อะไรกระตุ้นคุณให้รับใช้พระเจ้า?
“จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.”—มาระโก 12:30.
1, 2. สิ่งน่าตื่นเต้นอะไรบ้างกำลังสัมฤทธิผลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานประกาศเผยแพร่?
คุณค่ารถยนต์ไม่ได้ตัดสินโดยอาศัยสิ่งที่ปรากฏแก่สายตาเท่านั้น. สีรถที่เคลือบอยู่อาจทำให้ส่วนภายนอกดูดีขึ้น และการออกแบบอย่างสวยงามอาจดึงดูดใจผู้ที่สนใจจะซื้อ แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ สิ่งต่าง ๆ ซึ่งยังมองไม่เห็นได้ทันที ได้แก่เครื่องยนต์ที่ขับดันรถนั้น พร้อมทั้งอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ควบคุมเครื่องยนต์.
2 ทำนองคล้ายกันกับงานรับใช้ที่คริสเตียนทำถวายพระเจ้า. พยานพระยะโฮวามีการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้าบริบูรณ์. แต่ละปี พวกเขาใช้เวลามากกว่าพันล้านชั่วโมงประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้า. ยิ่งกว่านั้น มีการนำการศึกษาพระคัมภีร์หลายล้านราย และผู้รับบัพติสมามีจำนวนหลายแสนคน. ถ้าคุณเป็นผู้ประกาศข่าวดี—แม้ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำมาก—แต่คุณก็มีส่วนร่วมในสถิติอันน่าตื่นเต้นนี้. และคุณแน่ใจได้ว่า “พระเจ้าไม่ใช่อธรรมที่จะทรงลืมการงานของท่านและความรักที่ท่านได้สำแดงต่อพระนามของพระองค์.”—เฮ็บราย 6:10.
3. นอกจากการประพฤติแล้ว อะไรน่าจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคริสเตียน และเพราะเหตุใด?
3 อย่างไรก็ดี คุณค่าแท้เกี่ยวกับงานรับใช้ของเรา—โดยรวมหรือเป็นส่วนตัวก็ตาม—ไม่ได้วัดกันด้วยตัวเลขแต่อย่างเดียว. ดังซามูเอลได้รับการบอกกล่าวว่า “มนุษย์ดูสิ่งที่ปรากฏแก่ตา; แต่พระยะโฮวาทรงทอดพระเนตรดูว่าหัวใจเป็นอย่างไร.” (1 ซามูเอล 16:7, ล.ม.) ใช่แล้ว สิ่งที่เราเป็นอยู่ภายในนั้นแหละนับว่าสำคัญจำเพาะพระเจ้า. จริงอยู่ การประพฤติเป็นสิ่งสำคัญ. การกระทำที่เลื่อมใสพระเจ้าประดับคำสอนของพระยะโฮวา และดึงดูดใจผู้มีแนวโน้มจะมาเป็นสาวก. (มัดธาย 5:14–16; ติโต 2:10; 2 เปโตร 3:11) กระนั้น การกระทำของเราไม่ได้เปิดเผยเรื่องราวทั้งหมด. พระเยซูผู้คืนพระชนม์แล้วทรงมีสาเหตุที่จะเป็นห่วงประชาคมที่เมืองเอเฟโซ ทั้ง ๆ ที่พวกเขามีประวัติการงานที่ดี. พระองค์ตรัสแก่เขาว่า “เรารู้จักการกระทำของเจ้า แต่กระนั้น เรามีข้อต่อว่าเจ้า คือเจ้าได้ละความรักซึ่งเจ้าเคยมีในตอนแรก.”—วิวรณ์ 2:1-4, ล.ม.
4. (ก) งานรับใช้ที่เราทำถวายพระเจ้าอาจกลายเป็นการทำพอเป็นพิธีตามหน้าที่ในแง่ไหน? (ข) ทำไมจึงจำเป็นที่จะสำรวจดูตัวเอง?
4 อันตรายมีอยู่. เมื่อกาลเวลาผ่านไป งานรับใช้ที่เราถวายแด่พระเจ้าอาจกลายเป็นเหมือนการทำเป็นพิธีตามหน้าที่. สตรีคริสเตียนคนหนึ่งได้พรรณนาสภาพการณ์ของตัวเองดังนี้: “ฉันออกไปเผยแพร่, ไปประชุม, ศึกษา, อธิษฐาน—แต่ทุกอย่างฉันปฏิบัติแบบอัตโนมัติ, ไม่รู้สึกยินดียินร้ายสักเท่าใด.” แน่นอน ผู้รับใช้ของพระเจ้าสมควรรับคำชมเชยเมื่อเขาได้ทุ่มเทตัวเอง ถึงแม้มีความรู้สึกว่า “ถูกตีลง” หรือ “ท้อใจ.” (2 โกรินโธ 4:9; 7:6) กระนั้นก็ดี เมื่อกิจวัตรของเราฐานะคริสเตียนเป็นแบบซ้ำซาก เราจำต้องตรวจเครื่องยนต์โดยนัยภายในตัวเรา. แม้แต่รถยนต์ที่ดีที่สุดยังต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นระยะ ๆ ทำนองคล้ายกัน คริสเตียนทุกคนก็ต้องสำรวจตัวเองเป็นประจำ. (2 โกรินโธ 13:5) คนอื่นอาจเห็นการงานของเรา แต่เขาไม่สามารถหยั่งรู้สิ่งที่กระตุ้นการกระทำของเรา. ดังนั้น พวกเราแต่ละคนจึงควรเอาใจใส่คำถามที่ว่า ‘อะไรกระตุ้นฉันให้รับใช้พระเจ้า?’
อุปสรรคต่าง ๆ ต่อแรงกระตุ้นอันถูกต้อง
5. พระเยซูตรัสว่า พระบัญญัติอะไรสำคัญเป็นอันดับแรก?
5 เมื่อมีคนถามพระเยซูว่า บัญญัติข้อใดที่ทรงประทานแก่ชาติยิศราเอลเป็นบัญญัติเอก พระองค์ได้ยกพระบัญชาซึ่งรวมจุดอยู่ที่เจตนารมณ์ ไม่ใช่ท่าทีที่ปรากฏภายนอก ที่ว่า “จงรักพระองค์ [พระยะโฮวา] ผู้เป็นพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิตต์ของเจ้า, ด้วยสุดความคิดและด้วยสิ้นสุดกำลังของเจ้า.” (มาระโก 12:28-30) ด้วยเหตุนี้ พระเยซูทรงระบุถึงพลังกระตุ้นที่ควรอยู่เบื้องหลังงานรับใช้พระเจ้า นั่นคือความรัก.
6, 7. (ก) ซาตานจ้องหาโอกาสโจมตีอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมต่อวงครอบครัวในทางใด และทำไม? (2 โกรินโธ 2:11) (ข) โดยวิธีใดการอบรมเลี้ยงดูอาจส่งผลกระทบท่าทีของคนเราต่ออำนาจของพระเจ้าในภายหลัง?
6 ซาตานต้องการสกัดกั้นความสามารถของเราที่จะพัฒนาคุณสมบัติสำคัญด้านความรัก. เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายนี้ วิธีหนึ่งที่ซาตานใช้คือจู่โจมวงครอบครัว. ทำไมล่ะ? เพราะจากวงครอบครัวนี้เอง ความประทับใจครั้งแรกซึ่งมีผลยาวนานเกี่ยวกับความรักได้ก่อตัวขึ้น. ซาตานรู้หลักการในคัมภีร์ไบเบิลดีว่าสิ่งที่เรียนรู้ในปฐมวัยย่อมมีคุณค่าเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่. (สุภาษิต 22:6) มันพยายามอย่างมีเล่ห์เหลี่ยมจะบิดเบือนแนวคิดของเราทางด้านความรักตั้งแต่อายุยังน้อย. เนื่องจากเป็น “พระเจ้าของระบบนี้” ซาตานเห็นว่าจุดมุ่งหมายของมันจะบรรลุเป็นอย่างดีเมื่อหลายคนเติบโตในบ้านซึ่งไม่ใช่แหล่งแห่งความรัก แต่เป็นสนามรบแห่งความขมขื่น, การโกรธกัน, และการใช้คำพูดด่าประจาน.—2 โกรินโธ 4:4; เอเฟโซ 4:31, 32; 6:4; โกโลซาย 3:21.
7 หนังสือการทำให้ชีวิตครอบครัวของท่านมีความสุข ตั้งข้อสังเกตว่า วิธีที่บิดาทำบทบาทของตน “อาจจะมีผลกระทบกระเทือนอย่างแน่ชัดต่อทัศนะของเด็กต่ออำนาจ ทั้งของมนุษย์และของพระเจ้าในภายหลัง.”a ชายคริสเตียนผู้หนึ่งซึ่งได้รับการเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดจากบิดาที่ชอบใช้อำนาจยอมรับว่า “สำหรับผม การเชื่อฟังพระยะโฮวานั้นง่าย แต่การรักพระองค์เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่ามาก.” แน่นอน การเชื่อฟังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในสายพระเนตรของพระเจ้า “การเชื่อฟังก็ประเสริฐกว่าเครื่องบูชาเผา.” (1 ซามูเอล 15:22) แต่อะไรจะช่วยเราทำได้มากกว่าเพียงการเชื่อฟัง แล้วพัฒนาความรักต่อพระยะโฮวาให้เป็นพลังกระตุ้นที่อยู่เบื้องหลังการนมัสการของเรา?
“ความรักของพระคริสต์ได้บังคับเราอยู่”
8, 9. เครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูน่าจะกระตุ้นเราให้แสดงความรักต่อพระยะโฮวาอย่างไร?
8 แรงกระตุ้นสำคัญยิ่งเพื่อการพัฒนาความรักอย่างสุดหัวใจสำหรับพระยะโฮวาคือการหยั่งรู้ค่าเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซูคริสต์. “โดยข้อนี้ ความรักของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นในกรณีของเรา เพราะว่า พระเจ้าได้ส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อเราจะได้ชีวิตโดยทางพระองค์นั้น.” (1 โยฮัน 4:9, ล.ม.) ครั้นเราเข้าใจและหยั่งรู้ค่าความรักของพระเจ้าแล้ว การแสดงความรักเช่นนี้ย่อมก่อให้มีการตอบสนองด้วยความรัก. “เราทั้งหลายเกิดความรัก ก็เพราะพระองค์ [พระยะโฮวา] ได้ทรงรักเราก่อน.”—1 โยฮัน 4:19.
9 พระเยซูทรงเต็มพระทัยปฏิบัติหน้าที่มอบหมายฐานะเป็นผู้ช่วยมนุษย์ให้รอด. “เช่นนี้แหละเรารู้จักความรัก, คือว่าเพราะพระองค์ได้ทรงยอมวางชีวิตของพระองค์ลงเพื่อเราทั้งหลาย.” (1 โยฮัน 3:16; โยฮัน 15:13) การที่พระเยซูยอมสละพระองค์เองเพราะความรักเช่นนั้นน่าจะปลุกสำนึกของเราให้ตอบสนองด้วยความหยั่งรู้ค่า. เพื่อเป็นการอธิบาย: สมมุติคุณกำลังจมน้ำ แล้วมีคนช่วยชีวิตคุณ. คุณเพียงแต่กลับไปบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วลืมเหตุการณ์ทั้งหมดกระนั้นไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่ ๆ! คุณคงรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณผู้ที่ช่วยชีวิตคุณ. ว่ากันไปแล้ว คุณก็เป็นหนี้ชีวิตผู้นั้น. เราเป็นหนี้พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์น้อยกว่านั้นหรือ? หากไม่มีค่าไถ่ เราทุกคนยังคงจมอยู่กับบาปและความตาย. แต่เนื่องจากการกระทำอันยิ่งใหญ่ซึ่งแสดงถึงความรักนี้เอง พวกเราจึงมีความหวังจะได้ชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.—โรม 5:12, 18; 1 เปโตร 2:24.
10. (ก) เราอาจจัดเอาค่าไถ่เป็นเรื่องเฉพาะตัวได้อย่างไร? (ข) ความรักของพระคริสต์ได้บังคับเราอย่างไร?
10 จงคิดตริตรองเรื่องค่าไถ่. จงถือเป็นเรื่องเฉพาะตัว ดังที่เปาโลกล่าวว่า “ชีวิตซึ่งข้าพเจ้ามีอยู่ในเนื้อหนังเดี๋ยวนี้, ข้าพเจ้ามีอยู่โดยศรัทธา, คือศรัทธาในพระบุตรของพระเจ้า, ผู้ได้ทรงรักข้าพเจ้า, และได้ประทานพระองค์เองเพื่อข้าพเจ้า.” (ฆะลาเตีย 2:20) การตริตรองดังกล่าวจะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นจากหัวใจ เพราะเปาโลได้เขียนไปถึงคริสเตียนที่โกรินโธว่า “เพราะว่าความรักของพระคริสต์ได้บังคับเราอยู่, เพราะ . . . พระองค์ได้ทรงวายพระชนม์เพื่อคนทั้งปวง, เพื่อคนเหล่านั้นที่มีชีวิตอยู่จะมิได้เป็นอยู่เพื่อประโยชน์แก่ตัวเองต่อไป, แต่จะเป็นอยู่เพื่อประโยชน์แก่พระองค์นั้นผู้ทรงวายพระชนม์และทรงเป็นขึ้นมาใหม่เพราะเห็นแก่เขา.” (2 โกรินโธ 5:14, 15, ล.ม.) ฉบับแปลเจรูซาเลม ไบเบิล บอกว่า ความรักของพระคริสต์ “มีกำลังเหนือเรา.” เมื่อเราคิดรำพึงถึงความรักของพระคริสต์ เราถูกบังคับไว้ ถูกกระตุ้นจากส่วนลึก กระทั่งถูกทำให้ยอมตาม. ความรักของพระคริสต์กระทบหัวใจของเราและกระตุ้นเราให้ลงมือปฏิบัติ. ดังฉบับแปลโดยเจ. บี. ฟิลลิปส์ถอดความข้อนี้ว่า “แหล่งที่มาแห่งปฏิบัติการของเราคือความรักของพระคริสต์.” แรงกระตุ้นที่มาในรูปแบบอื่นจะไม่เกิดผลยั่งยืนในตัวเรา ดังเห็นได้จากตัวอย่างของพวกฟาริซาย.
“จงสังเกตและระวังเชื้อแห่งพวกฟาริซาย”
11. จงพรรณนาท่าทีของพวกฟาริซายต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนา?
11 พวกฟาริซายได้ทำให้การนมัสการพระเจ้าเป็นไปอย่างขาดชีวิตชีวา. แทนที่จะเน้นความรักต่อพระเจ้า เขากลับเน้นการกระทำประหนึ่งมาตรฐานวัดสภาพฝ่ายวิญญาณ. การที่พวกเขาเอาจิตใจหมกมุ่นอยู่กับกฎหยุมหยิม ดูเผิน ๆ ก็เหมือนกับว่าเขาเป็นคนชอบธรรม ส่วนภายในนั้น พวกเขา “เต็มไปด้วยกระดูกคนตายและสารพัดโสโครก.”—มัดธาย 23:27.
12. หลังจากพระเยซูได้รักษาคนหนึ่งให้หายแล้ว พวกฟาริซายได้แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเขามีหัวใจเย็นชา?
12 ณ โอกาสหนึ่ง พระเยซูทรงรักษาชายมือลีบด้วยความรู้สึกเมตตาสงสาร. ชายคนนี้คงเป็นสุขใจเพียงใดเมื่อหายทันทีทันใดจากโรค ซึ่งคงต้องก่อความทุกข์กายและทุกข์ใจมาก! ถึงกระนั้น พวกฟาริซายก็ไม่ได้ยินดีกับเขา. พวกเขากลับหาความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ กล่าวหาพระเยซูว่าให้การสงเคราะห์ในวันซะบาโต. เพราะมัวแต่หมกมุ่นกับการตีความพระบัญญัติ พวกฟาริซายจึงพลาดความหมายแท้แห่งพระบัญญัติไปโดยสิ้นเชิง. ไม่แปลกที่พระเยซู “มีพระทัยเป็นทุกข์เพราะใจเขาแข็งกะด้างนัก”! (มาระโก 3:1-5) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้เตือนเหล่าสาวกของพระองค์ดังนี้: “จงสังเกตและระวังเชื้อแห่งพวกฟาริซายและพวกซาดูกายให้ดี.” (มัดธาย 16:6) การประพฤติและทัศนคติของเขาถูกเปิดโปงไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อประโยชน์ของพวกเรา.
13. ตัวอย่างของพวกฟาริซายให้บทเรียนอะไรแก่เรา?
13 ตัวอย่างของพวกฟาริซายสอนเราว่า เราจำต้องมีทัศนะที่ถูกต้องต่อการกระทำ. จริง ๆ แล้ว การกระทำเป็นสิ่งสำคัญ. เพราะ “ความเชื่อที่ปราศจากการประพฤติก็ตายแล้ว.” (ยาโกโบ 2:26, ล.ม.) อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่สมบูรณ์มีแนวโน้มจะตัดสินผู้อื่นจากสิ่งที่เขาทำแทนที่จะตัดสินตามที่เขาเป็นอยู่. หลายครั้ง เราอาจตัดสินตัวเราเองในวิธีนั้นเสียด้วยซ้ำ. เราอาจกลายเป็นคนมุ่งแต่การกระทำ ประหนึ่งว่าสิ่งนี้เป็นบรรทัดฐานเพียงอย่างเดียวของสภาพทางฝ่ายวิญญาณ. เราอาจลืมความสำคัญของการตรวจสอบเจตนาของเราเองก็ได้. (เทียบกับ 2 โกรินโธ 5:12.) เราอาจกลายเป็นคนเคร่งครัดในกฎข้อบังคับต่าง ๆ เกินไปซึ่ง “กรองลูกน้ำออกแต่กลืนตัวอูฐเข้าไป” ด้วยการปฏิบัติตามข้อกฎหมายขณะเดียวกันก็ละเมิดจุดมุ่งหมายของกฎหมายนั้น.—มัดธาย 23:24.
14. พวกฟาริซายเป็นเหมือนถ้วยหรือจานไม่สะอาดอย่างไร?
14 สิ่งที่พวกฟาริซายไม่เข้าใจก็คือ เมื่อคนเรามีความรักต่อพระยะโฮวาจริง ๆ การกระทำด้วยความเลื่อมใสพระเจ้าก็ย่อมตามมาเอง. สภาพทางฝ่ายวิญญาณเกิดจากภายในแล้วออกมาภายนอก. พระเยซูทรงประณามพวกฟาริซายอย่างรุนแรงเนื่องจากแนวคิดที่ผิดพลาดของเขาในเรื่องนี้ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “วิบัติแก่เจ้าพวกอาลักษณ์และพวกฟาริซาย คนหน้าซื่อใจคด ด้วยเจ้าขัดชำระถ้วยจานแต่ภายนอก ส่วนภายในถ้วยจานนั้นเต็มไปด้วยการฉกชิงและการอธรรม. โอพวกฟาริซายตาบอด, จงชำระถ้วยจานภายในเสียก่อน, เพื่อข้างนอกจะได้หมดจดด้วย.”—มัดธาย 23:25, 26.
15. จงยกตัวอย่างซึ่งแสดงว่า พระเยซูทรงมองลึกเกินกว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็น?
15 การเห็นถ้วยจานหรือสิ่งก่อสร้างใด ๆ แต่ด้านนอกก็ใช่ว่าจะเห็นทุกอย่าง. สาวกของพระเยซูรู้สึกครั่นคร้ามในความงามของพระวิหารแห่งกรุงยะรูซาเลม ซึ่งพระเยซูเรียกว่า “ถ้ำของพวกโจร” เนื่องจากความเป็นไปภายในวิหารนั้น. (มาระโก 11:17; 13:1) สิ่งที่เคยเป็นจริงกับพระวิหารก็เป็นจริงกับหลายล้านคนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียน ดังประวัติบันทึกของคริสต์ศาสนจักรแสดงให้เห็น. พระเยซูตรัสว่าพระองค์จะทรงพิพากษาบางคนที่ได้กระทำ “การอัศจรรย์” ด้วยออกพระนามของพระองค์ว่าเป็น “ผู้ประพฤติล่วงพระบัญญัติ.” (มัดธาย 7:22, 23) แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พระองค์ตรัสถึงหญิงม่ายผู้ซึ่งได้บริจาคเงินเล็กน้อยแทบไม่มีค่าที่พระวิหาร ดังนี้: “หญิงม่ายจนคนนี้ได้ใส่ไว้ในตู้เก็บเงินถวายมากกว่าคนทั้งปวงที่ใส่ไว้นั้น . . . ผู้หญิงนี้ขัดสนที่สุดยังได้เอาเงินที่มีอยู่สำหรับเลี้ยงชีวิตของตนมาใส่จนหมด.” (มาระโก 12:41-44) ถือว่าเป็นการตัดสินอย่างไม่คงเส้นคงวาไหม? ไม่เลย. ในทั้งสองสถานการณ์ พระเยซูได้ทรงสะท้อนทัศนะของพระยะโฮวา. (โยฮัน 8:16) พระองค์ทรงเข้าใจเจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำ ครั้นแล้วก็ทรงวินิจฉัยตามนั้น.
‘แต่ละคนทำตามความสามารถของตน’
16. เหตุใดเราจึงไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกิจกรรมของเรากับของคริสเตียนอีกคนหนึ่งเสมอ?
16 ถ้าเจตนารมณ์ของเราถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบกันเสมอ. ยกตัวอย่าง คงไม่เป็นผลดีนักในการมุ่งแข่งขันเพื่อให้จำนวนชั่วโมงในงานประกาศเท่าเทียมกับคริสเตียนอีกคนหนึ่ง หรือเพื่อให้ทัดเทียมกับความสัมฤทธิผลในงานประกาศของผู้นั้น. พระเยซูตรัสว่า ให้รักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดหัวใจ, สุดความคิด, สุดจิตวิญญาณและสุดกำลังของคุณ—ไม่ใช่ของใครอื่น. ความสามารถ, ความทรหดอดทน, และสภาพการณ์ของแต่ละคนย่อมต่างกัน. ถ้าสภาพการณ์ของคุณอำนวย ความรักจะกระตุ้นคุณให้ใช้เวลามากขึ้นเพื่องานเผยแพร่—บางทีถึงกับรับใช้เต็มเวลาฐานะไพโอเนียร์ด้วยซ้ำ. แต่ถ้าคุณอยู่ในช่วงที่มีโรคภัยเบียดเบียน เวลาที่คุณใช้สำหรับงานเผยแพร่อาจน้อยกว่าที่คุณอยากจะทำ. อย่าท้อแท้. ความสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าไม่ได้นับกันเป็นชั่วโมง. ถ้าคุณมีเจตนาที่บริสุทธิ์ คุณก็มีเหตุผลจะชื่นชมยินดี. เปาโลเขียนไว้ว่า: “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร และครั้นแล้วเขาจะมีเหตุที่จะปีติยินดีเกี่ยวกับตัวเขาเองเท่านั้น และไม่ใช่โดยเปรียบเทียบกับคนอื่น.”—ฆะลาเตีย 6:4, ล.ม.
17. จงเล่าอุทาหรณ์เรื่องเงินตะลันต์พอสังเขปโดยใช้คำพูดของตนเอง.
17 ขอให้พิจารณาอุทาหรณ์ของพระเยซูเรื่องเงินตะลันต์ ดังบันทึกในมัดธาย 25:14-30. ชายผู้หนึ่งจะออกเดินทางไปเมืองอื่น เขาจึงเรียกพวกบ่าวมาและฝากทรัพย์สมบัติของตนไว้กับบ่าว. “คนหนึ่งท่านให้ห้าตะลันต์, คนหนึ่งสองตะลันต์, และอีกคนหนึ่งตะลันต์เดียว, ตามความสามารถของบ่าวนั้น.” เมื่อนายกลับมาคิดบัญชีกับพวกบ่าวของตน นายได้พบอะไร? บ่าวที่นายฝากไว้ห้าตะลันต์เอาเงินนั้นไปค้าขายได้กำไรเท่าตัว. ในทำนองคล้ายกัน บ่าวที่รับฝากไว้สองตะลันต์ก็ได้กำไรเท่าตัวเหมือนกัน. ส่วนบ่าวที่ได้รับตะลันต์เดียวนั้นได้ขุดหลุมซ่อนเงินไว้และไม่ทำอะไรเลยเพื่อเพิ่มพูนทรัพย์ของนาย. นายได้ประเมินสถานการณ์เช่นนั้นอย่างไร?
18, 19. (ก) เหตุใดนายจึงไม่เปรียบเทียบระหว่างบ่าวที่ได้รับฝากสองตะลันต์กับบ่าวที่ได้ห้าตะลันต์? (ข) อุทาหรณ์เรื่องตะลันต์ให้บทเรียนอะไรแก่เราเกี่ยวกับการชมและการเปรียบเทียบ? (ค) เหตุใดบ่าวคนที่สามจึงถูกตัดสินอย่างเป็นผลร้าย?
18 ก่อนอื่น ให้เราพิจารณาบ่าวที่ได้รับฝากห้าตะลันต์และสองตะลันต์ตามลำดับ. นายพูดกับบ่าวเหล่านี้ทีละคนว่า “ดีแล้ว, เจ้าเป็นบ่าวซื่อตรงดี!” นายจะพูดอย่างนี้กับบ่าวที่มีห้าตะลันต์ไหมหากว่าคนนั้นทำกำไรได้เพียงสองตะลันต์? คงไม่เป็นเช่นนั้น! อีกด้านหนึ่ง นายก็ไม่ได้พูดกับบ่าวที่ทำกำไรสองตะลันต์ว่า ‘ทำไมไม่ทำให้ได้ห้าตะลันต์? ดูเพื่อนบ่าวของเจ้าซิ เขาทำกำไรให้ข้าฯมากแค่ไหน!’ เปล่าเลย นายที่รักใคร่เมตตาซึ่งเป็นภาพเล็งถึงพระเยซูไม่ได้เอาสองคนนั้นมาเปรียบเทียบกัน. นายฝากตะลันต์ “ตามความสามารถของเขา” และนายไม่คาดหมายอะไรมากไปกว่าที่แต่ละคนสามารถทำได้. บ่าวทั้งสองคนได้รับคำชมเท่ากัน เพราะทั้งสองทำงานให้นายด้วยสิ้นสุดจิตวิญญาณของตน. พวกเราทุกคนสามารถเรียนรู้จากเรื่องนี้ได้.
19 แน่นอน บ่าวคนที่สามไม่ได้รับคำชม. ที่จริง เขาถูกจับโยนออกไปในที่มืดข้างนอก. เนื่องจากได้รับตะลันต์เดียว คงจะไม่มีการคาดหมายว่าเขาต้องเกิดดอกออกผลมากเท่ากับบ่าวที่ได้รับห้าตะลันต์. กระนั้น เขาไม่ได้แม้แต่จะพยายาม! เขาจะต้องถูกตัดสินอย่างเป็นผลร้ายในที่สุด เพราะทัศนะแห่งหัวใจของเขา “ชั่วช้าและเกียจคร้าน” ซึ่งแสดงถึงการขาดความรักต่อนายของเขา.
20. พระยะโฮวาทรงมองขีดจำกัดของพวกเราอย่างไร?
20 พระยะโฮวาทรงคาดหมายว่าเราแต่ละคนรักพระองค์ด้วยสิ้นสุดกำลังของเรา กระนั้น ช่างเป็นความรู้สึกอบอุ่นเสียนี่กระไรที่ “พระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน”! (บทเพลงสรรเสริญ 103:14) สุภาษิต 21:2 (ล.ม.) บอกว่า “พระยะโฮวาทรงประเมินหัวใจ”—ไม่ใช่สถิติ. พระองค์ทรงเข้าใจขีดจำกัดใด ๆ ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าด้านการเงิน, ด้านร่างกาย, อารมณ์, หรืออะไรอื่น ๆ. (ยะซายา 63:9) ขณะเดียวกัน พระองค์ทรงคาดหมายให้เราใช้ทรัพยากรทั้งหมดที่เราอาจจะมีให้เป็นประโยชน์มากที่สุด. พระยะโฮวาทรงสมบูรณ์พร้อมทุกประการ แต่เมื่อเกี่ยวข้องกับผู้นมัสการที่ไม่สมบูรณ์ของพระองค์ พระองค์ก็ไม่ทรงเรียกร้องความสมบูรณ์จากผู้รับใช้ของพระองค์. พระองค์ไม่ทรงดำเนินการอย่างที่ขาดเหตุผล และไม่ทรงคาดหมายอย่างที่ขัดกับความเป็นจริง.
21. ถ้างานรับใช้ของเรามีความรักเป็นแรงกระตุ้น ผลสืบเนื่องที่ดีอะไรจะตามมา?
21 การรักพระยะโฮวาด้วยสิ้นสุดหัวใจ, สุดจิตวิญญาณ, สุดความคิด, และสุดกำลังของเรานั้น “ประเสริฐกว่าของถวายและของบูชาทั้งสิ้น.” (มาระโก 12:33) หากเราได้รับการกระตุ้นโดยความรักแล้ว เราจะทำงานรับใช้พระเจ้าสุดความสามารถของเรา. เปโตรเขียนไว้ว่า ถ้าคุณลักษณะต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงความเลื่อมใสพระเจ้ารวมทั้งความรัก “มีอยู่ในท่านทั้งหลาย และมีอยู่ล้นเหลือ นั่นจะป้องกันท่านไว้จากการอยู่เฉย ๆ หรือไม่เกิดผลเกี่ยวกับความรู้ถ่องแท้ในเรื่องพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา.”—2 เปโตร 1:8, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a จัดพิมพ์โดยสมาคมว็อชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทร็กต์ ออฟ นิวยอร์ก.
การทบทวน
▫ อะไรน่าจะเป็นพลังกระตุ้นอยู่เบื้องหลังงานรับใช้ที่เราทำถวายพระเจ้า?
▫ โดยวิธีใดความรักของพระคริสต์บังคับเราให้รับใช้พระยะโฮวา?
▫ พวกเราต้องหลีกเลี่ยงหลุมพรางอะไรของพวกฟาริซาย?
▫ เหตุใดจึงไม่ฉลาดสุขุมที่จะเอางานรับใช้ของเราไปเปรียบเทียบกับคริสเตียนอีกคนหนึ่ง?
[รูปภาพหน้า 16]
ความสามารถ, ความทรหดอดทน, และสภาพแวดล้อมของแต่ละคนต่างกัน