ตื่นตัวเสมอใน “สมัยอวสาน”
“จงคอยดูอยู่, ตื่นตัวเสมอ, เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าเมื่อไรจะถึงเวลากำหนด.”—มาระโก 13:33, ล.ม.
1. เราน่าจะมีท่าทีเช่นไรขณะที่เหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นปรากฏออกมาใน “ยุคสุดท้าย” นี้?
ขณะที่เหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นปรากฏให้เห็นใน “ยุคอวสาน” นี้ คริสเตียนน่าจะมีปฏิกิริยาเช่นไร? (ดานิเอล 12:4) พวกเขาไม่ตกอยู่ในสภาพที่จะสงสัย. พระเยซูได้ตรัสคำพยากรณ์ว่าด้วยสัญลักษณ์หลายอย่างประกอบกัน ซึ่งก็ได้สำเร็จเป็นจริงมาในศตวรรษที่ 20 นี้ พระองค์ได้ตรัสล่วงหน้าถึงลักษณะสำคัญหลายประการซึ่งหมายช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1914 เป็นต้นมานั้นไว้ว่าไม่มียุคใดเหมือน. เนื่องด้วยพระเยซูทรงรู้เรื่องคำพยากรณ์ของดานิเอลเป็นอย่างดีเกี่ยวกับ “ยุคอวสาน” เมื่อพระองค์จบคำพยากรณ์สำคัญ พระองค์จึงเร่งเร้าสาวกของพระองค์ให้ “ตื่นตัวเสมอ.”—ลูกา 21:36.
2. เหตุใดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่พึงตื่นตัวฝ่ายวิญญาณ?
2 ทำไมจึงตื่นตัวเสมอ? เพราะสมัยนี้เป็นยุคที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์. คริสเตียนที่ยอมปล่อยตัวง่วงซึมฝ่ายวิญญาณในเวลานี้ย่อมตกอยู่ในอันตราย. หากเรานึกกระหยิ่มใจ หรือปล่อยให้หัวใจของเราเพียบด้วยความกระวนกระวายในเรื่องต่าง ๆ เราจะอยู่ในอันตราย. ที่ลูกา 21:34, 35, (ล.ม.) พระเยซูทรงเตือนเราดังนี้: “จงเอาใจใส่ตัวเอง เพื่อว่าหัวใจของท่านจะไม่เพียบลงด้วยการกินมากเกินไปและการดื่มจัดและความกังวลในเรื่องชีวิต และโดยไม่ทันรู้ตัววันนั้นจะมาถึงท่านอย่างกะทันหัน ดุจบ่วงแร้ว. เพราะวันนั้นจะมาถึงคนทั้งปวงที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินโลกทั้งสิ้น.”
3, 4. (ก) พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อตรัสว่าวันแห่งความพิโรธของพระเจ้า “เหมือนแร้ว” ดักผู้คนโดยฉับพลัน? (ข) เนื่องจากพระเจ้ามิได้วางแร้วดักมนุษย์ ทำไมวันนั้นจึงมาถึงมนุษย์ทั่วไปอย่างไม่คาดคิด?
3 นับว่าเป็นเหตุผลที่ดีที่พระเยซูตรัสว่าวันของพระยะโฮวาจะมาถึง ‘อย่างกะทันหัน ดุจแร้วดัก.’ ตามปกติ แร้วจะมีบ่วงติดไว้สำหรับดักนกหรือสัตว์. แร้วมีลิ้นหรือไกลั่น และใครก็ตามเดินเหยียบ ไกจะลั่นทันที. บ่วงก็จะกระตุกรัดเหยื่อไว้ได้. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน. ทำนองเดียวกัน พระเยซูตรัสว่า คนไม่ขันแข็งฝ่ายวิญญาณจะตกตะลึงและจะถูกจับตัวไว้ได้ใน “วันแห่งพระพิโรธ” ของพระเจ้า.—สุภาษิต 11:4.
4 พระเจ้ายะโฮวาได้เป็นผู้วางแร้วดักคนหรือ? เปล่าเลย, พระองค์ใช่ว่าจะคอยดักจับพวกที่ไม่เฝ้าระวังตัวแล้วทำลายเขาเสีย. ทว่า วันนั้นจะมาถึงประชาชนทั่วไป เพราะเขาเองไม่ได้ถือเอาราชอาณาจักรของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญ. พวกเขามุ่งในแนวทางของตัวเองที่จะดำเนินกิจการต่าง ๆ เกี่ยวด้วยชีวิต เพิกเฉยความสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการต่าง ๆ รอบตัว. แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนกำหนดการของพระเจ้า. พระองค์ทรงมีเวลากำหนดไว้แน่นอนเพื่อจัดการกับมูลเหตุต่าง ๆ ให้เรียบร้อย. และโดยพระเมตตาคุณ พระองค์ไม่ได้ปล่อยมนุษยชาติให้เขลาในเรื่องวันพิพากษาของพระองค์ที่ใกล้เข้ามา.—มาระโก 13:10.
5, 6. (ก) เพราะวันพิพากษาใกล้เข้ามา พระผู้สร้างที่ทรงเปี่ยมด้วยความรักจัดเตรียมอะไรสำหรับมนุษย์ทั้งปวง แต่ผลโดยทั่วไปเป็นอย่างไร? (ข) ที่จะช่วยเราตื่นอยู่เสมอ เราจะพิจารณาอะไร?
5 การเตือนล่วงหน้าเช่นนี้เป็นวิธีการซึ่งเปี่ยมด้วยความรักของพระผู้สร้างองค์ประเสริฐ ผู้ทรงใฝ่พระทัยในสวัสดิภาพของมนุษย์บนแผ่นดินอันเปรียบเสมือนม้ารองพระบาทของพระองค์. (ยะซายา 66:1) พระองค์ทรงเฝ้าดูชาวประชาผู้อาศัยในที่ซึ่งพระองค์ได้ทรงพักวางพระบาท. ฉะนั้น พระองค์ทรงเตือนพวกเขาถึงเหตุการณ์ที่อยู่เบื้องหน้า โดยทางราชทูตและอุปทูตทั้งหลายของพระองค์ที่อยู่บนแผ่นดินโลก. (2 โกรินโธ 5:20) กระนั้น ทั้งที่ได้ให้คำเตือนแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นจะเกิดแก่ครอบครัวมนุษย์โดยไม่คาดคิด ประหนึ่งว่าเขาก้าวเหยียบกับดักทีเดียว. เพราะเหตุใด? เพราะคนส่วนใหญ่หลับฝ่ายวิญญาณ. (1 เธซะโลนิเก 5:6) มีเพียงจำนวนค่อนข้างน้อยเชื่อฟังคำเตือนและจะรอดผ่านเข้าในโลกใหม่ของพระเจ้า—มัดธาย 7:13, 14.
6 เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะตื่นตัวได้อย่างไรในยุคสุดท้ายนี้ เพื่อจะถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มผู้รับการช่วยให้รอด? พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมการช่วยเหลือที่จำเป็น. ขอให้เราเอาใจใส่เจ็ดอย่างที่เราสามารถทำได้.
ต่อสู้สิ่งที่ทำให้จิตใจวอกแวก
7. พระเยซูทรงให้คำเตือนอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้จิตใจวอกแวก?
7 ประการแรก เราต้องต่อสู้สิ่งที่ทำให้จิตใจวอกแวก. ที่มัดธาย 24:42, 44, (ล.ม.) พระเยซูตรัสว่า “เหตุฉะนั้น จงเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะท่านไม่รู้ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านจะเสด็จมาวันใด. ด้วยเหตุนั้น ท่านทั้งหลายด้วยเช่นกัน จงเตรียมตัวพร้อมเพราะในโมงที่ท่านไม่คิดว่าเป็นเวลานั้น บุตรมนุษย์จะเสด็จมา.” ภาษาที่พระเยซูทรงใช้ในที่นี่แสดงว่าในยุควิกฤตินี้ย่อมมีหลายสิ่งที่ทำให้จิตใจวอกแวก และเมื่อจิตใจวอกแวกแล้วอาจประสบความพินาศได้. สมัยโนฮา ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับหลายสิ่ง. ผลที่ตามมาคือ คนจิตใจวอกแวก “ไม่เอาใจใส่” ความเป็นไปในครั้งนั้น และน้ำท่วมใหญ่ได้กวาดล้างพวกเขาไปสิ้น. ดังนั้น พระเยซูจึงเตือนไว้ว่า “การประทับของบุตรมนุษย์ก็จะเป็นฉันนั้น.”—มัดธาย 24:37-39, ล.ม.
8, 9. (ก) การแสวงหาสิ่งจำเป็นตามปกติในชีวิตก็อาจเป็นสิ่งทำให้จิตใจวอกแวกได้อย่างไร? (ข) เปาโลและพระเยซูทรงให้คำเตือนอะไรแก่เรา?
8 พึงจดจำไว้ด้วยว่า คำเตือนที่พระเยซูตรัสไว้ที่ลูกา 21:34, 35 นั้น พระองค์พิจารณาลักษณะธรรมดา ๆ ของชีวิต อาทิ การกิน, การดื่ม, และความกังวลในเรื่องการทำมาหากิน. สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนทั่วไป รวมทั้งสาวกของพระเยซูด้วย. (เทียบกับมาระโก 6:31.) สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวในตัวเองอาจไม่เป็นอันตราย แต่หากไม่ควบคุม มันทำให้เราวอกแวกได้ ทำให้เราหมกมุ่นในสิ่งนั้นได้ แล้วเราจะเกิดอาการง่วงซึมฝ่ายวิญญาณที่เป็นอันตราย.
9 เหตุฉะนั้น อย่าให้เรามองข้ามสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งยวด—การได้รับความโปรดปรานจากพระเจ้า. แทนที่จะเข้าไปหมกมุ่นในสิ่งอันเป็นธรรมดาของชีวิต จงให้เราใช้สิ่งเหล่านั้นเพียงเพื่อค้ำจุนชีวิตตามความจำเป็นของเราในขีดจำกัด. (ฟิลิปปอย 3:8) ไม่ควรให้สิ่งเหล่านี้กีดกันผลประโยชน์ฝ่ายราชอาณาจักร. ดังคำกล่าวที่โรม 14:17 ที่ว่า “เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าไม่ใช่การกินและการดื่ม แต่เป็นความชอบธรรมและความสุข และความยินดีในพระวิญญาณบริสุทธิ์.” ขอให้เราจำคำตรัสของพระเยซูที่ว่า “ดังนั้น จงแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อนเสมอไป แล้ว [พระองค์] จะทรงเพิ่มเติมสิ่ง [อื่น] เหล่านี้ทั้งหมดแก่ท่าน.” (มัดธาย 6:33, ล.ม.) ยิ่งกว่านั้น พระเยซูทรงแถลงไว้ในลูกา 9:62 ว่า “ผู้ใดเอามือจับคันไถแล้วหันหน้ากลับเสีย ผู้นั้นก็ไม่สมควรกับแผ่นดินของพระเจ้า.”
10. มีอันตรายอะไรถ้าเราไม่จดจ้องมองตรงไปยังเป้าหมาย?
10 พูดโดยนัย ครั้นเราเริ่มการไถ เราต้องแน่วแน่อยู่ในเส้นตรงเสมอ. คนไถดินที่เหลียวมองข้างหลัง ร่องดินที่เขาไถนั้นจะไม่เป็นเส้นตรง. เขาเขวไปและออกนอกทางได้ง่าย ๆ หรือไม่ก็หยุด เพราะเจอสิ่งกีดขวางบางอย่าง. อย่าให้เราเป็นเหมือนภรรยาของโลต ที่เหลียวหลังและไปไม่ถึงที่ปลอดภัย. เราจำต้องมองแน่วไปยังเป้าหมายข้างหน้าอยู่เสมอ. ที่จะทำเช่นนั้นได้เราต้องต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ซึ่งทำให้จิตใจเราวอกแวก.—เยเนซิศ 19:17, 26; ลูกา 17: 32.
จงอธิษฐานอย่างจริงจัง
11. พระเยซูทรงเน้นเรื่องอะไรหลังจากได้เตือนเราให้ทราบถึงอันตรายเนื่องด้วยการมีจิตใจวอกแวก?
11 แต่มีมากกว่านี้ที่เรากระทำได้เพื่อตื่นอยู่เสมอ. สิ่งสำคัญประการที่สองคือ: จงอธิษฐานอย่างจริงจัง. หลังจากได้ทรงเตือนพวกเรามิให้วอกแวกโดยการแสวงหาปัจจัยเพื่อชีวิตแล้ว พระเยซูทรงแนะนำอย่างนี้: “เหตุฉะนั้น จงตื่นตัว เฝ้าวิงวอนอยู่ตลอดเวลา เพื่อท่านจะประสบผลสำเร็จในการหนีพ้นเหตุการณ์ทั้งปวงเหล่านี้ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าจะเกิดขึ้น และในการยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์.”—ลูกา 21:36, ล.ม.
12. การอธิษฐานแบบไหนเป็นสิ่งจำเป็น และมีผลประการใด?
12 ดังนั้น เราจึงต้องทูลอธิษฐานอยู่เรื่อยไปเกี่ยวด้วยสภาพอันเป็นอันตรายแก่เรา และความจำเป็นที่เราต้องตื่นตัว. ฉะนั้น ให้เราเข้าเฝ้าพระเจ้าด้วยการอธิษฐานวิงวอนอย่างจริงจัง. เปาโลกล่าวไว้ที่โรม 12:12, (ล.ม.) ว่า “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.” และเราอ่านที่เอเฟโซ 6:18 ดังนี้: “โดยคำอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง . . . จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา. และจงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง.” ไม่เพียงแต่ว่าเสนอคำอธิษฐานเป็นประจำประหนึ่งเป็นเรื่องไม่สู้สำคัญเท่าไร. ชีวิตของเราอยู่ในอันตราย. เหตุฉะนั้น ด้วยความตั้งใจจริง เราจึงทูลขอการช่วยเหลือจากพระเจ้า. (เทียบกับเฮ็บราย 5:7.) โดยวิธีนี้ เราเองจะยึดมั่นอยู่ฝ่ายพระยะโฮวา. ไม่มีสิ่งใดจะช่วยเราบรรลุเป้าหมายนั้น ยิ่งไปกว่า ‘ที่จะวิงวอนทุกเวลา.’ แล้วพระยะโฮวาจะทรงพิทักษ์เราไว้ในสภาพตื่นตัวระวังระไวอยู่เสมอ. ดังนั้น นับว่าสำคัญเพียงไรที่พึงอธิษฐานอย่างไม่ละลด.
ติดสนิทกับองค์การของพระเจ้าและการงานขององค์การนั้น
13. การคบหาสมาคมชนิดใดเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะตื่นอยู่เสมอ?
13 พวกเราต้องการรอดพ้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทุกอย่างซึ่งจะบังเกิดแก่โลก. เราต้องการยืนอยู่ต่อหน้าบุตรมนุษย์ เป็นบุคคลที่รับความโปรดปราน. เพื่อจะเป็นเช่นนั้นเราพึงทำประการที่สาม: ติดสนิทอย่างเหนียวแน่นกับองค์การตามระบอบการปกครองของพระยะโฮวา. จำเป็นที่เราจะสมาคมกับองค์การ และเข้าส่วนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไข. เมื่อเราทำเช่นนี้ เราก็แสดงตัวเองชัดเจนว่าเราเป็นคริสเตียนผู้ซึ่งเฝ้าระวังอยู่.
14, 15. (ก) โดยการเข้าส่วนในงานประเภทใดที่ช่วยเราให้ตื่นอยู่เสมอ? (ข) ใครกำหนดว่าเมื่อไรงานประกาศจะแล้วเสร็จ และเราควรมีท่าทีเช่นไรต่อเรื่องนี้? (ค) ภายหลังความทุกข์ครั้งใหญ่ พวกเราจะหยั่งเห็นสิ่งใดเมื่อเรานึกย้อนหลังถึงเรื่องงานประกาศที่ได้ทำเสร็จไป?
14 เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดมีประการที่สี่ซึ่งจะช่วยเราตื่นอยู่เสมอ. เราต้องอยู่ท่ามกลางคนเหล่านั้นที่เตือนประชาชนถึงเรื่องอวสานของระบบแห่งสิ่งต่าง ๆ. ระบบโลกเก่านี้จะไม่ถึงจุดอวสานครบถ้วนจนกว่า “ข่าวดีเรื่องราชอาณาจักร” ได้รับการประกาศถึงขั้นที่พระเจ้าองค์ทรงฤทธิ์ทุกประการทรงมุ่งหมายไว้. (มัดธาย 24:14) พยานพระยะโฮวาไม่ได้เป็นผู้ตัดสินว่างานประกาศสั่งสอนจะแล้วเสร็จเมื่อไร. พระยะโฮวาทรงสงวนสิทธิ์ในเรื่องนี้สำหรับพระองค์แต่ผู้เดียว. (มาระโก 13:32, 33) แต่พวกเราตั้งใจแน่วแน่จะขยันขันแข็งทำให้มากเท่าที่ทำได้ และทำต่อไปนานเท่าที่จำเป็นประกาศถึงการปกครองอันยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยมี ได้แก่ราชอาณาจักรของพระเจ้า. “ความทุกข์ลำบากครั้งใหญ่” จะปะทุขึ้นขณะที่เรายังคงทำงานนี้อยู่. (มัดธาย 24:21) ตลอดเวลาในกาลเบื้องหน้า ผู้ได้รับการช่วยให้รอดจะสามารถมองย้อนหลังและยืนยันอย่างหนักแน่นว่า พระเยซูคริสต์หาใช่ผู้พยากรณ์เท็จไม่. (วิวรณ์ 19:11) งานประกาศได้สำเร็จลุล่วงไปมากกว่า และกว้างไกลเกินความคาดหมายของผู้ที่มีส่วนร่วมทำงานด้วยซ้ำ.
15 ดังนั้น ครั้นเมื่องานนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้นตามความพอพระทัยของพระเจ้า คงมีประชาชนมากหลายเข้ามาร่วมทำงานมากกว่าครั้งใด ๆ ที่แล้วมา. พวกเราจะรู้สึกขอบพระคุณเพียงใดที่เคยมีส่วนร่วมทำงานสำคัญยิ่งเช่นนี้! อัครสาวกเปโตรรับรองว่า พระยะโฮวา “ไม่ประสงค์จะให้คนหนึ่งคนใดถูกทำลาย แต่ทรงปรารถนาจะให้คนทั้งปวงกลับใจเสียใหม่.” (2 เปโตร 3: 9, ล.ม.) โดยเหตุนี้ พลังปฏิบัติการของพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพทุกประการ กำลังดำเนินงานเข้มแข็งมากขึ้นทุกทีในทุกวันนี้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และพยานของพระยะโฮวาปรารถนาจะทำงานอย่างต่อเนื่องในกิจกรรมนี้ ซึ่งมีพระวิญญาณเป็นพลังผลักดันอยู่. ฉะนั้น จงติดสนิทกับองค์การของพระยะโฮวาและเอาการเอางานในการประกาศสั่งสอนประชาชนทั่วไป. ทั้งนี้ จะช่วยคุณให้ตื่นอยู่เสมอ.
สำรวจตัวเอง
16. ทำไมเราควรสำรวจตัวเองเกี่ยวด้วยสถานะทางฝ่ายวิญญาณของเราในปัจจุบัน?
16 มีประการที่ห้าซึ่งเราทำได้เพื่อจะตื่นอยู่เสมอ. เราจำต้องสำรวจตัวเองเกี่ยวด้วยสถานะปัจจุบันของเรา. เรื่องนี้เหมาะกับเวลานี้ยิ่งกว่าแต่ก่อน ๆ. เราต้องการพิสูจน์ว่าเราตั้งใจอยู่ฝ่ายไหน. เปาโลกล่าวไว้ที่ฆะลาเตีย 6:4, (ล.ม.) ว่า “ให้แต่ละคนพิสูจน์ดูว่างานของเขาเองเป็นอย่างไร.” จงสำรวจตัวเองสอดคล้องกับถ้อยคำของเปาโลที่ 1 เธซะโลนิเก 5:6-8, (ล.ม.) “อย่าให้เราหลับไหลเหมือนคนอื่น แต่ให้เราตื่นตัวอยู่และรักษาสติของเรา. เพราะคนนอนหลับก็ย่อมหลับเวลากลางคืน และคนเมาเหล้าก็มักจะเมาในเวลากลางคืน. แต่ส่วนเราซึ่งเป็นฝ่ายกลางวัน จงให้เรารักษาสติ และสวมเกราะหน้าอกแห่งความเชื่อและความรัก และเอาความหวังเกี่ยวกับความรอดมาสวมเป็นหมวกเหล็ก.”
17. เมื่อสำรวจตัวเอง เราน่าจะตั้งคำถามอะไรถามตัวเอง?
17 พวกเราล่ะเป็นอย่างไร? เมื่อสำรวจตัวเองด้วยแสงสว่างแห่งพระคัมภีร์เราพบว่าเราตื่นอยู่ และได้สวมหมวกเกราะแห่งความรอดอยู่ไหม? เราเป็นบุคคลซึ่งแยกตัวออกจากระบบเก่าแห่งสิ่งต่าง ๆ อย่างเด็ดขาดไหม และไม่รู้สึกนิยมยินดีกับแนวคิดของมันอีกเลย? จริง ๆ แล้ว เรามีน้ำใจแห่งโลกใหม่ของพระเจ้าไหม? เราตื่นตัวเต็มที่ไหมว่าระบบนี้กำลังมุ่งไปสู่ทิศทางไหน? ถ้าเราคิดทำเช่นนั้น วันของพระยะโฮวาจะไม่มาถึงเราอย่างเราเป็นขโมย.—1 เธซะโลนิเก 5:4.
18. เราอาจถามตัวเองด้วยคำถามอื่นอะไรอีก พร้อมด้วยผลอะไร?
18 แต่สมมุติว่า เราสำรวจดูตัวเองแล้วพบว่า เรากำลังบากบั่นสร้างสมแต่ชีวิตที่ดี สะดวกสบายล่ะ? หรือหากเราค้นพบว่าดวงตาฝ่ายวิญญาณของเราหรี่ลงเพราะความง่วงอยากนอนหลับล่ะ? เรากำลังเพ้อฝัน วิ่งไล่ตามสิ่งชวนตาชวนใจของโลกไหม? ถ้าเช่นนั้น ให้เราตื่นขึ้นเถอะ!—1 โกรินโธ 15:34.
ไตร่ตรองคำพยากรณ์ที่สำเร็จแล้ว
19. คำพยากรณ์บางข้อที่พวกเราได้เห็นว่าสำเร็จสมจริงแล้วมีอะไรบ้าง?
19 บัดนี้เรามาถึงประการที่หกซึ่งจะช่วยเราตื่นอยู่เสมอ: ไตร่ตรองคำพยากรณ์หลายเรื่องที่ได้สำเร็จเป็นจริงในยุคสุดท้ายนี้. เราเลยปีที่ 77 แล้ว นับตั้งแต่เวลาของคนต่างประเทศครบกำหนดในปี 1914. เมื่อเรามองย้อนหลังไปประมาณเจ็ดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราแลเห็นคำพยากรณ์สำเร็จเป็นจริงเรื่องแล้วเรื่องเล่า อาทิ การฟื้นฟูการนมัสการแท้ให้กลับดีดังเดิม; การช่วยผู้ถูกเจิมที่ยังเหลืออยู่และสหายให้รอดพ้นเข้าสู่อุทยานฝ่ายวิญญาณ; การประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรในขอบข่ายกว้างขวางทั่วโลก; การปรากฏตัวของชนฝูงใหญ่. (ยะซายา 2:2, 3; บท 35; ซะคาระยา 8:23; มัดธาย 24:14; วิวรณ์ 7:9) มีการประกาศยกย่องพระนามใหญ่ยิ่งและพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวา อีกทั้งการทวีจำนวนคนจิ๋วจนกลายเป็นพันและคนตัวเล็กจะกลายเป็นชนชาติใหญ่ ด้วยการที่พระยะโฮวาทรงเร่งให้เป็นไปตามเวลา. (ยะซายา 60:22; ยะเอศเคล 38:23) และนิมิตต่าง ๆ ในพระธรรมวิวรณ์ของอัครสาวกโยฮันก็เกือบบรรลุจุดสุดยอดแล้ว.
20. พยานพระยะโฮวาต่างก็เชื่อมั่นในเรื่องใด ตามจริงแล้ว พวกเขาได้พิสูจน์ตนเป็นเช่นไร?
20 ด้วยเหตุนี้ พยานพระยะโฮวายิ่งเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นมากกว่าครั้งใด ๆ ว่าเขาเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับความหมายของกิจการต่าง ๆ ของโลกที่เป็นมาตั้งแต่ปี 1914. ด้วยความเชื่อมั่นดังกล่าว พวกเขาได้พิสูจน์ตัวเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระเจ้าองค์สูงสุด. พวกเขามีภาระจะต้องบอกข่าวสารของพระเจ้าในสมัยนี้ซึ่งมีความสำคัญยิ่งยวด. (โรม 10:15, 18) ใช่แล้ว คำตรัสของพระยะโฮวาเกี่ยวกับสมัยสุดท้ายนี้สำเร็จเป็นจริงทั้งสิ้น. (ยะซายา 55:11) ความจริงข้อนี้น่าจะกระตุ้นเราทำงานต่อ ๆ ไป จนกระทั่งในที่สุดเราแลเห็นคำสัญญาของพระเจ้าโดยพระเยซูเป็นจริงทุกประการ.
ความรอดอยู่ใกล้กว่าตอนที่เราเข้ามาเชื่อ
21. เรามีการช่วยเหลืออะไรเป็นประการที่เจ็ดเพื่อจะตื่นฝ่ายวิญญาณอยู่เสมอ?
21 ในที่สุด ประการที่เจ็ดที่ช่วยเราตื่นอยู่เสมอ: จดจำไว้ตลอดเวลาว่า ความรอดของเราอยู่ใกล้กว่าตอนแรกเมื่อเราเข้ามาเชื่อ. สำคัญยิ่งกว่านั้น การเชิดชูพระบรมเดชานุภาพของพระยะโฮวาและการกระทำให้พระนามของพระองค์เป็นที่เคารพสักการะยิ่งใกล้มากเข้าทุกที. ฉะนั้น ความจำเป็นที่เราพึงตื่นตัวยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าครั้งใด ๆ. อัครสาวกเปาโลเขียนดังนี้: “ที่ควรกระทำอย่างนั้นก็เพราะได้รู้จักเวลาแล้วว่า เดี๋ยวนี้เป็นเวลาที่เราทั้งหลายควรจะตื่นขึ้นจากหลับ ด้วยว่าเวลาที่เราจะรอดนั้นก็ใกล้กว่าเวลาเมื่อเราได้เชื่อนั้น. กลางคืนก็ล่วงไป และรุ่งเช้าก็ใกล้เข้ามาแล้ว.”—โรม 13:11, 12.
22. การที่ความรอดของเรากระชั้นเข้ามาทุกทีเช่นนี้น่าจะส่งผลกระทบเราอย่างไร?
22 เมื่อความรอดของเราใกล้เข้ามามากเช่นนั้น เราต้องตื่นอยู่เสมอ! เราต้องไม่ปล่อยให้ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือผลประโยชน์ทางโลกเบียดบังความหยั่งรู้ค่าสำหรับสิ่งที่พระยะโฮวาทรงกระทำเพื่อไพร่พลของพระองค์ในยุคสุดท้ายนี้. (ดานิเอล 12:3) เราพึงแสดงความเพียรอดทนมากกว่าแต่ก่อน ๆ เพื่อเราจะไม่บ่ายหน้าหนีไปจากทางซึ่งพระวจนะของพระเจ้าวางเงื่อนไขไว้แล้วอย่างชัดเจน. (มัดธาย 13:22) พยานหลักฐานชี้ชัดว่าโลกนี้อยู่ในยุคสุดท้ายจริง ๆ. อีกไม่นานโลกนี้จะถูกกวาดล้างให้สิ้นสูญไป เพื่อเปิดทางให้โลกใหม่ที่ชอบธรรม.—2 เปโตร 3:13.
23. พระยะโฮวาจะทรงช่วยเราในทางใด พร้อมกับมีผลอะไรเป็นพระพร?
23 ดังนั้น ให้เราทำทุกวิถีทางเพื่อจะตื่นอยู่เสมอ. จงตื่นตัวเพื่อจะรู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงไหนของกระแสเวลา. พึงระลึกว่า ในเรื่องนี้ พระยะโฮวาจะไม่ทรงเคลิ้มหลับเลย. แต่พระองค์กลับจะช่วยเราตื่นอยู่ตลอดเวลาในยุคสุดท้ายนี้. กลางคืนล่วงไปมากแล้ว และรุ่งเช้าก็ใกล้เข้ามา. ฉะนั้น จงตื่นอยู่เสมอ! ในไม่ช้าเราจะประสบวันอันงดงามยิ่งนัก งดงามกว่าวันใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่ออาณาจักรมาซีฮาบริหารงานให้สำเร็จสมตามพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่ทรงมีต่อแผ่นดินโลก!—วิวรณ์ 21:4, 5.
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่าวันพิโรธอันแรงกล้าของพระเจ้าจะมาถึงมนุษย์ “ดุจบ่วงแร้ว”?
▫ ทำไมเราต้องต่อต้านสิ่งที่ทำให้จิตใจวอกแวก และจะต่อต้านได้โดยวิธีใด?
▫ คำอธิษฐานแบบใดจำเป็นเพื่อจะตื่นตัวอยู่เสมอ?
▫ การสมาคมคบหาชนิดใดเป็นสิ่งจำเป็น?
▫ ทำไมจึงทำการสำรวจสถานะทางฝ่ายวิญญาณของเรา?
▫ คำพยากรณ์มีบทบาทอย่างไรต่อการที่เราตื่นอยู่เสมอ?