พระคำของพระยะโฮวามีชีวิต
จุดเด่นจากพระธรรมลูกา
เป็นที่ยอมรับกันว่ากิตติคุณของมัดธายเขียนขึ้นในเบื้องต้นเพื่อผู้อ่านชาวยิว และกิตติคุณของมาระโกเขียนเพื่อคนที่ไม่ใช่ชาวยิว. แต่กิตติคุณของลูกาเขียนเพื่อคนทุกเชื้อชาติ. หนังสือลูกาซึ่งเขียนประมาณสากลศักราช 56-58 เป็นบันทึกที่รวบรวมเรื่องราวชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูไว้อย่างครบถ้วน.
เนื่องจากเป็นแพทย์ซึ่งมีความห่วงใยและรอบคอบแม่นยำ ลูกาสืบเสาะ “ทุกเรื่องตั้งแต่ต้นอย่างถูกต้องแม่นยำ” และบันทึกของท่านครอบคลุมช่วงเวลา 35 ปี—ตั้งแต่ปี 3 ก่อนสากลศักราชจนถึงสากลศักราช 33. (ลูกา 1:3) เกือบร้อยละ 60 ของเนื้อหาในกิตติคุณของลูกาไม่มีในกิตติคุณเล่มอื่น.
งานรับใช้ช่วงต้น
หลังจากให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเกิดของโยฮันผู้ให้บัพติสมาและการประสูติของพระเยซู ลูกาบอกเราว่าโยฮันได้เริ่มทำงานรับใช้ในปีที่ 15 แห่งรัชกาลซีซาร์ทิเบริอุส ซึ่งก็คือในฤดูใบไม้ผลิสากลศักราช 29. (ลูกา 3:1, 2) โยฮันให้บัพติสมาแก่พระเยซูในฤดูใบไม้ร่วงปีนั้น. (ลูกา 3:21, 22) เมื่อถึงสากลศักราช 30 ‘พระเยซูจึงกลับมายังแคว้นแกลิลีและเริ่มสอนในธรรมศาลา.’—ลูกา 4:14, 15.
พระเยซูทรงเริ่มต้นงานประกาศในแคว้นแกลิลีรอบแรก. พระองค์ทรงบอกฝูงชนว่า “เราต้องประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าแก่เมืองอื่น ๆ ด้วย.” (ลูกา 4:43) พระองค์ทรงพาซีโมนซึ่งเป็นชาวประมงและคนอื่น ๆ ไปด้วยกันกับพระองค์. พระองค์ตรัสว่า “ตั้งแต่นี้ไปเจ้าจะจับคน.” (ลูกา 5:1-11; มัด. 4:18, 19) อัครสาวก 12 คนอยู่กับพระเยซูในช่วงที่พระองค์ประกาศในแคว้นแกลิลีรอบที่สอง. (ลูกา 8:1) ในการประกาศรอบที่สาม พระองค์ทรงส่งอัครสาวก 12 คนออกไป “ประกาศราชอาณาจักรของพระเจ้าและรักษาโรค.”—ลูกา 9:1, 2.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
1:35—เซลล์ไข่ของมาเรียถูกใช้ในการให้กำเนิดพระเยซูไหม? เพื่อพระกุมารที่เกิดจากมาเรียจะเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษของเธออย่างแท้จริง คืออับราฮาม, ยูดาห์, และดาวิด ตามที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้ เซลล์ไข่ของเธอต้องถูกใช้เพื่อให้กำเนิดพระกุมาร. (เย. 22:15, 18; 49:10; 2 ซามู. 7:8, 16) อย่างไรก็ตาม พระยะโฮวาทรงใช้พระวิญญาณบริสุทธิ์ของพระองค์ในการถ่ายทอดชีวิตสมบูรณ์ของพระบุตรและก่อให้เกิดการปฏิสนธิ. (มัด. 1:18) ดูเหมือนว่าขั้นตอนดังกล่าวช่วยแก้ไขความไม่สมบูรณ์ใด ๆ ที่มีอยู่ในเซลล์ไข่ของมาเรียและช่วยปกป้องตัวอ่อนที่กำลังพัฒนาไม่ให้ประสบกับสิ่งใด ๆ ที่ก่อความเสียหายตั้งแต่แรก.
1:62—เซคาระยาห์กลายเป็นใบ้และหูหนวกด้วยไหม? ไม่. เฉพาะการพูดของเขาเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ. คนอื่น ๆ “ทำท่าทาง” ถามเขาว่าต้องการตั้งชื่อทารกว่าอะไร แต่ไม่ใช่เพราะเซคาระยาห์หูหนวก. เขาคงต้องได้ยินว่าภรรยาพูดอะไรในเรื่องการตั้งชื่อบุตรชาย. คนอื่น ๆ อาจสอบถามเซคาระยาห์ในเรื่องนี้โดยทำท่าทางหรือชี้มือชี้ไม้ถาม. ข้อเท็จจริงที่ว่าเฉพาะการพูดของเขาเท่านั้นที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูแสดงว่าเซคาระยาห์ไม่ได้สูญเสียความสามารถในการได้ยิน.—ลูกา 1:13, 18-20, 60-64.
2:1, 2—การกล่าวอ้างอิงถึง “การจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งแรกนี้” ช่วยระบุเวลาที่พระเยซูประสูติอย่างไร? ช่วงที่ซีซาร์เอากุสตุสปกครอง มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวหลายครั้ง—ครั้งแรกทำเมื่อปี 2 ก่อนสากลศักราชซึ่งตรงกับที่บอกไว้ล่วงหน้าที่ดานิเอล 11:20 และครั้งที่สองทำเมื่อปีสากลศักราช 6 หรือ 7. (กิจ. 5:37) คีเรนิอุสเป็นผู้ว่าราชการแคว้นซีเรียในช่วงที่มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั้งสองครั้ง และดูเหมือนว่าเขาอยู่ในตำแหน่งนั้นสองครั้ง. การที่ลูกากล่าวอ้างอิงถึงการจดทะเบียนสำมะโนครัวครั้งแรกทำให้ระบุได้ว่าพระเยซูประสูติในปี 2 ก่อนสากลศักราช.
2:35—“ดาบยาว” จะแทงทะลุตัวมาเรียอย่างไร? คำพรรณนานี้หมายถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมาเรียเมื่อเห็นผู้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าพระเยซูเป็นพระมาซีฮาและความทุกข์โศกที่เธอจะรู้สึกเมื่อเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างเจ็บปวด.—โย. 19:25.
9:27, 28—เหตุใดลูกาจึงกล่าวว่าการเปลี่ยนพระกายเกิดขึ้น “แปดวัน” หลังจากพระเยซูทรงสัญญากับเหล่าสาวกว่าพวกเขาบางคนจะ “ไม่ตาย” จนกว่าพวกเขาจะเห็นพระเยซูเสด็จมาในราชอาณาจักรของพระองค์ ขณะที่ทั้งมัดธายและมาระโกรายงานว่าเกิดขึ้นในอีก “หกวันต่อมา”? (มัด. 17:1; มโก. 9:2) ดูเหมือนว่าลูกากล่าวรวมอีกสองวันเข้าไปด้วย คือวันที่พระเยซูทรงสัญญาและวันที่เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนพระกาย.
9:49, 50—เหตุใดพระเยซูไม่ห้ามชายคนหนึ่งไว้ไม่ให้ขับปิศาจ แม้ว่าชายคนนั้นไม่ติดตามพระองค์? พระเยซูไม่ห้ามชายคนนั้นเพราะประชาคมคริสเตียนยังไม่ถูกก่อตั้ง. ดังนั้น ชายคนนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องติดตามไปด้วยกันกับพระเยซูจริง ๆ เพื่อจะแสดงความเชื่อในพระนามพระเยซูและขับปิศาจ.—มโก. 9:38-40.
บทเรียนสำหรับเรา
1:32, 33; 2:19, 51. มาเรียจดจำเหตุการณ์และถ้อยคำที่สำเร็จเป็นจริงตามคำพยากรณ์. เราจดจำสิ่งที่พระเยซูทรงบอกไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับ “ช่วงสุดท้ายของยุค” โดยเทียบสิ่งที่พระองค์ตรัสกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในทุกวันนี้ไหม?—มัด. 24:3.
2:37. ตัวอย่างของอันนาสอนว่าเราควรนมัสการพระยะโฮวาอย่างสม่ำเสมอ “หมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ” และไม่ขาด “การประชุม” คริสเตียน.—โรม 12:12; ฮีบรู 10:24, 25.
2:41-50. โยเซฟให้ผลประโยชน์ฝ่ายวิญญาณมาเป็นอันดับแรกในชีวิตและดูแลสวัสดิภาพด้านร่างกายและวิญญาณของครอบครัว. โยเซฟวางตัวอย่างที่ดีไว้ในเรื่องนี้ให้ประมุขครอบครัวทั้งหลายเลียนแบบ.
4:4. เราไม่ควรปล่อยให้แต่ละวันผ่านไปโดยไม่ได้ใคร่ครวญเรื่องฝ่ายวิญญาณ.
6:40. คนที่เป็นครูสอนพระคำของพระเจ้าต้องวางตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษา. เขาต้องทำสิ่งที่เขาสอนให้คนอื่นทำ.
8:15. เพื่อจะ “จดจำ [พระคำ] ไว้และเกิดผลด้วยความเพียรอดทน” เราต้องเข้าใจ, เห็นค่า, และซึมซับพระคำของพระเจ้า. เมื่ออ่านคัมภีร์ไบเบิลและหนังสือที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก เราต้องคิดรำพึงพร้อมด้วยการอธิษฐาน.
งานรับใช้ช่วงท้ายของพระเยซู
พระเยซูทรงส่งคนอื่น ๆ 70 คนให้ล่วงหน้าพระองค์เข้าไปในเมืองและสถานที่ต่าง ๆ ในแคว้นยูเดีย. (ลูกา 10:1) ระหว่างเดินทาง พระองค์ ‘ทรงสอนขณะไปตามเมืองและตามหมู่บ้าน.’—ลูกา 13:22.
ห้าวันก่อนจะถึงปัศคาสากลศักราช 33 พระเยซูทรงประทับนั่งบนหลังลูกลาเข้ากรุงเยรูซาเลม. ถึงเวลาแล้วที่เหตุการณ์ซึ่งพระองค์ตรัสไว้กับเหล่าสาวกจะสำเร็จเป็นจริง ที่ว่า “บุตรมนุษย์ต้องทนทุกข์ทรมานหลายอย่าง แล้วจะถูกพวกผู้เฒ่าผู้แก่ พวกปุโรหิตใหญ่กับพวกอาลักษณ์ปฏิเสธ และจะถูกฆ่า แล้วในวันที่สามจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นมา.”—ลูกา 9:22, 44.
คำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับข้อคัมภีร์:
10:18—พระเยซูทรงหมายถึงอะไรเมื่อพระองค์ทรงบอกสาวก 70 คนว่า “เราเห็นซาตานตกจากฟ้าแล้วเหมือนฟ้าแลบ”? พระเยซูไม่ได้บอกว่าซาตานถูกขับจากสวรรค์แล้ว. เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งไม่นานหลังจากพระคริสต์ได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ในสวรรค์ในปี 1914. (วิ. 12:1-10) แม้ว่าเราไม่สามารถกล่าวได้อย่างแน่นอน แต่โดยการตรัสถึงเหตุการณ์ในอนาคตราวกับว่าเกิดขึ้นแล้ว ดูเหมือนพระเยซูทรงเน้นว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นแน่นอน.
14:26—สาวกของพระคริสต์ต้อง “ชัง” ญาติ ๆ ในความหมายใด? ในคัมภีร์ไบเบิล คำว่า “ชัง” มีความหมายได้ด้วยว่ารักใครคนหนึ่งหรือของสิ่งหนึ่งน้อยกว่าอีกคนหนึ่งหรืออีกสิ่งหนึ่ง. (เย. 29:30, 31) คริสเตียนต้อง “ชัง” ญาติ ๆ ในความหมายที่ว่า รักพวกเขาน้อยกว่ารักพระเยซู.—มัด. 10:37.
17:34-37—ใครคือ “นกอินทรี” และ “ซากศพ” ซึ่งเป็นที่ที่นกอินทรีมารวมตัวกันคืออะไร? คนที่ “ถูกเอาไป” หรือได้รับการช่วยให้รอดถูกเปรียบกับนกอินทรีที่มีสายตายาวไกล. “ซากศพ” ซึ่งเป็นที่ที่นกอินทรีมารวมตัวกันคือพระคริสต์แท้ขณะที่พระองค์ประทับอย่างไม่ประจักษ์แก่ตาและอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมให้พวกเขา.—มัด. 24:28.
22:44—เหตุใดพระเยซูจึงทรงทุกข์ใจอย่างยิ่ง? มีหลายเหตุผลที่ทำให้เป็นอย่างนี้. พระเยซูทรงเป็นห่วงว่าการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ในฐานะอาชญากรจะส่งผลกระทบต่อพระยะโฮวาพระเจ้าและพระนามของพระองค์. นอกจากนั้น พระเยซูทรงทราบดีว่าชีวิตนิรันดร์และอนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งสิ้นขึ้นอยู่กับการที่พระองค์รักษาความซื่อสัตย์.
23:44—สุริยุปราคาเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความมืดนานสามชั่วโมงไหม? ไม่. สุริยุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงข้างขึ้น ไม่ใช่ในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเทศกาลปัศคา. ความมืดที่เกิดขึ้นในวันที่พระเยซูสิ้นพระชนม์เป็นการอัศจรรย์จากพระเจ้า.
บทเรียนสำหรับเรา:
11:1-4. การเทียบคำแนะนำนี้กับถ้อยคำที่ต่างกันเล็กน้อยในคำอธิษฐานแบบอย่าง ซึ่งประทานให้ในคำเทศน์บนภูเขาประมาณ 18 เดือนก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเมื่ออธิษฐานเราไม่ควรเพียงแค่กล่าวซ้ำคำเดิม ๆ.—มัด. 6:9-13.
11:5, 13. แม้ว่าพระยะโฮวาทรงเต็มพระทัยตอบคำอธิษฐานของเรา แต่เราควรหมั่นอธิษฐานอยู่เสมอ.— 1 โย. 5:14.
11:27, 28. ความสุขที่แท้จริงเกิดจากการทำตามพระทัยประสงค์ของพระเจ้าอย่างซื่อสัตย์ ไม่ใช่จากสายสัมพันธ์ในครอบครัวหรือการประสบความสำเร็จด้านวัตถุ.
11:41. การที่เราแสดงความเมตตาด้วยการให้ควรเกิดจากหัวใจที่เปี่ยมด้วยความรักและให้อย่างเต็มใจ.
12:47, 48. คนที่ได้รับหน้าที่รับผิดชอบมากแต่ละเลยการทำหน้าที่รับผิดชอบนั้นมีความผิดมากยิ่งกว่าคนที่ไม่รู้หรือไม่เข้าใจหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่.
14:28, 29. นับว่าฉลาดที่เราจะดำเนินชีวิตให้เหมาะกับรายได้ของเราเอง.
22:36-38. พระเยซูไม่ได้บอกให้เหล่าสาวกพกอาวุธเพื่อใช้ป้องกันตัวเอง. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การที่พวกเขามีดาบอยู่ในมือในคืนที่พระเยซูทรงถูกทรยศทำให้พระเยซูสามารถสอนบทเรียนสำคัญแก่พวกเขาว่า “ทุกคนที่ใช้ดาบจะพินาศด้วยดาบ.”—มัด. 26:52.
[ภาพหน้า 31]
โยเซฟวางตัวอย่างที่ดีในการเป็นประมุขครอบครัว
[ภาพหน้า 32]
ลูกาบันทึกเรื่องราวชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซูไว้อย่างครบถ้วนที่สุด