จงเพิ่มพูนความหยั่งรู้ค่าของคุณต่อ ๆ ไป
“ความคิดของพระองค์ช่างประเสริฐสักเพียงไรสำหรับข้าพเจ้า! ข้าแต่พระเจ้า ยอดรวมของ ความคิดเหล่านั้นก็มากสักเท่าไร!”—บทเพลงสรรเสริญ 139:17, ล.ม.
1, 2. เหตุใดเราควรหยั่งรู้ค่าพระคำของพระเจ้า และผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแสดงออกซึ่งความหยั่งรู้ค่าอย่างไร?
นับเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นทีเดียว. ขณะที่ซ่อมแซมพระวิหารของพระยะโฮวาในกรุงเยรูซาเลมกันอยู่ มหาปุโรหิตฮิลคียาห์ได้พบ “หนังสือพระบัญญัติของพระยะโฮวาที่โมเซเขียน” ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าคงเป็นต้นฉบับซึ่งเขียนเสร็จก่อนหน้านั้นประมาณ 800 ปี! คุณนึกภาพออกไหมว่ากษัตริย์โยซียาที่เกรงกลัวพระเจ้าคงต้องรู้สึกอย่างไรเมื่อได้มีการนำหนังสือนั้นมาถวายท่าน? ที่จริง ท่านถือว่าพระบัญญัตินี้มีค่าสูงยิ่ง และมีรับสั่งทันทีให้ซาฟาน ราชเลขา อ่านออกเสียงดัง ๆ.—2 โครนิกา 34:14-18, ล.ม.
2 ปัจจุบัน หลายพันล้านคนสามารถหาพระคำของพระเจ้าอ่านได้ ทั้งฉบับครบชุดและบางส่วน. แต่นั่นทำให้พระคัมภีร์มีคุณค่าน้อยลงหรือสำคัญน้อยลงไหม? ไม่เลย! ที่จริง พระคัมภีร์มีความคิดขององค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ของเรา. (2 ติโมเธียว 3:16) ดาวิดผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญเขียนแสดงถึงความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระคำของพระเจ้าดังนี้: “ความคิดของพระองค์ช่างประเสริฐสักเพียงไรสำหรับข้าพเจ้า! ข้าแต่พระเจ้า ยอดรวมของความคิดเหล่านั้นก็มากสักเท่าไร!”—บทเพลงสรรเสริญ 139:17, ล.ม.
3. อะไรแสดงว่าดาวิดเป็นคนที่ลึกซึ้งฝ่ายวิญญาณ?
3 ความหยั่งรู้ค่าของดาวิดต่อพระยะโฮวา, พระคำของพระองค์, และการจัดเตรียมของพระองค์สำหรับการนมัสการแท้ไม่เคยจืดจางลงไปเลย. เพลงสรรเสริญอันไพเราะหลาย ๆ บทที่ดาวิดประพันธ์นั้นแสดงให้เห็นว่าท่านรู้สึกอย่างไร. ตัวอย่างเช่น ที่บทเพลงสรรเสริญ 27:4 ท่านเขียนดังนี้: “สิ่งเดียวซึ่งข้าพเจ้าได้ขอจากพระยะโฮวา, แล้วข้าพเจ้าจะเสาะหา; สิ่งนั้นคือที่จะได้อาศัยอยู่ในพระวิหารของพระองค์ตลอดชั่วชีวิตของข้าพเจ้า, เพื่อจะได้เห็นความสง่างามของพระยะโฮวา, และจะได้พินิจพิจารณาพระวิหารของพระองค์.” ในต้นฉบับภาษาฮีบรู วลี “พินิจพิจารณา” หมายถึงใคร่ครวญอยู่เนิ่นนาน, พิจารณาอย่างละเอียด, ดูด้วยความเพลิดเพลิน ยินดี ชื่นชม. เห็นได้ชัดว่า ดาวิดเป็นคนที่ลึกซึ้งฝ่ายวิญญาณซึ่งหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระยะโฮวา และมีความสุขกับความจริงฝ่ายวิญญาณทุกอย่างที่พระเจ้าทรงเปิดเผย. ตัวอย่างของท่านในเรื่องความหยั่งรู้ค่าเป็นสิ่งที่เราควรเอาอย่าง.—บทเพลงสรรเสริญ 19:7-11.
จงหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษในการรู้จักความจริงในคัมภีร์ไบเบิล
4. อะไรทำให้พระเยซู “ทรงมีความสุขเกษมในพระวิญญาณบริสุทธิ์”?
4 การได้ความเข้าใจลึกซึ้งในพระคำของพระเจ้าไม่ขึ้นอยู่กับพลังทางปัญญาหรือการศึกษาฝ่ายโลก ซึ่งมักส่งเสริมให้หยิ่งยโส. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น การได้ความเข้าใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับพระกรุณาคุณอันไม่พึงได้รับของพระยะโฮวา ซึ่งพระองค์ประทานแก่ผู้คนที่ถ่อมใจและมีใจสุจริตที่สำนึกถึงความจำเป็นฝ่ายวิญญาณของตน. (มัดธาย 5:3, ล.ม.; 1 โยฮัน 5:20) เมื่อพระเยซูทรงใคร่ครวญข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ไม่สมบูรณ์บางคนได้รับการจารึกชื่อไว้ในสวรรค์ “[พระองค์] ทรงมีความสุขเกษมในพระวิญญาณบริสุทธิ์จึงตรัสว่า, ‘โอพระบิดาเจ้าข้า. พระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าสวรรค์และแผ่นดินโลก. ข้าพเจ้าโมทนาพระคุณของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงบังซ่อนสิ่งทั้งปวงนั้นจากผู้มีปัญญาและนักปราชญ์ และได้สำแดงให้ทารกแจ้ง.’ ”—ลูกา 10:17-21.
5. เหตุใดเหล่าสาวกของพระเยซูต้องไม่มองข้ามความสำคัญของความจริงเรื่องราชอาณาจักรที่ได้เปิดเผยแก่พวกเขา?
5 หลังจากกล่าวคำอธิษฐานด้วยความรู้สึกจากหัวใจเช่นนั้นแล้ว พระเยซูทรงหันไปยังเหล่าสาวกและตรัสว่า “ตาทั้งหลายที่ได้เห็นการณ์ซึ่งพวกท่านได้เห็นก็เป็นสุข. เพราะเราบอกท่านทั้งหลายว่า, ศาสดาพยากรณ์หลายคนและกษัตริย์หลายองค์ได้ปรารถนาใคร่เห็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้เห็น แต่เขามิได้เห็น และได้ปรารถนาใคร่ได้ยินสิ่งที่ท่านทั้งหลายได้ยิน, แต่เขามิได้ยิน.” ใช่ พระเยซูทรงสนับสนุนเหล่าสาวกผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ไม่ให้มองข้ามความสำคัญของความจริงเรื่องราชอาณาจักรที่ล้ำค่าซึ่งได้เปิดเผยแก่พวกเขา. ความจริงเหล่านี้ไม่ได้เปิดเผยแก่ผู้รับใช้พระเจ้าในสมัยก่อนหน้านั้น และแน่นอนว่าไม่ได้เปิดเผยแก่ “ผู้มีปัญญาและนักปราชญ์” ในสมัยของพระเยซู!—ลูกา 10:23, 24.
6, 7. (ก) เรามีเหตุผลอะไรที่จะหยั่งรู้ค่าความจริงของพระเจ้า? (ข) มีความแตกต่างเช่นไรที่เห็นได้ในทุกวันนี้ระหว่างศาสนาแท้กับศาสนาเท็จ?
6 ในสมัยของเรา เรามีเหตุผลมากยิ่งกว่านั้นอีกที่จะหยั่งรู้ค่าความจริงของพระเจ้า เพราะโดยทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม” พระยะโฮวาได้ประทานความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่านั้นในพระคำของพระองค์แก่ประชาชนของพระองค์. (มัดธาย 24:45, ล.ม.; ดานิเอล 12:10) ผู้พยากรณ์ดานิเอลเขียนเกี่ยวกับเวลาอวสานว่า “หลายคนจะไป ๆ มา ๆ และความรู้แท้จะมีอุดมบริบูรณ์.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) คุณเห็นด้วยมิใช่หรือว่าในทุกวันนี้ความรู้ของพระเจ้ามี “อุดมบริบูรณ์” และผู้รับใช้ของพระยะโฮวาได้รับอาหารฝ่ายวิญญาณอย่างอิ่มหนำ?
7 ช่างต่างกันสักเพียงไรเมื่อเราเทียบดูระหว่างความรุ่งเรืองฝ่ายวิญญาณในหมู่ประชาชนของพระเจ้ากับความสับสนทางศาสนาของบาบิโลนใหญ่! ผลก็คือ หลายคนที่ผิดหวังหรือขยะแขยงศาสนาเท็จกำลังหันมายังการนมัสการแท้. พวกเขาเป็นคนเยี่ยงแกะที่ไม่ต้องการ “มีส่วนในการบาปของ [บาบิโลนใหญ่]” หรือ “รับภยันตรายที่จะมีแก่พลเมืองนั้น.” พระยะโฮวาและผู้รับใช้ของพระองค์เชิญชวนคนเช่นนั้นทุกคนให้เข้ามาอยู่ในประชาคมคริสเตียนแท้.—วิวรณ์ 18:2-4; 22:17.
คนที่หยั่งรู้ค่าพากันมาหาพระเจ้า
8, 9. ถ้อยคำที่ฮาฆี 2:7 สำเร็จเป็นจริงอย่างไรในทุกวันนี้?
8 พระยะโฮวาทรงบอกล่วงหน้าเกี่ยวกับพระนิเวศฝ่ายวิญญาณแห่งการนมัสการของพระองค์ว่า “เราจะเขย่าชาติทั้งปวง และสิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวงจะต้องเข้ามา; และเราจะทำให้นิเวศนี้เต็มไปด้วยสง่าราศี.” (ฮาฆี 2:7, ล.ม.) คำพยากรณ์ที่น่าทึ่งนี้สำเร็จเป็นจริงในสมัยของฮาฆีเมื่อชนที่เหลือแห่งประชาชนของพระเจ้าที่ได้รับการช่วยให้กลับมาได้บูรณะพระวิหารในกรุงเยรูซาเลม. ปัจจุบัน ถ้อยคำของฮาฆีกำลังสำเร็จเป็นจริงมากยิ่งขึ้นไปอีกเกี่ยวข้องกับพระวิหารฝ่ายวิญญาณอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา.
9 หลายล้านคนได้พากันเข้ามายังพระวิหารโดยนัยเพื่อนมัสการพระเจ้า “ด้วยวิญญาณและความจริง” และทุกปีมีหลายแสนคนที่เป็น “สิ่งน่าปรารถนาแห่งชาติทั้งปวง” หลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ. (โยฮัน 4:23, 24, ล.ม.) ตัวอย่างเช่น ในรายงานทั่วโลกสำหรับปีการรับใช้ 2006 มี 248,327 คนได้รับบัพติสมาเป็นเครื่องหมายแสดงการอุทิศตัวแด่พระยะโฮวา. นั่นก็เท่ากับว่าโดยเฉลี่ยแล้วมีคนใหม่เข้ามา 680 คนทุก ๆ วัน! ความรักของพวกเขาต่อความจริงและความปรารถนาจะรับใช้พระยะโฮวาในฐานะผู้ประกาศราชอาณาจักรเป็นหลักฐานว่าพวกเขาได้รับการชักนำจากพระเจ้าจริง ๆ.—โยฮัน 6:44, 65.
10, 11. จงเล่าประสบการณ์ที่แสดงถึงวิธีที่ผู้คนเข้ามาหยั่งรู้ค่าความจริงในคัมภีร์ไบเบิล.
10 ผู้มีหัวใจสุจริตจำนวนมากถูกดึงดูดให้เข้ามาหาความจริงเพราะพวกเขามองเห็น “ความแตกต่างระหว่างคนชอบธรรมและคนชั่ว, ระหว่างคนปรนนิบัติพระยะโฮวาและคนไม่ปรนนิบัติพระยะโฮวา.” (มาลาคี 3:18) ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของเวย์นและเวอร์จิเนีย คู่สมรสซึ่งเป็นสมาชิกคริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งหนึ่ง แต่มีข้อสงสัยหลายข้อที่เขาไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ. ทั้งสองเกลียดสงคราม ทั้งยังสับสนและไม่สบายใจเมื่อเห็นนักเทศน์อวยชัยให้พรแก่ทหารและเจิมอาวุธสงคราม. เมื่อทั้งคู่อายุมากแล้วก็รู้สึกว่าคนอื่น ๆ ที่โบสถ์ไม่สนใจไยดีพวกเขาเลย แม้ว่าเวอร์จิเนียได้ช่วยสอนในโรงเรียนรวีวารศึกษาอยู่หลายปี. ทั้งสองกล่าวว่า “ไม่มีใครแวะมาเยี่ยมเราหรือแสดงความสนใจสวัสดิภาพฝ่ายวิญญาณของเราเลย. สิ่งเดียวที่คริสตจักรอยากได้ก็คือเงินของเรา. เรารู้สึกผิดหวังมาก.” ทั้งสองผิดหวังมากยิ่งกว่านั้นอีกเมื่อคริสตจักรของเขาแสดงจุดยืนยอมรับเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน.
11 ในระหว่างนั้น หลานสาวและลูกสาวของเวย์นและเวอร์จิเนียได้เข้ามาเป็นพยานพระยะโฮวาตามลำดับ. แม้ว่าในตอนแรกเวย์นและเวอร์จิเนียรู้สึกโกรธ แต่ต่อมาทั้งสองก็เปลี่ยนความคิดและตอบรับการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. เวย์นกล่าวว่า “เพียงแค่สามเดือนเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลมากกว่าที่เราได้เรียนในช่วงกว่า 70 ปีก่อนหน้านั้น! เราไม่เคยได้ยินว่าพระนามของพระเจ้าคือยะโฮวา และเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับราชอาณาจักรและแผ่นดินโลกที่เป็นอุทยาน.” ไม่นาน สามีภรรยาที่จริงใจคู่นี้ก็เริ่มเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนและมีส่วนร่วมในการประกาศ. เวอร์จิเนียกล่าวว่า “เราต้องการบอกทุก ๆ คนเกี่ยวกับความจริง.” ทั้งคู่รับบัพติสมาในปี 2005 เมื่ออายุได้ 80 กว่าปีทั้งสองคน. พวกเขากล่าวว่า “เราได้พบกลุ่มชนที่เป็นคริสเตียนแท้แล้ว.”
หยั่งรู้ค่าการถูก “เตรียมพร้อมสำหรับการงานที่ดีทุกอย่าง”
12. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมอะไรไว้สำหรับผู้รับใช้ของพระองค์เสมอ และเราต้องทำอะไรเพื่อจะได้ประโยชน์?
12 พระยะโฮวาทรงช่วยผู้รับใช้ของพระองค์เสมอให้ทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. ตัวอย่างเช่น โนฮาได้รับพระบัญชาที่ชัดเจนและเจาะจงเกี่ยวกับวิธีสร้างนาวา—โครงการที่ต้องทำอย่างถูกต้อง ผิดพลาดไม่ได้ ตั้งแต่ครั้งแรกเลย! และผลออกมาเป็นอย่างนั้น. เพราะเหตุใด? เพราะ “พระเจ้ารับสั่งให้โนฮาทำอย่างไร, โนฮาก็กระทำอย่างนั้นทุกสิ่งทุกประการ.” (เยเนซิศ 6:14-22) ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน พระยะโฮวาทรงเตรียมผู้รับใช้พระองค์ให้พร้อมทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์. แน่นอน งานหลักของเราคือประกาศข่าวดีเรื่องราชอาณาจักรของพระเจ้าที่ได้รับการสถาปนาแล้ว และช่วยคนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือให้เข้ามาเป็นสาวกของพระเยซูคริสต์. และดังที่เป็นจริงกับโนฮา ความสำเร็จของเราขึ้นอยู่กับการเชื่อฟัง. เราต้องเต็มใจปฏิบัติตามการชี้นำของพระยะโฮวาที่มาทางพระคำและองค์การของพระองค์.—มัดธาย 24:14; 28:19, 20.
13. พระยะโฮวาทรงจัดเตรียมการฝึกอบรมให้เราโดยทางใด?
13 เพื่อจะทำงานนั้นให้สำเร็จ เราต้องเรียนรู้ที่จะ ‘ใช้พระคำของพระเจ้าซึ่งเป็นเครื่องมือหลักของเราให้ถูกต้อง.’ พระคำของพระเจ้า “เป็นประโยชน์สำหรับการสอน, สำหรับการว่ากล่าว, สำหรับการจัดการเรื่องราวให้เรียบร้อย, สำหรับการตีสอนด้วยความชอบธรรม, เพื่อคนของพระเจ้าจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน, เตรียมพร้อมสำหรับการงานที่ดีทุกอย่าง.” (2 ติโมเธียว 2:15; 3:16, 17, ล.ม.) เช่นเดียวกับในศตวรรษแรก พระยะโฮวาประทานการฝึกอบรมอันมีค่ายิ่งแก่เราโดยทางประชาคมคริสเตียน. ปัจจุบัน ใน 99,770 ประชาคมทั่วโลก ได้มีการจัดให้มีโรงเรียนการรับใช้ตามระบอบของพระเจ้าและการประชุมการรับใช้ในแต่ละสัปดาห์เพื่อช่วยเราในงานรับใช้. คุณแสดงความหยั่งรู้ค่าต่อการประชุมที่สำคัญเหล่านี้ไหมโดยเข้าร่วมเป็นประจำและโดยใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้?—เฮ็บราย 10:24, 25.
14. ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาแสดงให้เห็นอย่างไรว่าพวกเขาหยั่งรู้ค่าสิทธิพิเศษในการรับใช้พระเจ้า? (รวมความเห็นโดยอาศัยตารางในหน้า 27-30 ด้วย.)
14 โดยทุ่มเทตัวเองในงานรับใช้ ประชาชนของพระเจ้าหลายล้านคนทั่วโลกกำลังแสดงให้เห็นความหยั่งรู้ค่าสำหรับการฝึกอบรมที่ตนได้รับ. ตัวอย่างเช่น ระหว่างปีรับใช้ 2006 ผู้ประกาศราชอาณาจักรจำนวน 6,741,444 คนได้ใช้เวลาทั้งสิ้น 1,333,966,199 ชั่วโมงในงานรับใช้ทุกลักษณะ ซึ่งก็รวมถึงการนำการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้าน 6,286,618 ราย. นี่เป็นเพียงรายละเอียดบางอย่างในรายงานการรับใช้ทั่วโลกที่ให้กำลังใจ. เราขอเชิญคุณพิจารณารายงานนี้อย่างละเอียดและได้รับกำลังใจจากรายงานนั้น เช่นเดียวกับพี่น้องในศตวรรษแรกได้รับกำลังใจมากอย่างไม่ต้องสงสัยจากรายงานเกี่ยวกับการแผ่ขยายงานประกาศในสมัยของพวกเขา.—กิจการ 1:15; 2:5-11, 41, 47; 4:4; 6:7.
15. เหตุใดไม่ควรมีใครรู้สึกท้อใจเกี่ยวกับการรับใช้อย่างสุดชีวิตที่ตนถวายแด่พระยะโฮวา?
15 เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญที่ขึ้นไปถึงพระเจ้าในแต่ละปีสะท้อนถึงความหยั่งรู้ค่าอย่างลึกซึ้งที่ผู้รับใช้พระยะโฮวามีต่อสิทธิพิเศษในการรู้จักพระยะโฮวาและเป็นพยานถึงพระองค์. (ยะซายา 43:10) จริงอยู่ เครื่องบูชาแห่งคำสรรเสริญที่พี่น้องบางคนของเราซึ่งอายุมาก, เจ็บป่วย, หรือทุพพลภาพอาจเปรียบได้กับเงินเหรียญค่าน้อยนิดที่หญิงม่ายถวาย. แต่ขอเราอย่าลืมว่าพระยะโฮวาและพระบุตรทรงหยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อทุกคนที่รับใช้พระเจ้าอย่างสุดชีวิต ขณะที่พวกเขาทำทุกสิ่งที่ตนสามารถทำได้.—ลูกา 21:1-4; ฆะลาเตีย 6:4.
16. เครื่องมือสอนอะไรที่พระเจ้าได้จัดเตรียมให้ในช่วงหลัง ๆ นี้?
16 นอกเหนือจากการฝึกอบรมเราเพื่องานรับใช้แล้ว พระยะโฮวายังทรงจัดเตรียมเครื่องมือสอนที่ยอดเยี่ยมให้เราโดยทางองค์การของพระองค์. ในไม่กี่ทศวรรษหลัง ๆ นี้ เครื่องมือสอนเหล่านี้รวมไปถึงหนังสือต่าง ๆ เช่น ความจริงซึ่งนำไปสู่ชีวิตถาวร, ท่านจะมีชีวิตอยู่ได้ตลอดไปในอุทยานบนแผ่นดินโลก, ความรู้ซึ่งนำไปสู่ชีวิตนิรันดร์ และในตอนนี้ คัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? คนที่หยั่งรู้ค่าอย่างแท้จริงต่อการจัดเตรียมเหล่านี้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากหนังสือเหล่านี้ในงานรับใช้.
จงใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากหนังสือไบเบิลสอน
17, 18. (ก) ส่วนใดของหนังสือไบเบิลสอนที่คุณชอบเน้นในงานรับใช้? (ข) ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งให้ข้อสังเกตเช่นไรเกี่ยวกับหนังสือไบเบิลสอน?
17 หนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? ซึ่งมีทั้งหมด 19 บท, มีภาคผนวกที่ละเอียดลึกซึ้ง, และใช้ภาษาที่ชัดเจนเรียบง่าย ปรากฏว่าเป็นพระพรอย่างหนึ่งในงานรับใช้. ตัวอย่างเช่น บท 12 พิจารณาเรื่อง “การดำเนินชีวิตในแนวทางที่ทำให้พระเจ้าพอพระทัย.” เนื้อหาของบทนี้อธิบายให้นักศึกษาทราบวิธีที่เขาจะเป็นมิตรกับพระเจ้าได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่เคยคิดมาก่อนด้วยซ้ำว่าเป็นไปได้. (ยาโกโบ 2:23) มีเสียงตอบรับอย่างไรสำหรับคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเล่มนี้?
18 ผู้ดูแลหมวดคนหนึ่งในออสเตรเลียรายงานว่า หนังสือไบเบิลสอนมี “ลักษณะที่ดึงดูดใจทันทีซึ่งทำให้เจ้าของบ้านเข้าร่วมในการสนทนาอย่างรวดเร็ว.” เขากล่าวเสริมอีกว่าหนังสือนี้ใช้ง่ายมากจน “ทำให้ผู้ประกาศราชอาณาจักรหลายคนกลับมามีความมั่นใจและความยินดีอีกในงานรับใช้. ไม่น่าแปลกใจเลยที่บางคนเรียกหนังสือนี้ว่า ‘หนังสือทอง’!”
19-21. จงเล่าประสบการณ์บางเรื่องที่เน้นให้เห็นชัดถึงคุณค่าของหนังสือไบเบิลสอน.
19 “พระเจ้าต้องส่งคุณมาแน่ ๆ เลย” หญิงคนหนึ่งในกายอานาพูดกับไพโอเนียร์คนหนึ่งที่หน้าประตูบ้านเธอ. ชายที่อยู่กินด้วยกันกับหญิงคนนี้ทิ้งเธอกับลูกเล็ก ๆ สองคนไปเมื่อไม่นานมานี้. ไพโอเนียร์เปิดหนังสือไบเบิลสอนไปที่บท 1 และอ่านข้อ 11 ให้เธอฟัง ในหัวข้อย่อย “พระเจ้ารู้สึกอย่างไรกับความไม่ยุติธรรมที่เราเผชิญอยู่?” ไพโอเนียร์ที่คุยกับเธอกล่าวว่า “จุดต่าง ๆ ที่ผมอ่านทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจมาก. อันที่จริง เธอต้องลุกขึ้น เข้าไปหลังร้าน แล้วก็ร้องไห้ยกใหญ่.” หญิงผู้นี้ตอบรับข้อเสนอที่จะศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำกับพี่น้องหญิงคนหนึ่งในท้องถิ่นและก้าวหน้าอย่างดีเรื่อยมา.
20 โฮเซ ซึ่งอยู่ที่ประเทศสเปน สูญเสียภรรยาไปในอุบัติเหตุรถยนต์. เขาหาวิธีคลายโศกด้วยการใช้ยาเสพติด และขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาด้วย. อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาไม่สามารถตอบคำถามที่รบกวนใจโฮเซที่สุดที่ว่า “ทำไมพระเจ้าจึงปล่อยให้ภรรยาของผมตาย?” วันหนึ่ง โฮเซพบกับฟรานเชสก์ ซึ่งทำงานในบริษัทเดียวกัน. ฟรานเชสก์เสนอที่จะพิจารณาด้วยกันในบท 11 ของหนังสือไบเบิลสอนที่ชื่อว่า “ทำไมพระเจ้าทรงยอมให้มีความทุกข์?” คำอธิบายจากพระคัมภีร์และตัวอย่างเรื่องครูกับนักเรียนทำให้โฮเซประทับใจอย่างมาก. เขาเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง, เข้าร่วมการประชุมหมวด, และตอนนี้เข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ณ หอประชุมราชอาณาจักรในท้องถิ่น.
21 โรมัน นักธุรกิจวัย 40 ปีชาวโปแลนด์ เป็นคนนับถือพระคำของพระเจ้าอยู่แล้ว. แต่เนื่องจากเขาหมกมุ่นกับงานมาก เขาจึงก้าวหน้าเพียงเล็กน้อยในการศึกษาคัมภีร์ไบเบิล. อย่างไรก็ตาม เขาได้เข้าร่วมการประชุมภาคและได้รับหนังสือไบเบิลสอน. หลังจากนั้น เขาทำความก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด. เขากล่าวว่า “ด้วยหนังสือเล่มนี้ คำสอนพื้นฐานทุกอย่างของคัมภีร์ไบเบิลดูเหมือนจะปะติดปะต่อเข้าด้วยกันเป็นภาพที่สมบูรณ์ เหมือนปริศนาภาพต่อยังไงยังงั้น.” ตอนนี้ โรมันศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเป็นประจำและกำลังทำความก้าวหน้าเป็นอย่างดี.
จงเพิ่มพูนความหยั่งรู้ค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ
22, 23. เราจะแสดงความหยั่งรู้ค่าของเราเรื่อยไปต่อความหวังที่อยู่ตรงหน้าเราได้อย่างไร?
22 ดังที่มีการอธิบาย ณ การประชุมภาคที่น่าตื่นเต้น “การช่วยให้พ้นทุกข์มาใกล้แล้ว!” คริสเตียนแท้ปรารถนาจะได้รับ “ความรอดนิรันดร์” อย่างแท้จริงที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้และที่เป็นไปได้โดยพระโลหิตที่หลั่งออกของพระเยซูคริสต์. ไม่มีทางใดดีกว่านี้ที่จะแสดงความหยั่งรู้ค่าจากหัวใจต่อความหวังอันล้ำค่านี้โดยได้รับการชำระต่อ ๆ ไป “ให้พ้นจากการกระทำที่ตายแล้ว เพื่อเราจะถวายการรับใช้อันศักดิ์สิทธิ์แด่พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่.”—เฮ็บราย 9:12, 14, ล.ม.
23 ใช่แล้ว การที่ผู้ประกาศราชอาณาจักรมากกว่าหกล้านคนอดทนอย่างซื่อสัตย์ในการรับใช้พระเจ้า ทั้ง ๆ ที่ความกดดันให้ทำเพื่อตนเองอยู่ในระดับสูงสุด นับว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์อย่างแท้จริง. เรื่องนี้ยังพิสูจน์ด้วยว่าผู้รับใช้ของพระยะโฮวาหยั่งรู้ค่าอย่างยิ่งต่อเกียรติที่ได้รับในการรับใช้พระเจ้า โดยรู้อยู่ว่า ‘โดยองค์พระผู้เป็นเจ้านั้น การของพวกเขาจะไร้ประโยชน์ก็หามิได้.’ ขอให้ความหยั่งรู้ค่าเช่นนั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ!—1 โกรินโธ 15:58; บทเพลงสรรเสริญ 110:3.
คุณจะตอบอย่างไร?
• ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญสอนเราเช่นไรเกี่ยวกับความหยั่งรู้ค่าต่อพระเจ้าและการจัดเตรียมฝ่ายวิญญาณของพระองค์?
• ถ้อยคำที่ฮาฆี 2:7 กำลังสำเร็จเป็นจริงอย่างไรในปัจจุบัน?
• พระยะโฮวาได้เตรียมผู้รับใช้ของพระองค์อย่างไรให้รับใช้พระองค์อย่างมีประสิทธิภาพ?
• คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าคุณหยั่งรู้ค่าความดีงามของพระยะโฮวา?
[แผนภูมิ หน้า 27-30]
รายงานเกี่ยวกับปีรับใช้ 2006 ของพยานพระยะโฮวาตลอดทั่วโลก
(รายละเอียดดูจากวารสาร)
[ภาพหน้า 25]
พระยะโฮวาทรงเตรียมเราให้พร้อมทำตามพระทัยประสงค์ของพระองค์