จงเลียนแบบความเชื่อของเขา
“ข้าพเจ้าเชื่อ”
มาร์ทานึกถึงอุโมงค์ฝังศพของน้องชายซึ่งเป็นถ้ำที่มีหินก้อนใหญ่ปิดไว้. ความทุกข์ของเธอหนักอึ้งราวกับหินก้อนนั้นและทำให้เธอรู้สึกเหน็บหนาวในใจ. เธอไม่อยากเชื่อเลยว่าลาซะโรน้องชายที่รักของเธอได้จากไปแล้ว. ตลอดสี่วันที่ผ่านมาหลังจากลาซะโรสิ้นใจ เธอแทบไม่รู้เลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง. เธอรู้แต่ว่าตัวเองจมอยู่ในความทุกข์โศกเศร้า แล้วก็มีคนมากมายมาเยี่ยมและปลอบโยนเธอ.
บัดนี้ บุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีความหมายต่อลาซะโรมากที่สุดกำลังยืนอยู่ตรงหน้าเธอ. เมื่อเห็นพระเยซู หัวใจของเธอก็เจ็บแปลบด้วยความทุกข์อีกครั้ง เพราะพระองค์คือผู้เดียวเท่านั้นที่น่าจะช่วยชีวิตน้องชายของเธอได้. แต่มาร์ทาก็สบายใจขึ้นเมื่อได้คุยกับพระเยซูนอกเมืองเบทาเนียซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ บนเชิงเขา. เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ นั้น เธอรู้สึกอบอุ่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเห็นสายพระเนตรที่อ่อนโยน. ความเห็นอกเห็นใจของพระเยซูทำให้เธอมีกำลังใจเสมอ. พระองค์ถามเธอหลายคำถามเพื่อช่วยให้เธอคิดถึงความเชื่อและความหวังเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย. การสนทนาในครั้งนั้นทำให้มาร์ทาเอ่ยถ้อยคำหนึ่งที่สำคัญที่สุดเท่าที่เธอเคยพูดออกมา. เธอพูดว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระคริสต์พระบุตรของพระเจ้าผู้เสด็จเข้ามาในโลก.”—โยฮัน 11:27
มาร์ทาเป็นสตรีที่มีความเชื่อโดดเด่นมาก. สิ่งที่คัมภีร์ไบเบิลบอกเราเกี่ยวกับมาร์ทาแม้จะไม่มากมายนัก แต่ก็ให้บทเรียนที่สำคัญและช่วยให้เรามีความเชื่อเข้มแข็งขึ้นได้. เพื่อจะเข้าใจบทเรียนนี้ ให้เราพิจารณาเรื่องราวของมาร์ทาที่กล่าวถึงครั้งแรกในคัมภีร์ไบเบิล.
“กังวลและพะวงอยู่กับหลายสิ่ง”
หลายเดือนก่อนหน้านั้น ลาซะโรยังมีชีวิตอยู่และสุขภาพแข็งแรงดี. บ้านของเขาในเบทาเนียกำลังจะได้ต้อนรับแขกคนสำคัญที่สุดคือ พระเยซูคริสต์. ครอบครัวของลาซะโร มาร์ทา และมาเรียต่างจากครอบครัวทั่วไป เพราะพี่น้องสามคนที่โตแล้วอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน. ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลบางคนคิดว่าในสามคนนี้มาร์ทาน่าจะเป็นพี่สาวคนโต เพราะดูเหมือนเธอมักจะทำหน้าที่เจ้าบ้านและหลายครั้งมีการกล่าวถึงชื่อเธอเป็นคนแรก. (โยฮัน 11:5) ไม่มีใครรู้ว่าพี่น้องสามคนนี้เคยแต่งงานหรือไม่. ไม่ว่าอย่างไร พวกเขาก็เป็นเพื่อนสนิทของพระเยซู. ระหว่างที่พระเยซูทำงานประกาศในแคว้นยูเดีย พระองค์ถูกเกลียดชังและถูกต่อต้านอย่างหนัก. ในช่วงนั้น พระองค์อาศัยบ้านของพวกเขาเป็นที่พักพิง. แน่นอนว่า พระองค์ทรงรู้สึกซาบซึ้งพระทัยที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีในบ้านอันสงบสุขนี้.
มาร์ทามีบทบาทมากทีเดียวในการทำให้บ้านเป็นที่พักที่สะดวกสบายสำหรับแขก. เธอเป็นคนขยันขันแข็ง เอาการเอางาน และดูเหมือนว่าเธอจะมีงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา. ตอนที่พระเยซูมาเยี่ยมก็เป็นเช่นนั้นด้วย. เธอตระเตรียมอาหารพิเศษหลายอย่างสำหรับแขกคนสำคัญที่สุดของเธอ และสำหรับคนที่ร่วมเดินทางมากับแขกผู้นี้ด้วย. การรับรองแขกถือเป็นเรื่องสำคัญมาก. เมื่อแขกมาถึง เจ้าบ้านจะต้อนรับด้วยการจูบ เขาจะถอดรองเท้าและล้างเท้าให้แขก จากนั้นก็เอาน้ำมันหอมชโลมศีรษะเพื่อให้แขกรู้สึกสดชื่น. (ลูกา 7:44-47) แขกจะต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดทั้งในเรื่องอาหารและที่พัก.
มาร์ทาและมาเรียมีงานมากมายที่ต้องทำเพื่อต้อนรับแขกกลุ่มนี้. ในตอนแรกมาเรียซึ่งบางคนคิดว่าเธอเป็นคนละเอียดอ่อนและช่างคิดกว่ามาร์ทาคงต้องช่วยพี่สาวเตรียมงาน. แต่หลังจากพระเยซูมาถึง เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป. พระเยซูทรงมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะสอน และพระองค์ก็ทำเช่นนั้น! พระเยซูไม่เหมือนกับผู้นำศาสนาในสมัยนั้น พระองค์ให้เกียรติผู้หญิงและยินดีสอนพวกเธอเกี่ยวกับราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งเป็นสาระสำคัญของข่าวสารที่พระองค์ประกาศ. มาเรียตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสฟังพระเยซู เธอนั่งอยู่แทบพระบาทและตั้งใจฟังทุกคำที่พระเยซูตรัส.
เรานึกภาพออกว่ามาร์ทาคงเริ่มรู้สึกเครียดและกระวนกระวายใจ. เธอต้องทำอาหารหลายอย่าง ทั้งยังต้องเตรียมโน่นเตรียมนี่ให้แขก เธอจึงกังวลและว้าวุ่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ. ขณะที่เธอเดินเข้าเดินออก สาละวนอยู่กับงาน และเห็นน้องสาวนั่งอยู่เฉย ๆ โดยไม่ช่วยอะไรเลย เธอเริ่มโกรธ ถอนหายใจออกมาดัง ๆ หรือทำหน้านิ่วคิ้วขมวดไหม? คงไม่แปลกถ้าเธอจะแสดงอากัปกิริยาเช่นนั้น. ถ้าไม่มีคนช่วย เธอก็ไม่มีทางทำงานทั้งหมดนั้นได้เลย!
ในที่สุด มาร์ทาก็ทนต่อไปไม่ไหว. เธอเข้ามาขัดจังหวะระหว่างที่พระเยซูกำลังสอน แล้วโพล่งออกมาว่า “พระองค์เจ้าข้า พระองค์ไม่สนพระทัยหรือที่น้องสาวปล่อยให้ข้าพเจ้าทำงานอยู่คนเดียว? ขอทรงบอกเธอให้มาช่วยข้าพเจ้าเถิด.” (ลูกา 10:40) นี่เป็นคำพูดที่แรงทีเดียว. คัมภีร์ไบเบิลบางฉบับแปลคำพูดของเธอทำนองที่ว่า “พระองค์เจ้าข้า ไม่เห็นหรือว่า . . . ?” แล้วเธอก็ขอให้พระเยซูตักเตือนมาเรียและสั่งให้กลับไปช่วยเธอทำงาน.
คำตอบของพระเยซูคงทำให้มาร์ทาประหลาดใจเหมือนกับที่ผู้อ่านพระคัมภีร์หลายคนรู้สึกเช่นนั้น. พระองค์ตรัสด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า “มาร์ทา มาร์ทา เจ้ากังวลและพะวงอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง. แต่ที่จำเป็นนั้นมีไม่กี่อย่างหรือไม่ก็เพียงอย่างเดียว. มาเรียนั้นเลือกเอาส่วนดีและจะไม่มีใครเอาส่วนนี้ไปจากเธอได้.” (ลูกา 10:41, 42) พระเยซูหมายความว่าอย่างไร? พระองค์กำลังบอกว่ามาร์ทาเป็นคนที่ห่วงแต่เรื่องการกินการอยู่ไหม? พระองค์ไม่เห็นค่าที่เธออุตส่าห์เตรียมอาหารดี ๆ หลายอย่างในมื้อนี้ไหม?
ไม่ใช่เช่นนั้น. พระเยซูทรงทราบว่ามาร์ทามีเจตนาดีและทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความรัก. นอกจากนั้น พระองค์ไม่ได้คิดว่าการต้อนรับแขกด้วยการจัดเลี้ยงอย่างใหญ่โตเป็นเรื่องที่ผิดเสมอไป. ก่อนหน้านี้ พระองค์ยินดีไปร่วม “งานเลี้ยงใหญ่” ที่มัดธายจัดขึ้นเพื่อต้อนรับพระองค์. (ลูกา 5:29) การที่มาร์ทาจัดเตรียมอาหารมากมายไม่ใช่ประเด็นสำคัญในตอนนี้ แต่พระเยซูกำลังเน้นเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต. มาร์ทาเป็นห่วงมากเกินไปว่าต้องเตรียมอาหารอย่างประณีต เธอจึงมองข้ามเรื่องที่สำคัญที่สุดไป. เรื่องนั้นคืออะไร?
พระเยซูพระบุตรองค์เดียวของพระยะโฮวาพระเจ้ากำลังสอนความจริงอยู่ในบ้านของมาร์ทา. ไม่มีสิ่งใดสำคัญยิ่งไปกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่น่ารับประทานหรือการรับรองอย่างดีเยี่ยม. พระเยซูคงรู้สึกเสียดายที่มาร์ทาพลาดโอกาสพิเศษสุดนี้ที่จะได้เสริมสร้างความเชื่อให้เข้มแข็ง แต่พระองค์ก็ปล่อยให้เธอเป็นคนเลือกเอง. อย่างไรก็ตาม มาร์ทาไม่มีสิทธิ์ขอร้องพระเยซูให้สั่งน้องสาวให้เลือกอย่างเดียวกับเธอ.
พระเยซูแก้ไขความคิดของมาร์ทาอย่างผ่อนหนักผ่อนเบา. พระองค์เรียกชื่อเธอซ้ำสองครั้งเพื่อให้เธอใจเย็นลง แล้วทรงบอกให้เธอสบายใจว่าไม่ต้อง “กังวลและพะวงอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่าง.” อาหารธรรมดา ๆ แค่หนึ่งหรือสองอย่างก็เพียงพอแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสได้รับความรู้มากมายจากพระเยซูซึ่งเป็นอาหารฝ่ายวิญญาณ. ดังนั้น พระเยซูจะไม่สั่งมาเรียให้ทิ้งโอกาสที่จะได้รับการสอนจากพระองค์ เพราะนั่นเป็น “ส่วนดี” ที่เธอได้เลือกแล้ว!
เรื่องราวสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้ให้บทเรียนอันมีค่าแก่สาวกของพระคริสต์ในสมัยปัจจุบัน. เราต้องไม่ปล่อยให้สิ่งใดมาขัดขวางโอกาสที่เราจะได้รับความรู้จากพระเจ้าซึ่งเป็นการตอบสนอง “ความจำเป็นฝ่ายวิญญาณ” ของเรา. (มัดธาย 5:3) ถึงแม้เราต้องการเลียนแบบมาร์ทาในเรื่องการแสดงน้ำใจเอื้อเฟื้อและความขยันขันแข็ง แต่เราต้องไม่ปล่อยให้ตัวเอง “กังวลและพะวง” มากเกินไปกับการรับรองแขกซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญน้อยกว่าจนพลาดเรื่องที่สำคัญที่สุดไป. เมื่อเราสังสรรค์กับเพื่อนร่วมความเชื่อ สิ่งสำคัญอันดับแรกไม่ใช่เรื่องการจัดเลี้ยงหรือกินเลี้ยงอย่างหรูหรา แต่เราไปเพื่อหนุนกำลังใจกันและให้ของประทานฝ่ายวิญญาณ. (โรม 1:11, 12) แม้จะเป็นการรับประทานอาหารง่าย ๆ ร่วมกัน เราก็มีโอกาสหนุนกำลังใจกันได้.
เสียน้องชายที่รักไปและได้กลับคืนมา
มาร์ทายอมรับการเตือนสติอย่างผ่อนหนักผ่อนเบาจากพระเยซูและเรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นไหม? เราไม่สงสัยเลย. ก่อนที่อัครสาวกโยฮันจะเล่าเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับน้องชายของมาร์ทา ท่านบอกเราว่า “พระเยซูทรงรักมาร์ทากับน้องสาวและลาซะโรด้วย.” (โยฮัน 11:5) เวลาผ่านไปหลายเดือนตั้งแต่พระเยซูเสด็จมาที่เมืองเบทาเนียดังข้างต้น. เห็นได้ชัดว่า มาร์ทาไม่ได้ผูกใจเจ็บ. เธอไม่ได้แค้นเคืองพระเยซูที่ให้คำแนะนำเธอด้วยความรัก แต่เธอจดจำเรื่องนั้นไว้ในใจ. เธอเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเราในเรื่องนี้ด้วย เพราะเราทุกคนจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเป็นครั้งคราวมิใช่หรือ?
เมื่อน้องชายป่วย มาร์ทาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด. เธอทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อบรรเทาความเจ็บป่วยของน้องชายและช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น. แต่อาการของลาซะโรก็ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ. พี่สาวทั้งสองคอยดูแลอยู่ข้าง ๆ ตลอดเวลาวันแล้ววันเล่า. บ่อยเพียงไรที่มาร์ทามองดูใบหน้าที่ซูบซีดของน้องชาย แล้วนึกถึงช่วงเวลาที่พวกเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายปี.
เมื่อมาร์ทากับมาเรียเห็นว่าลาซะโรป่วยหนักจนเกินกว่าจะช่วยได้ พวกเธอจึงส่งคนไปแจ้งข่าวแก่พระเยซู. พระองค์กำลังประกาศอยู่ไกลออกไปและต้องใช้เวลาเดินทางถึงสองวัน. พวกเธอส่งข่าวสั้น ๆ ว่า “พระองค์เจ้าข้า สหายที่พระองค์ทรงรักป่วยอยู่.” (โยฮัน 11:1, 3) มาร์ทากับมาเรียรู้ว่าพระเยซูทรงรักน้องชายของพวกเธอ และเชื่อว่าพระองค์จะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยสหายคนนี้. พวกเธอเฝ้ารอด้วยความหวังว่าพระเยซูจะมาถึงก่อนจะสายเกินไปไหม? ถ้าเป็นเช่นนั้นพวกเธอคงต้องผิดหวัง. ลาซะโรตายแล้ว.
ทั้งมาร์ทาและมาเรียต่างก็อาลัยถึงน้องชาย. พวกเธอช่วยกันเตรียมงานศพและต้อนรับแขกเหรื่อมากมายที่มาจากเบทาเนียและละแวกใกล้เคียง. ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข่าวจากพระเยซูเลย. แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไปมาร์ทาก็ยิ่งสงสัยว่าทำไมพระเยซูยังไม่เสด็จมา. ในที่สุด หลังจากลาซะโรตายไปได้สี่วัน มาร์ทาก็ได้ยินว่าพระเยซูเสด็จมาใกล้ถึงเบทาเนียแล้ว. ด้วยความที่เธอเป็นคนแคล่วคล่องว่องไว แม้จะอยู่ในยามทุกข์โศกมาร์ทาก็รีบออกไปหาพระเยซูโดยไม่ทันได้บอกมาเรีย.—โยฮัน 11:20
ทันทีที่เห็นนายของเธอ มาร์ทาก็ระบายความทุกข์ที่อัดอั้นอยู่ในใจเธอและมาเรียมานานหลายวัน. เธอทูลว่า “พระองค์เจ้าข้า ถ้าตอนนั้นพระองค์อยู่ที่นี่ น้องชายข้าพเจ้าคงไม่ตาย.” แม้จะพูดเช่นนี้ แต่มาร์ทาก็ยังมีความเชื่อและความหวังอยู่. เธอพูดต่อไปว่า “ถึงอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็รู้อยู่ว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทูลขอจากพระเจ้า พระเจ้าจะทรงประทานแก่พระองค์.” พระเยซูช่วยให้เธอมั่นใจในความหวังนั้นโดยตรัสตอบทันทีว่า “น้องชายของเจ้าจะเป็นขึ้นจากตาย.”—โยฮัน 11:21-23
มาร์ทาคิดว่าพระเยซูกำลังพูดถึงการกลับเป็นขึ้นจากตายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เธอจึงตอบว่า “ข้าพเจ้ารู้ว่าเขาจะถูกปลุกให้เป็นขึ้นจากตายในวันสุดท้าย.” (โยฮัน 11:24) การที่เธอมีความเชื่อในคำสอนนี้เป็นเรื่องที่โดดเด่นมาก. ผู้นำศาสนาชาวยิวบางคนที่เป็นพวกซาดูกายปฏิเสธว่าไม่มีการกลับเป็นขึ้นจากตาย ทั้ง ๆ ที่คำสอนนี้มีบอกไว้อย่างชัดเจนในพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจ. (ดานิเอล 12:13; มาระโก 12:18) แต่มาร์ทารู้ว่าพระเยซูสอนเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย และพระองค์ถึงกับปลุกบางคนให้เป็นขึ้นจากตายมาแล้วด้วยซ้ำ แม้คนเหล่านั้นที่ถูกปลุกจะไม่มีใครตายไปนานหลายวันเหมือนกับลาซะโร. เธอไม่รู้เลยว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น.
แล้วพระเยซูก็ตรัสถ้อยคำที่ไม่อาจลืมเลือนได้ดังนี้: “เราเป็นการกลับเป็นขึ้นจากตายและเป็นชีวิต.” จริงทีเดียว พระยะโฮวาพระเจ้าได้มอบอำนาจให้แก่พระบุตรเพื่อจะปลุกทุกคนในโลกที่ตายไปให้กลับมามีชีวิตอีกในอนาคต. พระเยซูถามมาร์ทาว่า “เจ้าเชื่อเรื่องนี้ไหม?” มาร์ทาทูลตอบอย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นของบทความนี้. เธอเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์หรือพระมาซีฮา เป็นพระบุตรของพระยะโฮวาพระเจ้า และเป็นบุคคลที่พวกผู้พยากรณ์กล่าวถึงว่าจะเสด็จเข้ามาในโลก.—โยฮัน 5:28, 29; 11:25-27
พระยะโฮวาพระเจ้าและพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ทรงเห็นค่าความเชื่อเช่นนั้นไหม? เหตุการณ์ต่อจากนี้ที่มาร์ทาจะได้เห็นด้วยตาตัวเองจะให้คำตอบที่ชัดเจนที่สุด. เธอรีบวิ่งไปเรียกน้องสาว. หลังจากนั้น เธอได้เห็นว่าพระเยซูทรงรู้สึกสะเทือนพระทัยอย่างยิ่งขณะที่สนทนากับมาเรียและคนอื่น ๆ ที่กำลังโศกเศร้า. เธอเห็นพระเยซูหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเศร้าพระทัยเมื่อทรงเห็นว่าความตายก่อให้เกิดความทุกข์มากเพียงไร. เธอได้ยินพระเยซูสั่งให้คนกลิ้งหินออกจากปากอุโมงค์ฝังศพของน้องชาย.—โยฮัน 11:28-39
ด้วยความที่เป็นคนรอบคอบ มาร์ทาทักท้วงว่าตอนนี้ศพคงมีกลิ่นเหม็นเพราะตายมาสี่วันแล้ว. พระเยซูตรัสกับนางว่า “เราบอกเจ้าแล้วมิใช่หรือว่า ถ้าเจ้าเชื่อ เจ้าจะเห็นฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า?” เธอเชื่อเช่นนั้น และเธอก็ได้เห็นฤทธิ์อันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวาพระเจ้า. ในทันใดนั้นเอง พระยะโฮวาได้มอบอำนาจแก่พระบุตรเพื่อปลุกลาซะโรให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง! ลองนึกภาพเหตุการณ์ต่อไปนี้ซึ่งคงจะตราตรึงอยู่ในความทรงจำของมาร์ทาไปตลอดชีวิต. พระเยซูร้องเรียกเสียงดังว่า “ลาซะโร ออกมาเถิด!” จากนั้นก็มีเสียงอะไรบางอย่างแว่วมาจากด้านในอุโมงค์ฝังศพ ขณะที่ลาซะโรลุกขึ้นและค่อย ๆ คลำหาทางออกมาจากอุโมงค์ทั้ง ๆ ที่ยังมีผ้าพันตัวอยู่. พระเยซูสั่งว่า “จงเอาผ้าที่พันเขาไว้ออกเสีย เขาจะได้ไป.” แน่ใจได้เลยว่ามาร์ทากับมาเรียคงต้องโผเข้ากอดน้องชายด้วยความตื่นเต้นดีใจยิ่งนัก. (โยฮัน 11:40-44) ความทุกข์ที่หนักอึ้งในใจของมาร์ทาหมดสิ้นไปแล้ว!
บันทึกเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการกลับเป็นขึ้นจากตายไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน แต่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ที่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน. พระยะโฮวาและพระบุตรทรงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะประทานรางวัลแก่ผู้ที่มีความเชื่อเช่นที่มาร์ทา มาเรีย และลาซะโรได้รับ. พระองค์ทั้งสองจะประทานรางวัลนั้นแก่คุณด้วย ถ้าคุณมีความเชื่อที่เข้มแข็งเหมือนกับมาร์ทา.a
“มาร์ทาคอยรับใช้”
หลังจากเหตุการณ์นั้น คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงมาร์ทาอีกเพียงครั้งเดียว. ขณะนั้นเป็นตอนต้นของสัปดาห์สุดท้ายที่พระเยซูจะอยู่บนแผ่นดินโลก. พระเยซูทรงทราบดีว่าพระองค์กำลังจะเจอกับความทุกข์ลำบากอะไรบ้าง พระองค์จึงเลือกที่จะพักอยู่กับครอบครัวนี้ที่เบทาเนีย. จากที่นั่นพระองค์จะเดินไปยังกรุงเยรูซาเลมเป็นระยะทางสามกิโลเมตร. ขณะที่พระเยซูและลาซะโรกำลังรับประทานอาหารอยู่ในบ้านของซีโมนคนโรคเรื้อน เราก็พบข้อความสุดท้ายที่กล่าวถึงมาร์ทาว่า “มาร์ทาคอยรับใช้.”—โยฮัน 12:2
เธอช่างเป็นแบบฉบับของสตรีที่ขยันขันแข็งอย่างแท้จริง! เมื่อเราอ่านพบเรื่องของเธอครั้งแรกในคัมภีร์ไบเบิล เธอกำลังทำงานอยู่ และเมื่ออ่านตอนที่กล่าวถึงเธอเป็นครั้งสุดท้าย เธอก็ยังทำงานอยู่และเอาใจใส่ดูแลคนรอบข้างอย่างสุดความสามารถ. ประชาคมคริสเตียนในทุกวันนี้ได้รับพระพรมากจริง ๆ ที่มีผู้หญิงแบบมาร์ทาซึ่งเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ และแสดงความเชื่อโดยรับใช้ผู้อื่นอย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก. มาร์ทาคงจะทำอย่างนี้ต่อ ๆ ไป. ถ้าเช่นนั้น เธอก็ทำสิ่งที่ฉลาดสุขุม เพราะเธอยังต้องเจอกับอุปสรรคอีกมากมาย.
หลังจากนั้นไม่กี่วัน มาร์ทาต้องทนกับความเศร้าโศกเมื่อพระเยซูนายผู้เป็นที่รักของเธอสิ้นพระชนม์อย่างทุกข์ทรมาน. นอกจากนั้น พวกคนหน้าซื่อใจคดที่ฆ่าพระเยซูยังจ้องหาทางจะฆ่าลาซะโรด้วย เพราะการกลับเป็นขึ้นจากตายของเขาทำให้ผู้คนมากมายมีความเชื่อในพระเยซู. (โยฮัน 12:9-11) ในที่สุด ความตายก็ทำให้สายสัมพันธ์อันเปี่ยมด้วยความรักของมาร์ทากับน้อง ๆ ต้องสิ้นสุดลง. เราไม่รู้ว่าพวกเขาจากกันอย่างไรและเมื่อไร แต่เราค่อนข้างแน่ใจว่าความเชื่อที่มีค่าของมาร์ทาได้ช่วยเธอให้อดทนจนถึงที่สุด. นี่คือเหตุผลที่คริสเตียนในทุกวันนี้ควรเลียนแบบความเชื่อของมาร์ทา.
[เชิงอรรถ]
a เพื่อจะเรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับคำสอนในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องการกลับเป็นขึ้นจากตาย โปรดดูบท 7 ของหนังสือคัมภีร์ไบเบิลสอนอะไรจริงๆ? จัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา.
[ภาพหน้า 11]
แม้จะโศกเศร้า แต่มาร์ทาก็ฟังพระเยซูเมื่อพระองค์ช่วยเธอให้คิดถึงเรื่องที่เสริมสร้างความเชื่อ
[ภาพหน้า 12]
แม้มาร์ทาจะรู้สึก “กังวลและพะวง” แต่เธอก็ถ่อมใจยอมรับคำเตือนสอน
[ภาพหน้า 15]
การที่มาร์ทามีความเชื่อในพระเยซูทำให้เธอได้รับรางวัลตอบแทน คือได้เห็นน้องชายกลับเป็นขึ้นจากตาย