“บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดา”
“ฝ่ายบุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดาของตนร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เพราะว่าการนี้ชอบธรรม.”—เอเฟโซ 6:1, ล.ม.
1. การเชื่อฟังสามารถปกป้องคุณไว้อย่างไร?
ที่เรายังมีชีวิตอยู่ในตอนนี้อาจเป็นเพราะเราเชื่อฟัง ในขณะที่คนอื่นเสียชีวิตไปแล้วเพราะพวกเขาไม่เชื่อฟัง. เชื่อฟังอะไร? คำเตือนทั้งหลาย เช่น การเตือนที่มาจากร่างกายของเราที่ “ถูกสร้างอย่างน่าพิศวง.” (บทเพลงสรรเสริญ 139:14, ล.ม.) ตาของเรามองเห็นเมฆดำ และหูได้ยินเสียงสายฟ้าฟาด. จากนั้น ประจุไฟฟ้าในอากาศทำให้ขนของเราลุกตั้งชัน. สำหรับคนที่เคยถูกสอนในเรื่องสัญญาณอันตรายต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้หาที่หลบภัยจากพายุที่กำลังจะมาพร้อม ๆ กับฟ้าผ่าและลูกเห็บที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต.
2. เหตุใดเด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับคำเตือน และเหตุใดพวกเขาควรเชื่อฟังบิดามารดา?
2 เยาวชนทั้งหลาย คุณจำเป็นต้องได้รับคำเตือนเกี่ยวกับสิ่งที่อาจก่ออันตราย และบิดามารดาของคุณมีหน้าที่รับผิดชอบที่จะเตือนคุณ. คุณอาจจำได้ที่เคยถูกเตือนว่า “อย่าจับเตาไฟ. มันร้อน.” “อย่าเข้าใกล้น้ำ. มันอันตราย.” “มองซ้ายมองขวาก่อนจะข้ามถนน.” น่าเศร้า เด็ก ๆ ได้รับบาดเจ็บหรือแม้แต่เสียชีวิตเพราะไม่เชื่อฟัง. การเชื่อฟังบิดามารดาของคุณเป็นการ “ชอบธรรม” คือถูกต้องและสมควร. การเชื่อฟังยังนับว่าฉลาดสุขุมด้วย. (สุภาษิต 8:33) พระคัมภีร์อีกข้อหนึ่งกล่าวว่าการเชื่อฟังบิดามารดาเป็น “ที่ชอบพระทัย” พระเยซูคริสต์เจ้าของเรา. ที่จริง พระเจ้าทรงมีบัญชาให้คุณเชื่อฟังบิดามารดา.—โกโลซาย 3:20; 1 โกรินโธ 8:6.
ผลตอบแทนที่ยั่งยืนของการเชื่อฟัง
3. “ชีวิตแท้” สำหรับพวกเราส่วนใหญ่คืออะไร และเด็ก ๆ สามารถหวังที่จะได้รับชีวิตแท้นี้โดยวิธีใด?
3 การเชื่อฟังบิดามารดาป้องกัน “ชีวิตปัจจุบันนี้” ของคุณ แต่การเชื่อฟังยังจะทำให้เป็นไปได้ที่คุณจะมีชีวิต “ในอนาคต” ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ชีวิตแท้.” (1 ติโมเธียว 4:8; 6:19, ล.ม.) สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ ชีวิตแท้เป็นชีวิตที่ไม่รู้สิ้นสุดบนแผ่นดินโลกในโลกใหม่ของพระเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงสัญญาไว้สำหรับคนที่ยึดมั่นในพระบัญญัติของพระองค์อย่างซื่อสัตย์. พระบัญญัติสำคัญข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ ‘จงให้เกียรติบิดาและมารดาของตน’ ซึ่งเป็นบัญญัติแรกพร้อมด้วยคำสัญญา: ‘เพื่อว่าเจ้าจะอยู่ดีมีสุขและเจ้าจะอยู่ยืนยงบนแผ่นดินโลก.’ ” ดังนั้น หากคุณเชื่อฟังบิดามารดา คุณจะมีความสุข. อนาคตของคุณจะมั่นคง และคุณมีโอกาสจะได้รับชีวิตนิรันดร์บนแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน!—เอเฟโซ 6:2, 3, ล.ม.
4. โดยวิธีใดเด็ก ๆ จะสามารถถวายเกียรติแด่พระเจ้าและได้รับประโยชน์จากการทำเช่นนั้น?
4 เมื่อคุณให้เกียรติบิดามารดาโดยเชื่อฟังท่าน คุณก็ให้เกียรติพระเจ้าด้วย เพราะเป็นพระบัญชาของพระองค์ที่ให้คุณเชื่อฟังบิดามารดา. ในขณะเดียวกัน คุณได้รับประโยชน์. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “เราคือยะโฮวา, พระเจ้าของเจ้าผู้สั่งสอนเจ้า, เพื่อประโยชน์แก่ตัวของเจ้าเอง.” (ยะซายา 48:17; 1 โยฮัน 5:3) การเชื่อฟังให้ประโยชน์แก่คุณอย่างไร? การเชื่อฟังทำให้บิดามารดาคุณมีความสุข และเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านก็ย่อมจะแสดงความพึงพอใจในวิธีต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ชีวิตคุณมีความสุขมากยิ่งขึ้น. (สุภาษิต 23:22-25) แต่ที่สำคัญที่สุด การเชื่อฟังของคุณทำให้พระบิดาของคุณผู้อยู่ในสวรรค์มีความสุข และพระองค์จะประทานบำเหน็จแก่คุณด้วยวิธีต่าง ๆ ที่น่าพิศวง! ให้เรามาดูกันถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงอวยพรและปกป้องพระเยซู ผู้ตรัสถึงพระองค์เองว่า “เราทำตามชอบพระทัยพระองค์เสมอ.”—โยฮัน 8:29.
พระเยซู—คนงานที่ขยัน
5. มีเหตุผลอะไรที่เชื่อได้ว่าพระเยซูทรงเป็นคนงานที่ดี?
5 พระเยซูทรงเป็นบุตรคนโตของมารดา คือนางมาเรีย. โยเซฟ บิดาเลี้ยงของพระองค์เป็นช่างไม้. เมื่อโตขึ้นพระเยซูก็กลายมาเป็นช่างไม้ด้วย ดูเหมือนว่าทรงเรียนอาชีพนี้จากโยเซฟนั่นเอง. (มัดธาย 13:55; มาระโก 6:3; ลูกา 1:26-31) คุณคิดว่าพระเยซูทรงเป็นช่างไม้แบบไหน? เมื่อพระองค์ทรงอยู่ในสวรรค์ ก่อนจะมาเกิดอย่างอัศจรรย์ทางมารดาที่เป็นหญิงพรหมจารี ในฐานะพระปัญญาซึ่งถูกกล่าวถึงเป็นบุคคล พระองค์ทรงแจ้งให้ทราบว่า “เราได้มาอยู่เคียงข้าง [พระเจ้า] เป็นนายช่าง และเราได้มาเป็นผู้ที่พระองค์ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษวันแล้ววันเล่า.” พระเจ้าทรงพอพระทัยพระเยซูผู้ทรงเป็นคนงานที่ดีในสวรรค์. คุณคิดว่าเมื่อพระองค์ทรงอยู่บนแผ่นดินโลกและยังเยาว์ พระองค์ทรงพยายามอย่างจริงจังด้วยไหมเพื่อจะเป็นคนงานที่ชำนิชำนาญ เป็นช่างไม้ที่ดี?—สุภาษิต 8:30, ล.ม.; โกโลซาย 1:15, 16.
6. (ก) เหตุใดคุณจึงคิดว่าพระเยซูคงได้ช่วยทำงานบ้านตอนที่ยังเป็นเด็ก? (ข) เด็ก ๆ จะเลียนแบบพระเยซูได้ในทางใดบ้าง?
6 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อพระเยซูยังเด็กอยู่ บางครั้งพระองค์คงจะเล่นกับเด็กคนอื่น ๆ ดังที่มีกล่าวถึงการเล่นของเด็ก ๆ ในคัมภีร์ไบเบิล. (ซะคาระยา 8:5; มัดธาย 11:16, 17) กระนั้น คุณสามารถแน่ใจได้เลยว่าในฐานะลูกคนโตในครอบครัวใหญ่ที่ฐานะทางการเงินไม่ดี พระองค์ทรงมีงานบ้านที่ต้องทำนอกเหนือไปจากรับการฝึกอบรมจากโยเซฟเพื่อจะเป็นช่างไม้. ต่อมา พระเยซูทรงกลายมาเป็นผู้ประกาศและทรงอุทิศตัวเต็มที่ในงานรับใช้ถึงขนาดที่ทรงสละความสะดวกสบายส่วนตัว. (ลูกา 9:58; โยฮัน 5:17) คุณมองเห็นแนวทางต่าง ๆ ที่คุณสามารถเลียนแบบพระเยซูไหม? บิดามารดาคุณได้ขอให้คุณทำความสะอาดห้องหรือทำงานอื่น ๆ ในบ้านไหม? ท่านสนับสนุนคุณให้ร่วมในการนมัสการพระเจ้าโดยเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและบอกเล่าสิ่งที่คุณเชื่อแก่คนอื่น ๆ ไหม? คุณคิดว่าพระเยซูตอนที่ยังเยาว์จะตอบคำขอคล้าย ๆ กันนี้อย่างไร?
นักศึกษาและครูสอนคัมภีร์ไบเบิลที่ขยัน
7. (ก) พระเยซูอาจได้เดินทางไปร่วมฉลองปัศคากับใครบ้าง? (ข) พระเยซูทรงอยู่ที่ไหนเมื่อคนอื่น ๆ เริ่มเดินทางกลับบ้าน และเหตุใดพระองค์ทรงอยู่ที่นั่น?
7 ผู้ชายชาวอิสราเอลทุกคนได้รับพระบัญชาให้ขึ้นไปนมัสการพระยะโฮวา ณ พระวิหารในช่วงที่มีการฉลองเทศกาลของชาวยิวสามเทศกาล. (พระบัญญัติ 16:16) เมื่อพระเยซูทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ครอบครัวของพระองค์ทั้งหมดอาจได้เดินทางมายังกรุงเยรูซาเลมเพื่อร่วมฉลองปัศคา. คนที่เดินทางมาด้วยน่าจะรวมถึงน้องชายและน้องสาวต่างบิดาของพระองค์. อย่างไรก็ตาม คนที่เดินทางมากับครอบครัวของพระเยซูอาจรวมถึงซะโลเม ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นน้องสาวของมาเรีย พร้อมทั้งเซเบดายสามีของเธอกับยาโกโบและโยฮันลูกชายด้วย ซึ่งในภายหลังได้มาเป็นอัครสาวก.a (มัดธาย 4:20, 21; 13:54-56; 27:56; มาระโก 15:40; โยฮัน 19:25) เมื่อเดินทางกลับ โยเซฟและมาเรียอาจคิดไปเองว่าพระเยซูอยู่กับญาติ ๆ ทีแรกจึงไม่ทันสังเกตว่าพระองค์ไม่ได้กลับมาด้วย. สามวันต่อมา เมื่อในที่สุดมาเรียและโยเซฟพบพระเยซู พระองค์ทรงอยู่ในพระวิหาร “นั่งอยู่ในโบสถ์ท่ามกลางพวกอาจารย์, กำลังฟังและไต่ถามพวกอาจารย์เหล่านั้น.”—ลูกา 2:44-46.
8. พระเยซูทรงทำอะไรในพระวิหาร และเหตุใดคนที่อยู่ที่นั่นรู้สึกทึ่ง?
8 พระเยซูทรง “ไต่ถาม” พวกอาจารย์ในลักษณะไหน? การถามของพระองค์อาจไม่ใช่เพียงถามเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นหรือเพียงเพื่อจะได้ข้อมูล. คำภาษากรีกที่ใช้ในที่นี้อาจหมายถึงการถามอย่างที่ใช้ในการไต่สวนในศาล และด้วยเหตุนั้นจึงอาจหมายรวมถึงการซักถามเพื่อตรวจสอบหรือคัดค้าน. ใช่แล้ว แม้แต่เมื่อยังเป็นเด็ก พระเยซูทรงพัฒนาตัวเป็นนักศึกษาคัมภีร์ไบเบิลที่ทำให้ครูสอนศาสนาซึ่งเป็นผู้คงแก่เรียนรู้สึกทึ่ง! คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “คนทั้งปวงที่ได้ยินก็ประหลาดใจในสติปัญญาและคำตอบของพระกุมารนั้น.”—ลูกา 2:47.
9. คุณจะทำตามแบบอย่างของพระเยซูในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลได้โดยวิธีใด?
9 คุณคิดอย่างไรในเรื่องที่พระเยซูทรงสามารถทำให้พวกครูผู้มีประสบการณ์รู้สึกทึ่งในความรู้ของพระองค์ด้านคัมภีร์ไบเบิลตั้งแต่อายุยังน้อย? แน่นอน พระองค์ได้รับประโยชน์จากการมีบิดามารดาที่เกรงกลัวพระเจ้าซึ่งสอนความรู้ของพระเจ้าแก่พระองค์ตั้งแต่เป็นทารก. (เอ็กโซโด 12:24-27; พระบัญญัติ 6:6-9; มัดธาย 1:18-20) เราสามารถแน่ใจได้ว่าโยเซฟพาพระเยซูผู้ยังเยาว์ไปที่ธรรมศาลาเพื่อฟังการอ่านและพิจารณาพระคัมภีร์. คุณเองได้รับประโยชน์ด้วยไหมจากการมีบิดามารดาที่ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลกับคุณและพาคุณไปยังการประชุมคริสเตียน? คุณเห็นคุณค่าความพยายามของท่านไหม เหมือนกับที่พระเยซูทรงหยั่งรู้ค่าความช่วยเหลือจากบิดามารดา? คุณบอกเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่คุณเรียนรู้เหมือนกับที่พระเยซูทรงทำไหม?
พระเยซูทรงยอมอยู่ใต้อำนาจ
10. (ก) เหตุใดบิดามารดาของพระเยซูน่าจะทราบว่าจะหาพระองค์ได้ที่ไหน? (ข) พระเยซูทรงวางตัวอย่างที่ดีอะไรไว้สำหรับเด็ก ๆ?
10 คุณคิดว่ามาเรียและโยเซฟรู้สึกอย่างไรเมื่อในที่สุดหลังจากผ่านไปสามวันก็ได้พบพระเยซูอยู่ในพระวิหาร? ไม่ต้องสงสัย ทั้งสองรู้สึกโล่งใจมาก. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงแสดงความแปลกใจที่บิดามารดาไม่ทราบว่าพระองค์อยู่ที่ไหน. ทั้งคู่รู้เกี่ยวกับการกำเนิดอย่างอัศจรรย์ของพระเยซู. นอกจากนั้น แม้ว่าบิดามารดาของพระองค์ไม่รู้รายละเอียดทั้งหมด แต่ก็คงรู้บางสิ่งเกี่ยวกับบทบาทในอนาคตของพระองค์ในฐานะผู้ช่วยให้รอดและผู้ปกครองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า. (มัดธาย 1:21; ลูกา 1:32-35; 2:11) ด้วยเหตุนั้น พระเยซูทรงถามบิดามารดาว่า “ทำไมต้องตามหาลูก? พ่อกับแม่ไม่รู้หรือว่าลูกต้องอยู่ในพระนิเวศของพระบิดา?” อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเชื่อฟังบิดามารดา และกลับไปบ้านที่เมืองนาซาเรทด้วยกัน. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า พระองค์ “อยู่ใต้การปกครองของพวกเขาต่อไป.” นอกจากนั้น “มารดาของพระองค์ก็จดจำถ้อยคำทั้งหมดนั้นไว้ในหัวใจของนาง.”—ลูกา 2:48-51, ล.ม.
11. คุณได้บทเรียนอะไรจากพระเยซูในเรื่องการเชื่อฟัง?
11 คุณรู้สึกว่าง่ายไหมที่จะทำตามแบบอย่างของพระเยซู โดยเชื่อฟังบิดามารดาเสมอ? หรือคุณรู้สึกว่าในหลาย ๆ เรื่องท่านไม่เข้าใจโลกปัจจุบันและคุณรู้ดีกว่าท่าน? จริงอยู่ คุณอาจรู้มากกว่าในบางเรื่อง—บางทีอาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์, หรือสิ่งประดิษฐ์สมัยใหม่อื่น ๆ. แต่ขอให้นึกถึงพระเยซูที่ได้ทำให้พวกอาจารย์ที่มีประสบการณ์ทึ่งใน “สติปัญญาและคำตอบของ [พระองค์].” คุณคงเห็นด้วยว่าเมื่อเทียบกับพระองค์แล้ว คุณรู้เพียงเล็กน้อย. ถึงกระนั้น พระเยซูทรงยอมอยู่ใต้อำนาจบิดามารดา. นี่ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าพระองค์ทรงเห็นด้วยกับการตัดสินใจของบิดามารดาเสมอไป. อย่างไรก็ตาม พระองค์ “อยู่ใต้การปกครองของพวกเขาต่อไป”—ตลอดช่วงที่ทรงเป็นวัยรุ่น. คุณคิดว่าคุณอาจเรียนอะไรได้จากตัวอย่างของพระองค์?—พระบัญญัติ 5:16, 29
การเชื่อฟัง—ไม่ใช่เรื่องง่าย
12. การเชื่อฟังอาจช่วยชีวิตคุณอย่างไร?
12 ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไปที่จะเชื่อฟัง ดังที่เห็นจากตัวอย่างเมื่อไม่กี่ปีมานี้ตอนที่เด็กหญิงสองคนกำลังจะวิ่งข้ามถนนทางหลวงที่มีหกช่องทาง แทนที่จะใช้สะพานข้ามถนน. “มาเถอะน่า จอห์น” ทั้งสองคนเร่งเร้าเพื่อนอีกคนหนึ่ง ขณะที่เขากำลังจะเดินขึ้นสะพานข้ามถนน. “ไปด้วยกันกับเรานะ” เมื่อเห็นเขายังลังเล เด็กหญิงคนหนึ่งก็เย้ยเขาว่า “เธอมันขี้ขลาดตาขาว!” แม้ว่าจอห์นไม่กลัว แต่ก็บอกว่า “ฉันก็เพียงแต่ต้องเชื่อฟังคำสั่งของแม่เท่านั้นแหละ.” ไม่กี่อึดใจต่อมา ขณะอยู่บนสะพานข้ามถนน เขาได้ยินเสียงยางรถบดกับถนนดังเอี๊ยด และเมื่อมองลงไปก็เห็นเด็กหญิงทั้งสองคนถูกรถชน. เด็กคนหนึ่งตาย ส่วนอีกคนบาดเจ็บสาหัสจนต้องตัดขาข้างหนึ่งทิ้ง. แม่ของเด็กหญิงทั้งสอง ซึ่งได้กำชับลูกแล้วให้ใช้สะพานข้ามถนน กล่าวกับแม่ของจอห์นในภายหลังว่า “ฉันอยากให้ลูกของฉันเชื่อฟังเหมือนลูกชายคุณจริง ๆ.”—เอเฟโซ 6:1.
13. (ก) เหตุใดคุณควรเชื่อฟังบิดามารดา? (ข) เมื่อไรที่เป็นเรื่องถูกต้องที่บุตรจะไม่ทำตามคำสั่งของบิดาหรือมารดา?
13 เหตุใดพระเจ้าตรัสว่า “บุตรทั้งหลาย จงเชื่อฟังบิดามารดา”? โดยเชื่อฟังบิดามารดา นั่นเท่ากับคุณเชื่อฟังพระเจ้า. นอกจากนั้น บิดามารดาของคุณมีประสบการณ์มากกว่าคุณ. ตัวอย่างเช่น เพียงแค่ห้าปีก่อนจะเกิดอุบัติเหตุที่เล่าไปข้างต้น แม่ของจอห์นมีเพื่อนคนหนึ่งซึ่งลูกของเธอเสียชีวิตจากการพยายามข้ามถนนทางหลวงสายเดียวกันนั้นเอง! จริงอยู่ อาจไม่ง่ายเสมอไปที่จะเชื่อฟังบิดามารดา แต่พระเจ้าตรัสว่าคุณควรเชื่อฟัง. ในอีกด้านหนึ่ง หากบิดามารดาของคุณหรือคนอื่นบอกคุณให้โกหก, ขโมย, หรือทำสิ่งใดก็ตามที่พระเจ้าไม่พอพระทัย คุณต้อง “เชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์.” นั่นคือเหตุผลที่หลังจากกล่าวว่า “จงเชื่อฟังบิดามารดา” คัมภีร์ข้อนี้กล่าวต่ออีกว่า “ร่วมสามัคคีกันกับองค์พระผู้เป็นเจ้า.” การทำตามข้อนี้หมายถึงการที่คุณเชื่อฟังบิดามารดาในทุกสิ่งที่สอดคล้องกับกฎหมายของพระเจ้า.—กิจการ 5:29.
14. เหตุใดการเชื่อฟังจึงง่ายกว่าสำหรับคนที่สมบูรณ์ แต่กระนั้นเหตุใดคนที่สมบูรณ์ก็จำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้?
14 คุณคิดไหมว่าหากคุณเป็นคนสมบูรณ์ กล่าวคือ “ไม่มีมลทิน, ต่างจากคนบาปทั้งปวง” เช่นเดียวกับพระเยซู จะเป็นเรื่องง่ายเสมอที่จะเชื่อฟังบิดามารดา? (เฮ็บราย 7:26) หากคุณเป็นคนสมบูรณ์ คุณย่อมไม่มีแนวโน้มจะทำสิ่งที่ไม่ดี เหมือนที่คุณเป็นในตอนนี้. (เยเนซิศ 8:21; บทเพลงสรรเสริญ 51:5) อย่างไรก็ตาม แม้แต่พระเยซูก็ต้องเรียนรู้ในเรื่องการเชื่อฟัง. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ถึงแม้ว่า [พระเยซู] ทรงเป็นพระบุตรแล้ว, พระองค์ยังได้ทรงเรียนรู้จักที่จะนอบน้อมยอมฟังนั้นโดยความยากลำบากที่พระองค์ได้ทนเอา.” (เฮ็บราย 5:8) การอดทนความยากลำบากช่วยพระเยซูอย่างไรให้เรียนรู้การเชื่อฟัง ซึ่งเป็นบทเรียนที่พระองค์ไม่เคยได้เรียนรู้ในสวรรค์?
15, 16. พระเยซูทรงเรียนรู้เรื่องการเชื่อฟังโดยวิธีใด?
15 โดยอาศัยการชี้นำจากพระยะโฮวา โยเซฟและมาเรียปกป้องคุ้มครองพระเยซูจากอันตรายเมื่อพระองค์ยังเป็นเด็ก. (มัดธาย 2:7-23) แต่ในที่สุด พระเจ้าทรงถอนการคุ้มครองที่เหนือธรรมชาติจากพระเยซู. ความทุกข์เจ็บปวดด้านจิตใจและร่างกายที่พระเยซูประสบนั้นใหญ่หลวงถึงขนาดที่คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระองค์ “ได้ถวายคำวิงวอนและคำขอร้องด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหล.” (เฮ็บราย 5:7, ล.ม.) เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อไร?
16 เรื่องนี้เกิดขึ้นในระหว่างชั่วโมงท้าย ๆ ของชีวิตทางแผ่นดินโลกของพระเยซู เมื่อซาตานพยายามอย่างสุดตัวเพื่อทำลายความซื่อสัตย์มั่นคงของพระองค์. เห็นได้ชัดว่า พระเยซูทรงปวดร้าวพระทัยอย่างยิ่งเมื่อคิดว่าวิธีที่พระองค์จะสิ้นพระชนม์เยี่ยงคนที่ชั่วร้ายอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติภูมิของพระบิดาสักเพียงไร ถึงขนาดที่เมื่อ ‘พระองค์ทรงอธิษฐานต่อไป [ในสวนเกทเซมาเน] พระเสโทของพระองค์กลายเป็นเหมือนหยดเลือดตกลงบนพื้นดิน.’ ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ท่าที่พระองค์ถูกตรึงให้สิ้นพระชนม์บนหลักทรมานนั้นสร้างความเจ็บปวดอย่างยิ่งจนพระเยซูทรงเปล่ง “เสียงดัง [พร้อมกับ] น้ำพระเนตรไหล.” (ลูกา 22:42-44, ล.ม.; มาระโก 15:34) ด้วยเหตุนั้น พระองค์ “ทรงเรียนรู้จักที่จะนอบน้อมยอมฟังนั้นโดยความยากลำบากที่พระองค์ได้ทนเอา” และโดยที่ทรงเป็นเช่นนั้นพระองค์ทำให้พระทัยพระบิดายินดี. บัดนี้เมื่อทรงอยู่ในสวรรค์ พระเยซูทรงร่วมรู้สึกถึงความเจ็บปวดของเราขณะที่บ่อยครั้งเราพยายามอย่างหนักเพื่อจะเชื่อฟัง.—สุภาษิต 27:11; เฮ็บราย 2:18; 4:15.
ได้บทเรียนเรื่องการเชื่อฟัง
17. เราควรมีทัศนะอย่างไรเมื่อรับการตีสอน?
17 เมื่อบิดาและมารดาตีสอนคุณ นั่นแสดงว่าท่านต้องการให้คุณได้รับสิ่งที่ดีที่สุดและแสดงว่าท่านรักคุณ. คัมภีร์ไบเบิลถามดังนี้: “มีบุตรคนไหนบ้างที่บิดาไม่ตีสอน?” คงเป็นเรื่องน่าเศร้ามิใช่หรือหากบิดามารดาไม่รักคุณมากพอที่จะใช้เวลาและความพยายามเพื่อว่ากล่าวแก้ไขคุณ? ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากพระยะโฮวาทรงรักคุณ พระองค์จึงทรงว่ากล่าวแก้ไขคุณ. จริงอยู่ “การตีสอนทุกอย่างดูไม่น่ายินดีเลยในเวลานั้น แต่น่าเศร้าใจ แต่ภายหลังก็ก่อให้เกิดผลคือสันติสุขและความชอบธรรม แก่บรรดาคนที่ถูกฝึกฝนโดยการตีสอนนั้น.”—เฮ็บราย 12:7-11, ฉบับแปล 2002.
18. (ก) การตีสอนด้วยความรักเป็นหลักฐานถึงอะไร? (ข) คุณเห็นประโยชน์ในทางใดบ้างที่ผู้คนได้รับการนวดปั้นด้วยการตีสอนเช่นนั้น?
18 กษัตริย์องค์หนึ่งแห่งอิสราเอลโบราณ ซึ่งพระเยซูตรัสถึงสติปัญญาอันยิ่งใหญ่ของท่าน กล่าวถึงความจำเป็นที่บิดามารดาจะว่ากล่าวแก้ไขด้วยความรัก. ซะโลโมเขียนไว้ดังนี้: “บุคคลผู้ไม่ยอมใช้ไม้เรียวก็เป็นผู้ที่ชังบุตรของตน แต่บุคคลผู้รักบุตรย่อมเฆี่ยนตีสั่งสอน.” ซะโลโมถึงกับกล่าวว่าบุคคลที่รับการว่ากล่าวแก้ไขอันเปี่ยมด้วยความรักจะช่วยชีวิตตนให้รอดจากความตาย. (สุภาษิต 13:24; 23:13, 14, ฉบับแปลใหม่; มัดธาย 12:42) สตรีคริสเตียนผู้หนึ่งจำได้ว่าตอนที่เธอยังเด็ก เมื่อเธอประพฤติตัวไม่ดีที่การประชุมคริสเตียน พ่อก็จะบอกกับเธอเลยว่าจะตีสอนเธอเมื่อกลับถึงบ้าน. ตอนนี้ เธอระลึกถึงพ่อด้วยความรักใคร่ที่ได้ตีสอนเธอด้วยความรักซึ่งช่วยนวดปั้นชีวิตเธอให้ดำเนินในทางที่ดี.
19. คุณควรเชื่อฟังบิดามารดาด้วยเหตุผลอะไรเป็นพิเศษ?
19 หากคุณมีบิดามารดาที่รักคุณมากพอที่จะใช้เวลาและความพยายามเพื่อตีสอนคุณในวิธีที่เปี่ยมด้วยความรัก ก็จงหยั่งรู้ค่า. จงเชื่อฟังท่าน เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสต์เจ้าทรงเชื่อฟังบิดามารดาของพระองค์ คือโยเซฟและมาเรีย. แต่จงเชื่อฟังท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพราะพระยะโฮวาพระเจ้าพระบิดาของคุณผู้อยู่ในสวรรค์ทรงมีพระบัญชาให้คุณทำอย่างนั้น. เมื่อทำอย่างนั้น คุณเองจะได้รับประโยชน์ และ ‘จะอยู่ดีมีสุขและจะอยู่ยืนยงบนแผ่นดินโลก.’—เอเฟโซ 6:2, 3, ล.ม.
[เชิงอรรถ]
a โปรดดูการหยั่งเห็นเข้าใจพระคัมภีร์ (ภาษาอังกฤษ) เล่ม 2 หน้า 841 จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
คุณจะตอบอย่างไร?
• บุตรอาจได้รับประโยชน์อะไรจากการเชื่อฟังบิดามารดา?
• เมื่อยังเด็ก พระเยซูทรงวางตัวอย่างไว้อย่างไรในเรื่องการเชื่อฟังบิดามารดา?
• พระเยซูทรงเรียนรู้การเชื่อฟังโดยวิธีใด?
[ภาพหน้า 24]
พระเยซู ขณะมีพระชนมายุได้สิบสองพรรษา ทรงเชี่ยวชาญด้านพระคัมภีร์
[ภาพหน้า 26]
พระเยซูทรงเรียนรู้การเชื่อฟังจากการทนทุกข์อย่างไร?