เราไม่รู้ว่าการนี้จะสำเร็จที่ไหน!
“ในเวลาเช้าจงหว่านเมล็ดของเจ้าและอย่าวางมือจนกระทั่งเวลาเย็น; เพราะเจ้าไม่รู้ว่าการนี้จะสำเร็จที่ไหน.”—ผู้ป. 11:6, ล.ม.
1. เหตุใดเราจึงรู้สึกทั้งพิศวงและถ่อมใจเมื่อเห็นกระบวนการเติบโตของพืช?
กสิกรจำเป็นต้องอดทน. (ยโก. 5:7) หลังจากหว่านเมล็ดข้าวแล้ว เขาต้องรอให้เมล็ดนั้นงอกและโตขึ้น. เมื่อสภาพการณ์เอื้ออำนวย ต้นอ่อนก็จะค่อย ๆ ทะลุผิวดินขึ้นมาให้เห็น. จากนั้น ต้นอ่อนนั้นก็จะเติบโตต่อไปจนกระทั่งโตเต็มที่และแตกรวง. ในที่สุด กสิกรก็จะมีผืนนาที่พร้อมจะเก็บเกี่ยว. เป็นเรื่องน่าพิศวงจริง ๆ เมื่อได้เห็นการเติบโตอันน่าอัศจรรย์นี้! และเมื่อนึกถึงว่าใครเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเติบโตก็ทำให้เรารู้สึกถ่อมใจด้วย. เราสามารถเพาะเมล็ด. เราสามารถช่วยรดน้ำ. แต่เฉพาะพระเจ้าเท่านั้นสามารถทำให้เมล็ดนั้นเติบโต.—เทียบกับ 1 โครินท์ 3:6.
2. ในตัวอย่างเปรียบเทียบซึ่งได้พิจารณากันไปในบทความที่แล้ว พระเยซูทรงสอนอะไรบ้างเกี่ยวกับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ?
2 ดังกล่าวไปแล้วในบทความก่อน พระเยซูทรงเปรียบงานประกาศเรื่องราชอาณาจักรว่าเป็นเหมือนกับการหว่านเมล็ดพืชของกสิกร. ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องดินชนิดต่าง ๆ พระเยซูทรงเน้นว่าแม้กสิกรหว่านเมล็ดที่ดี แต่สภาพหัวใจของแต่ละคนเป็นตัวกำหนดว่าเมล็ดนั้นจะเติบโตจนเป็นต้นที่โตเต็มที่หรือไม่. (มโก. 4:3-9) ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องผู้หว่านที่นอนหลับ พระเยซูทรงเน้นว่ากสิกรไม่เข้าใจอย่างเต็มที่ว่ากระบวนการเติบโตเป็นอย่างไร. ทั้งนี้เพราะการเติบโตเป็นไปโดยอำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่โดยความพยายามของมนุษย์. (มโก. 4:26-29) ตอนนี้ ให้เรามาพิจารณาตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูอีกสามเรื่อง คือตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดต้นมัสตาร์ด, เรื่องเชื้อ, และเรื่องอวนลาก.a
ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด
3, 4. ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดเน้นแง่มุมอะไรเกี่ยวกับข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร?
3 ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ด ซึ่งก็บันทึกไว้ที่มาระโกบท 4 ด้วย เน้นข้อเท็จจริงสองประการ: ประการแรก การเติบโตอันน่าทึ่งของข่าวสารเรื่องราชอาณาจักร; ประการที่สอง การปกป้องสำหรับคนที่ตอบรับข่าวสาร. พระเยซูตรัสว่า “เราจะเปรียบราชอาณาจักรของพระเจ้ากับอะไร หรือเราจะอธิบายเรื่องราชอาณาจักรโดยเปรียบเหมือนอะไร? ก็เหมือนเมล็ดมัสตาร์ดเมล็ดหนึ่งซึ่งตอนที่เพาะในดินนั้นเป็นเมล็ดพืชที่เล็กที่สุดในบรรดาเมล็ดพืชบนแผ่นดินโลก แต่เมื่อเพาะแล้ว มันก็งอกขึ้นและกลายเป็นต้นใหญ่กว่าผักอื่น ๆ ทั้งหมด และแตกกิ่งก้านขนาดใหญ่จนนกในท้องฟ้ามาอาศัยอยู่ใต้ร่มมันได้.”—มโก. 4:30-32.
4 ในที่นี้ เราพบภาพพรรณนาถึงการเติบโตของ “ราชอาณาจักรของพระเจ้า” ซึ่งเห็นได้จากการแพร่กระจายข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรและการเติบโตของประชาคมคริสเตียนนับตั้งแต่วันเพนเทคอสต์สากลศักราช 33 เป็นต้นมา. เมล็ดมัสตาร์ดเป็นเมล็ดขนาดจิ๋ว จึงเหมาะจะใช้หมายถึงสิ่งที่เล็กมาก. (เทียบกับลูกา 17:6.) แต่ในที่สุด ต้นมัสตาร์ดอาจโตจนสูง 3 ถึง 5 เมตร และมีกิ่งแข็งแรง จนเกือบจะเรียกว่าเป็นต้นไม้ได้.—มัด. 13:31, 32.
5. ประชาคมคริสเตียนในศตวรรษแรกมีการเติบโตอย่างไร?
5 การเติบโตของประชาคมคริสเตียนเริ่มต้นโดยมีขนาดเล็ก ๆ ในสากลศักราช 33 เมื่อสาวก 120 คนได้รับการเจิมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์. ภายในช่วงเวลาค่อนข้างสั้น ประชาคมแห่งเหล่าสาวกซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ นี้กลายเป็นประชาคมที่ประกอบไปด้วยผู้มีความเชื่อหลายพันคน. (อ่านกิจการ 2:41; 4:4; 5:28; 6:7; 12:24; 19:20.) ภายในสามทศวรรษ จำนวนคนงานเกี่ยวได้เพิ่มขึ้นมากจนอัครสาวกเปาโลกล่าวกับประชาคมโกโลซายได้ว่า ข่าวดีได้มีการ “ประกาศท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลายที่อยู่ใต้ฟ้า.” (โกโล. 1:23) นับเป็นการเติบโตที่โดดเด่นจริง ๆ!
6, 7. (ก) มีการแผ่ขยายเช่นไรนับตั้งแต่ปี 1914? (ข) จะมีการเติบโตอะไรเกิดขึ้นอีก?
6 นับตั้งแต่การสถาปนาราชอาณาจักรของพระเจ้าในสวรรค์ในปี 1914 กิ่งก้านสาขาของต้นมัสตาร์ดก็ขยายใหญ่โตจนเกินความคาดหมาย. ประชาชนของพระเจ้าได้เห็นความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ตามที่ยะซายาบันทึกไว้ว่า “คนจิ๋วจะเพิ่มเป็นจำนวนพัน และคนตัวเล็กจะเพิ่มเป็นชนชาติใหญ่.” (ยซา. 60:22, ล.ม.) ชนผู้ถูกเจิมกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งร่วมทำงานราชอาณาจักรในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่มีทางนึกภาพออกเลยว่าเมื่อถึงปี 2008 จะมีพยานฯเกือบเจ็ดล้านคนทำงานนี้ในกว่า 230 ดินแดน. ช่างเป็นการเติบโตที่น่าทึ่งจริง ๆ ซึ่งเทียบได้กับการเติบโตของเมล็ดมัสตาร์ดในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซู!
7 แต่การเติบโตหยุดอยู่แค่นั้นไหม? ไม่. ในที่สุด ทุกคนที่มีชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกจะเป็นราษฎรราชอาณาจักรของพระเจ้า. ผู้ต่อต้านทั้งสิ้นจะถูกทำลาย. การทำลายดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ แต่จะเกิดขึ้นโดยที่พระยะโฮวา พระเจ้าองค์ใหญ่ยิ่ง จะทรงเข้าแทรกแซงกิจการทั้งหลายในแผ่นดินโลก. (อ่านดานิเอล 2:34, 35.) ถึงตอนนั้น เราก็จะเห็นความสำเร็จในขั้นสุดท้ายของคำพยากรณ์อีกข้อหนึ่งซึ่งยะซายาบันทึกไว้ ที่ว่า “แผ่นดินโลกจะเต็มไปด้วยความรู้ฝ่ายพระยะโฮวาดุจน้ำท่วมเต็มมหาสมุทร.”—ยซา. 11:9.
8. (ก) นกในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูหมายถึงใคร? (ข) เราได้รับการปกป้องไว้จากอะไรแม้แต่ในเวลานี้?
8 พระเยซูตรัสว่านกในท้องฟ้าสามารถมาอาศัยอยู่ใต้ร่มของราชอาณาจักรนี้. นกเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงศัตรูของราชอาณาจักรซึ่งพยายามจิกกินเมล็ดที่ดี ซึ่งเป็นความหมายของนกในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนที่หว่านเมล็ดพืชซึ่งตกลงบนดินชนิดต่าง ๆ. (มโก. 4:4) แทนที่จะเป็นอย่างนั้น นกในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้หมายถึงคนที่มีหัวใจชอบธรรมซึ่งแสวงหาเพื่อจะได้รับการปกป้องภายในประชาคมคริสเตียน. แม้แต่ในเวลานี้ คนเหล่านี้ได้รับการปกป้องจากนิสัยที่ทำให้เป็นมลทินฝ่ายวิญญาณและกิจปฏิบัติต่าง ๆ ที่ไม่สะอาดของโลกชั่วนี้. (เทียบกับยะซายา 32:1, 2.) คล้ายกัน พระยะโฮวาทรงเปรียบราชอาณาจักรมาซีฮาว่าเหมือนกับต้นไม้และตรัสพยากรณ์ไว้ว่า “เราจะปลูกมันไว้บนภูเขาอันสูงแห่งยิศราเอล, มันจะยื่นกิ่งสูงขึ้นและเกิดผล, จะเป็นต้นสนอันงดงามประเสริฐ, และนกมีปีกทั้งปวงทุกอย่างจะอยู่ใต้ต้นไม้นั้น. มันจะอาศัยในร่มกิ่งทั้งปวงแห่งต้นไม้นั้น.”—ยเอศ. 17:23.
ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ
9, 10. (ก) พระเยซูทรงเน้นจุดสำคัญอะไรในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ? (ข) ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่าเชื้อมักใช้หมายถึงอะไร และเราจะพิจารณาคำถามอะไรเกี่ยวกับการที่พระเยซูตรัสถึงเชื้อ?
9 การเติบโตไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาของมนุษย์เราเสมอไป. ในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องต่อไป พระเยซูทรงเน้นจุดนี้. พระองค์ตรัสว่า “ราชอาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนเชื้อที่ผู้หญิงเอาผสมในแป้งหนึ่งถังจนเชื้อแผ่ไปทั่วทั้งก้อน [“จนแป้งนั้นฟูขึ้นทั้งหมด,” ฉบับแปลใหม่].” (มัด. 13:33) เชื้อนี้หมายถึงอะไร และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเติบโตของราชอาณาจักร?
10 ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่าเชื้อมักใช้หมายถึงบาป. อัครสาวกเปาโลอ้างถึงเชื้อในความหมายนี้เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลที่ทำให้เสื่อมเสียของคนบาปในประชาคมโครินท์โบราณ. (1 โค. 5:6-8) ในที่นี้พระเยซูทรงใช้เชื้อเพื่อหมายถึงการเติบโตของบางสิ่งบางอย่างในแง่ลบไหม?
11. เชื้อถูกใช้อย่างไรในชาติอิสราเอลสมัยโบราณ?
11 เพื่อจะตอบคำถามดังกล่าว เราจำเป็นต้องสังเกตข้อเท็จจริงพื้นฐานสามประการก่อน. ประการแรก แม้พระยะโฮวาไม่อนุญาตให้ใส่เชื้อในช่วงเทศกาลปัศคา แต่ในเวลาอื่นพระองค์ทรงยอมรับเครื่องบูชาที่ใส่เชื้อ. เชื้อถูกใช้ในการถวายเครื่องบูชาสมานไมตรี ซึ่งผู้ถวายถวายด้วยความสมัครใจเพราะรู้สึกขอบคุณพระพรมากมายที่ได้รับจากพระยะโฮวา. อาหารมื้อนี้ทำให้ผู้มีส่วนร่วมชื่นชมยินดี.—เลวี. 7:11-15.
12. เราอาจเรียนอะไรได้จากวิธีที่คัมภีร์ไบเบิลใช้สัญลักษณ์?
12 ประการที่สอง แม้ว่าในที่หนึ่งอาจมีการใช้สัญลักษณ์อย่างหนึ่งในพระคัมภีร์โดยมีความหมายแฝงในแง่ลบ แต่ในอีกที่หนึ่งสัญลักษณ์เดียวกันอาจถูกใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นแง่บวก. ตัวอย่างเช่น ที่ 1 เปโตร 5:8 ซาตานถูกเปรียบเหมือนกับสิงโต ซึ่งทำให้นึกถึงลักษณะที่อันตรายและดุร้ายของมัน. แต่ที่วิวรณ์ 5:5 พระเยซูทรงถูกเปรียบว่าเป็นสิงโต—“สิงโตแห่งตระกูลยูดาห์.” ในกรณีหลังนี้ สิงโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของความยุติธรรมอันเปี่ยมด้วยความกล้าหาญ.
13. ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องเชื้อแสดงให้เห็นอะไรเกี่ยวกับการเติบโตฝ่ายวิญญาณ?
13 ประการที่สาม ในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซู พระองค์ไม่ได้ตรัสว่าเชื้อนั้นทำให้แป้งทั้งก้อนเสียหรือใช้ไม่ได้. พระองค์เพียงแต่ตรัสถึงกระบวนการตามปกติของการทำขนมปัง. แม่บ้านตั้งใจใส่เชื้อลงไป และผลที่ได้ก็เป็นในแง่ดี. เชื้อถูกผสม [“ถูกซ่อน,” เชิงอรรถ] ในก้อนแป้ง. ด้วยเหตุนั้น กระบวนการที่เชื้อทำให้ขนมปังฟูจึงถูกซ่อนไว้จากสายตาของแม่บ้าน. เรื่องนี้ทำให้เรานึกถึงคนที่หว่านเมล็ดพืชแล้วก็นอนหลับในตอนกลางคืน. พระเยซูตรัสว่า “เมล็ดนั้นงอกและเติบโตขึ้นอย่างไรเขาไม่รู้.” (มโก. 4:27) นับเป็นวิธีง่าย ๆ ในการอธิบายขั้นตอนการเติบโตฝ่ายวิญญาณซึ่งมองไม่เห็น! เราอาจมองไม่เห็นการเติบโตในตอนแรก แต่ในที่สุด ผลของการเติบโตนั้นก็จะปรากฏชัด.
14. แง่ใดของงานประกาศที่มีการเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่าเชื้อทำให้แป้งทั้งก้อนฟู?
14 ไม่เพียงแต่การเติบโตนี้ไม่ปรากฏต่อสายตามนุษย์เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกด้วย. นี่เป็นอีกแง่หนึ่งซึ่งมีการเน้นในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ. เชื้อนั้นทำให้แป้งทั้งก้อนฟู. (ลูกา 13:21, ฉบับแปลใหม่) เช่นเดียวกับเชื้อ งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรซึ่งได้ทำให้เกิดการเพิ่มทวีจำนวนของเหล่าสาวกได้ขยายจนถึงจุดที่ในเวลานี้มีการประกาศเรื่องราชอาณาจักร “จนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก.” (กิจ. 1:8; มัด. 24:14) ช่างเป็นสิทธิพิเศษอันยอดเยี่ยมจริง ๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการแผ่ขยายงานราชอาณาจักรที่น่าทึ่งนี้!
อวนลาก
15, 16. (ก) จงเล่าสั้น ๆ ถึงตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลาก. (ข) อวนลากหมายถึงอะไร และตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ชี้ถึงแง่ใดของการเติบโตของราชอาณาจักร?
15 สิ่งที่สำคัญกว่าจำนวนของคนที่อ้างว่าเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์ก็คือคุณภาพของสาวกเหล่านั้น. พระเยซูชี้ถึงแง่นี้ของการเติบโตของราชอาณาจักรเมื่อพระองค์ทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบอีกเรื่องหนึ่ง คือตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลาก. พระองค์ตรัสว่า “อีกประการหนึ่ง ราชอาณาจักรสวรรค์เปรียบเหมือนอวนลากที่หย่อนลงในทะเลและรวบรวมเอาปลาทุกชนิดมา.”—มัด. 13:47.
16 อวนลาก ซึ่งหมายถึงงานประกาศเรื่องราชอาณาจักร รวบรวมเอาปลาทุกชนิดมา. พระเยซูตรัสต่อไปอีกว่า “เมื่ออวนเต็มแล้วชาวประมงก็ลากขึ้นชายหาดและนั่งคัดเอาปลาดี ๆ ใส่ถัง ส่วนปลาที่ไม่ดีพวกเขาก็ทิ้งไป. ในช่วงสุดท้ายของยุคจะเป็นอย่างนั้นแหละ เหล่าทูตสวรรค์จะออกไปแยกคนชั่วออกจากคนชอบธรรม และจะโยนพวกเขาเข้าไปในเตาไฟอันร้อนแรง. ที่นั่นพวกเขาจะร้องไห้และขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน.”—มัด. 13:48-50.
17. การคัดแยกที่ถูกกล่าวถึงในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลากเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด?
17 การแยกดังกล่าวหมายถึงการพิพากษาในขั้นสุดท้ายต่อแกะและแพะซึ่งพระเยซูตรัสว่าจะเกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จมาในฐานะที่มีเกียรติอันรุ่งโรจน์ไหม? (มัด. 25:31-33) ไม่. การพิพากษาในขั้นสุดท้ายนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อพระเยซูเสด็จมาในช่วงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. แต่การแยกที่กล่าวถึงในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลากเกิดขึ้นใน “ช่วงสุดท้ายของยุค”b คือเวลาที่เรากำลังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะถึงความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่. ถ้าอย่างนั้นงานคัดแยกดังกล่าวกำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้อย่างไร?
18, 19. (ก) งานคัดแยกกำลังดำเนินอยู่อย่างไรในเวลานี้? (ข) คนที่มีหัวใจสุจริตต้องทำอะไร? (ดูเชิงอรรถในหน้า 21 ด้วย.)
18 ปลาโดยนัยจำนวนหลายล้านจากทะเลแห่งมนุษยชาติได้ถูกดึงดูดเข้าสู่ประชาคมของพระยะโฮวาในสมัยปัจจุบัน. บางคนเข้าร่วมการประชุมอนุสรณ์ บางคนเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ของประชาคม และอีกหลายคนตอบตกลงศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. แต่คนทั้งหมดนี้พิสูจน์ตัวว่าเป็นคริสเตียนแท้ไหม? พวกเขาอาจถูก “ลากขึ้นชายหาด” แต่พระเยซูทรงบอกเราว่าเฉพาะ “ปลาดี ๆ” เท่านั้นที่ถูกคัดใส่ถังซึ่งหมายถึงประชาคมคริสเตียน. ปลาโดยนัยที่ไม่ดีถูกทิ้งไป และในที่สุดจะถูกโยนเข้าในเตาไฟโดยนัยอันร้อนแรงซึ่งหมายถึงการทำลายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.
19 เหมือนกับปลาที่ไม่ดี หลายคนซึ่งเคยศึกษากับประชาชนของพระยะโฮวาได้เลิกศึกษาไป. บางคนซึ่งเกิดมาโดยมีบิดามารดาเป็นคริสเตียนไม่เคยต้องการเป็นสาวกที่ดำเนินตามรอยพระบาทพระเยซูเลย. พวกเขาไม่ยอมตัดสินใจรับใช้พระยะโฮวาหรือหลังจากที่รับใช้พระองค์ระยะหนึ่งก็เลิกรับใช้พระองค์.c (ยเอศ. 33:32, 33) อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องจำเป็นอย่างแท้จริงที่ผู้มีหัวใจสุจริตทั้งหมดต้องยอมให้ตัวเขาเองถูกรวบรวมเข้าสู่ประชาคมที่เปรียบเหมือนถังใส่ปลาก่อนจะถึงวันสุดท้ายแห่งการพิพากษา และอยู่ในที่ปลอดภัยต่อ ๆ ไป.
20, 21. (ก) เราได้เรียนรู้อะไรจากการทบทวนตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเกี่ยวกับการเติบโต? (ข) คุณตั้งใจแน่วแน่จะทำอะไร?
20 ดังนั้น เราได้เรียนอะไรจากการทบทวนกันสั้น ๆ ในเรื่องตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเกี่ยวกับการเติบโต? ประการแรก เช่นเดียวกับการเติบโตของเมล็ดมัสตาร์ด คนที่สนใจข่าวสารเรื่องราชอาณาจักรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายบนแผ่นดินโลก. ไม่มีสิ่งใดจะหยุดยั้งการแผ่ขยายงานของพระยะโฮวาได้! (ยซา. 54:17) นอกจากนี้ มีการจัดเตรียมเพื่อให้การปกป้องฝ่ายวิญญาณแก่คนที่ “มาอาศัยอยู่ใต้ร่ม [ต้นมัสตาร์ด] ได้.” ประการที่สอง พระเจ้าทรงเป็นผู้ทำให้เติบโต. เช่นเดียวกับที่เชื้อซึ่งถูกผสมลงไปนั้นแผ่ไปทั่วทั้งก้อน การเติบโตนี้อาจมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจชัดเจนเสมอไป แต่ก็มีการแผ่ขยายเกิดขึ้นจริง ๆ! ประการที่สาม ไม่ใช่ทุกคนที่ตอบรับพิสูจน์ตัวว่าเป็นคนที่เหมาะสม. บางคนเป็นเหมือนกับปลาไม่ดีในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซู.
21 อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ให้กำลังใจจริง ๆ ที่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมมากมายกำลังถูกชักนำเข้ามาโดยพระยะโฮวา! (โย. 6:44) ทั้งนี้ทำให้เกิดการเพิ่มทวีอย่างโดดเด่นในหลายประเทศ. คำสดุดีทั้งสิ้นสำหรับการเติบโตนี้ควรให้แก่พระยะโฮวาพระเจ้า. เมื่อเห็นการเติบโตเช่นนี้ เราแต่ละคนควรได้รับการกระตุ้นให้เชื่อฟังคำแนะนำซึ่งเขียนมาหลายศตวรรษแล้ว ที่ว่า “ในเวลาเช้าจงหว่านเมล็ดของเจ้า . . . เพราะเจ้าไม่รู้ว่าการนี้จะสำเร็จที่ไหน ที่นี่หรือที่นั่น หรือว่าทั้งสองที่จะดีเหมือนกัน.”—ผู้ป. 11:6, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a ในคำอธิบายต่อจากนี้มีการปรับเปลี่ยนความเข้าใจบางจุดที่เคยอธิบายไว้ในหอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 มิถุนายน 1992 หน้า 17-22 และฉบับ 15 มีนาคม 1976 หน้า 166-188.
b แม้ว่ามัดธาย 13:39-43 กล่าวถึงอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างกันของงานประกาศราชอาณาจักร แต่เวลาที่สำเร็จเป็นจริงเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลาก นั่นคือ ระหว่าง “ช่วงสุดท้ายของยุค.” การแยกปลาโดยนัยดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่อง แบบเดียวกับที่การหว่านและงานเกี่ยวก็กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลานี้.—หอสังเกตการณ์ ฉบับ 15 ตุลาคม 2000 หน้า 25-26; จงนมัสการพระเจ้าเที่ยงแท้องค์เดียว หน้า 178-181 วรรค 8-11.
c นี่หมายความว่าทุกคนที่เลิกศึกษาหรือเลิกคบหากับประชาชนของพระยะโฮวาเป็นเหมือนกับปลาไม่ดีที่ถูกโยนทิ้งโดยเหล่าทูตสวรรค์ไหม? ไม่! ถ้ามีใครที่ปรารถนาอย่างจริงใจจะกลับมาหาพระยะโฮวา พระองค์ก็จะยินดีต้อนรับพวกเขา.—มลคี. 3:7.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดสอนเราอย่างไรเกี่ยวกับการเติบโตของราชอาณาจักรและการปกป้องฝ่ายวิญญาณ?
• เชื้อในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูหมายถึงอะไร และพระเยซูทรงเน้นข้อเท็จจริงอะไรเกี่ยวกับการเติบโตของราชอาณาจักร?
• มีการชี้ให้เห็นแง่มุมอะไรเกี่ยวกับการเติบโตของราชอาณาจักรในตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องอวนลาก?
• เราจะทำให้แน่ใจได้อย่างไรว่าเรายังคงอยู่ท่ามกลางคนที่ถูก ‘คัดใส่ถัง’?
[ภาพหน้า 18]
ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเมล็ดมัสตาร์ดสอนเราในเรื่องใดเกี่ยวกับการเพิ่มทวีของราชอาณาจักร?
[ภาพหน้า 19]
เราเรียนรู้อะไรจากตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องเชื้อ?
[ภาพหน้า 21]
การคัดแยกปลาดี ๆ ออกจากปลาที่ไม่ดีเป็นภาพแสดงถึงอะไร?