พระเจ้าทรงสดับเมื่อคุณอธิษฐานไหม?
ผู้อำนวยการคนหนึ่งตัดสินใจว่าเขาจะมอบหมายเรื่องให้ตัวแทนทำ หรือว่าจะจัดการเรื่องนั้นด้วยตัวเอง. ในทำนองเดียวกัน ผู้ครอบครององค์บรมมหิศรแห่งเอกภพทรงมีสิทธิในการเลือกที่จะตัดสินว่าพระองค์จะเข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องราวใด ๆ ด้วยพระองค์เองถึงขีดไหน. พระคัมภีร์สอนว่าพระเจ้าได้ทรงเลือกที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตัวพระองค์เองในคำอธิษฐานของเรา และเพราะฉะนั้นจึงแนะนำเราให้ทูลเรื่องเหล่านี้ต่อพระองค์.—บทเพลงสรรเสริญ 66:19; 69:13.
การเลือกของพระเจ้าในเรื่องนี้เผยให้เห็นการที่พระองค์สนพระทัยเป็นส่วนตัวในคำอธิษฐานของผู้รับใช้ของพระองค์ที่เป็นมนุษย์. แทนที่จะห้ามปรามประชาชนของพระองค์ไว้จากการเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยความคิดคำนึงและความเป็นห่วงทุกเรื่อง พระองค์ทรงตักเตือนพวกเขาว่า “จงอธิษฐานอย่างไม่ละลด” “จงหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” “จงมอบภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา” “ฝากความกระวนกระวายทั้งสิ้นของท่านไว้กับ [พระเจ้า].”—1 เธซะโลนิเก 5:17; โรม 12:12; บทเพลงสรรเสริญ 55:22; 1 เปโตร 5:7, ล.ม.
หากพระเจ้าไม่ประสงค์ที่จะให้ความใฝ่พระทัยต่อคำอธิษฐานของผู้รับใช้ของพระองค์แล้ว พระองค์คงจะไม่จัดเตรียมวิถีทางเข้าถึงพระองค์เช่นนั้น และสนับสนุนการใช้ทางนั้นอย่างเสรี. ถ้าพระเจ้าทรงเลือกที่จะทำให้ประชาชนของพระองค์เข้าเฝ้าพระองค์ได้เช่นนั้นแล้ว นี้ก็เป็นเหตุผลประการหนึ่งในการมั่นใจว่าพระองค์ทรงสดับอย่างแท้จริง. ถูกแล้ว พระองค์ทรงพิจารณาคำอธิษฐานแต่ละเรื่องของผู้รับใช้ของพระองค์.
อย่ามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าพระคัมภีร์แถลงอย่างชัดแจ้งว่าพระเจ้าทรงสดับคำอธิษฐาน. ตัวอย่างเช่น อัครสาวกโยฮันเขียนว่า “นี่แหละเป็นความไว้วางใจที่เรามีต่อพระองค์ คือว่า ไม่ว่าเราทูลขอสิ่งใดตามชอบพระทัยของพระองค์ พระองค์ทรงฟังเรา.” (1 โยฮัน 5:14, ล.ม.) กษัตริย์ดาวิดตรัสพาดพิงถึงพระยะโฮวาพระเจ้าฐานะเป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน และยืนยันด้วยความมั่นใจว่า “พระองค์จะทรงสดับเสียงของข้าพเจ้า.”—บทเพลงสรรเสริญ 55:17; 65:2.
ดังนั้น ขณะที่การอธิษฐานนั้นเองมีประโยชน์อย่างไม่ต้องสงสัย พระคัมภีร์แสดงให้เห็นว่ามีอีกมากพัวพันอยู่ด้วยเมื่อบุคคลชอบธรรมอธิษฐาน. มีผู้ที่ฟังอยู่. ผู้ฟังนั้นคือพระเจ้า.—ยาโกโบ 5:16-18.
คำอธิษฐานที่ได้รับการสดับ
พระคัมภีร์มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับชนผู้ซึ่งคำอธิษฐานของเขา ตามจริงแล้ว ได้รับการสดับและการตอบจากพระเจ้า. ประสบการณ์ของพวกเขายืนยันอย่างชัดเจนว่าผลประโยชน์ของการอธิษฐานนั้นอยู่นอกเหนือจากผลทางอายุรเวท เนื่องจากการกลั่นกรองและกล่าวแสดงความคิดของคนเราออกมา. ผลประโยชน์นั้นอยู่นอกเหนือความพยายามเฉพาะตัวของคนเราที่ประสานกับคำอธิษฐานของเขา.
ตัวอย่างเช่น เมื่อเผชิญหน้ากับแผนการร้ายของอับซาโลมที่จะช่วงชิงตำแหน่งกษัตริย์ของยิศราเอลนั้น กษัตริย์ดาวิดได้ทูลอธิษฐานว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา ขอทรงโปรดให้คำปรึกษาของอะฮีโธเฟล [ที่ปรึกษาของอับซาโลม] ฟั่นเฟือนไป!” นี้ไม่ใช่คำขอร้องเล็กน้อยเลย เพราะ “คำปรึกษาซึ่งอะฮีโธเฟลทูลในคราวนั้นดุจได้ทูลถามพระเจ้า . . . ย่อมเป็นเช่นนั้นทั้งสิ้น.” หลังจากนั้นอับซาโลมได้ปฏิเสธยุทธวิธีที่อะฮีโธเฟลแนะไว้เพื่อโค่นล้มกษัตริย์ดาวิด. เพราะเหตุใด? “พระยะโฮวาทรงพระดำริว่า จะให้คำปรึกษาอันสำคัญของอะฮีโธเฟลฟั่นเฟือนไป เพื่อจะนำความชั่วร้ายมายังอับซาโลม.” เห็นได้ชัดว่า คำอธิษฐานของดาวิดได้รับการสดับ.—2 ซามูเอล 15:31; 16:23; 17:14.
ในทำนองเดียวกัน ภายหลังฮิศคียาได้อ้อนวอนขอพระเจ้าเพื่อการช่วยให้รอดจากความเจ็บป่วยระยะสุดท้ายของท่านแล้ว ท่านก็หายเป็นปกติ. นี้เป็นเพียงเนื่องมาจากผลประโยชน์ทางจิตใจต่อฮิศคียาอันเป็นผลพวงจากการที่ได้อธิษฐานนั้นไหม? ไม่แน่ ๆ! ข่าวสารของพระยะโฮวาถึงฮิศคียาที่ผู้พยากรณ์ยะซายาได้ส่งข่าวนั้นคือ “เราได้สดับฟังคำอธิษฐานของเจ้า. เราได้เห็นน้ำตาของเจ้า. นี่แน่ะเราจะรักษาเจ้าให้หาย.”—2 กษัตริย์ 20:1-6.
ดานิเอล ผู้ซึ่งคำอธิษฐานของท่านอาจได้รับคำตอบช้ากว่าที่ท่านอาจได้คาดคิดนั้น ได้รับการทำให้มั่นใจจากทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาว่า “คำทูลขอของท่านก็ทรงได้ยินแล้ว.” คำอธิษฐานของคนอื่น ๆ เช่นของนางฮันนา, พวกสาวกของพระเยซู, และนายทหารโกระเนเลียวนั้น ได้รับคำตอบในวิธีที่จะถือว่าเป็นเพียงความสามารถของมนุษย์เท่านั้นย่อมไม่ได้. ดังนั้นแล้ว พระคัมภีร์สอนอย่างชัดเจนว่าคำอธิษฐานที่ประสานกับพระทัยประสงค์ของพระเจ้านั้นได้รับการสดับและคำตอบจากพระเจ้า.—ดานิเอล 10:2-14; 1 ซามูเอล 1:1-20; กิจการ 4:24-31; 10:1-7.
แต่พระเจ้าทรงตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ในทุกวันนี้อย่างไร?
คำตอบสำหรับคำอธิษฐาน
คำอธิษฐานที่อ้างอิงถึงข้างต้นนั้นได้รับคำตอบในวิธีที่น่าตื่นเต้น น่าพิศวง. แต่โปรดจำไว้ว่า แม้แต่ในสมัยที่มีการจารึกพระคัมภีร์ คำตอบบ่อยครั้งสำหรับคำอธิษฐานส่วนใหญ่นั้นก็ใช่ว่ามองเห็นชัดได้ง่าย ๆ. นี้เป็นเพราะคำตอบเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการให้พลังและความรอบรู้ทางด้านศีลธรรม ทำให้ผู้รับใช้ของพระเจ้าสามารถยึดมั่นในแนวทางอันชอบธรรม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคริสเตียนแล้ว คำตอบสำหรับคำอธิษฐานเกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นฝ่ายวิญญาณส่วนใหญ่ หาใช่พฤติกรรมอันน่าตื่นตาตื่นใจ หรือทรงอานุภาพไม่.—โกโลซาย 1:9.
ดังนั้น อย่าผิดหวังหากคำอธิษฐานของคุณไม่ได้รับคำตอบในวิธีที่คุณคาดหวังหรือชอบมากกว่าเสมอไป. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะขจัดการทดลองออกไป พระเจ้าอาจเลือกที่จะประทาน “กำลังที่เกินกว่ากำลังปกติ” ให้คุณเพื่อจะอดทนการทดลองนั้น. (2 โกรินโธ 4:7, ล.ม.; 2 ติโมเธียว 4:17) ขอเราอย่าลดคุณค่าของพลังดังกล่าว อีกทั้งเราไม่ควรสรุปว่าพระยะโฮวามิได้ตอบคำอธิษฐานของเราเลย.
ขอพิจารณากรณีที่ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นพระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้านั่นเอง. ด้วยความเป็นห่วงที่จะไม่สิ้นพระชนม์ฐานเป็นผู้ซึ่งดูเหมือนว่าหมิ่นประมาท พระเยซูได้อธิษฐานว่า “พระบิดาเจ้าข้า ถ้าพระองค์พอพระทัย ขอให้จอกนี้เลื่อนพ้นไปจากข้าพเจ้า.” พระเจ้าทรงสดับคำอธิษฐานนี้ด้วยความพอพระทัยไหม? ถูกแล้ว ดังที่มีการยืนยันในเฮ็บราย 5:7. พระยะโฮวามิได้ปลดเปลื้องพระบุตรของพระองค์จากความจำเป็นที่จะสิ้นพระชนม์บนหลักทรมาน. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น “ทูตสวรรค์องค์หนึ่งมาปรากฏแก่พระองค์ช่วยชูกำลังของพระองค์.—ลูกา 22:42, 43.
เป็นคำตอบที่ตื่นเต้นเร้าใจ น่าพิศวงไหม? สำหรับพวกเราคงเป็นเช่นนั้น! แต่สำหรับพระยะโฮวาพระเจ้า แหล่งที่มาของอำนาจดังกล่าวแล้ว นี้ไม่ใช่การอัศจรรย์. และจากชีวิตของพระองค์ในสวรรค์ก่อนหน้า พระเยซูทรงคุ้นเคยกับกรณีต่าง ๆ ที่ทูตสวรรค์ปรากฏแก่มนุษย์. ดังนั้น การปรากฏของทูตสวรรค์คงจะไม่มีผลกระทบที่น่าตื่นเต้นต่อพระเยซูอย่างที่คงจะมีต่อเรา. ถึงกระนั้น ทูตสวรรค์องค์นี้ ผู้ซึ่งดูเหมือนว่าพระเยซูทรงรู้จักเป็นส่วนตัวจากการดำรงอยู่ของพระองค์ก่อนมาเป็นมนุษย์นั้น ได้ช่วยชูกำลังพระองค์สำหรับการทดลองที่มีอยู่ข้างหน้าทีเดียว.
ในการตอบคำอธิษฐานของผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระองค์ในทุกวันนี้ บ่อยครั้ง พระยะโฮวาทรงประทานพลังที่จำเป็นให้เพื่อจะอดทนได้. การค้ำจุนเช่นนี้อาจมีมาในรูปของการหนุนกำลังใจจากเพื่อนร่วมนมัสการผู้ซึ่งเราคบหาด้วยเป็นส่วนตัว. จะมีใครในพวกเราไหมต้องการปฏิเสธการหนุนกำลังใจเช่นนั้น บางทีลงความเห็นว่าเนื่องจากเพื่อนร่วมรับใช้ของเรามิได้ประสบการทดลองอย่างเดียวกับเรา เขาจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะชูกำลังเราได้? พระเยซูอาจมีทัศนะเช่นนั้นต่อทูตสวรรค์ซึ่งได้ปรากฏต่อพระองค์ก็ได้. แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ยอมรับการหนุนกำลังใจนั้นเสมือนเป็นคำตอบของพระยะโฮวาสำหรับคำอธิษฐานของพระองค์ และดังนั้นจึงสามารถกระทำให้พระทัยประสงค์ของพระบิดาสำเร็จลุล่วงไปอย่างซื่อสัตย์. เราก็เช่นกันต้องการยอมรับพลังที่พระเจ้าประทานให้ในการตอบคำอธิษฐานของเรานั้นด้วยความขอบพระคุณ. โปรดจำไว้ด้วยว่า ช่วงระยะแห่งความอดทนดังกล่าวบ่อยครั้งติดตามด้วยพระพรสุดคณานับ.—ท่านผู้ประกาศ 11:6; ยาโกโบ 5:11.
จงมั่นใจว่าพระเจ้าทรงสดับ
อย่าได้หมดความมั่นใจในพลังของการอธิษฐานหากคุณไม่ได้รับคำตอบทันที. คำตอบสำหรับคำอธิษฐานบางเรื่อง เช่นคำทูลขอเพื่อการปลดเปลื้องเฉพาะตัวจากความทุกข์ระทม หรือสำหรับหน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของคนเราในการรับใช้พระเจ้านั้น อาจต้องคอยจนกว่าถึงเวลาที่พระเจ้าทรงทราบว่าเหมาะสมและดีที่สุด. (ลูกา 18:7, 8; 1 เปโตร 5:6) หากคุณอธิษฐานเกี่ยวกับเรื่องที่ห่วงใยสุดซึ้งเป็นส่วนตัว แสดงให้พระเจ้าเห็นโดยการยืนหยัดอย่างเหนียวแน่นของคุณว่าความปรารถนาของคุณนั้นแรงกล้า เจตนาของคุณบริสุทธิ์และจริงใจ. ยาโคบได้สำแดงน้ำใจเช่นนี้ ภายหลังการปล้ำสู้อย่างดุเดือดพักหนึ่งกับทูตสวรรค์ เมื่อท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ให้ท่านไป กว่าท่านจะได้อวยพรให้แก่ข้าพเจ้า.” (เยเนซิศ 32:24-32) เราต้องมีความมั่นใจอย่างเดียวกันว่า หากเราขอต่อ ๆ ไปแล้ว เราจะได้รับพระพรในเวลาอันควร.—ลูกา 11:9.
ข้อคิดประการสุดท้าย. การได้รับการสดับจากองค์บรมมหิศรแห่งเอกภพนับว่าเป็นสิทธิพิเศษอันล้ำค่า. เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ เราตั้งใจฟังเมื่อพระยะโฮวาพระเจ้า ตรัสกับเราเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของพระองค์โดยทางพระวจนะของพระองค์ไหม? ขณะที่การอธิษฐานของเรานำเรามาใกล้ชิดสนิทสนมยิ่งขึ้นกับพระผู้สร้างของเรา เราจะต้องการให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อทุกสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสแก่เรา.
[รูปภาพหน้า 6]
พระเจ้าทรงสดับคำอธิษฐาน. เราฟังพระองค์โดยทางพระวจนะของพระองค์ไหม?