“เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน”
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในเบนิน
“คนนับล้านตะลึงกับสุริยุปราคา!” หนังสือพิมพ์เดลี กราฟิก ในกานา ประโคมข่าวขึ้นพาดหัวเช่นนั้นหนึ่งวันหลังจากที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 29 มีนาคม 2006. สุริยุปราคาซึ่งเห็นได้ที่แรกทางตะวันออกสุดของบราซิลนั้น พาดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยความเร็วประมาณ 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปถึงประเทศแถบชายฝั่งทะเล เช่น กานา, โตโก, และเบนินโดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 8 นาฬิกาในตอนเช้า. ประเทศทางแถบแอฟริกาตะวันตกเหล่านี้คาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรบ้าง?
สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งสุดท้ายที่คนในประเทศกานาได้เห็นเกิดขึ้นในปี 1947. เตโอดอร์ ซึ่งตอนนั้นอายุ 27 ปีเล่าว่า “หลายคนที่อยู่ในสมัยนั้นไม่เคยเห็นสุริยุปราคามาก่อน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่รู้เลยว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น. ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงพรรณนาปรากฏการณ์ครั้งนั้นว่า ‘เมื่อกลางวันกลายเป็นกลางคืน.’”
รณรงค์ให้รู้กันถ้วนหน้า
พวกเจ้าหน้าที่เริ่มทำการรณรงค์ไปทั่วเพื่อเตือนประชาชนให้รู้ถึงอันตรายที่เกิดจากการมองดูดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าระหว่างที่เกิดสุริยุปราคา. ป้ายโปสเตอร์ต่าง ๆ ที่สะดุดตาในโตโกเตือนว่า “จงป้องกันตาให้ดี! คุณอาจตาบอดได้!”
เจ้าหน้าที่รัฐบาลเน้นย้ำสองทางเลือกคือ หนึ่ง ให้ประชาชนอยู่ภายในบ้าน และดูปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ทางโทรทัศน์. สอง ถ้าอยู่นอกบ้าน ควรสวมแว่นที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับดูสุริยุปราคา. หลายล้านคนเฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์เพื่อจะได้เห็นภาพที่น่าประทับใจนี้ด้วยตัวเอง. อย่างไรก็ตาม หน้าจอเหล่านั้นไม่มีทางที่จะจับภาพบรรยากาศอันน่าตื่นเต้นที่เกิดจากความกระหายใคร่รู้และความโกลาหลวุ่นวายในช่วงก่อนและระหว่างที่เกิดสุริยุปราคาได้. ให้เรานึกภาพย้อนดูเหตุการณ์นั้นด้วยกัน.
ความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยทั่วไปแล้ว เช้าวันนี้ก็ดูปกติเหมือนกับวันอื่น ๆ ในแอฟริกาตะวันตก คือมีแสงแดดจัดและท้องฟ้าโปร่ง. สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นจริง ๆ ไหม? ขณะที่นาฬิกาเดินไปจนจวนจะถึงเวลาที่มีการประกาศไว้ว่าจะเริ่มเกิดสุริยุปราคา คนที่อยู่นอกบ้านก็สวมแว่นตาแล้วแหงนหน้าขึ้นไปดูท้องฟ้า. บางคนใช้โทรศัพท์มือถือโทรไปถามเพื่อนฝูงที่อยู่ในเขตอื่นว่าพวกเขาเห็นอะไรกันบ้าง.
เหนือผู้สังเกตการณ์เหล่านี้ขึ้นไป 350,000 กิโลเมตร ดวงจันทร์ซึ่งแม้ว่าจะมองไม่เห็นในตอนแรกก็ค่อย ๆ เคลื่อนเข้าไปหาดวงอาทิตย์อย่างที่ไม่อาจหยุดยั้งได้. ทันใดนั้น ดวงจันทร์ก็ปรากฏเป็นเงาดำมืดที่เริ่มบดบังดวงอาทิตย์. ความตื่นเต้นเพิ่มทวีขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์คนแล้วคนเล่าเห็นปรากฏการณ์นี้.
ในช่วงหนึ่งชั่วโมงแรก ผู้สังเกตการณ์ไม่ได้สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา. แต่เมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ บดบังดวงอาทิตย์มากขึ้น บรรยากาศก็เปลี่ยนไป. ท้องฟ้าสีครามเริ่มมืดสลัว. อากาศเย็นลง. ถนนที่ติดตั้งระบบไฟแสงสว่างอัตโนมัติและไฟฉุกเฉินก็สว่างขึ้นในขณะที่เช้าวันนั้นกลับค่อย ๆ มืดลง. ถนนก็โล่ง ร้านค้าปิดกันหมด. เสียงร้องจิ๊บ ๆ ของนกเงียบหายไป และสัตว์ทั้งหลายกลับเข้าที่พักอาศัยเตรียมนอนหลับพักผ่อนกัน. ความมืดกำลังแผ่คลุมไปทั่ว. จากนั้นดวงจันทร์ก็บังดวงอาทิตย์มิด แล้วความเงียบสงัดก็เกิดขึ้น.
สุริยุปราคาเต็มดวงที่ไม่อาจลืมได้
ดวงดาวเริ่มเปล่งแสงระยิบระยับ. ชั้นบรรยากาศคอโรนา (ชั้นบรรยากาศนอกสุด) ที่สว่างเรืองรองของดวงอาทิตย์ก็ดูเหมือนกับวงแหวนสีขาวราวไข่มุกปรากฏล้อมรอบดวงจันทร์ที่มืดมิด. จุดแสงอันแวววาวหลายจุดซึ่งเรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดเบลีย์a ก็ส่องแสงเป็นประกายอยู่ตรงขอบนอกของดวงจันทร์ เมื่อแสงอาทิตย์ลอดผ่านหุบเขาและพื้นผิวที่ขรุขระของดวงจันทร์. จากนั้นก็เกิดปรากฏการณ์แหวนเพชรตามมา. แสงวาบสีแดงอมชมพูที่งดงามจับตาก็ปรากฏขึ้นในชั้นบรรยากาศโครโมสเฟียร์ (ชั้นบรรยากาศที่อยู่ต่ำกว่าชั้นคอโรนา). ผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งอุทานออกมาว่า “นี่เป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา มันงดงามอย่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ.”
สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดขึ้นราว ๆ สามนาที. แล้วดวงอาทิตย์ก็เริ่มกลับมาส่องสว่างอีกครั้ง. ผู้สังเกตการณ์หลายคนพากันโห่ร้องยินดี. ท้องฟ้าสว่างขึ้น และดวงดาราทั้งหลายก็หายลับไป. บรรยากาศที่น่ากลัวก็จางหายไปราวกับหมอกยามเช้า.
ดวงจันทร์เป็น “พยานที่ซื่อสัตย์ในท้องฟ้า.” ด้วยเหตุนี้ การเกิดสุริยุปราคาจึงอาจคำนวณเวลาได้หลายศตวรรษล่วงหน้า. (บทเพลงสรรเสริญ 89:37, ล.ม.) คนในแถบแอฟริกาตะวันตกต้องคอยเกือบ 60 ปีจึงได้เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้. สุริยุปราคาเต็มดวงที่จะเห็นได้ในแอฟริกาตะวันตกครั้งหน้าจะเกิดขึ้นในปี 2081. บางทีคุณอาจจะมีโอกาสได้เห็นสุริยุปราคาที่ไม่อาจลืมเลือนได้ในเขตของคุณเร็วกว่านั้น.
[เชิงอรรถ]
a มีการตั้งชื่อนี้ตามชื่อของฟรานซิส เบลีย์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งบันทึกปรากฏการณ์นี้เป็นคนแรกตอนที่เกิดสุริยุปราคาในปี 1836.
[กรอบ/ภาพหน้า 29]
สุริยุปราคาในคราวที่พระเยซูสิ้นพระชนม์หรือ?
มาระโก 15:33 กล่าวว่า “พอถึงเวลาเที่ยงวันก็เกิดความมืดทั่วแผ่นดินจนถึงบ่ายสามโมง.” ความมืดเป็นเวลาสามชั่วโมงตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสามโมงนี้เป็นการอัศจรรย์. ความมืดนั้นจะเป็นสุริยุปราคาไม่ได้. ประการแรก สุริยุปราคาที่อาจเกิดขึ้นได้นานที่สุดไม่ว่าที่ใด ๆ บนโลกนี้จะกินเวลาประมาณเจ็ดนาทีครึ่ง. ประการที่สอง พระเยซูสิ้นพระชนม์ในวันที่ 14 เดือนไนซานตามปฏิทินทางจันทรคติ. วันที่หนึ่งของเดือนไนซานถูกกำหนดให้ตรงกับวันขึ้นหนึ่งค่ำ ซึ่งในตอนนั้นดวงจันทร์จะโคจรมาอยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ จึงอาจทำให้เกิดสุริยุปราคาได้. เมื่อถึงวันที่ 14 เดือนไนซาน ดวงจันทร์โคจรไปครึ่งหนึ่งของวงโคจรแล้ว. ตอนนั้นโลกอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และแทนที่ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์ มันกลับสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่. ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นดวงจันทร์เต็มดวง เป็นบรรยากาศอันยอดเยี่ยมสำหรับการประชุมอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระเยซู.
[รูปภาพ]
วันที่ 14 เดือนไนซาน ตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงหรือใกล้ ๆ กับช่วงเวลานั้นเสมอ
[แผนภูมิ/แผนที่หน้า 29]
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
เส้นทางที่เงามืดของสุริยุปราคาพาดผ่าน
●
⇧
●
⇧
●
⇧ แอฟริกา
เบนิน ●
⇧
โตโก ●
⇧
กานา ●
⇧
●
⇧
●
⇧
●
⇧
●
⇧
●
[ที่มาของภาพ]
Map: Based on NASA/Visible Earth imagery
[ภาพหน้า 28]
สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2006
[ภาพหน้า 28]
แว่นตากันแสงชนิดพิเศษช่วยให้ผู้สังเกตการณ์มองดูสุริยุปราคาได้โดยตรง