แหล่งอ้างอิงสำหรับชีวิตและงานรับใช้—คู่มือประชุม
วันที่ 2-8 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ลูกา 6-7
“แบ่งปันอย่างใจกว้าง”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 6:37
ให้อภัยคนอื่นเสมอ แล้วพระเจ้าจะให้อภัยคุณ หรือ “ให้ปล่อยคนอื่นเสมอ แล้วคุณจะได้รับการปล่อย” คำภาษากรีก “ให้อภัย” มีความหมายตรงตัวว่า “ปล่อยให้เป็นอิสระ ปล่อยไป ปล่อยตัว (เช่น นักโทษ)” จากท้องเรื่องในข้อนี้ มีการใช้คำว่า ตัดสินและกล่าวโทษซึ่งเป็นคำที่ตรงข้ามกับให้อภัย นี่ทำให้เห็นว่าการให้อภัยที่พูดถึงใน ลก 6:37 นั้นเป็นการไม่ตัดสินลงโทษทั้ง ๆ ที่คนคนนั้นสมควรถูกลงโทษ
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 6:38
ให้มีนิสัยชอบแบ่งปัน หรือ “ให้ต่อ ๆ ไป” คำกริยาภาษากรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลได้ว่า “ให้” และแสดงถึงการกระทำที่ต่อเนื่อง
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 6:38
กระเป๋าของคุณ คำภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “หน้าอกของคุณ” แต่ในท้องเรื่องนี้น่าจะหมายถึงเสื้อชั้นนอกตัวใหญ่ที่พับขึ้นเหนือผ้าคาดเอว ‘การเทใส่กระเป๋า’ อาจหมายถึงธรรมเนียมที่พ่อค้าใส่ของที่ลูกค้าซื้อแล้วลงไปในเสื้อชั้นนอกของลูกค้าที่พับขึ้นมา
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 7:35
ผลที่ปรากฏออกมา สิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพระเยซูทำเป็นผลที่ปรากฏออกมาจากสติปัญญา และนี่พิสูจน์ว่าคำกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพวกเขาไม่เป็นความจริง ดังนั้น พระเยซูกำลังบอกว่า ‘ให้ดูที่ผลงานและการกระทำที่ดี แล้วคุณจะรู้ว่าคำกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง’
วันที่ 9-15 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ลูกา 8-9
“ตามผมมาสิ—เราต้องทำอะไร?”
it-2-E น. 494
รัง เมื่อครูสอนศาสนาคนหนึ่งบอกพระเยซูว่า “อาจารย์ครับ ผมจะติดตามท่านไปทุกหนทุกแห่ง” พระเยซูตอบเขาว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกก็มีรัง แต่ ‘ลูกมนุษย์’ ไม่มีที่จะซุกหัวนอน” (มธ 8:19, 20; ลก 9:57, 58) พระเยซูกำลังชี้ให้เห็นว่าถ้าผู้ชายคนนี้จะมาเป็นสาวกของท่าน เขาต้องทิ้งความสะดวกสบายที่ใคร ๆ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเขาต้องวางใจพระยะโฮวาอย่างเต็มที่ หลักการนี้มีอยู่ในตัวอย่างคำอธิษฐานที่ท่านสอนสาวกด้วยว่า “ขอให้พวกเรามีอาหารกินในวันนี้” และอยู่ในคำพูดของท่านที่ว่า “ดังนั้น ถ้าคุณไม่ยอมทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง คุณจะเป็นสาวกของผมไม่ได้”—มธ 6:11; ลก 14:33
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 9:59, 60
ฝังศพพ่อ คำพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อของผู้ชายคนนี้เพิ่งจะเสียชีวิตและเขาก็ขอไปจัดการงานศพของพ่อ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นเขาคงไม่ได้มายืนคุยกับพระเยซูในตอนนี้ เนื่องจากแถบตะวันออกกลางในสมัยโบราณ เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิตจะมีการจัดงานศพทันที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะจัดวันเดียวกันกับที่คนนั้นตาย ดังนั้น พ่อของเขาอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว ไม่ใช่เสียชีวิต และพระเยซูก็คงไม่บอกให้เขาทิ้งพ่อแม่ที่เจ็บป่วยและต้องการความช่วยเหลือ นี่แสดงว่าครอบครัวเขาคงจะมีสมาชิกคนอื่น ๆ ที่สามารถดูแลเรื่องที่สำคัญนี้ได้อยู่แล้ว (มก 7:9-13) จริง ๆ แล้ว ผู้ชายคนนี้หมายความว่า ‘ผมจะตามท่านไปครับ แต่ไม่ใช่ตอนที่พ่อผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะรอจนกว่าพ่อผมตายและให้ผมฝังศพพ่อก่อน’ แต่ในมุมมองของพระเยซู ผู้ชายคนนี้เสียโอกาสที่จะทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต—ลก 9:60, 62
ให้คนตายฝังคนตายเถอะ จากข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 9:59 เรารู้ว่าพ่อของผู้ชายที่คุยกับพระเยซูอาจกำลังป่วยหรือแก่แล้ว ไม่ใช่เสียชีวิต ดังนั้น จริง ๆ แล้วพระเยซูกำลังบอกว่า ‘ให้คนที่ตายทางความเชื่อฝังกันเองเถอะ’ ซึ่งนั่นหมายความว่า ชายคนนี้ไม่จำเป็นต้องรอให้พ่อตายก่อนแล้วค่อยตัดสินใจติดตามพระเยซู เพราะเขายังมีญาติ ๆ ที่ช่วยดูแลพ่อของเขาได้ ถ้าผู้ชายคนนี้ติดตามพระเยซู เขาก็จะอยู่ในทางที่จะได้ชีวิตตลอดไป ไม่ใช่อยู่กับคนเหล่านั้นที่ตายทางความเชื่อในสายตาพระเจ้า คำตอบของพระเยซูแสดงให้เห็นว่าการทำให้การปกครองของพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตและประกาศเรื่องนี้ออกไปเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่ตายทางความเชื่อ
nwtsty-E สื่อสำหรับศึกษา
ไถดิน การไถดินมักทำในฤดูใบไม้ร่วงเพราะช่วงนั้นเริ่มมีฝน และฝนจะทำให้ดินที่แห้งแข็งเพราะฤดูร้อนอ่อนนุ่มลง (ดูภาคผนวก ข 15) คันไถบางอันเป็นแบบง่าย ๆ คือทำมาจากไม้ที่เหลาปลายให้แหลม หรืออาจติดโลหะไว้ที่ปลายไม้ คันไถแบบนี้ใช้สัตว์หนึ่งตัวหรือมากกว่านั้นในการลากไถ เมื่อไถดินแล้ว ก็จะมีการหว่านเมล็ดพืช พระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูใช้การไถดินเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบบ่อย ๆ (วนฉ 14:18, เชิงอรรถ; อสย 2:4; ยรม 4:3; มคา 4:3) หลายครั้ง พระเยซูใช้การทำงานเกษตรเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบในคำสอนสำคัญ ๆ ของท่านหลายเรื่อง เช่น ท่านพูดถึงงานไถดินเพื่อเน้นความสำคัญของการเป็นสาวกที่รับใช้อย่างเต็มที่ (ลก 9:62) ถ้าคนไถไม่มองไปข้างหน้าแต่หันไปสนใจอย่างอื่น เขาก็จะทำให้รอยไถไม่ตรง คล้ายกัน ถ้าสาวกของพระคริสต์ไม่สนใจทำงานที่พระเจ้าให้แต่หันไปสนใจอย่างอื่น เขาก็ไม่เหมาะกับรัฐบาลของพระเจ้า
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 8:3
รับใช้พระเยซูกับอัครสาวก หรือ “ให้การสนับสนุน (จัดเตรียมให้) พวกเขา” คำภาษากรีก di·a·ko·neʹo (ดิอาโคเนโอ) อาจหมายถึงการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ด้านร่างกายโดยจัดหาอาหาร ทำอาหาร หรือยกอาหารมาให้และอื่น ๆ มีการใช้คำนี้ในความหมายคล้ายกันที่ ลก 10:40 (“ยุ่งอยู่กับงานหลายอย่าง”) ลก 12:37 (“คอยรับใช้”) และกจ 6:2 (“แจกอาหาร”) และคำนี้ยังหมายถึงการรับใช้คนอื่นในแบบต่าง ๆ ที่คล้ายกันนี้ด้วย ลก 8:2 และ 3 พูดถึงพวกผู้หญิงที่สนับสนุนพระเยซูและอัครสาวกด้วยวิธีคล้ายกันนี้เพื่อช่วยพวกเขาให้ทำงานที่พระเจ้ามอบหมายได้สำเร็จ นี่เป็นวิธีที่ผู้หญิงเหล่านั้นได้สรรเสริญพระเจ้า พระองค์เห็นคุณค่าสิ่งที่พวกเธอทำโดยให้บันทึกเรื่องราวที่พวกเธอแสดงความเอื้อเฟื้ออย่างใจกว้างไว้ในคัมภีร์ไบเบิลเพื่อคนรุ่นหลังจะอ่านได้ (สภษ 19:17; ฮบ 6:10) คำภาษากรีกคำนี้ยังใช้เพื่อพูดถึงผู้หญิงใน มธ 27:55; มก 15:41 ด้วย
วันที่ 16-22 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ลูกา 10-11
“ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องคนสะมาเรียที่รักคนอื่น”
nwtsty-E สื่อสำหรับศึกษา
ถนนจากเยรูซาเล็มไปเยรีโค ถนน (1) ในวีดีโอสั้นนี้น่าจะเหมือนถนนในสมัยโบราณที่เชื่อมระหว่างกรุงเยรูซาเล็มถึงเมืองเยรีโค ถนนที่ว่านี้ยาวกว่า 20 กม. สูงชัน และมีทางลาดเอียงที่คดเคี้ยว 1 กม. ในพื้นที่ห่างไกลและเปลี่ยวแบบนี้มีโจรชุกชุมจนต้องมีกองทหารรักษาการณ์คอยปกป้องนักเดินทางเป็นระยะ ๆ เมืองเยรีโคของโรมัน (2) ตั้งอยู่บนถนนที่เชื่อมต่อจากที่กันดารยูเดีย ส่วนเมืองเยรีโคโบราณ (3) อยู่ห่างจากเมืองเยรีโคของโรมันเกือบ 2 กม.
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 10:33, 34
คนสะมาเรียคนหนึ่ง โดยทั่วไปคนยิวดูถูกคนสะมาเรียและไม่คบหาเกี่ยวข้องกับพวกเขา (ยน 4:9) คนยิวบางคนใช้คำว่า “คนสะมาเรีย” เพื่อสบประมาทและด่าว่าคนอื่น (ยน 8:48) ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือมิชนาห์ รับบีคนหนึ่งพูดว่า “คนที่กินขนมปังของคนสะมาเรียก็เหมือนคนที่กินเนื้อหมู” (เชบิธ 8:10) คนยิวหลายคนไม่เชื่อคำให้การของคนสะมาเรียและไม่ยอมรับการให้บริการใด ๆ จากคนสะมาเรีย พระเยซูรู้ว่าคนยิวโดยทั่วไปเกลียดคนสะมาเรียมาก ท่านจึงทำให้เห็นจุดสำคัญในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นเรื่องคนสะมาเรียที่รักคนอื่น
เทน้ำมันกับเหล้าองุ่นใส่แผลและพันผ้าไว้ ในที่นี้หมอลูกาบันทึกตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูอย่างละเอียดโดยอธิบายวิธีทำแผลที่สอดคล้องกับสิ่งผู้คนทำกันในสมัยนั้น คือใช้น้ำมันและเหล้าองุ่นเพื่อเป็นยาสามัญประจำบ้านในการรักษาแผล บางครั้งมีการใช้น้ำมันเพื่อทำให้แผลอ่อนนุ่ม (เทียบกับ อสย 1:6) และเหล้าองุ่นมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าเชื้ออ่อน ๆ ลูกายังบอกด้วยว่ามีการพันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้แผลแย่ไปกว่านี้
โรงแรม คำภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “สถานที่ที่รับทุกคนเข้ามา” นักเดินทางและสัตว์ของพวกเขาจะพักได้ตามโรงแรมแบบนี้ เจ้าของโรงแรมจะให้สิ่งจำเป็นพื้นฐานกับนักเดินทาง และเขาจะคิดเงินเพิ่มถ้านักเดินทางต้องการฝากบางสิ่งให้เขาดูแล
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 10:18
ผมเห็นซาตานตกจากฟ้าแล้วเหมือนฟ้าแลบ พระเยซูพูดเป็นความหมายเชิงพยากรณ์ว่าเห็นซาตานตกจากฟ้า และท่านพูดเหมือนกับว่าเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว ที่ วว 12:7-9 พูดถึงการสู้รบที่เกิดขึ้นในสวรรค์และเชื่อมโยงการที่ซาตานตกลงมากับการก่อตั้งรัฐบาลเมสสิยาห์ ใน ลก 10:18 พระเยซูเน้นว่าซาตานและปีศาจพรรคพวกของมันจะต้องแพ้อย่างแน่นอนในการสู้รบครั้งนั้นซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะพระเจ้าได้ให้อำนาจสาวก 70 คนที่เป็นแค่คนไม่สมบูรณ์แบบให้ขับไล่ปีศาจได้—ลก 10:17
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 11:5-9
เพื่อน ขอยืมขนมปังสัก 3 อันสิ ผู้คนในวัฒนธรรมตะวันออกกลางถือว่าน้ำใจต้อนรับเป็นหน้าที่ของพวกเขา ซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างเปรียบนี้ แม้ว่าแขกจะมาถึงตอนเที่ยงคืนซึ่งเป็นเวลาที่ไม่คาดคิด เจ้าของบ้านก็ยังรู้สึกว่าเขาต้องหาอะไรบางอย่างให้คนนั้นกิน เขารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะรบกวนเพื่อนบ้านแม้จะดึกดื่นเพื่อยืมอาหาร รายละเอียดของเรื่องนี้อาจแสดงถึงความไม่แน่นอนของการเดินทางในสมัยนั้น
อย่ามารบกวนผมเลย ที่เพื่อนบ้านในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ไม่พร้อมจะช่วยไม่ใช่เพราะไม่อยากช่วย แต่เพราะเขาเข้านอนแล้ว และบ้านในสมัยนั้นโดยเฉพาะบ้านของคนจนมักจะเป็นห้องใหญ่ห้องเดียว ถ้าหัวหน้าครอบครัวลุกขึ้นมาเปิดประตู เขาก็อาจทำให้ทั้งครอบครัว รวมทั้งลูก ๆ ที่นอนหลับอยู่ตื่นด้วย
รบเร้าไม่เลิก คำภาษากรีกที่ใช้ในข้อนี้อาจแปลตรงตัวได้ว่า “ไม่เจียมตัว” หรือ “ไม่อาย” อย่างไรก็ตาม คำนี้ตามท้องเรื่องทำให้คิดถึงการรบเร้า หรือคะยั้นคะยอ ผู้ชายในตัวอย่างเปรียบเทียบของพระเยซูไม่รู้สึกอายที่จะขอไม่เลิกเพื่อจะได้สิ่งที่เขาต้องการ และพระเยซูบอกสาวกของท่านว่าพวกเขาควรอธิษฐานต่อไปไม่เลิกเช่นกัน—ลก 11:9, 10
วันที่ 23-29 กรกฎาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ลูกา 12-13
“คุณมีค่ามากกว่านกกระจอกหลายตัวรวมกันด้วยซ้ำ”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 12:6
นกกระจอก คำภาษากรีก strou·thiʹon (สเตราติออน ) อยู่ในรูปคำที่บ่งบอกว่าเล็ก ซึ่งแปลว่านกตัวเล็ก ๆ คำนี้บ่อยครั้งใช้เพื่อหมายถึงนกกระจอก ซึ่งเป็นนกที่มีราคาถูกที่สุดที่ขายในตลาดเพื่อเป็นอาหาร
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 12:7
แม้แต่ผมบนหัวของคุณ พระองค์ก็นับไว้แล้วทุกเส้น โดยเฉลี่ยแล้วบนหัวของมนุษย์มีเส้นผมมากกว่า 1 แสนเส้น การที่พระยะโฮวารู้แม้แต่รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นการรับประกันว่าพระองค์สนใจสาวกของพระคริสต์แต่ละคนจริง ๆ
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 13:24
คุณต้องพยายามสุดความสามารถ หรือ “ดิ้นรนต่อสู้ไม่หยุด” คำแนะนำของพระเยซูเน้นความจำเป็นที่ต้องทำสุดกำลังเพื่อจะผ่านประตูแคบนั้นให้ได้ ตามท้องเรื่องนี้แหล่งอ้างอิงหลายแหล่งแปลคำนี้ว่า “พยายามสุดกำลัง หรือพยายามทำทุกวิถีทาง” คำกริยาภาษากรีก a·go·niʹzo·mai (อะโกนิโซเม) เชื่อมโยงกับคำนามภาษากรีก a·gonʹ (อะกอน ) ซึ่งบ่อยครั้งใช้เพื่อพูดถึงการแข่งขันกีฬา ที่ ฮบ 12:1 คำนามคำนี้ถูกใช้เป็นภาพเปรียบเทียบถึงการ “วิ่งแข่ง” ของคริสเตียนเพื่อจะได้ชีวิต คำนี้ยังถูกใช้ในความหมายโดยทั่วไปว่า “ต่อสู้” ด้วย (ฟป 1:30; คส 2:1; 1ทธ 6:12; 2ทธ 4:7) รูปคำกริยาภาษากรีกใน ลก 13:24 มีการแปลในข้อต่าง ๆ ว่า (1) แข่ง “กีฬา” (1คร 9:25) (2) “ทุ่มเททำงานหนัก” (คส 1:29; 1ทธ 4:10) และ (3) “ต่อสู้” (1ทธ 6:12) เนื่องจากความหมายพื้นฐานของคำเหล่านี้เชื่อมโยงกับการแข่งขันกีฬา บางคนจึงบอกว่าพระเยซูสนับสนุนให้เราพยายามอย่างหนักเหมือนนักกีฬาที่ทุ่มเทเต็มที่เพื่อจะได้รางวัล เหมือนกับว่าเขารีดเค้นพลังออกมาจากกล้ามเนื้อทุกมัด
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 13:33
ไม่โดนฆ่าตายที่อื่น ไม่มีข้อไหนในคัมภีร์ไบเบิลที่บอกตรง ๆ ว่าเมสสิยาห์จะตายที่กรุงเยรูซาเล็ม แต่แนวคิดนี้อาจมาจาก ดนล 9:24-26 นอกจากนั้น ถ้าชาวยิวจะฆ่าผู้พยากรณ์โดยเฉพาะเมสสิยาห์ ก็น่าจะฆ่าในเมืองนี้ และถ้ามีใครถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พยากรณ์เท็จ เขาจะถูกตัดสินที่กรุงเยรูซาเล็มโดยสมาชิก 71 คนของศาลแซนเฮดรินซึ่งเป็นศาลสูงของชาวยิว และพระเยซูอาจนึกถึงกรุงเยรูซาเล็มว่าเป็นเมืองที่มีการถวายเครื่องบูชาให้พระเจ้าเป็นประจำและแกะปัสกาก็จะถูกฆ่าที่นี่ด้วย และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามคำพูดของพระเยซู ท่านถูกตัดสินลงโทษต่อหน้าศาลแซนเฮดรินในกรุงเยรูซาเล็ม และที่หลังกำแพงกรุงเยรูซาเล็มนี้เองที่ท่านตายในฐานะ “ลูกแกะปัสกา”—1คร 5:7
วันที่ 30 กรกฎาคม–5 สิงหาคม
ความรู้ที่มีค่าจากพระคัมภีร์ | ลูกา 14-16
“ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องลูกที่หลงหาย”
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 15:11-16
ผู้ชายคนหนึ่งมีลูกชาย 2 คน ตัวอย่างเปรียบเทียบเรื่องลูกที่หลงหายมีบางอย่างที่ไม่เหมือนกับเรื่องอื่น ๆ เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ยาวที่สุดที่พระเยซูเล่า จุดเด่นของเรื่องนี้ก็คือพระเยซูอธิบายถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ในตัวอย่างเปรียบเทียบอื่น ๆ พระเยซูมักจะใช้สิ่งไม่มีชีวิต เช่น เมล็ดพืชและดินชนิดต่าง ๆ หรือความสัมพันธ์ที่เป็นทางการระหว่างนายกับทาส (มธ 13:18-30; 25:14-30; ลก 19:12-27) แต่เรื่องนี้ พระเยซูเน้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างพ่อกับลูกชาย หลายคนที่ฟังอยู่อาจไม่มีพ่อที่มีความรักเมตตาและอบอุ่นอย่างนั้น ตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ทำให้เห็นว่าพระเจ้าผู้เป็นพ่อในสวรรค์รักและเมตตาสงสารลูก ๆ ของพระองค์ที่อยู่บนโลกไม่ว่าจะเป็นคนที่รับใช้พระองค์อยู่ในตอนนี้และคนหลงผิดที่กลับมา
ลูกคนเล็ก ตามกฎหมายของโมเสส ลูกชายคนโตจะได้รับมรดก 2 เท่า (ฉธบ 21:17) ถ้าคนที่เป็นพี่ในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้เป็นลูกชายคนโต นี่หมายความว่ามรดกที่ลูกชายคนเล็กได้รับจะเป็นครึ่งหนึ่งของพี่ชาย
ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย คำภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “กระจัดกระจาย (ไปคนละทิศละทาง)” (ลก 1:51; กจ 5:37) ในข้อนี้ใช้ในความหมายว่าใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลืองและไม่ฉลาด
ใช้ชีวิตอย่างเสเพล คำภาษากรีกที่ใช้ในข้อนี้มีความหมายคล้ายกันกับคำที่ใช้ใน อฟ 5:18; ทต 1:6; 1ปต 4:4 เนื่องจากความหมายของคำภาษากรีกอาจรวมถึงแนวคิดในการใช้ชีวิตแบบคนฟุ่มเฟือยหรือสิ้นเปลือง คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับจึงแปลคำนี้ว่า “ใช้ชีวิตสุรุ่ยสุร่าย”
รับจ้างเลี้ยงหมู ตามกฎหมายของโมเสสหมูเป็นสัตว์ที่ไม่สะอาด ดังนั้น นี่จึงเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยและน่ารังเกียจสำหรับคนยิว—ลนต 11:7, 8
ฝักถั่ว ผลหรือฝักของต้นคารอบมีเปลือกลักษณะคล้ายหนังที่ขึ้นเงา เป็นสีน้ำตาลอมม่วง และมีลักษณะตรงกับความหมายของชื่อในภาษากรีก [ke·raʹti·on (เคราทิออน ) “เขาเล็ก ๆ”] ซึ่งก็คือ ลักษณะโค้งเหมือนเขาสัตว์ ผู้คนทั่วไปใช้ฝักของต้นคารอบเป็นอาหารของม้า วัว และหมูมาจนถึงทุกวันนี้ มีการเน้นความตกต่ำของชีวิตชายหนุ่มคนนี้โดยบอกว่าเขาเต็มใจกินอาหารหมู—ดูข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 15:15
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 15:17-24
ต่อพ่อด้วย หรือ “ในสายตาของพ่อ” คำว่า e·noʹpi·on (เอโนพิออน ) เป็นคำบุพบทในภาษากรีกแปลตรงตัวว่า “ต่อหน้า หรือในสายตาของ”
ลูกจ้าง เมื่อลูกชายคนเล็กกลับบ้าน เขาตั้งใจจะขอพ่อให้รับเขาในฐานะลูกจ้างไม่ใช่ลูกชาย ปกติลูกจ้างต้องพักอยู่ข้างนอกไม่เหมือนกับทาสที่ได้พักอยู่ในเขตของนายจ้าง และบ่อยครั้งลูกจ้างจะถูกเรียกให้มาทำงานเป็นวัน ๆ ไป—มธ 20:1, 2, 8
จูบเขา คำภาษากรีกที่ใช้ในข้อนี้มาจากคำกริยา phi·leʹo (ฟิเลโอ) บางครั้งแปลว่า “จูบ” (มธ 26:48; มก 14:44; ลก 22:47) และหลายครั้งมักแปลว่า “รัก” (ยน 5:20; 11:3; 16:27) แต่ในข้อนี้ใช้ในความหมายที่เน้นถึงความรู้สึกที่มากล้นด้วย นี่จึงทำให้คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำนี้ว่า “จูบอย่างอ่อนโยน” หรือ “จูบเขาด้วยความรัก” การที่พ่อในตัวอย่างเปรียบเทียบนี้ต้อนรับลูกชายอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง แสดงให้เห็นว่าเขาเต็มใจต้อนรับลูกชายที่กลับใจแล้วคืนมา
เป็นลูกของพ่อ สำเนาคัมภีร์ไบเบิลบางฉบับเพิ่มประโยคที่ว่า “ขอให้ผมเป็นลูกจ้างคนหนึ่งของพ่อเถอะครับ” ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเหตุผลที่เพิ่มคำเหล่านี้เข้าไปก็เพื่อให้สอดคล้องกับ ลก 15:19 แต่สำเนาต้นฉบับที่เชื่อถือได้หลายฉบับสนับสนุนให้ตัดข้อความนี้ออก ดังนั้น คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ฉบับปรับปรุงปี 2013 จึงไม่มีประโยคนี้ใน ลก 15:21
เสื้อคลุม . . . แหวน . . . รองเท้า เสื้อคลุมนี้ไม่ใช่แค่เสื้อคลุมธรรมดาทั่ว ๆ ไปแต่เป็นตัวที่ดีที่สุด อาจมีการตัดเย็บอย่างประณีตเพื่อมอบให้กับแขกที่เรานับถือ นอกจากนั้น การที่พ่อสวมแหวนที่นิ้วให้ลูกชายแสดงให้เห็นว่าพ่อรัก ยอมรับ รวมทั้งให้เกียรติเขา การทำอย่างนี้แสดงว่าพ่อรับเขากลับมาในฐานะลูกชายอีกครั้งเพราะปกติแล้วทาสจะไม่ได้สวมแหวนและรองเท้า ดังนั้น ที่พ่อทำอย่างนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเขาต้อนรับลูกชายกลับมาเป็นสมาชิกที่มีค่าของครอบครัว
ขุดค้นหาความรู้ที่มีค่าของพระเจ้า
nwtsty-E ข้อมูลสำหรับศึกษา ลก 14:26, เชิงอรรถ
เกลียด ความหมายของคำว่า “เกลียด” ในคัมภีร์ไบเบิลมีหลายระดับ คำนี้อาจหมายถึงความรู้สึกเกลียดชังที่เกิดจากความคิดมุ่งร้ายซึ่งกระตุ้นให้ทำร้ายคนอื่น หรืออาจหมายถึงความรู้สึกไม่ชอบมาก ๆ หรือรังเกียจบางคนหรือบางสิ่งจนทำให้ไม่อยากเกี่ยวข้องกับคนนั้นหรือสิ่งนั้น หรือคำนี้อาจแปลได้ว่ารักน้อยกว่า เช่น เมื่อมีการกล่าวว่ายาโคบ “เกลียด” เลอาห์ และรักราเชล หมายความว่าเขารักเลอาห์น้อยกว่าราเชล (ปฐก 29:31, เชิงอรรถ; ฉธบ 21:15) และในงานเขียนโบราณอื่น ๆ ของชาวยิวก็ใช้คำนี้ในความหมายว่า “รักน้อยกว่า” เช่นกัน ดังนั้น พระเยซูไม่ได้หมายความว่าสาวกของท่านต้องเกลียดชังหรือรังเกียจกัน และเกลียดชังหรือรังเกียจครอบครัวของตัวเอง เพราะนั่นคงจะไม่สอดคล้องกับส่วนอื่น ๆ ของพระคัมภีร์ (เทียบกับ มก 12:29-31; อฟ 5:28, 29, 33) ในท้องเรื่องนี้ คำว่า “เกลียด” จึงอาจแปลได้ว่า “รักน้อยกว่า”