หนังสือที่คุณเชื่อถือได้ ตอน 6
โรมในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล
นี่เป็นบทความตอนที่หกในชุดบทความเจ็ดตอนซึ่งลงติดต่อกันใน “ตื่นเถิด!” ชุดบทความนี้จะพิจารณามหาอำนาจโลกทั้งเจ็ดในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล. จุดมุ่งหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่เชื่อถือได้และมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า และข่าวสารในพระคัมภีร์ให้ความหวังที่ว่าความทุกข์ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์ใช้อำนาจอย่างโหดร้ายเหนือเพื่อนมนุษย์จะสิ้นสุดลง.
พระเยซูได้ก่อตั้งศาสนาคริสเตียน และสาวกของพระองค์ได้แพร่ศาสนานั้นในสมัยจักรวรรดิโรมัน. ทุกวันนี้ในหลายดินแดน เช่น บริเตนและอียิปต์ คุณยังคงเห็นทางหลวง, ลำรางส่งน้ำ, และอนุสาวรีย์ต่าง ๆ สมัยโรมัน. สิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริง และยังหลงเหลือจนถึงทุกวันนี้. มันเตือนเราด้วยว่าพระเยซูและเหล่าอัครสาวกก็เป็นบุคคลจริง เช่นเดียวกับคำสอนและการกระทำของพวกเขา. ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเดินบนทางหลวงแอปเปียน เวย์ คุณก็เดินในเส้นทางเดียวกับที่คริสเตียนอัครสาวกเปาโลเคยเดินตอนที่ท่านเดินทางไปยังกรุงโรม.—กิจการ 28:15, 16
ประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้
บันทึกของคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับพระเยซูและสาวกของพระองค์อ้างถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ในศตวรรษแรก. ขอสังเกตว่าลูกา ผู้เขียนคัมภีร์ไบเบิลได้ระบุปีซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์เกิดขึ้น นั่นคือการเริ่มงานรับใช้ของโยฮันผู้ให้บัพติสมาและการรับบัพติสมาของพระเยซู ซึ่งตอนนั้นพระองค์ได้กลายมาเป็นพระคริสต์ หรือพระมาซีฮา. ลูกาเขียนว่าเหตุการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นใน “ปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลของซีซาร์ทิเบริอุส [สากลศักราช 29] เมื่อปอนติอุสปีลาตเป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย เฮโรดเป็นผู้ครองแคว้นแกลิลี.” (ลูกา 3:1-3, 21) ลูกายังกล่าวถึงผู้มีตำแหน่งสำคัญอีกสี่คน คือฟิลิป (พี่ชายของเฮโรด), ลีซานีอัส, อันนาส, เคยาฟัส. ชื่อของบุคคลทั้งเจ็ดมีหลักฐานยืนยันจากนักประวัติศาสตร์ฝ่ายโลก. แต่ตอนนี้ ขอให้เราพิจารณาเพียงทิเบริอุส, ปีลาต, และเฮโรด.
ซีซาร์ทิเบริอุสเป็นที่รู้จักกันดี และภาพของเขาเห็นได้ในงานศิลป์ต่าง ๆ. สภาสูงของโรมแต่งตั้งเขาเป็นจักรพรรดิเมื่อวันที่ 15 กันยายน ส.ศ. 14 เมื่อพระเยซูมีพระชนมายุประมาณ 15 พรรษา.
Bust of Tiberius Caesar: Photograph taken by courtesy of the British Museum
ชื่อของปอนติอุสปีลาตปรากฏอยู่กับชื่อทิเบริอุสในบันทึกที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อทาซิทุสไม่นานหลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จ. เมื่อพูดถึงคำว่า “คริสเตียน” ทาซิทุสเขียนว่า “คริสทุส ผู้เป็นที่มาของชื่อคริสเตียนนี้ ได้รับโทษประหารชีวิตในระหว่างรัชกาลของทิเบริอุส โดยน้ำมือของปอนติอุสปีลาตุส เจ้าเมืองคนหนึ่งของเรา.”
เฮโรดอันทีพัสเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างเมืองทิเบริแอสติดทะเลแกลิลี. เขายังได้พำนักอยู่ที่นั่นด้วย. เฮโรดน่าจะเป็นผู้สั่งตัดศีรษะโยฮันผู้ให้บัพติสมาในเมืองทิเบริแอส.
นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญสมัยจักรวรรดิโรมันอีกด้วย. เกี่ยวกับเวลาการประสูติของพระเยซู พระคัมภีร์บอกว่า “ครั้งนั้นซีซาร์เอากุสตุสทรงออกพระราชกฤษฎีกาให้ทุกคนทั่วแผ่นดินไปจดทะเบียนสำมะโนครัว (การจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งแรกนี้มีขึ้นเมื่อคีเรนิอุสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรีย) คนทั้งปวงจึงเดินทางไปจดทะเบียนที่เมืองของตน.”—ลูกา 2:1-3
ทาซิทุสและโยเซฟุส นักประวัติศาสตร์ชาวยิวต่างก็พูดถึงคีเรนิอุส. กฤษฎีกาของผู้ว่าราชการโรมันซึ่งเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดแห่งบริเตนได้ยืนยันว่าการจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งนั้นเกิดขึ้นจริง. เอกสารนั้นกล่าวว่า “เนื่องจากถึงเวลาที่จะต้องมีการสำรวจสำมะโนครัว จึงจำเป็นต้องสั่งให้ทุกคนที่อาศัยอยู่นอกเขตของตนไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามให้กลับมาที่บ้านเกิด.”
คัมภีร์ไบเบิลยังได้กล่าวถึง “การกันดารอาหาร . . . ในรัชกาลของคลาวดิอุส [จักรพรรดิโรมัน].” (กิจการ 11:28) โยเซฟุส นักประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษแรกยืนยันเรื่องนี้. เขาเขียนว่า “มีการกันดารอาหารเกิดขึ้นจริงในสมัยนั้น และมีคนตายมาก.”
นอกจากนั้น ที่กิจการ 18:2 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “คลาวดิอุสสั่งให้ชาวยิวทั้งหมดออกไปจากกรุงโรม.” เรื่องนี้ได้รับการยืนยันโดยชีวประวัติของคลาวดิอุสซึ่งเขียนประมาณ ส.ศ. 121 โดยนักประวัติศาสตร์ชาวโรมันชื่อซูโทนิอุส. คลาวดิอุส “ขับไล่ชาวยิวทั้งหมดออกไปจากกรุงโรม” และกล่าวต่อไปว่า เนื่องจากชาวยิวเป็นปฏิปักษ์กับพวกคริสเตียน ชาวยิวจึง “ก่อความวุ่นวายเรื่อย ๆ.”
คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า ในช่วงที่เกิดการกันดารอาหารซึ่งกล่าวไปก่อนหน้านี้ เฮโรดอะกริปปา แต่ง “ชุดกษัตริย์” ปราศรัยแก่ประชาชนที่ชื่นชมเขา แล้วประชาชนก็ร้องตอบว่า “นี่เป็นเสียงพระเจ้า ไม่ใช่เสียงมนุษย์!” หลังจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลบอกว่าอะกริปปา “ถูกหนอนกัดกินจนถึงแก่ความตาย.” (กิจการ 12:21-23) โยเซฟุสได้บันทึกเรื่องนี้เช่นกัน แต่เพิ่มรายละเอียดบางอย่าง. เขาเขียนว่าระหว่างอะกริปปาปราศรัย เขาสวม “ชุดที่ทำด้วยเงินทั้งชุด.” เขากล่าวอีกว่า ‘อะกริปปารู้สึกเจ็บปวดในท้องอย่างหนัก. และเริ่มมีอาการรุนแรง.’ เขาสิ้นชีวิตในอีกห้าวันต่อมา ตามคำกล่าวของโยเซฟุส.
คำพยากรณ์ที่เชื่อถือได้
คัมภีร์ไบเบิลยังมีคำพยากรณ์ที่น่าทึ่งซึ่งเขียนและสำเร็จในสมัยโรมัน. ตัวอย่างเช่น เมื่อพระเยซูขี่ลาเข้ากรุงเยรูซาเลม พระองค์ทรงร้องไห้และบอกล่วงหน้าว่ากองทัพโรมันจะทำลายกรุงนี้. พระเยซูตรัสว่า “จะมีเวลาที่ศัตรูของเจ้าจะสร้างกำแพงเสาแหลมล้อมรอบเจ้า . . . พวกเขาจะไม่ปล่อยให้เหลือศิลาซ้อนทับกันอยู่ภายในเจ้าเลย เพราะเจ้าไม่ยอมรับรู้เรื่องเวลาที่เจ้าจะถูกตรวจตรา.”—ลูกา 19:41-44
อย่างไรก็ตาม เหล่าสาวกของพระเยซูจะมีโอกาสหนี. โดยวิธีใด? พระเยซูทรงให้คำแนะนำที่เจาะจงล่วงหน้าแก่พวกเขา. พระองค์เตือนว่า “เมื่อพวกเจ้าเห็นกองทัพมาตั้งค่ายล้อมกรุงเยรูซาเลม จงรู้ว่ากรุงนี้ใกล้จะร้างเปล่าแล้ว. เวลานั้นให้คนที่อยู่ในแคว้นยูเดียเริ่มหนีไปยังภูเขา ให้คนที่อยู่ในกรุง [เยรูซาเลม] ออกไป.” (ลูกา 21:20, 21) ผู้ติดตามพระเยซูอาจสงสัยว่า ‘เราจะหนีออกจากกรุงที่ถูกล้อมได้อย่างไร?’
โยเซฟุสบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้น. ใน ส.ศ. 66 เมื่อผู้ว่าราชการโรมันคนหนึ่งยึดเงินจากคลังพระวิหารเพื่อใช้เป็นภาษีที่พวกยิวติดค้างอยู่ พวกกบฏชาวยิวสังหารกองกำลังของพวกโรมัน ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศเอกราช. ต่อมาในปีนั้น เซสติอุส กัลลุส ผู้ว่าราชการโรมันแห่งแคว้นซีเรีย ได้เดินทัพลงมาทางใต้พร้อมกำลังพล 30,000 นาย โดยมาถึงกรุงเยรูซาเลมในช่วงเทศกาลทางศาสนา. กัลลุสบุกทะลวงชานเมืองและถึงกับเริ่มขุดใต้กำแพงพระวิหาร ซึ่งเป็นที่หลบหนีของพวกกบฏ. ครั้นแล้ว ดูเหมือนไม่มีเหตุผล กัลลุสได้ถอนทัพ! ด้วยความตื่นเต้น ชาวยิวโจมตีกองทัพที่กำลังล่าถอย.
คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์ไม่หลงไปกับเหตุการณ์ที่พลิกผัน. พวกเขาตระหนักว่าได้เห็นคำพยากรณ์ที่น่าทึ่งของพระเยซูสำเร็จเป็นจริงที่ว่า กองทัพได้มาตั้งค่ายล้อมรอบกรุงนั้นแล้ว! และตอนนี้เนื่องจากกองทัพได้ล่าถอย คริสเตียนผู้ซื่อสัตย์จึงฉวยโอกาสหนี. หลายคนได้ไปที่เมืองเพลลา เมืองของชนต่างชาติซึ่งเป็นกลางทางการเมืองในเขตภูเขาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำจอร์แดน.
เกิดอะไรขึ้นกับกรุงเยรูซาเลม? กองทัพโรมันได้ย้อนกลับมา คราวนี้ภายใต้การนำของเวสปาเชียนและทิทุสบุตรชาย พร้อมด้วยทหารจำนวน 60,000 นาย. กองทัพมุ่งหน้าสู่กรุงนั้นก่อนเทศกาลปัศคา ส.ศ. 70 เป็นการปิดล้อมทั้งผู้อยู่อาศัยในเมืองและคนที่มาร่วมฉลองเทศกาลไม่ให้หนีรอดไปได้. กองทัพโรมันได้ตัดโค่นต้นไม้ทั่วเขตนั้นและสร้างกำแพงเสาแหลมอย่างที่พระเยซูตรัสไว้ล่วงหน้า. หลังจากนั้นประมาณห้าเดือน กรุงก็แตก.
ทิทุสออกคำสั่งให้รักษาพระวิหารไว้ แต่พวกทหารได้จุดไฟเผา และหินทุกก้อนของพระวิหารก็ถูกรื้อถอน เป็นไปตามที่พระเยซูทำนายไว้ทุกประการ. ตามรายงานของโยเซฟุส ชาวยิวและผู้เปลี่ยนมานับถือศาสนายิวราว ๆ 1,100,000 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่จากการอดอยากและโรคระบาด และอีก 97,000 คนถูกจับเป็นเชลย. หลายคนถูกส่งไปเป็นทาสที่กรุงโรม. ถ้าคุณไปเยือนกรุงโรมทุกวันนี้ คุณอาจไปชมโคลอสเซียมที่มีชื่อเสียง ซึ่งทิทุสได้สร้างเสร็จหลังจากการรบที่ยูเดีย. นอกจากนั้น คุณอาจไปดูประตูโค้งแห่งทิทุส ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงการพิชิตกรุงเยรูซาเลม. ใช่แล้ว คำพยากรณ์ของคัมภีร์ไบเบิลเชื่อถือได้ในทุกรายละเอียด. ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญสักเพียงไรที่เราจะใส่ใจสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเกี่ยวกับอนาคต!
ความหวังที่คุณเชื่อถือได้
เมื่อพระเยซูยืนต่อหน้าปอนติอุสปีลาต ผู้ว่าราชการชาวโรมัน พระองค์ตรัสถึงราชอาณาจักร หรือรัฐบาลซึ่ง “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลกนี้.” (โยฮัน 18:36) ที่จริง พระเยซูสอนเหล่าสาวกให้อธิษฐานขอราชอาณาจักรนั้น. พระองค์ตรัสว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลายผู้สถิตในสวรรค์ . . . ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาเถิด. ขอให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเช่นเดียวกับในสวรรค์.” (มัดธาย 6:9, 10) ขอสังเกตว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าจะทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนโลก ไม่ใช่มนุษย์ที่เย่อหยิ่งและทะเยอทะยานจะทำให้พระประสงค์นั้นสำเร็จ.
พระเยซูปกครองเป็นกษัตริย์ในราชอาณาจักรฝ่ายสวรรค์นั้น. และพระองค์จะเปลี่ยนแผ่นดินโลกให้เป็นอุทยาน เพื่อให้ประสานกับพระประสงค์แรกเดิมของพระเจ้า.—ลูกา 23:43
ราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเข้ามาแทรกแซงกิจการของมนุษย์เมื่อไร? พระเยซูซึ่งถูกปลุกให้คืนพระชนม์แล้วทรงบอกเป็นนัยถึงคำตอบเมื่อพระองค์ตรัสแก่อัครสาวกโยฮัน ซึ่งตอนนั้นถูกจำคุกบนเกาะปัตโมสระหว่างรัชกาลของโดมิเชียนจักรพรรดิชาวโรมัน น้องชายของทิทุส. พระเยซูเปิดเผยว่า “มีกษัตริย์เจ็ดองค์ ห้าองค์หมดอำนาจไปแล้ว องค์หนึ่งเป็นอยู่ อีกองค์หนึ่งยังไม่มา แต่เมื่อมาแล้วจะต้องอยู่ชั่วขณะหนึ่ง.”—วิวรณ์ 17:10
เมื่อโยฮันเขียนข้อความเหล่านี้ “กษัตริย์” หรือจักรวรรดิห้าจักรวรรดิสูญสิ้นอำนาจไปแล้ว ได้แก่อียิปต์, อัสซีเรีย, บาบิโลน, มิโด-เปอร์เซีย, และกรีซ. จักรวรรดิที่ “เป็นอยู่” หรือดำรงอยู่ในสมัยอัครสาวกโยฮันคือโรม. ฉะนั้น เหลือเพียงจักรวรรดิเดียว ซึ่งก็คือมหาอำนาจสุดท้ายแห่งประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล. มหาอำนาจนั้นคือชาติใด? จะปกครองนานเท่าไร? จะมีการพิจารณาคำถามเหล่านี้ในตื่นเถิด! ฉบับหน้า.