวซึ่งเขาต้องทำงานอาชีพอย่างหนัก.
18, 19. จงยกตัวอย่างที่เป็นการหนุนใจคุณจากการอ่านเรื่องราวชีวิตจริงของเหล่าพยานฯ.
18 เรื่องจากชีวิตจริงของพยานฯที่พิมพ์ลงในวารสารหอสังเกตการณ์ ให้ความกระจ่างถึงวิธีต่าง ๆ ซึ่งพี่น้องชายหญิงได้จัดเอาการนมัสการพระยะโฮวาไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของเขา. พี่น้องหญิงคนหนึ่งที่ได้อุทิศตัวแด่พระยะโฮวาเมื่ออายุหกขวบ ได้ตั้งเป้าจะรับใช้ในฐานะมิชชันนารี. พวกคุณซึ่งเป็นพี่น้องชายหญิงในวัยหนุ่มสาว คุณจะเลือกอะไรเป็นเป้าหมายเพื่อว่าคุณจะรักษาการนมัสการพระยะโฮวาเป็นอันดับแรกในชีวิตของคุณ?—ดูบทความ “ติดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่อายุหกขวบ” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 มีนาคม 1992, หน้า 26-30.
19 พี่น้องหญิงม่ายสูงอายุเป็นอีกคนหนึ่งที่วางตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการจัดเอาการนมัสการพระยะโฮวาไว้ในลำดับที่ถูกต้อง. เธอได้การหนุนใจอย่างมากให้อดทน จากคนเหล่านั้นที่เธอเคยช่วยให้เรียนรู้ความจริง. พวกเขาเป็น “ครอบครัว” ของเธอ. (มาระโก 3:31-35) ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในสภาพคล้ายกัน คุณจะรับเอาการเกื้อหนุนและการช่วยเหลือของคนอายุอ่อนกว่าในประชาคมไหม? (โปรดสังเกตซิสเตอร์วินิเฟรด เรมมี ได้พูดถึงตัวเองอย่างไรในเรื่อง “ดิฉันตอบรับในช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว” ลงพิมพ์ในวารสารหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กรกฎาคม 1992 หน้า 21-23) พวกคุณผู้รับใช้เต็มเวลา จงพิสูจน์ว่าการนมัสการพระยะโฮวาต้องมาเป็นอันดับแรกในชีวิตของคุณโดยการยอมรับใช้ด้วยใจถ่อมตามที่คุณได้รับมอบหมาย ยอมตนเชื่อฟังการชี้นำตามระบอบของพระเจ้าด้วยความเต็มใจ. (โปรดพิจารณาตัวอย่างของบราเดอร์รอย ไรอัน ตามที่เล่าไว้ในบทความ “การติดสนิทอยู่กับองค์การของพระเจ้า” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 ธันวาคม 1991 หน้า 24-27) พึงระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อเราจัดเอาการนมัสการพระยะโฮวาไว้เป็นอันดับแรก เราย่อมมีหลักประกันว่า พระองค์จะทรงดูแลเรา. เราไม่จำเป็นต้องกระวนกระวายว่าจะได้ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับชีวิตจากที่ไหน. ประสบการณ์ของพี่น้องหญิงโอลิฟและซอนยา สปริงเกต เป็นตัวอย่างแสดงถึงเรื่องนี้.—ดูบทความ “เราแสวงหาราชอาณาจักรเป็นอันดับแรก” ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 1 กุมภาพันธ์ 1994 หน้า 20-25.
20. บัดนี้เราควรถามตัวเองด้วยคำถามอะไรบ้างที่ตรงประเด็น?
20 เช่นนั้นแล้ว สมควรไหมที่เราแต่ละคนจะถามตัวเองด้วยคำถามที่เจาะลึก? การนมัสการพระยะโฮวาอยู่ในอันดับไหนในชีวิตของฉัน? ฉันดำเนินชีวิตสมกับการอุทิศตัวที่จะทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างสุดความสามารถไหม? มีขอบข่ายอะไรบ้างในชีวิตซึ่งฉันสามารถจะปรับปรุงแก้ไขได้? การพิจารณาบทความถัดไปอย่างถี่ถ้วนคงทำให้เรามีโอกาสได้ตริตรองดูลู่ทางที่จะใช้ทรัพยากรของเราเพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งสำคัญอันดับแรกในชีวิตซึ่งเราเลือกไว้แล้ว นั่นคือการนมัสการพระยะโฮวาองค์บรมมหิศร พระบิดาของเราผู้ทรงเปี่ยมด้วยความรัก.—ท่านผู้ประกาศ 12:13; 2 โกรินโธ 13:5.
การทบทวน
▫ ในเรื่องการนมัสการ พระยะโฮวาทรงเรียกร้องอะไร?
▫ พลับพลาชุมนุมเป็นเครื่องเตือนใจให้นึกถึงอะไร?
▫ ในสมัยศตวรรษแรก ใครเป็นตัวอย่างเด่นเกี่ยวด้วยความกระตือรือร้นเพื่อการนมัสการแท้ และโดยวิธีใด?
▫ ตั้งแต่ปีสากลศักราช 1919 การนมัสการพระยะโฮวาได้รับการเทิดทูนอย่างไร?