ผู้สำเร็จการศึกษาจากกิเลียดได้รับการสอนที่กระทบหัวใจ
วันที่ 9 กันยายน 2006 ระเบียบวาระการสำเร็จการศึกษารุ่นที่ 121 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียดได้จัดขึ้นที่ศูนย์การศึกษาว็อชเทาเวอร์ที่แพตเทอร์สัน รัฐนิวยอร์ก. ระเบียบวาระดังกล่าวเป็นที่หนุนกำลังใจ.
เจฟฟรีย์ แจ็กสัน สมาชิกคณะกรรมการปกครองแห่งพยานพระยะโฮวาเปิดการประชุมโดยกล่าวต้อนรับผู้สำเร็จการศึกษา 56 คนและผู้ฟังจากชาติต่าง ๆ 6,366 คน. เขาพิจารณาเพลงสรรเสริญ 86:11 (ล.ม.) ซึ่งกล่าวว่า “ข้าแต่พระยะโฮวา, ขอทรงสั่งสอนข้าพเจ้าถึงวิถีทางของพระองค์. ข้าพเจ้าจะดำเนินในความจริงของพระองค์. ขอทำให้หัวใจของข้าพเจ้าเป็นหนึ่งเดียว ให้ยำเกรงพระนามของพระองค์.” บราเดอร์แจ็กสันชี้ให้เห็นสามจุดที่มีการเน้นในข้อนี้. เขากล่าวว่า “ในประโยคแรกคือ การสั่งสอน; ในประโยคที่สองคือ การนำไปใช้; และในประโยคที่สามคือ แรงกระตุ้น. ทั้งสามจุดนี้เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับคุณซึ่งเป็นมิชชันนารีที่จะไปในเขตที่ได้รับมอบหมาย.” จากนั้นเขาเกริ่นนำชุดคำบรรยายและการสัมภาษณ์ที่เน้นจุดสำคัญทั้งสามประการ.
คำสั่งสอนที่ทำให้อบอุ่นใจ
วิลเลียม แมเลนฟอนต์ สมาชิกของสำนักงานใหญ่พิจารณาอรรถบทที่ว่า “ชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้.” เขาแนะให้สนใจตัวอย่างของมาเรีย น้องสาวของมาธา. ในโอกาสหนึ่งเมื่อพระเยซูเสด็จมาเยี่ยมที่บ้าน มาเรียเลือกที่จะนั่งใกล้พระบาทของพระองค์เพื่อจะฟังและเธอให้สิ่งนี้เป็นอันดับแรก. พระเยซูตรัสกับมาธาว่า “มาเรียได้เลือกเอาส่วนดีนั้น, ใครจะชิงเอาไปจากเขาไม่ได้.” (ลูกา 10:38-42) “ลองคิดถึงเรื่องนี้” ผู้บรรยายกล่าว. “มาเรียจะจดจำไปตลอดว่าเธอเคยนั่งใกล้พระบาทพระเยซูและฟังความจริงฝ่ายวิญญาณอันยอดเยี่ยมจากพระองค์—ทั้งหมดนี้เนื่องจากเธอได้เลือกส่วนดี.” หลังจากชมเชยผู้สำเร็จการศึกษาที่ได้เลือกสิ่งดีฝ่ายวิญญาณ เขากล่าวว่า “การเลือกของคุณทำให้คุณมีชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้.”
ผู้บรรยายคนถัดไป แอนโทนี มอร์ริส สมาชิกคณะกรรมการปกครองได้ขยายอรรถบท “จงสวมบุคลิกของพระเยซูคริสต์เจ้า” ซึ่งอาศัยโรม 13:14. เราจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร? บราเดอร์มอร์ริสชี้ให้เห็นว่า “การสวมบุคลิกของพระเยซูคริสต์เจ้าเกี่ยวข้องกับการเลียนแบบบุคลิกลักษณะขององค์พระผู้เป็นเจ้า.” ดังนั้น นี่จึงหมายถึงการเลียนแบบตัวอย่างและน้ำใจของพระเยซู. ผู้บรรยายกล่าวว่า “พระเยซูทำให้ประชาชนรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับพระองค์ เนื่องจากพระองค์ทรงสนพระทัยพวกเขาอย่างจริงใจ และพวกเขาก็รับรู้ความรู้สึกนั้นได้.” จากนั้นผู้บรรยายพิจารณาวิธีที่นักเรียนได้รับความรู้มากขึ้นจากหลักสูตรกิเลียด ดังที่เอเฟโซ 3:18 (ล.ม.) กล่าวไว้ที่ว่า “เพื่อ . . . จะเข้าใจถี่ถ้วน . . . ว่าอะไรคือความกว้าง ความยาว ความสูง และความลึก” ของความจริง. กระนั้น เขาเตือนนักเรียนให้จดจำข้อ 19 ที่กล่าวต่อไปว่า “และจะรู้จักความรักของพระคริสต์ซึ่งเหนือกว่าความรู้.” บราเดอร์มอร์ริสกระตุ้นนักเรียนดังนี้: “ขณะที่คุณศึกษาส่วนตัวต่อ ๆ ไป จงไตร่ตรองว่าคุณจะเลียนแบบความเมตตาสงสารอันเปี่ยมด้วยความรักของพระคริสต์และ ‘สวมบุคลิกของพระเยซูคริสต์เจ้า’ จริง ๆ ได้อย่างไร.”
คำแนะนำอำลาจากผู้สอนในโรงเรียนกิเลียด
คำบรรยายถัดไปบรรยายโดยวอลเลซ ลิเวอร์รันซ์ ผู้สอนในโรงเรียนกิเลียด ซึ่งอรรถบทของเขาอาศัยสุภาษิต 4:7 (ล.ม.). เขากล่าวว่าแม้สติปัญญาจากพระเจ้าเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เราต้อง “ได้มาซึ่งความเข้าใจ” ด้วย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ มารวมกัน และครั้นแล้วดูว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไรเพื่อจะได้เข้าใจความหมายของเรื่อง. ผู้บรรยายแสดงให้เห็นว่าการได้มาซึ่งความเข้าใจทำให้ได้รับความยินดี. ยกตัวอย่าง ในสมัยนะเฮมยา ชาวเลวี ‘ได้อธิบายพระบัญญัติ’ และ ‘ให้ความเข้าใจ.’ หลังจากนั้น ประชาชนมี “ใจเบิกบาน, เหตุว่าเขาได้เข้าใจถ้อยคำที่พวกนั้นอ่านอธิบายให้ฟังนั้น.” (นะเฮมยา 8:7, 8, 12) บราเดอร์ลิเวอร์รันซ์สรุปว่า “ความยินดีเป็นผลพลอยได้จากการเข้าใจพระคำของพระเจ้าที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระวิญญาณ.”
“ใครคือศัตรูที่แท้จริงของคุณ?” เป็นอรรถบทที่พิจารณาโดยมาร์ก นูแมร์ ผู้สอนอีกคนหนึ่งในโรงเรียนกิเลียด. ในสงคราม ทหารจำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากกระสุนของทหารฝ่ายเดียวกันเอง. “จะว่าอย่างไรกับสงครามฝ่ายวิญญาณที่เราร่วมรบ?” เขาถาม. “ถ้าไม่ระวัง เราอาจสับสนว่าใครเป็นศัตรูที่แท้จริงและอาจทำลายกองทัพของเราเอง.” ความอิจฉาอาจทำให้สับสนว่าใครเป็นศัตรู. ความอิจฉาทำให้กษัตริย์ซาอูลพยายามสังหารดาวิดเพื่อนผู้นมัสการของท่าน ทั้งที่ความจริงแล้วชาวฟิลิสตินต่างหากที่เป็นศัตรู. (1 ซามูเอล 18:7-9; 23:27, 28) จากนั้น ผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “จะว่าอย่างไรถ้าคุณรับใช้ร่วมกับมิชชันนารีที่เก่งกว่าในหลายด้าน? คุณจะทำร้ายเพื่อนทหารของคุณด้วยคำวิพากษ์วิจารณ์ไหม หรือคุณจะยอมรับข้อเท็จจริงว่าคนอื่นอาจจะเหนือกว่าคุณในด้านต่าง ๆ? การเพ่งเล็งแต่ความไม่สมบูรณ์ของคนอื่นอาจทำให้เราสับสนว่าใครเป็นศัตรูที่แท้จริง. จงต่อสู้กับศัตรูที่แท้จริง ซึ่งก็คือซาตาน.”
ประสบการณ์ที่น่ายินดีและการสัมภาษณ์ที่เป็นประโยชน์
ส่วนถัดไปคือ “จงทำงานของผู้เผยแพร่ข่าวดี” โดยลอว์เรนซ์ โบเวน ผู้สอนในโรงเรียนกิเลียด เป็นส่วนที่มีการสัมภาษณ์และประสบการณ์ด้วย. งานหลักของมิชชันนารีที่ได้รับการอบรมจากกิเลียดคือการเผยแพร่ข่าวดี และชั้นเรียนนี้ได้ทำเช่นนั้นในที่ไหนก็ตามที่ได้พบผู้คน. มีการสาธิตจากประสบการณ์จริงที่น่ายินดีบางเรื่อง.
สองส่วนถัดไปของระเบียบวาระนำโดยไมเคิล เบอร์เนต และสกอตต์ ชอฟฟ์เนอร์ ซึ่งทั้งคู่เป็นสมาชิกครอบครัวเบเธล. พวกเขาสัมภาษณ์สมาชิกคณะกรรมการสาขาจากออสเตรเลีย, บาร์เบโดส, เกาหลี, และยูกันดา. ความเห็นของสมาชิกคณะกรรมการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามมากเพียงไรเพื่อเอาใจใส่ความจำเป็นของมิชชันนารี ซึ่งรวมไปถึงการจัดให้มีบ้านพักพอเหมาะและการดูแลสุขภาพ. สมาชิกคณะกรรมการเน้นว่ามิชชันนารีที่ประสบผลสำเร็จเต็มใจปรับตัวให้เข้ากับสภาพการณ์ท้องถิ่น.
คำบรรยายสุดท้ายที่กระตุ้นและเร้าใจ
คำบรรยายสำคัญของระเบียบวาระคือคำบรรยายที่ชื่อ “จงเกรงกลัวพระเจ้าและถวายเกียรติแด่พระองค์” นำเสนอโดย จอห์น อี. บารร์ สมาชิกคณะกรรมการปกครองที่รับใช้มานาน. เขาพิจารณาวิวรณ์ 14:6, 7 ซึ่งอ่านว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นทูตสวรรค์อีกองค์หนึ่งบินไปตลอดทั่วท้องฟ้า, นำกิตติคุณอันเจริญเป็นนิตย์ไปประกาศแก่ชนชาวโลกทั้งปวง, แก่ทุกประเทศ, ทุกชาติ, ทุกภาษา, และทุกคณะ ท่านประกาศด้วยเสียงอันดังว่า, ‘จงเกรงกลัวพระเจ้าและถวายเกียรติยศแด่พระองค์ เพราะว่าเวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษานั้นมาถึงแล้ว.’ ”
บราเดอร์บารร์กระตุ้นนักเรียนให้จดจำสามประการเกี่ยวกับทูตสวรรค์นั้น. ประการแรก ทูตสวรรค์มีข่าวดีนิรันดร์จะประกาศที่ว่า บัดนี้พระคริสต์ทรงปกครองด้วยขัตติยอำนาจแห่งราชอาณาจักรอย่างเต็มที่แล้ว. ผู้บรรยายกล่าวว่า “เรามั่นใจเต็มที่ว่าพระองค์ทรงขึ้นครองราชย์แล้วในปี 1914. ดังนั้น ต้องมีการประกาศข่าวที่น่ายินดีนี้ไปถึงผู้คนทั่วโลก.” ประการที่สอง ทูตสวรรค์กล่าวว่า “จงเกรงกลัวพระเจ้า.” ผู้บรรยายอธิบายว่าผู้สำเร็จการศึกษาต้องช่วยนักศึกษาของเขาให้พัฒนาความเคารพนับถือพระเจ้าเพื่อว่าจะไม่ทำสิ่งใด ๆ ที่พระองค์ไม่พอพระทัย. ประการที่สาม ทูตสวรรค์สั่งว่า ‘จงถวายเกียรติยศแด่พระเจ้า.’ บราเดอร์บารร์กระตุ้นเหล่านักเรียนว่า “อย่าลืมว่าเรารับใช้เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้า ไม่ใช่เพื่อตัวเอง.” จากนั้นมีการพิจารณา “เวลาที่พระองค์จะทรงพิพากษา” บราเดอร์บารร์กล่าวว่า “มีเวลาเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนจะมีการประกาศการพิพากษาขั้นสุดท้าย. หลายคนในเขตทำงานของเรายังคงจำต้องได้ยินข่าวดีก่อนที่จะสายไป.”
โดยที่ถ้อยคำเหล่านั้นยังคงกังวานอยู่ในหู ผู้สำเร็จการศึกษา 56 คนได้รับมอบประกาศนียบัตรและถูกส่งไปยังที่สุดปลายแผ่นดินโลก. คำแนะนำที่กระตุ้นใจในวันอันน่ายินดีนั้นกระทบหัวใจของผู้สำเร็จการศึกษาและทุกคนที่เข้าร่วมการประชุมอย่างสุดซึ้ง.
[กรอบหน้า 17]
สถิติชั้นเรียน
ตัวแทนมาจาก: 6 ประเทศ
ได้รับมอบหมายไปยัง: 25 ประเทศ
จำนวนนักเรียน: 56 คน
เฉลี่ยอายุ: 35.1 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่อยู่ในความจริง: 18.3 ปี
เฉลี่ยจำนวนปีที่รับใช้เต็มเวลา: 13.9 ปี
[ภาพหน้า 18]
ผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 121 ของโรงเรียนว็อชเทาเวอร์ไบเบิลแห่งกิเลียด
รายชื่อข้างล่างนี้นับจากแถวหน้าไปแถวหลัง และรายชื่อเรียงลำดับจากซ้ายไปขวาของแต่ละแถว
(1) Fox, Y.; Kunicki, D.; Wilkinson, S.; Kawamoto, S.; Consolandi, G.; Mayen, C. (2) Santiago, N.; Clancy, R.; Fischer, M.; de Abreu, L.; Davis, E. (3) Hwang, J.; Hoffman, D.; Wridgway, L.; Ibrahim, J.; Dabelstein, A.; Bakabak, M. (4) Peters, M.; Jones, C.; Ford, S.; Parra, S.; Rothrock, D.; Tatlot, M.; Perez, E. (5) de Abreu, F.; Kawamoto, S.; Ives, S.; Burdo, J.; Hwang, J.; Wilkinson, D. (6) Fox, A.; Bakabak, J.; Cichowski, P.; Forier, C.; Mayen, S.; Consolandi, E.; Wridgway, W. (7) Parra, B.; Perez, B.; Tatlot, P.; Santiago, M.; Ibrahim, Y.; Kunicki, C. (8) Burdo, C.; Cichowski, B.; Ives, K.; Ford, A.; Rothrock, J.; Hoffman, D.; Davis, M. (9) Peters, C.; Dabelstein, C.; Jones, K.; Clancy, S.; Fischer, J.; Forier, S.