คริสต์มาส—เป็นวิธีที่จะต้อนรับพระเยซูไหม?
การประสูติของพระผู้ช่วยให้รอด พระมาซีฮาที่รอคอยกันมานานแล้วนั้น เป็นวาระสำหรับความปีติยินดีอย่างแท้จริง. ทูตสวรรค์องค์หนึ่งได้ประกาศแก่พวกคนเลี้ยงแกะในบริเวณใกล้เมืองเบธเลเฮมว่า “นี่แน่ะ เรานำข่าวดีมาประกาศแก่ท่านทั้งหลายซึ่งจะให้เป็นที่ชื่นชมยินดีเป็นอันมากแก่คนทั้งปวง คือว่าในวันนี้พระผู้ช่วยให้รอดของท่านทั้งหลายคือพระคริสต์เจ้ามาบังเกิด.” ทูตสวรรค์จำนวนมากมายได้ร่วมสมทบในการสรรเสริญพระเจ้าว่า “รัศมีภาพจงมีแก่พระเจ้าในที่สูงสุด และบนแผ่นดินโลก จงมีความสุขสงบสำราญท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงซึ่งพระองค์ทรงรักใคร่นั้น.” (ลูกา 2:10-14) บางคนอาจสรุปว่าคริสเตียนควรเลียนแบบพวกทูตสวรรค์ในการแสดงออกซึ่งความยินดีในการที่พระคริสต์เสด็จมายังแผ่นดินโลกย้อนหลังไปในครั้งนั้น.
นี้มิใช่บันทึกแรกของพระคัมภีร์เกี่ยวกับทูตสวรรค์ที่เปล่งเสียงร้องเพลงสรรเสริญ. เมื่อมีการวางรากพิภพ “ดาวประจำรุ่งแซ่ซ้องสรรเสริญ และเหล่าบุตรของพระเจ้าส่งเสียงแสดงความยินดี.” (โยบ 38:4-7) วันเวลาที่แน่ชัดของเหตุการณ์นี้มิได้มีการบันทึกไว้ในพระคัมภีร์. (เยเนซิศ 1:1, 14–18) วาระนั้นอาจเป็นที่น่าปีติยินดีอย่างไรก็แล้วแต่ คริสเตียนมิได้อ้างเหตุผลว่า เพราะพวกทูตสวรรค์โห่ร้องปรบมือ พวกเขาจึงควรฉลองการสร้างพิภพประจำปี และบางทีรับเอาการฉลองแบบนอกรีตเพื่อระลึกถึงโอกาสนั้น.
ถึงกระนั้น นั่นคือสิ่งที่ประชาชนผู้ฉลองคริสต์มาสกระทำต่อการประสูติของพระเยซูคริสต์ทีเดียว. การพลิกดูสารานุกรมแทบทุกเล่มที่เชื่อถือได้ ภายใต้หัวเรื่อง “คริสต์มาส” ยืนยันว่าวันเดือนปีที่พระเยซูประสูตินั้นไม่เป็นที่รู้จัก. พระคัมภีร์มิได้บอกวันเดือนปีนั้น.
“ถ้าแตรเดี่ยวนั้นเปล่งเสียงไม่ชัดเจน”
ในการแก้ไขความวุ่นวายของประชาคมในเมืองโกรินโธโบราณ อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่า “พระเจ้ามิใช่พระเจ้าแห่งความยุ่งเหยิง แต่เป็นพระเจ้าแห่งสันติสุข.” ในบริบทเดียวกันนั้น ท่านได้ถามว่า “ถ้าแตรเดี่ยวนั้นเปล่งเสียงไม่ชัดเจน ใครเล่าจะเตรียมตัวเข้าประจัญบานข้าศึก?” (1 โกรินโธ 14:8, 33, ล.ม.) หากพระเจ้าแห่งความเป็นระเบียบทรงมุ่งหมายจะให้คริสเตียนฉลองการประสูติของพระบุตรของพระองค์บนแผ่นดินโลกแล้ว พระองค์จะปล่อยให้มนุษย์ไม่สมบูรณ์เลือกเอาวันที่จากการฉลองแบบนอกรีตนั้นตามอำเภอใจและรับเอากิจปฏิบัติที่ขัดกับหลักการของพระเจ้าไหม?
การตรวจสอบตัวอย่างจากพระคัมภีร์บางเรื่องให้ความกระจ่างแจ้งว่าพระยะโฮวาพระเจ้ามิได้ปฏิบัติกับพลไพร่ของพระองค์ในวิธีเช่นนั้น. เมื่อพระองค์ทรงเรียกร้องชนยิศราเอลให้ถือการฉลองประจำปีภายใต้พระบัญญัติของโมเซ พระเจ้าทรงระบุวันเวลาที่เจาะจงแน่นอนและแจ้งให้พวกเขาทราบวิธีฉลองในโอกาสของเทศกาลเหล่านั้น. (เอ็กโซโด 23:14-17; เลวีติโก 23:34-43) ถึงแม้พระเยซูคริสต์ไม่เคยรับสั่งให้ฉลองเพื่อระลึกถึงการประสูติของพระองค์ก็ตาม พระองค์ทรงสั่งพวกสาวกของพระองค์ให้ฉลองวันหนึ่งเฉพาะ. “ในกลางคืนวันนั้นเมื่อเขาทรยศขายพระเยซูเจ้า” วันที่ 14 เดือนไนซาน พระเยซูทรงริเริ่มการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า โดยใช้ขนมปังไม่มีเชื้อและเหล้าองุ่น. พระองค์ทรงบัญชาว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” (1 โกรินโธ 11:23, 24) เสียงแตรในเรื่องที่ว่าจะฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าเมื่อไรและโดยวิธีใดนั้นชัดเจนและไม่ผิดพลาด. ถ้าเช่นนั้นจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับคริสต์มาส? ไม่มีที่ไหนในพระคัมภีร์ที่เราพบคำสั่งใด ๆ ที่ให้ฉลองการประสูติของพระคริสต์ ทั้งพระคัมภีร์ก็มิได้บอกเราว่า เมื่อไร หรือโดยวิธีใด?
‘เพื่อชนะใจคน’
นักเทศน์คนหนึ่ง ณ คริสต์จักรโตเกียวซีโอนบอกว่า “อ๋อ แน่ละ ผมรู้ว่าคริสต์มาสมีต้นตอมาจากพวกนอกรีต แต่ตราบใดที่สามัญชนสนใจในศาสนาคริสเตียนในวันที่ 25 ธันวาคม และมาเรียนรู้คำสอนของพระเยซูผู้ทรงพระเกียรติ คริสต์มาสก็มีตำแหน่งอยู่ในศาสนาคริสเตียน.” หลายคนเห็นพ้องกับการชักเหตุผลของเขา. คุณเชื่อว่าการยอมอะลุ้มอล่วยดังกล่าวนั้นถูกต้องไหม?
บางคนโต้แย้งว่าแม้กระทั่งเปาโลก็ได้ยอมอะลุ้มอล่วยเพื่อจะได้ผู้เชื่อถือ. ท่านเขียนว่า “ข้าพเจ้าทำตัวเป็นทาสของทุก ๆ คน เพื่อที่จะชนะใจคนมากเท่าที่เป็นไปได้ . . . เมื่อทำงานกับคนต่างชาติ ข้าพเจ้าดำเนินชีวิตเหมือนคนต่างชาติ ที่อยู่นอกพระบัญญัติของพวกยิว เพื่อที่จะชนะใจคนต่างชาติ . . . ข้าพเจ้าทำสิ่งทั้งหมดนี้เพราะเห็นแก่กิตติคุณ เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในพระพรแห่งกิตติคุณนั้น.” (1 โกรินโธ 9:19-23, ทูเดย์ส อิงลิช เวอร์ชัน) ถ้อยคำเหล่านี้อ้างเหตุผลสนับสนุนการรับเอาการฉลองแบบนอกรีตเพื่อดึงดูดใจคนต่างชาติมายังศาสนาคริสเตียนไหม?
จงพิจารณาบริบทแห่งคำแถลงของเปาโลอย่างถี่ถ้วน. ในข้อ 21 ท่านกล่าวว่า “นี้มิได้หมายความว่า ข้าพเจ้าไม่เชื่อฟังกฎหมายของพระเจ้า; ข้าพเจ้าอยู่ภายใต้กฎหมายของพระคริสต์อย่างแท้จริง.” (ทีอีวี) ดังนั้น ท่านมิได้อะลุ้มอล่วยในเรื่องต่าง ๆ ที่ล่วงล้ำกฎหมายของพระคริสต์ แต่ท่านดำเนินชีวิตเหมือนคนต่างชาติ โดยการนับถือธรรมเนียมและนิสัยของท้องถิ่น ตราบเท่าที่สิ่งเหล่านี้ไม่ขัดกับพระบัญญัติของคริสเตียน.a
โดยคำนึงถึงเรื่องนี้ จงคิดดูว่าการรับเอาการฉลองแบบนอกรีตเข้ามาใน “ศาสนาคริสเตียน” ภายใต้ชื่อคริสต์มาสนั้น จะปรากฏว่าเป็นอย่างไรเมื่อมองดูตามลักษณะของคำสั่งในพระคัมภีร์ต่อไปนี้: “อย่าเข้าเทียมแอกกับคนไม่มีความเชื่อ. เพราะความชอบธรรมจะเป็นมิตรอย่างไรกับการละเลยกฎหมาย? . . . หรือบุคคลซื่อสัตย์จะมีส่วนอะไรกับคนไม่มีความเชื่อ? . . . พระยะโฮวาทรงรับสั่งว่า ‘เหตุฉะนั้น จงออกมาจากท่ามกลางเขาเหล่านั้น และแยกตัวอยู่ต่างหาก และเลิกแตะต้องสิ่งที่เป็นมลทิน และเราจะรับเจ้าไว้.’” (2 โกรินโธ 6:14-17, ล.ม.) ไม่ว่าอาจมีการเสนอข้อแก้ตัวอะไรให้ก็ตาม การปลอมปนศาสนาคริสเตียนกับการฉลองแบบนอกรีตมิใช่วิธีที่จะต้อนรับพระเยซูฐานะเป็นพระผู้ช่วยให้รอด. คงจะไม่เหมาะสมทั้งในศตวรรษแรกเมื่อพระเยซูเสด็จมาในสภาพเนื้อหนัง และก็ไม่เหมาะสมในทุกวันนี้หรือในอนาคตเช่นกัน เมื่อพระคริสต์เสด็จมาฐานะพระมหากษัตริย์เพื่อทำการพิพากษาของพระเจ้าให้สำเร็จ. (วิวรณ์ 19:11-16) ที่จริง คนเหล่านั้นซึ่งสมัครใจที่จะฉลองเทศกาลแบบนอกรีตที่แฝงอยู่เบื้องหลังการดัดแปลงมาเป็น “แบบคริสเตียน” นั้น อาจปฏิเสธพระเยซูคริสต์ทีเดียว.
“คริสเตียนที่หลบซ่อน” ไม่ได้รับการฟื้นฟู
ขอยกเอาบทเรียนจากสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแก่ชาวคาทอลิกในญี่ปุ่นระหว่างยุคโชกุน. เมื่อการปราบปรามลัทธิคาทอลิกเริ่มต้นในปี 1614 ชาวคาทอลิกที่ญี่ปุ่นราว ๆ 300,000 คนมีทางเลือกสามอย่าง: เป็นผู้ยอมพลีชีพเพื่อศาสนา, ทิ้งความเชื่อของเขา, หรือไม่ก็ดำเนินแบบใต้ดิน. คนที่ดำเนินแบบใต้ดินถูกเรียกว่าคริสเตียนที่หลบซ่อน. เพื่อปิดบังความเชื่อของตน พวกเขาปฏิบัติตามธรรมเนียมต่าง ๆ ของศาสนาพุทธและชินโต. ในพิธีสวดมนต์ของเขา เขาใช้มาเรีย คานโนน ซึ่งเป็นการปลอมแปลงมาเรียเป็นพระพุทธโพธิสัตว์ในรูปลักษณ์ของมารดาที่อุ้มลูก. การฉลองของพวกเขาผสมผสานศาสนาพุทธ คาทอลิกและธรรมเนียมของชินโต. อย่างไรก็ดี เมื่อถูกบังคับให้เข้าร่วมพิธีฝังศพแบบศาสนาพุทธ พวกเขาท่องบทสวดคริสเตียนและกระทำโมโดชิ พิธีลบล้างพิธีศาสนาพุทธ. “คริสเตียน” เหล่านั้นได้กลายเป็นเช่นไร?
หนังสือ เดอะ ฮิดเดน คริสเตียน ชี้แจงว่า “เท่าที่คนส่วนใหญ่ของ คิริชิทานส์ [คริสเตียน] เกี่ยวข้องด้วย ความผูกพันทางด้านศาสนาเติบโตขึ้นในพวกเขาซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะละทิ้งการนมัสการพระของชินโตและศาสนาพุทธ.” เมื่อมีการยกเลิกคำสั่งห้าม และพวกมิชชันนารีคาทอลิกได้กลับไปยังญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่ของ “คริสเตียนที่หลบซ่อน” เหล่านั้นได้ยึดมั่นอยู่กับศาสนาประสมประสานกันตามแบบฉบับของพวกเขา.
อย่างไรก็ดี คริสต์จักรคาทอลิกจะตำหนิ “คริสเตียนที่หลบซ่อน” อย่างมีเหตุผลได้ไหม ผู้ซึ่งปฏิเสธที่จะกลับคืนสู่ลัทธิโรมันคาทอลิก? คริสต์จักรคาทอลิกได้รับเอาคำสอนและการฉลองแบบนอกรีตหลายอย่าง รวมทั้งคริสต์มาสด้วยเช่นกัน. หากชาวคาทอลิกและชาวโปรเตสแตนต์ ถึงแม้อ้างว่าเป็นคริสเตียนก็ตาม ได้ทำให้ศาสนาคริสเตียนของเขาเป็นแบบนอกรีตด้วยการฉลองแบบนอกศาสนาแล้ว เป็นไปได้ไหมที่พวกเขามิได้ปฏิเสธพระเยซูคริสต์ด้วย?
กลับคืนสู่ศาสนาคริสเตียนแท้
เซ็ทซูโกะ เป็นคาทอลิกที่มีศรัทธาแก่กล้ามาเป็นเวลา 36 ปี ในที่สุดก็ได้มาตระหนักถึงเรื่องนั้น. หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอได้พยายามสนองความว่างเปล่าทางฝ่ายวิญญาณของเธอโดยการคบหาสมาคมกับคริสต์จักรคาทอลิก. เธอคิดว่า ‘ช่างน่าพอใจเสียจริง ๆ!’ ขณะที่เธอเข้าร่วมพิธีมิซซาคริสต์มาสและมองเห็นต้นคริสต์มาสอันวิจิตรตระการตาภายในและภายนอกโบสถ์ของเธอ. เธอบอกว่า “ดิฉันรู้สึกภูมิใจในการประดับประดาอันงดงามของเรา ซึ่งเหนือกว่าการประดับของโบสถ์ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง.” กระนั้น เซ็ทซูโกะไม่มีความเข้าใจจริง ๆ ในคำสอนของคาทอลิก ถึงแม้เธอเคยสอนโรงเรียนรวีวารศึกษามาชั่วระยะหนึ่งด้วยซ้ำ. ดังนั้น เมื่อเธอต้องการมีส่วนร่วมมากขึ้นในการงานของคริสต์จักร เธอถามบาทหลวงของเธอถึงบางเรื่อง. แทนที่จะตอบคำถามของเธอ บาทหลวงดูถูกเธอ. ด้วยความผิดหวัง เธอตัดสินใจที่จะศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตัวเอง. สองสัปดาห์ต่อมา พยานพระยะโฮวามาเยี่ยมเธอ และเธอยอมรับการศึกษาพระคัมภีร์ที่บ้าน.
เธออธิบายว่า “เป็นเรื่องปวดร้าวใจที่จะเผชิญกับความจริงในพระคัมภีร์ที่หักล้างความเชื่อแต่ก่อนของดิฉัน. ดิฉันถึงกับเป็นโรคอาโลพีเซีย นอยรอติกา ผมร่วงเนื่องจากความหัวเสีย. อย่างไรก็ดี แสงแห่งความจริงค่อย ๆ ส่องเข้าไปในหัวใจของดิฉัน. ดิฉันตะลึงงันที่เรียนรู้ว่าพระเยซูจะประสูติในเดือนธันวาคมที่หนาวเย็นมีฝนตกย่อมไม่ได้ เป็นเวลาที่พวกคนเลี้ยงแกะจะไม่เลี้ยงแกะของเขาในที่แจ้งยามราตรี. (ลูกา 2:8-12) มันทำให้มโนภาพของดิฉันเกี่ยวกับการสมภพนั้นแตกกระจาย เพราะเราเคยใช้ลำลีเป็นหิมะเพื่อตกแต่งฉากเหตุการณ์เกี่ยวกับแกะและผู้เลี้ยงแกะ.”
หลังจากทำให้ตัวเธอมั่นใจในสิ่งที่พระคัมภีร์สอนจริง ๆ แล้ว เซ็ทซูโกะได้ตัดสินใจเลิกฉลองคริสต์มาส. เธอไม่มี “น้ำใจคริสต์มาส” ปีละครั้งอีกต่อไป หากแต่สำแดงน้ำใจของการให้แบบคริสเตียนด้วยใจร่าเริงนั้นทุก ๆ วัน.
หากคุณเชื่อในพระคริสต์อย่างจริงใจแล้ว อย่ารู้สึกกลัดกลุ้มเมื่อคุณเห็นพวกนอกรีตทำให้คริสต์มาสแปดเปื้อน. พวกเขาเพียงแต่ทำซ้ำสิ่งที่เดิมที่เป็น—การฉลองแบบนอกรีต. คริสต์มาสมิได้นำผู้ใดให้ต้อนรับพระเยซูคริสต์ ผู้ซึ่งได้เสด็จกลับอย่างไม่ประจักษ์แก่ตาในฐานะพระมหากษัตริย์ทางภาคสวรรค์. (มัดธายบท 24 และ 25; มาระโกบท 13; ลูกาบท 21) ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว คริสเตียนแท้แสดงน้ำใจแบบพระคริสต์ตลอดทั้งปี และพวกเขาประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร ซึ่งพระเยซูได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในราชอาณาจักรนั้น. นั่นแหละคือวิธีที่พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราต้อนรับพระเยซูคริสต์ฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของเรา และพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักร.—บทเพลงสรรเสริญ 2:6-12.
[เชิงอรรถ]
a เปรียบเทียบสองวิธีซึ่งเปาโลตอบสนองในประเด็นเกี่ยวกับการรับสุหนัต. ถึงแม้ท่านทราบว่า “พิธีสุหนัตไม่สำคัญอะไร” ท่านก็ได้ให้ติโมเธียวเพื่อนร่วมเดินทางของท่าน ซึ่งเป็นชาวยิวทางฝ่ายมารดานั้นรับสุหนัต. (1 โกรินโธ 7:19; กิจการ 16:3) ในกรณีของติโต อัครสาวกเปาโลได้หลีกเลี่ยงการให้เขารับสุหนัตอันเป็นเรื่องหลักในการต่อสู้กับพวกที่พยายามให้พวกคริสเตียนปฏิบัติตามลัทธิยูดาย. (ฆะลาเตีย 2:3) ติโตเป็นชาวกรีก ไม่เหมือนติโมเธียว จึงไม่มีเหตุผลอันชอบด้วยกฎหมายที่จะรับสุหนัต. หากเขาซึ่งเป็นคนต่างชาติ ต้องมารับสุหนัตแล้ว ‘พระคริสต์จะทำประโยชน์ให้แก่เขาไม่ได้.’—ฆะลาเตีย 5:2-4.
[รูปภาพหน้า 7]
คริสเตียนแท้ถวายพระเกียรติพระเยซูตลอดทั้งปี