เลียนแบบพระยะโฮวาผู้สัญญาเรื่องชีวิตนิรันดร์
“จงเป็นผู้เลียนแบบพระเจ้าเพราะท่านเป็นบุตรที่รักของพระองค์”—เอเฟ. 5:1
1. ความสามารถอะไรที่ช่วยเราให้เลียนแบบพระยะโฮวา?
พระยะโฮวาสร้างเราให้มีความสามารถที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นแม้เราจะไม่เคยตกอยู่ในสถานการณ์เหมือนกับพวกเขา (อ่านเอเฟโซส์ 5:1, 2) ความสามารถนี้ช่วยเราให้เลียนแบบพระยะโฮวาได้อย่างไร? และทำไมเราต้องใช้ความสามารถนี้อย่างรอบคอบและระมัดระวัง?
2. พระยะโฮวารู้สึกอย่างไรเมื่อเราประสบความทุกข์?
2 พระยะโฮวาสัญญาว่าเราจะมีอนาคตที่ยอดเยี่ยมซึ่งจะไม่มีความทุกข์อีกเลย ทั้งผู้ถูกเจิมและ “แกะอื่น” สามารถเฝ้ารอชีวิตตลอดไปไม่ว่าจะในสวรรค์หรือบนโลก (โย. 10:16; 17:3; 1 โค. 15:53) แต่พระยะโฮวารู้ว่าเราเจ็บปวดเมื่อต้องเจอกับเรื่องร้าย ๆ ในทุกวันนี้ ในสมัยอดีต เมื่อพระยะโฮวาเห็นประชาชนของพระองค์ประสบความทุกข์ในอียิปต์ เรื่องนั้นทำให้ ‘พระองค์ทุกข์ใจ’ (ยซา. 63:9, ฉบับ 1971 ) ต่อมา เมื่อประชาชนของพระองค์สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ และมีศัตรูมาต่อต้านงานนี้ทำให้พวกเขากลัวมาก พระยะโฮวาเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา พระองค์จึงบอกพวกเขาว่า “ผู้ใดได้แตะต้องท่านก็แตะต้องแก้วตาของเรา” (ซคา. 2:8, ฉบับคาทอลิก ) เหมือนกับแม่ที่รักลูก พระยะโฮวารักผู้รับใช้ของพระองค์และอยากช่วยพวกเขา (ยซา. 49:15) เราเลียนแบบความรักของพระยะโฮวาได้เมื่อเราพยายามเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ๆ โดยนึกภาพว่าถ้าเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาเราจะรู้สึกอย่างไร—เพลง. 103:13, 14
พระเยซูเลียนแบบพระยะโฮวาและรักผู้คน
3. พระเยซูรู้สึกอย่างไรต่อประชาชน?
3 พระเยซูเข้าใจความรู้สึกของคนที่เจอความลำบาก ถึงแม้ท่านไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนั้น เช่น ท่านรู้ว่าหลายคนมีชีวิตลำบากมากเพราะพวกผู้นำศาสนาโกหกหลอกลวงพวกเขาและตั้งกฎมากมายที่ไม่ได้มาจากพระเจ้า นอกจากนั้น พวกเขากลัวพวกผู้นำศาสนาด้วย (มัด. 23:4; มโก. 7:1-5; โย. 7:13) แม้พระเยซูไม่เคยกลัวและไม่เคยเชื่อคำโกหกของพวกผู้นำศาสนา แต่ท่านก็เข้าใจความรู้สึกของประชาชนและสงสารที่เห็นพวกเขาถูกกระทำอย่างเลวร้าย พวกเขาถูกทอดทิ้งเหมือน “แกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มัด. 9:36) เห็นได้ชัดว่า พระเยซูเรียนรู้วิธีแสดงความรักจากพระยะโฮวาพ่อของท่านที่ “เมตตากรุณา”—เพลง. 103:8
4. เมื่อพระเยซูเห็นประชาชนมีความทุกข์ ท่านทำอย่างไร?
4 เมื่อเห็นประชาชนมีความทุกข์ พระเยซูช่วยพวกเขาเพราะท่านรักพวกเขา ท่านเป็นเหมือนกับพระยะโฮวาพ่อของท่าน เช่น ครั้งหนึ่งหลังจากพระเยซูและเหล่าอัครสาวกกลับจากการประกาศในที่ห่างไกล พวกเขาเหนื่อยและอยากหาที่เงียบ ๆ เพื่อพักผ่อน แต่พระเยซูเห็นประชาชนมากมายมาคอยท่าน ท่านรู้ว่าพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น แม้จะเหนื่อย แต่ท่านก็เริ่ม “สอนพวกเขาหลายเรื่อง”—มโก. 6:30, 31, 34
มีความรักเหมือนพระยะโฮวา
5, 6. ถ้าเราอยากแสดงความรักเหมือนพระยะโฮวา เราต้องทำอย่างไร? ขอยกตัวอย่าง (ดูภาพแรก)
5 ถ้าเราอยากแสดงความรักเหมือนพระยะโฮวาเราต้องทำอย่างไร? ขอให้คิดถึงสถานการณ์ต่อไปนี้ พี่น้องหนุ่มชื่ออลันกำลังคิดเรื่องพี่น้องสูงอายุคนหนึ่งที่เดินไม่ค่อยสะดวกและสายตาไม่ดี อลันคิดถึงคำพูดของพระเยซูที่ว่า “เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้าอย่างไร จงทำอย่างนั้นต่อเขา” (ลูกา 6:31) เขาจึงถามตัวเองว่า ‘ผมอยากให้คนอื่นทำอะไรให้ผม?’ และเขาตอบตัวเองว่า ‘ผมอยากให้คนอื่นมาเล่นฟุตบอลกับผม’ แต่พี่น้องสูงอายุคนนี้วิ่งและเตะบอลไม่ได้ ดังนั้น เขาน่าจะถามตัวเองว่า ‘ถ้าผมเป็นพี่น้องสูงอายุคนนั้น ผมอยากให้คนอื่นทำอะไรให้ผม?’
6 แม้อลันยังเป็นหนุ่ม แต่เขาพยายามนึกภาพว่าถ้าอายุมากแล้วเขาจะรู้สึกอย่างไร อลันคอยสังเกตพี่น้องสูงอายุคนนั้น และตั้งใจฟังเวลาที่เขาพูด อลันจึงค่อย ๆ เข้าใจว่าการที่ผู้สูงอายุจะอ่านคัมภีร์ไบเบิลและเดินประกาศตามบ้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อลันจึงรู้ว่าจะช่วยเหลือพี่น้องคนนั้นอย่างไร และเขาอยาก ทำอะไรก็ตามที่ทำได้เพื่อช่วยพี่น้องสูงอายุคนนั้น คล้ายกัน เมื่อเราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นและแสดงความรักต่อพวกเขา เราก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวา—1 โค. 12:26
7. เราจะเข้าใจความทุกข์ของพี่น้องได้อย่างไร?
7 การเข้าใจความทุกข์ของคนอื่นนั้นไม่ง่ายเสมอไป โดยเฉพาะถ้าเราไม่เคยเจอสถานการณ์เหมือนกับเขา เช่น พี่น้องหลายคนอาจเป็นทุกข์เพราะโรคภัย ได้รับบาดเจ็บ หรืออายุมากขึ้น บางคนทุกข์ทรมานจากโรคซึมเศร้า วิตกกังวลมากเกินไป หรือเคยถูกทำทารุณ บางคนต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง หรือมีสมาชิกครอบครัวที่ไม่รับใช้พระยะโฮวา ที่จริง เราทุกคนมีปัญหามากมายซึ่งอาจแตกต่างกันไป แต่เราก็อยากแสดงความรักต่อคนอื่นและช่วยเหลือพวกเขา แล้วเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร? พี่น้องแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือต่างกัน ดังนั้น ถ้าเราตั้งใจฟังและพยายามเข้าใจความรู้สึกของเขา เราก็จะรู้วิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยเขา บางทีเราอาจช่วยเขาให้เห็นว่าพระยะโฮวารู้สึกอย่างไรต่อปัญหาของเขาหรือเราอาจให้ความช่วยเหลือในวิธีอื่น ๆ ถ้าเราทำอย่างนั้น เรากำลังเลียนแบบความรักของพระยะโฮวา—อ่านโรม 12:15; 1 เปโตร 3:8
มีความกรุณาเหมือนพระยะโฮวา
8. อะไรช่วยพระเยซูให้แสดงความกรุณา?
8 พระยะโฮวากรุณากับทุกคน (ลูกา 6:35) พระเยซูก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน อะไรช่วยพระเยซูให้แสดงความกรุณาต่อผู้คนตอนที่ท่านอยู่บนโลก? ท่านนึกภาพว่าพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรต่อคำพูดและการกระทำของท่าน เช่น หญิงคนหนึ่งที่เคยทำไม่ดีหลายอย่างเข้ามาหาพระเยซู เธอร้องห่มร้องไห้จนน้ำตาหยดลงที่เท้าของท่าน พระเยซูเห็นว่าเธอรู้สึกผิดมากกับสิ่งเลวร้ายที่ได้ทำและเห็นว่าเธอกลับใจแล้ว พระเยซูรู้ว่าถ้าไม่แสดงความกรุณาต่อเธอก็จะทำให้เธอรู้สึกแย่ลงไปอีก ดังนั้น ท่านจึงชมเชยและให้อภัยเธอ แม้ฟาริซายคนนั้นจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พระเยซูทำ แต่ท่านก็ยังพูดกับเขาอย่างกรุณา—ลูกา 7:36-48
9. อะไรจะช่วยเราให้มีความกรุณาเหมือนพระยะโฮวา? ขอยกตัวอย่าง
9 เราจะเป็นคนกรุณาเหมือนพระยะโฮวาได้อย่างไร? เราต้องคิดก่อนพูดและก่อนทำอะไรบางอย่างเพื่อเราจะเป็นคนสุภาพอ่อนโยนและไม่ทำร้ายความรู้สึกคนอื่น เปาโลเขียนว่า คริสเตียน “ไม่ควรทะเลาะวิวาท แต่ต้องสุภาพอ่อนโยนต่อทุกคน” (2 ติโม. 2:24) เช่น ลองคิดว่าคุณจะแสดงความกรุณาในสถานการณ์ต่อไปนี้ได้อย่างไร? ถ้าหัวหน้าของคุณทำงานไม่ได้เรื่องคุณจะทำอย่างไร? เมื่อพี่น้องชายคนหนึ่งที่ขาดประชุมมาหลายเดือนกลับมาร่วมประชุมอีก คุณจะพูดกับเขาอย่างไร? ถ้าคุณกำลังประกาศกับเจ้าของบ้านแต่เขาบอกว่าไม่ว่าง คุณจะแสดงความกรุณากับเขาอย่างไร? ถ้าคุณวางแผนอะไรบางอย่างไว้แต่ไม่ได้บอกภรรยา แล้วเธอถามคุณว่าทำไมไม่บอกเธอ คุณจะพูดกับเธออย่างกรุณาไหม? เราต้องนึกถึงความรู้สึกของคนอื่น และคิดว่าคำพูดของเราจะส่งผลต่อเขาอย่างไร แล้วเราก็จะรู้ว่าควรพูดและควรทำอย่างไรเพื่อจะมีความกรุณาเหมือนพระยะโฮวา—อ่านสุภาษิต 15:28
ฉลาดสุขุมเหมือนพระยะโฮวา
10, 11. อะไรจะช่วยให้เราฉลาดสุขุมเหมือนพระยะโฮวา? ขอยกตัวอย่าง
10 พระยะโฮวาเป็นผู้ที่ฉลาดสุขุมมากที่สุด พระองค์เลือกที่จะรู้อนาคตได้ แม้เราไม่รู้อนาคต แต่เราก็เป็นคนฉลาดสุขุมได้ โดยก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เราต้องนึกภาพว่าการทำอย่างนั้นจะส่งผลต่อตัวเองหรือคนอื่นอย่างไร เราไม่ควรเป็นเหมือนชาวอิสราเอล พวกเขาไม่คิดถึงผลที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่เชื่อฟังพระยะโฮวา และไม่คิดถึงความสัมพันธ์กับพระองค์รวมทั้งสิ่งต่าง ๆ ที่พระองค์ทำเพื่อพวกเขา เนื่องจากโมเซเข้าใจเรื่องนี้และรู้ว่าชาติอิสราเอลกำลังทำชั่ว เขาจึงพูดว่า “พวกเขาเป็นชนชาติที่ไร้ความคิด ขาดความฉลาดหลักแหลม ถ้าเพียงแต่พวกเขาฉลาดและเข้าใจ และมองออกว่าบั้นปลายของตนจะเป็นเช่นใด!”—บัญ. 31:29, 30; 32:28, 29, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย
11 ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีแฟน คุณต้องจำไว้ว่าการหลงใหลใครสักคนจะทำให้คุณควบคุมความรู้สึกและความปรารถนาทางเพศได้ยาก ดังนั้น คุณต้องไม่ทำอะไรก็ตามที่ทำลายความสัมพันธ์ที่มีค่ากับพระยะโฮวา! แทนที่จะเป็นอย่างนั้น ขอให้คุณฉลาดสุขุมและหลีกเลี่ยงอันตรายโดยฟังคำแนะนำที่ฉลาดสุขุมของพระยะโฮวาที่ว่า “คนฉลาดมองเห็นภัยแล้วหนีไปซ่อนตัว แต่คนโง่เดินเซ่อไปและก็เป็นอันตราย”—สุภา. 22:3
ควบคุมความคิดของคุณ
12. สิ่งที่เราคิดอาจทำให้เราได้รับความเสียหายอย่างไร?
12 คนฉลาดสุขุมจะควบคุมความคิดของเขา ที่จริง ความคิดของเราอาจเป็นประโยชน์หรือสร้างความเสียหายก็ได้ เหมือนกับไฟที่อาจเป็นประโยชน์หรือสร้างความเสียหายได้ เช่น เราใช้ไฟเพื่อทำอาหาร แต่ถ้าไม่ระวังไฟอาจไหม้บ้านเราจนไม่เหลือซากหรือถึงกับทำให้เราตายด้วยซ้ำ คล้ายกันกับความคิดของเรา เมื่อเราคิดเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้เรียนจากพระยะโฮวา เราก็จะได้รับประโยชน์ แต่ถ้าเราคิดหมกมุ่นเรื่องการผิดศีลธรรมทางเพศและนึกภาพตัวเองทำสิ่งที่ไม่ดี นั่นจะทำให้เรามีความปรารถนามากขึ้นจนลงมือทำจริง ๆ และอาจทำลายมิตรภาพของเรากับพระยะโฮวา—อ่านยาโกโบ 1:14, 15
13. ฮาวานึกภาพชีวิตของเธออย่างไร?
13 เราสามารถเรียนได้จากตัวอย่างของฮาวาผู้หญิงคนแรก พระยะโฮวาสั่งอาดามกับฮาวาว่าอย่ากินผลไม้จาก “ต้นไม้ที่ให้รู้ความดีและชั่ว” (เย. 2:16, 17) แต่ซาตานบอกฮาวาว่า “เจ้าจะไม่ตายแน่นอน เพราะพระเจ้าทรงทราบว่าเมื่อใดที่เจ้ากินผลไม้นั้น เจ้าจะตาสว่างขึ้นและจะเป็นเหมือนพระเจ้า คือรู้ผิดชอบชั่วดี” ฮาวานึกภาพว่าชีวิตจะดีกว่านี้มากถ้าเธอตัดสินใจได้เองว่าอะไรดีอะไรชั่ว เธอคิดเรื่องนี้เรื่อย ๆ จน “เห็นว่าผลนั้นดี เหมาะเป็นอาหาร และยังงามน่าดูทั้งน่าพึงปรารถนา” เกิดอะไรหลังจากนั้น? ‘เธอจึงนำผลไม้มากิน และให้สามีที่อยู่กับเธอ และเขาก็กิน’ (เย. 3:1-6, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ผลคือ “บาปเข้ามาในโลกเพราะคนคนเดียวและความตายเกิดขึ้นเพราะบาปนั้น” (โรม 5:12) น่าเศร้า ฮาวาไม่น่าคิดเรื่องนี้อยู่เรื่อย ๆ เลย!
14. คัมภีร์ไบเบิลเตือนอย่างไรเกี่ยวกับการผิดศีลธรรมทางเพศ?
14 แม้บาปที่ฮาวาทำจะไม่เกี่ยวข้องกับการผิดศีลธรรมทางเพศ แต่คัมภีร์ไบเบิลเตือนเราชัดเจนว่าไม่ให้นึกภาพตัวเองทำผิดศีลธรรมทางเพศไม่ว่าจะรูปแบบใด พระเยซูบอกว่า “ทุกคนที่มองผู้หญิงอย่างไม่วางตาจนเกิดความกำหนัดในหญิงนั้นก็ได้เล่นชู้ในใจกับนางแล้ว” (มัด. 5:28) เปาโลก็เตือนว่า “อย่าวางแผนเพื่อสนองความปรารถนาทางกาย”—โรม 13:14
15. เราควรสะสมทรัพย์สมบัติอะไร และทำไม?
15 คัมภีร์ไบเบิลยังบอกด้วยว่า เราควรสนใจทำสิ่งที่พระยะโฮวาพอใจและไม่ควรคิดอยากร่ำอยากรวย ถึงแม้บางคนเป็นคนรวยแต่เงินก็ไม่ได้ปกป้องเขาจริง ๆ (สุภา. 18:11) พระเยซูบอกว่าคนที่สะสมเงินทองเพื่อตัวเองแต่ไม่ได้ให้พระยะโฮวามาเป็นอันดับแรกเป็นคนโง่และ “ไม่ได้มั่งมีต่อหน้าพระเจ้า” (ลูกา 12:16-21, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) แต่ถ้าเราสะสม “ทรัพย์สมบัติในสวรรค์” โดยทำสิ่งต่าง ๆ ที่พระเจ้าพอใจ พระองค์ก็จะมีความสุขและเราก็มีความสุขด้วย (มัด. 6:20, ฉบับคาทอลิก; สุภา. 27:11) ใช่แล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวามีค่ามากกว่าอะไรทั้งหมด
อย่าวิตกกังวล
16. อะไรจะช่วยเราได้เมื่อเราวิตกกังวล?
16 ถ้าเราพยายามจะเป็นคนร่ำรวยในโลกนี้ เราก็จะวิตกกังวลมากขึ้น (มัด. 6:19) พระเยซูบอกว่าคนที่กังวลเรื่องเงินทองจะให้ราชอาณาจักรมาเป็นอันดับแรกได้ยาก (มัด. 13:18, 19, 22) บางคนกังวลอยู่ตลอดเกี่ยวกับเรื่องร้าย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเขา ถ้าเราไม่เลิกวิตกกังวล เราอาจป่วยหรือเริ่มขาดความเชื่อในพระยะโฮวา แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้องวางใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยเรา คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความวิตกกังวลทำให้หนักใจแต่คำปลอบโยนทำให้ใจพองโต” (สุภา. 12:25, ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย ) ดังนั้น ถ้ามีบางเรื่องที่คุณวิตกกังวล ขอให้คุยกับคนที่รับใช้พระยะโฮวาหรือคนที่รู้จักคุณดี เช่น พ่อแม่ สามีหรือภรรยาของคุณ หรือเพื่อนดี ๆ เพราะพวกเขาจะช่วยคุณให้วางใจพระยะโฮวาและช่วยคุณให้กังวลน้อยลงได้
17. พระยะโฮวาช่วยเราอย่างไรเมื่อเราวิตกกังวล?
17 พระยะโฮวาเข้าใจความรู้สึกของเราดีกว่าใคร ๆ ทั้งหมดและจะช่วยเราให้มีใจสงบเมื่อเราวิตกกังวล เปาโลเขียนว่า “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ แล้วสันติสุขของพระเจ้าซึ่งเหนือกว่าความคิดทุกอย่างจะปกป้องหัวใจและจิตใจท่านทั้งหลายไว้โดยทางพระคริสต์เยซู” (ฟิลิป. 4:6, 7) ดังนั้น เมื่อคุณวิตกกังวล ขอให้คิดถึงความช่วยเหลือที่พระยะโฮวาจัดเตรียมไว้เพื่อช่วยให้คุณมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพระองค์เสมอ เช่น การช่วยเหลือจากพี่น้องชายหญิง ผู้ปกครอง ทาสสัตย์ซื่อ ทูตสวรรค์ และพระเยซู
18. ความสามารถในการที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นช่วยเราอย่างไร?
18 เราได้เรียนไปแล้วว่า เมื่อเราใช้ความสามารถในการที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เราก็กำลังเลียนแบบพระยะโฮวา (1 ติโม. 1:11; 1 โย. 4:8) เมื่อเราแสดงความรักและกรุณาต่อคนอื่น คิดถึงผลจากการกระทำของเรา และเลิกวิตกกังวล เราจะมีความสุข ดังนั้น ขอให้เรานึกภาพชีวิตที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรและทำสุดความสามารถเพื่อเลียนแบบพระยะโฮวา—โรม 12:12