อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายอย่างยิ่งสำหรับคุณ
อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้ามีความหมายที่สำคัญและยั่งยืนสำหรับคุณไหม? เพื่อทราบคำตอบ ขอให้เราค้นดูก่อนว่าพระเยซูคริสต์เองทรงถือว่าเหตุการณ์พิเศษนี้มีความหมายเช่นไร.
ในตอนเย็นของวันที่ 14 เดือนไนซาน ส.ศ. 33 พระเยซูได้ชุมนุมกับอัครสาวก 12 คนของพระองค์ในห้องชั้นบน ณ กรุงเยรูซาเลมเพื่อฉลองปัศคาประจำปี. หลังจากพวกเขาได้รับประทานปัศคาแล้ว ยูดาผู้ทรยศได้ออกไปจากห้องเพื่อหักหลังพระเยซู. (โยฮัน 13:21, 26-30, ล.ม.) พระเยซูทรงเริ่มตั้ง “อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า” กับอัครสาวก 11 คน. (1 โกรินโธ 11:20) ยังมีการกล่าวถึงด้วยว่านี่เป็นอนุสรณ์ เนื่องจากพระเยซูทรงบัญชาเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.” นี่เป็นเหตุการณ์เดียวเท่านั้นที่คริสเตียนได้รับพระบัญชาให้รำลึกถึง.—1 โกรินโธ 11:24.
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 อนุสรณ์แปลว่า “เครื่องระลึก, ที่ระลึก.” ในหลายที่หลายแห่ง ผู้คนสร้างอนุสาวรีย์หรือกำหนดวันพิเศษไว้เพื่อรำลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง. ในกรณีนี้ พระเยซูทรงตั้งอาหารมื้ออนุสรณ์ ซึ่งเป็นอาหารมื้อที่จะใช้เป็นเครื่องเตือนความจำ ช่วยเหล่าสาวกของพระองค์รักษาความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งของวันสำคัญนั้นไว้. สำหรับคนชั่วอายุหลัง ๆ ต่อมา อาหารมื้ออนุสรณ์นี้จะเตือนผู้ที่ฉลองให้ระลึกถึงความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับสิ่งที่พระเยซูได้กระทำในคืนนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นเครื่องหมายที่พระองค์ทรงใช้. พระเยซูทรงใช้อะไรเป็นเครื่องหมาย และสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอะไร? ขอเราตรวจสอบเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นคืนนั้นในปี ส.ศ. 33.
ความหมายโดยนัยอันศักดิ์สิทธิ์
“พระองค์จึงหยิบขนมปังขอบคุณและหักส่งให้แก่เขาทั้งหลายตรัสว่า, ‘นี่แหละเป็น [“หมายถึง,” ล.ม.] กายของเรา ซึ่งได้ประทานให้สำหรับท่านทั้งหลาย จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.’”—ลูกา 22:19.
เมื่อพระเยซูทรงหยิบขนมปังแล้วตรัสว่า “นี่แหละหมายถึงกายของเรา” พระองค์กำลังชี้แจงว่าขนมปังไม่มีเชื้อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงร่างกายเนื้อหนังของพระองค์เองที่ไม่มีบาป ซึ่งพระองค์ได้ทรงประทาน “เพื่อเป็นชีวิตของโลก.” (โยฮัน 6:51) ถึงแม้ฉบับแปลของคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับกล่าวว่า “นี่แหละเป็น [ภาษากรีก เอสทิน] กายของเรา” พจนานุกรมภาษากรีก-อังกฤษสำหรับพันธสัญญาใหม่ ของเทเยอร์กล่าวว่าคำกริยานี้มักหมายถึง “มีความหมาย, แสดงถึง, บ่งนัยถึง.” คำนี้ถ่ายทอดความคิดที่ว่าเป็นสิ่งแทนหรือสัญลักษณ์.—มัดธาย 26:26.
เป็นจริงเช่นเดียวกันกับถ้วยเหล้าองุ่น. พระเยซูตรัสว่า “ถ้วยนี้หมายถึงสัญญาไมตรีใหม่โดยอาศัยโลหิตของเรา ซึ่งจะต้องถูกหลั่งออกเพื่อเจ้าทั้งหลาย.”—ลูกา 22:20, ล.ม.
ในบันทึกของมัดธาย พระเยซูตรัสเกี่ยวกับถ้วยนี้ว่า “นี่เป็น [“หมายถึง,” ล.ม.] โลหิตแห่งคำสัญญาของเรา, ซึ่งต้องเทออกเพื่อไถ่โทษคนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 26:28) พระเยซูทรงใช้เหล้าองุ่นในถ้วยเป็นสิ่งแทน หรือสัญลักษณ์แสดงถึงพระโลหิตของพระองค์เอง. พระโลหิตที่หลั่งออกของพระองค์จะเป็นพื้นฐานของ “สัญญาไมตรีใหม่” สำหรับสาวกที่ถูกเจิมด้วยพระวิญญาณ ผู้ซึ่งจะปกครองในฐานะกษัตริย์และปุโรหิตร่วมกับพระองค์ในสวรรค์.—ยิระมะยา 31:31-33, ล.ม.; โยฮัน 14:2, 3; 2 โกรินโธ 5:5; วิวรณ์ 1:5, 6; 5:9, 10; 20:4, 6.
เหล้าองุ่นในถ้วยยังใช้เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกด้วยว่าพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูจะเป็นพื้นฐานเพื่อจัดให้มีการ “ไถ่โทษ [“อภัยบาป,” ล.ม.]” โดยวิธีนี้จึงเปิดทางไว้สำหรับผู้ที่รับประทานจะถูกเรียกไปสู่ชีวิตทางภาคสวรรค์ในฐานะรัชทายาทร่วมกับพระคริสต์. เป็นที่เข้าใจได้ว่า คนเหล่านั้นที่ได้รับการทรงเรียกทางภาคสวรรค์เช่นนี้ ซึ่งมีจำนวนจำกัด เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่รับประทานขนมปังและเหล้าองุ่น ณ การประชุมอนุสรณ์.—ลูกา 12:32; เอเฟโซ 1:13, 14; เฮ็บราย 9:22; 1 เปโตร 1:3, 4.
แต่จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับบรรดาสาวกของพระเยซูซึ่งไม่ได้อยู่ในสัญญาไมตรีใหม่? คนเหล่านี้เป็น “แกะอื่น” ขององค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งตั้งใจคอย ไม่ใช่ที่จะปกครองร่วมกับพระคริสต์ในสวรรค์ แต่ที่จะมีชีวิตถาวรบนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน. (โยฮัน 10:16; ลูกา 23:43; วิวรณ์ 21:3, 4) ในฐานะเป็น “ชนฝูงใหญ่” ซึ่งประกอบด้วยคริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ที่ “ถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่ [พระเจ้า] ทั้งวันทั้งคืน” พวกเขาปีติยินดีในการเป็นผู้สังเกตการณ์ที่หยั่งรู้ค่า ณ อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. ที่แท้แล้วคำพูดและการกระทำของพวกเขาประกาศว่า “ความรอดนั้นเราได้เนื่องมาจากพระเจ้าของเราผู้ประทับบนราชบัลลังก์ และเนื่องมาจากพระเมษโปดก.”—วิวรณ์ 7:9, 10, 14, 15, ล.ม.
บ่อยเพียงไร?
“จงกระทำอย่างนี้ให้เป็นที่ระลึกถึงเรา.”—ลูกา 22:19.
ควรฉลองอนุสรณ์บ่อยเพียงไรเพื่อจะระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์? พระเยซูมิได้ตรัสไว้อย่างเจาะจง. อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระองค์ทรงตั้งอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าในวันที่ 14 เดือนไนซาน ตอนเย็นที่มีการฉลองปัศคา ซึ่งชาวอิสราเอลฉลองทุกปี จึงดูเหมือนว่าพระเยซูทรงมุ่งหมายให้ฉลองอนุสรณ์ในแบบเดียวกันนี้. ขณะที่ปีละครั้งชาวอิสราเอลฉลองการที่พวกเขาได้รับการช่วยให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ คริสเตียนก็รำลึกถึงการช่วยพวกเขาให้รอดพ้นจากการเป็นทาสของบาปและความตายปีละครั้งเช่นกัน.—เอ็กโซโด 12:11, 17; โรม 5:20, 21.
แนวคิดเรื่องการฉลองปีละครั้งเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญไม่ใช่เรื่องผิดปกติอย่างแน่นอน. ตัวอย่างเช่น ขอพิจารณาเมื่อคู่สมรสฉลองวันครบรอบแต่งงานของเขา หรือเมื่อประเทศหนึ่งรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของชาติ. ตามปกติ การรำลึกถึงเกิดขึ้นปีละครั้งในวันครบรอบเหตุการณ์นั้น. น่าสนใจ เป็นเวลาหลายศตวรรษหลังจากพระคริสต์ มีหลายคนที่อ้างตัวเป็นคริสเตียนถูกเรียกว่าพวกควอร์โทเดสิมานส์ ซึ่งหมายความว่า “พวกวันที่สิบสี่” เพราะพวกเขาระลึกถึงการวายพระชนม์ของพระคริสต์ปีละครั้งในวันที่ 14 เดือนไนซาน.
เรียบง่ายทว่ามีความหมายลึกซึ้ง
อัครสาวกเปาโลอธิบายว่าการฉลองอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าจะทำให้พวกสาวกของพระเยซูสามารถ “ประกาศการวายพระชนม์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” (1 โกรินโธ 11:26) ฉะนั้น การระลึกถึงเช่นนี้จะรวมจุดอยู่ที่บทบาทสำคัญของพระเยซูในการทำให้พระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ โดยการวายพระชนม์ของพระองค์.
โดยความซื่อสัตย์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ พระเยซูคริสต์ทรงพิสูจน์ความถูกต้องของพระยะโฮวาพระเจ้าในฐานะพระผู้สร้างองค์ทรงไว้ซึ่งสติปัญญาและความรักและเป็นองค์บรมมหิศรที่ชอบธรรม. ตรงกันข้ามกับคำอ้างของซาตาน และไม่เหมือนอาดาม พระเยซูทรงพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ที่มนุษย์จะรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แม้แต่เมื่ออยู่ภายใต้ความกดดันต่าง ๆ อย่างแสนสาหัส.—โยบ 2:4, 5.
อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้ายังทำให้รำลึกถึงด้วยความสำนึกบุญคุณในความรักที่เสียสละตัวเองของพระเยซูด้วย. ทั้ง ๆ ที่ประสบการทดลองแสนสาหัส พระเยซูก็ยังคงเชื่อฟังพระบิดาของพระองค์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง. โดยวิธีนี้พระองค์สามารถถวายชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เองเพื่อลบล้างความสูญเสียมากมายเนื่องจากบาปของอาดาม. ดังที่พระเยซูเองทรงชี้แจงไว้ พระองค์เสด็จมา “เพื่อประทานจิตวิญญาณของท่านเป็นค่าไถ่เพื่อแลกกับคนเป็นอันมาก.” (มัดธาย 20:28, ล.ม.) เพราะฉะนั้น ทุกคนที่แสดงความเชื่อในพระเยซูสามารถได้รับการอภัยบาปและได้รับชีวิตนิรันดร์ตามพระประสงค์แรกเดิมของพระยะโฮวาสำหรับมนุษยชาติ.—โรม 5:6, 8, 12, 18, 19; 6:23; 1 ติโมเธียว 2:5, 6.a
ทั้งหมดนี้ยังเป็นการแสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความดีอันบริบูรณ์และพระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวาที่ได้จัดเตรียมเพื่อความรอดของมนุษยชาติด้วย. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “โดยข้อนี้ ความรักของพระเจ้าได้ปรากฏให้เห็นในกรณีของเรา เพราะว่า พระเจ้าได้ส่งพระบุตรผู้ได้รับกำเนิดองค์เดียวของพระองค์เข้ามาในโลกเพื่อเราจะได้ชีวิตโดยทางพระองค์นั้น. ความรักในกรณีนี้คือ ไม่ใช่ว่าเราได้รักพระเจ้า แต่ว่าพระองค์ได้ทรงรักเราและได้ส่งพระบุตรของพระองค์มาเป็นเครื่องบูชาระงับพระพิโรธเพราะบาปของเรา.”—1 โยฮัน 4:9, 10, ล.ม.
ถูกแล้ว การประชุมอนุสรณ์ช่างเป็นการฉลองอันยอดเยี่ยมอะไรเช่นนี้! เป็นการประชุมที่เรียบง่ายและปฏิบัติได้จริงพอที่จะจัดให้มีการระลึกถึงได้ทั่วโลกภายใต้สภาพแวดล้อมต่าง ๆ หลากหลาย กระนั้น ก็แสดงนัยพอที่จะเป็นเครื่องเตือนใจอันมีความหมายลึกซึ้งตลอดช่วงเวลาอันยาวนาน.
ความหมายของอนุสรณ์สำหรับคุณ
การวายพระชนม์เป็นเครื่องบูชาของพระเยซูคริสต์เจ้าเป็นการจัดเตรียมที่ทั้งพระองค์และพระยะโฮวาพระบิดาของพระองค์ต้องเสียสละอย่างมากมาย. ในฐานะมนุษย์สมบูรณ์ พระเยซูไม่ต้องประสบความตายที่สืบทอดมาเหมือนที่เราทุกคนประสบ. (โรม 5:12; เฮ็บราย 7:26) พระองค์ทรงมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป. หากพระองค์ไม่ทรงยอม ก็ไม่มีใครจะเอาชีวิตพระองค์ไปได้แม้จะใช้กำลังบังคับ. พระองค์ตรัสว่า “ไม่มีผู้ใดชิงเอาชีวิตนั้นจากเรา, แต่เราสละชีวิตนั้นโดยใจสมัครของเราเอง.”—โยฮัน 10:18.
กระนั้น พระเยซูทรงถวายชีวิตมนุษย์สมบูรณ์ของพระองค์เป็นเครื่องบูชาด้วยความเต็มพระทัยเพื่อว่า “โดยความตายพระองค์จะได้ทรงทำลายผู้นั้นที่มีอำนาจแห่งความตาย คือมาร และจะได้ทรงช่วยเขาเหล่านั้นให้พ้นจากที่เคยเป็นทาสมาตลอดอายุของเขาเพราะเหตุกลัวความตาย.” (เฮ็บราย 2:14, 15) ความรักแบบเสียสละตัวเองของพระคริสต์ยังปรากฏชัดอีกในลักษณะของการตายที่พระองค์ทรงยอมรับเอานั้น. พระองค์ทรงทราบดีทีเดียวถึงวิธีที่พระองค์จะทนทุกข์และสิ้นพระชนม์.—มัดธาย 17:22; 20:17-19.
การประชุมอนุสรณ์ยังเตือนเราให้ระลึกถึงการแสดงความรักอันใหญ่ยิ่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยพระยะโฮวาพระบิดาทางภาคสวรรค์ของเรา. เป็นเรื่องที่ทำให้ทุกข์ระทมสักเพียงไรสำหรับพระองค์ผู้ทรง “เปี่ยมไปด้วยความรักใคร่อันอ่อนละมุนและเมตตาสงสาร” เมื่อสดับ “คำขอร้องด้วยเสียงดัง” ของพระเยซูและเห็นพระองค์ “น้ำพระเนตรไหล” ขณะอยู่ในสวนเฆ็ธเซมาเน, เห็นพระองค์ถูกโบยตีด้วยแส้อย่างทารุณ, ถูกตอกบนหลักอย่างทารุณ, และสิ้นพระชนม์อย่างช้า ๆ ด้วยความเจ็บปวดรวดร้าว. (ยาโกโบ 5:11, เชิงอรรถ ล.ม.; เฮ็บราย 5:7, ล.ม.; โยฮัน 3:16; 1 โยฮัน 4:7, 8) แค่การไตร่ตรองถึงการวายพระชนม์ของพระองค์ แม้แต่ในตอนนี้ หลังจากเวลาผ่านไปหลายศตวรรษแล้ว ก็ทำให้หลายคนรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวใจ.
ลองคิดดูก็แล้วกันว่าพระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ทรงเสียสละมากมายขนาดนั้นสำหรับพวกเราที่เป็นคนบาป! (โรม 3:23) ทุกวันเราเผชิญกับความเป็นจริงที่ทำให้เจ็บปวดจากสภาพผิดบาปและความไม่สมบูรณ์ของเรา. อย่างไรก็ดี โดยอาศัยความเชื่อในเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู เราสามารถอ้อนวอนพระเจ้าเพื่อขอการให้อภัย. (1 โยฮัน 2:1, 2) นี่ทำให้เป็นไปได้ที่เราจะมีความสะดวกใจในการพูดกับพระเจ้าและมีสติรู้สึกผิดชอบที่สะอาด. (เฮ็บราย 4:14-16, ล.ม.; 9:13, 14) ยิ่งกว่านั้น เราสามารถมีความหวังในการดำรงชีวิตอยู่บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยานตลอดนิรันดรกาล. (โยฮัน 17:3; วิวรณ์ 21:3, 4) พระพรเหล่านี้และอีกหลายอย่างล้วนเป็นผลมาจากการกระทำด้วยความเสียสละอย่างใหญ่ยิ่งของพระเยซู.
การแสดงความหยั่งรู้ค่าต่ออาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า
อาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นการสำแดงอันยอดเยี่ยมเกี่ยวกับ “พระกรุณาอันไม่พึงได้รับของพระเจ้าซึ่งหาที่เปรียบมิได้” อย่างไม่ต้องสงสัย. และการจัดเตรียมของพระยะโฮวาพระเจ้าเกี่ยวกับเครื่องบูชาไถ่ ซึ่งความรักแบบเสียสละตัวเองของพระเยซูทำให้เป็นไปได้นั้นเป็น “ของประทานอันสุดจะพรรณนาได้ที่ทรงให้เปล่า ๆ” อย่างแท้จริง. (2 โกรินโธ 9:14, 15, ล.ม.) การสำแดงความดีของพระเจ้าเช่นนี้โดยผ่านทางพระเยซูคริสต์ไม่กระตุ้นให้คุณเกิดความรู้สึกขอบพระคุณอย่างลึกซึ้งตลอดไปหรอกหรือ?
เรามั่นใจว่าเรื่องดังกล่าวกระตุ้นความรู้สึกเช่นนั้น. เพราะฉะนั้น เรายินดีเชิญคุณร่วมประชุมกับพยานพระยะโฮวาในการฉลองอนุสรณ์เกี่ยวกับการวายพระชนม์ของพระเยซู. ปีนี้จะมีการจัดประชุมอนุสรณ์ในวันพุธที่ 16 เมษายน หลังจากดวงอาทิตย์ตก. พยานพระยะโฮวาในท้องถิ่นที่คุณอยู่จะยินดีแจ้งให้คุณทราบเวลาและสถานที่ที่แน่นอนสำหรับเหตุการณ์สำคัญที่สุดนี้.
[เชิงอรรถ]
a สำหรับการพิจารณาเรื่องค่าไถ่อย่างละเอียดมากขึ้น โปรดดูหนังสือความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[กรอบ/ภาพหน้า 6]
“นี่เป็นกายของเรา” หรือว่า “นี่หมายถึงกายของเรา” อย่างไหนกันแน่?
เมื่อพระเยซูตรัสว่า “เราเป็น ประตู” และ “เราเป็น ต้นองุ่นแท้” ไม่มีใครคิดว่าพระองค์เป็นประตูจริง ๆ หรือเป็นต้นองุ่นจริง ๆ. (โยฮัน 10:7; 15:1) เช่นเดียวกัน เมื่อเดอะ นิว เจรูซาเลม ไบเบิล ยกคำตรัสของพระเยซูมากล่าวที่ว่า “ถ้วยนี้เป็น สัญญาไมตรีใหม่” เราย่อมไม่สรุปว่าถ้วยนั่นเองเป็นสัญญาไมตรีใหม่จริง ๆ. ดังนั้น เมื่อพระองค์ตรัสว่า ขนมปัง ‘เป็น’ กายของพระองค์ ก็เห็นได้ชัดว่าขนมปังหมายถึง หรือเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระกายของพระองค์เช่นกัน. ด้วยเหตุนี้ ฉบับแปลชาลส์ บี. วิลเลียมส์ กล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งแทนกายของเรา.”—ลูกา 22:19, 20.
[ภาพหน้า 5]
ขนมปังไม่มีเชื้อและเหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์ที่เหมาะสมแสดงถึงพระกายของพระเยซูที่ปราศจากบาปและพระโลหิตที่หลั่งออกของพระองค์
[ภาพหน้า 7]
การประชุมอนุสรณ์เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงความรักอันใหญ่ยิ่งที่พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ได้ทรงสำแดง