คัมภีร์ไบเบิลขัดแย้งกันในตัวไหม?
นักประพันธ์เฮ็นรี แวน ไดก์เคยเขียนไว้ครั้งหนึ่งว่า “กำเนิดในตะวันออกกลาง และสวมเสื้อผ้าและใช้ภาพพจน์แบบชาวตะวันออกกลาง คัมภีร์ไบเบิลเดินไปตลอดทั่วโลกด้วยเท้าที่เคยชิน และเข้าสู่ประเทศแล้วประเทศเล่าเพื่อให้ตัวเองปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง. พระคัมภีร์ได้เรียนรู้ที่จะพูดในหลายร้อยภาษาเพื่อเข้าถึงหัวใจของมนุษย์. เด็ก ๆ รับฟังเรื่องราวในพระคัมภีร์ด้วยความพิศวงและความปีติยินดี และพวกนักปราชญ์ไตร่ตรองดูพระคัมภีร์ประดุจเป็นอุปมาอุปไมยของชีวิต. คนชั่วและคนหยิ่งยโสสั่นกลัวต่อคำเตือนของพระคัมภีร์ แต่สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้สำนึกผิดแล้ว พระคัมภีร์มีเสียงของมารดา. . . . ไม่มีใครซึ่งมีสมบัติอันล้ำค่านี้เป็นของตัวเองนั้นยากจนหรืออ้างว้างเปล่าเปลี่ยว.”
คัมภีร์ไบเบิล “ได้เรียนรู้ที่จะพูดในหลายร้อยภาษา” จริง ๆ. อย่างน้อยที่สุดหนึ่งในหนังสือ 66 เล่มของพระคัมภีร์ได้รับการแปลประมาณ 1,970 ภาษา. หลายล้านคนถือว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นของประทานจากพระเจ้าและอ่านพระคัมภีร์ด้วยความเพลิดเพลินและได้ประโยชน์. อย่างไรก็ดี คนอื่น ๆ บอกว่าพระคัมภีร์มีข้อขัดแย้งกัน และเพราะฉะนั้นจึงเชื่อถือไม่ได้. การสำรวจอย่างถี่ถ้วนเผยให้เห็นอะไร?
ดังที่ภาพหน้าปกของเราแสดงให้เห็น พระเจ้าทรงใช้เหล่ามนุษย์ที่ซื่อสัตย์ให้เขียนคัมภีร์ไบเบิล. ที่จริง การวิเคราะห์พระคัมภีร์อย่างถี่ถ้วนเผยให้เห็นว่าพระคัมภีร์ได้รับการเขียนโดยมนุษย์ราว ๆ 40 คนตลอดช่วงระยะ 16 ศตวรรษ. พวกเขาเป็นนักเขียนอาชีพไหม? เปล่าเลย. ในท่ามกลางพวกเขาเราพบว่ามีคนเลี้ยงสัตว์, ชาวประมง, คนเก็บภาษี, นายแพทย์, ช่างทำกระโจม, ปุโรหิต, ผู้พยากรณ์, และกษัตริย์. บ่อยครั้งบทจารึกของพวกเขามักจะกล่าวถึงผู้คนและธรรมเนียมที่พวกเราในศตวรรษที่ 20 ไม่คุ้นเคย. ที่จริง ผู้เขียนพระคัมภีร์เองไม่เข้าใจความหมายของเรื่องที่เขาเขียนนั้นเสมอไป. (ดานิเอล 12:8-10) ดังนั้น เราไม่ควรประหลาดใจหากเราพบบางเรื่องที่เข้าใจยากเมื่ออ่านพระคัมภีร์.
เรื่องที่เข้าใจยากดังกล่าวจะขจัดได้ไหม? คัมภีร์ไบเบิลขัดแย้งกันในตัวเองไหม? เพื่อทราบคำตอบ ขอให้เราพิจารณาดูบางตัวอย่าง.
เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจยากจริง ๆ ไหม?
▪ คายินได้ภรรยาของเขาจากที่ไหน? (เยเนซิศ 4:17)
คนเราอาจคิดว่าภายหลังฆาตกรรมเฮเบล ก็มีแต่คายินพี่ชายผู้มีความผิดและบิดามารดาของเขาเท่านั้นที่เหลืออยู่บนแผ่นดินโลก. แต่อาดามและฮาวามีครอบครัวใหญ่. ตามเยเนซิศ 5:3, 4 นั้น อาดามมีบุตรชายชื่อเซธ. เรื่องราวกล่าวเสริมอีกว่า “ตั้งแต่อาดามมีบุตรชื่อเซธแล้วก็มีอายุยืนไปได้อีกแปดร้อยปี มีบุตรชายหญิงหลายคน.” ดังนั้น คายินได้แต่งงานกับน้องสาว หรือบางทีหลานสาวคนหนึ่งของเขาก็ได้. เนื่องจากมนุษยชาติในตอนนั้นอยู่ใกล้สภาพมนุษย์สมบูรณ์มาก ปรากฏชัดว่าการสมรสเช่นนั้นมิได้ก่อให้เกิดการเสี่ยงทางสุขภาพอย่างที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกหลานจากการแต่งงานในลักษณะดังกล่าวในปัจจุบัน.
▪ ใครขายโยเซฟไปยังอียิปต์?
เยเนซิศ 37:27 บอกว่าพวกพี่ชายของโยเซฟได้ตัดสินใจขายเขาให้ชาวยิศมาเอลบางคน. แต่ข้อถัดไปกล่าวว่า “ขณะนั้นพวกพ่อค้าชาวมิดยานก็มาถึงที่นั่น. พี่ชายก็ฉุดโยเซฟขึ้นมาจากบ่อ ขายให้แก่พวกยิศมาเอลได้เงินยี่สิบแผ่น. พ่อค้านั้นก็พาโยเซฟไปเมืองอายฆุบโต.” เขาขายโยเซฟให้แก่ชาวยิศมาเอลหรือแก่ชาวมิดยาน? ชาวมิดยานอาจถูกเรียกว่าพวกยิศมาเอลด้วยเช่นกัน ผู้ซึ่งพวกเขาเกี่ยวข้องด้วยโดยทางอับราฮามบรรพบุรุษของพวกเขา. หรือไม่ก็พ่อค้าชาวมิดยานอาจเดินทางไปกับกองคาราวานยิศมาเอล. ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พวกพี่ชายของโยเซฟก็ได้ขาย และภายหลังท่านสามารถบอกพวกเขาได้ว่า “เราคือโยเซฟน้องที่ท่านทั้งหลายได้ขายไปยังประเทศอายฆุบโต.”—เยเนซิศ 45:4.
▪ ชาวยิศราเอลกี่คนตายเนื่องจากการมีความสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรมกับผู้หญิงชาวโมอาบ และเพราะเข้าร่วมในการนมัสการพระบาละแห่งพีโอระ?
อาฤธโม 25:9 แจ้งว่า “คนทั้งหลายที่ตายด้วยโรคร้ายกาจ [จากพระเจ้าเพราะพฤติกรรมที่ชั่วช้าของพวกเขา] ครั้งนั้นได้สองหมื่นสี่พันคน.” อย่างไรก็ดี อัครสาวกเปาโลกล่าวว่า “อย่าคบกับหญิงชั่วเหมือนบางคนในพวกเขา [พวกยิศราเอลในถิ่นทุรกันดาร] ได้กระทำ แล้วก็ล้มลงตายในวันเดียวสองหมื่นสามพันคน.” (1 โกรินโธ 10:8) บางทีจำนวนคนที่ถูกสังหารอยู่ระหว่าง 23,000 กับ 24,000 คนเพื่อว่าไม่จำนวนใดก็จำนวนหนึ่งจะใกล้กับความจริง. กระนั้น พระธรรมอาฤธโมชี้แจงเป็นพิเศษว่า “หัวหน้าทั้งหลายของประชาชน” ซึ่งมีส่วนพัวพันในความบาปนี้ถูกสังหารโดยผู้วินิจฉัย. (อาฤธโม 25:4, 5, ฉบับแปลใหม่) อาจมี “หัวหน้า” เหล่านี้ที่มีความผิด 1,000 คน ทำให้มีจำนวนรวมทั้งหมด 24,000 คนเมื่อบวกกับ 23,000 คนที่เปาโลได้กล่าวถึงนั้น. ขณะที่ดูเหมือนว่า 23,000 คนเป็นเหยื่อโดยตรงของภัยพิบัติจากพระเจ้า ทั้ง 24,000 คนได้ประสบภัยพิบัติจากพระยะโฮวา เพราะเขาทุกคนตายภายใต้การพิพากษาของพระองค์อันเป็นผลร้ายต่อพวกเขา.—พระบัญญัติ 4:3.
▪ เนื่องจากอะฆาฆเป็นบุคคลร่วมสมัยกับซาอูลกษัตริย์ยิศราเอล การที่บีละอามกล่าวพาดพิงถึงผู้ครอบครองชาวอะมาเล็คที่มีนามเช่นนั้นในช่วงต้น ๆ ก่อนหน้านั้นตั้งนานไม่ขัดกันหรอกหรือ?
ในราว ๆ ปี 1473 ก่อนสากลศักราช บีละอามได้บอกล่วงหน้าว่ากษัตริย์ยิศราเอลจะ “เป็นใหญ่กว่าอะฆาฆ.” (อาฤธโม 24:7) ภายหลังไม่มีการอ้างอิงถึงอะฆาฆจนกระทั่งรัชสมัยของกษัตริย์ซาอูล (1117-1078 ก่อนสากลศักราช). (1 ซามูเอล 15:8) แต่ทว่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ขัดกัน เพราะ “อะฆาฆ” อาจเป็นบรรดาศักดิ์ของกษัตริย์เช่นเดียวกับฟาโรห์ในอียิปต์ก็ได้. เป็นไปได้เช่นกันว่าอะฆาฆเป็นนามเฉพาะที่ผู้ครอบครองชาวอะมาเล็คใช้ซ้ำ ๆ กัน.
▪ ใครเป็นเหตุให้ดาวิดนับพวกยิศราเอล?
ซามูเอลฉบับสอง 24:1 [ล.ม.] แจ้งว่า “พระยะโฮวาทรงพระพิโรธอันแรงกล้าต่อพวกยิศราเอลอีกครั้ง เมื่อผู้หนึ่งได้เร้าใจดาวิด [หรือ “เมื่อดาวิดถูกเร้าใจ”, หมายเหตุ] ให้ต่อต้านพวกเขา ตรัสว่า ‘จงไปนับชนยิศราเอลและยูดา.’” แต่หาใช่พระยะโฮวาไม่ที่กระตุ้นกษัตริย์ดาวิดให้กระทำผิด เพราะ 1 โครนิกา 21:1 บอกว่า “ซาตาน [หรือ “ผู้ต่อต้าน”, หมายเหตุ] ได้ยืนขึ้นต่อสู้พวกยิศราเอล ดลใจดาวิดให้ตรวจนับพวกยิศราเอล.” พระเจ้าไม่พอพระทัยพวกยิศราเอล และเพราะฉะนั้น ทรงยอมให้ซาตานพญามารนำความผิดนี้มายังพวกเขา. ด้วยเหตุผลเช่นนี้ 2 ซามูเอล 24:1 จึงอ่านเสมือนว่าพระเจ้าทรงทำเช่นนั้นด้วยพระองค์เอง. เป็นที่น่าสนใจ ฉบับแปลของโจเซฟ บี. รอทเทอร์แฮมอ่านว่า “พระพิโรธของยาเวห์ปะทุขึ้นต่อพวกยิศราเอล จนกระทั่งพระองค์ทรงยินยอมให้ดาวิดถูกกระตุ้นให้ต่อต้านพวกเขา โดยตรัสว่า จงไปนับพวกยิศราเอลและยูดา.”
▪ คนเราจะทำให้ตัวเลขที่ต่างกันซึ่งมีการแจ้งไว้สำหรับพวกยิศราเอลและยูดาในการนับของดาวิดนั้นประสานกันได้อย่างไร?
ที่ 2 ซามูเอล 24:9 ตัวเลขคือพวกยิศราเอล 800,000 คน และยูดา 500,000 คน ขณะที่ 1 โครนิกา 21:5 นับจำนวนนักรบของยิศราเอล 1,100,000 คน และยูดา 470,000 คน. ตามปกติทหาร 288,000 คนที่ถูกเกณฑ์เป็นประจำในการรับราชการนั้นถูกแบ่งเป็น 12 หมู่ หมู่ละ 24,000 คน แต่ละหมู่รับใช้หนึ่งเดือนระหว่างปี. มีข้าราชบริพารอีก 12,000 คนจากพวกเจ้านาย 12 คนแห่งตระกูลต่าง ๆ ทำให้มีจำนวนรวมทั้งหมด 300,000 คน. ดูเหมือนว่า 1,100,000 คนใน 1 โครนิกา 21:5 นั้นนับรวมจำนวน 300,000 คนนี้ที่ถูกเกณฑ์อยู่แล้ว ขณะที่ 2 ซามูเอล 24:9 มิได้นับรวม. (อาฤธโม 1:16; พระบัญญัติ 1:15; 1 โครนิกา 27:1-22) เกี่ยวกับยูดานั้น 2 ซามูเอล 24:9 ดูเหมือนจะรวมเอา 30,000 คนในกองทัพสังเกตการณ์ที่ประจำอยู่ตามชายแดนฟะลิศติม แต่ซึ่งไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในจำนวนตัวเลขที่ 1 โครนิกา 21:5. (2 ซามูเอล 6:1) หากเราระลึกว่า 2 ซามูเอลและ 1 โครนิกาเขียนโดยคนละคนซึ่งมีวิธีการมองดูเรื่องราวและความมุ่งหมายที่ต่างกันแล้ว เราก็จะทำให้ตัวเลขลงรอยกันได้อย่างง่ายดาย.
▪ ใครเป็นบิดาของซะอันธิเอล?
ข้อคัมภีร์บางข้อบ่งชี้ว่ายะคันยา (กษัตริย์ยะโฮยาคิน) เป็นบิดาฝ่ายเนื้อหนังของซะอันธิเอล. (1 โครนิกา 3:16-18: มัดธาย 1:12) แต่ลูกาผู้เขียนกิตติคุณเรียกซะอันธิเอลว่า “บุตรของเนรี.” (ลูกา 3:27) ดูเหมือนว่าเนรีได้ยกลูกสาวของเขาให้เป็นภรรยาซะอันธิเอล. เนื่องจากชาวฮีบรูโดยทั่วไปกล่าวพาดพิงถึงลูกเขยว่าเป็นบุตร โดยเฉพาะในรายชื่อลำดับวงศ์วาน ลูกาจึงเรียกซะอันธิเอลได้อย่างเหมาะสมว่าเป็นบุตรของเนรี. ในทำนองเดียวกัน ลูกากล่าวพาดพิงถึงโยเซฟว่าเป็นบุตรของเฮลี ผู้ซึ่งที่จริงแล้วเป็นบิดาของมาเรียภรรยาของโยเซฟ.—ลูกา 3:23.
การทำให้ข้อคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องกับพระเยซูประสานกัน
▪ พระเยซูคริสต์ทรงขับพวกผีซึ่งได้เข้าไปสิงในสุกรฝูงใหญ่นั้นออกจากชายกี่คน?
ผู้เขียนกิตติคุณมัดธายกล่าวถึงชายสองคน แต่มาระโกและลูกาอ้างถึงเพียงคนเดียว. (มัดธาย 8:28; มาระโก 5:2; ลูกา 8:27) ดูเหมือนว่ามาระโกและลูกาดึงความสนใจไปยังชายที่มีผีสิงเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะพระเยซูตรัสกับเขา และกรณีของเขานับว่าเด่นกว่า. บางทีชายคนนั้นบ้าระห่ำมากกว่าหรือทุกข์ทรมานภายใต้การควบคุมผีปีศาจมาเป็นเวลานานกว่า. หลังจากนั้น บางทีชายคนนั้นผู้เดียวต้องการติดตามพระเยซูไป. (มาระโก 5:18-20) ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะคล้ายคลึงกัน มัดธายกล่าวถึงชายตาบอดสองคนที่พระเยซูทรงรักษาให้หาย ขณะที่มาระโกและลูกากล่าวถึงเพียงคนเดียว. (มัดธาย 20:29-34; มาระโก 10:46; ลูกา 18:35) นี้มิใช่เรื่องขัดแย้งกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดก็มีชายเช่นนั้นคนหนึ่ง.
▪ ฉลองพระองค์ที่พระเยซูสวมในวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์นั้นเป็นสีอะไร?
ตามมาระโก (15:17) และโยฮัน (19:2) นั้น พวกทหารเอาเสื้อสีม่วง มาสวมให้พระเยซู. แต่มัดธาย (27:28) เรียกเสื้อนั้นว่า “สีแดงเข้ม” จึงเน้นความแดงของเสื้อนั้น. เนื่องจากสีม่วงเป็นสีที่มีส่วนประกอบของทั้งสีแดงและสีน้ำเงิน มาระโกและโยฮันยอมรับว่าเสื้อคลุมนั้นมีสีแดง. การสะท้อนแสงและฉากหลังอาจทำให้เสื้อนั้นมีหลากสีต่างกัน และผู้เขียนกิตติคุณกล่าวถึงสีจัดที่สุดสำหรับเขา หรือสำหรับคนเหล่านั้นซึ่งเขาได้รับข้อมูลจากพวกเขา. ความผิดแผกกันเล็ก ๆ น้อย ๆ แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้เขียนและพิสูจน์ว่าไม่มีการสมรู้ร่วมคิดกัน.
▪ ใครแบกเสาทรมานของพระเยซู?
โยฮัน (19:17) กล่าวว่า “ฝ่ายพระเยซูทรงแบกกางเขน [เสาทรมาน, ล.ม.] ไปยังที่ซึ่งเขาเรียกว่ากระโหลกศีรษะ ภาษาเฮ็บรายเรียกว่า โฆละโฆธา.” แต่มัดธาย (27:32), มาระโก (15:21) และลูกา (23:26) บอกว่า ‘เมื่อพวกเขาออกไปแล้ว ก็ได้เกณฑ์ซีโมนชาวกุเรเนให้แบกเสาทรมาน.’ พระเยซูแบกเสาทรมานนี้ตามที่โยฮันบอก. แต่ในเรื่องราวที่ย่อกระชับของท่านนั้น โยฮันมิได้เสริมจุดที่ว่า ต่อมาซีโมนได้ถูกเกณฑ์ให้แบกเสาทรมานนั้น. เนื่องจากเหตุนี้ เรื่องราวในกิตติคุณจึงสอดคล้องกันในประเด็นนี้.
▪ ยูดาอิศการิโอดตายอย่างไร?
มัดธาย 27:5 แถลงว่ายูดาผูกคอตาย ส่วนกิจการ 1:18 บอกว่าเขา “ล้มคะมำลงแตกกลางตัวไส้พุงทะลักออกมาทั้งสิ้น.” ขณะที่มัดธายดูเหมือนว่าบรรยายถึงวิธีการของความพยายามที่จะฆ่าตัวตายนั้น กิจการพรรณนาถึงผลพวง. ดูเหมือนว่ายูดาผูกเชือกกับกิ่งของต้นไม้ ใส่บ่วงรอบคอของเขา แล้วพยายามแขวนคอตัวเองโดยกระโดดจากหน้าผา. ดูเหมือนว่าเชือกขาดหรือมิฉะนั้นก็กิ่งไม้หักจนเขาหล่นถลาลงมากระแทกกับโขดหินเบื้องล่าง. ลักษณะภูมิประเทศรอบ ๆ กรุงยะรูซาเลมทำให้การลงความเห็นดังกล่าวมีเหตุผล.
คุณจะมองดูเรื่องราวอย่างไร?
หากเราพบเรื่องที่ดูเหมือนว่าไม่ประสานกันในคัมภีร์ไบเบิลแล้ว นับว่าดีที่จะสำนึกว่าบ่อยครั้งคนเรามักจะพูดเรื่องที่ดูเหมือนขัดแย้งกัน แต่ก็อธิบายหรือเป็นที่เข้าใจได้อย่างง่ายดาย. อาทิเช่น นักธุรกิจคนหนึ่งอาจติดต่อกับใครสักคนทางจดหมายโดยการบอกข้อความของจดหมายนั้นแก่เลขานุการของเขา. หากถูกถาม เขาคงจะพูดว่าเขาส่งจดหมายนั้น. แต่เนื่องจากเลขานุการของเขาพิมพ์และส่งจดหมายนั้นทางไปรษณีย์ เธอจึงพูดได้ว่าเธอส่งจดหมายนั้น. ในทำนองเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกันที่มัดธาย (8:5) บอกว่านายร้อยได้มาขอความกรุณาจากพระเยซู ส่วนลูกา (7:2, 3) บอกว่าชายคนนั้นได้ส่งตัวแทนมา.
ตัวอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นแสดงว่าเรื่องราวที่เข้าใจยากในคัมภีร์ไบเบิลนั้นจะอธิบายได้. เนื่องจากเหตุนี้ มีเหตุผลอันดีที่จะมีเจตคติในแง่บวกต่อพระคัมภีร์. เจตนารมณ์ดังกล่าวได้มีการเสนอแนะไว้ในถ้อยคำเหล่านี้ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ประจำครอบครัวซึ่งพิมพ์ในปี 1876 ว่า:
“เจตนารมณ์อันถูกต้องซึ่งจะจัดการกับเรื่องราวที่เข้าใจยากเหล่านั้นคือ เพื่อขจัดเรื่องนั้น ๆ ออกไปเท่าที่ทำได้ และยึดมั่นและยอมรับความจริงแม้แต่เมื่อไม่สามารถขจัดสิ่งที่ทำให้ไม่ชัดเจนทุกอย่างนั้นออกไปจากความจริงก็ตาม. เราควรเลียนแบบตัวอย่างของอัครสาวกผู้ซึ่ง เมื่อสาวกบางคนรู้สึกขัดเคืองใจเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า ‘ถ้อยคำที่ยากนัก’ จนกระทั่งละทิ้งพระคริสต์ไปนั้น ได้กำจัดข้อขัดข้องทุกอย่างดังนี้: ‘พระองค์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าจะกลับไปหาผู้ใดเล่า? คำซึ่งให้มีชีวิตนิรันดร์นั้นมีอยู่ที่พระองค์ และข้าพเจ้าทั้งหลายเชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.’ . . . เมื่อเราเห็นว่าความจริงเรื่องหนึ่งดูท่าว่าขัดแย้งกับความจริงอีกเรื่องหนึ่ง ขอให้เราพยายามทำให้ความจริงเหล่านั้นประสานลงรอยกัน และโดยวิธีนี้แสดงให้เห็นว่าความจริงเหล่านั้นประสานลงรอยกันกับความจริงทั้งหมด.”—โยฮัน 6:60-69.
คุณจะยึดถือฐานะเช่นนั้นไหม? หลังจากการตรวจสอบเพียงไม่กี่ตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นความประสานกันของพระคัมภีร์แล้ว เป็นที่หวังได้ว่าคุณจะเห็นพ้องกับผู้ประพันธ์บทเพลงสรรเสริญซึ่งทูลพระเจ้าว่า “ลักษณะสำคัญแห่งพระวจนะของพระองค์เป็นความจริง.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:160) พยานพระยะโฮวามีทัศนะเช่นนั้นต่อคัมภีร์ไบเบิลตลอดทั้งเล่ม และยินดีจะให้เหตุผลสำหรับความเชื่อของเขาในพระคัมภีร์นั้น. เชิญพิจารณาหนังสือที่ไม่มีใดเทียบได้เล่มนี้กับพวกเขา ข่าวสารอันทำให้มีกำลังใจของพระคัมภีร์อาจทำให้คุณเปี่ยมด้วยความหวังและความสุขแท้ทีเดียว.
[รูปภาพหน้า 7]
คุณเคยถามพยานพระยะโฮวาไหมว่าทำไมพวกเขามีความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิล?