จงทำดีเสมอ
“จงทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป คือ . . . ทำดี.”—ลูกา 6:35.
1, 2. เหตุใดการทำดีต่อผู้อื่นจึงมักเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก?
การทำดีต่อคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย. คนที่เราแสดงความรักอาจไม่ยอมแสดงความรักตอบ. แม้ว่าเราพยายามเต็มที่เพื่อเห็นแก่สวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของผู้คนโดยบอก ‘ข่าวดีอันยอดเยี่ยมของพระเจ้าผู้มีความสุข’ และพระบุตร แต่พวกเขาอาจเมินเฉยหรือไม่หยั่งรู้ค่า. (1 ติโม. 1:11) คนอื่น ๆ แสดงความเกลียดชังและ “ประพฤติตัวเป็นปฏิปักษ์กับเสาทรมานของพระคริสต์.” (ฟิลิป. 3:18) ในฐานะคริสเตียน เราควรปฏิบัติอย่างไรต่อพวกเขา?
2 พระเยซูคริสต์ทรงบอกเหล่าสาวกว่า “จงทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป คือ รักศัตรูของเจ้า ทำดี.” (ลูกา 6:35) ให้เรามาพิจารณาคำแนะนำนี้กันอย่างละเอียด. เราจะได้รับประโยชน์จากจุดอื่นด้วยที่พระเยซูตรัสเกี่ยวกับการทำดีต่อผู้อื่น.
“จงรักศัตรู”
3. (ก) จงสรุปคำตรัสของพระเยซูดังบันทึกไว้ที่มัดธาย 5:43-45 โดยใช้สำนวนของคุณเอง. (ข) พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในศตวรรษแรกสร้างทัศนะแบบไหนขึ้นมาเกี่ยวกับชาวยิวและคนที่ไม่ใช่ชาวยิว?
3 ในคำเทศน์บนภูเขาที่มีชื่อเสียง พระเยซูทรงบอกผู้ฟังให้รักศัตรูและอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงพวกเขา. (อ่านมัดธาย 5:43-45.) คนที่อยู่ที่นั่นในโอกาสนั้นคือชาวยิวซึ่งรู้จักพระบัญชาของพระเจ้าดี ที่ว่า “เจ้าอย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทลูกหลานญาติพี่น้องของเจ้า แต่เจ้าจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” (เลวี. 19:18) พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิวในศตวรรษแรกตีความว่า “ลูกหลานญาติพี่น้อง” และ “เพื่อนบ้าน” ในที่นี้หมายถึงชาวยิวเท่านั้น. พระบัญญัติของโมเซเรียกร้องให้ชาวอิสราเอลแยกอยู่ต่างหากจากชาติอื่น ๆ แต่พวกเขาสร้างทัศนะขึ้นมาว่าคนที่ไม่ใช่ชาวยิวทุกคนเป็นศัตรูที่ต้องเกลียด.
4. เหล่าสาวกของพระเยซูต้องปฏิบัติอย่างไรต่อศัตรู?
4 ในทางตรงกันข้าม พระเยซูตรัสอย่างหนักแน่นว่า “จงรักศัตรูของเจ้าต่อ ๆ ไปและอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเจ้าต่อ ๆ ไป.” (มัด. 5:44) สาวกของพระองค์ต้องกระทำด้วยความรักต่อทุกคนที่แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อพวกเขา. ตามที่ผู้เขียนกิตติคุณลูกาบันทึกไว้ พระเยซูตรัสว่า “เราบอกพวกเจ้าที่ฟังอยู่ว่า จงทำเช่นนี้ต่อ ๆ ไป คือ รักศัตรูของเจ้า ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังเจ้า อวยพรผู้ที่แช่งด่าเจ้า อธิษฐานเพื่อผู้ที่สบประมาทเจ้า.” (ลูกา 6:27, 28) เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในศตวรรษแรกซึ่งปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซู เรา “ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชัง” เราโดยตอบการกระทำที่ไม่เป็นมิตรด้วยการกระทำที่ดีงาม. เรา “อวยพรผู้ที่แช่งด่า” เราโดยพูดกับพวกเขาอย่างกรุณา. และเรา “อธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหง” เราซึ่งใช้ความรุนแรงทางกายหรือการกระทำที่ “สบประมาท” แบบอื่น ๆ ต่อเรา. การอธิษฐานเช่นนั้นเป็นคำขอที่แสดงว่าเรารักศัตรูเพราะเราขอเพื่อให้ผู้ข่มเหงเปลี่ยนใจและลงมือทำในแนวทางที่พระยะโฮวาทรงพอพระทัย.
5, 6. เหตุใดเราควรรักศัตรู?
5 เหตุใดเราจึงแสดงความรักต่อศัตรู? พระเยซูตรัสว่า “เพื่อแสดงว่าเจ้าเป็นบุตรของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์.” (มัด. 5:45) หากเราทำตามคำแนะนำนั้น เราจะกลายเป็น “บุตร” ของพระเจ้า ในแง่ที่ว่าเราเลียนแบบพระยะโฮวาผู้ “ทรงบันดาลให้ดวงอาทิตย์ขึ้นส่องแสงแก่คนดีและคนชั่ว อีกทั้งทรงบันดาลให้ฝนตกแก่คนชอบธรรมและคนอธรรม.” ตามบันทึกที่ลูกาเขียนไว้ พระเจ้า “ทรงกรุณาต่อคนอกตัญญูและคนชั่ว.”—ลูกา 6:35.
6 พระเยซูทรงเน้นให้เห็นความสำคัญที่เหล่าสาวกจะ ‘รักศัตรูของพวกเขาต่อ ๆ ไป’ โดยตรัสว่า “ถ้าเจ้ารักคนที่รักเจ้า เจ้าจะได้บำเหน็จอะไร? พวกคนเก็บภาษีก็ทำอย่างเดียวกันมิใช่หรือ? และถ้าเจ้าทักทายแต่พี่น้องของเจ้า เจ้าทำอะไรเป็นพิเศษเล่า? ชนต่างชาติก็ทำอย่างเดียวกันมิใช่หรือ?” (มัด. 5:46, 47) ถ้าเราจำกัดความรักของเราไว้เฉพาะต่อคนที่แสดงความรักตอบ เราก็คงไม่สมควรได้รับ “บำเหน็จ” หรือความพอพระทัยจากพระเจ้า. แม้แต่คนเก็บภาษี ซึ่งคนทั่วไปเหยียดหยาม ก็แสดงความรักต่อคนที่รักพวกเขา.—ลูกา 5:30; 7:34.
7. เหตุใดจึงไม่มีอะไรพิเศษถ้าเราทักทายเฉพาะ “พี่น้อง” ของเรา?
7 โดยทั่วไปชาวยิวทักทายกันโดยใช้คำ “สันติสุข.” (วินิจ. 19:20; โย. 20:19) คำนี้แสดงเป็นนัย ๆ ถึงความปรารถนาให้คนที่เขาทักทายมีสุขภาพดี, ปลอดภัย, และเจริญรุ่งเรือง. คงไม่มีอะไร “พิเศษ” ถ้าเราจะทักทายเฉพาะคนที่เราถือว่าเป็น “พี่น้อง.” ดังที่พระเยซูทรงชี้ “ชนต่างชาติ” ก็ทำคล้าย ๆ กันนั้น.
8. พระเยซูทรงสนับสนุนผู้ฟังให้ทำอะไรเมื่อตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายต้องเป็นคนดีพร้อม”?
8 บาปที่ตกทอดมาทำให้เป็นไปไม่ได้ที่สาวกของพระคริสต์จะปราศจากตำหนิหรือสมบูรณ์. (โรม 5:12) ถึงกระนั้น พระเยซูตรัสลงท้ายคำบรรยายส่วนนี้โดยตรัสว่า “ฉะนั้น เจ้าทั้งหลายต้องเป็นคนดีพร้อมอย่างที่พระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์ทรงดีพร้อม.” (มัด. 5:48) โดยตรัสอย่างนั้น พระองค์ทรงสนับสนุนผู้ฟังให้เลียนแบบพระยะโฮวา ‘พระบิดาของพวกเขาที่สถิตในสวรรค์’ ด้วยการทำให้ความรักของตนครบถ้วนสมบูรณ์โดยแสดงความรักต่อศัตรู. เราถูกคาดหมายให้ทำอย่างเดียวกัน.
เหตุใดจึงให้อภัย?
9. ถ้อยคำที่ว่า ‘ขอทรงทรงยกหนี้ให้พวกข้าพเจ้า’ หมายถึงอะไร?
9 เราทำดีต่อ ๆ ไปเมื่อเราแสดงความเมตตาโดยให้อภัยคนที่ทำผิดต่อเรา. ที่จริง ส่วนหนึ่งในคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูมีถ้อยคำที่ว่า “ขอทรงยกหนี้ความผิด [แปลตรงตัวว่า “หนี้”] ให้พวกข้าพเจ้าอย่างที่พวกข้าพเจ้าได้ยกหนี้ความผิด [แปลตรงตัวว่า “หนี้”] ให้ผู้ที่ทำผิดต่อพวกข้าพเจ้า.” (มัด. 6:12) กิตติคุณของลูกาแสดงว่า “หนี้” ที่พระเยซูทรงนึกถึงได้แก่บาปหรือความผิด เพราะที่นั่นกล่าวว่า “ขอทรงอภัยบาปของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพราะข้าพเจ้าก็ให้อภัยทุกคนที่เป็นหนี้ความผิด [แปลตรงตัวว่า “หนี้”] ต่อข้าพเจ้าเช่นกัน.”—ลูกา 11:4.
10. เราจะเลียนแบบพระเจ้าได้อย่างไรในเรื่องการให้อภัย?
10 เราต้องเลียนแบบพระเจ้าผู้ทรงพร้อมจะให้อภัยคนบาปที่กลับใจ. อัครสาวกเปาโลเขียนไว้ว่า “จงกรุณาต่อกัน แสดงความเห็นใจกัน ให้อภัยกันอย่างใจกว้างอย่างที่พระเจ้าทรงให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างใจกว้างโดยพระคริสต์เช่นกัน.” (เอเฟ. 4:32) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องเพลงดังนี้: “พระยะโฮวาทรงพระเมตตากรุณา, พระองค์ทรงพระพิโรธช้า ๆ, และทรงพระเมตตาบริบูรณ์. . . . พระองค์ไม่ได้ทรงกระทำแก่พวกข้าพเจ้าตามการผิด, และมิได้ทรงปรับโทษตามความอสัตย์อธรรมของพวกข้าพเจ้านั้น. . . . ทิศตะวันออกไกลจากทิศตะวันตกมากเท่าใด, พระองค์ได้ทรงถอนเอาการล่วงละเมิดของพวกข้าพเจ้าไปให้ห่างไกลมากเท่านั้น. บิดาเมตตาบุตรของตนมากฉันใด, พระยะโฮวาทรงพระเมตตาคนที่ยำเกรงพระองค์มากฉันนั้น. เพราะพระองค์ทรงทราบร่างกายของพวกข้าพเจ้าแล้ว; พระองค์ทรงระลึกอยู่ว่าพวกข้าพเจ้าเป็นแต่ผงคลีดิน.”—เพลง. 103:8-14.
11. พระเจ้าทรงให้อภัยแก่ใคร?
11 คนเราจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้ให้อภัยคนที่ทำผิดต่อพวกเขาเท่านั้น. (มโก. 11:25) พระเยซูทรงเน้นจุดนี้โดยตรัสอีกว่า “เพราะถ้าเจ้าทั้งหลายให้อภัยการผิดที่มนุษย์ทำต่อเจ้า พระบิดาของเจ้าผู้สถิตในสวรรค์ก็จะให้อภัยเจ้าด้วย แต่ถ้าเจ้าทั้งหลายไม่ให้อภัยความผิดของพวกเขา พระบิดาของเจ้าก็จะไม่ให้อภัยความผิดของเจ้าเช่นกัน.” (มัด. 6:14, 15) เห็นได้ชัดว่า พระเจ้าทรงให้อภัยเฉพาะคนที่ให้อภัยผู้อื่นอย่างใจกว้าง. และวิธีหนึ่งที่จะทำดีต่อ ๆ ไปก็คือการทำตามคำแนะนำของเปาโล ที่ว่า “พระยะโฮวาเต็มพระทัยให้อภัยท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านทั้งหลายก็จงทำอย่างนั้น.”—โกโล. 3:13.
“จงเลิกตัดสินผู้อื่น”
12. พระเยซูทรงให้คำแนะนำอะไรเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น?
12 มีการกล่าวถึงอีกวิธีหนึ่งที่จะทำดีในคำเทศน์บนภูเขาเมื่อพระเยซูทรงบอกผู้ฟังให้เลิกตัดสินผู้อื่น และจากนั้นทรงยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่มีพลังเพื่อเน้นจุดนี้. (อ่านมัดธาย 7:1-5.) ให้เรามาพิจารณาว่าพระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ตรัสว่า “จงเลิกตัดสินผู้อื่น.”
13. ผู้ที่ฟังพระเยซูจะ ‘ไม่ถือสา’ ได้อย่างไร?
13 กิตติคุณของมัดธายอ้างถึงคำตรัสของพระเยซูว่า “จงเลิกตัดสินผู้อื่นเพื่อเจ้าทั้งหลายจะไม่ถูกตัดสิน.” (มัด. 7:1) ตามบันทึกในหนังสือลูกา พระเยซูตรัสว่า “จงเลิกตัดสินผู้อื่นแล้วเจ้าทั้งหลายจะไม่ถูกตัดสิน จงเลิกกล่าวโทษผู้อื่นแล้วเจ้าทั้งหลายจะไม่ถูกกล่าวโทษเลย. อย่าถือสาเขาแล้วเขาจะไม่ถือสาเจ้า.” (ลูกา 6:37) พวกฟาริซายในศตวรรษแรกพิพากษาผู้อื่นอย่างไร้ความปรานีโดยยึดถือจารีตประเพณีที่ไม่มีกำหนดไว้ในพระคัมภีร์. ใครก็ตามในหมู่ผู้ฟังพระเยซูที่ทำอย่างนั้นจะต้อง “เลิกตัดสินผู้อื่น.” แทนที่จะตัดสินผู้อื่น พวกเขาต้อง “อย่าถือสา” ซึ่งหมายถึงให้อภัยข้อบกพร่องของผู้อื่น. อัครสาวกเปาโลให้คำแนะนำคล้าย ๆ กันเกี่ยวกับการให้อภัย ดังที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้.
14. ด้วยการให้อภัย สาวกของพระเยซูจะกระตุ้นผู้คนให้ทำอะไร?
14 ด้วยการให้อภัย สาวกของพระเยซูจะกระตุ้นผู้คนให้มีน้ำใจให้อภัย. พระเยซูตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายตัดสินผู้อื่นอย่างไร เจ้าจะถูกตัดสินอย่างนั้น และเจ้าปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร เขาจะปฏิบัติต่อเจ้าอย่างนั้น.” (มัด. 7:2) เราเก็บเกี่ยวสิ่งที่เราหว่านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่น.—กลา. 6:7.
15. พระเยซูทรงแสดงอย่างไรว่าผิดที่จะวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป?
15 พึงจำไว้ว่าเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าผิดที่จะวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป พระเยซูทรงถามว่า “เหตุใดเจ้าจึงมองดูเศษฟางในตาพี่น้องของเจ้า แต่ไม่มองท่อนไม้ในตาของเจ้าเอง? หรือเจ้าจะพูดกับพี่น้องของเจ้าได้อย่างไรว่า ‘ให้ข้าเอาเศษฟางออกจากตาเจ้าเถิด’ ในเมื่อมีไม้ทั้งท่อนอยู่ในตาของเจ้าเอง?” (มัด. 7:3, 4) คนที่มีแนวโน้มจะวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นสังเกตเห็นข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ใน “ตา” ของพี่น้อง. จริง ๆ แล้ว คนที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นกำลังพูดในเชิงว่าความสามารถในการรับรู้ของพี่น้องบกพร่องและวิจารณญาณของเขาใช้ไม่ได้. แม้ข้อบกพร่องนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย—เหมือนเศษฟาง—ผู้วิพากษ์วิจารณ์เสนอตัวจะช่วย “เอาเศษฟางออก.” ด้วยความหน้าซื่อใจคด เขาอาสาจะช่วยพี่น้องให้มองเห็นชัดขึ้น.
16. เหตุใดจึงกล่าวได้ว่าพวกฟาริซายมี “ท่อนไม้” ในตาของพวกเขา?
16 คนที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นเป็นพิเศษได้แก่พวกหัวหน้าศาสนาชาวยิว. เพื่อเป็นตัวอย่าง: เมื่อชายตาบอดคนหนึ่งซึ่งได้รับการรักษาจากพระคริสต์ประกาศว่าพระเยซูต้องเป็นผู้ที่มาจากพระเจ้า พวกฟาริซายตอบอย่างแค้นเคืองว่า “เจ้าเกิดมามีแต่บาป เจ้าจะมาสอนพวกเราหรือ?” (โย. 9:30-34) ในเรื่องวิสัยทัศน์ฝ่ายวิญญาณและความสามารถในการตัดสินอย่างถูกต้อง ถือได้ว่าพวกฟาริซายมี “ท่อนไม้” ในตาเขาเองและบอดสนิท. ด้วยเหตุนั้น พระเยซูตรัสอย่างหนักแน่นว่า “คนหน้าซื่อใจคด! จงเอาท่อนไม้ออกจากตาเจ้าเองก่อน แล้วเจ้าจึงจะมองเห็นชัดว่าจะเอาเศษฟางออกจากตาของพี่น้องเจ้าอย่างไร.” (มัด. 7:5; ลูกา 6:42) ถ้าเราตั้งใจจะทำดีและปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้อื่น เราจะไม่เป็นคนที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นอย่างรุนแรงราวกับว่าคอยมองหาเศษฟางในตาของพี่น้อง. แทนที่จะทำอย่างนั้น เราจะยอมรับว่าเราเองก็ไม่สมบูรณ์และด้วยเหตุนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการตัดสินและวิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมความเชื่อ.
วิธีที่เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่น
17. เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไรเมื่อคำนึงถึงกฎที่มัดธาย 7:12?
17 ในคำเทศน์บนภูเขา พระเยซูทรงชี้ว่าพระเจ้าทรงถือว่าผู้รับใช้ของพระองค์เป็นบุตรโดยทรงตอบคำอธิษฐานของพวกเขา. (อ่านมัดธาย 7:7-12.) เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า พระเยซูทรงวางกฎการประพฤติไว้ว่า “ด้วยเหตุนั้น สารพัดสิ่งที่เจ้าทั้งหลายต้องการให้คนอื่นทำต่อเจ้า จงทำอย่างนั้นต่อเขา.” (มัด. 7:12) เฉพาะแต่เมื่อเราปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์อย่างนี้เราจึงจะพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นสาวกแท้ของพระเยซูคริสต์.
18. “พระบัญญัติ” แสดงอย่างไรว่าเราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา?
18 หลังจากกล่าวว่าเราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา พระเยซูตรัสเสริมว่า “ที่จริง พระบัญญัติและคำสอนของพวกผู้พยากรณ์มุ่งหมายอย่างนี้.” เมื่อเราปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่พระเยซูทรงระบุ เรากำลังทำสอดคล้องกับน้ำใจที่อยู่เบื้องหลัง “พระบัญญัติ” ซึ่งก็คือข้อเขียนส่วนหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลจากหนังสือเยเนซิศจนถึงพระบัญญัติ. นอกจากการเปิดเผยพระประสงค์ของพระยะโฮวาที่จะก่อให้เกิดพงศ์พันธุ์ซึ่งจะทำลายความชั่ว หนังสือเหล่านี้ยังกล่าวถึงข้อกฎหมายที่พระเจ้าประทานแก่ชาติอิสราเอลผ่านทางโมเซในปี 1513 ก่อนสากลศักราช. (เย. 3:15) นอกเหนือจากสิ่งอื่นแล้ว พระบัญญัติยังแสดงไว้อย่างชัดเจนด้วยว่าชาวอิสราเอลต้องเป็นคนยุติธรรม, ไม่ลำเอียง, และทำดีต่อคนตกทุกข์ได้ยากและคนต่างด้าวที่อาศัยในประเทศของเขา.—เลวี. 19:9, 10, 15, 34.
19. “คำสอนของพวกผู้พยากรณ์” แสดงให้เห็นอย่างไรว่าเราควรทำดี?
19 โดยทรงอ้างถึง “คำสอนของพวกผู้พยากรณ์” พระเยซูทรงนึกถึงหนังสือพยากรณ์ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. หนังสือเหล่านี้มีคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระมาซีฮาซึ่งมาสำเร็จในพระคริสต์เอง. ข้อเขียนเช่นนั้นยังแสดงด้วยว่าพระเจ้าทรงอวยพรประชาชนของพระองค์เมื่อพวกเขาทำสิ่งที่ถูกต้องในสายพระเนตรพระองค์และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม. ตัวอย่างเช่น คำพยากรณ์ของยะซายาให้คำแนะนำนี้แก่ชาวอิสราเอล: “พระยะโฮวาตรัสดังต่อไปนี้ว่า ‘จงถือรักษาพระบัญญัติไว้, และจงกระทำสิ่งที่ถูกต้อง. . . . ความสุขย่อมมีแก่คนที่ประพฤติเช่นนั้น, และแก่บุตรมนุษย์ที่ถือรักษาไว้อย่างเคร่งครัด . . . และสงวนมือของเขาไว้ไม่ให้ทำชั่วใด ๆ.’ ” (ยซา. 56:1, 2) จริงทีเดียว พระเจ้าทรงคาดหมายให้ประชาชนของพระองค์ทำดีเสมอ.
ทำดีต่อผู้อื่นเสมอ
20, 21. ฝูงชนแสดงปฏิกิริยาอย่างไรต่อคำเทศน์บนภูเขาของพระเยซู และเหตุใดคุณควรใคร่ครวญคำสอนนั้น?
20 เราได้พิจารณาจุดสำคัญเพียงไม่กี่จุดจากที่พระเยซูตรัสไว้ในคำเทศน์บนภูเขาซึ่งไม่มีคำสอนใดจะเทียบได้. แม้กระนั้น เราเข้าใจปฏิกิริยาของคนที่ได้ยินพระองค์ตรัสในโอกาสนั้นได้ไม่ยาก. บันทึกที่มีขึ้นโดยการดลใจกล่าวว่า “ครั้นพระเยซูตรัสถ้อยคำเหล่านี้จบแล้ว ฝูงชนก็อัศจรรย์ใจในวิธีสอนของพระองค์ เพราะพระองค์สอนพวกเขาอย่างผู้ที่ได้รับอำนาจจากพระเจ้า ไม่เหมือนพวกอาลักษณ์ของเขา.”—มัด. 7:28, 29.
21 พระเยซูคริสต์ทรงพิสูจน์พระองค์เองว่าทรงเป็น “ที่ปรึกษามหัศจรรย์” ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าอย่างไม่มีข้อสงสัย. (ยซา. 9:6) คำเทศน์บนภูเขาเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมซึ่งแสดงถึงความรู้ที่พระเยซูทรงมีเกี่ยวกับทัศนะของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์ต่อเรื่องต่าง ๆ. นอกจากจุดต่าง ๆ ที่เราพิจารณากันไปแล้ว คำบรรยายนั้นยังกล่าวถึงเรื่องความสุขแท้, วิธีหลีกเลี่ยงการทำผิดศีลธรรม, วิธีแสดงความชอบธรรม, สิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะมีอนาคตที่มั่นคงและน่ายินดี รวมถึงเรื่องอื่น ๆ อีกมาก. คุณน่าจะอ่านมัดธายบท 5 ถึงบท 7 อีกครั้งอย่างละเอียดถี่ถ้วนและจริงจัง. ใคร่ครวญคำแนะนำอันยอดเยี่ยมของพระเยซูที่บันทึกไว้ในสามบทนี้. จงนำคำสอนที่พระคริสต์ตรัสในคำเทศน์บนภูเขามาใช้ในชีวิต. แล้วคุณจะสามารถทำให้พระยะโฮวาพอพระทัยมากขึ้น, ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม, และทำดีอยู่เสมอ.
คุณจะตอบอย่างไร?
• เราควรปฏิบัติต่อศัตรูอย่างไร?
• เหตุใดเราควรให้อภัยผู้อื่น?
• พระเยซูตรัสอย่างไรเกี่ยวกับการตัดสินผู้อื่น?
• ตามในมัดธาย 7:12 เราควรปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร?
[ภาพหน้า 10]
คุณรู้ไหมว่าทำไมพระเยซูจึงตรัสว่า “จงเลิกตัดสินผู้อื่น”?
[ภาพหน้า 8]
ทำไมเราควรอธิษฐานเพื่อคนที่ข่มเหงเรา?
[ภาพหน้า 10]
คุณปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่คุณอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อคุณไหม?