คำอธิษฐานของคุณ “เป็นเหมือนเครื่องหอม” ไหม?
“ขอให้คำทูลของข้าพเจ้าขึ้นไปเป็นเหมือนเครื่องหอมถวาย บูชาต่อพระองค์.”—บทเพลงสรรเสริญ 141:2.
1, 2. การเผาเครื่องหอมเป็นสัญลักษณ์หมายถึงอะไร?
พระยะโฮวาพระเจ้าทรงมีพระบัญชาให้ผู้พยากรณ์โมเซเตรียมเครื่องหอมศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ที่พลับพลาแห่งการนมัสการของชาติยิศราเอล. สูตรที่พระเจ้าทรงมอบให้มีส่วนผสมของเครื่องหอมสี่ชนิด. (เอ็กโซโด 30:34-38) เครื่องหอมนี้มีกลิ่นหอมละมุนยิ่งนัก.
2 สัญญาไมตรีแห่งพระบัญญัติที่ชาติยิศราเอลได้รับวางแนวปฏิบัติไว้ให้มีการเผาเครื่องหอมทุกวัน. (เอ็กโซโด 30:7, 8) การเผาเครื่องหอมมีความหมายพิเศษไหม? ใช่แล้ว เพราะท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญร้องออกมาเป็นเพลงดังนี้: “ขอให้คำทูลของข้าพเจ้าขึ้นไปเป็นเหมือนเครื่องหอมถวายบูชาต่อพระองค์ [พระยะโฮวาพระเจ้า]; ซึ่งข้าพเจ้าประนมมือขึ้นขอให้เป็นเหมือนเครื่องบูชาถวายในเวลาเย็น.” (บทเพลงสรรเสริญ 141:2) ในพระธรรมวิวรณ์ อัครสาวกโยฮันพรรณนาเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่อยู่รอบ ๆ ราชบัลลังก์ทางภาคสวรรค์ของพระเจ้าว่ามีขันทองคำซึ่งเต็มด้วยเครื่องหอม. บันทึกซึ่งมีขึ้นโดยการดลใจกล่าวว่า “และเครื่องหอมนั้นหมายถึงคำอธิษฐานของเหล่าผู้บริสุทธิ์.” (วิวรณ์ 5:8, ล.ม.) ถ้าอย่างนั้น การเผาเครื่องหอมกลิ่นละมุนก็ย่อมเป็นสัญลักษณ์ของคำอธิษฐานอันเป็นที่ยอมรับซึ่งผู้รับใช้ของพระยะโฮวาทูลถึงพระองค์ทั้งกลางวันกลางคืน.—1 เธซะโลนิเก 3:10; เฮ็บราย 5:7.
3. อะไรน่าจะช่วยเราให้ ‘เตรียมคำอธิษฐานของเราเหมือนเป็นเครื่องหอมถวายต่อพระเจ้า’?
3 เพื่อคำอธิษฐานของเราจะได้รับการยอมรับจากพระเจ้า เราต้องอธิษฐานถึงพระองค์ในพระนามของพระเยซูคริสต์. (โยฮัน 16:23, 24) แต่เราจะสามารถปรับปรุงคุณภาพคำอธิษฐานของเราได้โดยวิธีใด? การเอาใจใส่พิจารณาตัวอย่างจากพระคัมภีร์บางตัวอย่างน่าจะช่วยเราในการเตรียมคำอธิษฐานของเราเหมือนเป็นเครื่องหอมถวายต่อพระยะโฮวา.—สุภาษิต 15:8.
การทูลอธิษฐานด้วยความเชื่อ
4. ความเชื่อสัมพันธ์อย่างไรกับคำอธิษฐานที่พระเจ้าทรงยอมรับ?
4 เพื่อคำอธิษฐานของเราจะขึ้นไปถึงพระเจ้าเหมือนเป็นเครื่องหอมอันมีกลิ่นละมุน เราต้องอธิษฐานด้วยความเชื่อ. (เฮ็บราย 11:6) เมื่อเหล่าคริสเตียนผู้ปกครองพบว่าผู้ป่วยฝ่ายวิญญาณตอบรับการช่วยเหลือตามหลักพระคัมภีร์ ‘คำอธิษฐานด้วยความเชื่อของพวกเขาจะทำให้ผู้ที่ไม่สบายหาย.’ (ยาโกโบ 5:15, ล.ม.) คำอธิษฐานที่ทูลด้วยความเชื่อเป็นที่พอพระทัยพระบิดาฝ่ายสวรรค์ของเรา การศึกษาพระคำของพระเจ้าอย่างจริงจังก็เช่นกัน. ท่านผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญแสดงเจตคติที่ดีเมื่อท่านร้องออกมาเป็นเพลงดังนี้: “ข้าพเจ้าจะประนมมือขึ้นต่อข้อบัญญัติของพระองค์, ที่ข้าพเจ้ารักนั้น; ขอทรงฝึกสอนข้าพเจ้าให้มีปัญญาและความรู้อันดี; เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นในข้อบัญญัติของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 119:48, 66) ให้เรา ‘ประนมมือของเรา’ ในการอธิษฐานด้วยใจถ่อมและแสดงความเชื่อโดยทำตามพระบัญชาของพระเจ้า.
5. เราควรทำอะไรหากเราขาดสติปัญญา?
5 สมมุติว่าเราขาดสติปัญญาที่จำเป็นในการรับมือการทดลอง. อาจเป็นได้ที่เราไม่แน่ใจว่าคำพยากรณ์ข้อใดข้อหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลกำลังสำเร็จเป็นจริงอยู่ในขณะนี้จริงหรือไม่. แทนที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ทำให้เราไม่มั่นคงฝ่ายวิญญาณ ให้เราอธิษฐานขอสติปัญญา. (ฆะลาเตีย 5:7, 8; ยาโกโบ 1:5-8) แน่นอน เราไม่อาจคาดหมายให้พระเจ้าทรงตอบเราในวิธีที่โดดเด่น. เราจำต้องแสดงให้เห็นว่าคำอธิษฐานของเราเป็นเรื่องจริงจังโดยทำสิ่งที่พระองค์ทรงคาดหมายให้ไพร่พลทั้งสิ้นของพระองค์ทำ. นับว่าจำเป็นที่เราจะร่วมในการศึกษาพระคัมภีร์อันเป็นการเสริมสร้างความเชื่อโดยอาศัยสรรพหนังสือที่เป็นคู่มือซึ่งทรงจัดเตรียมให้ทาง “ทาสสัตย์ซื่อและสุขุม.” (มัดธาย 24:45-47, ล.ม.; ยะโฮซูอะ 1:7, 8) นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องก้าวหน้าในด้านความรู้โดยการเข้าร่วมการประชุมของไพร่พลพระเจ้าเป็นประจำ.—เฮ็บราย 10:24, 25.
6. (ก) เราทุกคนควรตระหนักอะไรเกี่ยวกับสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้และความสำเร็จเป็นจริงของคำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิล? (ข) นอกจากการอธิษฐานขอให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์แล้ว เราควรทำอะไรอีก?
6 ในทุกวันนี้ คริสเตียนบางคนกำลังมุ่งติดตามผลประโยชน์ส่วนตัวและงานอาชีพซึ่งบ่งบอกว่าเขาสูญเสียความตื่นตัวต่อข้อเท็จจริงที่ว่า บัดนี้เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายของ “เวลาอวสาน.” (ดานิเอล 12:4, ล.ม.) นับว่าเหมาะที่เพื่อนร่วมความเชื่อจะอธิษฐานขอให้คนเหล่านั้นกระตุ้นหรือเสริมพลังความเชื่อของตนขึ้นมาใหม่อีกครั้งในส่วนที่เกี่ยวกับหลักฐานในพระคัมภีร์ที่ว่า การประทับของพระคริสต์เริ่มต้นในปี 1914 เมื่อพระยะโฮวาทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นกษัตริย์ฝ่ายสวรรค์และบัดนี้พระองค์กำลังปกครองท่ามกลางศัตรู. (บทเพลงสรรเสริญ 110:1, 2; มัดธาย 24:3) เราทุกคนควรตระหนักว่าเหตุการณ์ที่มีบอกไว้ล่วงหน้าอย่างเช่นการทำลาย “บาบูโลนใหญ่” อันได้แก่ศาสนาเท็จ, การโจมตีของซาตานผู้ถูกเรียกว่าโกกแห่งมาโกกต่อไพร่พลของพระยะโฮวา, และการช่วยชีวิตพวกเขาโดยพระเจ้าองค์ทรงฤทธานุภาพทุกประการ ณ สงครามอาร์มาเก็ดดอน อาจเกิดขึ้นฉับพลันอย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง และทุกสิ่งอาจเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาค่อนข้างสั้น. (วิวรณ์ 16:14, 16; 18:1-5; ยะเอศเคล 38:18-23) ดังนั้น ให้เราอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อจะตื่นตัวเสมอฝ่ายวิญญาณ. ขอให้เราทุกคนอธิษฐานอย่างจริงจังขอให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์, ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา, และขอให้พระทัยประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนกับที่สำเร็จในสวรรค์. ขอให้เราสำแดงความเชื่อต่อ ๆ ไปและแสดงหลักฐานว่าเราอธิษฐานด้วยน้ำใสใจจริง. (มัดธาย 6:9, 10) ที่จริง ขอให้ทุกคนที่รักพระยะโฮวาแสวงหาราชอาณาจักรและความชอบธรรมของพระองค์ก่อน และเข้าส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในการประกาศข่าวดีก่อนอวสานจะมาถึง.—มัดธาย 6:33; 24:14.
สรรเสริญและขอบพระคุณพระยะโฮวา
7. อะไรทำให้คุณประทับใจในคำอธิษฐานของดาวิดซึ่งบันทึกเอาไว้ส่วนหนึ่งที่ 1 โครนิกา 29:10-13?
7 วิธีที่สำคัญวิธีหนึ่งในการ ‘เตรียมคำอธิษฐานของเราถวายเป็นเหมือนเครื่องหอม’ ก็คือโดยการกล่าวคำสรรเสริญและแสดงความสำนึกบุญคุณจากหัวใจแด่พระเจ้า. กษัตริย์ดาวิดทูลอธิษฐานเช่นนั้นเมื่อท่านและชนยิศราเอลบริจาคสำหรับการก่อสร้างพระวิหารของพระยะโฮวา. ดาวิดอธิษฐานดังนี้: “ความสุขจงมีแก่พระยะโฮวาพระเจ้าของยิศราเอลบิดาทวดของเราสืบ ๆ ไปเป็นนิตย์. ข้าแต่พระยะโฮวา, ยศศักดิ์, อำนาจ, รัศมี, ความชัยชนะ, และเดชานุภาพ: คงมีแก่พระองค์, เพราะสรรพสิ่งในสวรรค์ก็ดี, ที่พิภพโลกก็ดี, เป็นของพระองค์; ข้าแต่พระยะโฮวา, ราชสมบัติสิทธิ์ขาดแก่พระองค์, พระองค์ทรงสถิตอยู่เหนือสิ่งสารพัตร. ทรัพย์สมบัติและยศศักดิ์มาแต่พระองค์. พระองค์ทรงครอบครองอยู่ทั่ว; พระหัตถ์ของพระองค์ประกอบด้วยอำนาจและฤทธิ์เดช; คนทั้งปวงต้องอาศัยพระหัตถ์ของพระองค์ที่ทรงตั้งให้เป็นใหญ่, และทรงอุดหนุนกำลัง. เหตุฉะนั้น, ข้าแต่พระยะโฮวา, บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายขอขอบพระเดชพระคุณพระองค์, และสรรเสริญพระนามอันล้ำเลิศของพระองค์.”—1 โครนิกา 29:10-13.
8. (ก) คำสรรเสริญส่วนไหนในบทเพลงสรรเสริญบท 148 ถึง 150 ที่ประทับใจคุณเป็นพิเศษ? (ข) เพื่อเราจะมีความรู้สึกแบบเดียวกับข้อความที่กล่าวไว้ที่บทเพลงสรรเสริญ 27:4 เราจะทำอะไร?
8 ช่างเป็นคำสรรเสริญและคำขอบพระคุณที่งดงามจริง ๆ! คำอธิษฐานของเราอาจไม่สละสลวยเท่า แต่ก็สามารถเป็นคำอธิษฐานที่แสดงความรู้สึกจากใจได้เช่นกัน. พระธรรมบทเพลงสรรเสริญเต็มไปด้วยคำอธิษฐานขอบพระคุณและสรรเสริญ. คำสรรเสริญที่นับว่าเป็นยอดจะพบได้ที่บทเพลงสรรเสริญบท 148 ถึงบท 150. มีการพรรณนาถึงความสำนึกในบุญคุณของพระเจ้าในบทเพลงสรรเสริญหลายบท. ดาวิดร้องออกมาเป็นเพลงดังนี้: “สิ่งเดียวซึ่งข้าพเจ้าได้ขอจากพระยะโฮวา, แล้วข้าพเจ้าจะเสาะหา; สิ่งนั้นคือที่จะได้อาศัยอยู่ในพระวิหารของพระองค์ตลอดชั่วชีวิตของข้าพเจ้า, เพื่อจะได้เห็นความสง่างามของพระยะโฮวา, และจะได้พินิจพิจารณาพระวิหารของพระองค์.” (บทเพลงสรรเสริญ 27:4) ให้เราลงมือทำสอดคล้องกับคำอธิษฐานเช่นนั้น โดยเข้าร่วมด้วยใจแรงกล้าในกิจกรรมทุกอย่างของกลุ่มชนของพระยะโฮวาที่ชุมนุมกัน. (บทเพลงสรรเสริญ 26:12) การทำเช่นนี้และการคิดรำพึงถึงพระคำของพระเจ้าในแต่ละวันจะทำให้เรามีเหตุผลมากมายที่จะเข้าใกล้พระยะโฮวาด้วยคำสรรเสริญและด้วยความสำนึกในบุญคุณที่ออกมาจากใจ.
จงแสวงหาความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาด้วยใจถ่อม
9. กษัตริย์อาซาอธิษฐานอย่างไร และผลเป็นเช่นไร?
9 หากเรากำลังรับใช้พระยะโฮวาอย่างสิ้นสุดหัวใจในฐานะพยานของพระองค์ เราก็สามารถแน่ใจได้ว่าพระองค์ทรงสดับคำอธิษฐานขอความช่วยเหลือของเรา. (ยะซายา 43:10-12) จงพิจารณากษัตริย์อาซาแห่งยูดา. สิบปีแรกของช่วงเวลา 41 ปีที่ท่านครองราชย์ (977-937 ก.ส.ศ.) เปี่ยมด้วยสันติสุข. ต่อจากนั้น ยูดาก็ถูกรุกรานโดยกองทัพที่มีทหารนับล้านภายใต้การนำของเซรา ชาวเอธิโอเปีย. แม้ว่ามีทหารน้อยกว่ามาก อาซากับคนของท่านออกไปเผชิญหน้ากับผู้รุกราน. อย่างไรก็ตาม ก่อนการศึก อาซาอธิษฐานด้วยใจแรงกล้า. ท่านยอมรับอำนาจของพระยะโฮวาในการช่วยให้รอด. กษัตริย์ทูลอ้อนวอนขอความช่วยเหลือโดยกล่าวดังนี้: “ข้าพเจ้ายึดถือพระองค์เป็นที่พึ่ง, และได้ออกมาต่อสู้หมู่คณะใหญ่นี้ในพระนามของพระองค์. ข้าแต่พระยะโฮวา, พระเจ้าของพวกข้าพเจ้า, ขออย่าให้มนุษย์ได้ชัยชนะต่อพระองค์เลย.” ผลคือยูดาประสบชัยชนะอย่างเด็ดขาด ด้วยพระยะโฮวาทรงช่วยพวกเขาไว้เพื่อเห็นแก่พระนามอันยิ่งใหญ่ของพระองค์. (2 โครนิกา 14:1-15) ไม่ว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเราให้รอดจากการทดลองหรือทรงเสริมกำลังเราให้ทนรับการทดลองได้ พระองค์สดับคำวิงวอนที่เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์อย่างแน่นอน.
10. เมื่อเราไม่ทราบว่าจะรับมือวิกฤตการณ์บางอย่างอย่างไรดี คำอธิษฐานของกษัตริย์ยะโฮซาฟาดอาจเป็นประโยชน์อย่างไร?
10 หากเราไม่ทราบวิธีที่จะรับมือวิกฤตการณ์บางอย่าง เราสามารถมั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาจะสดับคำอ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากเรา. เรื่องนี้มีตัวอย่างในสมัยของยะโฮซาฟาดกษัตริย์ยูดา ซึ่งครองราชย์อยู่ 25 ปีตั้งแต่ปี 936 ก.ส.ศ. เมื่อยูดาถูกคุกคามโดยกองกำลังผสมของโมอาบ, อัมโมน, และชาวภูเขาแห่งเซอีร ยะโฮซาฟาดวิงวอนดังนี้: “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ พระองค์จะไม่ทรงกระทำการพิพากษาเหนือเขาหรือ เพราะว่าข้าพระองค์ทั้งหลายไม่มีฤทธิ์ที่จะต่อสู้คนหมู่มหึมานี้ซึ่งกำลังมาต่อสู้กับข้าพระองค์ทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบว่าจะกระทำประการใด แต่ดวงตาของข้าพระองค์ทั้งหลายเพ่งที่พระองค์.” พระยะโฮวาทรงตอบคำอธิษฐานด้วยใจถ่อมดังกล่าว ทรงรบแทนยูดาโดยทรงโจมตีพลทหารของศัตรูด้วยการทำให้เกิดความสับสนจนพวกเขาฆ่าฟันกันเอง. ผลก็คือ ชาติต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบเกิดความหวั่นกลัว และแผ่นดินยูดาจึงมีความสงบสุข. (2 โครนิกา 20:1-30, ฉบับแปลใหม่) เมื่อเราขาดสติปัญญาที่จำเป็นในการเผชิญวิกฤตการณ์ เราสามารถทูลอธิษฐานแบบเดียวกับยะโฮซาฟาดว่า ‘ข้าแต่พระยะโฮวา ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบว่าจะกระทำประการใด แต่ดวงตาของข้าพระองค์ทั้งหลายเพ่งที่พระองค์.’ พระวิญญาณบริสุทธิ์อาจช่วยเราให้ระลึกถึงจุดต่าง ๆ ในพระคัมภีร์ซึ่งจำเป็นในการแก้ปัญหา หรือพระเจ้าอาจช่วยเราในวิธีที่เหนือกว่าการหาเหตุผลแบบมนุษย์.—โรม 8:26, 27.
11. เราจะเรียนอะไรได้เกี่ยวกับคำอธิษฐานจากการลงมือปฏิบัติของนะเฮมยาในส่วนที่เกี่ยวกับกำแพงกรุงยะรูซาเลม?
11 เราอาจจำเป็นต้องหมั่นอธิษฐานขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า. นะเฮมยาครวญคราง, ร้องไห้, อดอาหาร, และอธิษฐานอยู่หลายวันเกี่ยวด้วยกำแพงอันหักพังของกรุงยะรูซาเลม และสภาพตกอับของประชากรแห่งยูดา. (นะเฮมยา 1:1-11) เห็นได้ชัดว่า คำอธิษฐานของท่านได้ขึ้นไปถึงพระเจ้าดุจเครื่องหอมอันมีกลิ่นละมุน. วันหนึ่ง อะระธาสัศธากษัตริย์เปอร์เซียถามนะเฮมยาซึ่งมีท่าทางหดหู่ว่า “เจ้าปรารถนาจะขอสิ่งใดบ้าง?” นะเฮมยารายงานว่า “[“ในบัดนั้น,” ล.ม.] ข้าพเจ้าจึงได้อธิษฐานทูลขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์.” คำอธิษฐานที่สั้นและเงียบ ๆ ในใจดังกล่าวได้รับคำตอบ เพราะนะเฮมยาได้รับอนุญาตให้มีโอกาสทำสิ่งที่ใจท่านปรารถนาจะทำให้สำเร็จด้วยการเดินทางไปยังกรุงยะรูซาเลมเพื่อบูรณะกำแพงที่หักพังของกรุงนี้.—นะเฮมยา 2:1-8.
จงให้พระเยซูสอนคุณถึงวิธีอธิษฐาน
12. คุณจะกล่าวย่อ ๆ ด้วยคำพูดของคุณเองอย่างไรเกี่ยวกับจุดสำคัญ ๆ ของคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซู?
12 ในบรรดาคำอธิษฐานทั้งหลายที่มีบันทึกในพระคัมภีร์ คำอธิษฐานที่ให้บทเรียนเป็นพิเศษคือคำอธิษฐานแบบอย่างซึ่งพระเยซูคริสต์ทูลถวายเป็นเหมือนเครื่องหอมอันมีกลิ่นละมุน. กิตติคุณของลูกากล่าวดังนี้: “สาวกคนหนึ่งทูล [พระเยซู] ว่า ‘พระองค์เจ้าข้า ขอสอนพวกข้าพเจ้าให้อธิษฐานอย่างที่โยฮันได้สอนพวกศิษย์ของท่าน.’ แล้วพระองค์ตรัสแก่เขาว่า ‘เมื่อท่านทั้งหลายอธิษฐาน จงว่า “พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์. ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา. โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามความจำเป็นของแต่ละวัน. และโปรดให้อภัยการบาปของพวกข้าพเจ้า ด้วยว่าพวกข้าพเจ้าเองได้อภัยให้แก่ผู้ที่เป็นหนี้พวกข้าพเจ้า; และขออย่านำพวกข้าพเจ้าเข้าไปสู่การทดลอง.”’” (ลูกา 11:1-4, ล.ม.; มัดธาย 6:9-13) ให้เรามาพิจารณาคำอธิษฐานนี้ ซึ่งไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ท่องตาม หากแต่เพื่อเป็นแนวนำ.
13. คุณจะอธิบายอย่างไรเกี่ยวกับความหมายของคำกล่าวที่ว่า “พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์”?
13 “พระบิดา ขอให้พระนามของพระองค์เป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์.” การเรียกพระยะโฮวาว่าเป็นพระบิดานับเป็นสิทธิพิเศษอย่างยิ่งสำหรับผู้รับใช้ที่อุทิศตัวของพระองค์. เช่นเดียวกับที่เด็ก ๆ จะเข้าไปหาบิดาผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาอย่างไม่ลังเลไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรก็ตาม เราก็ควรใช้เวลาในการอธิษฐานซึ่งถวายพระเกียรติและความเคารพบูชาแด่พระเจ้าเป็นประจำ. (บทเพลงสรรเสริญ 103:13, 14) คำอธิษฐานของเราควรสะท้อนถึงความห่วงใยของเราเกี่ยวด้วยการทำให้พระนามของพระยะโฮวาเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์ เนื่องจากเราปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เห็นพระนามของพระองค์พ้นจากคำตำหนิติเตียนทั้งสิ้น. ใช่ เราปรารถนาให้พระนามของพระยะโฮวาได้รับการแยกไว้โดยเฉพาะและได้รับการยกย่องเป็นพระนามอันบริสุทธิ์หรือศักดิ์สิทธิ์.—บทเพลงสรรเสริญ 5:11; 63:3, 4; 148:12, 13; ยะเอศเคล 38:23.
14. การอธิษฐานว่า “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา” มีความหมายเช่นไร?
14 “ขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มา.” ราชอาณาจักรคือการปกครองของพระยะโฮวาซึ่งแสดงออกทางรัฐบาลฝ่ายสวรรค์แห่งมาซีฮา ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของพระบุตรและ “เหล่าผู้บริสุทธิ์” ที่ร่วมสมทบกับพระเยซู. (ดานิเอล 7:13, 14, 18, 27; วิวรณ์ 20:6) ในไม่ช้า ราชอาณาจักรจะ “มา” จัดการผู้ต่อต้านพระบรมเดชานุภาพของพระเจ้าทางแผ่นดินโลกนี้ทั้งหมด กวาดล้างจนหมดสิ้น. (ดานิเอล 2:44) จากนั้น พระทัยประสงค์ของพระยะโฮวาจะสำเร็จบนแผ่นดินโลก เหมือนกับที่สำเร็จในสวรรค์. (มัดธาย 6:10) ช่างจะเป็นความยินดีสักเพียงไรสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้นที่รับใช้องค์บรมมหิศรแห่งเอกภพอย่างภักดี!
15. การทูลขอต่อพระยะโฮวาเพื่อประทาน “อาหารประจำวัน” บ่งชี้ถึงอะไร?
15 “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตามความจำเป็นของแต่ละวัน.” การขอพระยะโฮวาโปรดประทานอาหาร “ประจำวัน” บ่งชี้ว่าเราไม่ได้ทูลขออาหารเก็บสำรองไว้มาก ๆ หากแต่ขอเพื่อจะมีตามที่จำเป็นในแต่ละวันเท่านั้น. แม้ว่าเราไว้วางใจว่าพระเจ้าจะทรงจัดเตรียมให้ แต่เราก็ทำงานและใช้วิธีที่ถูกต้องที่เราทำได้เพื่อจัดหาอาหารและสิ่งจำเป็นอื่น ๆ. (2 เธซะโลนิเก 3:7-10) แน่นอน เราควรขอบพระคุณพระผู้จัดเตรียมของเราผู้สถิตในสวรรค์สำหรับความรัก, สติปัญญา, และอำนาจของพระองค์ซึ่งอยู่เบื้องหลังอาหารและสิ่งจำเป็นเหล่านี้.—กิจการ 14:15-17.
16. เราจะได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าได้อย่างไร?
16 “โปรดให้อภัยการบาปของพวกข้าพเจ้า ด้วยว่าพวกข้าพเจ้าเองได้อภัยให้แก่ผู้ที่เป็นหนี้พวกข้าพเจ้า.” เนื่องจากเราไม่สมบูรณ์และผิดบาป เราไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนตามมาตรฐานที่สมบูรณ์ของพระยะโฮวา. ฉะนั้น เราจำเป็นต้องอธิษฐานขอการให้อภัยจากพระองค์โดยอาศัยเครื่องบูชาไถ่ของพระเยซู. แต่หากเราปรารถนาจะให้ “ผู้สดับคำอธิษฐาน” ทรงใช้คุณค่าแห่งเครื่องบูชานั้นเพื่อไถ่บาปของเรา เราต้องกลับใจและเต็มใจจะรับเอาการตีสอนใด ๆ ก็ตามที่พระองค์ประทานแก่เรา. (บทเพลงสรรเสริญ 65:2; โรม 5:8; 6:23; เฮ็บราย 12:4-11) นอกจากนั้น เราสามารถคาดหมายว่าจะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้าก็ต่อเมื่อเรา ‘ยกหนี้ของผู้ที่เป็นหนี้เรา’ ซึ่งก็หมายถึงให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเรา.—มัดธาย 6:12, 14, 15.
17. คำกล่าวที่ว่า “ขออย่านำพวกข้าพเจ้าเข้าไปสู่การทดลอง” มีความหมายเช่นไร?
17 “ขออย่านำพวกข้าพเจ้าเข้าไปสู่การทดลอง.” บางครั้ง คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาทรงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วพระองค์ทรงเพียงแต่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น. (ประวัตินางรูธ 1:20, 21) พระเจ้าไม่ทรงล่อใจเราให้ทำผิด. (ยาโกโบ 1:13) การล่อใจให้ทำชั่วเกิดมาจากพญามาร, สภาพไม่สมบูรณ์ของเรา, และโลกนี้. ซาตานเป็นผู้ล่อลวงที่พยายามชักจูงเราให้ทำบาปต่อพระเจ้า. (มัดธาย 4:3; 1 เธซะโลนิเก 3:5) เมื่อเราทูลขอว่า “ขออย่านำพวกข้าพเจ้าเข้าไปสู่การทดลอง” เราก็กำลังทูลขอต่อพระเจ้าว่าขออย่าปล่อยให้เราพลาดพลั้งเมื่อเราถูกล่อใจให้ขัดขืนไม่เชื่อฟังพระองค์. พระองค์สามารถชี้นำเราเพื่อเราจะไม่ยอมจำนนและพ่ายแพ้แก่ซาตาน “ผู้ชั่วร้าย.”—มัดธาย 6:13, ล.ม.; 1 โกรินโธ 10:13.
จงปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของท่าน
18. เราจะทำอย่างที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานของเราที่ขอเพื่อจะมีชีวิตสมรสและชีวิตครอบครัวที่มีความสุขได้อย่างไร?
18 คำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูครอบคลุมจุดต่าง ๆ ที่สำคัญ แต่เราสามารถอธิษฐานเกี่ยวด้วยเรื่องใดก็ได้. ตัวอย่างเช่น เราอาจอธิษฐานขอในเรื่องความปรารถนาของเราที่จะมีชีวิตสมรสที่มีความสุข. เพื่อรักษาความบริสุทธิ์สะอาดจนถึงวันสมรส เราอาจอธิษฐานขอการรู้จักบังคับตน. แต่เมื่ออธิษฐานแล้วก็ให้เราปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเราโดยหลีกเลี่ยงหนังสือและความบันเทิงที่ผิดศีลธรรม. ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ด้วยที่จะ ‘สมรสกับผู้ที่เชื่อถือองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น.’ (1 โกรินโธ 7:39; พระบัญญัติ 7:3, 4) เมื่อสมรสแล้ว เราจำเป็นต้องปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเราที่ขอให้มีความสุข โดยการใช้คำแนะนำของพระเจ้า. และถ้าเรามีบุตร เพียงแค่การอธิษฐานขอให้พวกเขาเป็นผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระยะโฮวานั้นยังไม่พอ. เราต้องทำทุกสิ่งที่เราทำได้เพื่อพร่ำสอนความจริงของพระเจ้าไว้ในความคิดจิตใจของพวกเขาด้วยการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและโดยเข้าร่วมการประชุมคริสเตียนพร้อมกับพวกเขาเป็นประจำ.—พระบัญญัติ 6:5-9; 31:12; สุภาษิต 22:6.
19. เราควรทำอะไรถ้าเราอธิษฐานขอเกี่ยวกับงานรับใช้?
19 เราอธิษฐานขอพระพรในงานรับใช้อยู่ไหม? ถ้าเช่นนั้น ก็ให้เราปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานนั้นโดยมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในงานประกาศข่าวราชอาณาจักร. ถ้าเราอธิษฐานขอให้มีโอกาสช่วยผู้อื่นให้ดำเนินในเส้นทางสู่ชีวิตนิรันดร์ เราต้องจดบันทึกอย่างดีเกี่ยวกับผู้ที่สนใจ และพร้อมจะจัดให้การศึกษาคัมภีร์ไบเบิลตามบ้านอยู่ในตารางเวลาของเรา. จะว่าอย่างไรถ้าเราปรารถนาจะรับเอางานประกาศสั่งสอนเต็มเวลาในฐานะไพโอเนียร์? ก็ให้เราดำเนินตามขั้นตอนที่สอดคล้องกับคำอธิษฐานของเราด้วยการประกาศมากขึ้นและรับใช้ด้วยกันกับไพโอเนียร์. การทำตามขั้นตอนเหล่านี้ย่อมแสดงว่าเรากำลังปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเรา.
20. บทความหน้าจะพิจารณาเรื่องอะไร?
20 ถ้าเรารับใช้พระยะโฮวาอย่างซื่อสัตย์ เราสามารถมั่นใจว่าพระองค์จะทรงตอบคำอธิษฐานของเราซึ่งสอดคล้องกับพระทัยประสงค์ของพระองค์. (1 โยฮัน 5:14, 15) แน่นอน การพิจารณาคำอธิษฐานต่าง ๆ ที่มีบันทึกในคัมภีร์ไบเบิลได้ช่วยให้เราเรียนรู้จุดต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์. บทความหน้าจะพิจารณาข้อชี้แนะอื่น ๆ จากพระคัมภีร์สำหรับผู้ที่ปรารถนาจะ ‘ทูลอธิษฐานเป็นเหมือนเครื่องหอมถวายต่อพระยะโฮวา.’
คุณจะตอบอย่างไร?
▫ เหตุใดเราควรทูลอธิษฐานด้วยความเชื่อ?
▫ คำสรรเสริญและการขอบพระคุณควรมีบทบาทเช่นไรในคำอธิษฐานของเรา?
▫ เหตุใดเราสามารถทูลขอความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาได้อย่างมั่นใจในคำอธิษฐาน?
▫ มีจุดสำคัญ ๆ อะไรบ้างในคำอธิษฐานแบบอย่าง?
▫ เราจะปฏิบัติสอดคล้องกับคำอธิษฐานของเราได้อย่างไร?
[รูปภาพหน้า 12]
เช่นเดียวกับกษัตริย์ยะโฮซาฟาด บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องอธิษฐานดังนี้: ‘ข้าแต่พระยะโฮวา ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่ทราบว่าจะกระทำประการใด แต่ดวงตาของข้าพระองค์ทั้งหลายเพ่งที่พระองค์’
[รูปภาพหน้า 13]
คุณอธิษฐานสอดคล้องกับคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูไหม?