จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
“ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระยะโฮวา!”
มาเรียเงยหน้าขึ้นมองด้วยดวงตาเบิกกว้าง ขณะที่ผู้มาเยือนเข้ามาในบ้านของเธอ. เขาไม่ได้ถามหาพ่อหรือแม่ของเธอ. เขามาหาเธอโดยเฉพาะ! เขาต้องไม่ได้มาจากนาซาเรท เธอแน่ใจในเรื่องนี้. ในเมืองเล็ก ๆ อย่างเมืองที่เธออยู่นี้ สังเกตได้ง่ายว่าใครคือคนแปลกหน้า. และไม่ว่าจะไปที่ไหนชายคนนี้คงดูโดดเด่น. เขาพูดกับมาเรียอย่างที่เธอไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่า “ขอให้มีสันติสุข นางผู้เป็นที่โปรดปรานยิ่ง พระยะโฮวาทรงอยู่กับเจ้า.”—ลูกา 1:28.
โดยคำกล่าวนี้ คัมภีร์ไบเบิลแนะนำให้เรารู้จักมาเรีย บุตรสาวของเฮลี ชาวเมืองนาซาเรทในแคว้นแกลิลี. เรามารู้จักเธอตอนที่เธอกำลังต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญอยู่พอดี. เธอหมั้นอยู่กับช่างไม้ชื่อโยเซฟ ซึ่งไม่ใช่คนร่ำรวยแต่มีความเชื่อเข้มแข็งในพระเจ้า. ดังนั้น ชีวิตของเธอดูเหมือนว่าจะมีแผนการที่แน่นอนอยู่แล้ว—เป็นชีวิตเรียบง่ายในฐานะภรรยาของโยเซฟซึ่งทำงานช่วยเหลือสามีและสร้างครอบครัวด้วยกันกับเขา. แต่แล้วจู่ ๆ เธอก็เผชิญหน้ากับผู้มาเยือนคนนี้ซึ่งนำงานมอบหมายจากพระเจ้ามาให้ และเป็นหน้าที่รับผิดชอบซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตของเธอ.
คุณอาจแปลกใจที่ทราบว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกอะไรเรามากนักเกี่ยวกับมาเรีย. พระคัมภีร์กล่าวถึงพื้นเพของเธอเพียงเล็กน้อย บอกถึงบุคลิกของเธอน้อยมาก และไม่บอกอะไรเลยเกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของเธอ. กระนั้น สิ่งที่พระคำของพระเจ้าบอกเกี่ยวกับเธอก็ทำให้รู้อะไรมากทีเดียว.
เพื่อเราจะรู้จักคุ้นเคยกับมาเรีย เราต้องมองไกลกว่าสิ่งที่ศาสนาต่าง ๆ ได้สอนเกี่ยวกับเธอ. ฉะนั้น ให้เราลืม “ภาพเหมือน” มากมายซึ่งมีการวาดไว้และทำขึ้นจากหินอ่อนหรือปูนปลาสเตอร์ไปก่อน. และให้เราลืมทฤษฎีและหลักคำสอนที่ซับซ้อนเข้าใจยากซึ่งยกย่องผู้หญิงธรรมดาคนนี้ให้อยู่ในตำแหน่งสูงส่ง เช่น “พระมารดาของพระเจ้า” และ “ราชินีแห่งสวรรค์.” แทนที่จะทำเช่นนั้น ให้เราสนใจเฉพาะสิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลเปิดเผยจริง ๆ. คัมภีร์ไบเบิลช่วยให้เรามีความเข้าใจลึกซึ้งเกี่ยวกับความเชื่อของเธอซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากและมองเห็นวิธีที่จะเลียนแบบเธอด้วย.
การเยี่ยมของทูตสวรรค์
คุณอาจทราบว่าผู้ที่มาหามาเรียไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา. ท่านคือทูตสวรรค์กาบรีเอล. เมื่อท่านเรียกมาเรียว่า “นางผู้เป็นที่โปรดปรานยิ่ง” นางก็ “วุ่นวายใจมาก” เพราะคำเรียกนั้นและสงสัยว่าคำทักทายที่ไม่ธรรมดานี้หมายความอย่างไร. (ลูกา 1:29) เธอเป็นที่โปรดปรานยิ่งของใคร? มาเรียไม่คาดหมายว่าเธอจะเป็นที่โปรดปรานยิ่งของมนุษย์. แต่ทูตสวรรค์กำลังพูดถึงความโปรดปรานของพระยะโฮวาพระเจ้า. เรื่องนี้สำคัญสำหรับเธอ. แต่ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้ทะนงตัวทึกทักเอาเองว่าเธอเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้า. ถ้าเราพยายามเพื่อจะได้ความโปรดปรานจากพระเจ้า โดยไม่ทะนงตัวทึกทักเอาเองว่าเราเป็นที่โปรดปรานอยู่แล้ว เราก็จะเรียนบทเรียนสำคัญซึ่งหญิงสาวชื่อมาเรียเข้าใจดี. นั่นคือ พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง แต่พระองค์ทรงรักและช่วยเหลือคนต่ำต้อยและถ่อมใจ.—ยาโกโบ 4:6.
มาเรียจะต้องมีความถ่อมใจเช่นนั้น เพราะทูตสวรรค์ได้เสนอสิทธิพิเศษซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้แก่เธอ. ทูตสวรรค์อธิบายว่าเธอจะต้องให้กำเนิดเด็กคนหนึ่งซึ่งจะกลายเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในบรรดามนุษย์ทั้งปวง. กาบรีเอลบอกว่า “พระยะโฮวาพระเจ้าจะประทานบัลลังก์ของดาวิดราชบิดาของท่านให้แก่ท่าน และท่านจะเป็นกษัตริย์ปกครองเรือนของยาโคบตลอดไป และราชอาณาจักรของท่านจะไม่รู้สิ้นสุด.” (ลูกา 1:32, 33) แน่นอนว่า มาเรียคงรู้จักคำสัญญาที่พระเจ้าทรงทำไว้กับดาวิดเมื่อหนึ่งพันกว่าปีก่อนหน้านั้น ที่ว่า ลูกหลานคนหนึ่งของท่านจะได้ปกครองตลอดไป. (2 ซามูเอล 7:12, 13) ดังนั้น บุตรชายของเธอจะเป็นพระมาซีฮาที่ประชาชนของพระเจ้าเฝ้ารอมาตลอดหลายศตวรรษ!
นอกจากนั้น ทูตสวรรค์ได้บอกเธอว่าบุตรของเธอจะ “ถูกเรียกว่าพระบุตรของพระผู้สูงสุด.” ผู้หญิงที่เป็นมนุษย์จะให้กำเนิดบุตรของพระเจ้าได้อย่างไร? อันที่จริง มาเรียจะมีลูกได้อย่างไรกัน? เธอหมั้นกับโยเซฟแล้วแต่ก็ยังไม่ได้แต่งงานกับเขา. มาเรียเอ่ยถึงข้อสงสัยนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า “จะเป็นเช่นนี้ได้อย่างไรเพราะข้าพเจ้าไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชายใด?” (ลูกา 1:34) สังเกตว่ามาเรียพูดถึงการเป็นหญิงพรหมจารีของเธอโดยไม่รู้สึกอาย. ตรงกันข้าม เธอถือว่าความบริสุทธิ์ของเธอเป็นสิ่งที่มีค่า. ทุกวันนี้ เยาวชนหลายคนไม่อยากจะรักษาความบริสุทธิ์ของตนอีกต่อไปและชอบเยาะเย้ยคนอื่นที่ไม่ทำแบบเดียวกัน. โลกได้เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ. แต่พระยะโฮวาไม่ทรงเปลี่ยนแปลง. (มาลาคี 3:6) เช่นเดียวกับในสมัยของมาเรีย พระองค์ทรงเห็นค่าผู้ที่ยึดมั่นอยู่กับมาตรฐานศีลธรรมของพระองค์.—ฮีบรู 13:4.
แม้ว่ามาเรียจะเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระเจ้า แต่เธอก็เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์. ฉะนั้น จะเป็นไปได้อย่างไรที่เธอจะให้กำเนิดบุตรที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นพระบุตรของพระเจ้า? กาบรีเอลอธิบายว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์จะมาบนเจ้า และฤทธิ์ของพระผู้สูงสุดจะปกคลุมเจ้า. เพราะเหตุนั้น ผู้ที่กำเนิดมาจะถูกเรียกว่าผู้บริสุทธิ์ และเรียกว่าพระบุตรของพระเจ้า.” (ลูกา 1:35) บริสุทธิ์ หมายถึง “สะอาด,” “ไม่มีอะไรเจือปน,” “ศักดิ์สิทธิ์.” ตามปกติแล้ว มนุษย์ถ่ายทอดสภาพที่ไม่สะอาดและผิดบาปสู่ลูกหลาน. แต่ในกรณีนี้ พระยะโฮวาจะทรงทำการอัศจรรย์อันโดดเด่น. พระองค์จะทรงย้ายชีวิตพระบุตรของพระองค์จากสวรรค์มาสู่ครรภ์ของมาเรียแล้วใช้พลังปฏิบัติการของพระองค์ หรือพระวิญญาณบริสุทธิ์ “ปกคลุม” มาเรียไว้เพื่อป้องกันทารกนั้นไม่ให้แปดเปื้อนบาป. มาเรียเชื่อสิ่งที่ทูตสวรรค์สัญญาไหม? เธอตอบอย่างไร?
คำตอบของมาเรียที่ให้กับกาบรีเอล
นักกังขาคติ ซึ่งรวมถึงนักเทววิทยาบางคนในคริสต์ศาสนจักรรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อว่าหญิงพรหมจารีสามารถมีบุตรได้. แม้จะศึกษาหาความรู้กันมากมาย แต่พวกเขาก็ไม่เข้าใจความจริงที่เรียบง่ายข้อหนึ่ง. ดังที่ทูตสวรรค์กาบรีเอลบอกไว้ “ไม่มีคำตรัสใดที่พระเจ้าจะทำให้สำเร็จไม่ได้.” (ลูกา 1:37) มาเรียยอมรับว่าคำกล่าวของทูตสวรรค์กาบรีเอลเป็นความจริง เพราะเธอเป็นหญิงสาวที่มีความเชื่อมาก. แต่ก็ไม่ใช่ความเชื่อที่งมงาย. มาเรียก็เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่รู้จักคิดหาเหตุผล เธอต้องการหลักฐานที่สนับสนุนความเชื่อของเธอ. กาบรีเอลพร้อมจะให้หลักฐานเพิ่มเติมจากสิ่งที่เธอรู้อยู่แล้ว. ท่านบอกเธอเกี่ยวกับเอลิซาเบท ญาติผู้สูงวัยของเธอซึ่งรู้กันมานานว่าเป็นหญิงหมัน. พระเจ้าได้ทรงทำการอัศจรรย์ให้นางตั้งครรภ์แล้ว!
ถึงตอนนี้มาเรียจะทำอย่างไร? เธอมีงานมอบหมายที่ต้องทำ และมีหลักฐานที่บ่งชี้แล้วว่าพระเจ้าจะทรงทำทุกสิ่งที่ทูตสวรรค์กาบรีเอลได้บอก. เราไม่ควรคิดว่าสิทธิพิเศษที่มาเรียได้รับนี้ไม่ใช่เรื่องน่าวิตกหรือยุ่งยากอะไร. ประการหนึ่ง มาเรียยังต้องคิดถึงการหมั้นของเธอกับโยเซฟ. เขายังจะอยากแต่งงานกับเธอไหมถ้าเขารู้ว่าเธอกำลังตั้งครรภ์? อีกประการหนึ่ง เพียงแค่งานที่เธอได้รับมอบหมายนี้ก็ดูจะเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่ใหญ่โตอยู่แล้ว. เธอจะต้องอุ้มท้องชีวิตที่มีค่าที่สุดในบรรดาสิ่งทรงสร้างของพระเจ้า คือ พระบุตรที่รักของพระเจ้าเอง! เธอจะต้องดูแลเขาขณะยังเป็นทารกที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และปกป้องเขาจากโลกที่ชั่วช้า. ช่างเป็นหน้าที่รับผิดชอบที่หนักเสียจริง ๆ!
คัมภีร์ไบเบิลแสดงว่าแม้แต่ผู้ชายที่แข็งแรงและซื่อสัตย์บางครั้งก็ยังลังเลที่จะรับเอางานมอบหมายที่ยากจากพระเจ้า. โมเซยืนยันว่าท่านพูดไม่คล่องพอที่จะเป็นโฆษกของพระเจ้าได้. (เอ็กโซโด 4:10) ยิระมะยาก็ท้วงว่าท่านยัง “เด็กอยู่” อายุน้อยเกินกว่าที่จะรับหน้าที่ที่พระเจ้าทรงมอบหมาย. (ยิระมะยา 1:6) และโยนาห์ก็หนีจากงานที่ได้รับมอบหมายด้วยซ้ำ! (โยนา 1:3) จะว่าอย่างไรกับมาเรีย?
คำพูดที่แสดงความถ่อมใจและการเชื่อฟังของเธอมีการกล่าวถึงมาตลอดหลายยุคหลายสมัย. เธอพูดกับกาบรีเอลว่า “ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระยะโฮวา! ขอให้เกิดขึ้นกับข้าพเจ้าตามที่ท่านพูดเถิด.” (ลูกา 1:38) ทาสผู้หญิงเป็นคนใช้ที่มีฐานะต่ำสุด ชีวิตทั้งสิ้นของเธออยู่ในกำมือของนาย. มาเรียรู้สึกอย่างเดียวกันกับพระยะโฮวา ผู้เป็นนายของเธอ. เธอรู้ว่าเธอจะปลอดภัยอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ และรู้ว่าพระองค์ทรงภักดีต่อผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ และรู้ว่าพระองค์จะทรงอวยพรเธอขณะเธอทำงานมอบหมายที่ท้าทายความสามารถนี้ให้ดีที่สุด.—บทเพลงสรรเสริญ 18:25.
บางครั้งพระเจ้าทรงขอให้เราทำสิ่งซึ่งอาจดูเหมือนยากในสายตาเรา กระทั่งดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ. อย่างไรก็ตาม ในพระคำของพระองค์ พระองค์ทรงให้เหตุผลมากมายที่เราควรไว้ใจพระองค์และฝากชีวิตของเราไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์อย่างที่มาเรียได้ทำ. (สุภาษิต 3:5, 6) เราจะทำไหม? ถ้าเราทำ พระองค์จะทรงตอบแทนเรา ซึ่งจะเป็นเหตุให้เรามีความเชื่อในพระองค์มากยิ่งขึ้นอีก.
ไปเยี่ยมเอลิซาเบท
สิ่งที่กาบรีเอลบอกเกี่ยวกับเอลิซาเบทมีความหมายต่อมาเรียมาก. ในบรรดาผู้หญิงทั้งโลกนี้จะมีใครเข้าใจสภาพการณ์ของเธอได้ดีไปกว่าเอลิซาเบท? มาเรียรีบไปยังเมืองหนึ่งในแถบภูเขาในเขตแดนตระกูลยูดาห์ซึ่งอาจใช้เวลาเดินทางสามหรือสี่วัน. เมื่อเธอเข้าไปในบ้านของเอลิซาเบทและปุโรหิตเซคาระยาห์ พระยะโฮวาทรงตอบแทนมาเรียด้วยหลักฐานที่หนักแน่นเพื่อเสริมความเชื่อของเธอ. เอลิซาเบทได้ยินคำทักทายของมาเรียและทันใดนั้นทารกในครรภ์ของนางก็ดิ้นด้วยความยินดี. นางเปี่ยมด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์และเรียกมาเรียว่า “มารดาขององค์พระผู้เป็นเจ้าของฉัน.” พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่เอลิซาเบทว่าบุตรของมาเรียจะกลายเป็นพระมาซีฮา องค์พระผู้เป็นเจ้าของนาง. และนางยังได้รับการดลใจให้กล่าวชมมาเรียเพราะการเชื่อฟังอย่างซื่อสัตย์ของเธอด้วยว่า “สตรีที่เชื่อก็มีความสุข.” (ลูกา 1:39-45) ใช่แล้ว ทุกสิ่งที่พระยะโฮวาได้ทรงสัญญากับมาเรียจะสำเร็จเป็นจริง!
มาเรียกล่าวตอบเอลิซาเบท. คำกล่าวของเธอได้รับการรักษาไว้อย่างดีที่ลูกา 1:46-55. นี่เป็นคำพูดที่ยาวที่สุดของมาเรียเท่าที่พบในคัมภีร์ไบเบิล และเป็นคำพูดที่เปิดเผยหลายสิ่งเกี่ยวกับตัวเธอ. คำพูดของมาเรียแสดงให้เห็นว่าเธอเป็นคนที่มีความสำนึกบุญคุณ เพราะเธอได้สรรเสริญพระยะโฮวาผู้ทรงอวยพรให้เธอได้มีสิทธิพิเศษรับใช้เป็นมารดาของพระมาซีฮา. คำกล่าวนี้บอกให้รู้ว่าเธอมีความเชื่อที่ลึกซึ้ง เพราะเธอกล่าวถึงพระยะโฮวาว่าทรงทำให้คนที่มีใจเย่อหยิ่งและผู้มีอำนาจต้องตกต่ำและช่วยเหลือผู้ต่ำต้อยและคนยากจนที่พยายามจะรับใช้พระองค์. เรายังได้เห็นด้วยว่าเธอมีความรู้มากแค่ไหน. เคยมีการประมาณว่าเธอได้ยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูขึ้นมากล่าวมากกว่า 20 ครั้ง!
เห็นได้ชัดว่า มาเรียคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้า. กระนั้น เธอก็ยังถ่อมใจ โดยอ้างถึงสิ่งที่บอกไว้ในพระคัมภีร์แทนที่จะพูดจากความคิดของเธอเอง. วันหนึ่งข้างหน้า บุตรที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ของเธอก็จะแสดงน้ำใจแบบเดียวกัน โดยกล่าวว่า “สิ่งที่เราสอนไม่ใช่คำสอนของเราเอง แต่เป็นของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามา.” (โยฮัน 7:16) นับว่าดีที่เราจะถามตัวเองว่า ‘ฉันแสดงความนับถือและความเคารพอย่างเดียวกันต่อพระคำของพระเจ้าไหม? หรือฉันชอบความคิดและคำสอนของตัวเองมากกว่า?’ คำตอบของมาเรียชัดเจนทีเดียว.
มาเรียพักอยู่กับเอลิซาเบทสามเดือน และไม่ต้องสงสัยว่าเธอคงได้ให้และได้รับกำลังใจอย่างมากมาย. (ลูกา 1:56) ผู้หญิงทั้งสองคนทำให้เรานึกถึงความสำคัญของมิตรภาพ. ถ้าเราเลือกคนที่รักพระยะโฮวาพระเจ้าของเราจริง ๆ เป็นเพื่อน เราก็แน่ใจได้ว่าจะมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้นกับพระองค์และใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น. (สุภาษิต 13:20) แต่ในที่สุดก็ถึงเวลาที่มาเรียต้องกลับบ้าน. โยเซฟจะว่าอย่างไรเมื่อรู้เรื่องของเธอ?
มาเรียและโยเซฟ
มาเรียคงไม่ได้รอจนครรภ์ของเธอใหญ่ขึ้นแล้วค่อยเปิดเผยเรื่องนี้. เธอคงต้องพูดกับโยเซฟแน่ ๆ. ก่อนจะพูด เธอคงสงสัยว่าชายที่ดีและยำเกรงพระเจ้าผู้นี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อได้ยินเรื่องที่เธอเล่า. อย่างไรก็ตาม เธอไปหาเขาแล้วเล่าเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเธอให้เขาฟัง. ดังที่คุณอาจคิดอยู่แล้ว โยเซฟเป็นทุกข์มาก. เขาอยากจะเชื่อหญิงสาวผู้เป็นที่รัก แต่เรื่องที่เธอบอกเขาเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย. คัมภีร์ไบเบิลไม่ได้บอกว่าตอนนั้นเขาคิดอะไรหรือหาเหตุผลอย่างไร. แต่พระคัมภีร์บอกว่าเขาตัดสินใจจะหย่ากับเธอ เนื่องจากในสมัยนั้นถือว่าคู่หมั้นก็เหมือนคนที่แต่งงานแล้ว. อย่างไรก็ตาม เขาไม่ต้องการให้เธอเป็นที่อับอายต่อหน้าคนทั่วไปหรือถูกลงโทษ เขาจึงคิดจะหย่ากับเธออย่างลับ ๆ. (มัดธาย 1:18, 19) มาเรียคงต้องเจ็บปวดที่เห็นชายผู้มีใจกรุณาคนนี้ทุกข์ทรมานใจเพราะสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดล่วงหน้า. แต่มาเรียไม่ได้รู้สึกขมขื่นใจที่โยเซฟไม่เชื่อเธอ.
พระยะโฮวาไม่ทรงปล่อยให้โยเซฟทำในสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุด. ทูตสวรรค์ของพระเจ้ามาบอกโยเซฟในความฝันว่ามาเรียได้ตั้งครรภ์โดยการอัศจรรย์จริง ๆ. โยเซฟคงต้องโล่งใจแน่ ๆ! บัดนี้ โยเซฟจึงทำสิ่งที่มาเรียได้ทำตั้งแต่แรก คือทำสิ่งที่สอดคล้องกับการชี้นำของพระยะโฮวา. เขาจึงรับมาเรียมาเป็นภรรยาและเตรียมตัวรับหน้าที่รับผิดชอบพิเศษในการดูแลพระบุตรของพระเจ้า.—มัดธาย 1:20-24.
คงจะดีถ้าคนที่สมรสแล้วและคนที่คิดจะสมรสเรียนบางสิ่งจากสามีภรรยาหนุ่มสาวคู่นี้ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว. เมื่อโยเซฟเห็นภรรยาสาวของเขาเอาใจใส่และทำหน้าที่มารดาได้เป็นอย่างดี เขาคงต้องดีใจแน่ ๆ ที่ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวาชี้นำเขา. โยเซฟคงต้องได้เห็นถึงความสำคัญของการหมายพึ่งพระยะโฮวาเมื่อตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ. (บทเพลงสรรเสริญ 37:5; สุภาษิต 18:13) แน่ใจได้ว่าเขาคงจะมีความสุขุมรอบคอบและความกรุณาเช่นนี้อยู่ต่อไปเมื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในฐานะหัวหน้าครอบครัว.
ในอีกด้านหนึ่ง เราอาจสันนิษฐานอะไรได้จากการที่มาเรียเต็มใจแต่งงานกับโยเซฟ? ถึงแม้ตอนแรกเขาอาจรู้สึกว่าเรื่องที่เธอเล่านั้นเข้าใจยาก แต่เธอก็รู้จักที่จะรอคอยและยังคงวางใจเขาในฐานะผู้ที่กำลังจะมาเป็นหัวหน้าครอบครัว. นี่คงเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับมาเรียและสำหรับสตรีคริสเตียนในทุกวันนี้อย่างแน่นอน. ประการสุดท้าย เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคงได้สอนทั้งโยเซฟและมาเรียหลายอย่างในเรื่องคุณค่าของความซื่อสัตย์และการสื่อความกันอย่างตรงไปตรงมา.
คู่สมรสหนุ่มสาวคู่นี้ได้เริ่มต้นชีวิตสมรสของพวกเขาบนพื้นฐานที่ดีที่สุดอย่างแน่นอน. ทั้งสองคนรักพระยะโฮวาพระเจ้าเหนือสิ่งใดทั้งสิ้นและปรารถนาจะทำให้พระองค์พอพระทัยในฐานะพ่อแม่ที่สำนึกถึงความรับผิดชอบและเอาใจใส่ลูก. แน่ละ มีพระพรที่ยิ่งใหญ่กว่ารอพวกเขาอยู่ และยังมีงานที่ท้าทายกว่าด้วย. ในอนาคตพวกเขายังจะต้องเลี้ยงดูพระเยซู ผู้ซึ่งจะเติบโตขึ้นเป็นบุรุษผู้ใหญ่ยิ่งเท่าที่โลกเคยรู้จัก.
[ภาพหน้า 17]
ความรักต่อพระเจ้าเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดสำหรับการสมรส