พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมมาระโก
กิตติคุณของมาระโกเป็นส่วนที่สั้นที่สุดในกิตติคุณทั้งสี่เล่ม. กิตติคุณนี้ซึ่งเขียนโดยโยฮันมาระโก ประมาณ 30 ปีหลังจากการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นมากมายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่พระเยซูทรงทำงานรับใช้ตลอดระยะเวลาสามปีครึ่ง.
ดูเหมือนว่าพระธรรมมาระโกไม่ได้เขียนเพื่อชาวยิว แต่เพื่อชาวโรมันโดยเฉพาะ พระธรรมนี้แสดงให้เห็นว่าพระเยซูเป็นพระบุตรของพระเจ้าผู้ทำการอัศจรรย์ ซึ่งพระองค์ได้รณรงค์การประกาศอย่างขยันขันแข็ง. พระธรรมนี้เน้นสิ่งที่พระเยซูทรงทำ แทนที่จะเน้นสิ่งที่พระองค์ทรงสอน. การเอาใจใส่กิตติคุณของมาระโกจะเสริมความเชื่อของเราในเรื่องมาซีฮาให้เข้มแข็งขึ้น และกระตุ้นเราให้เป็นผู้ประกาศข่าวสารของพระเจ้าที่กระตือรือร้นในงานรับใช้ของคริสเตียน.—ฮีบรู 4:12.
การรับใช้ที่โดดเด่นในแกลิลี
หลังจากรายงานถึงเรื่องการทำงานของโยฮันผู้ให้บัพติสมาและช่วง 40 วันที่พระเยซูอยู่ในถิ่นทุรกันดารโดยใช้เพียง 14 ข้อ มาระโกก็เริ่มรายงานอย่างน่าตื่นเต้นถึงเรื่องงานรับใช้ของพระเยซูที่แกลิลี. การใช้คำว่า “ทันที” ซ้ำแล้วซ้ำอีกทำให้รู้สึกว่าเรื่องราวที่บันทึกนั้นเป็นเรื่องที่เร่งด่วน.—มโก. 1:10, 12.
ภายในเวลาไม่ถึงสามปี พระเยซูทำการรณรงค์การประกาศในแกลิลีเสร็จสามรอบ. ส่วนใหญ่แล้ว มาระโกเขียนเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเวลา. ท่านไม่ได้กล่าวถึงเรื่องคำเทศน์บนภูเขา เช่นเดียวกับที่ไม่ได้กล่าวถึงคำบรรยายของพระเยซูที่ยาว ๆ อีกหลายเรื่อง.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:15—“เวลาที่กำหนดไว้” สำหรับอะไรมาถึงแล้ว? พระเยซูทรงกล่าวว่าเวลาที่กำหนดไว้สำหรับพระองค์ที่จะทรงเริ่มงานรับใช้ก็มาถึงแล้ว. เนื่องจากพระองค์ซึ่งเป็นผู้ที่จะเป็นกษัตริย์ในภายหน้าได้อยู่ท่ามกลางพวกเขา ราชอาณาจักรของพระเจ้าจึงมาใกล้แล้ว. ในตอนนั้น ผู้มีหัวใจสุจริตคงจะตอบรับงานประกาศของพระองค์และลงมือทำสิ่งซึ่งจะทำให้เขาได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า.
1:44; 3:12; 7:36—เหตุใดพระเยซูไม่ต้องการให้ผู้คนโฆษณาเรื่องการอัศจรรย์ต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทำ? แทนที่จะให้ผู้คนลงความเห็นโดยอาศัยข่าวที่มีการรายงานอย่างน่าตื่นเต้นหรืออาจมีการบิดเบือนความจริง พระเยซูต้องการให้พวกเขาเห็นด้วยตัวเองว่าพระองค์เป็นพระคริสต์และให้พวกเขาตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยหลักฐานนั้น. (ยซา. 42:1-4; มัด. 8:4; 9:30; 12:15-21; 16:20; ลูกา 5:14) แต่ยกเว้นกรณีหนึ่ง นั่นคือกรณีของชายคนหนึ่งที่เคยถูกปิศาจสิง ซึ่งเป็นชาวเมืองเกราซา. พระเยซูบอกให้เขากลับบ้านแล้วไปบอกเรื่องนั้นกับญาติ ๆ ของเขา. เนื่องจากผู้คนได้ขอร้องให้พระเยซูไปจากเขตนั้น ดังนั้น พระองค์จึงแทบไม่ได้พบปะหรือไม่ได้ติดต่อกับผู้คนในแถบนั้นเลย. การที่ชายคนนั้นอยู่ที่นั่นและให้การเป็นพยานถึงคุณความดีที่พระเยซูได้กระทำนั้นจะช่วยลบล้างคำพูดจาว่าร้ายใด ๆ ที่เกี่ยวกับการสูญเสียฝูงสุกรได้.—มโก. 5:1-20; ลูกา 8:26-39.
2:28—ทำไมพระเยซูจึงถูกเรียกว่า “เจ้าแห่งวันซะบาโต”? อัครสาวกเปาโลเขียนว่า “พระบัญญัติแสดงให้เห็นเงาของสิ่งดีที่จะมีมา.” (ฮีบรู 10:1) ตามที่กล่าวในพระบัญญัติ หลังจากทำงานหกวันแล้ววันที่เจ็ดก็จะเป็นวันซะบาโต และพระเยซูทรงรักษาคนป่วยหลายคนในวันนั้น. นี่เป็นภาพล่วงหน้าที่แสดงถึงการหยุดพักที่สงบสุขและพระพรอื่น ๆ ที่มนุษยชาติจะได้รับภายใต้การปกครองในรัชสมัยพันปีของพระคริสต์ หลังจากการปกครองที่กดขี่ของซาตานสิ้นสุดลง. ดังนั้น กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรนั้นจึงเป็น “เจ้าแห่งวันซะบาโต” ด้วย.—มัด. 12:8; ลูกา 6:5.
3:5; 7:34; 812—มาระโกรู้ได้อย่างไรว่าพระเยซูมีความรู้สึกเช่นไรต่อสถานการณ์ต่าง ๆ? มาระโกไม่ได้เป็นหนึ่งในอัครสาวก 12 คน ทั้งไม่ได้เป็นสหายคนสนิทของพระเยซูด้วย. ตามที่เล่าสืบต่อกันมา อัครสาวกเปโตรซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของมาระโกเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลมากมายแก่มาระโก.—1 เป. 5:13.
6:51, 52—“เรื่องขนมปัง” ที่เหล่าสาวกไม่เข้าใจคืออะไร? เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น พระเยซูทรงเลี้ยงอาหารผู้ชาย 5,000 คนไม่รวมพวกผู้หญิงและเด็ก ๆ ด้วยขนมปังเพียงห้าอันและปลาสองตัว. “เรื่องขนมปัง” ที่เหล่าสาวกน่าจะเข้าใจจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือ พระเยซูทรงได้รับฤทธิ์อำนาจจากพระยะโฮวาพระเจ้าเพื่อทำการอัศจรรย์. (มโก. 6:41-44) หากพวกเขาเข้าใจความยิ่งใหญ่ของฤทธิ์อำนาจที่พระเยซูทรงได้รับ พวกเขาคงไม่ประหลาดใจเมื่อเห็นพระเยซูทำการอัศจรรย์ด้วยการเดินบนน้ำ.
8:22-26—เหตุใดพระเยซูทรงรักษาชายตาบอดคนนั้นสองขั้นตอน? พระเยซูอาจทำเช่นนั้นเนื่องจากทรงคำนึงถึงชายคนนั้น. การรักษาแบบที่ให้ชายคนนั้นค่อย ๆ มองเห็นอาจช่วยเขาปรับสายตาให้เข้ากับแสงอาทิตย์ที่สว่างจ้าได้ดีกว่าเนื่องจากเขาเคยชินกับความมืดมานาน.
บทเรียนสำหรับเรา:
2:18; 7:11; 12:18; 13:3. มาระโกอธิบายขนบธรรมเนียม, ถ้อยคำ, ความเชื่อ, และสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งผู้อ่านที่ไม่ใช่ชาวยิวอาจจะไม่คุ้นเคย. ท่านอธิบายเรื่องต่าง ๆ เช่น พวกฟาริซาย “ถือศีลอดอาหาร,” คอร์บัน หมายถึง “ของที่อุทิศแด่พระเจ้าแล้ว,” พวกซาดูกาย “บอกว่าไม่มีการกลับเป็นขึ้นจากตาย,” และพระวิหาร “มองเห็น” ได้จาก “ภูเขามะกอก.” เนื่องจากลำดับวงศ์ตระกูลของมาซีฮาเป็นเรื่องที่ชาวยิวเท่านั้นจะสนใจ ท่านจึงไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้. มาระโกจึงวางตัวอย่างที่ดีไว้สำหรับเรา. เราควรคำนึงถึงภูมิหลังของผู้ฟัง เมื่อเราไปประกาศ หรือเมื่อบรรยายต่อประชาคม.
3:21. ญาติ ๆ ของพระเยซูไม่ได้เป็นผู้ที่มีความเชื่อ. ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงร่วมความรู้สึกกับคนเหล่านั้นที่ถูกสมาชิกครอบครัวที่ไม่มีความเชื่อต่อต้านหรือเยาะเย้ยเพราะความเชื่อของพวกเขา.
3:31-35. เมื่อพระเยซูรับบัพติสมา พระองค์กลายเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า และ “เยรูซาเลมที่อยู่เบื้องบน” เป็นมารดาของพระองค์. (กลา. 4:26) นับแต่นั้นมา พระองค์ทรงใกล้ชิดกับครอบครัวฝ่ายวิญญาณมากกว่าและรักครอบครัวฝ่ายวิญญาณมากกว่าญาติพี่น้องฝ่ายเนื้อหนัง. เรื่องนี้สอนให้เราจัดผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณไว้เป็นอันดับแรกในชีวิตของเรา.—มัด. 12:46-50; 8:19-21.
8:32-34. เราควรมองให้ออกและปฏิเสธอย่างไม่ชักช้าเมื่อคนอื่นแสดงความกรุณาแบบที่ไม่ถูกต้องต่อเรา. สาวกของพระคริสต์ต้องพร้อมที่จะ “ปฏิเสธตัวเอง” ซึ่งก็คือการปฏิเสธความปรารถนาและเป้าหมายอันเห็นแก่ตัวนั่นเอง. เขาควรเต็มใจ “แบกเสาทรมานของตน” ซึ่งหมายความว่า ถ้าจำเป็นเขาต้องพร้อมที่จะทนทุกข์, หรือถูกเหยียดหยาม, หรือถูกข่มเหง, หรือถึงกับถูกฆ่าเนื่องจากการเป็นคริสเตียน. และเขาต้อง ‘ติดตามพระเยซูเรื่อยไป’ โดยปฏิบัติตามรูปแบบชีวิตของพระองค์. แนวทางแห่งการเป็นสาวกเรียกร้องให้เราพัฒนาหรือรักษาน้ำใจที่เสียสละเหมือนอย่างที่พระคริสต์เยซูได้ทำ.—มัด. 16:21-25; ลูกา 9:22, 23.
9:24. เราไม่ควรรู้สึกอายที่จะบอกคนอื่นเรื่องความเชื่อของเราหรือที่จะทูลขอให้เรามีความเชื่อมากขึ้น.—ลูกา 17:5.
เดือนสุดท้าย
ปลายปีสากลศักราช 32 พระเยซูทรง “ข้ามแม่น้ำจอร์แดนมายังเขตแดนแคว้นยูเดีย” และฝูงชนก็มาหาพระองค์อีก. (มโก. 10:1) หลังจากประกาศที่นั่น พระองค์ก็เสด็จไปกรุงเยรูซาเลม.
วันที่ 8 เดือนไนซาน พระเยซูทรงอยู่ที่บ้านเบทาเนีย. ตอนที่พระองค์กำลังนั่งเอนกายรับประทานอาหารอยู่ หญิงคนหนึ่งก็เข้ามาและเทน้ำมันหอมลงบนพระเศียรของพระองค์. มีการพรรณนาเหตุการณ์นับตั้งแต่ที่พระเยซูเสด็จเข้ามาในกรุงเยรูซาเลมอย่างผู้มีชัยไปจนถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระองค์ตามลำดับเวลา.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
10:17, 18—ทำไมพระเยซูทรงแก้ไขชายคนหนึ่งเมื่อเขาเรียกพระองค์ว่า “ท่านอาจารย์ผู้ประเสริฐ”? โดยการปฏิเสธการเรียกแบบป้อยอนี้ พระเยซูถวายพระเกียรติแด่พระยะโฮวาและทรงชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าองค์เที่ยงแท้เป็นผู้บันดาลให้เกิดสรรพสิ่งที่ดีงามทุกอย่าง. นอกจากนี้ พระเยซูยังชี้ถึงความจริงพื้นฐานที่ว่า พระยะโฮวาพระเจ้า ผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง พระองค์ผู้เดียวเท่านั้นมีสิทธิ์ตั้งมาตรฐานในเรื่องความดีและความชั่ว.—มัด. 19:16, 17; ลูกา 18:18, 19.
14:25—พระเยซูทรงหมายความเช่นไรเมื่อตรัสกับเหล่าอัครสาวกที่ซื่อสัตย์ว่า “เราจะไม่ดื่มเหล้าองุ่นอีกเลยจนกระทั่งวันนั้นที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในราชอาณาจักรของพระเจ้า”? พระเยซูไม่ได้บอกว่ามีเหล้าองุ่นอยู่บนสวรรค์จริง ๆ. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางครั้งมีการใช้เหล้าองุ่นเป็นภาพแสดงถึงความยินดี พระเยซูกำลังกล่าวถึงความยินดีที่ได้อยู่ร่วมกับสาวกผู้ถูกเจิมซึ่งได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในราชอาณาจักร.—เพลง. 104:15; มัด. 26:29.
14:51, 52—ชายหนุ่มที่ “หนีไปโดยไม่มีผ้าคลุม” เป็นใคร? มาระโกเป็นคนเดียวเท่านั้นที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ดังนั้น เราจึงลงความเห็นได้อย่างสมเหตุผลว่าชายคนนั้นก็คือตัวผู้กล่าวนั่นเอง.
15:34—ถ้อยคำที่พระเยซูตรัสว่า “พระเจ้าของข้าพเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้า เหตุใดพระองค์ทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า?” บ่งชี้ว่าพระองค์ขาดความเชื่อไหม? ไม่. แม้เราจะไม่แน่ใจว่าอะไรกระตุ้นพระองค์ให้กล่าวเช่นนั้น แต่คำกล่าวของพระเยซูอาจบ่งชี้ว่า พระองค์ทราบว่าพระยะโฮวาไม่ได้ปกป้องพระองค์อีกต่อไป เพื่อจะได้ทดสอบความซื่อสัตย์มั่นคงของพระบุตรได้อย่างเต็มที่. นอกจากนี้ การที่พระเยซูตรัสเช่นนั้นก็อาจเป็นเพราะพระองค์ต้องการทำให้สิ่งที่เขียนไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับพระองค์ในบทเพลงสรรเสริญ 22:1 นั้นสำเร็จเป็นจริง.—มัด. 27:46.
บทเรียนสำหรับเรา:
10:6-9. พระประสงค์ของพระเจ้าก็คือ คู่สมรสต้องผูกพันอยู่ด้วยกัน. ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะรีบหาทางหย่าร้างกัน สามีและภรรยาควรพยายามนำหลักการในคัมภีร์ไบเบิลมาใช้ เพื่อเอาชนะปัญหายุ่งยากใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตสมรส.—มัด. 19:4-6.
12:41-44. ตัวอย่างของหญิงม่ายผู้ยากจนสอนเราว่า เราควรสนับสนุนการนมัสการแท้อย่างไม่เห็นแก่ตัว.
[ภาพหน้า 29]
ทำไมพระเยซูบอกให้ชายคนนี้ไปเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเขาให้ญาติ ๆ ฟัง?