‘เป็นเวลากี่โมง?’
‘กี่โมงแล้ว?’ คุณถามคำถามนั้นบ่อยเพียงไร? ในยุคปัจจุบันของเราที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว เราสำนึกถึงเรื่องเวลาเสมอ. กิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่ของเรา—การลุกขึ้นในตอนเช้า ไปทำงาน รับประทานอาหาร พบปะกับเพื่อนฝูง และอื่น ๆ—ถูกควบคุมด้วยเวลาอย่างเหนี่ยวแน่น. และเราอาศัยเครื่องบอกเวลามากมาย—นาฬิกา, นาฬิกาข้อมือ, นาฬิกาปลุก, วิทยุ—เพื่อบอกเราว่าเป็นเวลาเท่าไร.
จะว่าอย่างไรในสมัยที่มีการจารึกพระคัมภีร์เมื่อประชาชนไม่มีเครื่องบอกเวลาเหมือนพวกเรา? พวกเขานับเวลาอย่างไร? บันทึกในคัมภีร์ไบเบิลได้ชี้ให้เห็นในเรื่องนี้ไหม? การทราบโมงยามเมื่อเหตุการณ์ในพระคัมภีร์บางเรื่องเกิดขึ้นอาจทำให้คุณมีความหยั่งเห็นเข้าใจใหม่ในพระวจนะของพระเจ้าและเพิ่มความเพลิดเพลินให้กับการศึกษาพระคัมภีร์ของคุณ.
เครื่องบ่งชี้เวลาที่พระเจ้าประทานให้
ในยุคแรก ๆ ตามปกติมีการกำหนดเวลาของเหตุการณ์หนึ่ง โดยการสังเกตดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ “ดวงสว่างใหญ่สองดวง” ซึ่งพระผู้สร้างได้ตั้งไว้ในท้องฟ้า “เพื่อแบ่งวันออกจากคืน.” (เยเนซิศ 1:14-16) ตัวอย่างเช่น “ครั้นเวลารุ่งเช้า” นั่นเองที่ทูตสวรรค์สององค์ได้เร่งเร้าโลตกับครอบครัวของท่านให้หนีออกจากเมืองซะโดมที่ถึงวาระพินาศนั้น. (เยเนซิศ 19:15, 16) และเป็น “เวลาเย็น” ที่คนต้นเรือนผู้ซื่อสัตย์ของอับราฮามได้มาถึงบ่อน้ำที่เขาพบริบะคา.—เยเนซิศ 24:11, 15.
บางโอกาส มีการระบุเวลาที่เที่ยงตรงมากขึ้น. อาทิเช่น อะบีเมเล็ค บุตรชายผู้รุนแรงของผู้วินิจฉัยฆิดโอน ได้รับการแนะนำให้เข้าจู่โจมเมืองเซเค็ม “รุ่งเช้าพอดวงอาทิตย์ขึ้น.” (วินิจฉัย 9:33) ดูเหมือนว่ามีเหตุผลทางยุทธศาสตร์อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้. แสงเจิดจ้าของดวงตะวันที่สูงขึ้นเบื้องหลังกองทัพของอะบีเมเล็คคงต้องทำให้ยากทีเดียวสำหรับผู้รักษาเมืองเซเค็มที่จะมองเห็นกองทัพที่จู่โจมใน “เงาภูเขา.”—วินิจฉัย 9:36-41.
สำนวนที่พรรณนาเกี่ยวกับเวลา
ภาษาฮีบรูใช้ถ้อยคำที่ทั้งชัดเจนและน่าสนใจเพื่อแสดงเวลา. ถ้อยคำเหล่านั้นไม่เพียงแต่ถ่ายทอดความรู้สึกในเรื่องสิ่งแวดล้อมและธรรมเนียมของท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่เปิดเผยอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสภาพการณ์ขณะที่มีปฏิบัติการนั้น.
ตัวอย่างเช่น เยเนซิศ 3:8 (ล.ม.) แจ้งให้เราทราบว่า เป็นช่วง “ใกล้ ๆ ตอนที่มีลมพัดอ่อน ๆ ของวันนั้น” เมื่อพระยะโฮวาตรัสกับอาดามและฮาวาในวันที่เขาทั้งสองได้ทำบาป. เป็นที่เข้าใจว่านี้เป็นตอนใกล้ดวงอาทิตย์ตก เมื่อจะเกิดลมเย็นพัดเบา ๆ ขึ้น นำมาซึ่งความบรรเทาจากความร้อนในวันนั้น. ตามปกติ ขณะที่กลางวันใกล้จะสิ้นสุดลง ก็เป็นเวลาที่จะหย่อนตัวลงและพักผ่อน. กระนั้น พระยะโฮวามิได้ปล่อยให้เรื่องราวเกี่ยวกับการพิจารณาตัดสินอันสำคัญนั้นค้างอยู่จนถึงวันรุ่งขึ้นในเมื่อยังคงมีเวลาที่จะเอาใจใส่เรื่องนั้น.
อีกด้านหนึ่ง เยเนซิศ 18:1, 2 แสดงให้เห็นว่าทูตสวรรค์ของพระยะโฮวามาถึงกระโจมของอับราฮามที่มัมเร “เวลาแดดร้อน.” จงวาดภาพแดดยามเที่ยงวันแผดจ้าเหนือศีรษะในเนินเขาแถบยูดาย. ความร้อนอาจทำให้อึดอัด. ตามธรรมเนียมแล้วเป็นเวลาสำหรับการรับประทานอาหารและพักผ่อน. (ดูเยเนซิศ 43:16, 25; 2 ซามูเอล 4:5.) เพราะฉะนั้น อับราฮาม “นั่งอยู่ที่ประตูทับอาศัย” ที่อาจมีลมพัดเล็กน้อย บางทีเป็นการพักผ่อนภายหลังท่านรับประทานอาหาร. เราจะหยั่งรู้เข้าใจยิ่งขึ้นถึงน้ำใจต้อนรับแขกของบุรุษผู้สูงอายุคนนี้ได้เมื่อเราอ่านว่าท่าน “วิ่งออกไป . . . ต้อนรับ” ผู้มาเยือน และครั้นแล้ว “รีบเข้าไปในทับอาศัย” เพื่อบอกซาราให้เตรียมขนมปัง ซึ่งหลังจากนั้นท่าน “รีบออกไปจับลูกวัวอ่อน” และ “จัดแจงโดยเร็ว.” ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเวลาแดดร้อน!—เยเนซิศ 18:2-8.
เวลากลางคืนของชาวฮีบรู
ดูเหมือนว่าชาวฮีบรูแบ่งกลางคืนออกเป็นสามช่วงเรียกว่า “ยาม.” แต่ละช่วงครอบคลุมหนึ่งในสามของเวลาระหว่างดวงอาทิตย์ตกกับดวงอาทิตย์ขึ้น หรือราว ๆ สี่ชั่วโมง สุดแท้แต่ฤดูกาล. (บทเพลงสรรเสริญ 63:6) “ต้นยามกลาง” ซึ่งดำเนินตั้งแต่ราว ๆ สี่ทุ่มไปจนถึงตีสองนั่นเอง ที่ฆิดโอนเข้าโจมตีค่ายของพวกมิดยาน. การโจมตีในเวลาเช่นนี้ทำให้พวกยามตกตะลึงโดยสิ้นเชิง. แน่นอน ฆิดโอนผู้รอบคอบคงไม่อาจเลือกเวลาที่มีผลในทางยุทธศาสตร์ได้ดีกว่านี้ในการโจมตีของท่าน!—วินิจฉัย 7:19, ฉบับแปลใหม่.
ในคราวที่มีการอพยพ พระยะโฮวาทรงบันดาลให้ “ลมกล้าพัดมาแต่ทิศตะวันออกตลอดคืนวันนั้น ให้น้ำทะเลไหลกลับ” เปิดโอกาสให้ชนยิศราเอลข้ามไปบนดินแห้ง. ครั้นชาวอียิปต์ตามมาทันพวกเขา ก็เป็นเวลา “รุ่งเช้า” แล้ว และพระยะโฮวาทรงทำให้ค่ายของชาวอียิปต์ตกอยู่ในสภาพสับสนอลหม่าน ในที่สุดก็ทำลายพวกเขาโดยนำน้ำ “กลับคืนสู่สภาพปกติในตอนใกล้รุ่งเช้า.” (เอ็กโซโด 14:21-27, ล.ม.) ดังนั้น ต้องใช้เวลาเกือบทั้งคืนเพื่อให้ทะเลแยกออกและชนยิศราเอลเดินข้ามผ่านทะเลนั้น.
ในศตวรรษแรก
พอถึงศตวรรษแรก พวกยิวได้นำการนับเวลา 12 ชั่วโมงเป็นวันมาใช้. เพราะเหตุนี้ในคำอุทาหรณ์เรื่องหนึ่งของพระเยซู พระองค์ได้ตรัสว่า “แสงตะวันมีอยู่สิบสองชั่วโมงมิใช่หรือ?” (โยฮัน 11:9, ล.ม.) มีการนับเวลานี้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก หรือนับอย่างคร่าว ๆ ตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็น. ด้วยเหตุนี้ “สามโมง” คงจะเป็นเวลาราว ๆ เก้านาฬิกาในตอนเช้า. เวลานี้แหละในวันเพ็นเตคอสเตที่มีการหลั่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมา. เมื่อผู้คนกล่าวหาพวกสาวกว่า “เมาเหล้าองุ่นใหม่” เปโตรได้ขจัดข้อกล่าวหาให้หมดไปทันที. ไม่มีใครจะเมาเหล้าในเวลาเช้าอย่างนั้นแน่ ๆ!—กิจการ 2:13, 15.
ในทำนองเดียวกัน คำแถลงของพระเยซูที่ว่า “อาหารของเราคือการกระทำตามพระประสงค์ของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา” มีความหมายเพิ่มขึ้นเมื่อเราพิจารณาปัจจัยสำคัญเรื่องเวลาที่เกี่ยวข้องด้วย. ตามโยฮัน 4:6 “เป็นประมาณชั่วโมงที่หก” หรือราว ๆ เวลาเที่ยง. ภายหลังการเดินทางอันยากลำบาก ผ่านบริเวณที่เต็มด้วยเนินเขาของซะมาเรียตลอดเช้าแล้ว พระเยซูกับพวกสาวกคงต้องหิวและกระหายน้ำ. เพราะเหตุนั้น พวกสาวกจึงได้เร่งเร้าให้พระองค์เสวยเมื่อพวกเขากลับมาพร้อมกับอาหาร. พวกเขาไม่รู้เลยว่าพระเยซูได้รับพลังและการบำรุงเลี้ยงจากการทำพระราชกิจของพระยะโฮวาสักเพียงไร. ไม่ต้องสงสัยว่าคำแถลงของพระเยซูเป็นยิ่งกว่าภาพพจน์. พระองค์ได้รับการค้ำจุนอย่างแท้จริงโดยการทำพระราชกิจของพระเจ้าถึงแม้ว่านั่นคงต้องเป็นเวลาหลายชั่วโมงหลังจากที่พระองค์ได้เสวยแล้วก็ตาม.—โยฮัน 4:31-34, ล.ม.
เนื่องจากเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูการของปี ตามปกติแล้วมีการแจ้งเวลาของเหตุการณ์โดยประมาณเท่านั้น. ด้วยเหตุนี้ ตามธรรมดาเราอ่านถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในชั่วโมงที่สาม ที่หก หรือที่เก้า—บ่อยครั้งหมายถึงเวลาเหล่านั้นโดยประมาณ. (มัดธาย 20:3, 5; 27:45, 46; มาระโก 15:25, 33, 34; ลูกา 23:44; โยฮัน 19:14; กิจการ 10:3, 9, 30) อย่างไรก็ดี เมื่อหน่วยของเวลาจำเป็นในการบรรยาย ก็มีการแจ้งถ้อยคำที่เจาะจงยิ่งขึ้นในเรื่องเวลา. ตัวอย่างเช่น บ่าวตอบแก่ชายที่กระวนกระวายที่จะทราบว่าบุตรชายของตนมีอาการดีขึ้นจริง ๆ หรือไม่โดยอำนาจของพระเยซูนั้นว่า “เมื่อวานนี้เวลาชั่วโมงที่เจ็ด [ประมาณเวลาบ่ายโมง] ไข้หาย.”—โยฮัน 4:49-54, ล.ม.
การแบ่งแยกกลางคืน
พอถึงสมัยการปกครองของพวกโรมัน ดูเหมือนว่าพวกยิวได้นำการแบ่งแยกกลางคืนของพวกกรีกและโรมันมาใช้เป็นสี่ยามแทนสามยามที่พวกเขาเคยใช้แต่ก่อน. ในมาระโก 13:35 พระเยซูดูเหมือนจะพาดพิงถึงการแบ่งแยกสี่ส่วน. ยาม “หัวค่ำ” นับจากดวงอาทิตย์ตกไปจนกระทั่งเก้านาฬิกาในตอนค่ำ. ยามที่สอง “เที่ยงคืน” เริ่มจากราว ๆ เก้านาฬิกา และจบลงตอนเที่ยงคืน. “เวลาไก่ขัน” ครอบคลุมตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนกระทั่งราว ๆ สามนาฬิกา. และยามสุดท้าย “รุ่งเช้า” สิ้นสุดลงตอนรุ่งอรุณ หรือประมาณหกนาฬิกา.
“ยามไก่ขัน” น่าสนใจโดยเฉพาะเนื่องจากคำตรัสของพระเยซูต่อเปโตรที่มาระโก 14:30 ที่ว่า “ก่อนไก่จะขันสองหน ท่านจะปฏิเสธเราถึงสามครั้ง.” ถึงแม้ผู้อธิบายบางคนยืนยันว่า “สองหน” พาดพิงถึงช่วงระยะเวลาเฉพาะ—เที่ยงคืนกับรุ่งอรุณตามลำดับ—พจนานุกรมเกี่ยวกับพระคริสต์และกิตติคุณ เรียบเรียงโดยเจมส์ แฮสติงส์ ชี้แจงว่า “ตามความเป็นจริง ในตะวันออกเช่นเดียวกับที่อื่นไก่ขันระหว่างกลางคืนในเวลาที่ไม่สม่ำเสมอตั้งแต่เที่ยงคืนเป็นต้นไป.” ปรากฏชัดว่า พระเยซูมิได้พาดพิงถึงเวลาเจาะจงที่เปโตรจะปฏิเสธพระองค์. ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว พระองค์ทรงให้เครื่องหมายเพื่อทำให้คำตรัสของพระองค์ต่อเปโตรปรากฏชัด ซึ่งสมจริงอย่างแม่นยำในคืนนั้นทีเดียว.—มาระโก 14:72.
เป็น “ยามสาม” [ในช่วงยามที่สี่ของคืน, ล.ม.] นั่นเอง—ระหว่างสามกับหกนาฬิกาในตอนเช้า—ที่พระเยซูทรงดำเนินบนน้ำในทะเลฆาลิลาย มาหาพวกสาวกของพระองค์ซึ่งอยู่ในเรือ “กลางทะเล” [ห่างจากแผ่นดินหลายร้อยหลา, ล.ม.] บางทีนั่นคงง่ายที่จะเข้าใจเหตุผลที่พวกสาวก “ตกใจคิดว่าเป็นผี. เขาจึงร้องอื้ออึงขึ้นเพราะความกลัว.” (มัดธาย 14:23-26) อีกด้านหนึ่ง เรื่องนี้แสดงว่าพระเยซูคงต้องใช้เวลามากอธิษฐานตามลำพังบนภูเขา. เนื่องจากเหตุการณ์เกิดไม่นานหลังจากโยฮันผู้ให้รับบัพติสมาถูกเฮโรดอันติปาตัดศีรษะ และก่อนปัศคาพอดี ซึ่งกำหนดการเริ่มต้นของปีสุดท้ายแห่งงานสั่งสอนของพระเยซูทางภาคพื้นโลก พระเยซูมีเรื่องมากมายแน่ ๆ ที่จะคิดรำพึงถึงในคำอธิษฐานเฉพาะตัวถึงพระบิดา.
พร้อมกับเวลาสี่ยาม มีการใช้การนับ 12 ชั่วโมงของยามกลางคืนด้วย. เพื่อที่จะคุ้มกันเปาโลไปยังเมืองกายซาไรอาอย่างปลอดภัย เกลาดิโอ ลุเซีย ผู้บัญชาการทหารได้สั่งเจ้าหน้าที่ให้เตรียมหมู่ทหาร 470 คนไว้ให้พร้อม “ในเวลาสามทุ่มคืนวันนี้ [ในชั่วโมงที่สามของกลางคืน, ล.ม.] (กิจการ 23:23, 24) โดยวิธีนี้เปาโลถูกพาออกจากกรุงยะรูซาเลมอย่างปลอดภัยระหว่างราตรีเข้าครอบงำ.
การทราบโมงยาม
การอ่านและการคิดรำพึงถึงเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในท่ามกลางพลไพร่ของพระเจ้าสมัยโบราณนั้นเป็นบ่อเกิดแห่งความเพลิดเพลินยินดีและความเข้มแข็งฝ่ายวิญญาณ. หากคุณสามารถรวมเอาปัจจัยสำคัญเรื่องเวลาเข้าไว้ในการพิจารณาของคุณแล้ว นั่นจะเพิ่มพูนความยินดีของคุณในการศึกษาพระคัมภีร์อย่างแน่นอน. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เพราะโดยวิธีนี้คุณอาจรอบรู้เป็นอย่างดีในเรื่องพระวจนะของพระเจ้า. หนังสือต่าง ๆ เช่น อินไซท์ ออน เดอะ สคริพเจอร์ส และพระคัมภีร์ฉบับแปลโลกใหม่พร้อมกับข้ออ้างอิง เป็นคู่มืออันล้ำค่าในแง่นี้ (ทั้งสองเล่มพิมพ์โดยสมาคมวอชเทาเวอร์ ไบเบิล แอนด์ แทรกท์ แห่งนิวยอร์ก). หนังสือเหล่านั้นจะช่วยคุณให้พบคำตอบเมื่อคุณถามตัวเองว่า ‘เป็นเวลากี่โมง?’