การรู้จัก “พระทัยของพระคริสต์”
“ใครเล่าได้รู้จักพระทัยของพระเจ้า, เพื่อจะสอนพระองค์ได้? แต่เรามีพระทัยของพระคริสต์.”—1 โกรินโธ 2:16.
1, 2. ในพระคำของพระองค์ พระยะโฮวาทรงเห็นสมควรที่จะเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับพระเยซู?
พระเยซูทรงมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร? พระเกศาของพระองค์สีอะไร? พระฉวี (ผิวกาย) สีอะไร? พระจักษุสีอะไร? พระองค์ทรงสูงขนาดไหน? ทรงหนักเท่าไร? ตลอดหลายศตวรรษ ภาพลักษณ์ของพระเยซูในผลงานศิลปะต่าง ๆ มีหลากหลาย นับตั้งแต่แบบที่สมเหตุสมผลไปจนถึงแบบที่ผิดความเป็นจริงไปไกล. บางคนสร้างภาพให้พระองค์มีลักษณะสมชายและมีชีวิตชีวา ในขณะที่บางคนสร้างภาพให้พระองค์มีลักษณะบอบบางและซูบซีด.
2 อย่างไรก็ตาม คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้เน้นถึงรูปลักษณ์ภายนอกของพระเยซู. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระยะโฮวาทรงเห็นสมควรที่จะเปิดเผยสิ่งที่สำคัญกว่ามาก: บุคคลแบบที่พระเยซูทรงเป็น. บันทึกพระธรรมกิตติคุณไม่ได้รายงานแต่เพียงสิ่งที่พระเยซูตรัสและทำ แต่ยังเผยให้เห็นถึงความรู้สึกอันลึกซึ้งและแบบแผนการคิดที่อยู่เบื้องหลังคำพูดและการกระทำของพระองค์ด้วย. บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจสี่เล่มนี้ช่วยเราให้เพ่งพิจารณาสิ่งที่อัครสาวกเปาโลกล่าวถึงว่าเป็น “พระทัยของพระคริสต์.” (1 โกรินโธ 2:16) นับว่าสำคัญที่เราจะคุ้นเคยกับแนวคิด, ความรู้สึก, และบุคลิกภาพของพระเยซู. เพราะเหตุใด? มีเหตุผลอย่างน้อยสองประการ.
3. การที่เราคุ้นเคยกับพระทัยของพระคริสต์สามารถให้ความหยั่งเห็นเข้าใจอะไรแก่เรา?
3 ประการแรก พระทัยของพระคริสต์ช่วยให้เราเข้าใจพระทัยของพระยะโฮวาพระเจ้าดีขึ้น. พระเยซูทรงใกล้ชิดสนิทสนมกับพระบิดามากจนพระองค์ตรัสได้ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าพระบุตรเป็นผู้ใดเว้นแต่พระบิดา. และไม่มีใครรู้ว่าพระบิดาเป็นผู้ใดเว้นแต่พระบุตร และผู้ที่พระบุตรพอพระทัยจะสำแดงให้รู้.” (ลูกา 10:22) ด้วยคำพูดดังกล่าว ก็เหมือนกับพระเยซูกำลังตรัสว่า ‘หากเจ้าอยากรู้ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นอย่างไร จงมองดูเรา.’ (โยฮัน 14:9) ฉะนั้น เมื่อเราศึกษาสิ่งที่พระธรรมกิตติคุณเปิดเผยเกี่ยวกับวิธีที่พระเยซูคิดและรู้สึก จริง ๆ แล้วเรากำลังเรียนรู้ถึงวิธีที่พระยะโฮวาทรงคิดและรู้สึก. ความรู้เช่นนั้นช่วยเราให้ใกล้ชิดพระเจ้าของเรามากขึ้น.—ยาโกโบ 4:8.
4. เพื่อเราจะทำอย่างพระคริสต์ได้จริง ๆ ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้อะไร และทำไม?
4 ประการที่สอง การที่เรารู้จักพระทัยของพระคริสต์ช่วยเราให้ “ดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21, ล.ม.) การดำเนินตามพระเยซูไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการกล่าวซ้ำคำตรัสของพระองค์และเลียนแบบการกระทำของพระองค์. เนื่องจากคำพูดและการกระทำได้รับอิทธิพลจากความคิดและความรู้สึก การดำเนินตามพระคริสต์จึงเรียกร้องให้เราปลูกฝัง “เจตคติ” อย่างเดียวกับที่พระองค์ทรงมี. (ฟิลิปปอย 2:5, ล.ม.) กล่าวอีกอย่างคือ เพื่อที่เราจะทำอย่างพระคริสต์ได้จริง ๆ ก่อนอื่นเราต้องเรียนที่จะคิดและรู้สึกอย่างพระองค์ ซึ่งก็หมายถึงว่าทำให้ดีที่สุดเท่าที่ความสามารถของเราในฐานะมนุษย์ไม่สมบูรณ์จะทำได้. ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณ ขอให้เราเพ่งพิจารณาพระทัยของพระคริสต์. ก่อนอื่น เราจะพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิธีที่พระเยซูทรงคิดและรู้สึก.
ความเป็นอยู่ก่อนเป็นมนุษย์
5, 6. (ก) คนที่เราคบหาสมาคมด้วยอาจก่อผลกระทบต่อเราเช่นไร? (ข) พระบุตรหัวปีของพระเจ้าทรงมีการคบหาสมาคมเช่นไรในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก และการคบหาสมาคมดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อพระองค์?
5 คนที่เราคบหาใกล้ชิดอาจก่อผลกระทบต่อเรา โน้มนำความคิด, ความรู้สึก, และการกระทำของเราได้ทั้งในทางดีและทางเลว.a (สุภาษิต 13:20) ขอให้พิจารณาการคบหาสมาคมที่พระเยซูทรงมีในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. พระธรรมกิตติคุณโยฮันบอกเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของพระเยซูก่อนเป็นมนุษย์ในฐานะ “พระวาทะ” หรือโฆษกของพระเจ้า. โยฮันกล่าวว่า “เริ่มแรกพระวาทะเป็นอยู่แล้ว และพระวาทะนั้นได้อยู่กับพระเจ้า และพระวาทะนั้นเป็นพระเจ้าองค์หนึ่ง. เมื่อเดิมพระองค์ผู้นี้ได้อยู่กับพระเจ้า.” (โยฮัน 1:1, 2, ล.ม.) เนื่องจากพระยะโฮวาไม่มีจุดเริ่มต้น การที่พระวาทะอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ “เริ่มแรก” คงต้องหมายถึงตอนเริ่มต้นแห่งงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า. (บทเพลงสรรเสริญ 90:2) พระเยซูทรงเป็น “ผู้แรกที่บังเกิดก่อนสรรพสิ่งทรงสร้าง.” ด้วยเหตุนั้น พระองค์ทรงดำรงอยู่ก่อนที่กายวิญญาณอื่น ๆ และเอกภพจะถูกสร้างขึ้น.—โกโลซาย 1:15, ล.ม.; วิวรณ์ 3:14.
6 ตามการประมาณของนักวิทยาศาสตร์บางคน เอกภพดำรงอยู่เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งหมื่นสองพันล้านปี. หากการประมาณดังกล่าวใกล้เคียงความเป็นจริง พระบุตรหัวปีของพระเจ้าทรงมีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับพระบิดาเป็นเวลานับหมื่นล้านปีก่อนการสร้างอาดาม. (เทียบกับมีคา 5:2.) สายสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักและลึกซึ้งจึงพัฒนาขึ้นระหว่างพระองค์ทั้งสอง. ในฐานะพระปัญญาซึ่งมีการกล่าวถึงราวกับเป็นบุคคล มีการพรรณนาถึงพระบุตรหัวปีองค์นี้เมื่อทรงดำรงอยู่ก่อนเป็นมนุษย์ว่าพระองค์ตรัสดังนี้: “เราได้มาเป็นผู้ที่พระองค์ [พระยะโฮวา] ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษวันแล้ววันเล่า เราชื่นชมยินดีเฉพาะพระพักตร์พระองค์ตลอดเวลา.” (สุภาษิต 8:30, ล.ม.) แน่นอน การใช้เวลามากมายจนไม่อาจนับได้ในการมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแหล่งแห่งความรักย่อมก่อผลกระทบที่ลึกล้ำต่อพระบุตรของพระเจ้า! (1 โยฮัน 4:8) พระบุตรองค์นี้ได้มารู้จักและสะท้อนถึงความคิด, ความรู้สึก, และวิถีทางของพระบิดาอย่างที่ไม่มีใครจะทำได้เหมือนพระองค์.—มัดธาย 11:27.
ชีวิตบนแผ่นดินโลกและปัจจัยที่ก่อผลกระทบ
7. เหตุผลหนึ่งที่ทำให้พระบุตรหัวปีของพระเจ้าจำเป็นต้องเสด็จมายังแผ่นดินโลกคืออะไร?
7 พระบุตรของพระเจ้ายังต้องเรียนรู้มากกว่านี้ เพราะพระประสงค์ของพระยะโฮวาคือการเตรียมพระบุตรไว้ให้เป็นมหาปุโรหิตที่กรุณา สามารถจะ “ร่วมรู้สึกกับความอ่อนแอของเรา.” (เฮ็บราย 4:15, ล.ม.) การบรรลุข้อเรียกร้องสำหรับบทบาทนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พระบุตรเสด็จมายังแผ่นดินโลกในฐานะมนุษย์. ที่นี่ ในฐานะมนุษย์ที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อ พระเยซูต้องพบกับสถานการณ์แวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อผลกระทบซึ่งก่อนหน้านั้นพระองค์เพียงแต่สังเกตเห็นจากสวรรค์. บัดนี้ พระองค์ทรงสามารถมีอารมณ์และความรู้สึกแบบมนุษย์ด้วยพระองค์เอง. บางครั้งพระองค์รู้สึกเหน็ดเหนื่อย, กระหาย, และหิว. (มัดธาย 4:2; โยฮัน 4:6, 7) ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงอดทนความลำบากและความทุกข์ทุกรูปแบบ. โดยวิธีนี้ พระองค์ “ทรงเรียนรู้การเชื่อฟัง” และมีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับบทบาทของพระองค์ในฐานะมหาปุโรหิต.—เฮ็บราย 5:8-10, ล.ม.
8. เราทราบอะไรเกี่ยวกับชีวิตในช่วงแรก ๆ ของพระเยซูบนแผ่นดินโลก?
8 จะว่าอย่างไรสำหรับประสบการณ์ของพระเยซูบนแผ่นดินโลกในวัยเด็ก? ประวัติบันทึกเกี่ยวกับช่วงวัยเด็กของพระองค์มีน้อยมาก. ที่จริง มีเพียงมัดธายและลูกาที่บอกเล่าเหตุการณ์ในช่วงที่พระองค์ประสูติ. ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณทราบว่าพระเยซูเคยมีพระชนม์ชีพในสวรรค์ก่อนเสด็จมายังแผ่นดินโลก. การดำรงอยู่ก่อนเป็นมนุษย์นั่นแหละที่ทำให้เข้าใจได้ดียิ่งกว่าปัจจัยอื่นใดว่าพระองค์จะกลายเป็นบุคคลแบบไหน. อย่างไรก็ตาม พระเยซูทรงเป็นมนุษย์โดยครบถ้วนสมบูรณ์. แม้ว่าทรงสมบูรณ์ พระองค์ยังคงต้องเติบโตจากวัยทารก แล้วมาเป็นเด็กและเข้าสู่วัยรุ่นจนในที่สุดเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ตลอดเวลาดังกล่าวพระองค์ทรงเรียนรู้. (ลูกา 2:51, 52) คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยบางสิ่งเกี่ยวกับชีวิตในช่วงแรก ๆ ของพระเยซูซึ่งคงมีผลต่อพระองค์อย่างไม่มีข้อสงสัย.
9. (ก) มีข้อบ่งชี้อะไรว่าพระเยซูประสูติในครอบครัวยากจน? (ข) พระเยซูคงเติบโตขึ้นมาในสภาพเศรษฐกิจแบบใด?
9 มีหลักฐานแสดงว่า พระเยซูประสูติในครอบครัวยากจน. เรื่องนี้เห็นได้จากของถวายที่โยเซฟและมาเรียนำไปถวายที่พระวิหารประมาณ 40 วันหลังการประสูติ. แทนที่จะนำลูกแกะไปถวายเป็นเครื่องบูชาเผาและลูกนกพิราบหรือนกเขาถวายเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป ทั้งสองถวาย “นกเขาคู่หนึ่ง หรือ ลูกนกพิราบสองตัว” อย่างใดอย่างหนึ่ง. (ลูกา 2:24) ตามพระบัญญัติของโมเซ ของถวายนี้กำหนดไว้สำหรับให้คนจนถวาย. (เลวีติโก 12:6-8) ต่อมา ครอบครัวที่ต่ำต้อยนี้ขยายใหญ่ขึ้น. โยเซฟและมาเรียมีลูกตามปกติธรรมดาอย่างน้อยอีกหกคนภายหลังการประสูติโดยวิธีอัศจรรย์ของพระเยซู. (มัดธาย 13:55, 56) ดังนั้น พระเยซูทรงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ และคงจะในสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมัธยัสถ์อดออม.
10. อะไรแสดงว่ามาเรียและโยเซฟเป็นคนที่เกรงกลัวพระเจ้า?
10 พระเยซูได้รับการเลี้ยงดูโดยบิดามารดาที่ยำเกรงพระเจ้า. มาเรีย มารดาของพระองค์เป็นสตรีที่เด่นคนหนึ่ง. ขอให้นึกถึงตอนที่ทูตสวรรค์ฆับรีเอลทักทายเธอ โดยกล่าวว่า “จงจำเริญเถิด เธอเป็นที่ทรงโปรดปรานมาก ขอพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเธอเถิด.” (ลูกา 1:28) โยเซฟก็เช่นกันเป็นชายผู้เลื่อมใสพระเจ้า. ด้วยความซื่อสัตย์ ทุก ๆ ปีเขาเดินทาง 150 กิโลเมตรไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อเข้าร่วมเทศกาลปัศคา. มาเรียก็ไปด้วย แม้ว่ามีข้อเรียกร้องเฉพาะผู้ชายเท่านั้นให้ทำเช่นนี้. (เอ็กโซโด 23:17; ลูกา 2:41) ณ โอกาสดังกล่าวคราวหนึ่ง หลังจากเที่ยวตามหาจนทั่ว โยเซฟและมาเรียก็พบพระเยซูผู้ทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษาอยู่ที่พระวิหารในหมู่อาจารย์. พระเยซูตรัสแก่บิดามารดาผู้เป็นห่วงกังวลว่า “ท่านยังไม่ทราบหรือว่า ฉันคงต้องอยู่ในราชฐานแห่งพระบิดาของฉัน?” (ลูกา 2:49) “พระบิดา”—คำนี้คงต้องมีนัยความหมายที่อบอุ่นและเสริมสร้างสำหรับพระเยซูผู้ยังเยาว์. ประการหนึ่งนั้น คงมีคนบอกพระองค์ว่าพระยะโฮวาทรงเป็นบิดาที่แท้จริงของพระองค์. นอกจากนี้ โยเซฟคงต้องเป็นบิดาเลี้ยงที่ดี. พระยะโฮวาคงไม่เลือกชายที่เกรี้ยวกราดหรือโหดร้ายให้เลี้ยงดูพระบุตรที่รักของพระองค์แน่!
11. พระเยซูทรงเรียนรู้งานอะไร และในสมัยคัมภีร์ไบเบิล การทำงานในอาชีพนี้หมายรวมถึงอะไร?
11 ขณะเจริญวัยขึ้นในเมืองนาซาเร็ธ พระเยซูทรงเรียนรู้เกี่ยวกับงานช่างไม้ ซึ่งก็คงเรียนจากโยเซฟบิดาเลี้ยงของพระองค์นั่นเอง. พระเยซูทรงชำนาญในงานนี้จนมีคนเรียกพระองค์ว่า “ช่างไม้.” (มาระโก 6:3) ในสมัยคัมภีร์ไบเบิล ช่างไม้ได้รับการว่าจ้างให้สร้างบ้าน, ทำเฟอร์นิเจอร์ (อาทิเช่น โต๊ะ, เก้าอี้, และม้านั่ง), และทำเครื่องมือการเกษตร. ในหนังสือบทสนทนากับไทรโฟ จัสติน มาร์เทอร์ แห่งศตวรรษที่สองเขียนเกี่ยวกับพระเยซูว่า “เมื่ออยู่ในหมู่ผู้ชาย งานที่พระองค์ทรงทำเป็นประจำคืองานช่างไม้ ทำผาลและแอก.” งานดังกล่าวไม่ง่ายเลย เพราะช่างไม้ในสมัยโบราณคงไม่สามารถหาซื้อไม้. เป็นไปได้มากกว่าว่า เขาต้องออกไปหาและเลือกต้นไม้ เหวี่ยงขวานตัดต้นไม้ แล้วลากไม้นั้นมาที่บ้าน. ดังนั้น พระเยซูอาจทราบดีถึงข้อท้าทายของการหาเลี้ยงชีพ, การติดต่อกับลูกค้า, และการชักหน้าให้ถึงหลัง.
12. อะไรแสดงว่าโยเซฟคงจะเสียชีวิตก่อนพระเยซู และเรื่องนี้คงจะหมายถึงอะไรสำหรับพระเยซู?
12 ในฐานะบุตรชายคนโต พระเยซูคงช่วยดูแลครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากดูเหมือนว่าโยเซฟเสียชีวิตก่อนพระเยซู.b หอสังเกตการณ์แห่งซีโอน ฉบับ 1 มกราคม 1900 (ภาษาอังกฤษ) กล่าวว่า “ตามคำเล่าสืบปาก โยเซฟเสียชีวิตขณะที่พระเยซูยังทรงเยาว์ พระองค์จึงทรงทำงานเป็นช่างไม้และเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว. เรื่องนี้ปรากฏมีข้อสนับสนุนบางอย่างในพระคัมภีร์ซึ่งมีการเรียกพระเยซูว่าช่างไม้ และกล่าวถึงมารดากับน้องชายของพระองค์ด้วย แต่กลับไม่ได้กล่าวถึงโยเซฟเลย. (มาระโก 6:3) . . . ดังนั้น จึงเป็นไปได้ทีเดียวว่า ช่วงเวลายาวนานถึงสิบแปดปีของชีวิตองค์พระผู้เป็นเจ้า คือนับตั้งแต่เหตุการณ์ [ดังบันทึกไว้ที่ลูกา 2:41-49] จนถึงตอนที่พระองค์รับบัพติสมา พระองค์ทรงใช้เวลาช่วงนั้นในการทำหน้าที่การงานตามปกติธรรมดาในชีวิต.” มาเรียกับลูก ๆ รวมทั้งพระเยซูด้วย คงรู้ซึ้งดีถึงความเจ็บปวดซึ่งเกิดจากการที่สามีและบิดาผู้เป็นที่รักเสียชีวิต.
13. เมื่อพระเยซูทรงเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ เหตุใดพระองค์จึงทรงทำด้วยความรู้, ความหยั่งเห็นเข้าใจ, และความรู้สึกอันลึกซึ้งอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถทำได้อย่างนั้น?
13 เห็นได้ชัด พระเยซูไม่ได้ประสูติมามีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น พระองค์ทรงมีประสบการณ์ชีวิตอย่างคนธรรมดาทั่วไป. ต่อมา ในปี ส.ศ. 29 พระเยซูทรงปฏิบัติงานมอบหมายของพระเจ้าที่คอยพระองค์อยู่. ในฤดูใบไม้ร่วงของปีนั้น พระองค์ทรงรับบัพติสมาในน้ำและได้รับการบังเกิดเป็นบุตรฝ่ายวิญญาณของพระเจ้า. ‘ฟ้าสวรรค์แหวกออกแก่พระองค์’ ซึ่งก็คงเป็นการระบุว่าบัดนี้พระองค์ทรงระลึกได้ถึงชีวิตของพระองค์ในสวรรค์ก่อนเป็นมนุษย์ รวมถึงความคิดและความรู้สึกที่พระองค์ทรงเคยมี. (ลูกา 3:21, 22) ดังนั้น เมื่อพระเยซูทรงเริ่มต้นงานรับใช้ของพระองค์ พระองค์จึงทรงทำงานนั้นด้วยความรู้, ความหยั่งเห็นเข้าใจ, และความรู้สึกอันลึกซึ้งอย่างที่ไม่มีมนุษย์คนใดจะทำได้อย่างนั้น. ด้วยเหตุผลที่ดี ผู้เขียนพระธรรมกิตติคุณจึงได้อุทิศการเขียนส่วนใหญ่ของตนให้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานรับใช้ของพระเยซู. แม้กระนั้น พวกเขาไม่สามารถบันทึกทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ. (โยฮัน 21:25) แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับการดลใจให้บันทึกช่วยเราให้เพ่งพิจารณาพระทัยของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา.
บุคคลอย่างที่พระเยซูทรงเป็น
14. พระธรรมกิตติคุณพรรณนาพระเยซูไว้อย่างไรในฐานะบุรุษที่อบอุ่นนุ่มนวลและมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง?
14 บุคลิกภาพของพระเยซูที่เห็นเด่นชัดจากพระธรรมกิตติคุณคือบุรุษที่อบอุ่นนุ่มนวลและมีความรู้สึกอันลึกซึ้ง. พระองค์ทรงแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองทางอารมณ์ในขอบเขตที่กว้างขวาง: ทรงสงสารคนโรคเรื้อน (มาระโก 1:40, 41); ทรงโศกเศร้าเนื่องด้วยประชาชนที่ไม่ตอบรับ (ลูกา 19:41, 42); ทรงแสดงความขุ่นเคืองอย่างชอบธรรมต่อคนแลกเงินที่ละโมบ (โยฮัน 2:13-17). เนื่องจากทรงเป็นคนที่ร่วมรู้สึก พระเยซูตื้นตันพระทัยจนถึงกับกันแสง และพระองค์ไม่ทรงปิดซ่อนความรู้สึกของพระองค์. เมื่อลาซะโรสหายที่พระองค์ทรงรักเสียชีวิต ภาพของมาเรียพี่สาวลาซะโรร้องไห้ทำให้พระเยซูสะเทือนพระทัยมากจนถึงกับกันแสงออกมาต่อหน้าคนอื่น ๆ.—โยฮัน 11:32-36.
15. ความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเยซูเห็นได้อย่างไรจากวิธีที่พระองค์ทรงมองดูและปฏิบัติต่อผู้อื่น?
15 ความรู้สึกอันอ่อนละมุนของพระเยซูเห็นได้ชัดเป็นพิเศษในวิธีที่พระองค์ทรงมองดูและปฏิบัติต่อผู้อื่น. พระองค์ทรงเข้าถึงคนจนและคนที่ถูกกดขี่ ช่วยพวกเขา ‘ได้ความสดชื่นสำหรับจิตวิญญาณของเขา.’ (มัดธาย 11:4, 5, 28-30, ล.ม.) พระองค์ไม่ทรงมีธุระยุ่งเกินไปที่จะตอบสนองความจำเป็นของคนที่ทนทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นหญิงตกเลือดที่แอบสัมผัสฉลองพระองค์หรือชายขอทานตาบอดที่ไม่ยอมเงียบเสียง. (มัดธาย 9:20-22; มาระโก 10:46-52) พระเยซูทรงมองหาข้อดีในผู้อื่นและชมเชยเขา; กระนั้น พระองค์ทรงพร้อมด้วยที่จะว่ากล่าวเมื่อจำเป็น. (มัดธาย 16:23; โยฮัน 1:47; 8:44) ในสมัยซึ่งผู้หญิงถูกจำกัดสิทธิ พระเยซูทรงปฏิบัติอย่างสมดุลต่อผู้หญิงโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีและให้ความนับถือ. (โยฮัน 4:9, 27) จึงไม่แปลกที่สตรีกลุ่มหนึ่งเต็มใจสนับสนุนพระองค์ด้วยทรัพย์สิ่งของส่วนตัว.—ลูกา 8:3.
16. อะไรแสดงว่าพระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลต่อชีวิตและสิ่งฝ่ายวัตถุ?
16 พระเยซูทรงมีทัศนะที่สมดุลต่อชีวิต. สิ่งฝ่ายวัตถุไม่ใช่เรื่องสำคัญเป็นอันดับแรกสำหรับพระองค์. ดูเหมือนว่า พระองค์ทรงมีน้อยมากในด้านวัตถุ. พระองค์ตรัสว่าพระองค์ “ไม่มีที่ ๆ จะวางศีรษะ.” (มัดธาย 8:20) ในขณะเดียวกัน พระเยซูทรงเพิ่มเติมความยินดีให้แก่ผู้อื่น. เมื่อพระองค์ทรงเข้าร่วมงานเลี้ยงสมรส—งานซึ่งตามปกติจะมีดนตรี การร้องเพลง และการละเล่นรื่นเริงกัน—เห็นได้ชัดว่าพระองค์ไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นแล้วทำให้งานนั้นหมดสนุก. ที่จริง พระเยซูทรงทำการอัศจรรย์ครั้งแรกที่นั่น. เมื่อเหล้าองุ่นหมด พระองค์ทรงเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นเหล้าองุ่นชั้นเยี่ยม เครื่องดื่มซึ่ง “ทำให้ใจมนุษย์ชื่นบาน.” (บทเพลงสรรเสริญ 104:15; โยฮัน 2:1-11) ด้วยเหตุนั้น งานเลี้ยงรื่นเริงจึงดำเนินต่อไปได้ และไม่ต้องสงสัยเลยว่าช่วยให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ต้องเสียหน้า. นอกจากนั้น ความสมดุลของพระองค์ยังสะท้อนให้เห็นจากที่มีการกล่าวถึงบ่อยยิ่งกว่านั้นมากว่าพระเยซูทรงทำงานรับใช้ของพระองค์อย่างหนักและต่อเนื่องยาวนาน.—โยฮัน 4:34.
17. เหตุใดจึงไม่น่าแปลกใจที่พระเยซูทรงเป็นครูชั้นยอด และคำสอนของพระองค์สะท้อนถึงอะไร?
17 พระเยซูทรงเป็นครูชั้นยอด. การสอนส่วนใหญ่ของพระองค์สะท้อนถึงความเป็นจริงของชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่พระองค์ทรงคุ้นเคยดี. (มัดธาย 13:33; ลูกา 15:8) ลักษณะการสอนของพระองค์นั้นไม่มีใครเทียบ—ชัดเจน, เรียบง่าย, และใช้ได้ผลเสมอ. ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือสิ่งที่พระองค์ทรงสอน. คำสอนของพระองค์สะท้อนถึงความปรารถนาจากหัวใจที่จะช่วยผู้ฟังให้คุ้นเคยกับความคิด, ความรู้สึก, และวิถีทางของพระยะโฮวา.—โยฮัน 17:6-8.
18, 19. (ก) พระเยซูทรงพรรณนาเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ด้วยภาพพจน์ที่ชัดเจนเช่นไร? (ข) จะมีการพิจารณาอะไรในบทความถัดไป?
18 ด้วยการใช้อุทาหรณ์บ่อย ๆ พระเยซูทรงเปิดเผยเกี่ยวกับพระบิดาของพระองค์ด้วยภาพพจน์อันแจ่มชัดที่ไม่อาจลืมได้ง่าย ๆ. การกล่าวถึงความเมตตาของพระเจ้าอย่างกว้าง ๆ เป็นวิธีหนึ่งที่อาจทำได้. แต่นับเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียวที่จะเปรียบพระยะโฮวากับบิดาที่ให้อภัยซึ่งรู้สึกตื้นตันใจอย่างยิ่งเมื่อเห็นบุตรชายกลับมา จนได้ ‘วิ่งมาซบที่คอบุตรแล้วจูบเขาด้วยความอ่อนโยน.’ (ลูกา 15:11-24, ล.ม.) พระเยซูทรงปฏิเสธวัฒนธรรมอันเข้มงวดที่พวกหัวหน้าศาสนาดูถูกสามัญชน โดยอธิบายว่าพระบิดาของพระองค์เป็นพระเจ้าที่เข้าหาได้ง่าย ผู้พอพระทัยคำอ้อนวอนของคนเก็บภาษีที่ถ่อมตนมากกว่าคำอธิษฐานอย่างวางท่าของฟาริซายที่อวดตัว. (ลูกา 18:9-14) พระเยซูทรงพรรณนาถึงพระยะโฮวาในฐานะพระเจ้าที่ใฝ่พระทัยผู้ทรงทราบเมื่อนกกระจอกตัวเล็ก ๆ ตกถึงดิน. พระเยซูทรงรับรองกับเหล่าสาวกว่า “อย่ากลัวเลย ท่านทั้งหลายก็ประเสริฐกว่านกกระจาบหลายตัว.” (มัดธาย 10:29, 31) จึงไม่แปลกที่ประชาชนรู้สึกทึ่งใน “คำสั่งสอน” ของพระเยซู และถูกดึงดูดให้เข้ามาหาพระองค์. (มัดธาย 7:28, 29) คิดดูซิ ในครั้งหนึ่ง “ประชาชนพากันมามากมาย” และค้างอยู่กับพระองค์สามวัน แม้ไม่มีอาหารรับประทาน!—มาระโก 8:1, 2, ฉบับแปลใหม่.
19 เราสามารถแสดงความขอบพระคุณที่พระยะโฮวาได้เปิดเผยถึงพระทัยของพระคริสต์ไว้ในพระคำของพระองค์! อย่างไรก็ตาม เราจะปลูกฝังและแสดงพระทัยของพระคริสต์ได้อย่างไรในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น? จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในบทความถัดไป.
[เชิงอรรถ]
a ในเรื่องที่ว่าเหล่ากายวิญญาณอาจถูกโน้มนำจากการคบหาสมาคมจะเห็นได้ที่วิวรณ์ 12:3, 4. ที่นั่น มีการให้ภาพซาตานว่าเป็น “พญานาค” ซึ่งสามารถใช้อิทธิพลของมันเพื่อจะได้ “ดาว” อื่น ๆ ซึ่งก็คือเหล่าบุตรที่เป็นกายวิญญาณ มาร่วมสมทบกับมันในแนวทางกบฏ.—เทียบกับโยบ 38:7.
b มีการกล่าวถึงโยเซฟโดยตรงครั้งสุดท้ายตอนที่พบพระเยซูผู้มีพระชนมายุได้ 12 พรรษาอยู่ที่พระวิหาร. ไม่มีการกล่าวถึงโยเซฟที่งานเลี้ยงสมรส ณ บ้านคานา ในคราวการเริ่มต้นงานรับใช้ของพระเยซู. (โยฮัน 2:1-3) ในปี ส.ศ. 33 พระเยซูผู้ถูกตรึงทรงฝากฝังมาเรียไว้ในความดูแลของอัครสาวกโยฮันที่ทรงรัก. พระเยซูคงไม่ทำอย่างนั้นหากโยเซฟยังมีชีวิตอยู่.—โยฮัน 19:26, 27.
คุณจำได้ไหม?
• เหตุใดจึงสำคัญที่เราจะคุ้นเคยกับ “พระทัยของพระคริสต์”?
• พระเยซูทรงมีการคบหาสมาคมเช่นไรก่อนเป็นมนุษย์?
• ขณะมีชีวิตบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงอยู่ภายใต้ปัจจัยที่ก่อผลกระทบและสถานการณ์แวดล้อมเช่นไรด้วยพระองค์เอง?
• พระธรรมกิตติคุณเปิดเผยอะไรเกี่ยวกับบุคลิกภาพของพระเยซู?
[ภาพหน้า 10]
พระเยซูทรงเติบโตขึ้นมาในครอบครัวใหญ่ และคงจะในสภาพเศรษฐกิจที่ต้องมัธยัสถ์อดออม
[ภาพหน้า 12]
พวกอาจารย์ต่างพิศวงในความเข้าใจและคำตอบของพระเยซูผู้ทรงมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา